fbpx

การเมืองอินโดนีเซียยุคหลังประธานาธิบดี โจโก วีโดโด: ประชาธิปไตยจะได้ไปต่อหรือทหารจะขอกลับมา?

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 เป็นทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนและประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี โจโก วีโดโด (Joko Widodo) หรือมักนิยมเรียกกันโดยย่อว่า โจโกวี ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีติดกันมาสองสมัย จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกตามกฎหมายที่แก้ไขหลังจากยุคระเบียบใหม่ ก่อนหน้านี้เคยมีการโยนหินถามทางว่าหากประชาชนต้องการให้โจโกวีเป็นประธานาธิบดีต่อไป รัฐสภาจะแก้ไขกฎหมายได้หรือไม่ แต่ในที่สุดโจโกวีก็ออกมาพูดอย่างชัดเจนว่าเขาไม่สนับสนุนให้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้เขาได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกเป็นสมัยที่ 3

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้านี้มีความสำคัญกับทิศทางและพัฒนาการของประชาธิปไตยในอินโดนีเซียที่โลกต้องจับตาดูว่ากระบวนการประชาธิปไตยที่ดำเนินมาตั้งแต่หลังการสิ้นสุดอำนาจของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Suharto) ในปี 1998 มีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ทั้งการปฏิรูปกฎหมาย ระบบการเลือกตั้ง อำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และศาล ไปจนกระทั่งการปฏิรูปกองทัพ แยกทหารออกจากการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม อดีตทหารยังคงมีบทบาททางการเมืองและดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโจโกวี ทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนและบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซียว่าหากนาย ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) อดีตนายทหารและอดีตบุตรเขยของซูฮาร์โต ปราโบโวเป็นผู้มีมลทินมัวหมอง ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตหลายพื้นที่ เขาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วสองครั้ง ประสบความสำเร็จในครั้งที่ 3 ทิศทางของประเทศอินโดนีเซียจะดำเนินตามรอยของยุคระเบียบใหม่หรือไม่

ประชาชนพึงพอใจการทำงานของรัฐบาลโจโกวี

มีการรายงานผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนชาวอินโดนีเซียต่อการทำงานของรัฐบาลโจโกวีโดย Center for Political Communication Studies (CPCS) ที่ทำการสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2023 ผลกำสำรวจชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 81.6 % พอใจการทำงานของรัฐบาลโจโกวี โดย 12 % ตอบว่า ‘พึงพอใจอย่างยิ่ง’ ส่วนอีก 69.6 % รู้สึกพึงพอใจ ในขณะที่ 17.4% ไม่พอใจ และ 0.6% ไม่พอใจอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีการทำการสำรวจในเรื่องเดียวกันโดยสถาบันสำรวจอินโดนีเซีย (Lembaga Survei Indonesia) ในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2023 จากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจ 1,242 คน อายุ 17 ปีขึ้นไป พบว่า 82 % พอใจการทำงานของรัฐบาลโจโกวี องค์กรที่ทำการสำรวจกล่าวหาเรื่องที่ประชาชนรู้สึกพึงพอใจการทำงานของรัฐบาลมากที่สุดคือการบังคับใช้กฎหมายในประเทศ

ผลการสำรวจออกมาเช่นนี้อาจจะสรุปได้ว่าการที่ประชาชนส่วนใหญ่ (จากที่ตอบแบบสอบถาม) มีความพึงใจต่อการทำงานและความเป็นผู้นำของโจโกวีในช่วงปลายสมัยที่สองของเขาเป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนอยากให้มีการดำเนินการสานต่อนโยบายที่ได้ทำโดยโจโกวีหลังจากที่เขาพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว

          Ganjar Pranowo VS Prabowo Subianto: ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอินโดนีเซีย?

การชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไประหว่างกันจาร์กับปราโบโวเรียกได้ว่าสูสีและหายใจรดต้นคอกันเลยก็ว่าได้ ผลการสำรวจความนิยมต่อผู้สมัครทั้งสองคนห่างกันไม่มากและผลัดกันได้คะแนนนำในการสำรวจของสำนักต่างๆ

กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo) อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง ผู้ลงสมัครจากพรรค PDI-P ของนาง เมกาวตี ซูการ์โนปุตรี (Megawati Sukarnoputri) เขามีภาษีค่อนข้างดีจากการได้รับการสนับสนุนจากพรรค PDI-P และผู้นำคนสำคัญทั้งโจโก วีโดโดและเมกาวตี ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งประวัติศาสตร์ปี 2014 เมกาวตีประสบความสำเร็จในการเป็น president maker และสามารถผลักดันให้โจโกวีเป็นประธานาธิบดีถึงสองสมัย ซึ่งในครั้งนี้เท่ากับว่ากันจาร์ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเป็นสองเท่า โดย president maker ในการเลือกตั้งปี 2024 นี้ไม่ได้มีแค่เมกาวตีคนเดียว แต่เพิ่มโจโกวีเข้าไปด้วย ในขณะนี้ (13 กันยายนปี 2566) ยังไม่ได้มีการประกาศเปิดตัวผู้ลงสมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีของกันจาร์ แต่คาดกันว่าน่าจะเป็น ซันเดียกา ซาลาฮุดดิน อูโน (Sandiaga Salahuddin Uno) รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรัฐบาลโจโกวีปัจจุบัน เขาเคยลงสมัครรองประธานาธิบดีคู่กับปราโบโวในการเลือกตั้งปี 2019 และเป็นอดีตรองผู้ว่าการจาการ์ตา ค่อนข้างเป็นที่ชื่นชอบของชาวจาการ์ตา กระแสความนิยมของคนอินโดนีเซียคือมักชื่นชมนักการเมืองที่ดูเหมือนไม่มีความทะเยอทะยานอยากเป็นประธานาธิบดี เข้าถึงง่าย และใช้ภาษาเข้าใจง่ายกับประชาชน

ปราโบโว ซูเบียนโต อดีตนายทหารอายุ 71 ปีและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของโจโกวี ปราโบโวลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาแล้วรวม 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2014 และ 2019 และเคยลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับเมกาวตีในการเลือกตั้งปี 2009 แต่ก็ปราชัยให้กับคู่ของ ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) กับ บูดีโยโน (Boediono) แต่หากนับการประกาศตัวลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากพรรค Golkar ในปี 2004 ด้วยก็จะเป็นครั้งที่ 4 ในครั้งปี 2004 เขาแพ้โหวตจากเสียงในพรรค Golkar ให้กับวิรันโต จะเห็นได้ว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร การจับมือข้ามขั้วของนักการเมืองอินโดนีเซียก็เป็นไปได้เช่นกัน ส่วนผู้ลงสมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีของปราโบโวสำหรับการเลือกตั้งปี 2024 ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าใคร แต่คาดการณ์กันว่าอาจจะเป็นกีบรัน (Gibran), เอริค (Erick) หรือ ริดวัน คามิล (Ridwan Kamil)

นโยบายของปราโบโวเน้นชาตินิยม และเขาวิจารณ์การเลือกตั้งโดยตรงแบบที่อินโดนีเซียใช้อยู่ในขณะนี้ โดยเขาเห็นว่าควรกลับไปให้สภาผู้แทนประชาชนเป็นผู้โหวตเลือกประธานาธิบดีแบบเดิมดีกว่า เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตในหลายเหตุการณ์ ทั้งเหตุการณ์ในติมอร์ตะวันออก (ชื่อในขณะนั้น) ช่วงทศวรรษ 1980 การสังหารนักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติช่วงปี 1998 และการลักพาตัวผู้นำนักศึกษาและประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลซูฮาร์โต แต่เขาปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

 ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกคนคือ อานีส บัสเวดัน (Anies Baswedan) อดีตผู้ว่าการจาการ์ตาและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อานีสได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอิสลามสายอนุรักษ์นิยม โดยรองประธานาธิบดีที่ลงชิงตำแหน่งคู่กับอานีส คือ มูฮัยมิน อิสกันดาร์ (Muhaimin Iskandar) รองประธานสภาผู้แทนประชาชนคนปัจจุบัน และหัวหน้าพรรค National Awakening Party พรรคการเมืองอิสลามสายจารีต

หากกันจาร์หรือปราโบโวได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นไปได้ว่านโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่ถูกริเริ่มโดยโจโกวีมีแนวโน้มที่จะได้รับการสานต่อ สำหรับกันจาร์คือตัวตายตัวแทนของโจโกวีอยู่แล้วหากพิจารณาจากภูมิหลัง หากเขาเป็นประธานาธิบดีย่อมดำเนินนโยบายของโจโกวีต่อแน่นอน ในเชิงนโยบายกันจาร์เน้นเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจมากกว่าปราโบโว ส่วนปราโบโวนั้นเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลโจโกวีเช่นกันในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม และในการปราศรัยในหลายโอกาสเขาแสดงความชื่นชมโจโกวีทั้งในแง่ตัวบุคคลและนโยบาย การที่เขาได้รับแต่ตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของโจโกวีทำให้แต่แน่นอนว่าแม้จะมีการสานต่อนโยบายของโจโกวีทั้งคู่ แต่โฉมหน้าและทิศทางการเมืองของอินโดนีเซียจะแตกต่างกันอย่างแน่นอน หากปราโบโวชนะอาจจะหมายถึงการค่อยๆ เปิดประตูกลับไปสู่ dwi fungsi หรือ ‘หน้าที่สองอย่าง’ ซึ่งเป็นหลักการที่ทหารอินโดนีเซียยึดถือและปฏิบัติอย่างเข้มข้นในยุคระเบียบใหม่ ที่ทำให้ทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและด้านอื่นๆ ของประเทศ และเป็นที่กังวลของหลายฝ่ายว่าจะทำให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซียสะดุดหรือหยุดชะงักลง แต่หากเกิดการพลิกล็อค อานีส บัสเวดันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี กระแสอิสลามอนุรักษ์นิยมก็จะมีพื้นที่และเพิ่มอิทธิพลบทบาทในสังคมการเมืองอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญและวาระแห่งชาติหลังรัฐบาลโจโกวี

หลังรัฐบาลโจโก วีโดโดสิ้นสุดลงแล้ว รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่มีการบ้านมีงานที่ต้องสานหรือไม่สานต่อมากมาย เช่น

1. ย้ายเมืองหลวง

การย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปที่เกาะกาลิมันตันและตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่ว่า ‘นูซันตารา’ (Nusantara) เป็นเรื่องที่รัฐบาลโจโกวีให้ความสำคัญ เนื่องจากความหนาแน่น มลพิษ และคาดการณ์กันว่าจาการ์ตาจะจมน้ำภายในปี 2050 โครงการย้ายเมืองหลวงเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งปี 2019 เรื่องย้ายเมืองหลวงนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่เป็นที่จับตามองทั้งจากในและนอกประเทศ แม้มีหลายฝ่ายเห็นว่าการสร้างเมืองใหม่เป็นเรื่องยากและใช้ทั้งเวลาและงบประมาณมหาศาล แต่การสร้างเมืองใหม่ก็ได้เริ่มดำเนินไปแล้ว โจโกวีประกาศว่าการเฉลิมฉลองวันชาติวันประกาศเอกราชของอินโดนีเซียปีที่ 79 จะเกิดขึ้นที่เมืองหลวงแห่งใหม่

การย้ายเมืองหลวงเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่โดยเฉพาะจาก ‘ชวาเป็นศูนย์กลาง’ ไปสู่ ‘อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลาง’ การย้ายเมืองหลวงถูกคาดหวังว่าจะเป็นการกระจายการพัฒนาแบบเท่าเทียมไปสู่พื้นที่อื่นๆ ไม่กระจุกตัวอยู่ที่เกาะชวาเหมือนที่เป็นมา การสร้างและย้ายเมืองหลวงคาดว่าจะสำเร็จทั้งหมดภายในปี 2045 ปัญหาสำหรับประการหนึ่งคืองบประมาณในการสร้างราว 34 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐที่ฯ ในตอนแรกโจโกวีประกาศว่าจะเป็นงบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่ง และที่เหลือจะเป็นการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ แต่จนตอนนี้ยังไม่เห็นวี่แววนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการดังกล่าว

2. การแก้รัฐธรรมนูญ 1945

มีการเสนอจากหลายฝ่ายให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1945 อีกครั้งโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องอำนาจของสภาที่ปรึกษาประชาชน (MPR) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน อินโดนีเซียเคยมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ในช่วงปี 1999-2002 มาแล้ว โจโกวีและผู้นำพรรคพรรค Gerinda (พรรคของปราโบโว) เห็นตรงกันว่าควรมีการอภิปรายกันในสภาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญหลังมีการเลือกตั้งปี 2024

3. การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญของประเทศอินโดนีเซีย แม้ว่าอินโดนีเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 5 จาก 30 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในโลกตั้งแต่ปี 2014 ที่โจโก วีโดโดขึ้นสู่อำนาจ ในสมัยของเขามีการสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ท่าเรือ โรงไฟฟ้า เขื่อน ถนนหลวงหลายสาย และทางรถไฟ แต่เพราะเศรษฐกิจตกต่ำทั้งจากวิกฤตความขัดแย้งและสงครามในโลกและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งหากอินโดนีเซียเดินหน้าสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ต่อก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็เป็นอีกงานหนักของผู้นำคนต่อไป

อินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development / OECD) OECD เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีเป้าหมายเพื่อสร้างเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง สะอาดและเป็นธรรม แต่การเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ใช้ระยะเวลาในการผ่านการประเมินเป็นเวลาราว 4-8 ปี ซึ่งนี่ก็จะเป็นการบ้านอีกอย่างสำหรับประธานาธิบดีต่อไป

4. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

บทบาทในเวทีระหว่างประเทศของอินโดนีเซียในยุคของโจโกวีถือได้ว่าโดดเด่น ทั้งจากบุคลิกที่อ่อนน้อม เรียบง่าย เข้าถึงได้ของโจโกวีเองที่ไม่ได้สร้างความนิยมแค่ภายในประเทศเท่านั้น หากยังเป็นที่ชื่นชอบของนานาชาติเช่นกัน เขาเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำที่เป็นที่ชื่นชอบระดับโลกสูงด้วยคะแนนสูงที่สุดถึง 80 % รองลงมาคือ นเรนทรา โมดี  (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย ประกอบกับการแสดงจุดยืนและท่าทีต่อประเด็นปัญหาความขัดแย้งในกรณีต่างๆ ของโจโกวี เช่น ความขัดแย้งในพม่าหลังจากการยึดอำนาจของนายพลมินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) หรือสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ล้วนโดดเด่นและค่อนข้างได้รับเสียงชื่นชม โดยเฉพาะในบทบาทการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มประเทศ G20 เมื่อปลายปี 2022 ได้อย่างประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่โดดเด่นในกลุ่มประเทศอำนาจกลาง (middle power) ในเวทีดังกล่าวเป็นโอกาสที่ผู้นำมหาอำนาจประเทศต่างๆ ได้มาพบกัน รวมถึงผู้นำประเทศที่มีความขัดแย้งกันอย่างอเมริกาและจีนต่างก็เข้าร่วมประชุม

การดำรงความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งของสองประเทศมหาอำนาจถือเป็นเรื่องท้าทายอินโดนีเซียและผู้นำคนใหม่ โจโก วีโดโดถือว่าไม่ได้แย่ในการพยายามประสานกับทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ไทย พม่า ลาว หรือกัมพูชา เป็นต้น อย่างไรก็ตามในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 43 ที่จาการ์ตาเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมแต่ส่งตัวแทนมาร่วมแทนในขณะที่ในคราวประชุมกลุ่มประเทศ G20 ไบเดนมาเข้าร่วมด้วยตนเอง เรื่องนี้จะเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่ต่อบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับอเมริกาและจีน เราก็ต้องติดตามกันต่อไป  

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาแทนที่โจโกวี มีเรื่องที่ต้องสานงานต่อก่องานใหม่มากมาย ใครจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งดำรงประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียหรือทิศทางอนาคตพัฒนาการทางการเมืองของอินโดนีเซียจะดำเนินไปอย่างไร เป็นเรื่องที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยควรให้ความสำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นไปในด้านดีหรือร้ายย่อมส่งผลต่อสถานการณ์โดยรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยอย่างแน่นอน


ข้อมูลประกอบการเขียน

Ameliya, Tri Meilani. “Survei LSI: 82 persen responden puas dengan kinerja Presiden Jokowi.” Antaranews, 11 July 2023, https://www.antaranews.com/berita/3629565/survei-lsi-82-persen-responden-puas-dengan-kinerja-presiden-jokowi

“Jokowi Usul Amendemen UUD 1945 Setelah Pemilu 2024.” CNN Indonesia, 18 August 2023, https://www.cnnindonesia.com/nasional/20230818134729-32-987575/jokowi-usul-amendemen-uud-1945-setelah-pemilu-2024

Nugroho, Rosseno Aji. “RI Baru Bisa Jadi Member OECD Setelsh Jokowi Rampung.”CNBC Indonesia, 15 August 2023, https://www.cnbcindonesia.com/news/20230815160334-4-463179/ri-baru-bisa-jadi-member-oecd-setelah-jokowi-rampung

Rassat, Fianda Sjofijan. “Survei CPCS: 81,6 persen puas terhadap pemerintah Jokowi.” Antaranews, 4 September 2023, https://www.antaranews.com/berita/3710304/survei-cpcs-816-persen-puas-terhadap-pemerintahan-jokowi

Saubani, Andri. “Dukung Prabowo, Projo Jateng Melebur dan Berganti Nama Jadi Garuda Nusantara 08.” Republika, 9 September 2023. https://news.republika.co.id/berita/s0ppm1409/dukung-prabowo-projo-jateng-melebur-dan-berganti-nama-jadi-garuda-nusantara-08

Sorongan, Tommy Patrio. “Medi Asing Sorot Masa Depan RI Pasca Jokowi Lengser, Kenapa?.” CNBC Indonesia, 11 September 2023, https://www.cnbcindonesia.com/news/20230911110904-4-471298/media-asing-sorot-masa-depan-ri-pasca-jokowi-lengser-kenapa

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save