fbpx
‘แกะดำ’ กับความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่

‘แกะดำ’ กับความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

คอหนังในวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักสตูดิโอ Pixar ที่ Steve Jobs เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง จากสตูดิโอเล็กๆ กลายเป็นเจ้าแห่งอนิเมชั่นผู้ปฏิวัติวงการการ์ตูนครั้งยิ่งใหญ่ ได้รับ Academy Awards 19 รางวัล, Golden Globe 8 รางวัล, Grammy 11 รางวัลอด้วยผลงานอย่าง Toy Story, Finding Nemo, The Incredibles และอื่นๆ อีกมาก

แต่หนทางของสตูดิโอนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะถ้าย้อนไปในช่วงที่ Pixar กำลังเป็นดาวรุ่งในวงการทำอนิเมชั่น ภายหลังความสำเร็จของผลงานยอดฮิตอย่าง Toy Story พวกเขาต้องเผชิญโจทย์มหาหินในการทำการ์ตูนเรื่องใหม่คือ The Incredibles ซึ่งเป็นแนวซูเปอร์ฮีโร่ที่สตูดิโอไม่เคยทำมาก่อน และกำกับโดยนาย Brad Bird ผู้กำกับคนใหม่ที่บริษัทจ้างเข้ามา

 

เส้นผมบังภูเขา

 

จุดที่ยากที่สุดของโปรเจ็กต์ใหญ่นี้ เป็นจุดเล็กอย่างไม่น่าเชื่อ คือหนึ่งในคาแรคเตอร์หลักชื่อ ไวโอเล็ต (Violet) ผู้หญิงวัยรุ่นขี้อายที่มีผมยาวปิดหน้าและต้องคอยสะบัดผมตลอดเวลา แต่ในสมัยนั้นคอมพิวเตอร์กราฟฟิคยังไม่สามารถทำ ‘ผม’ ให้ออกมาสมจริงและเป็นธรรมชาติได้ ผู้เชี่ยวชาญต่างให้ความเห็นว่าหากจะทำให้ดี อาจต้องใช้งบถึงหลายร้อยล้านดอลลาร์ และใช้เวลาอีก 10 ปี

จะยอมแพ้และเลือกตัดผมของไวโอเล็ตดีไหมนี่คือคำถามที่ทีมงานต้องเลือก คำตอบของนาย Brad คือ “ไม่” เขาเลือกเดินหน้าต่อโดยบอกว่าเราต้องหาวิธีนอกกรอบเพื่อฝ่าทางตันนี้ให้ได้ ซึ่งสิ่งที่เขาทำคือการไปรวบรวม ‘แกะดำ’ ในบริษัทมาใส่ที โดยแกะดำในที่นี้ หมายถึงคนที่ไม่ค่อยพอใจกับสถานะปัจจุบันของบริษัท คนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกภายในทีมตนเอง เพราะมีมุมมองที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่หรือมีไอเดียที่อาจไม่ได้รับการยอมรับ

นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่เสี่ยงมาก เนื่องจาก Brad เองก็เพิ่งเข้ามาใหม่ และเขาเองก็เคยโดนไล่ออกมาจาก Walt Disney จึงอาจเรียกได้ว่าเขาเองก็เป็นแกะดำเช่นกัน เวลานั้นทุกคนต่างก็ไม่เข้าใจว่าการเอาแกะดำมารวมตัวกันจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

แต่ทุกคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้ ย่อมทราบว่าผลสุดท้ายของการทดลองคือ ผมของไวโอเล็ตที่ออกมานุ่มพริ้ว สมจริง และหนังเรื่อง The Incredibles ก็คว้าสองรางวัลจากเวทีออสการ์พร้อมทำเงินมากมายให้กับสตูดิโอ จนภายหลังได้มีภาคสองออกมา ขณะที่นาย Brad ก็กลายเป็นผู้กำกับและมืออนิเมชั่นชื่อก้องโลก

 

สูตรลับสร้างนวัตกรรม 1+1 อาจไม่ใช่ 2

 

ผลลัพธ์นี้ไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ค แต่เป็นเพราะนาย Brad ได้ค้นพบหนึ่งใน ‘สูตรลับ’ ของการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ที่นักจิตวิทยาสังคมชื่อดัง Adam Grant ได้เสนอไว้ว่ามีตัวอย่างมากมาย ซึ่งไม่ใช่แค่ในวงการศิลปะเท่านั้น แต่มีตัวอย่างจากหลายสาขา รวมถึงในองค์กรที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบอย่างกองทัพของสหรัฐอเมริกา!

วิธีนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างนวัตกรรม อาจไม่ใช่การนำ ‘คนฉลาด’ หรือคนที่ขึ้นชื่อว่ามีความคิดสร้างสรรค์หลายๆ คนมาใส่ห้องเดียวกัน แล้วให้เงินทุน จะประสบความสำเร็จเสมอไป แต่ในทางกลับกัน การนำคนที่แนวคิดแตกต่างที่ไม่น่าจะทำงานร่วมกันได้ เมื่อมาอยู่ร่วมกัน อาจทำให้ 1-1 กลายเป็น 2 ได้ หากความต่างนั้นผลักดันให้ทีมมองปัญหาเดิมผ่าน ‘กรอบความคิดใหม่’ หรือที่ Dan Roam นักคิดและผู้เขียนหนังสือ best seller ระดับโลกเรียกว่า ‘Reframing’ อันเป็นกุญแจสำคัญของการสร้างนวัตกรรม

คล้ายกับการที่บางครั้งบริษัทใหญ่ๆ จะจ้างที่ปรึกษาจากข้างนอกเข้ามา เพื่อ ‘เขย่า’ ทีมให้ออกจากกรอบที่ตนเองคุ้นเคย แต่ในกรณีนี้เราสามารถกระตุ้นการคิดนอกกรอบได้ โดยไม่ต้องไปเสียเงินจ้างคนนอกเสมอไป เพียงแต่ดึงศักยภาพของ ‘คนนอกที่อยู่ในบริษัท’ ออกมาให้เต็มที่ 

 

เคล็ดลับดึงพลังแกะดำ

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปรวบรวมคนมองโลกทางลบที่ไหนก็ได้มารวมกัน แต่ต้องเป็นคนที่ไม่พอใจในสถานะปัจจุบัน เพราะมีมุมมองหรือกรอบความคิดแตกต่างจากคนอื่น หรือต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กรในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ วิธีการนี้ไม่ใช่แค่การโยนแกะดำเข้าไปในวงแกะขาว แล้วจะประสบความสำเร็จได้ทันที หากแต่ต้องใช้ภาวะความเป็นผู้นำสูง รวมถึงทักษะการบริหารคนและจิตวิทยาที่ถูกต้อง ดังนี้

หนึ่ง ผู้นำต้องเห็นประโยชน์และเคารพความเห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย (Diversity) หากเรียกแกะดำเข้ามาแต่ไม่รับฟัง ไม่ให้โอกาสเขา อาจทำให้ยิ่งเกิดความไม่พอใจขึ้นไปอีก และกลายเป็นรอยร้าวในองค์กรโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ 

สอง ผู้นำต้องสามารถละลายพฤติกรรมให้แกะดำและแกะขาวทำงานร่วมกันได้ เพราะหากไม่ระวัง แกะสองสีจะแยกกลุ่มกัน ต่างคนต่างทำงานไม่ต่างจากเดิม 

สาม ในกรณีของสตูดิโอ Pixar นาย Brad ยังมีการกระตุ้นทีมโดยการบอกว่า คนข้างนอกคิดว่าทีมเราไม่มีวันทำโปรเจ็กต์นี้สำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นคือทั้งแกะดำและขาวรู้สึกว่ากำลังเผชิญ ‘ข้าศึก’ เดียวกันคือคนอื่นๆ ที่สบประมาท จึงจับมือกันสู้กับศึกข้างนอก ขณะเดียวกันหัวหน้ายังให้ ‘License to experiment’ หรือ ‘ใบอนุญาตให้ทดลอง’ ไอเดียหรือวิธีการใหม่ๆ โดยไม่ต้องกลัวล้มเหลว เพื่อให้ทีมกล้าลองคิดนอกกรอบมากขึ้น

 

มีที่ให้ Intrapreneur ในองค์กรเติบโต

 

การให้โอกาส ‘แกะดำ’ ยังมีความสำคัญในการดึงดูดคนเก่งๆ ให้มาอยู่ในองค์กรอีกด้วย หลายคนอาจเป็นแกะดำเพียงเพราะมีไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือมีกระบวนการทำงานที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งหากผู้นำไม่เปิดรับฟัง คนเหล่านี้อาจหมดไฟและย้ายไปทำงานอื่น หรือออกไปเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เพื่อทดลองไอเดียของตนข้างนอก

เท่ากับองค์กรนั้นเสียบุคลากรที่อาจเป็น ‘ผู้ประกอบการภายใน’ (Intrapreneur) หรือคนที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่และนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาได้ โดยยังเป็นพนักงานอยู่ในองค์กรเดิม 

ผลการสำรวจคนรุ่นใหม่กว่า 60,000 คนในอาเซียน โดยบริษัท Sea และ World Economic Forum พบว่าส่วนใหญ่เยาวชนอยากเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ในขณะที่การอยากเป็นพนักงานบริษัทใหญ่ ตกไปอยู่อันดับ สัดส่วนน้อยกว่าครึ่งของการเป็นผู้ประกอบการ แถมคนส่วนใหญ่ที่ทำงานในบริษัทใหญ่อยู่ในปัจจุบัน ยังมีความคิดอยากเปลี่ยนงาน โดยเฉพาะการออกมาทำบริษัทตนเอง

ในยุคปัจจุบัน เรายกย่อง Entrepreneur ผู้ออกไปเปิดกิจการของตัวเองว่าเป็นคนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่ง Facebook, Steve Jobs แห่ง Apple หรือกระทั่ง แจ็ค หม่า แห่งอาลีบาบา ทว่าความจริงแล้วการรักษาและเสริมสร้าง ‘ผู้ประกอบการภายใน’ มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนานวัตกรรมสำคัญๆ 

ผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เรารู้จักกันดี ก็มาจาก intrapreneur ที่เราอาจไม่คุ้นชื่อ เช่น Gmail ที่เราใช้กันทุกวันนี้ เคยเป็นโปรเจ็กต์ที่ไม่คืบหน้าสักทีของนาย Paul Buchheit ตั้งแต่ก่อนเข้าทำงาน Google จนมาได้ประโยชน์จากการที่ Google จัดเวลา 20% ให้พนักงานได้มีเวลาทำโปรเจ็กต์ตัวเองนอกเหนือจากงานหลัก 

แม้แต่เครื่องเล่นเกมที่โด่งดังอย่าง Sony Playstation ก็มาจากพนักงาน Sony คนหนึ่ง ที่พยายามปรับปรุงเครื่องเกมเก่าของลูก จนได้ไอเดียใหม่แล้วนำมาเสนอที่บริษัท ท่ามกลางเสียงโต้แย้งของผู้ใหญ่หลายคนที่มองว่า Sony ไม่ควรมาลงทุนทำเครื่องเกม โชคยังดีที่สุดท้ายมีผู้ใหญ่บางคนตัดสินใจเปิดโอกาสให้เขาลอง

 

สร้างฝูงแกะหลากสี

 

การชุบให้แกะทุกตัวเป็นสีเดียวกันเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ อาจเป็นหนทางที่ใช้ได้ในอดีตที่โลกแข่งขันกันบนฐานของประสิทธิภาพหรือต้นทุน แต่ในโลกที่แข่งกันด้วยนวัตกรรม การทำให้คนคิดแบบเดียวกัน ทำเหมือนกัน อาจทำให้เดินถอยหลังลงคลอง 

ในทางกลับกัน การมีแกะดำอาจกลายเป็นอาวุธลับสำคัญ แต่โจทย์ที่ยากคือ ทำอย่างไรให้แกะดำไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นสีดำในหมู่แกะขาว และทำอย่างไรให้แกะทุกตัวรู้สึกว่าอยู่ในฝูงแกะหลากสีที่ทุกตัวต่างมีความสำคัญ ซึ่งต้องใช้ภาวะผู้นำและเทคนิคการบริหารในแบบที่เราอาจยังไม่คุ้นเคย 

ในโลกแห่งนวัตกรรมที่ 1+1 อาจไม่เป็น 2 เราพร้อมหรือยังกับการปรับทัศนคติการบริหารให้สามารถสร้างฝูงแกะแห่งอนาคตแบบนี้ได้

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save