fbpx

The Last Scala: ‘เมืองทองรามา’ จากรุ่งเรืองถึงโรยราของโรงหนังสแตนด์อโลนสิงห์บุรี

1

ยินดีต้อนรับสู่ ‘สกาลา’ แห่งสุดท้ายในไทย

‘เมืองทองรามา’ (1 hr 35 min) 

คือโลเคชันที่พลขับปักหมุดไว้เป็นปลายทาง รถกำลังพาเราแล่นฉิวไปตามเส้นทางถนนกาญจนาภิเษก-วงแหวนตะวันตก มุ่งหน้าไปตามถนนสายเอเชีย ข้ามผ่านจังหวัดอยุธยาและอ่างทอง ด้วยระยะเวลาไม่เกินสองชั่วโมงจากกรุงเทพมหานคร เราก็เข้าสู่พื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีอย่างเป็นทางการ

สิงห์บุรีเป็นจังหวัดเล็กๆ ด้วยพื้นที่ในตัวเมืองเพียง 114 ตารางกิโลเมตร และจำนวนประชากรที่ไม่แออัดเบียดเสียดเท่ามหานครที่เราจากมา ทำให้การเดินทางภายในจังหวัดจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งจึงใช้เวลาไม่นานนัก เพียงอึดใจเดียวหลังจากเราผ่านป้ายขนาดใหญ่ที่เขียนว่า ยินดีต้อนรับสู่จังหวัดสิงห์บุรี  ขับรถต่ออีกไม่กี่นาที อาคารของ ‘โรงภาพยนตร์เมืองทองรามา’ โรงหนังสแตนด์อโลนในตำนานอันเป็นเหตุผลที่เรามาเยือนถึงถิ่นเมืองสิงห์ก็ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า

เหลือแค่เพียงเศษซาก คงไม่เกินเลยนักที่จะใช้คำพูดนี้ เพราะด้วยรอยด่างดำและสนิมเขรอะตามตัวตึกทั้งหลังเป็นเหมือนประจักษ์พยานการสู้รบกับลมฝนมาตลอดหลายสิบปี ทั้งสีครีมของผนังหน้าตึกที่ลอกและจางลงไปตามกาลเวลา ฝุ่นเกาะอยู่แทบทุกตารางนิ้ว บันไดทางขึ้นอาคารถูกกั้นปิดไว้ด้วยกระดานไม้ขนาดใหญ่ ภายในดูคล้ายจะกลายเป็นห้องเก็บของเสียมากกว่าเป็นที่ฉายหนัง กระทั่งประตูทุกหนแห่งก็ปิดตายไร้ทางเข้า จะมีก็เพียงป้ายตัวอักษรเก่าเก็บขนาดมหึมาที่เขียนว่า เมืองทองรามา และ สกาลา เท่านั้น ที่บ่งบอกว่าเรามาเยือนถึงจุดหมายที่ต้องการแน่นอนแล้ว – สกาลาแห่งสิงห์บุรี

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว โรงหนังสแตนด์อโลน (stand alone) หรือโรงภาพยนตร์เดี่ยวที่ตั้งอยู่อย่างโดดๆ เช่นนี้เคยได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งยังทำให้เกิดอาชีพมากมายที่เกี่ยวพันกับภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นคนขายตั๋ว คนพากย์หนัง คนเขียนป้าย รถแห่โฆษณา คนวิ่งหนัง ไปจนถึงสายส่งต่างๆ ก่อนที่วันเวลา ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี และวัฒนธรรมการดูหนังของผู้คนจะเปลี่ยนไป จนส่งผลให้รูปแบบของโรงภาพยนตร์เปลี่ยนตาม กลายเป็นโรงภาพยนตร์ในศูนย์การค้าที่มาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้ามาแทนที่ นับแต่นั้น บทบาทของโรงหนังสแตนด์อโลนจึงค่อยๆ เลือนหายไป จนผู้คนต่างหลงลืมอดีตที่เคยรุ่งเรืองนี้กันไปโดยปริยาย

เมื่อเอ่ยถึงสกาลาก็อาจพาให้เราหวนนึกถึงโรงหนังสกาลาที่กรุงเทพฯ โรงภาพยนตร์แสตนด์อโลนเก่าแก่ย่านปทุมวัน (ที่ตอนนี้ตัวตึกไม่เหลือแม้แต่เศษซากแบบ ‘สกาลาสิงห์บุรี’ ตรงหน้าเรานี้) และหากจะไปไกลตัวสักหน่อย แน่นอนว่าสกาลาอีกหนึ่งแห่งย่อมเป็น เตอาโตร อัลลา สกาลา (Teatro alla Scala) หรือโรงอุปรากร ‘ลา สกาลา’ อันแสนโด่งดังในประเทศอิตาลี อันเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมโรงหนังสกาลาในประเทศไทย

ถึงจะไม่มีความเกี่ยวดองกันฉันเครือญาติอย่างแท้จริง แต่โรงหนังเมืองทองรามาแห่งนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นพี่น้องของโรงภาพยนตร์สกาลาที่ซ่อนตัวอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรี และยังคงมีลมหายใจรวยริน ในขณะพี่คนรองอย่างโรงหนังสกาลาที่กรุงเทพฯ ได้ปิดตัวลงและโดนทุบทิ้งจนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

และแม้จะเยาว์วัยเกินกว่าจะเคยเห็นภาพสกาลาสิงห์บุรีในยุครุ่งเรือง แต่ภาพตึกคอนกรีตขนาดมโหฬารตรงหน้าที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่อ้างอิงมาจากพี่คนโต – ลา สกาลาแห่งอิตาลี ก็สวยงามตระการตาสมฉายานามอย่างที่ฝุ่นและรอยสนิมปิดไม่มิด จนอดจินตนาการไม่ได้ว่า ‘สกาลาสิงห์บุรี’ เมื่อครั้งสมัยยังเปิดกิจการและมีชีวิตชีวากว่าตอนนี้จะอลังการถึงเพียงไหน

ในบรรดาสองพี่น้องสกาลาแห่งเมืองไทย โรงภาพยนตร์สกาลาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นราชาโรงหนังย่านสยามสแควร์เป็นโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ (พีรามิด) ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2512 และปิดตัวลงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้นทุนการดำเนินกิจการที่สูงขึ้น ก่อนจะถูกรื้อถอนในปี 2564 ท่ามกลางเสียงคัดค้านถึงการมองว่าโรงหนังแห่งนี้เป็นมากกว่าตึกคอนกรีตสูงใหญ่ แต่ยังรวบรวมไว้ซึ่งคุณค่าทางจิตใจที่มากเกินจะประเมินได้

สำหรับสกาลาสิงห์บุรีแห่งนี้ สิ่งที่เรารู้เพียงคร่าวๆ ก่อนมาถึงคือโรงหนังเมืองทองรามาสร้างขึ้นในปี 2521 หรือกว่า 45 ปีที่แล้ว จึงเป็นอันแน่นอนว่า กลุ่มคนในช่วงวัยตั้งแต่เจนวายเป็นต้นมาคงไม่มีโอกาสได้ใช้บริการหรือแม้แต่จะมีเศษเสี้ยวความทรงจำเมื่อครั้งโรงหนังแห่งนี้ยังเปิดให้บริการ เพราะสำหรับคนในจังหวัดสิงห์บุรีหลายคน ครั้งเมื่อเติบโตเป็นเด็กที่พอจะรู้ความขึ้นมาบ้าง เมืองทองรามาแห่งนี้ก็แปรสภาพกลายเป็นตึกขนาดใหญ่ที่มีชีวิตอยู่แค่เพียงในคำบอกเล่าของพ่อแม่หรือคนเฒ่าคนแก่ในครอบครัวไปเสียแล้ว

2

ย้อนวันวานผ่านเรื่องเล่าจากม้วนฟิล์ม

‘ห้องอาหารเจริญทิพย์’ (6 min) 

ด้วยระยะทางที่ห่างกันเพียง 500 เมตร ทำให้เราเดินเท้าจากโรงหนังสกาลาสิงห์บุรีมาพูดคุยกับ ‘เฮียปอ’ อดีตเจ้าของธุรกิจภาพยนตร์เคลื่อนที่สายเหนือ และผู้ก่อตั้งเมืองทองรามา ณ ร้านอาหารใจกลางเมืองสิงห์บุรีได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

‘ห้องอาหารเจริญทิพย์’ ที่เราเดินทางมาถึง คือกิจการร้านอาหารของเฮียปอ อดีตนักเดินสายฉายหนังที่ปัจจุบันวางมือจากการหยิบจับม้วนฟิล์มมาจับตะหลิวและกระทะ ผันตัวเป็นพ่อครัวเสิร์ฟอาหารรสชาติโอชาให้ลูกค้าแทน ทว่าในวันที่เรามาเยือนห้องอาหารแห่งนี้ นับเป็นวันพิเศษที่เฮียปอจะถอดผ้ากันเปื้อนพ่อครัวออก และกลับไปสวมบทบาทเป็นนักเดินสายฉายหนังเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วอีกครั้ง

“คุยเรื่องเก่าๆ กับคนแก่ เรื่องอาจจะวกไปวนมาหน่อยนะ” กิตติพงษ์ ตั้งประกอบกิจ หรือที่รู้จักกันทั่วไปของคนในจังหวัดสิงห์บุรีในนาม ‘เฮียปอ’ กล่าวขึ้นมาพร้อมรอยยิ้ม ระหว่างที่กำลังพาเราย้อนวันวานในวันที่ ‘เมืองทองรามา’ ยังไม่เข้าสู่ห้วงนิทรารมณ์

กิตติพงษ์ ตั้งประกอบกิจ (เฮียปอ) ผู้ก่อตั้งเมืองทองรามา

ชีวิตในวงการภาพยนตร์เคลื่อนที่ของเฮียปอเริ่มต้นจากการทำงานจัดจำหน่ายภาพยนตร์ร่วมกับ ‘เอี่ยม ตั้งประกอบกิจ’ ผู้เป็นน้องชายในนามบริษัท ‘ปากน้ำโพธิ์ฟิล์ม’ ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นจังหวัดศูนย์รวมของแหล่งภาพยนตร์เคลื่อนที่สายเหนือ ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปจนถึงเชียงใหม่

เฮียปอเล่าว่า เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ก่อนที่ความบันเทิงอย่างการรับชมภาพยนต์จะเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ผู้ชมสามารถกดซื้อตั๋วได้ง่ายๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือจออิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าโรงหนังทุกแห่งแบบทุกวันนี้ สมัยนั้นถือเป็นยุคทองของ ‘หนังฟิล์ม’ พร้อมสาธยายให้เราฟังถึงความคลาสสิกของการรับชมภาพยนตร์ในอดีต ด้วยความที่ผู้ฉายหนัง เครื่องฉายฟิล์ม และฟิล์มหนัง ต่างต้องทำงานสอดประสานกันเพื่อมอบความสนุกสานให้แก่ผู้ชม

“การซื้อภาพยนตร์สมัยก่อน ถ้าเป็นฟิล์มหนัง 16 มม. เรื่องหนึ่งจะตกลงซื้อขายกันราคาถูกสุดอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาท แพงสุดอยู่ที่ประมาณ 85,000-90,000 บาท และจะฉาย 16 มม. ได้ก็ต้องมีเครื่องฉาย ลักษณะของเครื่องจะเป็นเหมือนเตาเล็กๆ เมื่อก่อนจะไปฉายหนังที่ไหนต้องหิ้วเครื่องฉายไปด้วย แต่ตอนหลังความนิยมของหนัง 16 มม. น้อยลงไปมาก และความแพร่หลายของหนัง 35 มม. เข้ามาแทน” เฮียปอตั้งใจเล่าให้เราฟังถึงความคลาสสิกในวันวานกับการชมภาพยนตร์ผ่านม้วนฟิล์ม

“ภาพยนตร์ 35 มม. ช่วงนั้นเป็นที่ฮือฮามาก ยิ่งช่วงหลังมาภาพยนตร์จากต่างประเทศเป็นฟิล์ม 35 มม. ทั้งนั้น เราจึงเก็บเครื่องฉาย 16 มม. ไว้เป็นบางส่วน แล้วเริ่มซื้อเครื่องฉายหนังฟิล์ม 35 มม. มากขึ้น จำได้เลยว่าภาพยนตร์ 35 มม. เรื่องแรกที่ซื้อคือเรื่อง ‘ไอ้ทุย’ ที่นำแสดงโดยดอกดิน กัญญามาลย์ เราซื้อมาในราคา 400,000 บาท”

ภาพยนตร์ระบบฟิล์มขนาด 16 มม. กับ 35 มม. แตกต่างกันตรงที่การฉายหนังฟิล์มขนาด 16 มม. จะเป็น ‘หนังเงียบ’ ที่ต้องมีคนทำหน้าที่คอยเปิดเสียงพากย์ให้ตรงกับปากตัวละครในระหว่างที่เรื่องราวบนหน้าจอดำเนินไป ในขณะที่หนังฟิล์มขนาด 35 มม. เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ต้องเปิดเสียงพากย์แยกจากตัวหนัง เพราะตัวละครในเรื่องสามารถเปล่งเสียงได้ด้วยตัวเองแล้ว ในตอนแรกการฉายภาพยนตร์เคลื่อนที่จะใช้ระบบฟิล์ม 16 มม. เป็นหลัก ทว่านับวันความนิยมของหนัง 35 มม. ยิ่งมากขึ้น จนในที่สุด ยุคสมัยของหนังเงียบ 16 มม. ก็เลือนลางจางหายไป

“ช่วงแรกที่ผมเดินสายฉายหนัง มีหนังฟิล์ม 16 มม. อยู่ถึง 60% ส่วนหนังฟิล์ม 35 มม. มีแค่ 40% แต่พอมาในยุค 2515-2518 มีหนังฟิล์ม 35 มม. เพิ่มขึ้นถึง 80% ส่วน 16 มม. มีอยู่ประปรายเท่านั้น” เฮียปอเสริม

แต่ยุคเรืองรองของกิจการภาพยนตร์เคลื่อนที่ ‘ปากน้ำโพธิ์ฟิล์ม’ ของเฮียปอและครอบครัวก็เริ่มต้นจากตอนนั้น เฮียปอเล่าให้เราฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า ในแวดวงบริษัทฉายหนังจังหวัดสายเหนือ ตั้งแต่อยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง นครสวรรค์ ตาก กำแพงเพชร แพร่ น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ เรื่อยไปจนถึงเชียงราย ในบรรดาถิ่นเหล่านี้ม้วนฟิล์มและเครื่องฉายหนังของเฮียปอล้วนไปเยือนมาแล้วทุกที่ ทั้งยังทำเงินได้มหาศาลจากการตีตลาดผู้ชมในพื้นที่ 

“ตอนนั้นบริษัทเราดังมากที่สิงห์บุรี ออกหนังเรื่องไหนมาก็ทำเงินทุกเรื่อง แล้วพอหนังฉายครบปีเราก็ซื้อลิขสิทธิ์เลย หนังก็จะเป็นของเรา แล้วเราก็จะเอาหนังไปขายเป็นกากฟิล์มอีกที” 

“กำไรที่เราได้จากการฉายหนังตอนนั้น ถ้าเป็นการฉายภาพยนตร์รอบแรกเราจะได้ 60% แล้วทางโรงได้ 40% ถ้าโรงหนังในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีแอร์ เขาก็จะหักแอร์เป็นกองกลางก่อน สมมติในหนึ่งวันทางโรงคิดค่าแอร์วันละ 1,500 บาท ถ้าเราฉายภาพยนตร์ได้ 10,000 บาทก็ลบ 1,500 ออกต่อวัน” 

ยิ่งนึกย้อนกลับไปในสมัยกิจการเดินสายฉายหนังกำลังทำเงิน เฮียปอยิ่งตั้งหน้าตั้งตาเล่าอย่างออกรสถึงเทคนิคการทำธุรกิจให้ได้กำไรถล่มทลาย ว่าการจะอ่านใจคนดูหนังว่าชอบภาพยนตร์แนวไหน นักแสดงคนไหนกำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง หรือควรจะลงทุนให้หนังเรื่องไหนให้ไม่ขาดทุน และทำให้หนังหลายเรื่องที่ซื้อมาขายดิบขายดี วิธีการนั้นเรียบง่ายทว่าสลักสำคัญอย่างยิ่ง คือผู้ฉายหนังต้องเอาทั้งกายและใจเข้าสื่อสารกับตลาดกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการเก็บข้อมูลเพื่อไปเสนอค่ายหนังให้ผลิตภาพยนตร์ที่โดนใจคนไทย

“ผมเข้าไปสำรวจตลาดหาข้อมูลด้วยตัวเองเลย ว่านิยายเรื่องนี้ถ้าเอามาทำเป็นภาพยนตร์จะเป็นอย่างไร ทำออกมาคนจะชอบไหม วิธีการก็คล้ายๆ ที่คนสมัยนี้เขาเรียกว่าการทำโพลนั่นแหละ” 

“เมื่อก่อนเวลานั่งรถไฟไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรทำ แต่ก่อนยังไม่มีสมาร์ตโฟน คนก็อ่านกันแต่นิยาย ไม่ก็หนังสือพิมพ์ ผมจะเดินไปดูตามรถไฟว่าเขาอ่านหนังสือหรืออ่านนิยายอะไรกันบ้าง จดว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีนิยายกี่เรื่อง ผมจะซื้อมาหนังสือพิมพ์มาทุกฉบับแล้วทำลิสต์เป็นตารางไว้ เดินถามคนทุกโบกี้เลยว่า คุณคิดว่าละครหรือนิยายเรื่องนี้ใครเล่นถึงจะเหมาะ ใครแนะนำอะไรมาเราก็จดไว้หมด”

“แล้วจากนั้นเราก็นำหนังที่สำรวจมาไปเสนอให้กับทางผู้อำนวยการสร้าง อย่างหนังเรื่อง ‘แก้วขนเหล็ก’ ผมไปเสนอให้เขาสร้าง มีอยู่สองบริษัทแย่งกันเลย และหนังเรื่องแก้วขนเหล็กตอนนั้นประสบความสำเร็จมาก เดินไปตามโรงหนังนี่ โอ้โห! หน้าโรงหนังเขายืนคอยกันเต็มหน้าโรงไปหมด” เฮียปอเล่าด้วยน้ำเสียงดังฉะฉาน และจำทุกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้ทุกจุด ราวกับเรื่องราวเหล่านี้เพิ่งเกิดไปไม่นาน

3

คู่รักรามา-สกาลาสิงห์บุรี

จากการพูดคุยกับเฮียปอนี่เองที่เฉลยให้เราได้รู้ว่า แท้จริงแล้วโรงหนัง ‘เมืองทองรามา’ หรือชื่อเล่นว่า ‘สกาลาสิงห์บุรี’ มีชื่อดั้งเดิมแรกสุดว่า ‘โรงหนังคู่รักรามา’ เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของชื่อนี้ เฮียปออธิบายว่า หลังจากร่วมดำเนินกิจการปากน้ำโพธิ์ฟิล์มกับน้องชายไปได้จนหลายๆ อย่างลงตัวและมั่นคง ระหว่างนั้นเฮียปอได้ไปคุยกับสายหนังใน 8 จังหวัดโซนปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ และได้ไปซื้อภาพยนตร์เรื่อง ‘คู่รัก’ หนังรักสไตล์ลูกทุ่ง มาเดินสายฉายในจังหวัดสายเหนือ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่พลิกชีวิตของเฮียปอและครอบครัวจากนักเดินสายฉายหนัง สู่เจ้าของโรงภาพยนตร์ไปในชั่วพริบตา

“ตอนนั้นเผอิญมีคนรู้จักกันมาเสนอขายภาพยนตร์เรื่อง ‘คู่รัก’ เขาเสนอขายราคาสูงถึงเก้าแสนบาท น้องชายก็โทรศัพท์กลับมาเล่าให้เราฟัง เรารู้เรื่องก็ตกใจว่า โอ้โห! ทำไมราคาแรงจังเลย พอไปขอต่อราคาต่ำกว่านั้นได้ไหม ผู้เสนอขายก็บอกอย่างมั่นใจว่า หนังเรื่องนี้ทำเงินได้อย่างต่ำหนึ่งล้านบาทแน่นอน คือเขาตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก สุดท้ายเจรจากันไปมาเราก็ตัดสินใจซื้อภาพยนตร์เรื่องนี้มา”

และจุดพลิกผันก็เกิดขึ้นในนาทีนั้น เมื่อทันทีที่เริ่มเดินสายฉายหนังเรื่องนี้ ปรากฏว่าภาพยนตร์เรื่อง ‘คู่รัก’ ได้รับความสนใจของประชาชนอย่างล้นหลามในชั่วข้ามคืน พุ่งทะยานทำรายได้สูงถึง 30 ล้าน และได้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดจากการเดินสายฉายหนังของเฮียปอ 

“แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ก็พลิกล็อกจริงๆ ดังแบบที่เราก็ตั้งตัวไม่ถึงเหมือนกัน ส่วนหนึ่งเพราะคู่รักเป็นภาพยนตร์สดใหม่ที่มีวัยรุ่นยุคนั้นแสดงเยอะมาก ทั้งไพโรจน์ สังวริบุตร หนุ่มหล่อที่นักศึกษาสมัยนั้นหลงใหล เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ที่ตอนนั้นดังมากๆ และอำนวยการสร้างโดย พรพจน์ กนิษฐเสน นักพากย์และผู้กำกับที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น”

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง คู่รัก (2521)

แม้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดนี้จะมาพร้อมด้วยอุปสรรคที่ในยุคนั้นประเทศไทยยังผลิตฟิล์มภาพยนตร์เองไม่ได้ และหากต้องการผลิตฟิล์มเพิ่มต้องสั่งซื้อจากฮ่องกง แต่เพื่อต่อยอดโอกาสไปให้ได้ไกลที่สุด เฮียปอจึงดั้นด้นและยอมเทหมดหน้าตักเพื่อสั่งซื้อฟิล์มมาให้เพียงพอต่อกระแสที่ฉุดไม่อยู่ของภาพยนตร์เรื่องคู่รัก

“เวลาจะสั่งฟิล์มจากฮ่องกง ถ้าอยากได้แบบด่วนเลยก็ตกประมาณก็อปปี้ละหกหมื่นบาท ถ้าไม่ด่วนก็สี่หมื่นบาท เราสั่งไปหกก๊อปปี้ ขอแบบนำเข้าด่วนภายในหนึ่งอาทิตย์ เพื่อจะได้กระจายไปฉายได้อีกสิบโรง แค่ ‘คู่รัก’ เรื่องเดียว ภายใน 3-4 เดือน เราได้รายได้จากการฉายมากถึงหลักสิบล้าน”

หลังจากทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากภาพยนตร์เรื่องคู่รัก ฉากทัศน์ในการทำธุรกิจจากม้วนฟิล์มก็เกิดขึ้น เมื่อมาวันหนึ่ง เอี่ยม-น้องชายของเฮียปอชักชวนตัวเขาให้เดินหน้าเข้าสู่วงการภาพยนตร์สแตนด์อโลนด้วยประโยคอันแสนเรียบง่ายว่า “พี่ เรามาสร้างโรงภาพยนตร์เถอะ” และวินาทีนั้นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโรงหนังคู่รักรามา-สกาลาสิงห์บุรีขึ้นมาในปี 2521

จากภาพยนตร์คู่รักที่ออกฉายช่วงต้นปี 2521 สู่โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางจังหวัดสิงห์บุรีที่เปิดตัวขึ้นในปลายปีเดียวกัน กระทั่งเมื่อตัดสินใจแน่วแน่ว่าเปิดโรงหนังสแตนด์อโลนเป็นของตัวเอง เฮียปอจึงยุติบทบาทในการเดินสายฉายหนัง และหันมาดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์เต็มตัวแทน เพราะเงินทุนจำนวนมหาศาลทำให้สามารถจ้างผู้รับเหมาที่สร้างโรงภาพยนตร์เสร็จได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึงปี และด้วยต้นทุนส่วนใหญ่ที่ได้จากหนังเรื่องคู่รัก เฮียปอจึงตัดสินใจตั้งชื่อโรงภาพยนตร์ว่า ‘โรงหนังคู่รักรามา’ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความทรงจำอันแสนรุ่งโรจน์ในครานั้น

“ในบรรดาจังหวัดสายเหนือ โรงหนังเราสวยที่สุดในยุคนั้น” เฮียปอกล่าวขึ้นพร้อมรอยยิ้มภาคภูมิใจ เมื่อเรากล่าวถึงสมญานาม ‘สกาลาสิงห์บุรี’ ของโรงหนังคู่รักรามาที่สร้างโดยนำแปลนของโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งออกแบบโดย พันเอก จิระ ศิลป์กนก อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ มาใช้เป็นหลัก

เฮียปอบอกว่า แท้จริงแล้วสไตล์การก่อสร้างแบบตะวันตกของโรงหนังเมืองทองรามาเป็นไอเดียของน้องชาย ด้วยแรงบันดาลใจที่เห็นว่าในจังหวัดสายเหนือยังไม่มีโรงหนังสไตล์นี้ ประกอบกับความชื่นชอบส่วนตัวที่รู้สึกว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสกาลานั้นสง่างาม ทั้งยังตั้งใจให้มีบันไดโค้งตามแบบฉบับยุโรป

“ที่ดินของเราอยู่ริมน้ำ น้องชายเลยมองว่าถ้าทำออกมาแบบโรงหนังสกาลาน่าจะโปร่งสวยดี และเขามองว่าจะเป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ต่างจังหวัดได้ เพราะ ณ ตอนนั้นโรงภาพยนตร์ต่างจังหวัดนอกจากจะไม่มีแอร์แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นตึกแถวที่ทำด้วยไม้หรือสังกะสีแค่นั้น”

และนอกจากจะฉายหนัง เฮียปอยังมีหน้าที่ช่วยคิดคอนเทนต์ทำการตลาดเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาดูหนังมากขึ้น ทั้งเชิญศิลปินและนักร้องที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นมาเล่นคอนเสิร์ต เช่น วงรอยัลสไปรท์ วงดิอินโนเซ้นท์ และวงมุจจลินทร์ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการโรงหนังคู่รักรามากันมากขึ้น กระทั่งช่วงแรกของการเปิดกิจการโรงหนัง เฮียปอก็ยัง ‘เล่นใหญ่’ ด้วยการจัดงานฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘ยิ้มสวัสดี’ รอบปฐมฤกษ์อย่างโอ่อ่า มีจัดงานเลี้ยง พร้อมทั้งเชิญดาราที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้นมาเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น พิศมัย วิไลศักดิ์, เยาวรัตน์ ยุกตะนันท์, อรัญญา นามวงศ์ ฯลฯ

ในฐานะคนยุคสมัยเจนซีที่คุ้นเคยกับชีวิตในยุคดิจิทัลเป็นอย่างดี เราจึงแสนสงสัยใครรู้ต่อชีวิตของผู้คนในวันวาน ครั้งสมัยที่พ่อยังเป็นหนุ่มเฮี้ยวหล่อเฟี้ยว และแม่ยังเป็นสาวสวยวัยแรกรุ่น ยิ่งเมื่อเกิดและเติบโตมาจนพอรู้ความ การดูหนังก็เข้าสู่ยุคสมัยแห่งภาพยนตร์ดิจิทัลที่ซื้อตั๋วได้สะดวกสบาย ไปจนถึงการดูหนังสตรีมมิงที่ง่ายดายเพียงปลายนิ้ว ทำให้เกิดความสงสัยว่าการดูหนังในยุคก่อนต้องใช้เงินเท่าไหร่ และนับเป็นความพิเศษแค่ไหนในการจะได้ดูหนังสักเรื่อง จึงเอ่ยปากถามเฮียปอว่า “ตอนที่เฮียปอเปิดโรงหนังคู่รักรามา ยุคนั้นค่าตั๋วหนังราคาเท่าไร”

เฮียปอยิ้มกว้างเป็นคำตอบแรก และสุดท้ายคำตอบที่ได้มายิ่งทำให้เราอดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึงชีวิตในวันวานที่ไม่อาจมีโอกาสได้ลิ้มลอง “คู่รักรามา โรงหนังแต่ละโรงบรรจุผู้ชมได้ประมาณ 30 คน ค่าตั๋วตอนนั้นถ้าเป็นหนังซาวด์แทร็กจากต่างประเทศราคาประมาณ 25 บาท ถ้าเป็นโรงธรรมดาจะมีหลายราคา ที่นั่งชั้นสูงสุด 15 บาท แถวที่ 2-4 ราคาจะไล่ลงไปเป็น 12 กับ 7 บาท แล้วก็มีแถวล่างสุดแถวเดียวที่ราคา 5 บาท และสมัยก่อนหนังเรื่องหนึ่งฉายเขากันที 2-3 ปีเลยนะ ไม่ฉายแค่ไม่กี่เดือนแบบสมัยนี้”

4

Muang Thong Rama Singburi’s End Credits

การพูดคุยกันเรื่องวันวานเก่าๆ ดูจะสร้างรอยยิ้มให้เฮียปอได้ไม่น้อย สังเกตจากน้ำเสียงอันสดใสและแววตาที่สดชื่นทุกครั้งที่เฮียปอตอบคำถามกลับมา ทั้งยังสามารถร้อยเรียงเรื่องราวออกมาได้เป็นฉากๆ ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านพ้นมากี่ปีแล้วก็ตาม ยิ่งช่วงที่เฮียปอเล่าถึงผลลัพธ์แบบพลิกล็อกของภาพยนตร์เรื่องคู่รัก ยิ่งเป็นจังหวะที่เราสัมผัสได้ถึงความสุขปะปนมาพร้อมกับเรื่องเล่าเหล่านี้

ทว่ากลิ่นอายของวันวานนั้นย่อมเบิกบานสลับอับเฉา หลังจากโรงภาพยนตร์คู่รักรามาดำเนินกิจการไปได้เพียงสองปี โรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสิงห์บุรีก็เข้าสู่สภาวะวิกฤตจากอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2523 ผสมโรงกับผลประกอบการที่ไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง และแม้จะพยายามยื้อยุดกิจการคู่รักรามาไว้จนสุดความสามารถ แต่ถึงที่สุด เฮียปอก็จำต้องตัดใจส่งต่อโรงหนังที่ประกอบร่างสร้างมากับมือขายให้กับเจ้าของคนใหม่ไป ทว่าแม้จะมีคนมารับไม้ต่อคอยดูแลสกาลาแห่งนั้นให้แล้ว แต่เส้นทางของโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งนี้ก็ไปไม่ได้ไกลกว่าเดิมเท่าไรนัก

“โรงภาพยนตร์คู่รักช่วงแรกๆ ก็ประสบความสำเร็จดี ตอนนั้นพอมาทำโรงหนังเราก็มีแนวคิดใหม่ๆ มากขึ้น มองว่าฉายแค่หนังไทยไม่พอแล้ว เพราะเรามีคู่แข่งมากขึ้นและมีทั้งหนังต่างประเทศมาฉายเยอะขึ้น”

“แต่โรงภาพยนตร์อยู่ได้ประมาณสองปีก็เกิดวิกฤตเพราะน้ำท่วม หนังที่ออกมาก็ขาดทุน 20 กว่าล้าน หนังเรื่อง ‘ยิ้มสวัสดี’ ที่เป็นหนังเรื่องแรกของเราก็ทำรายได้ดีนะ แต่ว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร กำไรน้อย ทำออกมาแล้วคนไม่ค่อยประทับใจเพราะอะไรเราก็ไม่ทราบ เพราะตอนนั้นเราก็ทำโปรโมตเยอะเหมือนเรื่องที่ผ่านๆ มา”

หน้าจอหนังที่มืดสนิทลงอย่างถาวรเป็นผลพวงจากน้ำท่วมในส่วนหนึ่ง และผลลัพธ์จากภาพยนตร์ที่ไม่ทำกำไรอีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากปัญหาจากภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้แล้ว ปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจโรงหนังคือการเลือกภาพยนตร์ให้ถูกใจคนดู เฮียปอบอกกับเราว่า สิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไประหว่างการเดินสายฉายหนังกับการทำโรงหนังสแตนด์อโลน คือด้วยความที่ช่วงดำเนินกิจการโรงหนังคู่รักรามา เฮียปอไม่ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจความต้องการของผู้ชมด้วยตัวเองเหมือนสมัยทำภาพยนตร์เคลื่อนที่ ซึ่งจุดนี้เองที่เฮียมองว่าอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้โรงหนังไปไม่ถึงฝั่งฝันอย่างที่ตั้งใจไว้

“ชื่อเรื่องหนังสำคัญมากนะครับ มันบ่งบอกถึงรสนิยมของคนดู สมัยก่อนคนจะชอบหนังสไตล์เข้าใจง่ายๆ ยกตัวอย่างชื่อเรื่อง เสือภูเขา ไอ้ทุย น้ำผึ้งพระจันทร์ เหล่านี้คือตั้งชื่อตามความหมายที่คนรู้จักหรือเข้าใจง่าย ส่วนเรื่องหมอเมืองพร้าวหรือเมืองในหมอก เรื่องเหล่านี้ทำเงินได้ไม่ดีเท่าไร อาจเป็นเพราะชื่อเรื่องไม่ดึงดูดให้คนอยากดู”

“แล้วทีนี้พอหนังออกไปแล้วน้ำท่วมก็ไม่ได้ฉาย หนังที่คิดว่าจะทำเงินได้ก็กลับไม่ได้เงิน หนังที่ไม่ได้เงินอยู่แล้วก็ขาดทุนหนักกว่าเดิม ช่วงปีแรกเราขาดทุนมาก ขาดทุนเป็นล้านๆ เพราะหนังแต่ละเรื่องเราลงทุนไปเยอะมาก เงินที่มีอยู่ 10 กว่าล้านที่เหลือก็หมดไปเรื่อยๆ พอเกิดวิกฤตหนักก็เลยต้องไปกู้เงินมาซื้อโรงหนังคืน แต่ต่อมาก็ขาดทุนอีก เลยต้องตัดใจเลิกกิจการแล้วไปลุยทำงานร้านอาหารของครอบครัวแทน ส่วนโรงหนังก็ถูกนำไปขายให้คนอื่น เจ้าของคนใหม่ดำเนินกิจการต่อได้แค่สองปี จากนั้นก็ปิดตัวไปอย่างถาวร” เฮียบอกเล่าเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำและเบาลงต่างจากความสดใสเมื่อช่วงก่อนหน้า

เมื่อกระแสความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกรากพัดพาช่วงเวลาอันโชติช่วงของคู่รักรามาให้หลับใหลไปกับกาลเวลา กระทั่งรู้ตัวอีกที โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนในตำนานของจังหวัดสิงห์บุรีแห่งนี้ก็ดำเนินกิจการได้แค่เพียงในความทรงจำของเฮียปอไปเสียแล้ว

“โรงหนังหมดสัญญาไปนานแล้ว เท่ากับว่าไม่ได้เป็นโรงหนังของใครแล้ว เอกสิทธิ์จึงเป็นของเจ้าของที่ดิน ซึ่งตอนนี้เจ้าของที่ดินคนก่อนก็เสียชีวิตไปแล้ว แม้เจ้าของเขาจะส่งต่อให้ลูก แต่ลูกเขาก็ไม่ได้ชอบทางสายนี้ ไม่ได้อยากทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ เจ้าของที่ตอนนี้ก็เลยไม่ได้ดำเนินกิจการต่อ และที่เห็นถูกปล่อยทิ้งไว้แบบนี้เพราะถ้าจะทุบทิ้ง คุณก็ต้องเสียเงินค่าทุบ เขาจึงปล่อยโรงหนังทิ้งร้างไว้”

นับแต่นั้น เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่กลิ่นอายแห่งวันวานของโรงหนังคู่รักรามาจางหายไป พร้อมๆ กับยุคเรืองรองของคาราวานหนังเคลื่อนที่และโรงหนังสแตนด์อโลนที่จบลงไปแล้วเช่นเดียวกัน จนถึงตอนนี้ ‘สกาลาสิงห์บุรี’ จึงหลงเหลืออยู่เพียงภาพของตึกสูงใหญ่สไตล์ยุโรปอันเก่าแก่ให้เห็นต่างหน้าเพียงเท่านั้น

5

ยุคโรยราของโรงหนังแสตนด์อโลน

ช่วงชีวิตในวัยเด็กของเฮียปอเรียกได้ว่าแทบจะเติบโตมากับธุรกิจภาพยนตร์ ทั้งหนังกลางแปลง ภาพยนตร์เคลื่อนที่ ไปจนถึงโรงหนังสแตนด์อโลน ตลอดระยะเวลาหลายชั่วโมงที่พูดคุยกับเฮียปอ บทสนทนาที่โต้ตอบระหว่างกันนั้นเต็มไปด้วยแพสชันต่อตัวม้วนฟิล์มที่มาพร้อมกับน้ำเสียงและแววตาเสมอ “ตอนที่ผมยังเด็กๆ พี่ชายก็ทำงานที่โรงภาพยนตร์อยู่แล้ว เวลามีการฉายหนังเราก็ไปช่วยเขาบ้าง ไปดูเขาวาดภาพทำโปสเตอร์บ้าง บางครั้งวันเสาร์อาทิตย์เราก็ไปช่วยพี่ๆ ขายตั๋วด้วย” เฮียปอเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงชีวิตในวันเด็กของตน

กระทั่งคืนวันผันผ่าน กาลเวลาย่อมนำพาความเปลี่ยนแปลงมาให้ทุกคนและทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าพวกเขาหรือพวกมันเหล่านั้นจะปรารถนาหรือไม่ก็ตาม จากจอหนังกลางแปลง พลิกแพลงสู่ม้วนฟิล์ม 16 มม. และ 35 มม. จนถึงที่สุด ยุคสมัยแห่งหนังดิจิทัลก็ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ในปัจจุบันโรงหนังแบบสแตนด์อโลนกลับกลายเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่เด็กๆ ยุคใหม่อาจไม่คุ้นชินนัก กระทั่งถึงวันที่โรงภาพยนตร์รูปแบบดังกล่าวกลายเป็นเพียงตึกร้างไร้ชีวิตชีวาที่คนเดินผ่านไปมาโดยไม่สนใจมอง หรือที่น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้น คือโรงหนังสแตนด์อโลนหลายต่อหลายแห่งถูกทุบทิ้งจนไม่หลงเหลือแม้แต่เศษซาก กลายเป็นตะกอนความทรงจำของคนบางรุ่น

แม้ใจจริงเราจะอยากพูดคุยกับทั้งพี่ชายและน้องชายของเฮียปอ ที่ร่วมกันปลุกปั้นกิจการภาพยนตร์มาด้วยกันตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ทว่าเราคงไม่อาจได้รับโอกาสนั้น เพราะเฮียปอบอกเราว่าในวันนี้ทั้งสองคนได้จากโลกนี้อย่างไม่มีวันหวนกลับไปนานหลายปี เช่นนั้นแล้ว จึงเท่ากับว่า ณ ตอนนี้มีเพียงแต่เฮียปอเท่านั้นที่ผูกขาดความทรงจำในคืนวันที่สกาลาสิงห์บุรียังมีชีวิต

เมื่อถามเฮียปอตามตรงว่าจากเหตุการณ์ที่โรงหนังสกาลา กรุงเทพฯ โดนทุบทิ้งจนไม่เหลือชิ้นดี เฮียปอมีความกังวลหรือไม่ว่าสักวันหนึ่งสกาลาสิงห์บุรีแห่งนี้อาจเหลือแค่เพียงชื่อให้ได้จดจำเท่านั้น เมื่อจบประโยคที่ถามไป เฮียปอนิ่งไปเล็กน้อย คิ้วขมวดเป็นปมเข้าหากันชั่วครู่ ก่อนจะตอบเรามาพร้อมรอยยิ้มเบาบางว่า “จะว่าไปผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย แต่ถ้าจะโดนทุบจริงๆ ผมก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากจะจำเรื่องราวทั้งหมดไว้ ผมจะไม่ลืมเรื่องในอดีต เพียงแต่ผมจะไม่เก็บมาคิดมาก ชีวิตก็คงต้องดำเนินไปข้างหน้าต่อไป” 

และก็เป็นจริงอย่างที่เฮียปอว่า เมื่อความฝันที่วาดไว้สลายลงไปพร้อมกับโรงหนังคู่รักรามาที่ปิดตัวลง ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน เฮียปอจึงผันตัวมาเป็นพ่อครัวรับช่วงต่อกิจการห้องอาหารเจริญทิพย์ต่อจากครอบครัว และยังคงรับหน้าที่ปรุงอาหารทุกจานอยู่หน้าเตาให้ที่คนแวะเวียนมาเยือนด้วยตัวเอง และเมื่อไรที่คิดถึงวันวานอันหวานชื่น ด้วยเส้นทางที่ห่างกันไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตรจากห้องอาหารไปโรงหนังคู่รักรามา ทำให้เฮียปอและสกาลาสิงห์บุรีไม่เคยห่างเหินกันไปไหนไกล ทั้งด้านระยะทางและความทรงจำที่มีร่วมกัน

แม้ตัวซากอาคารอันโอ่อ่าอันเต็มไปด้วยฝุ่นหนาเตอะนี้จะเป็นหลักฐานที่บ่งบอกอย่างเด่นชัดว่า ‘คู่รักรามา’ หรือ ‘สกาลาสิงห์บุรี’ ที่ครั้งหนึ่งเคยงดงามและรุ่งโรจน์นั้นได้ตายจากไปนานแล้ว ทว่าเรื่องเล่าของผู้คนที่ยังอยู่จะยังคงทำหน้าที่เสมือนเป็นสารถีพาเราย้อนกลับไปสู่วันวานที่ไม่อาจหวนคืนมาเป็นครั้งที่สอง

และแม้โรงภาพยนตร์สกาลาสิงห์บุรีจะไม่ได้โด่งดังมากพอจะทำให้หลายคนรู้จักได้เหมือนกับสกาลาแห่งอื่น ทว่าสำหรับชาวสิงห์บุรีที่มีช่วงชีวิตทันเห็นคืนวันอันรุ่งโรจน์ไปจนถึงค่ำคืนอันร่วงโรยของโรงหนังแห่งนี้ ในเสี้ยวความทรงจำส่วนหนึ่งของคนสิงห์บุรีที่มีต่อ ‘คู่รักรามา’ โรงหนังสกาลาเก่าแก่แห่งสุดท้ายของสิงห์บุรี คือสัญลักษณ์ของความบันเทิงแห่งยุคสมัยที่เหลือเพียงแห่งเดียวจากอดีตที่มี แม้สิงห์บุรีจะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่หนึ่งในความภาคภูมิใจของคนที่มีความทรงจำโดยตรงต่อโรงหนังแห่งนี้ ไม่ว่าจะในฐานะคนเคยใช้บริการ แค่เคยเดินผ่านสมัยยังเปิดกิจการ ไปจนถึงความรู้สึกของผู้ก่อตั้งโรงหนังแห่งนี้ คือการที่ครั้งหนึ่งสิงห์บุรีเคยมีโรงหนังที่โก้และใหญ่ที่สุดในเส้นทางสายเหนือ ด้วยตัวอาคารที่มีความเก่าแก่แต่ยังคงเสน่ห์งดงามจากยุครุ่งเรืองในอดีต และประดับประดาไปด้วยการออกแบบสไตล์คลาสสิก

“ก็ให้มันอยู่ในความทรงจำ แค่เก็บเอาไว้อยู่ในใจ” เฮียปอย้ำชัดด้วยประโยคนี้อีกครั้ง คราวนี้ด้วยน้ำเสียงแน่วแน่ชัดเจน

พูดคุยกันมาจนถึงประโยคนี้ บทสนทนากับเฮียปอพลันทำให้เรานึกไปถึงประโยคที่มีคนเปรียบเปรยไว้ว่า คนวัยหนุ่มสาวมักจะพูดกันแต่เรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ส่วนคนเก่าคนแก่ก็มักจะคุยกันแต่เรื่องวันวานที่จบลงไปนานแล้ว หากเรากลับรู้สึกว่าหลายครั้งเช่นกัน ที่เป็นคนหนุ่มสาวเสียเองที่ถวิลหาการรับฟังเรื่องราวในอดีตที่ไม่มีสิทธิได้สัมผัสด้วยตัวเอง และคงเพราะด้วยเหตุผลนี้กระมัง ที่ทำให้เรารู้สึกยินดีที่อย่างน้อยก็ได้รู้ว่า โรงหนังคู่รักรามายังคงดำรงอยู่ให้ใครหลายคนผ่านมาพบเห็น เพราะแม้จะกิจการปิดตัวไปแล้วแสนนาน แต่ตึกรามสไตล์ยุโรปใจกลางเมืองสิงห์แห่งนี้จะยังเป็นเครื่องยืนยันว่าเรื่องราวทุกอย่างที่เราได้รับฟังในวันนี้ครั้งหนึ่งล้วนเคยเกิดขึ้นจริง

ถึงที่สุด เรื่องราวของเฮียปอและสกาลาสิงห์บุรีอาจหลงเหลืออยู่เพียงคำบอกเล่า และได้รับการจดจำอยู่เพียงในภาพถ่ายไม่กี่ใบ แต่สำหรับผู้คนที่มีความทรงจำร่วมกับโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนใจกลางเมืองสิงห์ เพียงเท่านี้ก็เกินพอแล้วที่จะใช้บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสกาลาแห่งนี้ กระทั่งถึงเวลาที่จำเป็นต้องปิดตายความทรงจำ เรื่องราวเหล่านี้จะเป็นเสมือนอีกฟิล์มภาพยนตร์ม้วนหนึ่งที่ยังคงถูกนำมาเปิดฉายซ้ำให้หายคิดถึงได้อยู่เสมอ

เพราะถึงอย่างไร เชื่อว่าไม่มากก็น้อย เราทุกคนย่อมมีสถานที่ในความทรงจำที่ลืมไม่ลงไม่ต่างกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save