fbpx

เจรจาการค้าอย่างไรในโลกผันผวน?

เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะด้วยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (geo-politics) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน มาตรการดูแลเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ที่ทำให้ดอกเบี้ยขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว และปัญหาจากสถาบันการเงินในกลุ่มเทคโนโลยี (เช่น Silicon Valley Bank[1]) ซึ่งมีความเสี่ยงจะเป็นวิกฤตการเงินรูปแบบใหม่

แม้วันนี้อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง แต่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ยังคงรักษาดอกเบี้ยให้สูงไปอีกสักระยะ ดังนั้นโลกยังอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัว และกำลังซื้อที่จำกัด

สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก คือประเทศต่างๆ หันมาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น แม้เราจะเริ่มเห็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามาตั้งแต่ปี 2009 (หลังวิกฤตซับไพรม์) แต่แนวโน้มนี้เร่งขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา[2] โดยลักษณะสำคัญของมาตรการกีดกันระลอกล่าสุดคือการที่ประเทศต่างๆ หันมาใช้มาตรการให้เงินอุดหนุนการผลิต โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของมาตรการที่ออกมาทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ การใช้มาตรการส่งเสริมการส่งออก[3] (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1: จำนวนมาตรการกีดกันการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2009-2023 (ณ​ 28 เมษายน 2566)
ที่มา: Global Trade Alert ของธนาคารโลก https://www.globaltradealert.org/global_dynamics

มาตรการของสหรัฐอย่าง Chip and Science Act หรือ Inflation Reduction Act (IRA) เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนทิศทางของมาตรการกีดกันทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ความพยายามลดบทบาทและศักยภาพการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของจีนผ่านการห้ามไม่ให้ขายเครื่องจักร ชิ้นส่วน อุปกรณ์ และสารเคมีให้กับจีน ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายในโลก และส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในขณะที่ทั้ง Chip and Science Act และ Inflation Reduction Act ดูเผินๆ อาจคล้ายเป็นมาตรการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ ส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศของตนผ่านมาตรการการบังคับใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (local content requirement: LCR) โดยรัฐบาลสหรัฐฯ อัดฉีดเงินอุดหนุนเข้าระบบปีละกว่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1 ล้านล้านบาทต่อปีระหว่าง ค.ศ. 2020-2029 โดยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ผลของมาตรการนี้ทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตไปตั้งโรงงานในสหรัฐฯ และเข้าถึงเงินอุดหนุนดังกล่าว (The Economist, 2023)

สำหรับไทย ความท้าทายทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการสร้างงาน ในด้านหนึ่งไทยเผชิญหน้ากับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2006 ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 รุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ เพราะเศรษฐกิจไทยมีภาคท่องเที่ยวและภาคเศรษฐกิจกึ่งทางการขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งสองภาคเศรษฐกิจนี้ได้รับผลอย่างรุนแรงจากมาตรการเว้นระยะห่าง (social distancing) แม้รัฐบาลจะใช้เงินจำนวนมาก[4] เพื่อต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 แต่เศรษฐกิจไทยก็ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ดังสะท้อนในภาพที่ 2) อัตราการขยายทางเศรษฐกิจไทย (เส้นสีเขียว) ที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ (จุดสีต่างๆ ในภาพ) และคาดว่าจะต่ำที่สุดในปี 2024 การคาดการณ์พบว่า ไทยต้องใช้เวลา 4 ปีเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนใช้เวลาเพียง 1-2 ปี (ภาพที่ 3) [5]  

ภาพที่ 2: อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ร้อยละเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อน)
ที่มา: International Monetary Fund, World Economic Outlook Database, April 2023

ภาพที่ 3: ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (2019=100) ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างปี 2019-2024

การฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจไทยเป็นผลมาจากการที่ตลาดภายในประเทศบอบซ้ำเกินที่จะใช้มาตรการกระตุ้นให้คนไทยมาใช้จ่าย ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นก็ทำได้จำกัดจากภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 การส่งออกจึงเป็นเพียงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้นการอำนวยความสะดวกให้การส่งออกทำงานเต็มศักยภาพจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการการเจรจาการค้าระหว่างประเทศอย่างมียุทธศาสตร์  

อย่างไรก็ตาม การเจรจาการค้าระหว่างประเทศปัจจุบันไม่สามารถทำได้โดยง่าย โดยกล่าวได้ว่าตอนนี้ เราอยู่ในยุค ‘การเจรจา 4.0’ ที่มีความสลับซับซ้อนสูงมาก การเจรจาการค้าทุกวันนี้ไม่ใช่แค่การนึกถึงตัวเองเหมือนในยุค 1.0 ที่มองเฉพาะแต่เพียงว่า อุตสาหกรรมไหนบ้างที่ไทยจะยังคงภาษีศุลกากรหรือมาตรการคุ้มครองอื่นๆ และอุตสาหกรรมไหนบ้างที่ไทยพร้อมจะเปิดเสรี ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่ใช้เรียนใช้สอนในวิชาเศรษฐศาสตร์ ด้วยเชื่อว่าเป็นแนวทางที่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางการค้าจากการพิจารณาความเหมาะสมของประเทศตนเองเป็นหลัก

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเจรจาทางการค้าค่อยๆ มีการปรับเปลี่ยนและมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการการค้าที่มีผลต่อการลงทุน (การเจรจา 2.0) และนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ไทยจำเป็นต้องมี ‘ยุทธศาสตร์การค้าเสรี’ (การเจรจา 3.0) ซึ่งต้องทำแผนว่าจะทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTAs) กับใคร ซึ่งแต่ละข้อตกลงก็อาจมียุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน ในยุคนี้แต่ละประเทศต่างมองข้ามหลักการทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่พิจารณาประโยชน์ต่อการจัดสรรทรัพยากรว่าเราควรทำอะไร ไม่ทำอะไร แต่พยายามให้ประเทศได้มูลค่าการส่งออกสุทธิมากที่สุด (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4: พัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
ที่มา: พัฒนาโดยผู้เขียน

ในยุคเจรจา 4.0 การเจรจามีความสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะขอบเขตของการเจรจาการค้าไม่ได้อยู่เพียงแค่มิติเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมิติอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมด้วย เช่น เรื่องธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ภายใต้กฎกติกาเช่นนี้ การประเมินผลประโยชน์สุทธิของท่าทีการเจรจาจะทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการทำ FTA กับประเทศพัฒนาแล้วที่มีมิติทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง และการแลกผลประโยชน์มักต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว กับผลกระทบ/ความเสียหายที่ชัดเจนในระยะสั้น ดังนั้นการหาฉันทามติในการทำเอฟทีเอในลักษณะที่มีแต่คนได้ ไม่มีคนเสีย จึงทำได้ยาก

ภายใต้บริบทโลกใหม่ การกำหนดยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของไทยจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็น ดังต่อไปนี้

ประการแรก ยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าของไทยไม่สามารถแยกออกจากนโยบายต่างประเทศของไทยในภาพใหญ่ กล่าวคือจุดยืนของประเทศไทยในเวทีโลกมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อทิศทางนโยบายการค้า เนื่องจากความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีการค้าและการลงทุนระหว่างกันสูงมาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ความเสียหายของการแบ่งแยกห่วงโซ่การผลิต (decoupling) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จะส่งผลกระทบรุนแรง คำถามใหญ่ในเรื่องนี้คือ ไทยจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

ประการที่สอง โจทย์การเจรจา FTA ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาจะมีความแตกต่างกันมากขึ้น ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมักจะเป็นผู้นำและกำหนดกรอบเจรจาหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม (เช่น Carbon Footprint และภาวะโลกร้อน)​ มาตรฐานสินค้าและสุขอนามัย กฎระเบียบทางด้านการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ​ ประเด็นเหล่านี้จะกลายมาเป็นหัวข้อเจรจาสำคัญ โดยสิ่งที่ไทยต้องเตรียมรับมือคือการประเมินว่าสิ่งที่คู่เจรจาต้องการคืออะไร แล้วมีนัยต่อการพัฒนาของประเทศในระยะยาวมากน้อยแค่ไหน อะไรคือสิ่งที่เราอยากจะได้จากประเทศเหล่านี้จริงๆ ประโยชน์จากเอฟทีเอจึงไม่ใช่แค่การเปิดตลาดสินค้า (ซึ่งคาดว่าจะมีจำกัดแค่ในบางผลิตภัณฑ์เท่านั้น)

ประการที่สาม การยอมรับกรอบ FTA หนึ่งหมายความว่าเราอาจต้องยอมรับกรอบอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลัก ‘ไม่เลือกปฏิบัติ’ (non-discriminatory) ดังนั้นในการเจรจาการค้ากับกรอบ FTA ใดก็ตาม เราต้องคิดให้ครบและเตรียมพร้อมในประเด็นเจรจาให้สอดคล้องกับพัฒนาการของไทยในปัจจุบัน อีกทั้งต้องคำนึงถึงผลกระทบในอนาคต ซึ่งในการจะทำเรื่องเหล่านี้ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม

ประการที่สี่ มาตรการลงทุนที่มีผลต่อการค้า หรือ TRIMs (Trade-related Investment Measures) เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการเจรจา โดยเฉพาะการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศหรือการบังคับให้ต้องส่งออกทั้งหมด ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายประเทศ (รวมถึงไทย) ใช้อยู่ คำถามสำคัญคือเราควรจะมียุทธศาสตร์ในเรื่องนี้อย่างไรให้การค้าและการลงทุนเปิดประโยชน์สูงสุดต่อไทย ประสบการณ์ในอดีตอย่างกรณีการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนชี้ให้เห็นว่ามาตรการเหล่านี้ไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในวงกว้าง มิเช่นนั้นเราน่าจะเห็นซัปพลายเออร์ไทยมีบทบาทเป็นซัปพลายชั้นนำในโครงข่ายการผลิตรถยนต์ทั่วโลกมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ไทยควรมียุทธศาสตร์การเจรจากลางของประเทศที่ยึด ‘เศรษฐกิจไทยเป็นศูนย์กลาง’ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แทนที่จะหาจุดยืนการเจรจาไปที่ละกรอบความตกลงการค้า เราควรต้องทำให้การเจรจาการค้าเป็นไปเพื่อการพัฒนาประเทศ 

เราต้องเริ่มจากการเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน และข้อพึงระวังของเศรษฐกิจไทยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลและความเป็นจริงจับต้องได้ ต้องคิดให้แตกว่าเราจะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่มีอย่างไร กลยุทธ์ระยะสั้นที่ทำทันที อะไรคือสิ่งที่ควรเดินหน้าเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เฉพาะแค่ข้อตกลงการค้าเสรีใหม่ที่กำลังจะลงนามเท่านั้น แต่ไทยควรต้องวิเคราะห์ช่องว่างของข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามไปแล้วด้วยว่าใช้ประโยชน์ได้เต็มที่หรือยัง หากยัง ต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงลงอย่างเต็มศักยภาพ เป็นต้น  

ที่สำคัญ กลยุทธ์การเจรจาไม่ใช่มีเพียงการประเมินความคุ้มค่าของการลงนาม FTAs แต่ต้องมีระบบติดตาม FTA ที่ลงนามถึงปัญหาต่างๆ (เช่น Decree 112 ของเวียดนาม) เราอาจมียุทธศาสตร์การใช้ FTA หรือ การใช้เพียงกรอบความร่วมมือที่อ่อนกว่าคล้ายกับการทำ Early Harvest กับประเทศกำลังพัฒนา เช่น การเปิดตลาดซาอุดิอาระเบีย 28 ส.ค. – 3 ก.ย. 2565

สุดท้าย ไทยควรทบทวนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่อิงบนฐานกฎระเบียบ (rule-based) และน่าจะเป็นเกราะป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากประเทศที่ใหญ่กว่า สิ่งเหล่านี้สามารถเดินคู่ขนานกับยุทธศาสตร์ FTA ที่เรากำลังดำเนินการอยู่ได้

หมายเหตุ: มีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนในวันที่ 22 กรกฎาคม 2023


[1] https://edition.cnn.com/2023/04/06/business/non-banks-shadow-banks-risks-explainer/index.html

https://www.cnbc.com/2023/03/10/silicon-valley-bank-collapse-how-it-happened.html

[2] การปรับลดลงในช่วงปี 2023 น่าจะเกิดขึ้นเพราะ 2023 ใช้ข้อมูลเพียง 3 เดือนแรกของปี

[3] มาตรการกีดกันทางการค้าที่มีระหว่างปี 2009-2023 (28 เมษายน 2566) มีทั้งสิ้น 41,908 มาตรการ การอุดหนุนการผลิตคิดเป็นร้อยละ 55.2 ในขณะที่มาตรการส่งเสริมการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 17.7 ข้อมูลจาก Global Trade Alert ของธนาคารโลก https://www.globaltradealert.org/global_dynamics

[4] รัฐบาลไทยใช้เงินกว่าร้อยละ  14 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 มากเป็นอันดับสองในอาเซียน (สิงคโปร์อันดับหนึ่ง) (Kohpaiboon et al. forthcoming)

[5] ภาพที่ 3 นำเสนอดัชนี GDP โดยใช้ GDP 2019 ให้เทียบเท่ากับ 100 เพื่อเป็นฐาน (สถานการณ์ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19) และทำให้ทุกประเทศเปรียบเทียบ GDP บนฐานเดียวกัน ดังนั้นค่าดัชนี GDP ของทุกประเทศในปี 2019 เท่ากับ 100  หาก GDP ของประเทศฟื้นตัวค่าดัชนี GDP จะมีค่าเท่ากับ หรือมากกว่า 100


บทความเป็นการส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้ของโครงการเมธีวิจัยอาวุโสประจำปี 2565

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save