fbpx

SCALA การตายลงของสัตว์ยักษ์ที่ชื่อว่าโรงภาพยนตร์

หนึ่งในความกังวลและข้อถกเถียงของแวดวงภาพยนตร์ไทยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคือ หลังการระบาดของโควิด ผู้คนไม่ดูหนังในโรงกันอีกแล้ว หลักฐานของข้อสังเกตนี้คือรายได้ที่ลดลงอย่างฮวบฮาบของทั้งหนังไทยหนังเทศในโรงภาพยนตร์ ที่ถ้าไม่ใช่หนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ระดับปรากฏการณ์จริงๆ ก็ยากที่จะลืมตาอ้าปาก มิพักต้องคิดถึงกำไรคืนกลับให้ผู้สร้าง การฉายโรงเปลี่ยนจากการทำเงินไปเป็นเพียงรูปแบบของการทำการตลาดเพื่อจะหาช่องทางไปต่อของหนังผ่านระบบการฉายแบบสตรีมมิงที่เติบโตอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แต่คนไม่ดูหนังในโรงแล้วจริงๆ หรือเปล่า โรงภาพยนตร์และการรับชมภาพยนตร์จอยักษ์เสื่อมมนต์ขลังลงแล้วจริงหรือ สิ่งนี้อาจตอบได้อย่างตีขลุมด้วยภาพผู้คนหอบลูกจูงหลานมาดูหนังกลางแปลงที่จัดโดยกรุงเทพมหานคร หรือภาพของการจองตั๋วกันเต็มในรอบพิเศษที่มีการลดราคาค่าตั๋ว แน่นอนว่ามันอาจอธิบายได้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างในปรากฏการณ์นั้น แต่อย่างน้อยก็ฉายให้เห็นภาพว่าการดูหนังด้วยกันในโรงภาพยนตร์บนจอยักษ์ยังไม่ได้ล้มหายตายจาก หากวัฒนธรรมการดูหนังของบ้านเรานั้นถูกทำให้บผิดรูปไปจากการขยายตัวกึ่งผูกขาดของระบบโรงภาพยนตร์ในบ้านเราที่เปลี่ยนโฉมหน้าจากโรงเดี่ยวขนาดใหญ่ที่เป็นจุดศูนย์กลางของการสร้างชุมชนรอบๆ โรงหนังขึ้นมาไปสู่โรงขนาดเล็กหลายๆ โรงที่ผูกพ่วงอยู่กับห้างสรรพสินค้า

โรงหนังสกาลากลายเป็นสัญลักษณ์ของลมหายใจสุดท้ายและความตายของวัฒนธรรมโรงหนังเดี่ยวในไทย (ที่เข้าใจว่าปัจจุบันยังคงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งทั่วประเทศ) สกาลามีความจุถึงเกือบ 1,000 ที่นั่ง เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1969

ยืนหยัดอยู่เกือบ 50 ปี หลังจากโรงหนังร่วมเครืออย่างสยามปิดตัวลงจากอุบัติเหตุไฟไหม้ระหว่างช่วงการชุมนุมเสื้อแดง และลิโด้ปิดตัวหลังหมดสัญญาเช่า (ตอนนี้ลิโด้กลับมาเปิดฉายหนังอีกครั้งด้วยผู้บริหารทีมใหม่ แต่ฉายเพียงสองวันต่อสัปดาห์และลดลงเหลือโรงเดียวจากสามโรง)  

จนปี 2020 หลังจากจุฬาฯ เจ้าของสถานที่ขึ้นค่าเช่าแบบก้าวกระโดด หลังจากการต่อรองเพื่ออย่างน้อยรักษาตัวอาคารไว้แม้โรงหนังจะปิดกิจการ สกาลาก็ถูกรื้อถอน จนเหลือเพียงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเพื่อเตรียมปรับปรุงเป็นห้างสรรพสินค้าใหม่ในท้ายที่สุด

Scala เป็นสารคดีความยาวเพียง 65 นาทีที่พาผู้ชมกลับไปสำรวจสกาลาในช่วงเวลาของการรื้อถอนบรรดาสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่โคมระย้าหน้าบันได รูปปั้นนูนต่ำที่เป็นของตกแต่ง ไปจนถึงจอ ผ้าม่าน เก้าอี้ ลำโพง หนังเป็นเพียงการจับจ้องการรื้อถอนโดยไม่มอบข้อมูลของความรุ่งเรืองในอดีตให้ ไม่ฟูมฟายกับช่วงเวลาของการต่อสู้ หรือให้ภาพกว้างใดๆ ของการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของโรงหนัง ในทางภาพ ภาพทั้งหมดที่เราเห็นคือการชำแหละศพของสัตว์ยักษ์ การเปิดกรีดปากแผลและแลดูอวัยวะภายในทีละชิ้นอย่างละเอียด สัตว์ยักษ์ซึ่งเคยสวยงามในช่วงช่วงเวลาหนึ่งบัดนี้ ร่วงโรย ตายลง และค่อยๆ เลือนไปจากโลก 

ภาพของการรื้อถอนเล่าสลับไปกับการพูดคุยกับบรรดาพนักงานในโรงหนังสกาลา ที่อยู่กันมาตั้งแต่โรงหนังยังรุ่งเรืองจวบจนวันสุดท้ายของการรื้อถอน ความพิเศษของมันคือการที่ตัวของคนทำหนังเองเป็นลูกของอดีตพนักงานโรงหนังสยาม โรงหนังพี่น้องของสกาลา ตัวคนทำเติบโตขึ้นในโรงภาพยนตร์และเป็นที่รู้จักของพนักงานหลายๆ คนที่ยังคงทำงานอยู่ 

การกลับไปถ่ายชีวิตหลังความตายของสกาลา จึงเป็นมากกว่าภาพจากระยะไกลในห้องชันสูตรพลิกศพของกาลเวลา แต่หากแต่เป็นภาพจากภายในเรือนกายของตัวสกาลาเอง มันคือการกลับไปสำรวจความทรงจำของตัวเองที่มีต่อโรงหนัง ผ่านทางผู้คนที่เธอรู้จัก และสถานที่ที่เธอคุ้นเคย 

หนังใช้เสียง voice over ของคนทำที่เล่าเรื่องของชีวิตของเธอในโรงหนังสยาม สลับกับการพูคคุยกับลุงป้าพนักงานสกาลาถึงชีวิตของพวกเขา ทั้งตอนที่ทำงานอยู่และหลังจากนี้รวมถึงไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของพ่อ และเล่าเรื่องแม่ของเธอที่เธอไม่เคยรู้จัก หนังจึงเป็นเหมือนหนังส่วนตัวมากพอๆ กับการเป็นหนังบันทึกเรื่องของโรงหนังและเป็นหนังการเมือง

หนังเล่าเรื่องส่วนตัวผ่านชีวิตของเธอเองในโรงหนังสยาม คลอไปกับการเล่าเรื่องสกาลา โรงหนังสองโรงถูกเชื่อมโยงเข้าหากันผ่านทางเสียงเล่าของเธอ ที่เปรียบเปรยห้องฉาย ออฟฟิศ จอหนัง ทางเข้า ที่นั่ง ประตู ทางเดิน หลังคา ของสองที่เข้าหากัน ความทรงจำส่วนตัวซ้อนทับกับความทรงจำส่วนรวม ในทางหนึ่งนี่อาจเป็นข้อจำกัดของการเล่าที่คนทำต้องไปยืมประสบการณ์จากสถานที่หนึ่งมาใช้ในการเล่าเรื่องอีกสถานที่หนึ่ง แต่ในอีกทางมันกลับน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง เพราะโรงหนังสยามนั้นจบชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้ระหว่างการสลายการชุมนุมเสื้อแดงในปี 2010 จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครทราบว่าใครกันแน่ที่เป็นคนวางเพลิง หากตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็มีการเหมารวมว่าเป็นพวกเสื้อแดงที่ ‘เผาบ้านเผาเมือง’ แม้ในเวลาต่อมาจะได้รับการพิสูจน์ว่าไม่จริง แต่เรื่องเล่าเผาบ้านเผาเมืองก็ได้กลายเป็นความจริงของใครหลายคนไปแล้วเรียบร้อย จุดจบของโรงหนังสยามจึงเป็นผลพวงจากความเป็นการเมืองโดยตรง จุดจบของการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยต่ออำนาจของส่วนกลาง ที่จบลงอย่างพ่ายแพ้และสูญเสีย 

จุดจบของโรงหนังสกาลาอาจจะซับซ้อนกว่านั้นในฐานะของความพ่ายแพ้ของทุนนิยมรายย่อย ต่อเจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นทุนที่ใหญ่กว่า มันเกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมของราษฎรครั้งใหม่ในปี 2020 เกิดขึ้นท่ามกลางการกลับมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ที่ในช่วงท้ายของหนังกลายเป็นเสียงซึ่งสะเทือนเลื่อนลั่นห่มคลุมซากศพของโรงหนังที่รอการทุบทำลาย สกาลากลายเป็นตัวอย่างที่พอเหมาะพอเจาะกับหนึ่งในสิ่งที่คนหนุ่มสาวเรียกร้องในปี 2020 คือความเสมอภาค การต่อต้านทุนนิยมผูกขาดกินรวบที่ร่วมมือกับรัฐบาลผเด็จการในการครอบครองประเทศ อาคารที่ได้รับรางวัลทางสถปัตยกรรม ถูกปัดตกจากการเป็นสมบัติชาติ เจ้าของพื้นที่ที่สัญญาว่าจะรักษาอาคารไว้ สุดท้ายตัดสินใจทุบทิ้ง การจบสิ้นของสกาลาจึงเป็นเหมือนเรื่องเล่าทั่วไป สิ่งใหม่เกิดขึ้น สิ่งเก่าตายไป ปลาเล็กย่อมถูกปลาใหญ่กลืนกิน เป็นเพียงความยุติธรรมของระบบคัดสรรธรรมชาติ  พูดได้อย่างง่ายๆ ตรงไปตรงมา โดยไม่ได้คิดถึงมันในแง่มุมอื่นๆ

แต่การจบสิ้นของสกาลา และชีวิตของผู้คนในนั้นชวนให้คิดถึงการจบสิ้นของวัฒนธรรมการดูหนังสำหรับมวลชนอีกด้วย 

ในฉากหนึ่งของการรื้อโรง ระหว่างถอนหมุดยึดเก้าอี้ออก มีคนพบเหรียญบาทใต้ที่นั่งไปจนถึงก้นบุหรี่ที่ตกค้างมาหลายสิบปีตั้งแต่ยุคยังสูบบุรี่ในโรงหนังได้ ในฉากนี้เอง ชวนให้หวนระลึกว่าการดูหนังเคยมีหน้าตาอีกแบบหนึ่งมาก่อน มีผู้ชมอีกแบบหนึ่งมาก่อนและสิ่งนั้นสูญดับไปนานก่อนความตายของสกาลา

เพราะภาพยนตร์นั้นเคยเป็น ‘ความบันเทิงราคาถูก’ เพื่อมวลชนมาก่อน ประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ผูกพ่วงอยู่กับสิ่งนั้น  เราอาจให้จำนวนที่นั่งในสกาล่าเป็นหลักฐานความมวลชนของมัน ตั๋วหนังที่เคยมีราคาถูก รอบฉายที่แน่นอน การดูหนังเคยเป็นเรื่องของความบันเทิงอย่างง่ายของครอบครัว ของกลุ่มเพื่อน หรือคู่รัก เข้าถึงได้จากผู้คนในทุกระดับชั้น

อย่างน้อยก็ในบ้านเรา ความบันเทิงเช่นนี้มียุคสมัยของมัน รุ่งโรจน์ไปจนร่วงโรย การดูหนังในโรงเคยต่อสู้กับยุคสมัยของโทรทัศน์ วิดีโอ หรือสตรีมมิง และแน่นอนบ่อยครั้งมันพ่ายแพ้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พ่ายแพ้คือกลไกการเข้าถึงการดูหนังที่เปลี่ยนแปลงไป การตายลงของโรงแสตนด์อโลนที่ในสมัยหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของการสร้างชุมชนโดยรอบขึ้นมา (ในหลายๆ ที่ชุมชนยังคงถูกเรียกตามชื่อของโรงหนังที่ปิดตัวไปแล้ว) การผูกโรงหนังเข้ากับห้าง การทำให้มันมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ มีรอบที่ไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อยๆ การไปดูหนังกลายเป็นเรื่องยากและแพงสำหรับผู้คนจำนวนมากของประเทศ มันถูกทำให้เป็นความหรูหราราคาแพง สำหรับผู้มีอันจะกิน เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนมารยาทของการดูหนังจากยุคสมัยของการรับชมมหรสพร่วมกันเพื่อปลดปล่อยตัวเอง ไปสู่ยุคสมัยของการสงบนิ่งเพื่อดิ่งลึก การรักษาท่าทีเพื่อให้เข้าถึงหนังได้มากที่สุด สุดท้ายทำให้การดูหนังในโรงเป็นเรื่องยากมากกว่าง่าย ผู้คนเข้าและออกโรงหนังเป็นเหมือนกิจกรรมพ่วงระหว่างการไปเดินห้าง ราคาแพงทำให้ต้องเลือกดูหนังให้คุ้มที่สุด การดูหนังแบบเก่า และชีวิตที่มีโรงหนังเป็นศูนย์กลางของชุมชนก็เสื่อมถอยลงไป

เราไม่อาจบอกได้ว่าสิ่งเก่านั้นดี สิ่งใหม่นั้นเลว และเราไม่อาจปฏิเสธความจริงว่าภาพยนตร์เป็นสินค้าในอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีเป้าหมายเพื่อทำเงินให้ได้มากที่สุด วิธีการเพียงเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเจ้าของเงินเท่านั้น ผู้คนชนชั้นแรงงานเข้าหาสิ่งที่ถูกกว่าอย่างโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ต การดูหนังกลายเป็นเรื่องของคนที่กำลังทรัพย์ มีเวลา และมีความรู้มากพอที่จะซื้อตั๋วผ่านช่องทางจำนวนมากที่เต็มไปด้วยความสับสนของการกดหน้าจอ แลกแต้มโปรโมชัน และพร้อมจะขึ้นราคาเมื่อหนังน่าจะทำกำไร ไล่หนังเล็กๆ ที่ต้องอาศัยปากต่อปาก ไปอยู่รอบที่ผู้คนแทบมาดูไม่ได้ 

ชุมชนคนสกาลาเลยกลายเป็นภาพแทนสุดท้ายของการดูหนังแบบเก่า ผู้คนแบบเก่าที่ยังดูหนังอยู่ ความผูกพันแบบคนต่อคนระหว่างผู้ชมกับพนักงานขายตั๋ว ขายป็อปคอร์น พี่สูทเหลืองเดินตั๋ว รอบที่แน่นอนรายสัปดาห์ และราคาค่าตั๋วที่เป็นมิตร ไปดูหนังเพื่อไปดูหนัง ความสนิทสนมนับพี่นับน้องของชุมชนที่ถูกสร้างขึ้นจาการมารวมตัวกันในโรงภาพยนตร์ การเฝ้าสังเกตการพูดคุยกันของบรรดาพนักงานด้วยกันเอง ไปจนถึงพ่อค้าแม่ขายโดยรอบ ที่เกือบทั้งหมดเป็นคนชนชั้นแรงงาน  กลายเป็นการบันทึกถึงชีวิตบรรดาคนร่วงสมัย ที่โรงหนังแบบที่เขารู้จัก ชุมชนที่เขาคุ้นเคยนั้นไม่มีอยู่อีกแล้ว ไม่ต่างอะไรจากบรรดาแมวจรที่หนังมักจับจ้องอย่างอ่อนโยนตลอดทั้งเรื่อง

เราไม่อาจบอกได้ว่า วัฒนธรรมการดูหนังแบบเก่า ดีกว่าวัฒนธรรมแบบใหม่ หรือนายทุนน้อยใจดีกว่านายทุนใหญ่ ในการเฝ้ามองการชำแหละเรือนกายของสกาลา กลายเป็นเพียงการชันสูตรหาสาเหตุการตายลงของวัฒนธรรม ‘การดูหนัง’ แบบหนึ่งที่ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมของ ‘มวลชน’ อีกต่อไป สัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ถูกทำลายลง และเปลี่ยนตัวเองเป็นสัตว์เลี้ยงน่ารักสำหรับคนที่มีปัญญาจะจ่ายค่าอาหารในราคาแพง ปรับตัวได้ดีกว่าในโลกทุนนิยมผูกขาดที่แห้งแล้งนี้ 

Scala จึงเป็นสารคดีของการรำลึกอดีตและจดจำความตายและบันทึกเอาความสิ้นหวังและความหวังของสังคมเอาไว้ผ่านเรื่องที่เป็นความทรงจำส่วนบุคคลได้อย่างงดงาม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save