fbpx

พานาธิไนกอส-โอลิมเปียกอส: การปะทะกันของชนชั้นที่แตกต่างกลางเอเธนส์

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

เทวตำนานของกรีกเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย แต่หลายเรื่องราวก็มีความรุนแรงเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะการต่อสู้และการเข่นฆ่า แต่ในขณะเดียวกันเรื่องเหล่านี้ก็เป็นอมตะ เพราะจากสมัยอารยธรรมกรีกผ่านมาเกือบสามสหัสวรรษ ตำนานเทพเจ้ากรีกก็ยังถูกเล่าขานในสื่อรูปแบบต่างๆ ทำให้ไม่มีใครไม่รู้จักเทพเจ้าอย่างซุส เทพเจ้าสูงสุดผู้ใช้สายฟ้า, โพไซดอน เทพแห่งวารีผู้ครองมหาสมุทร, เฮดีส เทพแห่งนรกใต้พิภพ, แอรีส เทพแห่งสงคราม และเอเธนา เทพีแห่งปัญญาและการสงคราม ผู้กลายมาเป็นชื่อของเมืองหลวงของประเทศกรีซในปัจจุบันอย่างเอเธนส์

ไม่ใช่แค่เทวตำนานเท่านั้นที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและเป็นอมตะ แต่ดาร์บีแมตช์แห่งกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงแห่งอารยธรรมกรีกก็มีลักษณะไม่ต่างกัน เพราะการเจอกันของสองคู่ปรับสำคัญในกรุงเอเธนส์ได้รับการขนานนามว่า ‘ดาร์บีแห่งอริชั่วกาลนาน’ หรือ ‘derby of the eternal rivals’ หรือในอีกฉายาที่รับการยกย่องอย่าง ‘มารดาแห่งการต่อสู้ทั้งปวง’ หรือ ‘the mother of all battles’

ชื่อทั้งสองแสดงออกถึงความเป็นอมตะและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในเกมการแข่งขันอย่างชัดเจน และนั่นเป็นนิยามในการเผชิญหน้ากันในวงการกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะในกีฬาฟุตบอลของสองสโมสรแห่งกรุงเอเธนส์ อย่าง ‘พานาธิไนกอส’ กับ ‘โอลิมเปียกอส’

สโมสรทั้งสองแห่งถูกมองว่าเป็นคู่อริกันจนชั่วฟ้าดินสลาย ทั้งที่ในความจริงแล้วที่ตั้งของทั้งสองสโมสรเรียกได้ว่าเกือบจะเป็น ‘เพื่อนบ้าน’ เพราะสนามของโอลิมเปียกอสกับพานาธิไนกอสห่างกันแค่ราว 13 กิโลเมตรเท่านั้น โดยหากเดินทางด้วยการขับรถ ก็ใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง 30 นาที

คำว่า ‘ดาร์บีแห่งอริชั่วกาลนาน’ จึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่มาที่ไป หากแต่มันเหมาะสมด้วยหลายๆ สาเหตุ ไล่ตั้งแต่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ความดุเดือดในการเผชิญหน้าแข่งขันกันในสนาม รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างแฟนบอลทั้งสองทีมด้วย

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งการเผชิญหน้าระหว่างสองคู่ปรับที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ศัตรู’ และถือเป็นการขับเคี่ยวกันที่ดุเดือดที่สุดคู่หนึ่งในยุโรป แม้ว่าทั้งสองสโมสรจะไม่ได้มีชื่อเสียงมากมายนักเมื่อเทียบกับลีกยักษ์ใหญ่ที่เป็นที่รู้จัก แต่เกมแมตช์นี้มีประวัติศาสตร์ เรื่องราว และการแข่งขันไม่แพ้คู่แข่งคู่ไหนๆ ในยุโรปเช่นกัน แม้เรื่องราวของสองสโมสรไม่ใช่เทพนิยาย แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวระดับตำนานของวงการฟุตบอลเลยก็ว่าได้

พานาธิไนกอส สโมสรตัวแทนของชนชั้นกลาง

แม้จะโด่งดังมากในกีฬาฟุตบอล แต่ในความเป็นจริงแล้ว พานาธิไนกอสเป็นหนึ่งในหลายๆ สโมสรบนภาคพื้นยุโรปที่มีทีมกีฬาหลายชนิดในสโมสรเพียงแห่งเดียว นอกจากฟุตบอลแล้ว สโมสรแห่งนี้ยังมีทีมบาสเก็ตบอล โปโลน้ำ รักบี้ เทเบิล เทนนิส กรีฑา อีสปอร์ต และอื่นๆ อีกมากมาย

อ้างอิงจากประวัติอย่างเป็นทางการของสโมสร สโมสรพานาธิไนกอส ก่อตั้งโดยจอร์จอส กาลาฟาติส ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1908 เมื่อเขาและนักกีฬาคนอื่นๆ อีกราว 40 คน ถูกตัดออกจากทีมพานาลเลนิออส ยิมนาสติกอส ซิลโลกอส ที่ตัดสินใจเลิกทำทีมฟุตบอล ทำให้พวกเขารวมตัวกันเพื่อก่อตั้งทีมฟุตบอลแห่งใหม่ โดยในตอนแรกสโมสรของเขาใช้ชื่อว่า ‘โพดอสเฟริกอส โอมิลอส เอเธนอน’ หรือถ้าแปลเป็นไทยคือสโมสรฟุตบอลแห่งเอเธนส์

สโมสรแห่งนี้ถูกก่อตั้งโดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่และทำให้กีฬาฟุตบอลให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแก่สาธารณชนทั่วไปในเอเธนส์ นอกจากนี้ความตั้งใจของผู้ก่อตั้งคือการสร้างทีมสำหรับชาวเอเธนส์ทั้งหมด ซึ่งอ้างอิงรูปแบบนี้มาจากชาติยุโรปอื่นๆ ที่มักจะมีทีมประจำเมือง

โดยประธานสโมสรคนแรกคืออเล็กซานดรอส คาลาฟาติส ซึ่งเป็นพี่ชายของจอร์จอส ที่ตั้งของทีมในตอนแรกอยู่ที่แพติสชัน สตรีท ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสนามในปัจจุบัน ซึ่งในยุคการก่อตั้งทีม สโมสรได้ดึงตัวจอห์น ซีริล แคมป์เบลล์ นักกีฬาฟุตบอลจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเข้ามาเป็นโค้ช ซึ่งนั่นนับเป็นครั้งแรกที่มีการแต่งตั้งชาวต่างชาติให้มาคุมทีมจากกรีซด้วย

ในยุคแรก สโมสรเลือกใช้สีแดงเป็นสีประจำสโมสร ก่อนเปลี่ยนแปลงมาเป็นสีเขียว-ขาว ในปี 1911 ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงโลโก้ของสโมสรในปี 1918 โดยเปลี่ยนมาเป็นสัญลักษณ์รูปใบแชมร็อกหรือใบโคลเวอร์ สัญลักษณ์แห่งความกลมเกลียว เอกภาพ ธรรมชาติ และความโชคดี และนั่นกลายเป็นโลโก้ของพานาธิไนกอสมาจวบจนปัจจุบัน

ด้วยความที่สโมสรมีที่ตั้งอยู่แทบจะใจกลางของกรุงเอเธนส์ ทำให้พื้นที่โดยรอบของสโมสรเต็มไปด้วยชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกิน ทำให้แฟนบอลกลุ่มแรกๆ ของสโมสรกลายเป็นบรรดาเพื่อนบ้านที่มีฐานะดี ซึ่งกลายมาเป็นผู้ให้การสนับสนุนกับสโมสร และส่งให้สโมสรกลายเป็นทีมชั้นแนวหน้าในเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังการก่อตั้ง

และคำว่า ‘ชนชั้น’ นี่เองที่จะกลายมาเป็นชนวนความขัดแย้งกับอีกหนึ่งสโมสรอย่างโอลิมเปียกอส ที่จะเกิดขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนของชนชั้นรากหญ้าในเวลาต่อมา

โอลิมเปียกอส ปิเรอุส: จุดเริ่มต้นคือชนชั้นแรงงาน

ห่างออกไปไม่ไกลทางตะวันตกเฉียงใต้ของสโมสรพานาธิไนกอส บริเวณชายฝั่งติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นที่ตั้งของเขตปิเรอุส เขตเมืองท่าสำคัญที่ทำหน้าที่นำเข้าและส่งออกสินค้าจากเอเธนส์ และทำกำไรมหาศาลให้บรรดาพ่อค้าที่อยู่ในเมืองหลวงของกรีซ สถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งที่พักของชนชั้นรากหญ้าและกรรมกร เนื่องจากคนงานท่าเรือส่วนมากได้ค่าแรงต่ำ ทำให้พวกเขามีทางเลือกไม่มาก และคงจะดีกว่าหากกรรมกรท่าเรือได้พักในย่านท่าเรือ เพราะสะดวกต่อการทำงานของพวกเขามากกว่าด้วย

การค้าขายและขนส่งทำให้เอเธนส์ร่ำรวยขึ้นเท่าใด ปิเรอุสก็ยิ่งต้องใช้แรงงานและกรรมกรมากขึ้นเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่สุดท้ายแล้วพื้นที่ตรงนี้จะกลายมาเป็นชุมชนแออัด แต่ถึงจะเป็นชุมชนคนรากหญ้า ทว่าพื้นที่ตรงนี้ก็มีสโมสรฟุตบอลเกิดขึ้นจนได้ในวันที่ 10 มีนาคม 1925 เมื่อเกิดการรวมสโมสรกันของปิไรกอส โพโดสไฟริกอส โอมิลอส กับปิเรอุส แฟน คลับ เอฟซี กลายมาเป็นสโมสรโอลิมเปียกอส และมีการใช้สัญลักษณ์ใหม่อย่างรูปผู้ชนะการแข่งขันโอลิมปิกที่สวมมงกุฎช่อมะกอกและมีสีประจำทีมเป็นสีแดง

หลังจากการกลายมาเป็นสโมสรใหญ่ในเขตปิเรอุส ทำให้โอลิมเปียกอสได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะจากบรรดาแฟนบอลในเขตโดยรอบ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นคนหาเช้ากินค่ำแต่ก็ยังให้การสนับสนุนทีมเป็นอย่างดี เนื่องจากมองว่านี่เป็นสมบัติของชุมชนที่ทุกคนต้องร่วมให้การสม่ำเสมอ และสโมสรแห่งนี้ยังเป็นเหมือน ‘ศักดิ์ศรี’ และ ‘ตัวตน’ ของคนที่ไม่มีใครให้ค่าอย่างพวกเขา

ขณะที่สโมสรเองก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง โดยหลังก่อตั้งอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน พวกเขาก็คว้าแชมป์ปิเรอุส แชมเปียนชิป ซึ่งเป็นการแข่งขันของบรรดาสโมสรในเขตนี้ได้สำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งทีม หลังจากนั้นพวกเขาก็กลายเป็นสโมสรที่อยู่ในระดับบนของวงการฟุตบอลกรีซมาอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับพานาธิไนกอสและอีกหลายๆ สโมสรในภาคพื้นยุโรป โอลิมเปียกอสเองก็เป็นสโมสรที่มีทีมกีฬาหลายทีมในสโมสรเดียวเช่นกัน โดยนอกจากฟุตบอล สโมสรแห่งนี้ยังมีทีมบาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล กรีฑา โปโลน้ำ เรือใบ ฟันดาบ และอื่นๆ เช่นกัน

สงครามชนชั้น การเผชิญหน้ากันบนความไม่ชอบขี้หน้า

ว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว ความขัดแย้งระหว่างชาวเอเธนส์กับชาวปิเรอุส เกิดขึ้นก่อนการมาถึงของฟุตบอลเสียอีก ว่ากันว่าเมื่อเขตปิเรอุสถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเอเธนส์ในปี 1832 นั่นทำให้ชาวเอเธนส์เดิมที่ส่วนมากเป็นคนมีอันจะกิน เริ่มตั้งแง่กับผู้คนที่มาจากพื้นที่ในส่วนนี้ เนื่องจากพวกเขามีความแตกต่างทางชนชั้นกันอย่างมาก และการรวมปิเรอุสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเอเธนส์ ยังส่งผลให้ความแออัดของประชากรถูกขยายเข้าสู่เขตเมืองด้วย

ตรงกันข้าม ในฝั่งของชาวปิเรอุส พวกเขาก็รู้สึกเหมือนว่าจะถูกเหยียดหยามด้วยความแตกต่างระหว่างชนชั้นทางสังคม นอกจากนี้ยังมีคนอีกไม่น้อยที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และไม่พอใจกับความอยุติธรรมต่างๆ นานา จนทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นอคติที่ติดตัวพวกเขาไปโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

ด้วยความที่ไม่ชอบหน้ากันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาทั้งสองฝ่ายจะเอาความรู้สึกเหล่านั้นไปลงกับกีฬาอย่างฟุตบอล ที่เปิดโอกาสให้ทีมที่เป็นเหมือนตัวแทนตัวตนของพวกเขา ได้ออกไปต่อสู้กับตัวแทนของฝั่งตรงข้าม เพื่อศักดิ์ศรีและความสะใจหากได้เป็นผู้ชนะ

โดยในเวทีนี้เป็นเวทีที่ชาวปิเรอุสไม่ต้องโดนล้อเลียนและกดขี่อยู่แค่ฝ่ายเดียว เพราะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองถือเป็นช่วงเวลาทองของโอลิมเปียกอส ทำให้พวกเขาได้เย้ยใส่สโมสรคู่ปรับอย่างพานาธิไนกอสอย่างหนำใจ และยังเย้ยใส่สโมสรร่วมเมืองอีกทีมอย่างเออีเค เอเธนส์ได้อย่างเต็มที่ไม่ต่างกัน

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะช่วงปลายยุค 1950s นอกจากที่โอลิมเปียกอสจะคว้าแชมป์ฟุตบอลกรีกได้หกปีติดแล้ว พวกเขายังได้แชมป์รวมถึง 15 สมัย ทั้งที่เพิ่งก่อตั้งมาเมื่อปี 1925 ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน พานาธิไนกอสคว้าแชมป์ได้แค่สามครั้ง ส่วนเออีเค เอเธนส์คว้าแชมป์ได้เพียงแค่สองครั้งเท่านั้น นับเป็นยุคสมัยที่ช่องว่างระหว่างคู่ปรับทั้งสองห่างชั้นกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์

แต่การที่ทีมหนึ่งมีความสำเร็จอย่างงดงาม ยิ่งเป็นเหมือนการเติมน้ำมันบนกองเพลิงให้กับอีกทีมหนึ่งเช่นกัน ว่ากันว่ากลุ่มแฟนบอลหัวรุนแรงของทั้งสองทีมเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคนี้ แม้ในช่วงแรกจะยังมีไม่มาก แต่มันก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และเหมือนกับว่าสิ่งนี้แปรผันตรงซึ่งกันและกัน เพราะเมื่อแฟนบอลกลุ่มอันธพาลของทีมหนึ่งเพิ่มขึ้น อีกทีมก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

จำนวนที่เพิ่มขึ้นของแฟนบอลหัวรุนแรง ทำให้การปะทะกันกลายเป็นความโกลาหล กลิ่นของดินปืน การมองเห็นพลุสีแดงนับร้อยจุดขึ้นบนท้องฟ้ายามค่ำคืน การกู่ร้องเสียงดัง เสียงคำรามที่ทรงพลัง ทั้งยาวนานและแสบหู คั่นด้วยเสียงประทัดนัดแล้วนัดเล่า กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เป็นปกติในเกมที่ทั้งสองทีมนี้เจอกัน

บรรยากาศทั้งหมดยังส่งผลมาถึงการแข่งขันในสนามและส่งผลกดดันไปถึงนักฟุตบอล ซึ่งทำให้ ‘ดาร์บีแห่งอริชั่วกาลนาน’ เป็นหนึ่งในเกมที่เราจะพบใบแดงได้มากที่สุดในวงการฟุตบอล และหากแมตช์ไหนเราได้เห็นใบแดงหนึ่งใบก็นับได้ว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะบางแมตช์อาจมีใบแดงได้มากถึง 3-4 ใบ และข้อมูลจากการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 1959 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เรารู้ว่าดาร์บีแห่งเอเธนส์เกมนี้มีใบแดงไปแล้วมากถึง 66 ใบ

พอนานเข้าการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้จบแค่ในสนามฟุตบอลเพียงอย่างเดียว แต่กลับลามไปถึงสนามกีฬาอื่นๆ ด้วย และมันก็เลยเถิดไปถึงขนาดมี ‘คนตาย’ เลยทีเดียว

เรื่องราวบานปลายเมื่อมีความตายมาเกี่ยวข้อง

ความตายครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากกีฬาหลักอย่างฟุตบอล แต่เกิดจากกีฬาวอลเลย์บอล ซึ่งต้นตอของปัญหาก็ยังคงเป็นการแข่งขันและความรุนแรงของสองคู่อริอย่างพานาธิไนกอสและโอลิมเปียกอส โดยในวันที่ 29 มีนาคม 2007 มีการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงถ้วยกรีก คัพ ที่เมืองไปยาเนีย เมืองเล็กๆ ทางตะวันออกของกรุงเอเธนส์ และความตายครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์กีฬาของกรีซก็เกิดขึ้นในวันนั้นนั่นเอง

ผู้เคราะห์ร้ายที่เสียชีวิตในวันนั้นมีชื่อว่ามิฮาลิส ฟิโลปูลอส วัย 22 ปี เป็นแฟนของทีมพานาธิไนกอส เสียชีวิตจากการถูกแทงด้วยมีด หลังมีการปะทะกันของแฟนกีฬาทั้งสองทีมกว่า 400 คน โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มแฟนอันธพาลของทั้งสองทีมที่เหมือนจะมีการนัดมาตีกันอยู่แล้ว

รายงานการสืบสวนระบุว่าฟิโลปูลอสถูกแทงโดยคนสองคนและอีกสี่คนใช้กระบองตีเขาที่ศีรษะ หนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ช่วยให้คดีนี้คลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว คือการที่มีคลิปวิดีโอซึ่งถูกถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ ถูกเผยแพร่ไปยังแฟนบอลบางกลุ่ม และยังมีการเผยแพร่คลิปนี้ลงบนยูทูบอีกด้วย

ในเวลานั้นคำว่าไวรัลอาจยังไม่เป็นที่นิยมในโลกออนไลน์ แต่คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง สื่อทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ต่างนำวิดีโอนี้มาเผยแพร่ซ้ำกันเป็นเวลาหลายวัน และมีการออกข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้โดยใช้วิดีโอนี้ในช่วงไพร์มไทม์ที่กรีซด้วย

ผลที่ตามมาก็คือตำรวจกรีซต้องลงมือทำงานกันอย่างจริงจังเพื่อปิดคดีนี้ให้ได้ โดยทีมตำรวจหลายทีมเข้าทลายแก๊งแฟนอันธพาลหลายกลุ่มของทั้งสองสโมสรในเวลาไม่กี่วัน มีการยึดอาวุธและยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก โดยอาวุธที่ยึดได้จากบรรดาแฟนอันธพาลเหล่านี้มีทั้งระเบิดเพลิง มีดดาบ ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก โซ่โลหะ และปืนยิงพลุแฟลร์ เหมือนกับว่ากลุ่มแฟนเหล่านี้จะเตรียมตัวไปทำสงครามก็ไม่ปาน

หนึ่งเดือนเศษหลังจากการไปของมิฮาลิส ฟิโลปูลอส ตำรวจก็มีการตั้งข้อหากับบุคคลเก้าคนว่ามีส่วนพัวพันกับการฆาตกรรม ชายวัย 22 ปี

การเสียชีวิตของฟิโลปูลอสยังส่งผลถึงการแข่งขันกีฬาประเภททีมทั้งหมดในกรีซ โดยมีคำสั่งให้ระงับการแข่งขันทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ถึง 12 เมษายน ขณะที่ประชาชนบางส่วนเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสโมสรกีฬาอย่างเข้มข้นว่าตั้งใจที่จะก่อตั้ง ‘กองทัพส่วนตัว’ หรือไม่ ขณะที่กระทรวงกีฬาของกรีซก็ออกนโยบายในการติดตั้งกล้องวงจรปิดในทุกสนามและบังคับใช้บทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นด้วย

คดีการเสียชีวิตของฟิโลปูลอสอาจนำมาซึ่งการเสียชีวิตของวาซิลิส รูเบติส หนึ่งในเก้าผู้ต้องหาที่ตำรวจตั้งข้อหาว่ามีส่วนพัวพันกับการฆาตกรรม โดยเขาถูกยิงเสียชีวิตโดยชายนิรนามสองคน ใกล้กับบ้านของเขาในคอรีดาลอส พร้อมกับเพื่อนอีกคน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านนี่เอง แม้เบื้องต้นตำรวจยังไม่ทราบสาเหตุแรงจูงใจ แต่ก็ยังไม่ได้ตัดกรณีการฆ่าเพื่อล้างแค้นให้ฟิโลปูลอสออกไปเช่นกัน

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

“ผมเล่นเกมมามากมายในชีวิต ผมเล่นเกมดาร์บีหลายเกมที่ดอร์ทมุนด์ มิลาน และลอนดอน อย่างเกมระหว่างอาร์เซนอลกับท็อตแนม ก็เป็นดาร์บี้แมตช์ที่ยิ่งใหญ่ แต่เกมระหว่างโอลิมเปียกอสกับพานาธิไนกอส มันเป็นดีเอ็นเอ เป็นวัฒนธรรม และที่นี่ในกรีซ เรามีอารมณ์ร่วมมากขึ้น ‘มารดาแห่งการต่อสู้ทั้งปวง’ แน่นอนว่ามันเป็นเกมที่เต็มไปด้วยอารมณ์”

โซคราติส ปาปาสทาโธปูลอส อดีตกองหลังอาร์เซนอล ที่ปัจจุบันเขาย้ายกลับมาเล่นที่กรีซให้กับโอลิมเปียกอส กล่าวกับดิ แอธเลติกถึงแมตช์ ‘มารดาแห่งการต่อสู้ทั้งปวง’

ขณะที่ลุค สตีล อดีตผู้เล่นของพานาธิไนกอส วัย 38 ที่ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทีมของปีเตอร์โบโรห์ สปอร์ต ในศึกเนชันแนล ลีก นอร์ธของอังกฤษ กล่าวถึงความหลังสมัยเขาอายุ 29 ปีที่ย้ายไปค้างแข้งกับทีมดังจากกรีซว่า

“สำหรับเกมที่พบกับโอลิมเปียกอส ใช้เวลาขับรถเพียง 20 นาทีจากเอเธนส์ (ไปยังปิเรอุส) แต่พวกเขาจะปิดมอเตอร์เวย์เพื่อที่เราจะไปถึงสนามของพวกเขาได้อย่างปลอดภัย ผมเคยไปที่ต่างๆ กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเคยชินกับการถูกตำรวจคุ้มกัน แต่นี่เป็นอีกระดับหนึ่ง มันมีรถหุ้มเกราะทุกที่และสะพานมอเตอร์เวย์ทุกแห่งได้รับการคุ้มกัน ดังนั้นไม่มีใครเข้าใกล้เราได้”

“เมื่อคุณไปถึงสนาม คุณจะอยู่ในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าโดยคิดว่ามันรู้สึกค่อนข้างปกติ แต่แล้ว… พระเจ้า! ในฐานะผู้รักษาประตู ผมเป็นคนแรกที่ออกไปวอร์มอัป โดยปกติก็ราว 45 นาทีก่อนเริ่มเตะ และเสียงก็ดังอย่างไม่น่าเชื่อ เสียงดังมาก มันมีพลุและดอกไม้ไฟ เมื่อมันดับลง ควันก็จะฟุ้งกระจายไปทั่ว รุนแรงจนน่ากลัว ขนที่หลังคอของผมนี่ลุกชันขึ้นมาทันทีเพียงแค่พูดถึงมัน”

คำพูดทั้งหมดยังคงบรรยายถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเกมดาร์บีแห่งเอเธนส์เกมนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าความแตกต่างระหว่างชนชั้นของเอเธนส์และปิเรอุสจะหายไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือความขัดแย้งและสงครามทั้งในและนอกสนาม ซึ่งมีทีท่าว่าทั้งสองทีมจะยังคงสู้กันไปแบบนี้…ชั่วกาลนาน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save