fbpx

การเรียน สลัม ความฝันและการเติบโต : 3 ปีให้หลังของทั้ง 3 คนจาก School Town King

School Town King : แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน (2020) สารคดีโดย วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ว่าด้วยชีวิตของเด็กหนุ่มสาวในสลัมคลองเตยที่กัดฟันไล่ตามความฝันยิบตา ไม่ว่าจะ บุ๊ค – ธนายุทธ ณ อยุธยา ที่ฝันอยากเป็นแร็ปเปอร์ ถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตคนชายขอบและความเหลื่อมล้ำลงในบทเพลง, นนท์ – นนทวัฒน์ โตมา เด็กมัธยมที่สนใจดนตรี ทว่าก็ดูเหมือนไม่มีพื้นที่ให้เขามากนัก และ วิว – มุกริน ทิมดี เพื่อนสาวคนขยันของทั้งคู่ที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานนักเรียน หวังอยากเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้ตัวเอง

หนังพาสำรวจสภาพแวดล้อมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ นับตั้งแต่พื้นที่สลัมแออัด ห้องพักเล็กๆ ไล่เรื่อยไปจนถึงบรรยากาศในโรงเรียนซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง ทั้งสามคนเรียนในโรงเรียนรัฐบาลขนาดกลางที่มีป้ายผ้าเขียนข้อความค่านิยม 12 ประการของรัฐแขวนอยู่หน้าอาคาร พวกเขาต้องยืนเข้าแถวตอนเช้าเพื่อทำพิธีตามที่คุณครูบอก ฟังครูตวาดหรือแกว่งไม้เรียวอยู่หน้าชั้น ก้มหน้าอ่านแบบเรียนที่พวกเขาไม่เข้าใจ ความสนใจเลื่อนไหลพ้นจากห้องไปยังโลกดนตรีนอกรั้วการศึกษา

ท้ายเรื่อง เราจะพบว่าบุ๊คตัดสินใจออกจากโรงเรียนก่อนเรียนจบเพียงไม่กี่วัน มุ่งหวังไล่ตามความฝันจะเป็นแร็ปเปอร์ ขณะที่นนท์ยังคงมองดูลานกว้างหน้าโรงเรียนด้วยแววตาอ่านไม่ออก มีเพียงวิวเท่านั้นที่ชัดเจนต่อตัวเองว่าจะสอบให้ติดมหาวิทยาลัยให้ได้

กระนั้น สามปีให้หลังจากหนังออกฉาย พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง ยังอยู่ในระบบการศึกษาหรือไม่ หรือถึงที่สุดแล้วต่างหลุดออกจากวงโคจรนี้ไปโดยปริยาย

บุ๊ค – ธนายุทธ ณ อยุธยา

เราอาจเห็นชื่อของบุ๊คผ่านตาบ่อยครั้ง ภายหลังการชุมนุมของประชาชนต่อรัฐบาลของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงปี 2020 ไล่เรื่อยมาจนถึงต้นปี 2021 บุ๊คคือหนึ่งในคนที่เข้าร่วมการประท้วงนี้อย่างเข้มข้นและสม่ำเสมอ โดยเขาขึ้นเวทีของเยาวชนปลดแอก รวมทั้งแร็ปเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีไม่นานหลังจากนั้น

ไม่เกินเลยนักถ้าเราจะบอกว่า เส้นทางชีวิตของบุ๊คหลังหนังออกฉายนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเขากลายเป็นหนึ่งในคนที่ต้องคอยดูแลความเป็นอยู่ของที่บ้านร่วมกันกับพ่อ ทว่า ระหว่างนี้ เขาก็ยังมุ่งมั่นตั้งใจทำงานดนตรีของตัวเองเช่นเดิม

“ปีนี้ตั้งใจจะปล่อยอัลบั้มที่ว่าด้วยเสียงจากคนชายขอบ เสียงจากคนในสลัมคลองเตยครับ” เขาบอก “เพลงที่ผมแต่งเล่าเรื่องบุคคล เรื่องกลุ่มคนอย่างหญิงขายบริการ, คนไร้บ้านหรือคนติดยา ผมเลยไปสัมภาษณ์แล้วบันทึกเสียงพวกเขามาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเพลง ก่อนหน้านี้ เพลงที่ผมแร็ปก็มีแค่เสียงเรา แต่ครั้งนี้จะมีเสียงพวกเขาด้วย ผมเลยคิดว่ามันน่าจะเป็นเพลงที่สะท้อนสังคมได้ดีนะ เพราะคนอื่นเขาได้มีเสียง ได้พูด ได้สื่อสารและมีส่วนร่วมผ่านเพลงแร็ปของเรา”

บุ๊คบอกว่าเขาไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจออกจากโรงเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนหน้าวันจบการศึกษาเพียงสิบวัน ท่ามกลางสายตาคัดค้านของพ่อซึ่งในเวลาต่อมา บุ๊คบอกว่าเขากับพ่อปรับความเข้าใจกันได้แล้ว ซึ่งเขาอธิบายให้พ่อฟังเรื่อยมาว่าระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและการไล่หาความฝันของเขามากแค่ไหน

“ผมว่าระบบการศึกษาไทยยังไม่หลากหลาย ไม่ครอบคลุม และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กๆ เลย โรงเรียนจะผลักดันเด็กที่เรียนหนังสือเก่งๆ หรือเก่งด้านวิชาการมากเป็นพิเศษ ขณะที่เด็กซึ่งมีทักษะหรือชอบด้านกีฬา ด้านดนตรีหรือด้านอื่นๆ อาจไม่ได้รับการผลักดันเท่าที่ควร ซึ่งเท่าที่ผมสังเกต ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นแค่โรงเรียนผมด้วย แต่เป็นหลายโรงเรียนเลย” บุ๊คสาธยาย “เด็กที่เรียนเก่งจะได้รับทุน มีสิทธิพิเศษต่างๆ และทำให้เด็กที่เก่งด้านอื่นๆ เกิดความกดดัน พยายามทำให้ตัวเองเก่งด้านวิชาการบ้างเพื่อจะได้รับการยอมรับจากโรงเรียน นำมาสู่ปัญหาเรื่องความเครียด”

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ดูจะแยกออกจากระบบการศึกษาไทยไม่ขาด

“โรงเรียนที่ผมอยู่เป็นโรงเรียนรัฐระดับกลาง คนที่มีทุนและไม่ค่อยมีทุนมาเข้าเรียนด้วยกันได้ แต่ทั้งอย่างนั้น เพื่อนผมจากชุมชนคลองเตยก็หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วหลายคน พวกเขาไม่ค่อยมีทุนทรัพย์และต้องทำงานตั้งแต่อายุ 16-17 ปี สุดท้ายปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและการใช้ชีวิตมันเลยกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งด้วย”

“บางคนที่มีเงินแต่เขาไม่เรียนต่อก็มี เพราะเขารู้สึกว่าการศึกษามันไม่ตอบโจทย์อะไรเลย เช่น บางคนอยากเล่นดนตรี ซึ่งโรงเรียนเราก็มีชมรมดนตรีแหละแต่ไม่ค่อยมีพื้นที่เท่าไหร่”

ยังไม่นับว่าช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมายิ่งขยายบาดแผลความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทยให้รุนแรงมากขึ้น เมื่อเด็กเล็กหลายคนที่บุ๊ครู้จักในสลัมคลองเตยต่างต้องออกจากระบบการศึกษาด้วยประเด็นเรื่องทุนรอน การไม่มีกำลังทรัพย์เพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ หรือกับบางคน ก็รู้สึกราวกับว่าถูกขโมยเวลาด้วยการบริหารจัดการด้านการศึกษาที่ย่ำแย่ จนแม้กระทั่งเมื่อการระบาดใหญ่จางลง พวกเขาก็เลือกจะไม่หวนกลับมาเรียนต่ออีก “ผมคุยกับพวกเขา เขาบอกว่าเหมือนโดนขโมยเวลาช่วงวัยเรียนไป ซึ่งผมว่าสิ่งนี้สำคัญมากในวัยเด็ก หลายคนก็ไม่กลับมาเรียนอีกแล้ว คำถามคือเราจะทำให้เด็กๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงโควิดกลับมาได้อย่างไร ซึ่งอันนี้ผมเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน” เขาว่าปลงๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่บุ๊คระลึกถึงเสมอคือครูแนะแนวที่เข้าอกเข้าใจและพยายามแผ้วถางทางให้เขาได้ตามสิ่งที่รักอย่างสุดความสามารถ “ตอนผมยังเรียนอยู่ ผมคุยกับครูแนะแนวเสมอเลย ดังนั้น ผมเลยคิดว่าในโรงเรียนควรมีครูที่คอยประเมินสุขภาพจิตใจนักเรียนว่าพวกเขาเป็นอย่างไรแล้วบ้าง แบกรับปัญหาอะไรไหม เพราะเด็กๆ อยู่ในโรงเรียนตกวันละแปดชั่วโมง เวลาที่เหลือเขาก็ออกไปเจออย่างอื่นข้างนอก ไม่รู้เลยว่าสภาพจิตใจพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง”

แม้บุ๊คจะไม่เสียใจกับเส้นทางที่เลือกเดิน แต่บ่อยครั้งเขาก็คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ตัวเองจะเลือกอีกเส้นทางหนึ่ง หากว่าเส้นทางนั้นรองรับความฝันของเขาได้ “ถ้าระบบการศึกษาบ้านเรามันดี ผมเรียนต่อแน่นอน” เขาบอก “ผมอยากเข้ามหาวิทยาลัยนะ เพื่อต่อยอดสิ่งที่ตัวเองต้องการ จบไปก็อยากเป็นครูแนะแนวไปคุยกับเด็กๆ 

ตอนนี้บุ๊คยังขะมักเขม้นกับการทำเพลง และหยุดวางแผนเรื่องการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยไปก่อนเนื่องมาจากปัญหาเรื่องค่าเทอม “เวลาคนบอกว่ามีทุนการศึกษาให้นี่ มันก็เป็นแค่ค่าเทอม แต่ไม่รวมค่ากิน ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทางต่างๆ” เขาบอก “ผมว่าการเข้ามหาวิทยาลัยยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนคลองเตยอยู่ ทุกคนจะอยากเรียน อยากให้ลูกหลานได้เรียนต่อเพราะพวกเขารู้ว่ามันช่วยเปลี่ยนชีวิตเขาได้”

นนท์ – นนทวัฒน์ โตมา

สามปีก่อนหน้า นนท์ในสายตาเราเป็นเด็กชายที่กำลังผลัดวัยโตไปเป็นเด็กหนุ่ม เขาสนใจดนตรีแต่ก็ยังมีท่าทีสับสนปะปนอยู่ในความสนใจนั้น และหนังจบลงด้วยภาพเขาเหม่อมองไปยังรั้วโรงเรียน ไร้คำพูดใด

สามปีให้หลัง เขาไม่ได้เข้าเรียนสายสามัญหากแต่เข้าเรียนในวิทยาลัยอาชีพเพราะคาดว่าใช้ทักษะที่มีสร้างรายได้ หากแต่เส้นทางของนนท์ก็ไม่ง่ายเช่นนั้น เมื่อปัญหาปากท้องทำให้เขาต้องทำงานระหว่างเรียน ลงเอยด้วยการที่ตารางงานกับตารางเรียนซ้อนทับกันในที่สุด

“ช่วงที่ผ่านมานี่ ชีวิตผมไม่ได้ดีขึ้นหรอก มีแค่ตัวผมที่โตขึ้นในระดับหนึ่ง” เขาเล่า โดยหลังจาก School Town King ออกฉายไม่นาน นนท์ก็พยายามศึกษาต่อพร้อมทำงานเป็นไรเดอร์ส่งอาหารไปด้วยอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะนำมาสู่การเปลี่ยนผ่านในชีวิตเขาครั้งใหญ่ เมื่อเขาตัดสินใจออกมาอยู่ด้วยตัวเอง รับผิดชอบภาระหน้าที่ต่างๆ รวมถึงการหาเลี้ยงชีพ 

“ช่วงนั้นผมตื่นไปเรียนไม่ทันเลย สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกดีกว่าเพราะคิดว่าถึงอย่างไรตัวเองก็ไม่เหมาะกับระบบการศึกษาอยู่แล้ว” เขาว่า “พอไม่ได้เรียนในโรงเรียนมันก็มีเวลามากขึ้น ไปศึกษาหาความรู้เรื่องอื่นๆ ที่เราสนใจ”

หลังจากนั้นเขาสมัครเข้าวิทยาลัยสายอาชีพที่เวลาเรียนค่อนข้างยืดหยุ่น และเปลี่ยนไปทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารบริการด่วนแทนที่ทำให้เขาต้องเข้ากะช่วงเช้าตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และใช้เวลาช่วงบ่ายเพื่อเข้าเรียน แต่ถึงอย่างนั้น เส้นทางเขาก็ยังไม่ง่ายเมื่อวิทยาลัยไม่มีคาบวันอาทิตย์ -อันเป็นวันที่เขาไม่ต้องเข้ากะและไม่มีงานใดๆ- ที่เขาตั้งใจจะใช้เวลาทั้งวันทุ่มให้การเรียน สุดท้ายเขาจึงต้องลาออก และกำลังอยู่ในขั้นตอนแสวงหาวิทยาลัยแห่งใหม่ที่เปิดคาบเรียนวันอาทิตย์ให้

ก่อนหน้านี้ นนท์เคยเปรยๆ ในสารคดีถึงความฝันมากมาย หนึ่งในนั้นคือการเป็นทนาย “ผมยังมีความฝันนั้นอยู่นะ แต่มันเลือนลางมากเลยด้วยปัญหาชีวิต” เด็กหนุ่มว่า “ถึงขั้นว่าตอนแรกจะเรียนโรงเรียนสายสามัญ ศิลป์-สังคม เพื่อจบออกมาจะได้เข้ามหาวิทยาลัยต่อ ไปเรียนเป็นทนาย แต่รุ่นพี่บอกผมว่าในโรงเรียนก็ไม่ได้สอนอะไรที่จะปูพื้นให้เรามีฐานด้านการเป็นทนายได้ สอนวิชาเหมือนที่เรียนกันตอนมัธยมต้น ผมเลยไม่เรียนสายสามัญแล้ว และออกมาเรียนสายอาชีพในวิทยาลัยดีกว่า”

“ผมก็เลยถามตัวเองว่า ถ้าเรียนสายอาชีพ ผมอยากทำอะไรและสนใจด้านไหน ก็ตอบตัวเองได้ว่าอยากเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานพวกตัดต่อทำนองนี้ ก็เลยลงสมัครเรียนด้านนี้ไป ติดแต่ว่าเรียนไปแล้วเขาไม่มีคาบเรียนวันอาทิตย์ให้ ผมเลยออกแล้วมองหาที่อื่นดู”

นนท์เป็นหนึ่งในคนที่อยู่กับความเหลื่อมล้ำมาทั้งชีวิต ไม่ได้แค่ด้านการศึกษา แต่กินความถึงด้านอื่นๆ ในชีวิต กระนั้น เรื่องการศึกษาก็ยังเป็นแผลใหญ่ที่เขายังต้องเผชิญอยู่แม้ในนาทีนี้ “ผมว่าเวลาบอกว่ารัฐเรียนฟรีเนี่ย มันฟรีไม่จริง คนไทยส่วนใหญ่เขาไม่มีทุนส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนแพงๆ ได้หรอก ค่าเครื่องแบบ ค่ากิน ค่าเดินทาง สุดท้ายมันก็มีคนที่ต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีเงินอยู่ดี”

ถึงที่สุด เขายังไม่ทิ้งความฝันอยากเป็นทนาย -แม้สำหรับเขาแล้วมันจะดูห่างไกลออกไป แต่มันก็ยังดูเกิดขึ้นได้จริงอยู่- ด้วยความฝันว่าจะเปลี่ยนแปลงปัญหาที่เขาเคยรับมือ “ตอนนี้ผมอินการเมืองมากเลย” เขาหัวเราะ “เมื่อก่อนตอนยังเด็กๆ นี่ไม่ค่อยสนการเมืองเท่าไหร่นะ แต่พอโตขึ้นมาถึงได้เห็นว่า ปัญหาในชีวิตส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลเกือบทั้งหมด คือคนรุ่นผมโตมากับประยุทธ์ตั้งแต่สิบขวบน่ะ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าหากได้เรียนต่อแล้วชีวิตจะดีขึ้นไหม นนท์ลังเล แล้วจึงตอบเบาๆ “ไม่ดีขึ้นหรอก อาจจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำเพราะต้องทำงานด้วย คงต้องเหนื่อยกว่าเดิม”

คำตอบชวนนึกถึงแววตาเหม่อลอยที่เขามองไปยังรั้วโรงเรียนตอนที่สารคดีฉายจบ แววตาของคนที่ตั้งคำถามถึงที่ทาง ตำแหน่งแห่งหนของตัวเอง และดูเหมือนว่าจะไม่พบมันในระบบการศึกษาที่ไม่เคยโอบรับเขาไว้เลย

วิว – มุกริน ทิมดี

อดีตประธานนักเรียนหญิงผู้มุ่งมั่น ตั้งใจและใฝ่ดี วิววาดหวังอยากศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยรัฐและทุ่มเทอย่างหนักเพื่อการนั้น หนังจบลงโดยที่เราไม่อาจรู้ได้ว่าปลายทางการศึกษาของเธอเป็นอย่างไรและได้แต่เอาใจช่วยให้เธอเดินตามความฝันได้สำเร็จ

พ้นจากสารคดี วิวไม่ได้ศึกษาต่อ ชีวิตทำให้เธอต้องรับกิจการซักรีดจากที่บ้านและทำงานอื่นเพื่อหาเลี้ยงชีพ

“หนูทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ร้านมินิมาร์ตจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์กับอาทิตย์ก็รับจ้างซักรีด ไม่มีวันหยุดเลย” เธอบอก “แต่ตอนนี้รองานใหม่อยู่ค่ะ ไปสมัครทำงานสหกรณ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ รอเขาเรียกไปอยู่”

แต่วิวยังคงเรียนหนังสืออยู่ แม้ไม่ได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจไว้แต่แรก เธอก็เข้าเรียนคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหงแทน “แต่มีเพื่อนหนูหลายคนนะที่จบมัธยมแล้วไม่เรียนต่อเลยเพราะไม่มีเงิน หรือบางคนก็รู้สึกว่าการศึกษามันไม่จำเป็นสำหรับชีวิตเขาเท่าไหร่ แต่หนูยังอยากเรียนอยู่ หนูเพิ่งอายุ 22 เอง และการเรียนมันก็ไม่มีคำว่าสายนะ”

ความฝันของวิวคือการเป็นครูนอกระบบหรือครูอาสา ให้การศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส “หนูคิดว่าครูนอกระบบอาจไม่ได้รับเงินเดือนมากเท่าไหร่ แต่คิดว่าถ้าทำไปนานๆ เงินเดือนก็อาจเพิ่มได้นะ และเราว่าการเป็นครูก็ดี มีส่วนทำให้เด็กคนหนึ่งมีความคิด ความฝัน ลองนึกดูนะว่าถ้ามีเด็กสักคนไม่อยากเรียนต่อแล้ว แต่เขาเจอครูที่ดีช่วยคุยกับเขา เขาก็อาจอยากเรียนต่อก็ได้”

“หนูว่าการศึกษาไทยแข่งขันกันสูงมากเลย เราต้องเจอเด็กเก่งๆ ทั่วประเทศ” เธอบอก “อันที่จริงหนูอยากเข้าเรียนคณะครุศาสตร์ของจุฬาฯ นี่คือเป้าที่ใหญ่ที่สุดของหนูเลย แต่ทำไม่ได้เพราะว่าไม่มีต้นทุนมากพอ”

ต้นทุนที่เด็กสาวหมายถึงคือการเรียนการสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย และปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าใช้จ่ายนั้นมากมายมหาศาลกว่าที่หลายคนคิด “อย่างการติวนอกห้องเรียน หนูเคยติวฟิสิกส์ คอร์สหนึ่งก็ 6,000 บาทแล้ว ซึ่งหนูก็สอบผ่านนะ แต่ก็ทำให้คิดว่าเราหาเงินมาเหนื่อยขนาดนี้มันก็ไม่คุ้มเท่าไหร่

“และหนูว่าความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษานี่แหละที่ทำให้เด็กหลายๆ คนไม่ได้ไปต่อในระบบการศึกษา เพราะพวกเขาไม่มีเงินมาลงทุนมากมาย ทั้งค่าเรียน ค่าเดินทาง หนูจะสู้ไหวเหรอ” เธอบอก “เลยรู้สึกว่าอยากให้เด็กๆ เข้าถึงระบบการศึกษาได้มากกว่านี้ อาจไม่ต้องเรียนฟรีทุกอย่างก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ขอให้ค่าเทอมถูกลงสักนิดก็ยังดีค่ะ”

ในวัย 22 ปี วิวมองอนาคตตัวเองไกลออกไป พ้นไปจากความฝันของการเป็นครูอาสา เธอยังหวังเก็บเงินก้อนเล็กๆ เพื่อทำธุรกิจของตัวเอง “วันหนึ่งนะ ถ้าหนูมีเงินเดือน ไม่ต้องมากอะไรก็ได้ สักเดือนละหมื่นนิดๆ ก็พอ หนูว่าจะเก็บเงินไปเปิดร้านซักรีดด้านนอกคลองเตยแหละ” เธอบอก น้ำเสียงเด็ดเดี่ยวเหมือนที่เราจำได้จากสารคดีเมื่อสามปีก่อน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save