fbpx
โลก 12 แบบหลังไวรัส COVID-19 : คำทำนายจากนักคิดชั้นนำระดับโลก

โลก 12 แบบหลังไวรัส COVID-19 : คำทำนายจากนักคิดชั้นนำระดับโลก

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

มาถึงตอนนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ไวรัส COVID-19 กลายเป็นภัยที่คุกคามมวลมนุษยชาติ และสั่นสะเทือนโลกในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการเมืองระหว่างประเทศ

นอกจากคำถามที่ว่า การแพร่ระบาดนี้จะหยุดลงเมื่อไหร่ อีกหนึ่งคำถามที่ใครหลายคนคงมีอยู่ในใจคือ “โลกหลังจากยุคไวรัส COVID-19 จะเป็นอย่างไร” เพราะหลายครั้งที่โรคระบาดกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางสังคมและการเมือง ผลักดันให้เศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง ลดทอนอำนาจของมหาอำนาจเก่า และสร้างมหาอำนาจหน้าใหม่ขึ้นมาแทน

นิตยสาร Foreign Policy พยายามตอบคำถามดังกล่าว โดยชวนนักคิดชั้นนำของโลกจำนวน 12 คน ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงนักเขียนมือรางวัล มาร่วมคาดการณ์หน้าตาของโลกหลังจากนี้

ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ‘วิกฤต’ เปลี่ยนโฉมหน้าโลกเสมอ มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับความรุนแรง แล้วโลกหลังไวรัส COVID-19 จะเป็นแบบไหน โครงสร้างเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จีนจะขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ หรือไม่ หรือนี่จะเป็นจุดจบของโลกาภิวัตน์แบบที่หลายคนคาดการณ์กัน?

เชิญหาคำตอบได้ นับจากบรรทัดถัดจากนี้

 

โลกที่แคบ ยากจน และเสรีน้อยลง – Stephen M. Walt

 

“การระบาดครั้งนี้จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้รัฐ และทำให้ความคิดแบบชาตินิยมมีพลังมากขึ้น รัฐบาลจะใช้มาตรการฉุกเฉิน (emergency measures) เพื่อจัดการกับวิกฤตครั้งนี้ และพอวิกฤตจบลง ผู้นำจำนวนมากอาจลังเลที่จะสละอำนาจใหม่ที่เพิ่งได้มาในช่วงวิกฤตนี้”

ข้างต้นคือการคาดการณ์ของ Stephen M. Walt ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเขามองว่า ไวรัส COVID-19 จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจและอิทธิพลจากฝั่งตะวันตก (West) ไปยังฝั่งตะวันออก (East) ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สิงคโปร์และเกาหลีใต้ ที่มีมาตรการรับมือกับไวรัสได้อย่างดีเยี่ยม ขณะที่จีน แม้จะดำเนินมาตรการผิดพลาดในช่วงแรก แต่ก็พลิกกลับมาจัดการสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับฝั่งยุโรปและอเมริกา ที่รับมือไวรัสตัวนี้ได้ช้ากว่าและ ‘ส่งเดช’ กว่ามาก ซึ่ง Walt มองว่า “จะยิ่งทำให้ออร่าของ ‘แบรนด์’ ตะวันตกหม่นหมองลง”

แม้มีแนวโน้มว่า ระบบและระเบียบโลกอาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่ Walt มองว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปนักคือ ธรรมชาติของการเมืองโลกที่มีความขัดแย้งกันเป็นพื้นฐาน โดยเขายกตัวอย่างโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ (Influenza epidemic) ที่ระบาดหนักในปี 1918-1919 ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศที่กำลังขัดแย้งกันหยุดทะเลาะกัน และไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในระดับโลกขึ้นมาแต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงอาจจะเห็นการล่าถอยจากกระแสโลกาภิวัตน์แบบสุดโต่ง (hyperglobalisation) เมื่อพลเมืองเริ่มหันเข้าหาการปกป้องจากรัฐบาลของตน และรัฐเริ่มหาทางเพื่อลดความอ่อนแอใดๆ ก็ตามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

“กล่าวโดยสรุป COVID-19 จะสร้างโลกที่แคบลง ยากจนขึ้น และเปิดกว้างน้อยลง ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่แบบนี้ก็ได้ แต่เมื่อเราเจอกับไวรัสที่ทำให้ถึงตาย การวางแผนที่ไม่เพียงพอ และผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมๆ กันแล้ว ก็อาจจะเป็นการพามนุษยชาติเดินไปบนเส้นทางสายใหม่ที่น่าวิตกกังวล”

 

จุดจบของโลกาภิวัตน์ (แบบที่เรารู้กันนั่นแหละ) – Robin Niblett

 

สำหรับ Robin Niblett ผู้อำนวยการและผู้บริหาร Chatham House องค์กรคลังสมองด้านนโยบายระหว่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดของสหราชอาณาจักร การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ฉุดโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเอาไว้ ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนได้กระตุ้นให้สหรัฐฯ พยายามจะแยก (decouple) จีนออกจากเทคโนโลยีชั้นสูงและทรัพย์สินทางปัญญาของตน รวมถึงกระตุ้นให้ชาติพันธมิตรทำตามด้วย นอกจากนี้ ความกดดันจากสาธารณชนและความกดดันทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในเรื่องเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จะก่อให้เกิดคำถามและสั่นคลอนความเชื่อมั่นจากชาติพันธมิตรที่ร่วมอยู่ในห่วงโซ่อุปทานระยะยาว (long-distance supply chains)

“ตอนนี้ COVID-19 กำลังบังคับให้รัฐบาล บริษัท และสังคม เพิ่มศักยภาพของตนเองเพื่อรับมือกับช่วงเวลาของการโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ (economic self-isolation)”

ในบริบทปัจจุบันนี้ Niblett มองว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่โลกจะหวนกลับเข้าหาความคิดแบบโลกาภิวัตน์ที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน เหมือนที่เคยถูกพูดถึงในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เพราะแต่ละประเทศไม่มีแรงจูงใจที่จะปกป้องผลประโยชน์ที่จะได้ร่วมกันจากการบูรณาการทางเศรษฐกิจอีกต่อไป นี่จะทำให้สถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในระดับโลกที่ก่อร่างสร้างแบบขึ้นมาในศตวรรษก่อนหน้าเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และยังทำให้ผู้นำโลกแต่ละคนต้องพยายามอย่างหนักที่ประคับประคองความร่วมมือในระดับนานาชาติ แทนที่จะหันกลับไปหาการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์แทน

“การพิสูจน์ว่า พวกเขาสามารถจัดการกับวิกฤต COVID-19 ได้ จะทำให้พวกผู้นำได้ทุนทางการเมือง (political capital) แต่คนที่จัดการกับวิกฤตไม่ได้ก็จะพบว่า มันเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะไม่โทษคนอื่นสำหรับเรื่องที่ตัวเองทำผิดพลาด”

 

โลกาภิวัตน์ที่มีจีนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น – Kishore Mahbubani

 

“หลักๆ แล้ว การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจโลก แต่เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว คือโลกาภิวัตน์ที่เคยมีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง จะกลายเป็นโลกาภิวัตน์ที่มีจีนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น” คือคำอธิบายของ Kishore Mahbubani นักวิชาการเกียรติคุณ (Distinguished Fellow) สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS)

Mahbubani อธิบายเพิ่มเติมว่า ประชาชนชาวอเมริกันสูญเสียศรัทธาในโลกาภิวัตน์และการค้าระหว่างประเทศ ข้อตกลงการค้าเสรีกลายเป็นพิษ (toxic) ไม่ว่าจะมีทรัมป์หรือไม่มีก็ตาม แต่จีนไม่ได้สูญเสียศรัทธาตรงนี้ เนื่องด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์

“ผู้นำจีนในตอนนี้รู้ดีว่า ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู (Century of Humiliation) ในช่วงปี 1842-1949 เป็นผลมาจากความพยายามที่ไร้ประโยชน์ของผู้นำในตอนนั้นที่พยายามจะตัดขาดตัวเองออกจากโลก แต่อีกทางหนึ่ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาก็เป็นผลมาจากการมีส่วนร่วมกันในระดับโลก (global engagement) คนจีนยังเคยประสบปัญหาจากความมั่นใจทางวัฒนธรรมที่มากเกินไป และเชื่อว่าพวกเขาสามารถแข่งขันกับใครก็ได้”

ในหนังสือ Has China Won? ที่เขียนโดย Mahbubani อธิบายว่า สหรัฐฯ มี 2 ทางเลือก กล่าวคือ ถ้าเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ คือการรักษาความเป็นมหาอำนาจนำในระดับโลกเอาไว้ สหรัฐฯ ก็จะต้องเข้าแข่งขันในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง และเศรษฐกิจ ที่เป็นแบบ zero-sum (การแข่งขันที่มีผู้ชนะและผู้แพ้) แต่ถ้าสหรัฐฯ ต้องการปรับปรุงคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอเมริกันที่เริ่มเสื่อมถอยลงทุกที สหรัฐฯ ก็ควรจะร่วมมือกับจีน ซึ่งมีผู้แนะนำว่า เป็นทางเลือกที่ดีกว่า อย่างไรก็ดี เมื่อดูสภาพแวดล้อมทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนแล้ว “ความร่วมมือดูจะเป็นไปได้ยาก”

 

ประชาธิปไตยจะออกมาจากที่ตั้ง – G. John Ikenberry

 

การคาดการณ์ของ G. John Ikenberry ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยพรินซตัน (Princeton University) คือ ในระยะสั้น วิกฤต COVID-19 จะเป็นเสมือนเชื้อเพลิงให้การอภิปรายเรื่องแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดทิศทางและแนวทางในการกำหนดนโยบายของประเทศ (Grand Strategy) โดยในฝั่งตะวันตก กลุ่มชาตินิยม (nationalists) และผู้ที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ (anti-globalists) กลุ่ม China hawks และแม้แต่กลุ่มเสรีนิยมระดับนานาชาติ (liberal internationalists) ต่างจะพบหลักฐานเพื่อสนับสนุนความเห็นของตนเอง

“ถ้าดูจากความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมที่พังทลายแล้ว เราก็แทบมองไม่เห็นอะไรเลย นอกจากการเสริมพลังให้การเคลื่อนไหวเรื่องชาตินิยม คู่แข่งมหาอำนาจ การแยกตัวทางยุทธศาสตร์ (strategic decoupling) และอะไรในทำนองเดียวกัน”

อย่างไรก็ตาม Ikenberry ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มนักคิดที่เชื่อในสากลนิยม (internationalism) เองก็มีโอกาสที่จะโต้กลับกระแสต่อต้านความเป็นสากลที่เกิดขึ้น โดยเขายกตัวอย่างช่วงทศวรรษที่ 1930-1940 ที่นักสากลนิยมเริ่มโต้กลับกระแสชาตินิยมดังเช่นที่ Franklin D. Roosevelt และรัฐบุรุษบางคนได้ทำในช่วงก่อนหน้าและระหว่างสงคราม

“การพังทลายของเศรษฐกิจโลกในทศวรรษที่ 1930 แสดงให้เห็นว่า สังคมสมัยใหม่เชื่อมต่อกันอย่างไร และมีความเปราะบางแค่ไหน สหรัฐฯ ถูกคุกคามจากแรงผลักดันลึกๆ ของความทันสมัย มากกว่าจะถูกคุกคามจากมหาอำนาจอื่น”

Ikenberry กล่าวว่า สิ่งที่ Franklin D. Roosevelt และนักสากลนิยมคนอื่นๆ เสก (conjured) ให้เกิดขึ้นคือ ระเบียบหลังสงครามที่ต้องการจะสร้างระบบเปิดขึ้นมาอีกครั้ง โดยเป็นระบบที่มีรูปแบบของการปกป้อง และมีศักยภาพในการจัดการกับการพึ่งพาอาศัยกัน อีกทั้งสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถจะเอาแต่ซ่อนตัวอยู่หลังพรมแดนของตัวเอง แต่จะต้องมีส่วนร่วมในระเบียบหลังสงครามที่เป็นระเบียบแบบเปิดกว้าง และต้องการความร่วมมือกันในระดับพหุภาคี

“สหรัฐฯ กับประเทศประชาธิปไตยตะวันตกกำลังเผชิญกับผลกระทบแบบเดิมๆ ซึ่งมาจากปฏิกิริยาที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกอ่อนแอ การตอบสนองต่อเรื่องนี้อาจจะเป็นแบบชาตินิยมในช่วงแรก แต่ในระยะยาว ประชาธิปไตยจะออกมาจากที่ตั้ง และเจอกับความเป็นสากลรูปแบบใหม่ที่เน้นการปกป้องและการปฏิบัติ” Ikenberry กล่าวสรุป

 

กำไรน้อยลง แต่มีเสถียรภาพมากขึ้น – Shannon K. O’Neil

 

“ไวรัส COVID-19 กำลังกัดเซาะความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับการผลิตในระดับโลก บริษัทจะต้องคิดใหม่เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ซึ่งเชื่อมกันในหลายประเทศ ที่เป็นตัวครอบงำภาคการผลิตในทุกวันนี้” Shannon K. O’Neil นักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) สาขาลาตินอเมริกาศึกษา สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) อธิบาย

ก่อนหน้านี้ ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนแรงงานชาวจีนที่เพิ่มขึ้น สงครามการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าซึ่งทำให้แรงงานจำนวนมากต้องตกงาน ตอนนี้ COVID-19 ได้ทำลายความเชื่อมโยงตรงนี้ลง – โรงงานที่ต้องปิดตัวลงไม่ได้ทอดทิ้งเพียงแค่ผู้ผลิตเอาไว้เท่านั้น แต่สินค้าและบริการพื้นฐานที่จำเป็นในช่วงวิกฤต ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล ร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เกต และร้านขายปลีก ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่ง วิกฤตครั้งนี้ทำให้บริษัทจำนวนมากต้องการรู้ให้มากขึ้นว่า สินค้าของพวกเขาถูกผลิตมาจากที่ไหน และจะเริ่มคิดคำนวณว่า พวกเขาจะแลก ‘ประสิทธิภาพ’ กับ ‘ความซ้ำซ้อน’ ในการผลิตอย่างไร ซึ่ง O’ Neil มองว่า รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงกระบวนการนี้ด้วย โดยในอนาคต รัฐจะบังคับให้บริษัทต้องตระหนักถึงยุทธศาสตร์ในการผลิต เพื่อที่จะมีแผนสำรองภายในเอาไว้ “กำไรอาจจะลดลง แต่ความมั่นคงในด้านอุปทานควรจะเพิ่มขึ้น”

 

โรคระบาดอาจจะมีประโยชน์บ้าง – Shivshankar Menon

 

Shivshankar Menon อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย คาดการณ์ว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาจะทำให้เรื่อง 3 เรื่องมีความชัดเจนขึ้น เรื่องแรกคือ การระบาดของไวรัสโคโรนาจะเปลี่ยนแปลงการเมือง ทั้งในรัฐและระหว่างรัฐ อำนาจของรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไป ความสำเร็จของรัฐบาลในการเอาชนะโรคระบาด และผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจจะลดทอนประเด็นเรื่องความมั่นคงและการแบ่งขั้ว (polarisation) ในสังคมให้น้อยลง หรือทำให้ประเด็นเหล่านี้รุนแรงขึ้นก็ได้

“เราเห็นจากในอดีตแล้วว่า ผู้นำแบบอำนาจนิยม (authoritarians) หรือประชานิยม (populists) ไม่ได้มีความสามารถในการจัดการกับโรคระบาดเท่าไหร่นัก อันที่จริงแล้ว ประเทศที่ตอบสนองเรื่องโรคระบาดได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จ เช่น เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งไต้หวัน ก็ล้วนเป็นประชาธิปไตย”

“เรื่องที่สอง นี่ไม่ใช่จุดจบของโลกที่เชื่อมต่อกัน ตัวโรคระบาดเองด้วยซ้ำที่เป็นตัวพิสูจน์ความเชื่อมต่อกันของพวกเรา แต่ในทางการเมืองกลับไม่ใช่แบบนั้น เริ่มมีการแสวงหาการปกครองตนเอง (autonomy) หรือเริ่มควบคุมชะตากรรมของคนอื่น พวกเรากำลังมุ่งไปสู่โลกที่เล็กลง ยากจนขึ้น และโหดร้ายมากขึ้น”

และเรื่องสุดท้าย Menon ชี้ให้เราเห็นสัญญาณของ ‘ความหวัง’ โดยเขายกตัวอย่างประเทศอินเดีย ที่เริ่มประชุมทาง video conference กับผู้นำชาติอื่นๆ ในเอเชียใต้ เพื่อจะหาวิธีรับมือกับโรคระบาดร่วมกันในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งสรุปว่า “ถ้าโรคระบาดนี้ทำให้เราตระหนักได้ถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงซึ่งจะเกิดจากความร่วมมือแบบพหุภาคี เพื่อจะรับมือกับประเด็นใหญ่ระดับโลกแบบนี้แล้วล่ะก็ โรคระบาดก็อาจจะมีประโยชน์บ้าง”

 

อำนาจแบบอเมริกันต้องการยุทธศาสตร์แบบใหม่ – Joseph S. Nye, Jr.

 

“ในปี 2017 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่ ซึ่งเน้นไปที่การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ แต่ COVID-19 แสดงให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แม้สหรัฐฯ จะเป็นมหาอำนาจ แต่สหรัฐฯ ก็ไม่สามารถปกป้องความมั่นคงของประเทศได้ด้วยตนเองเพียงลำพัง” Joseph S. Nye, Jr. กล่าวนำ

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดท่านนี้ยังได้อ้างถึง Richard Danzig นักการเมืองและนักกฎหมายชาวอเมริกัน ที่ได้สรุปปัญหาในปี 2018 เอาไว้ว่า “เทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องระดับโลก ไม่ใช่เฉพาะในมุมของการกระจายตัว (distribution) เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของผลกระทบด้วย จุลชีพก่อโรค (pathogen) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไวรัสในคอมพิวเตอร์ หรือพลังงานรังสีที่ใครก็ตามอาจเผลอปล่อยออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจจะกลายเป็นทั้งปัญหาของเราและปัญหาของคนอื่นก็ได้” และเพื่อบรรเทาความเสี่ยงเหล่านี้ โลกจึงจำเป็นต้องมีระบบรายงาน ควบคุม และมีบรรทัดฐานร่วมกัน

Nye อธิบายต่อว่า สำหรับภัยคุกคามข้ามพรมแดนอย่าง COVID-19 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกี่ยวกับอำนาจแบบอเมริกันแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่กุญแจของความสำเร็จคือ “การเรียนรู้ความสำคัญของการร่วมมือกับคนอื่น” ทุกประเทศย่อมคิดถึงผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นอย่างแรก คำถามสำคัญจึงเป็นเรื่องที่ว่า แล้วนิยามคำว่า ‘ผลประโยชน์’ นั้นกว้างหรือแคบแค่ไหน เพราะ “COVID-19 แสดงให้เราเห็นแล้วว่า พวกเราล้มเหลวในการปรับยุทธศาสตร์ของเราให้เข้ากับโลกใหม่ใบนี้”

 

ประวัติศาสตร์เรื่อง COVID-19 จะถูกเขียนโดยผู้ชนะ – John Allen

 

“เหมือนที่เคยเป็นมา ประวัติศาสตร์จะถูกเขียนโดย ‘ผู้ชนะ’ ในวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้” John Allen ประธาน Brookings Institution สถาบันวิจัยที่เป็นคลังสมองด้านสังคมศาสตร์ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ กล่าวนำ “ทุกชาติ ทุกคน จะต้องเจอกับความตึงเครียดทางสังคมจากเรื่องนี้ในแบบที่ใหม่และมีพลัง”

แน่นอนว่า รัฐแต่ละรัฐมีทั้งคุณค่า ระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีมุมมองด้านสุขภาพที่แตกต่างกันด้วย รัฐแต่ละรัฐจึงย่อมอ้างถึงความสำเร็จของตนเหนือชาติอื่นที่เจอกับผลลัพธ์ที่แย่กว่า สำหรับบางประเทศ นี่อาจจะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สำหรับประชาธิปไตย ระบบบพหุภาคีนิยม และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Care) แต่สำหรับบางคน นี่จะกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึง ‘ผลประโยชน์’ เบ็ดเสร็จ จากกฎของผู้ปกครองแบบอำนาจนิยม

“วิกฤตนี้จะสับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในระดับนานาชาติไปในทางที่พวกเราทำได้แค่เพียงจินตนาการเท่านั้น COVID-19 จะเริ่มกดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความตึงเครียดระหว่างประเทศ ในระยะยาว โรคระบาดนี้จะลดศักยภาพของระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะถ้าธุรกิจปิดตัว และแรงงานถูกดึงออกจากระบบการทำงาน”

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา Allen คาดการณ์ว่า ประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะต้องโยกย้ายฐานของตนเองไปยังแรงงานที่อ่อนแอกว่า ระบบในระดับนานาชาติจะเกิดขึ้นภายใต้ความกดดันอย่างหนัก ก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพและความขัดแย้ง ทั้งในและระหว่างประเทศ

 

โฉมใหม่ที่น่าทึ่งในระบบทุนนิยมโลก – Laurie Garrett

 

“สิ่งที่น่าตกใจในระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกคือ การตระหนักได้ว่า ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและเครือข่ายการกระจายสินค้าอ่อนแอต่อการ disruption ขนาดไหน ไวรัสโคโรนาไม่เพียงแต่จะกระทบเศรษฐกิจในระยะยาวเท่านั้น แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานด้วย”

Laurie Garrett อดีตนักวิชาการอาวุโสด้านสุขภาพโลก จากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนักเขียนผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ กล่าวนำ พร้อมทั้งขยายความว่า โลกาภิวัตน์จะเอื้อให้บริษัทส่งการผลิตสินค้าไปทั่วทั้งโลก และส่งผลิตภัณฑ์ของตนไปขายในตลาดโดยใช้ระบบแบบ just-in-time (ผลิตเมื่อมีความต้องการซื้อ และส่งมอบให้ลูกค้าทันทีหลังผลิตเสร็จ) โดยไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายเรื่องคลังสินค้า ส่วนสินค้าที่ถูกวางอยู่บนชั้นวางของมากกว่า 2-3 วัน ก็จะถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของตลาด โดยเธอสรุปว่า “COVID-19 พิสูจน์ให้เราเห็นว่า เชื้อโรคไม่ได้แพร่เชื้อให้แค่กับคน แต่ยังวางยาระบบ just-in-time ทั้งระบบด้วย”

“เมื่อดูขนาดความเสียหายของตลาดการเงินโลกตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทมีแนวโน้มจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบ just-in-time และการผลิตที่กระจัดกระจายอยู่ในระดับโลก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะเป็นโฉมใหม่ที่น่าทึ่งในระบบทุนนิยมโลก ที่ห่วงโซ่อุปทานอยู่ใกล้กับประเทศต้นกำเนิดมากขึ้น และเต็มไปด้วยความซ้ำซ้อนในการปกป้องการ disruption ในอนาคต ซึ่งอาจจะทำให้กำไรที่บริษัทจะได้ลดลง แต่จะทำให้ระบบมีความยืดหยุ่นมากขึ้น”

 

รัฐที่ล้มเหลวมากขึ้น – Richard N. Haass

 

“ความถาวร (permanent) ไม่ใช่โลกแบบที่ผมชอบ แต่ผมคิดว่า ไวรัสโคโรนาอาจจะทำให้รัฐบาลส่วนใหญ่มีแนวโน้มสนใจตัวเองมากขึ้น (inward) เน้นไปที่เรื่องในพรมแดนมากกว่าเรื่องเหนือพรมแดน อย่างน้อยก็ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผมคาดการณ์ว่า พวกเขาจะเน้นการพึ่งพิงตัวเองมากขึ้น (และแน่นอน จะทำให้เกิดการแยกตัวออกจากกัน (decoupling) ตามมา) ซึ่งจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกอ่อนแอลง อาจจะเกิดการต่อต้านการอพยพเข้าเมืองในสเกลที่ใหญ่ และลดความพึงพอใจหรือพันธะผูกพันที่จะจัดการกับปัญหาในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก (รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย) เพราะพวกเขาจำเป็นต้องอุทิศทรัพยากรเพื่อสร้างบ้านของตัวเองขึ้นมาใหม่ และจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้”

ข้างต้นคือการคาดการณ์ของ Richard N. Haass ประธานสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเขามองว่า หลายประเทศอาจจะต้องเจอช่วงเวลาที่ยากลำบากในการฟื้นฟูจากวิกฤต ทั้งด้วยความอ่อนแอและความล้มเหลวของรัฐ อีกทั้ง วิกฤตครั้งนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการบ่อนทำลายความสัมพันธ์จีน-อเมริกา (Sino-American) รวมถึงทำให้การบูรณาการยุโรปอ่อนแอลง อย่างไรก็ดี ถ้าลองมองในแง่บวก เราควรจะเห็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระบบสุขภาพระดับโลกเพิ่มขึ้น

“แต่ในภาพรวมแล้ว วิกฤตนี้ฝังรากลึกในโลกาภิวัตน์ และจะทำให้ความเต็มใจและความสามารถของโลกในการจัดการกับวิกฤตอ่อนแอลง”

 

สหรัฐฯ ล้มเหลวในบททดสอบความเป็นผู้นำ – Kori Schake

 

Kori Schake รองผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (the International Institute for Strategic Studies) มองว่า สหรัฐฯ จะไม่ถูกตระหนักถึงในฐานะผู้นำระดับนานาชาติอีกต่อไป เพราะรัฐบาลที่ไม่ค่อยมีความสามารถและคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งนี้ ถ้ามองเรื่องผลกระทบในระดับโลก Schake คาดการณ์ว่า ผลกระทบจากโรคระบาดอาจจะบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง ถ้าองค์กรระหว่างประเทศให้ข้อมูลมากขึ้น และให้ข้อมูลล่วงหน้า เพื่อให้เวลารัฐบาลเตรียมพร้อมและใช้ทรัพยากรไปกับสิ่งที่จำเป็นต้องใช้โดยตรง

“นี่เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ควรจะทำ เพื่อพิสูจน์ว่ามันไม่ได้มีแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว แต่วอชิงตันล้มเหลวในบททดสอบความเป็นผู้นำนี้ และนั่นทำให้โลกของเราแย่ลง”

 

ในทุกประเทศ เราเห็นพลังจากจิตวิญญาณของมนุษย์ – Nicholas Burns

 

“การระบาดของ COVID-19 เป็นวิกฤตใหญ่ในศตวรรษนี้ ทั้งในแง่การแพร่ระบาดและความรุนแรง เป็นวิกฤตสาธารณะครั้งใหญ่ที่คุกคามคนกว่า 7.8 พันล้านคน และเป็นวิกฤตด้านเศรษฐกิจและการเงินที่รุนแรงกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Great Recession) ปี 2008-2009 เสียอีก แต่ก็เหมือนที่เรารู้กันแหละว่า วิกฤตแต่ละอย่างก็สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนที่เปลี่ยนระบบระหว่างประเทศและสมดุลอำนาจได้ทั้งนั้น”

Nicholas Burns ศาสตราจารย์ที่ Harvard Kennedy School of Government อธิบาย โดยเขามองว่า ในทุกวันนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว ยิ่งถ้าสองมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่ยอมหยุดสงครามน้ำลายและไม่หันมาร่วมมือกันหยุดยั้งวิกฤตแล้ว ความน่าเชื่อถือของทั้งสองประเทศก็อาจจะลดลงอย่างมาก หรือถ้าสหภาพยุโรป (EU) ไม่สามารถช่วยเหลือพลเมืองของตนกว่า 500 ล้านคนได้ รัฐบาลของแต่ละชาติก็อาจจะดึงอำนาจของตนกลับมาจากบรัสเซลล์ (ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป) ได้ในอนาคต

อย่างไรก็ดี Burns กล่าวว่า เขาเห็นพลังจากจิตวิญญาณของมนุษย์ในทุกๆ ประเทศ ทั้งจากแพทย์ พยาบาล ผู้นำทางการเมือง หรือประชาชนธรรมดา ที่แสดงออกถึงความยืดหยุ่น ความมีประสิทธิภาพ และความเป็นผู้นำ

“นี่คือความหวัง เพราะผู้คนรอบโลกสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่ไม่ธรรมดาได้”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save