fbpx

สเปน-โปรตุเกส: สองชาติคู่รักคู่แค้น แห่งคาบสมุทรไอบีเรีย

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

หนึ่งในข้อสังเกตหลังเขียนคอลัมน์ The Rivalry มา 24 ตอน กว่าครึ่งของเรื่องราวในคอลัมน์นี้มาจากสโมสร เมือง หรือชาติ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือไม่ก็มีอาณาเขตติดกัน ซึ่งความไม่ลงรอยกันก็เหมือนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาของการอยู่ร่วมกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสำหรับสโมสรที่อยู่ร่วมเมืองหรือรัฐชาติที่มีอาณาเขตติดต่อกันตามธรรมชาติก็ตาม

สำหรับตอนที่ 25 ของ The Rivalry ก็ยังคงเป็นเรื่องความไม่ลงรอยกันของสองชาติที่มีอาณาเขตติดกัน แต่ความน่าสนใจของเรื่องราวนี้คือทั้งสองมีความร่วมมือและผูกพันกันแฝงอยู่ในความเป็นคู่แข่งกันเกือบตลอดเวลาในประวัติศาสตร์การเมืองของทั้งคู่

เรื่องราวของพวกเขายาวนานหลายร้อยปี และปัจจุบันทั้งคู่ก็ยังคงมีอาณาเขตติดกัน มีภาษาที่ใกล้เคียงกัน แม้จะไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง และต่อจะไม่ยอมกันในเรื่องของฟุตบอลแค่ไหน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เข็มแข็งมากในระดับทวิภาคี เรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนพี่น้อง กัน แต่ก็เป็นคู่แข่งขันที่ยอมกันไม่ได้แบบในการ์ตูนหลายเรื่อง เช่น ซูน โกคู กับ เบจิตา จากดรากอนบอล หรือโอซาระ สึบาสะ กับ เฮียวงะ โคจิโร จากกัปตันสึบาสะ ไม่ก็ซากุรางิ ฮานะมิจิ กับ รุคาวา คาเอะเดะ จากสแลมดังก์ก็ว่าได้

สองชาติที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือคู่ปรับและคู่หูแห่งคาบสมุทรไอบีเรียอย่าง ‘สเปน’ และ ‘โปรตุเกส’

สำหรับโลกกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลแล้ว การเจอกันของทีมชาติสเปนและทีมชาติโปรตุเกส ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สงครามแห่งไอบีเรียน (Iberian War)’ หรือถ้าเรียกให้ดูเป็นฟุตบอลกว่านั้นคือไอบีเรียน ดาร์บี (Iberian Derby) ซึ่งนับเป็นหนึ่งในคู่ปรับที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในโลกฟุตบอลระดับชาติเลยทีเดียว

การเจอกันของสเปนและโปรตุเกสในเวทีฟุตบอลระดับชาติ อาจไม่มากมายเหมือนการเจอกันของอดีตชาติภายใต้อาณานิคมของพวกเขาทั้งคู่อย่างบราซิลและอาร์เจนตินา แต่การเจอกันนับตั้งแต่มีเกมแมตช์แรกฟาดแข้งกันในวันที่ 19 ธันวาคม 1921 จวบจนเกมล่าสุดในปัจจุบัน ในวันที่ 27 กันยายน 2022 ก็มีมากถึง 40 เกมเข้าไปแล้ว ซึ่งนับเป็นการเจอกันในระดับชาติมากที่สุดคู่หนึ่งสำหรับทีมในยุโรปอย่างไม่ต้องสงสัย

และแน่นอนว่าภายใต้ชื่อที่แย่งชิงความเป็นหนึ่งกันในคาบสมุทรไอบีเรีย ฝั่งสเปนที่มีทีมฟุตบอลซึ่งแข็งแกร่งกว่าทั้งในระดับลีกและทีมชาติ ย่อมครองชัยชนะมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันทางโปรตุเกส แม้ชื่อชั้นของฟุตบอลลีกยังดูเป็นรองอยู่ ก็ค่อยๆ พัฒนาทีมชาติของพวกเขาขึ้นมา จนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ใช่งานง่ายสำหรับสเปนในการล้มพวกเขาเช่นกัน

เกริ่นกันมาก็ยาวพอสมควร น่าจะเห็นภาพกว้างๆ ของสเปนกับโปรตุเกสกันแล้ว คราวนี้เราไปดูเรื่องราวและที่มา ว่ากว่าที่พวกเขาจะได้ขึ้นชื่อว่า ‘คู่ปรับแห่งคาบสมุทรไอบีเรียน’ นี้มีความเป็นมาอย่างไร

เรกองกิสตา – จุดเริ่มต้นที่สำคัญของคาบสมุทรไอบีเรีย

แม้ว่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่บนคาบสมุทรไอบีเรียเป็นประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานนับพันปีก่อนคริสตกาล โดยพื้นที่ตรงนี้ผ่านการยึดครองมาอย่างหลากหลายทั้งชาวฟินิเชียน กรีก คาร์เธจ ต่อเนื่องไปถึงโรมัน

ประวัติศาสตร์หมุนไปจนถึงปี 711 ชาวมัวร์เข้ายึดครองพื้นที่สเปนในปัจจุบัน และครองพื้นที่นี้เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 700 ปี จนกระทั่งการมาถึงของเหตุการณ์เรกองกิสตา ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นความเป็นชาติของทั้งทางสเปนและโปรตุเกส เหนือดินแดนนี้

เรกองกิสตา (Reconquista) แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่ารีคอนเควสต์ (Reconquest) หรือการพิชิตดินแดนคืน ถือเป็นก้าวสำคัญของชาวคริสเตียนในการนำดินแดนบริเวณคาบสมุทรไอบีเรียคืนมาจากชาวมัวร์ ซึ่งเป็นชนชาติมุสลิม

โดยสงครามระหว่างชาวคริสต์กับชาวมัวร์มียาวนานกว่า 700 ปี ก่อนที่ชัยชนะของฝั่งคริสเตียนจะมาถึง โดยเริ่มต้นในสงครามที่โควาดองกา และการก่อตั้งอาณาจักรอัสตูเรียสมักถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชนชาติสเปนในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดเมื่อชาวคริสต์สามารถพิชิตที่มั่นแห่งสุดท้ายของชาวมัวร์ที่กรานาดาได้ในปี 1492 จากนั้นราชอาณาจักรและรัฐคาทอลิกต่างๆ บนคาบสมุทรไอบีเรียก็ได้พัฒนาขึ้น รวมทั้งราชอาณาจักรคาสตีลและราชอาณาจักรอารากอนด้วย

แน่นอนว่าในตอนนั้น คำว่าสเปนจะยังไม่เกิดขึ้นจนปี 1516 อาณาจักรต่างๆ ทั้งคาสตีล อารากอน นาวาร์ และกรานาดาได้รวมตัวกันกลายเป็นอาณาจักรสเปน

ก่อนการเกิดขึ้นของอาณาจักรสเปน โปรตุเกสเคยเกือบรวมเข้ากับคาสตีลในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายของเจ้าหญิงฆวนนา (Joanna) ที่สมรสกับพระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 (Afonso V) แห่งโปรตุเกสเพื่อขอแรงสนับสนุนในสงครามชิงราชบัลลังก์กับเจ้าหญิงอิซาเบลลา หรือที่ในอนาคตจะรู้จักในนามสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 ซึ่งทั้งสองฝ่ายชิงอำนาจกันหลังการสวรรคตของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 (Henry IV) แห่งอาณาจักรคาสตีล

สุดท้ายแล้วกลายเป็นฝ่ายเจ้าหญิงอิซาเบลลา ที่เอาชนะเหนือสงครามกลางเมืองครั้งนี้มาได้ ทำให้อาณาจักรใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นการรวมกันของฝ่ายคาสตีลกับอารากอน และส่งผลให้สเปนครองพื้นที่ส่วนใหญ่บนคาบสมุทรไอบีเรีย

ซึ่งตรงกันข้ามหากฝ่ายของเจ้าหญิงฆวนนาเป็นฝ่ายเอาชนะ มีโอกาสสูงที่คาสตีลจะรวมกับโปรตุเกส แต่เสียดายว่าเป็นเพียง what if ที่ไม่เกิดขึ้นเท่านั้น

ทอร์เดซิยาส – ใบอนุญาตล่าอาณานิคม สู่ยุคแห่งการแข่งขันสมบูรณ์

ทอร์เดซิยาสคือชื่อของสนธิสัญญาแบ่งกันสำรวจโลกระหว่างสเปนกับโปรตุเกส ซึ่งถูกลงนามในวันที่ 7 มิถุนายน 1494 โดยกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งสเปนและกษัตริย์จอห์นที่ 2 แห่งโปรตุเกส ณ เมืองทอร์เดซิยาส ประเทศสเปน

ใจความหลักๆ ของเนื้อหาสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวคือการแบ่งโลกออกเป็นสองฟาก สเปนได้รับสิทธิในดินแดนทางตะวันตกของแนว 370 ลีคทางตะวันตกของเกาะเคปเวิร์ด ขณะที่โปรตุเกสได้รับสิทธิในดินแดนทั้งหมดทางตะวันออกของแนวนั้น

แม้สนธิสัญญาฉบับนี้จะไม่ได้รับการเห็นชอบจากมหาอำนาจเจ้าอื่นๆ อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือฮอลันดาในตอนนั้น แต่ผลจากการลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ ก็ทำให้ทั้งสองชาติต่างได้ดินแดนในครอบครองเพิ่มมาชาติละไม่น้อย อาทิ ทางสเปน ได้รับสิทธิในการครอบครองอเมริกากลางอย่างเม็กซิโก และอเมริกาใต้อย่างอาร์เจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย และดินแดนอื่นๆ ในแถบนั้น รวมไปถึงฟิลิปปินส์และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนด้วย ขณะที่โปรตุเกสก็ได้พื้นที่ในบราซิล แองโกลา โมซัมบิค กีนี-บิสเซา และเคปเวิร์ด เป็นต้น

นอกจากการแข่งขันกันแย่งยึดพื้นที่ (ซึ่งอาจจะไม่มาก เพราะหลายส่วนเสร็จมหาอำนาจรายอื่นๆ ไปแล้ว) ทั้งสองชาติยังแข่งขันกันในการพัฒนาความก้าวหน้าในการเดินเรือและเป็นผู้นำในการเดินเรือเพื่อพิชิตดินแดนด้วย หนึ่งในนวัตกรรมสำคัญคือการเกิดขึ้นของเรือเนา วิคตอเรีย เรือใบประเภทคาร์เร็คที่เฟอร์ดินานด์ แมคเจลแลนใช้พิชิตโลก (แม้ในความจริงเขาจะเสียชีวิตที่ฟิลิปปินส์ก็ตาม แต่เรือสามารถแล่นวนรอบโลกกลับไปยังสเปนได้)

การตกลงลงนามในสนธิสัญญาทอร์เดซิยาสของทั้งสเปนและโปรตุเกส นอกจากส่งผลดีในแง่ของนวัตกรรมการเดินเรือในสมัยนั้นแล้ว ที่สำคัญยังสามารถยุติข้อพิพาทในการแย่งกันเดือนเรือเพื่อพิชิตอาณานิคม ซึ่งเกือบจะลุกลามกลายเป็นสงครามได้อีกด้วย

แน่นอนว่า ชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วโลก คงไม่แฮปปี้กับการลงสนามในสนธิสัญญาระหว่างสเปนกับโปรตุเกส ครั้งนี้สักเท่าไหร่ แต่การลงนามในครั้งนี้ก็แสดงให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการแข่งขันระหว่างทั้งสองชาติ มันเริ่มขึ้นตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนแล้ว แต่มันก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตรงนั้นแต่อย่างใด

สหภาพไอบีเรีย – ความพยายามเป็นหนึ่งเดียวที่ก่อให้เกิดรอยร้าวครั้งใหญ่

ความสัมพันธ์ของสเปนกับโปรตุเกส เป็นไปในเชิงเพื่อนบ้านและคู่แข่งขันยาวนานเรื่อยมาอีกนับร้อยปี จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 16 โปรตุเกสก็อ่อนแอลงจากสภาวะสงครามกลางเมืองและปัญหาภายใน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการสืบราชบัลลังก์

เหตุดังกล่าวส่งผลให้สเปนเข้ามายึดครองโปรตุเกส นับตั้งแต่การเสียชีวิตของกษัตริย์เฮนรีแห่งโปรตุเกส ในวันที่ 31 มกราคม 1580 พระเจ้าเฮนรีทรงขาดรัชทายาทและการสวรรคตของพระองค์ทำให้เกิดวิกฤตการสืบราชสันตติวงศ์

หลังจากชัยชนะของสเปนในสงครามสืบราชบัลลังก์โปรตุเกสของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน ก็ได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์ของโปรตุเกสในปี 1581 โดยนั่นเป็นการเริ่มต้นการรวมตัวกันระหว่างสองประเทศ ที่ต่อมารู้จักกันในนาม ‘สหภาพไอบีเรีย’

แน่นอนว่าการเข้ามามีอำนาจของสเปน ไม่ได้สร้างความยินดีปรีดาแก่ชาวโปรตุเกสสักเท่าไหร่ และในเวลาอีกเพียงแค่ 60 ปี ต่อมา ในปี 1640 สหภาพไอบีเรียก็ต้องมาถึงจุดแตกหัก จากความพยายามใน ‘สงครามฟื้นฟูเอกราชของโปรตุเกส’ สงครามดังสงครามดังกล่าวกินเวลาเกือบ 30 ปี ก่อนไปสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในปี 1668 หลังสเปนยอมลงนามในสนธิสัญญาในลิสบอน และถอนกำลังออกจากโปรตุเกส ส่งผลให้ราชวงศ์บรากังซาได้ขึ้นมาปกครองโปรตุเกสหลังจากนั้น

จวบจนปัจจุบันก็ไม่มีการรวมกันระหว่างโปรตุเกสและสเปนอีกเลย แต่สงครามที่ยาวนานระหว่างทั้งสองชาติที่เกิดขึ้น ได้หลงเหลือไว้แต่ความรู้สึกเกลียดชังและความรู้สึกในด้านลบที่ถูกฝังลงไปลึกยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับประชาชนที่เกิดมาร่วมยุคสมัยนั้นเท่านั้น

สงครามคาบสมุทร – เหตุการณ์ที่เป็นชนวนในการเปลี่ยนโฉมหน้าของภูมิภาค

หลังจบเหตุการณ์สหภาพไอบีเรีย ความไว้ใจกันระหว่างทั้งสองประเภทก็ยังไม่กลับมาสูงอย่างที่ควรจะเป็น แต่เนื่องจากเป็นชาติบ้านใกล้เรือนเคียง ความจำเป็นทางภูมิศาสตร์บังคับให้ทั้งคู่ต้องเดินหน้าทำการค้าและแลกเปลี่ยนติดต่อกันตามจำเป็น โดยเฉพาะในฝั่งของประชาชนที่ต้องไปมาหาสู่กันเป็นปกติ เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวที่เกิดขึ้นสมัยสงครามฟื้นฟูเอกราชของโปรตุเกสก็กลายเป็นเพียงเรื่องราวในอดีต

จนกระทั่งสงครามครั้งใหม่เกิดขึ้นช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียน โบนาปาร์ต กรีธาทัพเข้าสู่คาบสมุทรไอบีเรีย นี่จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่จะได้เห็นความร่วมมือกันของสเปนและโปรตุเกส และยังมีสหราชอาณาจักรคอยเป็นแบ็กหนุนหลังให้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงของสงครามในปี 1807 เป็นช่วงที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไหร่ เพราะทางสเปนเป็นฝ่ายที่ยอมให้นายพลฌ็อง-อ็องด็อชแห่งฝรั่งเศสยืมทหารส่วนหนึ่งเพื่อเข้ารุกรานและยึดครองโปรตุเกสในปลายปี 1807 แต่เมื่อยกทัพไปถึงยังกรุงลิสบอนในวันที่ 30 พฤศจิกายน ก็ต้องพบว่าเจ้าชายชูเอาแห่งบรากังซา และพระนางเจ้ามารีอาผู้สำเร็จราชการแห่งโปรตุเกส ได้ทรงพาพระราชวงศ์ ขุนนาง กองเรือรบโปรตุเกส และกองเรือสินค้าทั้งหมดอพยพไปยังอาณานิคมบราซิลก่อนแล้ว เหลือไว้เพียงประชาชนไว้ในกรุงลิสบอนเท่านั้น

หลังยึดครองโปรตุเกสได้ไม่นาน ฝรั่งเศสก็ถอนกำลังออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1808 และหันไปโจมตีสเปนแทน โดยฝรั่งเศสสามารถยึดบาร์เซโลนาได้ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ปีนั้น

อย่างไรก็ตาม กองทัพสเปนที่มีทหารกว่าแสนนายยังอยู่ในภาวะอัมพาต เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งด้านการเมืองภายในประเทศทำให้ทหารอยู่ในภาวะขาดผู้นำ สามสัปดาห์ต่อมา การลุกฮือของประชาชนทำให้ในวันที่ 19 มีนาคม พระเจ้าการ์โลสที่ 4 ทรงยินยอมมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าชายเฟอร์ดินานด์ พระราชโอรสของพระองค์

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของสเปนไม่ได้ดีขึ้น เมื่อกองพลของฌออาแซ็ง-นโปเลียน มูร์รา หรือจ๊อคชิม มูรัทจากทางฝรั่งเศส เข้ามาระงับความวุ่นวายในสเปน พร้อมกับการถอดพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 ออกจากราชสมบัติ

อังกฤษซึ่งต่อต้านนโปเลียนอยู่เดิมแล้วนั้น เมื่อเห็นว่าชาวสเปนไม่ยอมรับการปกครองของนโปเลียน จึงมองว่าพวกเขามีความชอบธรรมและเริ่มที่จะแสวงหาพันธมิตร จึงเข้ามามีส่วนในสงครามครั้งนี้โดยการประกาศสงครามกับนโปเลียน และกว่าสงครามครั้งนี้จะรู้ผลก็มีการรบยืดเยื้อไปถึงสงครามประสานมิตรครั้งที่ 6 ที่มีการร่วมมือจากหลายชาติพันธมิตร รวมทั้ง สเปนและโปรตุเกสเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสของนโปเลียนลงในปี 1814

และนี่เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงการจับมือช่วยเหลือกันในยามจำเป็นหรือสถานการณ์บังคับ ระหว่าง โปรตุเกสและสเปน ซึ่งแม้ทั้งคู่ดูจะเหมือนไม่เต็มใจช่วยเหลือกันเท่าไหร่ก็ตาม…

ปฏิวัติคาร์เนชัน – ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก่อนถึงยุคปัจจุบัน

การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้เราได้เห็นอะไรคล้ายๆ กันจากชาติทั้งสองอีกครั้ง ด้วยการก้าวไปสู่การปกครองระบอบเผด็จการและชาตินิยมแบบเอียงขวาที่เกิดขึ้นแบบคล้ายคลึงกันในสองประเทศ

โดยเป็นทางโปรตุเกสเริ่มก่อนด้วยการมาของอันโตนิโอ เด โอลิเวรา ซาลาซาร์ ที่เปลี่ยนโปรตุเกสให้เป็นเอสตาโด นูโว (Estado Novo) หรือประเทศใหม่ ขณะที่นายพล ฟรานซิสโก ฟรังโกแห่งสเปน ก็ขึ้นมาเถลิงอำนาจแบบที่เราเรียนรู้กันจากประวัติศาสตร์

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และเป็นการมาถึงของหนึ่งในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่โด่งดังระดับโลกนั่นคือ ‘การปฏิวัติคาร์เนชัน’ ที่บรรดาทหารและประชาชนทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีมาร์เซโล แคทาโน (Marcelo Caetano) และยึดอำนาจกลับมาได้สำเร็จ นับเป็นการรัฐประหารแบบสันติที่มีผู้เสียชีวิตเพียงสี่คน ส่งผลให้โปรตุเกสเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสังคมนิยมฟาสซิสต์เป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 1976

ปฏิวัติคาร์เนชันเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สเปนกลายเป็นประเทศที่โดดเดี่ยว เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่ยังคงปกครองแบบฟาสซิสต์ในตอนนั้น จนกระทั่งในปีต่อมานายพลฟรังโกถึงแก่อสัญกรรม สเปนกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง

โดยหลังจากประชาชนของทั้งสองประเทศได้อำนาจอธิปไตยของตัวเองกลับคืนมา ทั้งสองได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างสเปนและโปรตุเกสในปี 1977 แทนที่สนธิสัญญาไอบีเรียซึ่งลงนามในปี 1939 ในขณะที่ทั้งสองประเทศเป็นเผด็จการ

ซึ่งนั้นถือเป็นการกลับมายืนร่วมกันในโลกสมัยใหม่ในฐานะพันธมิตรกันอีกครั้งของทั้งคู่ด้วย

ปัจจุบันของความขัดแย้ง – ความเป็นทั้งคู่รักและคู่แค้นของทั้งสองชาติ

ปัจจุบันในทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกว่าที่เคย ด้วยการเป็นสมาชิกร่วมของสหภาพยุโรปและนาโต้ มีการวางแผนการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงระหว่างลิสบอนและมาดริด นอกจากนี้ทั้งสองชาติยังมีความร่วมมือกันอย่างดีในระดับทวิภาคีเรื่องอื่นๆ อีกมากและประชากรของทั้งสองชาติเองก็ดูเป็นมิตรที่ต่อกัน…แต่ไม่ใช่กับฟุตบอล

ทุกครั้งที่มีการแข่งขัน ระหว่างทีมชาติของทั้งสองในกีฬาฟุตบอล ความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งประชาชนทั้งสองชาติจะถูกลืมไปชั่วคราว และสามารถก่นด่าฝ่ายตรงข้ามราวกับว่าไม่ถูกกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน

ความคับแค้นใจ ไม่พอใจ และไม่ถูกใจต่างๆ จะถูกเอามาโยนไว้ใน 90 นาทีของการแข่งขันฟุตบอล อันเปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรี แต่เคราะห์ดี ที่การเจอกันของสองอริคู่นี้ แฟนๆ มักไม่ค่อยจะมีเรื่องที่เลยเถิดออกไปมากกว่าแค่การเชียร์ในเกม

หากจะเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ หากเป็นเรื่องอื่นๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากที่ชาวสแปนิชหรือชาวโปรตุกีส จะยอมรับอีกฝ่ายว่าเป็น ‘บ้านพี่เมืองน้อง’ แต่ถ้าเป็นฟุตบอลแล้ว คำถามที่กลับมาคงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า ‘ใครพี่ ใครน้อง’ แน่นอน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save