fbpx

…ต่างเป็นโลกทั้งใบของกันและกัน The Road (ถนนสายอำมหิต)

The Road ถนนสายอำมหิต

ผมรู้จักชื่อของคอร์แม็ค แม็คคาร์ธี นักเขียนอเมริกันคนสำคัญ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยวิธีทางอ้อมคือดูหนังที่สร้างจากนิยายของเขา

เริ่มจาก No Country for Old Men (2007) ต่อด้วย All the Pretty Horses (2000) และ The Road (2009)

จากการดูหนังทั้ง 3 เรื่องโดยยังไม่มีโอกาสอ่านนิยายอันเป็นต้นเรื่องเดิม พบว่างานแต่ละเรื่องแตกต่างกันมาก ตั้งแต่แนวทาง เค้าโครงเรื่อง บรรยากาศ จนมองไม่เห็นจุดร่วมเชื่อมโยงใดๆ รวมทั้งจับสังเกตท่วงทีลีลาในการเขียนของเขาไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ในความหลากหลายและห่างไกลกันมากของแต่ละชิ้นงาน สิ่งหนึ่งที่แน่ชัด คือเรื่องเล่าต่างแนวทางของเขาทั้งหมดล้วนน่าสนใจ ดึงดูดชวนติดตาม และทำให้นึกอยากอ่านฉบับนิยาย (หากมีโอกาส)

The Road เป็นนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิตของคอร์แม็ค แม็คคาร์ธี ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2006 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปีต่อมา รวมทั้งติดอันดับนิยายยอดเยี่ยมของหลายสำนัก

พูดง่ายๆ คือขึ้นหิ้งเป็นนิยายคลาสสิกร่วมสมัยไปเรียบร้อยแล้ว

ตอนที่ทราบว่า The Road ได้แปลเป็นภาษาไทย (ใช้ชื่อเรื่องว่า ‘ถนนสายอำมหิต’) ผมตื่นเต้นยินดีมากๆ แต่เมื่อจับอ่านไปได้ราวๆ 50 หน้า ผมก็เกิดอาการเหวอด้วยหลายๆ สาเหตุ

อย่างแรกคือ ไม่สนุก ถัดมาคือพล็อตเรื่องหรือเหตุการณ์แทบไม่มีความคืบหน้า เต็มไปด้วยการบอกเล่ารายละเอียดวนเวียนซ้ำๆ ร้อยเรียงด้วยเหตุการณ์เหมือนตัดแบ่งเป็นท่อนสั้นๆ เป็นห้วงๆ จนทำให้สะดุดตะกุกตะกักไม่ต่อเนื่อง ขาดความราบรื่นในการติดตามอ่าน

เหนือสิ่งอื่นใด นิยายเรื่องนี้ละเว้นการกล่าวถึง ‘ความเป็นมา’ ตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุที่ทำให้ตัวละครต้องตกอยู่ในสภาพเช่นที่เป็นอยู่ ดำเนินเรื่องด้วยตัวละครจำกัด ได้แก่พ่อลูกคู่หนึ่งอยู่เกือบจะตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีการตั้งชื่อตัวละคร ไม่มีการใช้เครื่องหมายคำพูดในส่วนของบทสนทนา เป็นนิยายที่หลีกเลี่ยงการพรรณนาหรืออธิบายในส่วนที่ผู้อ่านอยากรู้ มีลักษณะตัดทอนและจำกัดทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งไปทาง ‘แสดงออกแต่น้อย’

ผมควรจะต้องรีบกล่าวไว้ว่า ข้างต้นทั้งหมดนี้เป็นแค่ความไม่ดึงดูด ไม่ลื่นไหลในการอ่าน และหย่อนรสบันเทิง แต่ไม่ได้หมายความว่า The Road จะเป็นนิยายอ่านยาก เข้าใจยาก

แท้จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นกับผมในขณะเริ่มอ่าน เป็นเรื่องของความไม่คุ้นเคยนะครับ เมื่อมาเจอะเจองานที่พ้นจากขนบเดิมๆ ไปไกล (ซึ่งมักจะกระจ่างชัด แสดงที่มาที่ไป เร่งเร้าให้อยากรู้ความเป็นไปต่างๆ ว่าจะคลี่คลายลงเอยอย่างไร รวมทั้งเร้าอารมณ์อย่างจะแจ้ง) จึงต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่นานกว่าจะจับทางได้ คล้ายๆ เดินเข้าโรงหนังตอนที่ฉายไปได้สักพัก มืดสนิทจนต้องปรับสายตาอยู่ครู่ใหญ่ๆ รวมทั้งใช้เวลาปะติดปะต่อจับใจความเรื่องราวบนจอที่เริ่มไปแล้ว เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตามเรื่องได้ทัน

สำหรับผม ช่วงเริ่มอ่าน The Road เป็นไปในลักษณะนี้ และเมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็สัมผัสและตระหนักได้ทันทีอีกเหมือนกันว่ากำลังเจอะเจองานเขียนที่ยอดเยี่ยมมาก

จะเป็นตรงไหนตอนใด ผมเองก็ไม่แน่ใจ จู่ๆ เรื่องเล่าที่เคยน่าเบื่อซ้ำซาก กลับกลายเป็นดึงดูด เข้มข้น หนักแน่น และดีงามทรงพลังเป็นที่สุด

ควรต้องรีบกล่าวไว้อีกเช่นกันว่านิยายเรื่อง The Road ไม่ได้เริ่มต้นด้วยยาขม หลังผ่านการปูพื้นสิ่งที่จำเป็นเสร็จสรรพ ก็เริ่มเดินเครื่องสู่ความสนุก อันที่จริงอาจเป็นยาขมเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่ต้นจนจบเลยครับ แต่ความน่าทึ่งก็คือเมื่อผู้อ่านเริ่มคุ้นชินแล้ว รสขมก็หายไป เหลือแต่ความบันเทิง ความน่าประทับใจ และความดีงามสารพัดสารพันเข้ามาแทนที่

เรื่องราวย่นย่อของ The Road กล่าวถึงโลกหลังการล่มสลาย โดยไม่ได้ระบุให้ทราบว่าเกิดจากภัยพิบัติหรือสาเหตุอันใด แต่เริ่มเหตุการณ์ที่ ‘หลายปีต่อมา’ พ่อกับลูกชาย เดินทางมุ่งสู่ทิศใต้ ด้วยความเชื่อว่าหากไปถึงที่นั่น สภาพอากาศจะหนาวเหน็บน้อยลง และมีโอกาสนำพาชีวิตรอดปลอดภัย

โลกในนิยายเรื่องนี้ ย่อยยับพังทลายหมดสิ้น ทั้งพืช สัตว์ ต่างสูญพันธุ์ อารยธรรมพินาศไม่มีสิ่งใดหลงเหลือ อากาศหนาวเหน็บหม่นทึม เต็มไปด้วยขี้เถ้าทั่วทุกแห่ง ผู้คนยังชีพด้วยการตระเวนหาอาหาร (กระป๋อง) ที่เหลือทิ้งไว้ตามบ้านร้าง กับอีกทางเลือกหนึ่ง คือกินคนด้วยกันเป็นการยังชีพ

ตลอดทั่วนิยายเรื่องนี้ สาธยายรายละเอียดในการรอนแรมเดินทางของสองพ่อลูก การประทังชีวิตให้ผ่านพ้นไปแบบวันต่อวัน การเตรียมพร้อมป้องกันระวังภัยจากคนแปลกหน้า ความอดอยากทุกข์ทรมานในยามขัดสน

ถ้าหากนรกจะมีอยู่จริง ผมคิดว่าสิ่งที่คอร์แม็ค แม็คคาร์ธี จินตนาการขึ้นในนิยายเรื่องนี้เข้าเค้าและใกล้เคียงเอามากๆ ที่สำคัญคือเขาวาดภาพนรกที่เกิดขึ้นออกมาได้สมจริง น่าสะพรึงกลัว และสิ้นหวังอย่างถึงที่สุด

ขออนุญาตเฉไฉนอกเรื่องสักเล็กน้อยนะครับ ก่อนหน้าที่จะอ่านนิยายเรื่อง The Road ไม่นานนัก ผมได้ดูหนังเกาหลีเรื่อง Concrete Utopia และซีรีส์เรื่อง The Last of Us ทั้ง 2 เรื่องนี้ จัดอยู่ในงานสกุลเดียวกันกับนิยายเรื่อง The Road และถ้านึกไล่เรียงไปอีก จะพบเจอเยอะแยะมากมาย (เช่น ซีรีส์เรื่อง The Walking Dead)

งานกลุ่มนี้มีศัพท์เรียกขานว่า Apocalyptic and post-apocalyptic ผมแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ‘วันสิ้นโลก’ หลักใหญ่ใจความว่าด้วยโลกเผชิญเหตุให้ล่มสลาย ผู้คนจำนวนหนึ่งรอดตาย และดิ้นรนต่อสู้ทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ยังมีชีวิต ‘ไปต่อ’ ได้อีก และการจะอยู่รอดหรือไม่นั้นก็นำไปสู่ความขัดแย้งสำคัญ คือจำเป็นต้องกระทำเรื่องโหดร้ายไร้มนุษยธรรม

The Road พ้องพานกับ The Last of Us ในแง่การดำเนินเรื่องและตัวละคร (ผู้ใหญ่กับเด็ก) รอนแรมเดินทางไปพบเจอ (หรือไม่เจอ) สิ่งต่างๆ ตัวละครฝ่ายผู้ใหญ่เคยมีชีวิตอยู่ทันยุคสมัย ‘เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี’ ขณะที่ฝ่ายเด็กเกิดและมีชีวิตหลังจากนั้น และไม่เคยรู้จักโลกในยามปกติเป็นสุข

ที่สอดคล้องกันอีกอย่างคือการบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของคู่ตัวละครขณะเดินทาง มีทั้งความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ความผูกพันที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้น และที่สำคัญ คือการเติมเต็มบางสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตให้แก่กันและกัน

อย่างไรก็ตาม แง่มุมเกี่ยวกับความจำเป็นต้องเหี้ยมอำมหิตเพื่อมีชีวิตต่อ ใน The Last of Us นั้นพอมีอยู่บ้างในฐานะเนื้อหา ‘ภาคบังคับ’ ของงานแนวทางนี้ แต่ใจความหลักมุ่งไปที่การเสนอเรื่องราวดราม่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบต่างๆ ของผู้คน พี่กับน้อง สามีภรรยา เพื่อน โดยมีเงื่อนไขโลกผิดปกติเป็นฉากหลังรองรับ

ในแง่เนื้อหาสาระ Concrete Utopia ตรงและใกล้เคียงกับ The Road มากกว่า โดยเน้นไปถึงสถานการณ์ที่ตัวละครต้องเลือกครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าจะอยู่อย่างโหดร้ายสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ หรือจะรักษาความดีงามในจิตใจ แต่สุ่มเสี่ยงต่อการเอาชีวิตเข้าแลก (ที่เหมือนกันอีกอย่างคือบทสรุปตอนจบ ในท่วงทำนองว่า และแล้วความดีงามจะตามหาเราจนพบ)

ความเหมือนและไม่เหมือน ระหว่าง The Last of Us + Concrete Utopia กับนิยายเรื่อง The Road ช่วยได้มากในการเทียบเคียง จนมองเห็นความยอดเยี่ยมของนิยายเรื่องนี้ได้เด่นชัดขึ้น

ความยอดเยี่ยมอย่างแรก พล็อตและเงื่อนไขเรื่องประเภท ‘วันสิ้นโลก’ เอื้ออำนวยให้ใส่เรื่องราวโลดโผน เปี่ยมด้วยสีสันจัดจ้านมาก ในแง่นี้ The Road เลือกทำในทางตรงข้าม เรียบ ง่าย ไม่มีอะไรหวือหวา ส่งผลให้เกิดความดีงามต่อมา นั่นคือ กลายเป็นนิยายเกี่ยวกับ ‘วันสิ้นโลก’ ที่หนักแน่นสมจริงยิ่งกว่าเรื่องใดๆ ในงานแนวเดียวกัน ที่วิเศษไปกว่านั้นคือ เต็มแน่นไปด้วยความลึกซึ้ง และแง่มุมชวนคิดมากมาย

การไม่ตั้งชื่อตัวละคร (ตรงนี้ผมคิดว่าทำให้มนุษย์ในเรื่องลดสถานะไปใกล้เคียงกับสัตว์) บทสนทนาซ้ำๆ เดิมหรือคลับคล้ายกันระหว่าง 2 พ่อลูกครั้งแล้วครั้งเล่า ช่วงเวลาอดและอิ่มวนเวียนเป็นวงจร ผู้คนจำนวนไม่มากนักที่ตัวเอกทั้งสองพบเจอระหว่างการเดินทาง

ทั้งหมดนี้ นอกจากนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างมนุษยธรรมกับการทำสิ่งโหดร้ายเพื่อความอยู่รอดได้อย่างแหลมคมแล้ว The Road ยังนำพาผู้อ่านไปสู่อีกคำถามสำคัญ นั่นคือการเน้นย้ำให้เห็นถึงโลกไม่น่าอยู่โดยถี่ถ้วน จนกระทั่งว่าในนรกอันเลวร้ายเช่นนี้ เราจะดิ้นรนกระเสือกกระสนมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม เพื่ออะไร และนำไปสู่ประเด็นเนื้อหาว่าด้วยคู่ขัดแย้งที่สำคัญ คือ ความหวังและความสิ้นหวัง ซึ่งขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นตลอดทั้งเรื่อง

อย่างไรก็ตาม คู่ขัดแย้งที่สำคัญสุดตามความคิดของผม คือการต่อสู้ทางความเชื่อ ระหว่างความดีในใจกับความเลวร้าย/โหดร้าย ซึ่งครอบคลุมทั้งความโหดร้ายที่กระทำต่อผู้อื่น และความโหดร้ายที่กระทำกับคนที่รัก รวมถึงความโหดร้ายที่กระทำต่อตนเอง แง่มุมนี้นำเสนอได้ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ เมื่อผ่านรายละเอียดความเป็นเหตุเป็นผลที่เท่าเทียม มองอ่านเหตุการณ์อย่างรอบคอบรัดกุม จนผู้อ่านยากจะติดสินฟันธงว่าอะไรถูกอะไรผิด

มีวลีหนึ่งซึ่งพ่อกล่าวกับลูกชาย และตอกย้ำอยู่เป็นระยะๆ ว่า ‘รักษาแสงในใจ’ ในแง่นี้ นิยายที่เกือบจะไม่มีเหตุการณ์ในเชิงแอ็กชันเลยอย่าง The Road กลับเต็มไปด้วย ‘ฉากบู๊ในใจ’ ของตัวละคร เพื่อรักษาแสงสว่างอันน้อยนิดเอาไว้มิให้มอดดับ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในโลกที่หนาวเหน็บและลมแรง

การต่อสู้ขับเคี่ยวนี้ ผมอ่านด้วยลุ้นระทึกใจหายใจคว่ำยิ่งกว่าการต่อยตีเข่นฆ่ากันเยอะเลยครับ

พ้นจากที่ว่ามา The Road ยังสะท้อนถึงอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อศรัทธาในเรื่องพระเจ้า (ผมคิดว่ามีแง่มุมทางศาสนาคริสต์แฝงซ่อนอยู่ในนิยายเรื่องนี้ค่อนข้างมาก แต่เป็นเรื่องเกินความรู้ของผม), ความฝันและความทรงจำ (ตรงนี้คมคายมาก เมื่อคิดถึงว่าพ่อมีความฝันยามหลับ ปนกันทั้งในดีฝันร้าย รวมทั้งความฝันถึงอดีตหนหลังก่อนโลกล่มสลาย ขณะที่ความฝันยามหลับของลูกชาย ซึ่งไม่รู้จักโลกเดิม เป็นฝันร้ายล้วนๆ), ความหวาดระแวงกับความไว้วางใจ

แง่มุมนี้เชื่อมโยงไปสู่ความศรัทธาในมนุษยชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวละครพ่อลูกแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทุกครั้งที่พบเจอ ‘คนอื่น’ ตามรายทาง พ่อจะเคลือบแคลงคนแปลกหน้า เตรียมตัวป้องกันระวังภัย เพื่อคุ้มครองลูกชายและตนเองให้ปลอดภัย ขณะที่เด็กชายกลับมีมุมมองความคิดที่ตรงข้าม เกิดความเป็นห่วง สงสาร อยากช่วยเหลือ

ความแตกต่างตรงข้ามระหว่างตัวละครพ่อลูก เป็นท่วงทำนองครรลองเดียวกับคู่อมตะใน Don Quixote ซึ่งคนหนึ่งอยู่ในโลกอุดมคติ คนหนึ่งอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ขัดแย้งถกเถียงกันตลอดเวลา พร้อมๆ กันนั้นก็พึ่งพาอาศัยเกื้อหนุนกัน แบบที่ต่างฝ่ายต่างขาดกันไม่ได้

ใน The Road ลูกชายเป็นตัวแทนความคิดเชิงอุดมคติ ส่วนพ่ออยู่ฝ่ายโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งสองขัดแย้ง ถกเถียง ปรองดอง แง่งอนกัน มีช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ราบรื่นสลับกับผิดพ้องหมองใจเกิดขึ้นสลับไปมาอยู่ตลอด

ระหว่างที่ความสัมพันธ์ต่อกันขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ทั้งสองก็สอนบทเรียนสำคัญให้แก่กัน พ่อสอนลูกให้ ‘รักษาแสงในใจ’ ส่วนลูกก็ประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้พ่อได้เรียนรู้ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น

นี่ยังไม่นับรวมถึงการตอบคำถามสำคัญ ว่าในโลกอันเลวร้ายที่แทบไม่หลงเหลือความดีงามใดๆ ให้นึกอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ปราศจากความหวังโดยสิ้นเชิง สิ่งเดียวที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้พ่อเลือกยุติชีวิตตนเองก็คือลูกชาย

นอกจากความตรงกันข้ามหลักๆ ดังที่กล่าวมา ยังมีรายละเอียดอื่นทำนองนี้อีก เช่น ความแข็งแกร่งทางกายภาพกับความอ่อนแอของลูก (ส่วนในทางจิตใจผมคิดว่าเป็นไปในทางสลับกัน), การเสียสละของพ่อที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกปลอดภัย ขณะที่ลูกกลับเป็นฝ่ายเสียสละต่อคนแปลกหน้า พ่อสอนลูกให้ ‘รักษาแสงในใจ’ แต่ฝ่ายที่ปฏิบัติตามนั้น กลับเป็นลูกชาย, ความกล้ากับความกลัว ฯลฯ

บนพล็อตเรื่องว่าด้วยการเผชิญชีวิตหลังวันสิ้นโลก อาจกล่าวได้ว่า The Road เป็นนิยายสะท้อนถึงความรักระหว่างพ่อลูก ได้อย่างซาบซึ้งกินใจสุดๆ โดยไม่ต้องโน้มน้าวเร้าอารมณ์ ไม่ต้องมีคำพูดสวยหรูมุ่งสร้างความประทับใจ แต่เกิดจากรายละเอียดเรียบง่ายจำนวนมาก ซึ่งปรากฏอยู่ตลอดทั่วทั้งเรื่อง

แก่นสารสาระใน The Road นั้นมีอยู่เยอะ นำเสนอเด่นชัด เปี่ยมด้วยชั้นเชิง มีทั้งส่วนที่อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที และส่วนที่ซ่อนนัยยะให้ขบคิดทำความเข้าใจต่อ สุดแท้แต่ผู้อ่านจะมองเห็นหรือทำความเข้าใจ

พูดเช่นนี้แปลได้ว่ามีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์อยู่นะครับ ตรงนี้ผมยังจับต้องได้ไม่ชัดนักว่าคืออะไรบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า น่าจะเข้าข่ายเป็นสัญลักษณ์ก็คือ ถนน ซึ่งเป็นชื่อของนิยายเรื่องนี้

เท่าที่ผมนึกออก ถนนเป็นสิ่งหนึ่งบนโลกที่อาจจะเสียหายชำรุด แต่ยังไม่ถูกทำลายด้วยภัยพิบัติ และเกี่ยวเนื่องกับภารกิจหลักของตัวละครคือ ‘การเดินทาง’ มันเต็มไปด้วยความชั่วร้ายและอันตราย แต่ขณะเดียวกันก็เป็น ‘เส้นทาง’ สู่จุดหมายอันไกลโพ้น (ซึ่งตัวละครเชื่อว่า ที่นั่นจะปลอดภัย เป็นทางรอดที่จะมีชีวิต)

ที่สำคัญคือ ถนนเป็นบททดสอบสารพัดสารพันต่อการ ‘รักษาแสงในใจ’

ความดีงามสุดท้ายคือลีลาทางวรรณศิลป์ ซึ่งแรกอ่านรู้สึกเหมือนจะราบเรียบ ไม่มีอะไรโดดเด่น แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งพบว่า ประณีต คม ลึก และเต็มไปด้วยชั้นเชิงแนบเนียนในระดับสูงส่ง

น่าทึ่งมากนะครับ สำหรับนิยายที่เริ่มต้นแรกอ่าน ทำให้ผมรู้สึกว่าน่าเบื่อมาก แต่ครั้นอ่านจบ กลับมอบประสบการณ์การอ่านอันน่าประทับใจเหลือเกิน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save