fbpx

เชฟ – ช่างตัดเสื้อ – คนทำหุ่นยนต์ – ครูสอนศิลปะ รู้จักยอดฝีมือจากรั้วอาชีวศึกษา

เมื่อกล่าวถึง ‘อาชีวะ’ หลายคนอาจมีภาพจำเป็นการเรียน ‘ช่าง’ เห็นภาพเป็นเครื่องไม้เครื่องมือและความชำนาญในสายอุตสาหกรรม — แม้ภาพจำเหล่านั้นจะไม่ผิด แต่ก็ไม่อาจนิยามอาชีวศึกษาได้ทั้งหมด

อาชีวศึกษาหรือการเรียนสายอาชีพคือหนทางการเรียนรู้ที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพ การลงมือปฏิบัติงานจริง เพื่อผลิตบุคลากรที่พร้อมด้วยประสบการณ์สู่สนามการทำงาน และ ‘งาน’ ที่ว่าไม่ได้มีเพียงสายอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพาณิชยกรรม, ศิลปกรรม, คหกรรม, เกษตรกรรม, ประมง, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมดนตรี, เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ฯลฯ

อาชีวศึกษาเต็มไปด้วยทางเลือกหลากหลาย ที่ล้วนนำไปสู่การสร้าง ‘ช่างฝีมือ’ หรือบุคลากรวิชาชีพที่มีทักษะเฉพาะทาง

101 สนทนากับ เชฟ – ช่างตัดเสื้อ – คนทำหุ่นยนต์ และครูสอนศิลปะ ตัวอย่างของยอดฝีมือตัวจริงที่ฝึกปรือวิชาจากรั้วอาชีวศึกษา พร้อมเรื่องราวที่ช่วยให้เห็นความหลากหลายของอาชีวศึกษามากยิ่งขึ้น


เชฟอาหารไทยที่เติบโตจากรั้วอาชีวะและประสบการณ์ทำงานในโรงแรม

ฮูโต๋-เชฏฐ์ภูชิชย์ เถกิงศักดิ์

หลายคนอาจรู้จัก เชฟฮูโต๋-เชฏฐ์ภูชิชย์ เถกิงศักดิ์ ในฐานะผู้ร่วมรายการ Top Chef Thailand หรือรายการเรียลลิตี้แข่งขันทำอาหาร แน่นอน เชฟที่เข้าร่วมรายการนี้ต่างต้องสู้กันในครัว ออกหมัดผ่านรสชาติอาหาร แต่เชฟฮูโต๋คนนี้ไม่ได้เป็นนักสู้แค่ในรายการทีวีเท่านั้น

ก่อนจะมาเป็นเชฟ ฮูโต๋ในวัยเด็กมักจะทำงานช่วยคุณแม่ที่ประกอบธุรกิจ ‘คาเฟ่’ ในความหมายแบบสมัยก่อน ซึ่งก็คือร้านที่ขายทั้งอาหาร แอลกอฮอล์ มีนักร้องและโชว์สร้างความเพลิดเพลินให้ลูกค้า เขามักช่วยคุณแม่ดูแลร้านบ้าง เด็ดผักบ้าง เป็นลูกมือในครัวบ้าง และลอบสังเกตการณ์ธุรกิจร้านอาหารอย่างใกล้ชิด จนเขาไม่คิดสนใจทำอาชีพเกี่ยวกับอาหาร เพราะความวุ่นวายที่เขาได้เห็นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

“แต่อาจเป็นพรหมลิขิต” เขากล่าวก่อนจะเล่าว่า ในช่วงมัธยมต้น เมื่อธุรกิจของคุณแม่ล้มละลายและท่านต้องเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ฮูโต๋ต้องย้ายไปอาศัยอยู่กับครอบครัวเพื่อนของคุณแม่ที่ทำธุรกิจส่งขายผลไม้บริเวณแยกต่างๆ ของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ในช่วงปิดเทอมเขาเริ่มช่วยงานคุณน้าจากการจดผลไม้ที่ขาดเล็กๆ น้อยๆ และท้ายที่สุด เขาก็เริ่มรวบรวมผลไม้ขายในช่วงเย็นจนดึกดื่น ทั้งยังตัดสินใจว่าเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว เขาจะไม่เรียนต่อ

“พอเราสนุกกับการทำงาน เมื่อถึง ม.3 เราก็คิดว่าเรียนต่อไม่ได้แล้ว เราก็ขายผลไม้ไปเรื่อยๆ นี่แหละ จนกระทั่งวันหนึ่งบังเอิญเจอกับอาจารย์แนะแนวที่โรงเรียน เขาเจอเราตอนกำลังเข็นผลไม้ขายบนสะพานลอยที่อนุสาวรีย์ฯ อาจารย์ก็ทักและสอบถามว่าเราเป็นยังไงบ้าง ทำไมถึงไม่เรียนต่อ ม.4 ผมก็เลยมีโอกาสได้เล่าให้เขาฟัง”

“พออาจารย์ได้คุยกับเราก็บอกว่า เธอจะอยู่แบบนี้ไม่ได้ เธอต้องทำอะไรสักอย่าง ภายหลังเขาก็ไปคุยกับคุณน้าที่เราอาศัยอยู่ด้วย และพาผมไปสอบชิงทุนเข้าอาชีวะ”

ฮูโต๋เล่าว่าในตอนนั้นเขาไม่รู้เลยว่าการเรียนอาชีวะเป็นอย่างไร และเข้าใจว่าเป็นการเรียนในสายงานช่างเท่านั้น แต่อาจารย์ก็พยายามทำให้เขาเห็นว่ายังมีสาขาอื่นๆ มากมาย ทั้งยังแนะนำวิทยาลัยต่างๆ ที่สามารถสอบชิงทุนได้ หนึ่งในนั้นคือวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา สาขาอาหารและโภชนาการ ที่ฮูโต๋เลือกสอบชิงทุนจนได้ทุนการศึกษา

แม้จะเข้าเรียนได้แล้วเขาก็ยังทำงานควบคู่ไปด้วย หลังจากเลิกเรียนอาชีวะ เขาจะตามรุ่นพี่ไปทำงานครัวและจัดเลี้ยงตามโรงแรมต่างๆ นอกจากค่าแรงและอาหาร เขายังได้ประสบการณ์การทำอาหารนอกห้องเรียนด้วย

“ช่วงนั้นสนุกมาก ทุกวันหลังเลิกเรียนเราก็จะไปทำงาน บางวันโรงแรมไม่มีงานเลี้ยงหรอก แต่เราก็ไปหาเขาจนเขายอมให้ช่วย ผมก็ทำงานด้วยเรียนด้วยมาเรื่อยๆ จนกระทั่งจบอาชีวะ และได้ทุนเรียนต่อด้านอาหารและโภชนาการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร”

“ในช่วงมหาวิทยาลัยก็ยังเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย แม้การทำงานไปด้วยจะเหนื่อย แต่มันก็คุ้มค่า เพราะเราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในครัว เห็นทักษะ เห็นการไต่เต้าของรุ่นพี่หลายคน และได้มุมมองที่หลากหลายมากในธุรกิจอาหาร ผมยังรู้สึกขอบคุณจนวันนี้ที่อาชีวศึกษาเปิดโอกาสให้ผมได้เข้าไปทำงานพร้อมกับเรียนไปด้วย” ฮูโต๋กล่าว

ประสบการณ์การทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เขาไต่ไปถึงตำแหน่ง Demi Chef ในช่วงใกล้เรียนจบปริญญาตรี เขากล่าวว่า นี่เป็นผลลัพธ์ของการทุ่มเทที่ผลิดอกออกผล เขาย้ำว่า “การทำงานทำให้เราได้เห็นแนวทางชีวิตของตัวเองที่ชัดเจน  ขณะที่การศึกษาเป็นอีกฟันเฟืองที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า”

หลังจากจบปริญญาตรี ฮูโต๋ยังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และยังทำงานไปด้วยเช่นเคย เขาต่อยอดประสบการณ์การทำงานไปอีกหลายแขนง นอกจากการเป็นเชฟแล้ว เขายังได้มีโอกาสทำรายการอาหาร ได้เข้าร่วมรายการ Top Chef Thailand รวมไปถึงการทำงานเกี่ยวกับมาร์เก็ตติ้งด้านอาหาร และการเป็นวิทยากรต่อยอดความรู้ให้เยาวชนที่สนใจการทำอาหาร

มองย้อนกลับไปเขากล่าวว่าทักษะทั้งหมดที่เขาใช้ทำงาน ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากการเรียนอาชีวะ ความรู้หลายอย่างที่เขาได้มายังถูกถ่ายทอดส่งต่อให้คนอื่นต่อไปด้วย

“โรงเรียนอาชีวะกับโรงแรมเหมือนบ้านผมเลย เพราะชีวิตของผมอยู่ที่โรงเรียนแล้วครึ่งวัน ส่วนอีกครึ่งวันอยู่ที่โรงแรม มันเหมือนทำงานร่วมกัน ถ้าผมมีปัญหาการทำงานครัว ผมก็จะไปปรึกษาอาจารย์ พอเรามีปัญหาหรือความสงสัยจากโรงเรียน เราก็ไปทดลองทำที่โรงแรม หรือถามจากพี่ๆ ที่ทำงานในสนามจริงๆ ทั้งสองพาร์ทเอื้อกันตลอดเวลา เป็นครูของผมทั้งสองฝั่ง”

“ถ้าถามว่าอาชีวะให้ประโยชน์อะไรบ้างที่นำมาใช้ทำงาน ก็ต้องตอบว่าทักษะทั้งหมดเลยครับ เรารู้สึกว่าความใกล้ชิดของเรากับอาจารย์ที่อาชีวะมันมาจากการที่เราอินในเรื่องเดียวกัน เนิร์ดในเรื่องเดียวกัน ถามอะไรอาจารย์ก็ตอบได้ ผมผูกพันกับอาจารย์ที่อาชีวะมาก ทุกวันนี้เวลาที่เราเจอปัญหาหน้างานบางอย่าง เรายังเห็นเป็นภาพเป็นเสียงอาจารย์ขึ้นมาเลย และหลายอย่างกลายเป็นเรื่องราวที่เราถ่ายทอดให้คนอื่นต่อจนทุกวันนี้”


24 ปีแห่งการตัดเย็บของช่างเสื้อที่เริ่มทำงานตั้งแต่เรียน ปวช.

เพชร – จารุต ภิญโญกีรติ เจ้าของห้องเสื้อเพชร

เพชร – จารุต ภิญโญกีรติ เจ้าของห้องเสื้อเพชร คือผู้ที่ทำอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ามากว่า 24 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นจากการเรียนอาชีวศึกษา ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น แผนกเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย

แม้เขาจะเริ่มต้นเรียนด้านเสื้อผ้าจากคำแนะนำของอาจารย์สมัยมัธยมโดยไม่ได้เริ่มต้นจากความชอบ แต่เขาก็ค่อยๆ เดินเข้าสู่สายอาชีพด้วยความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ เพชรเล่าว่าเมื่อแรกเข้าเรียนอาชีวศึกษา เขารู้สึกว่าการตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นเรื่องยากมาก เสื้อผ้าที่เขาตัดได้เป็นเพียงกระโปรงที่มีโครงสร้างง่ายๆ เท่านั้น จนกระทั่งเขาเริ่มทำงานพิเศษในร้านเสื้อผ้า

“วันหนึ่งเพื่อนเรามาบอกว่า มีร้านที่เขาต้องการเด็กสอยผ้าอยู่ เราก็เลยไปสมัครทำงานพิเศษ และได้พูดคุยกับพี่เจ้าของร้าน พี่เจ้าของร้านเขาเย็บผ้า ทำแพทเทิร์นให้เราเห็นเลย ตอนที่เขาทำมันดูง่ายมากจนเราสงสัย เขาก็บอกว่าการทำแพทเทิร์นแค่วาดให้สวยและได้ตัวเลขตามที่เราต้องการ แค่นั้นก็จบแล้ว

“หลังจากนั้นมา เหมือนกับเราปลดล็อกว่าที่จริงแล้วการทำเสื้อไม่ได้ยาก เราแค่ต้องรู้หลักการว่าจะทำยังไง เรารู้ตัวว่าเป็นคนเรียนวิชาการไม่เก่งเท่าไหร่ แต่งานปฏิบัติเราจะชอบมาก” เพชรเล่า

เพชรทำงานตัดเย็บเสื้อผ้ามาตลอดระหว่างเรียน ขณะที่เรียนเทอม 2 ของระดับปวช. 1 เขาก็เริ่มรับงานตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูกค้า และเมื่อต้องทำงานส่งอาจารย์ เขาก็มักจะใช้เสื้อผ้าที่ตัดเย็บให้ลูกค้าส่งเป็นการบ้านเสมอ โดยที่ไม่ต้องออกเงินซื้อผ้าเอง

จุดเด่นของเพชรในการตัดเย็บเสื้อผ้าคือการทำแพทเทิร์นหรือการทำโครงสร้างเสื้อผ้า โดยเขามีโอกาสได้ฝึกงานและทำงานกับนักออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงระดับตำนานอย่าง ไข่-สมชาย แก้วทอง เจ้าของร้าน ‘ไข่ บูติก’ (Kai Boutique) ที่ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ การออกแบบแฟชั่น เพชรเล่าว่าการทำงานที่ไข่ บูติก นับเป็นความฝันของเขา ด้วยฝีมือการทำแพทเทิร์นอันเฉียบขาดของคุณไข่ ทำให้เพชรได้เรียนรู้หลายอย่างจากประสบการณ์ทำงานนี้

“เราชอบเสื้อร้านนี้มาก เป็นเสื้อธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะมีแพทเทิร์นที่แปลกกว่าคนอื่น แพทเทิร์นดูโก้ ดูทันสมัยมากสำหรับตอนนั้น คือเป็นทรงฝรั่ง แต่อยู่ในชุดของผ้าไทย”

เมื่อถามถึงความสำคัญของการทำแพทเทิร์น เพชรอธิบายว่าแพทเทิร์นเป็นกระบวนการที่สำคัญ ราวกับเป็นหัวใจของแฟชั่น หากดีไซเนอร์ไม่มีความเข้าใจโครงสร้างของเสื้อผ้ามากพอ แฟชั่นอาจเป็นเพียงภาพสเกตช์ หรือเสื้อผ้าที่ใส่ได้เฉพาะนางแบบ และไม่สามารถตัดเย็บให้กลายเป็นชุดที่ใส่ในชีวิตประจำวันได้

“ในการเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าหลายคนจะมองเรื่องการออกแบบ แต่ผมจะโฟกัสไปที่แพทเทิร์นเป็นหลัก มันสนุก ตื่นเต้น และท้าทาย ยิ่งสมัยก่อนเวลาเราลองสร้างแพทเทิร์นตามแบรนด์ระดับโลก แล้วเราทำออกมาได้สัก 80-90% เราจะสนุกมาก

“เรามีดีไซเนอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในแต่ละปีเยอะมาก มีนักศึกษาที่เรียนจบมาทำงานด้านแฟชั่นก็เยอะ มหาวิทยาลัยหลายแห่งพยายามผลักดันนักศึกษาในด้านการออกแบบให้นำสมัย แต่ไม่ได้เน้นเรื่องการทำแพทเทิร์น หากดีไซเนอร์ไม่เข้าใจแพทเทิร์น ก็จะไม่สามารถสร้างชุดที่สวยกลมกล่อมออกมาได้ เสื้อผ้าที่สวยไม่ใช่แค่ทำออกมาให้เป็นเสื้อ เป็นกระโปรง แต่สำคัญที่สุดคือเมื่ออยู่บนเรือนร่างของคนใส่ มันต้องสวย และต้องสวยทุกไซส์ ดิไซเนอร์หลายคนในยุคนี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องนี้” เพชรเล่า

จากการสะสมประสบการณ์มากมายสุดท้ายเพชรได้ทำกิจการห้องเสื้อของตัวเอง เขากล่าวว่าตลอดอายุการทำห้องเสื้อของเขานั้น เขาไม่เคยมีหน้าร้านเลย ห้องเสื้อเพชรคือบ้านที่ต้อนรับลูกค้าโดยใช้ห้องรับแขก โดยไม่มีแม้แต่หุ่นโชว์ และเริ่มมีลูกค้าจากการบอกปากต่อปาก จนมีลูกค้าไม่ขาดสายอย่างทุกวันนี้

เพชรเล่าว่าเขาเป็นช่างเสื้อที่ไม่เคยคิดเรื่องลายเซ็น ไม่ลุ่มหลงอยู่กับชุดใดเป็นพิเศษ เมื่อตัดเย็บเสื้อผ้าเสร็จ ส่งถึงมือลูกค้า และได้รับความพอใจและค่าตัดเย็บกลับมา เขาก็มุ่งหน้าไปที่เสื้อผ้าตัวใหม่ เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนกระทั่งในช่วงโควิดที่ธุรกิจเสื้อผ้าได้รับผลกระทบ ไม่มีงานสังสรรค์หรืองานเลี้ยงที่ทำให้ลูกค้าต้องตัดชุดใส่ เขาจึงเริ่มนำงานที่ลูกค้าคนหนึ่งสั่งไว้กว่า 200 ชุด ออกมาทยอยทำ เป็นงานที่ตัดเย็บโดยใช้ผ้าไทย เป็นสาเหตุให้หลายคนจดจำเพชรด้วยเอกลักษณ์การใช้ผ้าไทยตัดเย็บอย่างทันสมัย

“ผมมีสต็อกงานลูกค้าอยู่คนหนึ่ง ต้องทำชุดให้เขาประมาณ 200 กว่าชุด เป็นลูกค้าที่ตัดกับผมมานานมากกว่า 20 ปีแล้ว ลูกค้าคนนี้เขาจะใช้ผ้าไทยทั้งหมด ช่วงนั้นผมก็เลยนำงานนี้ออกมาทำ แล้วก็ลงรูปในโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่ามีคนมาติดตามเยอะเลย คนมองว่าผ้าไทยทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ ตัดแบบนี้ได้ด้วยหรือ มีคนแชร์ต่อ มีคนคอมเมนต์มากมาย จนลูกค้าคนหนึ่งบอกกับผมว่านี่แหละคือลายเซ็นของผม

“จริงๆ ตัวผมรู้สึกว่ามันธรรมดามาก ด้วยความที่ผมทำงานผ้าไทยมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ก่อนทำเวอร์กว่านี้มากด้วยซ้ำ (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย และผมก็เป็นคนที่ไม่ค่อยถ่ายรูปผลงานตัวเอง เพราะรู้สึกว่าถ้าลูกค้าชอบ ลูกค้าลองใส่แล้วออกมาสวย ทุกอย่างคือจบ ผมแฮปปี ผมจะเก็บแต่ภาพประทับใจที่เห็นด้วยตาและความรู้สึกของตัวเองเท่านั้น” เพชรกล่าว

บนเส้นทางอันยาวไกลของช่างตัดเสื้อคนนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปเพชรสะท้อนว่าเขารู้สึกโชคดีที่ได้เข้ารียนในยุคที่อาชีวะมีวิสัยทัศน์อันเข้มแข็ง “อาชีวะเป็นสถานที่ที่บ่มเพาะนักเรียนเพื่อเข้าตลาดงาน นั่นหมายความว่าคนที่จบอาชีวะคือคนที่ทำงานได้จริง” เขาอธิบายจุดแข็งในสายตาเขาและยังกล่าวถึงผู้ที่สนใจเรียนสายอาชีพว่า

“ถ้าคุณรู้ตัวว่าคุณอยากจะมาสายอาชีพ ชอบเย็บผ้า ชอบทำอาหาร ให้คุณเข้าไปเรียนเถอะ มันตอบโจทย์อาชีพที่สุดแล้ว” เพชรทิ้งท้าย


ตัวแทนประเทศในการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ

เฟรม-ขวัญเมือง อาญาเมือง ทีมหุ่นยนต์ขุนด่านปราการชล

เฟรม-ขวัญเมือง อาญาเมือง คือเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังศึกษาระดับ ปวส.1 ในแผนกช่างอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิคนครนายก และเป็นหนึ่งในตัวแทนประเทศไทยที่จะไปแข่งขันการประกวดหุ่นยนต์ระดับนานาชาติประจำปี 2564

เฟรมเป็นสมาชิกของทีมขุนด่านปราการชล ทีมที่เข้าร่วมการประกวดสร้างหุ่นยนต์อาชีวศึกษา (ABU Asia Pacific Robot Contest) และคว้าแชมป์ในรอบระดับประเทศจากผู้เข้าแข่งขันกว่า 90 ทีม เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเข้าร่วมทีมว่า ในแผนกการเรียนจะมีวิชาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ หากอาจารย์ประจำวิชาดังกล่าวเล็งเห็นว่าเด็กคนไหนมีความสามารถหรือมีความสนใจเรื่องหุ่นยนต์เป็นพิเศษ อาจารย์ก็มักจะชักชวน สอบถามความสมัครใจในการเข้าร่วมทีม – เฟรมคือหนึ่งในนั้น

โจทย์ในการแข่งขันหุ่นยนต์ที่เฟรมและทีมคว้าแชมป์มาได้คือการแข่งขันหุ่นยนต์ยิงธนู โดยแต่ละรอบการแข่งขัน หุ่นยนต์ต้องยิงลูกธนูให้ลงในถังที่กำหนดไว้ โดยกำหนดเวลารอบละ 3 นาที แม้เป็นกติกาที่ไม่ซับซ้อน แต่เบื้องหลังการทำงานนั้นคือการระดมสมองและพลังเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ขึ้นมา และการฝึกซ้อมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อพิชิตภารกิจดังกล่าว

“ในทีมจะมีทั้งเพื่อนรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ ปวส. และรุ่นน้อง ปวช. พวกเราจะวางแผนกันแล้วค่อยเริ่มออกแบบหุ่นยนต์ จากนั้นก็จะแบ่งงานกัน ซึ่งจะมีอาจารย์และรุ่นพี่คอยแนะนำอยู่ บางคนก็ทำหน้าที่ดูแลเครื่องกล บางคนก็ไปเขียนโปรแกรม อย่างผมเองรับผิดชอบด้านการเชื่อมและเดินไฟ”

“ถ้านับตั้งแต่การออกแบบ เขียนแบบ ขึ้นหุ่น แต่ละวันบางครั้งเราเริ่มทำงานกันตั้งแต่เช้า ทำยาวไปถึงดึก เที่ยงคืน ตีหนึ่ง พอวันต่อไปก็เริ่มใหม่แบบเดิม ทำอยู่อย่างนี้ ส่วนเวลาซ้อมบางทีก็เกินเวลาที่ตั้งไว้ ซ้อมกันถึงสว่างเลยก็มี และระหว่างนั้นเราก็ต้องคอยปรับคอยแก้ คอยจับตาส่วนที่ผิดพลาดตลอด” เฟรมเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานและการซ้อมของทีม

สำหรับเฟรมการทำหุ่นยนต์และการเรียนคือเรื่องที่สอดผสานกัน เขาเล่าว่าทุกอย่างที่อาจารย์สอนในวิชาเรียนก็จะถูกนำมาใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ ขณะเดียวกันการเข้าแข่งขันก็เป็นอีกหนึ่งสนามทดลองให้เขาลงมือปฏิบัติจริง “เช่น เราเรียนโปรแกรม แล้วเราก็ต้องใช้โปรแกรมในการเขียนหุ่น นอกจากนี้ยังทำให้เราได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ พี่ๆ ในทีม ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมด้วย” เฟรมเสริม

มองย้อนกลับไปก่อนเข้าสู่เส้นทางอาชีวะ เฟรมเคยคิดจะเรียนสายสามัญ เขาเปรยว่าสนใจการเรียนด้านกฎหมาย แต่เมื่อสำรวจตัวเองดูแล้ว เขากลับตัดสินใจเดินต่อในเส้นทางอาชีวะ เพราะเหตุผลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ

“ถ้าเราเรียนอาชีวะ ถึงจะเรียนจบแค่ ปวช.3 ก็สามารถไปประกอบอาชีพได้แล้ว หรือถ้าเราจะเรียนต่อไปจนจบเป็นวิศวกร ก็มีงานอะไรให้ทำมากมาย”

เฟรมกล่าวว่าเขาตัดสินใจไม่ผิดเพราะการเรียนช่างอุตสาหกรรมทำให้เขาได้ลงมือปฏิบัติจริง เขาได้ฝึกพื้นฐานและทักษะที่จะนำไปประกอบอาชีพอย่างเข้มข้น ทั้งยังได้ร่วมทีมการแข่งขันหุ่นยนต์ประสบการณ์ที่ให้อะไรกับเขามากมาย

“มันมีการออกไปฝึกงาน มีการออกหน่วยซ่อม ทำให้เราได้ฝึกทักษะมากกว่าการนั่งเรียนในห้อง และมีอะไรอีกหลายอย่างให้เราทำ เช่น การเข้าทีมหุ่นยนต์

“หุ่นยนต์สอนอะไรผมหลายอย่างจริงๆ มันทำให้เราเห็นโลกอุตสาหกรรม ต่อไปในอุตสาหกรรมอาจจะไม่ต้องใช้คนเลยก็ได้ คนอาจจะเป็นแรงงานที่ควบคุมหุ่นอีกที หรือเป็นคนที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้”

นอกจากชนะการแข่งขันระดับนานาชาติในเดือนธันวาคมนี้ เป้าหมายของเฟรมคือการศึกษาต่อในด้านอุตสาหกรรม “ไปให้สุดๆ จนจบมาเป็นวิศวกรไฟฟ้า ถ้าไหว (หัวเราะ)” เด็กหนุ่มกล่าว


ครูศิลปะที่เลือกเรียนสายอาชีพเพราะใจรัก

ครูอาร์ท ธนากร

ธนากร หรือ อาร์ท ปัจจุบันเป็นครูสอนวาดรูปที่ผ่านประสบการณ์ทำงานด้านศิลปะมาอย่างหลากหลาย และเป็นคนหนึ่งที่เลือกเส้นทางการเรียนสายอาชีพด้านศิลปะมาตั้งแต่ระดับปวช.1

สำหรับเขาในวัย 15 ปี การตัดสินใจเรียนสายอาชีพไม่ได้มีอะไรซับซ้อนนอกเหนือไปจากความรักในการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจและอยากจะทำมันต่อไปเท่านั้น

“ผมวาดรูปมาตั้งแต่จำความได้ อาจจะเป็นส่วนผสมชีวิตที่ถูกส่งเสริมให้ประกวดวาดรูปมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมต้นก็วาดรูปมาตลอด จนมันกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิต” เมื่ออาจารย์ศิลปะที่เห็นฝีมือมาตลอดแนะนำให้ยื่นโควตาเรียนศิลปะที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพระนครใต้ (ปัจจุบันถูกยุบรวมเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ) เขาจึงไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้

“ตอนนั้นยังไม่ได้คิดถึงอนาคตเลย รู้สึกว่าแค่ชอบก็พอแล้ว” อาร์ทกล่าว

จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงความชอบวาดรูปในวันนั้น การเรียน ปวช. สาขาศิลปะกลับให้อะไรมากกว่าที่เขาคิด ด้วยหลักสูตรของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในเวลานั้นที่เปิดกว้างให้ผู้เรียนได้ทดลอง ฝึกฝนทักษะรอบด้าน และยังเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนให้เขาได้ค้นหาความสนใจของตัวเอง

“การเข้าเรียนศิลปะ สำหรับเด็กทุกคนก็มักจะคิดว่าน่าจะได้วาดรูปอย่างเดียวใช่มั้ย ปรากฏว่าไม่ ราชมงคลฯ ยุคนั้นให้นักเรียนเรียนทุกอย่าง ทั้งปั้น ทั้งพิมพ์ ทั้งแกะสลัก แม้กระทั่งลายไทย เผอิญว่าผมไปอยู่ในที่ที่ไม่ได้สอนแยกสาขา ได้เรียนรู้ทุกอย่างก็เลยทำได้หลายอย่าง ผมมองว่ามันเป็นข้อดี เพราะสุดท้ายแล้ว เด็กคนนึงอายุแค่ 15-18 ปี พอได้เรียนหลายๆ อย่างก็จะมีทางเลือกที่ชัดเจนขึ้นว่า ในระดับมหาวิทยาลัยหรือในระดับที่สูงขึ้นจะเลือกเรียนอะไรต่อ”

“อีกอย่างคืออาจารย์ที่นั่นค่อนข้างเปิดทางให้นักเรียนได้ทำงานศิลปะอย่างเต็มที่มากๆ ผมรู้สึกว่ามันส่งผลให้นักเรียนรุ่นผมค่อนข้างเก่ง นอกจากเก่ง ยังมีความสุขกับการทำงานด้วย ถึงขั้นที่ว่าเสาร์อาทิตย์ก็ยังนั่งรถเมล์มาเรียน ไปดูดินที่ปั้นไว้ หรือไปนั่งวาดรูปกับเพื่อน บรรยากาศมันส่งเสริมให้ทำงานและเรียนรู้ เรามีเวลาฝึกฝน มีเวลาแข่งกันทำงาน แข่งกันวาดรูป แข่งกันว่างานชิ้นนี้ใครจะได้เอ สนุกกับเรื่องพวกนี้มาตลอด 3 ปี”

หลังจากเรียนจบ เขายังคงทำงานคลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะผันตัวมาเป็นครูสอนศิลปะอย่างในปัจจุบัน

“ตั้งแต่ก่อนรับปริญญาก็ได้ไปทำฉากละครเวที พวกแกะโฟม ทาสีฉาก ก่อนจะไปเริ่มทำงานประจำครั้งแรกเป็นนักวาดการ์ตูนที่บริษัทแห่งหนึ่ง ทำอยู่หนึ่งปีจนมีผลงานออกมา แล้วหลังจากนั้นผมก็ไปเปิดร้านวาดภาพเหมือนอยู่ที่สะพานพุทธ พอสะสมคอนเน็กชันมาเรื่อยๆ ผมก็ออกจากการทำงานที่สะพานพุทธแล้วมาอยู่บ้านวาดภาพอย่างเดียว เป็นนักวาดภาพประกอบให้พวกบริษัทต่างๆ ที่ต้องการงานวาดมือ มีผลงานทั้งภาพวาดประกอบในหนังสือ สคส. โปสการ์ด ปฏิทิน ช่วงนั้นงานเยอะมาก 2-3 ปีนั้นคือวาดรูปทุกวัน ไม่ได้ออกไปไหนเลย”

เขาตกตะกอนกับว่าความสามารถทางศิลปะที่หลากหลายและโอกาสการทำงานที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขาทั้งหมดนั้นต้องย้อนกลับไปที่การเรียนอาชีวะ ซึ่งได้มอบเครื่องมือหาเลี้ยงชีพให้เขาหลายอย่าง จนสั่งสมเป็นทักษะและองค์ความรู้ที่มากพอจะถ่ายทอดให้กับคนอื่นๆ ที่มีความสนใจในศิลปะเช่นเดียวกับเขาได้

ปัจจุบันอาร์ทคือครูสอนศิลปะที่มีลูกศิษย์รวมกันตลอด 9 ปีของการสอนกว่า 500 คน โดยคนที่สมัครเข้ามาเรียนวาดรูปกับเขามีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ตลอดจนคนที่ชื่นชอบผลงานของเขาและสนใจมาเรียนด้วย นอกจากนี้ในสถานการณ์ที่การสอนแบบนัดพบกันตัวเป็นๆ ทำได้ยากขึ้นและการสอนออนไลน์ไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดนัก เขายังเริ่มทำงานเสริมด้วยการขายผลงานศิลปะที่เก็บรวบรวมไว้ในรูปแบบ NFT ไปด้วย

แม้จะเป็นคนหนึ่งที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในสายงานของตัวเอง แต่เมื่อถามถึงค่านิยมและภาพจำที่สังคมมีต่อเด็กที่เรียนอาชีวะ เขาบอกกับเราว่าคำถามอย่าง ‘เรียนปวช. แล้วมีตีกันมั้ย’ หรือการเหมารวมอย่างง่ายๆ ว่าเด็กสายอาชีพไม่ฉลาดเท่าเด็กสายสามัญ ก็เป็นสิ่งที่ได้ยินมาตลอดและถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้ง

“จริงๆ สังคมอาชีวะมันหลากหลายมากนะ มันไม่ได้มีแต่คนที่ต้องใส่ช็อป ขาเดฟ แล้วก็ตีกัน ไม่ใช่แค่นั้น อย่างที่ผมอยู่เป็นสังคมที่มีแต่คนใส่กางเกงโคร่งๆ เล่นสเกตบอร์ด ผมไม่เคยตีกับใครเลยเอาง่ายๆ ไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนั้นด้วยนะ ผมว่าเราเลือกได้ที่จะอยู่กับกลุ่มคนแบบไหน”

“ส่วนค่านิยมที่ว่าสายสามัญดีกว่าสายอาชีพ ผมมองว่าใครจะคิดยังไงก็ไม่ได้ผิดนะ จริงอยู่ที่เรียนสายอาชีพเน้นการปฏิบัติงาน แต่ว่าก็ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเดียว ความรู้ ความเข้าใจโลก หรือความเข้าใจในหลักวิชาการมันเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน อย่างผมเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว โดยเฉพาะศาสนาและปรัชญา ยิ่งผมเรียนจิตรกรรม เป็นสาขาที่ต้องค่อนข้างรู้รอบ ต้องหาประเด็นของโลก ของสังคมมาสร้างเป็นงานศิลปะ ช่วงนั้นผมก็อ่านหนังสือเยอะมากแทบทุกแขนง เพราะฉะนั้นเรื่องความฉลาดไม่ฉลาดมันอยู่ที่คนด้วย”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save