fbpx
‘อุดรโมเดล’ : พัฒนาเมืองแบบพ่อค้า หันหน้าสู่เวียงจันทน์

‘อุดรโมเดล’ : พัฒนาเมืองแบบพ่อค้า หันหน้าสู่เวียงจันทน์

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 

ทุกวันนี้เวลาพูดถึงโมเดลการพัฒนาเมืองแบบสมัยใหม่ สื่อหลายแห่งมักฉายสปอตไลท์ไปที่จังหวัดขอนแก่น จากโมเดลการพัฒนาเมืองให้เป็น ‘Smart city’ ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

แต่หารู้ไม่ว่า จังหวัดอุดรธานีที่อยู่ติดกันนั้น ก็มีโมเดลการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เมืองอุดรถือว่ามีพัฒนาการที่ชัดเจน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเติบโตของเมือง

หลายคนอาจรู้จักอุดรในฐานะของจังหวัดที่มีแหล่งอารยธรรมโบราณ รายล้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศาสนา ทว่าสิ่งที่กลายมาเป็นจุดแข็งของเมืองอุดรในปัจจุบันคือเรื่องการคมนาคม โดยมีสนามบินอุดรธานีเป็นศูนย์กลาง บินตรงสู่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายและนครเวียงจันทน์ ที่อยู่ห่างออกไปราวๆ 50 กิโลเมตรเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ตัวเมืองอุดรก็มีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เจริญขึ้น มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วเมือง มีเป็ดยักษ์สีเหลืองที่กลายมาเป็นมาสคอตตัวใหม่ ร้านอาหารและโฮสเทลแบบร่วมสมัยเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

หากขอนแก่นกำลังมุ่งไปสู่การเป็นเมืองแห่งการศึกษานวัตกรรม อุดรก็กำลังมุ่งไปสู่การเป็นเมืองแห่งการค้าและการลงทุน

รายงานชิ้นนี้จะพาคุณไปสำรวจการพัฒนาเมืองในแบบฉบับอุดรธานี ผ่านสายตาของคนอุดร 2 รุ่น 2 บทบาท ที่จะฉายภาพให้เห็นตั้งแต่รากฐานทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงวิธีคิดในการบริหารจัดการเมืองในระดับท้องถิ่น

ภาค 1

ธีรภัทร เจริญสุข : “อุดรเป็นเมืองแห่งการค้ามาแต่ไหนแต่ไร”

 

ในฐานะนักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และในฐานะคนที่เกิดและเติบโตในจังหวัดอุดรธานี ธีรภัทร เจริญสุข นับเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจความเป็นมาเป็นไปของเมืองอุดรอย่างละเอียด ควบคู่ไปกับการศึกษาบริบทแวดล้อมของพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำโขง เป็นเจ้าของคอลัมน์ ‘เดือนหงายที่ชายโขง’ ในมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ‘อนาคตอยู่นอกกรุงเทพฯ’ ใน Voice TV และเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับสารพัดประเทศรอบโลกในแง่มุมที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนลงใน The101.world

ต่อไปนี้คือประวัติศาสตร์การพัฒนาเมืองอุดรฉบับย่อ พร้อมเกร็ดข้อมูลสนุกๆ ที่ธีรภัทรนำมาบอกเล่าให้เราฟัง

 

ธีรภัทร เจริญสุข นักเขียน/คอลัมนิสต์

ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ การพัฒนาเมืองอุดรที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร

ถ้าในแง่การพัฒนาเมือง อุดรพัฒนาอยู่หลายระลอกด้วยกัน ระยะแรกคือระยะก่อตั้งเมือง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หลังเกิดกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศส กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลอุดร มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหนองคาย จำเป็นต้องย้ายฐานทัพมาอยู่ที่ตัวเมืองอุดรในปัจจุบัน ห่างจากฝั่งแม่น้ำโขง 50 กิโลเมตร และตั้งหน่วยราชการมณฑลอุดรขึ้นที่นั่น หลังจากนั้นจึงมีกระแสพระบรมราชโองการให้ก่อตั้งเป็นเมือง ‘อุดรธานี’ ในเวลาต่อมา

พอมีหน่วยงานราชการมาอยู่ ก็ทำให้เกิดการพัฒนาระลอกถัดมา คือพวกคนจีนที่อพยพมาจากกรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ เริ่มต้นจากการค้าผลผลิตทางการเกษตร ทั้งปลูกและแปรรูป เต็มไปด้วยโรงเหล้า โรงทอ โรงสี โรงงานน้ำตาล เจ้าของโรงงานเหล่านี้คือคนจีนแทบทั้งหมด เป็นจีนแต้จิ๋ว ถนนสายอุดรที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน คือถนนที่ตัดใหม่หลังจากการพัฒนา ช่วงนั้นอุดรจึงเติบโตขึ้นในฐานะเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเกษตร

พอเริ่มมีอุตสาหกรรมเกษตร จากเดิมที่รถไฟจากกรุงเทพฯ เคยไปสิ้นสุดที่ขอนแก่น มันก็ขยายไปถึงอุดร หลังจากนั้นผลิตผลทางการเกษตรก็ถูกขนส่งเข้ากรุงเทพฯ ผ่านทางรถไฟ ซึ่งสินค้าเกษตรในที่นี้ไม่ใช่สินค้าปฐมภูมิเท่านั้น แต่เป็นสินค้าที่ผ่านการแปรรูปในระบบอุตสาหกรรมด้วย เมื่อมีโรงงาน ก็มีแรงงานไหลเข้าไปในเมืองมากขึ้น การบริโภคและการค้าขายก็เพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจในเมืองก็พัฒนาขึ้นตามไปด้วย ในแง่นี้อุดรเป็นเมืองที่เติบโตในฐานะเมืองการค้ามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ต่อมาในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยความที่แกเป็นคนขอนแก่น ก็เลยย้ายเอาศูนย์ราชการที่เคยอยู่อุดรมาลงที่ขอนแก่นทั้งหมด ตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นมา ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ภาค 4 จากนั้นมาอุดรจึงเสียสถานภาพของเมืองแห่งศูนย์ราชการไป กลายเป็นเมืองการค้าอย่างเดียว

การพัฒนาระลอกถัดมา คือช่วงสงครามเวียดนามที่มีฐานทัพอเมริกามาลง ทำให้เศรษฐกิจของอุดรเฟื่องฟูขึ้นมาอีกรอบ และถูกขับเคลื่อนด้วยเงินจากอเมริกามากกว่าเงินภายในประเทศ เป็นช่วงที่อุดรมีผับ บาร์ เทค โรงหนัง ผุดขึ้นเต็มไปหมด ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้สัก 3-4 ปี อาจยังพอเห็นอยู่ว่า อุดรมีทุกอย่างแบบเดียวกับที่พัทยามี มีเมียเช่า มีร้านตัดสูท มีผับ มีบาร์ มีบ่อน มีซ่อง พูดง่ายๆ ว่าเป็นศูนย์กลางของด้านมืด แต่ทุกวันนี้แทบไม่เห็นแล้ว

พออเมริกาถอนฐานทัพไปในปี 2518 อุดรก็ซบเซาลงระยะหนึ่ง พวกโรงเรียนจีนก็ถูกสั่งปิด การค้าต่างๆ ก็เงียบลงไป จนมาฟื้นฟูอีกครั้งในช่วงปี 2535 หลังจากวิกฤตการเมืองในเดือนพฤษภาคม พอปี 2540 เศรษฐกิจก็ฟุบเหมือนกันทั้งประเทศ เมืองอุดรก็รักษาระดับมาเรื่อยๆ ก่อนจะบูมขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2554 จากการที่ลาวเปิดประเทศมาได้สักระยะ เพื่อเตรียมตัวที่จะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ นำเข้าสินค้ามากขึ้น รับทุนต่างชาติมากขึ้น

ถามว่าสินค้าจากไหน ทุนจากไหน ก็จากไทยแทบทั้งหมด เพราะถ้าจะไปเอาจากเวียดนาม มันต้องขนข้ามภูเขา แต่จากไทยแค่ข้ามสะพาน พอลาวจัดซีเกมส์ กราฟเศรษฐกิจของลาวก็พุ่งทันที เติบโต 12% ติดกันหลายปี พ่อค้าอุดรก็ใช้โอกาสนี้ดึงเงินลาวเข้ามือได้เป็นกอบเป็นกำ

จุดที่น่าสนใจคือลักษณะพ่อค้าเมืองอุดร จะเป็นพ่อค้าที่ใช้เงิน ต่างจากหลายๆ เมืองที่พ่อค้าคนจีนจะไม่ใช้เงินกันเท่าไหร่ ลักษณะนี้แบบเกิดจากวัฒนธรรมการใช้จ่ายแบบอเมริกาที่สั่งสมมาตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนาม

 

แล้วการพัฒนาระลอกล่าสุดที่เราเห็นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากปัจจัยอะไร

ถ้ามองในแง่การท่องเที่ยว เราคิดว่าอุดรได้เปรียบกว่าขอนแก่น หนึ่งคือเรื่องการคมนาคม สนามบินอุดรใหญ่กว่าขอนแก่น และมีไฟลต์เยอะกว่า สองคือสถานที่ท่องเที่ยวในอุดรเยอะกว่า ลองคิดง่ายๆ ว่าเวลาพูดถึงขอนแก่น นอกจากเมืองแห่งมหาวิทยาลัย กับเมือง smart city เราแทบนึกไม่ออกว่ามีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอะไร แต่อุดรมันมีหมุดหมายที่ชัดๆ อยู่เยอะ วัดหลวงตาบัว วัดป่าภูก้อน ทะเลบัวแดง คำชะโนด ความเป็น tourist destination ของอุดรมันชัดเจนมาก

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ด้วยความเป็นพ่อค้าอุดร เขาขายของเก่งกว่า อย่างหนองประจักษ์ที่กลายเป็นแลนมาร์คของเมืองอุดร เอาเป็ดยักษ์มาทำเป็นมาสคอต ต้องถือว่าเป็นการขายของที่ฉลาด มาพร้อมกับการกล้าใช้เงิน กล้าลงทุน ซึ่งอุดรมี แต่ขอนแก่นไม่มี

แล้วถ้ามองในมุมของคนลาว อุดรเป็นเมืองที่ดึงดูดเขามากกว่าขอนแก่นแน่นอน เพราะใกล้กว่าและสนามบินดีกว่า เวลาเขาจะเข้ากรุงเทพฯ ก็ข้ามมาอุดร แล้วค่อยบินไปกรุงเทพฯ เพราะมันถูกกว่าบินตรงจากเวียงจันทน์แบบครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งเขาจะแวะพักแวะเที่ยวที่อุดรก่อนก็ได้

ถ้าลองไปเดินในเซ็นทรัล จะเห็นเลยว่ามีคนลาวเยอะมาก โดยเฉพาะวันหยุด พวกโรงแรมในเมือง เสาร์อาทิตย์จะเต็มเกือบหมด เพราะคนลาวข้ามมาเที่ยว ทุกวันนี้อุดรกลายเป็น weekend shopping destination ของคนเวียงจันทน์ นี่คือการพัฒนาระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ลาวเพิ่งปรับภาษีสินค้าขาเข้าเป็น 10% แน่นอนว่าเขาก็ต้องพยายามปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศด้วย คนลาวเข้ามาเที่ยวอุดรเยอะก็จริง แต่ส่วนใหญ่คือข้ามมาเที่ยว มากิน มาดูหนัง มาเที่ยวกลางคืน แต่จะไม่ค่อยซื้อของกลับไป เพราะภาษีแพง ฉะนั้นอุดรจะไปหวังพึ่งลาวอย่างเดียวก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะสุดท้ายแล้วมันก็คนละประเทศ

อีกปัจจัยที่มีผลก็คือประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ คือคนอายุ 30 ปีลงมา หลายคนเริ่มกลับไปอยู่บ้าน ทำกิจการต่อจากพ่อแม่ แต่จะเป็นกิจการรูปแบบใหม่ โดยใช้ทุนเดิม บ้านเดิม คอนเนคชันเดิม ยกตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟที่ชื่อ Beyond Café แต่เดิมที่บ้านเขาเปิดเป็นร้านคาร์แคร์ พอลูกกลับมาก็เปิดเป็นร้านกาแฟสไตล์ชิคๆ ทำไปทำมา ปรากฏว่ากาแฟขายดีกว่า ตอนนี้ขยายสาขาไปทั่วเมือง

ทุกวันนี้จะเห็นว่ามีคนกลับมาทำกิจการอะไรแบบนี้เยอะมาก โดยเฉพาะช่วง 4-5 ปีหลัง ซึ่งมันส่งผลให้รูปแบบของเมือง ไปจนถึงสถาปัตยกรรมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ดูทันสมัยขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้คนเหล่านี้สำเร็จ มีสามอย่างหลักๆ ก็คือทุน คอนเนคชัน และความรู้ ซึ่งความรู้ที่คนเหล่านี้มี ไม่ใช่แค่ความรู้ไปร่ำเรียนมาเท่านั้น จุดสำคัญที่ทำให้เขาไม่เจ๊ง คือความรู้เรื่องการทำธุรกิจจากพ่อแม่ที่เขาซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยเซนส์ของลูกพ่อค้าต่างจังหวัด มันต้องช่วยพ่อช่วยแม่ทำงานตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว พอกลับมาทำเองก็เลยไม่เจ๊งง่ายๆ

ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้คนเริ่มมองเห็นอนาคตในต่างจังหวัด ก็คือการเกิดขึ้นของ low-cost airline มันทำให้คนเดินทางง่ายขึ้น ก่อนหน้านี้เราต้องนั่งรถทัวร์ รถไฟ ถ้าจะขึ้นเครื่องบินก็แพง แต่ทุกวันนี้มันง่ายขึ้นมาก นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองต่างจังหวัดเติบโตขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้าใช้คำแบบคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ต้องบอกว่า ‘Location is transportation’

 

วัดป่าคำชะโนด

 

ทะเลบัวแดง

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง

 

ริมหนองประจักษ์

 

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน อุดรธานี

 

ร้านอาหารดังเมืองอุดร

 

นอกจากเรื่องการค้า คุณมองว่าอุดรมี ‘จุดขาย’ ในด้านไหนอีก

ถ้าจะชูจุดขายสักอย่างให้เมืองอุดร ผมจะยกให้อุดรเป็นเมืองแห่งอาหาร เพราะร้านอาหารในอุดรเยอะมาก หลากหลายมาก เอาง่ายๆ ว่าถ้าให้ผมพาเที่ยวอุดรหนึ่งอาทิตย์ ผมสามารถพาไปกินร้านอาหารที่ไม่ซ้ำกันได้ และอร่อยทุกร้าน

อย่างที่บอกว่าเศรษฐีอุดรเขาใช้เงิน แต่เวลาจะใช้แต่ละครั้ง เขาคิดเยอะ ก็คือเรื่องมากนั่นแหละ แต่ด้วยความเรื่องมาก มันเลยทำให้ร้านอาหารต้องอร่อย ทั้งร้านเก่าร้านใหม่ เพราะถ้าไม่อร่อยจะอยู่ไม่ได้

 

ถ้าเทียบกับขอนแก่น อุดรมีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบอย่างไรบ้าง

ทุกวันนี้ขอนแก่นดูป๊อปกว่า เพราะขอนแก่นเป็นเมืองที่มีรสนิยมแบบคนกรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งมหาวิทยาลัย ซึ่งการอัปเดตเทรนด์ต่างๆ มันทันกันอยู่แล้ว รวมถึงโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ซิตี้บัส ต้องยอมรับว่าขอนแก่นมีองค์ความรู้มากกว่า อุดรยังขาดองค์ความรู้แบบนี้ เพราะเป็นเมืองพ่อค้า ขับเคลื่อนด้วยการค้าขายและทำธุรกิจไปเรื่อยๆ ถ้าถามว่าเขาอยากทำมั้ย อยากหาความรู้เพิ่มมั้ย เขาก็อยาก เพียงแต่ไม่รู้จะไปหาที่ไหน

แต่ในทางกลับกัน ระบบการศึกษาที่เป็นแก่นของเมืองอุดรคือสายอาชีวะ อุดรขึ้นชื่อเรื่องอาชีวะมานานมากแล้ว มีวิทยาลัยพละ มีเพาะช่าง มีโพลีเทคนิค มีวิทยาลัยสันตพลที่เป็นสายบัญชี สถาบันการศึกษาเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องใช้คนทำงานเหล่านี้ ต้องการคนทำบัญชี ต้องการช่าง ปัจจัยนี้ทำให้เศรษฐกิจของเมืองอุดรค่อนข้างคงที่ และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะมีทั้งการผลิตและการบริโภคภายใน

ถ้ามองในแง่นี้ เทียบกับขอนแก่น ช่วงปิดเทอมขอนแก่นจะเงียบ เพราะประชากรในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอยู่ประมาณ 12,000 คน พอนักศึกษาปิดเทอม เศรษฐกิจก็ฟุบ ใครที่คิดจะไปทำธุรกิจในขอนแก่น ต้องเตรียมใจไว้เลยว่า ช่วงเวลา 3 เดือนของการปิดเทอม เงินจะหายไปแน่ๆ แต่กับอุดร ไม่มีสภาวะแบบนี้ เศรษฐกิจค่อนข้างคงที่ตลอดปี

อุดรเป็นเมืองที่คนถูกหวยรางวัลที่ 1 บ่อยที่สุด เพราะอะไร ก็เพราะเอเยนต์ล็อตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่วังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งคนที่มารับซื้อ ไม่ใช่คนวังสะพุง แต่เป็นพ่อค้าจากอุดรทั้งนั้น หรืออย่างหวยใต้ดิน แหล่งใหญ่สุดก็อยู่ที่เมืองอุดร ซื้อ 1 บาท ได้ 90 บาท มากกว่ากรุงเทพฯ 20 บาท เพราะการแข่งขันมันสูง อย่างที่บอกว่าพ่อค้าเมืองอุดรเป็นพ่อค้าที่ใช้เงิน จำนวนเงินหมุนในเมืองอุดรสูงมาก

 

ในฐานะผู้อยู่อาศัย มีเรื่องไหนที่คิดว่าควรปรับปรุงหรือพัฒนาให้มากขึ้นกว่านี้

ปัญหาที่เห็นมากๆ ทั้งขอนแก่นและอุดร ก็คือการดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้ากับประปา ไฟฟ้านี่ปัญหาใหญ่เลย เมืองโตขึ้น ประชากรเพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่กำลังผลิตไฟฟ้าเท่าเดิม ผลคือไฟดับเป็นประจำ

ส่วนเรื่องประปา หน้าร้อนมีปัญหา เพราะว่ามันแล้งมาก ทั้งขอนแก่นและอุดร น้ำไม่พอ ปัญหาที่ตามมาก็คือการพัฒนาระบบอุตสาหกรรม ซึ่งต้องใช้น้ำเยอะ เมื่อน้ำไม่พอ การพัฒนาอุตสาหกรรมก็ชะงัก อีกเรื่องก็คือขยะ ทุกวันนี้ไม่รู้จะเอาขยะไปทิ้งที่ไหน ยังไม่มีระบบจัดการที่ดีพอ

 

ภาค 2

อิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ : หันหน้าสู่เวียงจันทน์

 

หากพูดถึงการพัฒนาเมืองอุดรในปัจจุบัน บุคคลหนึ่งที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญและเป็นมันสมองของโครงการต่างๆ ก็คือ อิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ผู้นำท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่าทำงานอย่างแข็งขัน เข้าถึงประชาชน และสร้างชื่อให้เทศบาลนครอุดรธานีจากการคว้ารางวัลระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการบริการ และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

101 มีโอกาสสนทนากับอิทธิพนธ์ นายกเทศมนตรีผู้กล้าคิดกล้าทำ ถึงบทบาทการเป็นผู้นำท้องถิ่น วิธีคิดในการบริหารจัดการเมืองอุดรธานี ไปจนถึงทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคต

 

อิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี

 

ในมุมของคุณ จุดที่ทำให้เมืองอุดรพัฒนาขึ้นมาในช่วง 4-5 ปีนี้ คืออะไร

หนึ่งคือภูมิประเทศ สองคือการคมนาคม ที่สะดวกและมีความพร้อมสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนทำกิจการต่างๆ ตอนนี้อุดรเป็นเมืองแห่งโอกาส ทุกคนมีโอกาสเข้ามาลงทุน มาค้าขาย ที่นี่ไม่มีเจ้าพ่อ ไม่มีนักเลง ใครอยากขาย อยากลงทุนอะไร สามารถทำได้หมด

ถ้าในด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องบอกว่าเราเติบโตแบบก้าวกระโดดมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินสูงขึ้น คนเก่าคนแก่ที่มีที่ดินอยู่ เริ่มเปลี่ยนมือสู่นักธุรกิจนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ มีธุรกิจจากส่วนกลางมาลง มีการค้าขายมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เมืองเจริญขึ้น เมื่อเมืองเจริญขึ้น แรงงานในพื้นที่ก็มีงานทำเยอะขึ้น ไม่ต้องออกไปหางานข้างนอก

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาอยู่อุดรมากขึ้น ทำธุรกิจส่วนตัว ทำ SMEs คนเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ที่น้อยคนจะกลับมา เพราะมันไม่มีอะไรให้ทำ

ทั้งนี้ สิ่งที่ตามมากับความเจริญ ก็คือหนึ่ง รถติด สอง การแก่งแย่งเชิงธุรกิจ สิ่งที่ทางเทศบาลต้องคิดและต้องมองอนาคต ก็คือการแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี และทำให้เขาสามารถทำธุรกิจต่างๆ ได้คล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม

การอยู่ใกล้กับสปป.ลาว ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งไหม

ใช่ครับ ถ้าเรามองว่ากรุงเทพฯ คือศูนย์กลางของประเทศ แล้วทุกอย่างต้องโฟกัสเข้าหาศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นความเจริญ หรือการทำธุรกิจการค้าต่างๆ ยังไงเราก็เสียเปรียบ เสียเปรียบในที่นี้ก็คือเรื่องระยะทาง คิดง่ายๆ ว่าถ้าทุกสิ่งทุกอย่างพุ่งเข้าหากรุงเทพฯ ก่อน แล้วค่อยกระจายไปสู่จังหวัดอื่น กว่ามันจะมาถึงอุดร ก็มีหลายด่านที่รออยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่สระบุรี โคราช ขอนแก่น

แต่ถ้าเราเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ จากเดิมที่หันหน้าไปทางกรุงเทพฯ เราหันหลังกลับ มองไปที่เวียงจันทน์ ใช้เวียงจันทน์เป็นศูนย์กลางแทน ทั้งเรื่องการค้า การลงทุน ถ้ามองแบบนี้เราจะได้เปรียบมหาศาล กลายเป็นว่าจังหวัดอื่นๆ ที่พูดมา เสียเปรียบเราหมด

 

แนวคิดนี้มาจากไหน

เราคิดในมุมของการทำธุรกิจ มองว่าคู่ค้าของเรามีใครบ้าง ซึ่งนอกจากมองไปยังจังหวัดรอบข้างแล้ว เราก็มองไปที่เวียงจันทน์ ถ้าเทียบกับภาคใต้ อาจเห็นภาพชัด ก็คือเมืองหาดใหญ่ ถึงจะไม่อยู่ติดชายแดน แต่ก็เป็นเมืองสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวข้ามมาเยอะ อุดรก็เช่นเดียวกัน ช่วงวันศุกร์ เสาร์ เราจะเห็นรถทะเบียนสปป.ลาว วิ่งอยู่เต็มเมือง ทุกวันนี้นักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวมาอุดรกันเป็นเรื่องปกติ เพราะมันไปต่อที่อื่นได้สะดวก ไม่ว่าจะเดินทางหรือท่องเที่ยว

 

ความคึกคักของถนนคนเดินยามค่ำคืน

 

เป็ดอุดรสารพัดชนิด ริมหนองประจักษ์

 

ที่บอกว่าอุดรเป็นเมืองแห่งโอกาส มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมไหม

สิ่งที่ผมเห็นอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ คนที่ได้เข้ามาสัมผัสเมืองอุดรในช่วงหลายปีมานี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอุดรน่าอยู่ น่าลงทุน นี่คือคำที่เราได้ยินอยู่เสมอ ซึ่งสำหรับผม แค่คำว่าน่าอยู่ มันก็ตอบโจทย์หมดแล้ว ทั้งเรื่องของการลงทุน หรือการอยู่อาศัย

ถ้าให้เปรียบเทียบ ผมอาจเปรียบว่าอุดรเป็นเป็ด ว่ายน้ำก็ได้ อยู่บนบกก็ได้ บินก็ได้ มีครบหมด

 

การที่คุณนำ ‘เป็ดยักษ์สีเหลือง’ มาเป็นมาสคอตประจำเมือง เป็นเพราะเหตุนี้ด้วยหรือเปล่า

เพราะอุดรขึ้นชื่อเรื่องลาบเป็ด (หัวเราะ) พูดเล่นนะครับ จริงๆ แล้วลาบเป็ดนี่หากินที่ไหนก็ได้ ส่วนเป็ดยักษ์สีเหลือง หรือที่เราเรียกว่าเป็ดสันติภาพ เป็นไอเดียที่ผมได้มาจากงานของศิลปินชาวออสเตรเลีย เขาเอาเป็ดยักษ์แบบนี้ไปตั้งไว้ตามที่ต่างๆ ของโลก เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ความสามัคคี

ทีนี้ช่วงที่การเมืองเข้มข้น ผมรู้สึกว่าเราน่าจะหาอะไรสักอย่างที่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็เลยนึกถึงเป็ดยักษ์แบบนี้ แต่เราทำในขนาดที่เล็กลงมาหน่อย แล้วเอามาตั้งไว้ในหนองประจักษ์ ปรากฏว่ามันก็น่ารัก แล้วดูเหมาะเจาะพอดี เป็นสัญลักษณ์ของความสุข ใครเห็นก็รู้สึกดี ถึงตอนนี้ก็ประมาณ 4 ปีแล้ว กลายเป็นแลนมาร์คหนึ่งของเมืองอุดรที่คนต้องมาถ่ายรูป มาเช็คอิน

 

เป็ดเหลืองยักษ์แห่ง ‘หนองประจักษ์’

ถ้าเทียบกับขอนแก่น คุณมองว่าอุดรมีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบอย่างไร

ผมคิดว่าอุดรเสียเปรียบขอนแก่นอยู่เพียงเรื่องเดียว คือเรื่องสถาบันการศึกษา ขอนแก่นมีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนทั้งด้านองค์ความรู้ ศักยภาพของความเป็นเมือง ความได้เปรียบเรื่องประชากร ซึ่งสามารถผลักดันให้เมืองเติบโตและพัฒนาไปอีกระดับหนึ่งได้

อุดรมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเอกชนอีกสองสามแห่ง แต่มันยังไม่เป็นแม่เหล็กเพียงพอที่จะดึงคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งประสบการณ์และความรู้ มาช่วยพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ

นี่คือข้อเสียเปรียบอย่างเดียว นอกจากนั้นผมคิดว่าไม่แตกต่างกัน กลับมีข้อได้เปรียบในหลายด้านด้วยซ้ำ อย่างที่บอกไป ถ้าเราหันหน้าไปทางลาว ขอนแก่นเสียเปรียบเรา รวมไปถึงสนามบินของเราที่มีความพร้อมมากกว่า แต่สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า อุดรกับขอนแก่น จะเป็นเมืองที่พัฒนาไปพร้อมๆ กัน เป็นเมืองคู่ขนานที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนให้เข้ามายังภาคอีสานมากขึ้น

คุณได้รับเลือกตั้งติดต่อกันมาหลายสมัย มีเทคนิคหรือกลยุทธ์อะไรที่ทำให้ประชาชนไว้วางใจ

ผมพูดอยู่เสมอว่าผมไม่ใช่นักการเมือง แต่ผมเป็นนักบริหารเมือง ซึ่งมีความแตกต่างกัน ถ้าผมคิดแบบนักการเมือง ผมก็จะโฟกัสแต่คะแนนที่ตัวเองจะต้องได้ ฉะนั้นผมก็ต้องไปเอาใจคนโน้นคนนี้ หรือพยายามทำอะไรก็ตามเพื่อให้ได้คะแนนเสียงมา

แต่การเป็นนักบริหารเมือง คะแนนเสียงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น เรื่องการบริหารองค์กร นับเฉพาะในเทศบาล เรามีพนักงานในส่วนต่างๆ กว่า 1,800 คนที่ผมต้องบริหาร ไปจนถึงประชาชนที่ผมต้องดูแล

สำหรับผม มีอยู่สองคำที่นักบริหารเมืองต้องใส่ใจ คือการแก้ไขปัญหา และการพัฒนา สองอย่างนี้ต้องไปพร้อมๆ กัน แม้เราจะวางแผนอนาคตข้างหน้าอีก 5-10 ปี แต่เราก็ต้องไม่มองข้ามปัญหาที่มีในปัจจุบัน หรือปัญหาระยะสั้น โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นความต้องการของประชาชน

ทุกวันนี้เรามีอยู่ 104 ชุมชน เราพยายามให้แต่ละชุมชนได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ด้วยกัน เมื่อประชาชนมีส่วนร่วม เขาก็จะให้การตอบรับที่ดี ซึ่งจะทำให้โครงการต่างๆ ประสบผลสำเร็จได้จริง แต่ละโครงการที่เราได้รับรางวัล ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งนั้น

 

มีเรื่องไหนที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานไหม

ปัญหาหนึ่งที่เราข้ามผ่านมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็คือเรื่องความเข้มข้นทางการเมือง ตอนนี้ถ้านับในเขตเทศบาล เราค่อนข้างเปิดโอกาสให้กับทุกคน ไม่ได้แบ่งแยกว่าใครเป็นสีอะไร หรือมีมุมมองทางการเมืองอย่างไร แม้จะมีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบ้าง แต่คนในเมืองก็รับรู้ เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

อีกปัญหาที่เห็นชัด คือเรื่องของข้อกฎหมายต่างๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เป็นไปได้ช้า เช่น โครงการซิตี้บัส ในระเบียบยังบอกว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาล แต่พ.ร.บ.กระจายอำนาจ กลับบอกว่าอำนาจหน้าที่ของเทศบาลไม่เกี่ยวกับเรื่องเส้นทางขนส่ง แต่มีหน้าที่แค่ดูแลสถานีขนส่ง อันนี้ก็ยังต้องหารือกันอยู่ ว่าสุดท้ายแล้วจะทำอย่างไร

ในอดีต ผู้เขียนกฎหมายอาจมองว่าท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลแค่เรื่องถนน ร่องระบายน้ำ แสงสว่าง พูดง่ายๆ ก็คือเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่อาจไม่ได้มองถึงเรื่องระบบขนส่ง ซึ่งถือเป็นบริการสาธารณะเหมือนกัน ตอนนี้ก็พยายามปรับแก้ระเบียบกันอยู่

 

อีก 5-10 ปีข้างหน้า ภาพของเมืองอุดรในสายตาของคุณเป็นยังไง

หนึ่งในนโยบายที่เราพยายามทำอยู่ ก็คือเรื่อง smart city ซึ่งคำว่า smart ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา การบริการ ไปจนถึงระบบขนส่งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เราพยายามจะนำเสนอในสิ่งที่สามารถทำได้จริง เทศบาลเรามีงบในการบริหารจัดการไม่ถึงพันล้านบาทต่อปี ซึ่งคงไม่สามารถสร้างรถรางที่ต้องใช้งบลงทุนเป็นหมื่นล้านได้ นอกจากว่ารัฐจะให้เงินทุนสนับสนุน ฉะนั้นสิ่งที่ตอบโจทย์ตอนนี้ก็คือโครงการซิตี้บัส ที่ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้ในราคา 10-15 บาท ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งน่าจะเปิดใช้ได้ในอีก 4-5 ปีถัดจากนี้

อีกเรื่องที่เราทำแล้วก็คือ ช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับเทศบาล เราทำเป็นแอปฯ ขึ้นมา ชื่อว่า @นครอุดรธานี ให้ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนหรือคำแนะนำต่างๆ ถึงเราได้โดยตรง ตอนนี้มีคนดาวน์โหลดไปใช้ประมาณ 6,000-7,000 คนแล้ว นอกจากนี้ก็มีเรื่องของการดูแลความปลอดภัย ตอนนี้เทศบาลติดตั้งกล้อง cctv ตามตรอกซอกซอยของเมือง เพื่อสอดส่องดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องของเรา

โจทย์พื้นฐานของเราคือทำให้ประชาชนได้รับบริการต่างๆ ที่สะดวกสบายขึ้น หนึ่งคือประหยัด สองคือลดขั้นตอน สามคือตอบสนองทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save