fbpx

ความล่มสลายของสถาบันรัฐประหาร (ตอนที่ 1): รัฐประหารในประเทศไทยและการทำให้รัฐประหารเป็นสถาบันทางการเมือง

บทนำ

การรัฐประหารตามพจนานุกรมไทย (2542) หมายถึง “การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยฉับพลัน การใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาล” ถือเป็นความผิดขั้นร้ายแรงที่สุดในรัฐตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีโทษถึงประหารชีวิต ในอดีตนั้นไม่เพียงแต่ลงโทษบรรดา ‘ขบถตัวโกง’ เท่านั้น ยังต้องทรมานและประจานต่อสาธารณะอีกด้วย ดังปรากฏในโองการแช่งน้ำที่ว่าด้วยพระราชอาญาสิทธิ์[1]    

ขณะที่กฎหมายสมัยใหม่นั้นก็กำหนดโทษผู้ที่กระทำการรัฐประหาร ล้มล้างการปกครอง ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต[2]

แต่เราก็ทราบกันดีว่าการรัฐประหารในอดีตหรือการช่วงชิงราชสมบัตินั้นเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่เป็นการฆ่ากันเพื่อสถาปนาราชวงศ์ใหม่ ก็ฆ่ากันเองในครอบครัวของกษัตริย์หรือขุนนาง ดังที่ ส.ธรรมยศ ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์อยุธยา (441 ปี) ว่า “เราตัดหัวกษัตริย์กันเองทุกรอบ 10 ปี”[3] ซึ่งฉายภาพให้เห็นว่าการรัฐประหารนั้นเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ เพียงใดในการเปลี่ยนผู้ปกครอง

แม้กระทั่งภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ได้สถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมา (หรือนัยหนึ่งทำให้การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมีระเบียบแบบแผนไม่ต้องมาฆ่ากัน) แต่การรัฐประหารก็ไม่ได้หายไปไหน ตลอดระยะเวลา 91 ปีที่ผ่านมานั้น เรามีการรัฐประหารที่สำเร็จถึง 13 ครั้ง[4] เฉลี่ย 7 ปี 1 ครั้ง ซึ่งบ่อยกว่าสมัยอยุธยาเสียอีก

เรามีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารอยู่ในตำแหน่งยืนยาวกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เรามีสภาที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเรียกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีระยะเวลายาวนานกว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งไปกว่านั้น สภาที่มาจากการรัฐประหารยังผลิตกฎหมายที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันมากกว่าสภาที่มาจากการเลือกตั้งหลายเท่านัก

เรามีรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารซึ่งเขียนขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจจำนวนมากกว่าและระยะเวลาที่ใช้ก็นานกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

การรัฐประหารไม่อาจปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรได้ เพราะผิดหลักกฎหมายและผิดแผกแตกต่างไปจากนานาอารยประเทศ แต่ผลพวงของการรัฐประหารไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับรัฐประหาร กลับยังคงใช้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน รูปธรรมคือรัฐธรรมนูญ 2560 หรือกรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษสูงในปัจจุบัน ก็มาจากคำสั่งคณะรัฐประหาร 2519 ในนาม ‘คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41’ โดยปรับโทษจากเดิม ‘จำคุกไม่เกิน 7 ปี’ เพิ่มขึ้นเป็น ‘จำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี’ อัตราโทษนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ และถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่เห็นชอบการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์อีกด้วย

ดังนั้น การรัฐประหารจึงเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางการเมืองของประเทศไทยอย่างแน่นอน ดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ว่ารัฐประหารได้กลายเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ ที่อยู่ยั้งยืนยงกว่ารัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรใดๆ เสียอีก โดยให้เหตุผลว่า  

คนไทยจึงมีภูมิคุ้มกันในเรื่องรัฐประหารสูงมาก เพราะมองการรัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาและการสืบทอดอำนาจตามปกติธรรมดา ไม่ต่างจากการเลือกตั้งหรือการผลัดแผ่นดินตามธรรมดา คนที่ควรหนีก็หนีไปเสีย คนที่ชนะก็เข้ามาเป็นใหญ่ตามระเบียบตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไม่ถูกล่วงละเมิด การรัฐประหารคือการเปลี่ยนรัฐบาลธรรมดาๆ นี่เอง[5]

แน่นอน นิธิทราบดีว่าวัฒนธรรมไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มีการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคมการเมือง  ดังจะเห็นจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร 2557 ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2557 และนายกรัฐมนตรี ที่ได้ ส.ส. 36 คน (ส.ส. เขต 23 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 13 คน – 4,766,408 คะแนน) และพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ‘พี่ใหญ่’ ในกลุ่ม  3 ป. ที่ได้ ส.ส. 40 คน (ส.ส. เขต 39 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน – 537,625 คะแนน) ทั้ง 2 พรรคได้ ส.ส. รวม 76 คนหรือ 15.2 % ขณะที่ความนิยมในระบบบัญชีรายชื่อรวม 2 พรรคมีเพียง 5,034,033 คะแนน คิดเป็น 13.42 % เท่านั้น ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายลบล้างผลพวงรัฐประหาร ที่มี ส.ส. 151 คน และมีความนิยมถึง 14,438,851 เสียง หรือถ้ารวม 5 พรรคฝ่ายค้านเดิมที่มีจุดยืนคัดค้านรัฐประหาร ก็จะมีคะแนนเสียงรวม  26,695,572 หรือ 67.55 %

นี่เป็นการปฏิเสธการรัฐประหารผ่านคูหาเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ เป็น ‘ความล่มสลายของสถาบันรัฐประหาร’ ที่เป็นหัวข้อหลักในการเขียนบทความชุดนี้[6] และเป็นประจักษ์พยานว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมว่าด้วยการรัฐประหารสิ้นสภาพบังคับไปแล้ว

ประวัติย่อและข้ออ้างรัฐประหารในประเทศไทย[7]

นับจากการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งถือเป็นการ ‘พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน’ เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ ‘ประเทศนี้เป็นของกษัตริย์’ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข หรือราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) นั้น การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามรัฐธรรมนูญ เช่น การยุบสภา การลาออก หรือการหมดวาระ ก็จะเป็นการรัฐประหาร ในความหมายว่ามีการใช้กำลังในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ยุบรัฐสภา ยกเลิกรัฐธรรมนูญ (อาจจะทำทั้งหมดหรือบางส่วน) หลังปฏิวัติ 2475 จนถึงปัจจุบัน มีการรัฐประหารเกิดขึ้น 13 ครั้ง ได้แก่


1. รัฐประหาร 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อกำจัดคณะราษฎร

ถึงแม้การปฏิวัติสยาม 2475 จะไม่เกิดความรุนแรงจนเสียเลือดเสียเนื้อ แต่ความขัดแย้งของผู้ก่อการกับกลุ่มนิยมเจ้านั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา มีความพยายามต่อรองอำนาจกัน ทว่าก็ลงเอยด้วยการรัฐประหาร 1 เมษายน 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารที่แปลกประหลาดที่สุดของการเมืองไทย (หรืออาจจะของการเมืองโลก) เพราะมีการอ้างว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือที่รู้จักในนาม ‘สมุดปกเหลือง’ ของปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร เป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์ เป็นเหตุให้รัฐบาลพระยามโนฯ ใช้เป็นข้อกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ จนปรีดีต้องถูกส่งไปต่างประเทศ จากนั้นรัฐบาลพระยามโนฯ จึงกำหนดให้ปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเท่ากับเป็นการหยุดยั้งเจตนารมณ์ของการปฏิวัติ 2475 และเป็นที่มาของการรัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทย


2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนายึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

สามเดือนหลังรัฐประหาร 1 เมษายน 2476 บรรดาคณะราษฎรตระหนักแล้วว่าการรัฐประหารครั้งนั้นมุ่งทำลายเจตนารมณ์ของการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนาที่ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จึงได้เป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจคืนมา โดยให้เหตุผลว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาทำผิดรัฐธรรมนูญ และเพื่อสานต่อการปฏิวัติสยาม พระยาพหลฯ จึงรับหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อมา โดยพระยามโนฯ ต้องลี้ภัยไปปีนัง ขณะที่ปรีดีก็กลับจากฝรั่งเศสเพื่อมาบริหารประเทศต่อไป เหตุการณ์ครั้งนี้เองที่ทำให้หลวงพิบูลสงครามกลายเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลคณะราษฎร เพราะเป็นกำลังสำคัญในการยึดอำนาจคืนมา หลังจากนั้นสงครามกลางเมืองครั้งแรกก็เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2476 ในนามกบฏบวรเดช


3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

รัฐบาลพลเรือนของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ภายใต้การสนับสนุนของปรีดี พนมยงค์) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากประสบปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าแล้ว ยังมีปัญหาการเมืองตามมา คือการสวรรคตอย่างเป็นปริศนาของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซ้ำร้ายบรรดากลุ่มนิยมเจ้าซึ่งสูญเสียอำนาจไปภายหลังการปฏิวัติสยามยังกุและปล่อยข่าวลือว่า ‘ปรีดีฆ่าในหลวง’ ทั้งร่วมมือกับอดีตผู้นำกองทัพทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล ในครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ คนที่ลงนามรับรองรัฐประหาร (คือรับรองรัฐธรรมนูญ 2490) คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร หนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยที่พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการฯ อีกคนไม่ยอมลงนาม

ถึงแม้ว่าการประกาศใช้รัฐธรรนูญจะไม่สมบูรณ์ในทาง ‘นิตินัย’ แต่ในทาง ‘พฤตินัย’ เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ทุกอย่างก็ถูกกฎหมายในเวลาต่อมา[8] จากนั้นคณะรัฐประหารได้ส่ง ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ไปรายงานต่อในหลวงภูมิพลที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพระองค์ได้ส่งพระราชหัตถเลขาถึงคณะรัฐประหารว่า “ฉันรู้สึกพอใจยิ่งนัก ที่ทราบว่าเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นไม่ได้เสียเลือดเสียเนื้อและชีวิตคนไทยด้วยกันเลย”[9] คณะรัฐประหารให้ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารครั้งนี้ นี่เป็นแม่แบบการทำรัฐประหารในเวลาต่อมา 


4. รัฐประหาร 6 เมษายน 2491 คณะรัฐประหาร 2490 บังคับให้ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบตำแหน่งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม

รัฐบาลควงจัดการเลือกตั้งในวันที่ 29 มกราคม 2491 ตามรัฐธรรมนูญ 2490 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนมากที่สุดเป็นลำดับที่หนึ่ง โดยได้ทั้งสิ้น 53 ที่นั่ง จาก ส.ส. 99 คน ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยนายควงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อรวมกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากกลุ่มนิยมเจ้า ก็นับได้ว่ารัฐสภาถูกคุมโดยกลุ่มนิยมเจ้า การที่นายควงได้เป็นนายกฯ ขัดตาทัพก็เพื่อให้ชาติมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริการับรอง ต่อมาคณะรัฐประหาร 2490 ใช้กำลังไปจี้ให้นายควงลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 และมอบตำแหน่งให้กับจอมพล ป. หัวหน้าคณะรัฐประหาร อดีตอาชญากรสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 รวมแล้วรัฐบาลพลเรือนของควง อภัยวงศ์ บริหารประเทศได้เพียง 4 เดือนเศษนับจากรัฐประหาร 2490


5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป. พิบูลสงครามยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

ถึงแม้คณะรัฐประหารจะจี้ควง อภัยวงศ์ ลงจากตำแหน่งได้แล้ว แต่มรดกของฝ่ายนิยมเจ้ายังคงอยู่ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2492 ที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับรอยัลลิสต์[10] ที่เป็นอุปสรรคต่อฝ่ายกองทัพ พร้อมๆ กับการถวายพระราชอำนาจกลับไปให้สถาบันกษัตริย์เป็นอย่างมาก[11] ไม่เพียงเท่านั้น บทบาทของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2492 เป็นอุปสรรคในการบริหารของรัฐบาลจอมพล ป. เป็นอย่างมาก เช่น การตั้งกระทู้ถามรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และการอภิปรายคัดค้าน ยับยั้งการออกกฎหมายถึง 31 ฉบับจาก 57 ฉบับ[12] นอกจากนี้ วุฒิสภาชุดนี้ยังขอเปิดอภิปรายทั่วไปภายหลังเหตุการณ์ ‘กบฏแมนฮัตตัน’ และวิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก

การรัฐประหาร 2494 เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ 2492 จึงเกิดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 ระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 กำลังเสด็จกลับเมืองไทยเป็นการถาวรในเรือโดยสาร เมื่อทราบข่าวในชั้นแรกในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เห็นด้วย แต่พระองค์เจ้าธานีนิวัตเห็นว่าควรจะมาต่อรองกัน เพราะอำนาจคณะรัฐประหารมากกว่า

นับจากวันรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 กว่าจะมีรัฐธรรมนูญก็ต้องรอถึง 8 มีนาคม 2495 โดยคณะรัฐประหารยินยอมเพียงให้คงมีคณะองคมนตรีที่ทรงตั้งตามพระราชอัธยาศัยต่อไป แต่ไม่ปรากฏข้อความให้ทรงสามารถเลือกและแต่งตั้งวุฒิสภาด้วยพระองค์เองดังเดิมอีก รัฐธรรมนูญ 2495 จึงเป็นการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ไว้แต่เพียงกิจการส่วนพระองค์เท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้ทรงใช้พระราชอำนาจทางการเมืองอีก


6. รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

รัฐประหาร 2500 เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตศรัทธาต่อจอมพล ป. และทหารบกกลุ่มซอยราชครูอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งสกปรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 พร้อมๆ กับการกลับมามีบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปลายทศวรรษ 2490 จากการเสด็จชนบทและประกอบกิจกรรมสาธารณกุศลต่างๆ รวมทั้งการวิจารณ์บทบาทของกองทัพในการแทรกแซงการเมือง สวนทางกับความนิยมของจอมพล ป. ที่ตกต่ำลงจากการอยู่ในอำนาจมานาน ความนิยมของสฤษดิ์ ธนะรัชต์กลับเพิ่มขึ้นจากการแสดงออกว่าอยู่ข้างนักศึกษาปัญญาชน

การรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ที่มีสฤษดิ์และทหารกลุ่มสี่เสาเทเวศร์เป็นผู้นำประสบความสำเร็จอย่างไม่ยากเย็น สฤษดิ์เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทันที และพระองค์ก็ได้มีพระบรมราชโองการตั้งสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ สฤษดิ์จึงตั้งนายพจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและผู้แทนของประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สหรัฐอเมริกามหามิตรในขณะนั้นรับรอง และหลังการเลือกตั้ง 15 ธันวาคม 2500 ที่พรรคชาติสังคมของสฤษดิ์ชนะการเลือกตั้ง สฤษดิ์ก็ให้ถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้การรัฐประหาร 2500 ยังไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ 2495


7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจรัฐบาลถนอม กิตติขจร เพื่อสร้างเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์

หลังจากไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา ในเดือนตุลาคม 2501 สฤษดิ์ก็กลับเข้าสู่อำนาจเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์ โดยยึดอำนาจอย่างราบรื่นจากถนอมซึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สฤษดิ์ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ 2495 ยุบสภาผู้แทนราษฎร ประกาศกฎอัยการศึก จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมทั้งสั่งประหารชีวิตโดยใช้มาตรา 17 ของธรรมนูญชั่วคราว 2502

ระบอบรัฐประหารนี้ได้สร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติไปพร้อมกัน โดยตลอดเวลาห้าปีกว่าที่สฤษดิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนเสียชีวิตในตำแหน่งในวันที่ 8 มกราคม 2506 กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความคืบหน้า และลากยาวไปจนถึงรัฐบาลถนอม กิตติขจร กว่าที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ในวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ก็ใช้เวลายาวนานร่วม 10 ปี นับจากการรัฐประหารตุลาคม 2501


8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ที่ใช้เวลาร่างยาวนานนับ 10 ปี นำมาสู่การเลือกตั้ง 10 กุมภาพันธ์ 2512 เพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารผ่านการเลือกตั้งโดยพรรคสหประชาไทซึ่งมีถนอมเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมกับการมีวุฒิสภาแต่งตั้งที่มีจำนวนมากถึง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับเสียงเลือกตั้งในเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและ ส.ส. ต่างจังหวัดจากพรรคฝ่ายค้านอื่น แม้กระทั่งพรรคสหประชาไทยของรัฐบาลเอง สุดท้ายถนอมจึงเลือกเดินตามรอยสฤษดิ์ด้วยการรัฐประหารรัฐบาลตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 เพื่อสร้างเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์ ยิ่งไปกว่านั้น ถนอมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ลากยาวถึง 13 เดือน กว่าจะประกาศธรรมนูญการปกครองในเดือนธันวาคม 2515 แต่อีก 10 เดือนต่อมาก็เกิดการลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516


9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

รัฐประหารครั้งนี้เป็นรัฐประหารที่นองเลือดที่สุดในการเมืองไทย เพราะเป็นการรัฐประหารภายหลังการลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่ทำให้การรัฐประหารแบบเดิมอันเป็นการจัดการกันเองในหมู่ชนชั้นนำไม่สามารถทำได้อีกต่อไป หากต้องมีการเคลื่อนไหวมวลชนฝ่ายขวาขนาดใหญ่ด้วย จนเกิดการล้อมปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ธรรมศาสตร์ในช่วงเช้า จากนั้นจึงนำมาสู่การรัฐประหารอย่างเป็นทางการในช่วงค่ำ และมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ชื่อธานินทร์ กรัยวิเชียร ดังคำบอกเล่าของบุญชนะ อัตถากร[13]

แต่นโยบายขวาจัดของธานินทร์ได้สร้างความตึงเครียดมาก ภายใน 1 ปี รัฐบาลปิดหนังสือพิมพ์ไป 22 ครั้ง โดยไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันฉบับไหนไม่เคยโดนสั่งปิด ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมชได้กล่าวถึงผลกระทบของรัฐประหาร 2519 ต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์หลังจากที่ธานินทร์หมดอำนาจลงว่า

เมืองไทยเรานั้นพระมหากษัตริย์ทรงเป็นน้ำยาที่เชื่อมวัตถุธาตุมากมายหลายอย่างให้เข้าเป็นรูปร่างอันหนึ่งอันเดียวกัน หากน้ำยานั้นอ่อนลงหรือหมดน้ำยาเมื่อไหร่ วัตถุธาตุทั้งหลายก็จะแตกแยกกระจายออกเป็นฝุ่นละอองเกาะกันไม่ติดอีกต่อไป ที่คนสมัยใหม่เรียกว่าโครงสร้างนั้นก็จะไม่มีเหลือ[14]


10. รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

การบริหารประเทศด้วยนโยบายขวาจัดของรัฐบาลธานินทร์ได้ก่อให้เกิดรอยร้าวใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งไม่เพียงแต่นำไปสู่การเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและแนวร่วมทั้งในป่าเขาและเขตเมือง ยังมีความพยายามทำรัฐประหารของทหารอีกกลุ่มหนึ่งในวันที่ 26 มีนาคม 2520 ที่นำโดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ทั้งหมดจึงเป็นเหตุให้คณะรัฐประหาร 2519 ทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เพื่อล้มรัฐบาลธานินทร์แล้วแต่งตั้งเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2520 อย่างไรก็ตาม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้แต่งตั้งธานินทร์ขึ้นเป็นองคมนตรีตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2520 และอยู่มาตลอดรัชสมัยของพระองค์  

รัฐบาลเกรียงศักดิ์เลือกใช้แนวทางการเมืองมากกว่ารัฐบาลธานินทร์ มีการนิรโทษกรรมจำเลยคดี 6 ตุลา รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อประกอบกับความแตกแยกของฝ่ายคอมมิวนิสต์เอง สุดท้ายจึงนำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายอำนาจรัฐในเวลาต่อมา


11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

รัฐประหาร 2534 ถึงแม้หัวหน้าคณะรัฐประหารคือ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ แต่คนที่คุมอำนาจจริงคือ กลุ่ม จปร.5 ที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นผู้นำ นี่เป็นรัฐประหารครั้งแรกภายหลังสงครามเย็นยุติลง คอมมิวนิสต์ไม่สามารถถูกใช้เป็นข้ออ้างของการรัฐประหารได้อีกต่อไป ดังนั้น พฤติกรรมของนักการเมือง การทุจริต รวมทั้งภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์ จึงเป็นข้ออ้างที่โดดเด่นขึ้นมาแทน ข้ออ้างของการทำรัฐประหารครั้งนี้ คือ

1. พฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง
2. ข้าราชการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต
3. รัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา
4. การทำลายสถาบันทหาร
5. การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

การรัฐประหาร 2534 เป็นอีกครั้งที่พระบรมราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับที่พระบรมราชโองการแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมทั้งถ้อยคำที่แทบจะลอกกันมา ซึ่งแสดงถึงความเป็น ‘สถาบันรัฐประหาร’ อย่างหนักแน่นในการเมืองไทย

ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2534 มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติ กล่าวคือในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงแล้วมีการแต่งตั้งรัชทายาท เดิมรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาเห็นชอบ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2534 กลับกำหนดให้รัฐสภารับทราบเท่านั้น กระบวนการสืบราชสมบัติจึงหลุดลอยออกจากอำนาจรัฐสภา[15] ซึ่งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สืบทอดมายังรัฐธรรมนูญทุกฉบับและมีโอกาสใช้จริงในปี 2559 หรือ 25 ปีหลังจากนั้น


12. รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ขณะที่รัฐประหาร 2534 ถือเป็นการรัฐประหารที่ ‘หลงยุค’ เพราะอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ สงครามเย็นจบสิ้นไปแล้ว และความพ่ายแพ้ของกองทัพในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 ทำให้ทหารต้องกลับกรมกอง การรัฐประหาร 2549 ถือว่าหลงยุคยิ่งกว่า เพราะเป็นการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมี และพรรคไทยรักไทยของทักษิณก็เพิ่งชนะเลือกตั้งอย่างแลนด์สไลด์ คือได้ ส.ส. 377 ที่นั่ง และคะแนนบัญชีรายชื่ออีก 18,993,073 คะแนน พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค โฆษกคณะรัฐประหาร กล่าวถึงเหตุผลในการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า

ด้วยเป็นที่ปรากฏความแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย คลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง

หน่วยงานองค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง[16]

นี่เป็นการรัฐประหารโดย ‘ทหารพระราชา’ โดยแท้ เพราะมีการกล่าวอ้างตั้งแต่ก่อนรัฐประหารจนมาถึงเนื้อหาในการรัฐประหาร รวมทั้งมีการปล่อยภาพคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเพื่อยืนยันภารกิจในการปกป้องสถาบันกษัตริย์และการเป็นทหารพระราชา ไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรีก็มาจากองคมนตรี คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่รัฐประหาร 2549 กลับเป็นการรัฐประหารที่ล้มเหลว เพราะการเลือกตั้งหลังจากนั้น พรรคพลังประชาชนที่กลายร่างมาจากพรรคไทยรักไทยก็ยังชนะเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550


13. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

รัฐประหาร 2557 เป็นการรัฐประหารโดยคณะทหารชุดเดิมที่แก้มือจากความล้มเหลวในการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน และยังเป็นการรัฐประหารเพื่อประกันความราบรื่นของการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย แต่ในเนื้อหาคณะรัฐประหาร รวมทั้งภาพประกอบฉากกลับไม่ปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ดังเช่นรัฐประหาร 2549 มีเพียงคำแถลงการณ์ว่า

ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในหลายพื้นที่เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป[17]

รัฐประหาร 2557

อย่างไรก็ดี ผลงานตลอด 9 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ปรากฏชัดว่ามีทั้งการเขียนรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายต่างๆ ที่ถวายคืนพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์กลับไปสู่สถาบันกษัตริย์ในต่างกรรมต่างวาระ[18]

จะเห็นได้ว่าการรัฐประหาร 13 ครั้งนั้นเกิดขึ้นในบริบทการเมืองที่แตกต่างกัน มีการต่อสู้ต่อรองกันในหมู่ผู้ชนะและสถาบันกษัตริย์ที่จะต้องมา ‘รับรอง’ รัฐประหาร คณะรัฐประหารแต่ละกลุ่มก็มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็บรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน คือการเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยที่ยังสามารถรักษา ‘สถาบันรัฐประหาร’ ให้คงอยู่ต่อไป

ความสำเร็จของการสถาปนาการรัฐประหารเป็นสถาบันทางการเมือง

ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า การรัฐประหารถูกทำให้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงปกติธรรมดาของการเมืองไทย ชัยอนันต์ สมุทวณิช นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คือผู้ประมวลปรากฏการณ์นี้เป็นแนวคิดสำคัญ เรื่อง ‘วงจรอุบาทว์การเมืองไทย’[19] ซึ่งในแง่หนึ่งก็กลายเป็นการรองรับการรัฐประหารไปในตัว จากแผนผังซึ่งชัยอนันต์ใช้อธิบายแนวคิดนี้ เราจะเห็นได้ว่า รัฐประหารนั้นไม่ต่างจากสถาบันการเมืองอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง รัฐบาล รัฐสภา

หากจะเข้าใจความคิดดังกล่าว จำเป็นต้องกลับไปดูภูมิหลังของชัยอนันต์ด้วย ชัยอนันต์เริ่มผลิตผลงานทางวิชาการมาตั้งแต่ทศวรรษ 2510 โดยเป็นผู้บุกเบิกในการนำเอกสารจดหมายเหตุมาใช้ในการเขียนงานวิชาการเป็นคนแรก เช่น แผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกของไทย: คำกราบบังคมทูลของเจ้านายและข้าราชการให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ศ. 103 ขณะเดียวกันชัยอนันต์ก็โจมตีการปฏิวัติสยาม 2475 ว่าเป็นการยึดอำนาจของทหารบางส่วนที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมและก่อให้เกิดปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองของทหารมาตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พร้อมกันนั้นชัยอนันต์ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะปรากฏทั่วไปในหมู่ ‘ปัญญาชน 14 ตุลา’[20] แนวคิดหลักของคนเหล่านี้คือการกลับไปหาพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 7 ทั้งๆ ที่พระราชดำรัสดังกล่าวอยู่ในบริบทของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับพระปกเกล้าฯ จนนำไปสู่การสละราชย์ในที่สุด[21]

ขณะเดียวกันแผนผังของชัยอนันต์ก็ละเลยตัวแสดงสำคัญคือ สถาบันกษัตริย์กับการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นด้วยความเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง หรือการเลี่ยงที่จะพูดถึงความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจ แต่ถ้าเราพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ไม่มีครั้งไหนที่รัฐประหารจะสำเร็จได้โดยไม่มีการรับรองจากสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าพระองค์จะเห็นด้วยกับการรัฐประหารนั้นหรือไม่ก็ตาม

บันได 4 ขั้นเพื่อรัฐประหาร กับสิ่งที่หายไปใน ‘วงจรอุบาทว์’

จากการรัฐประหาร 13 ครั้งในประเทศไทย เราอาจสรุปขั้นตอนของการรัฐประหารได้ดังต่อไปนี้

1. สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล และอ้างว่าระบบการเมืองปกติไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยอ้างสถานการณ์ร่วมสมัย เช่น การคุกคามของคอมมิวนิสต์ กรณีสวรรคต การทุจริต ฯลฯ

2. กองทัพเข้ายึดอำนาจ และปราบปรามผู้ต่อต้านจนสำเร็จ

3. กษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ลงนามรับรองรัฐประหาร (ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม)

4. องค์กรตุลาการตีความรับรองการรัฐประหารให้คณะรัฐประหารเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’

เราจะเห็นได้ว่าในขั้นตอนที่ 3 นั้นสำคัญที่สุด เพราะเป็นขั้นตอนที่ขาดไม่ได้ ดังกรณีรัฐประหาร 2494 ที่คณะรัฐประหาร 2490 ทำการรัฐประหารเงียบ ฉีกรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์ แล้วเอารัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 มาแก้ไขเพิ่มเติม เหตุการณ์ในครั้งนั้นแม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะไม่เห็นด้วยแต่ด้วยคำแนะนำของพระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์ก็ยินยอมลงนาม แต่ต่อรองพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปพร้อมกัน หรือกรณีกบฏเมษาฮาวาย 1-3 เมษายน 2524 ที่ฝ่ายก่อรัฐประหารโดยกลุ่มยังเติร์กสามารถคุมกำลังไว้พร้อมแล้ว แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ลงนามด้วยการหลบหนีไปยังกองบัญชาการต้านรัฐประหารที่โคราชซึ่งตั้งโดย พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ส่งผลให้ความพยายามก่อรัฐประหาร 2524 ล้มเหลว[22]

แต่การแทรกแซงทางการเมืองนั้นไม่ง่าย จำเป็นต้องมีศาสตร์และศิลป์ ดังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึง ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ เลขาธิการคณะองคมนตรี

แต่การแทรกแซงการเมืองต้องจำไว้ว่า สถาบัน[กษัตริย์] จะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวได้ ก็ต่อเมื่อเกิด void สุญญากาศทางการเมืองจริงๆ อย่าง 14 ตุลา แต่เมื่อลงไปจัดการช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องรีบก้าวกลับไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้หมายถึงส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันกษัตริย์ด้วย[23]

รัฐประหารไม่ยาก แต่การรักษาสถาบันรัฐประหารยากยิ่งกว่า

ถึงแม้ว่าการทำรัฐประหารจะสำเร็จ แต่การสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารนั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สิ่งที่คณะรัฐประหารต้องทำก็คือสร้างรัฐบาลที่เป็นที่นิยมของประชาชน บทเรียนจากรัฐบาลขวาจัดธานินทร์ กรัยวิเชียรนั้นชี้ชัดว่าการสนับสนุนรัฐบาลขวาจัดของชนชั้นนำไทยนำมาสู่ความล่มสลายได้ และเมื่อไม่มีภัยคุกคามจากภายนอก เช่นภัยคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น ในกรณีรัฐประหาร 2534 ซึ่งถือว่าเป็นการรัฐประหารที่ขัดฝืนกับการเปลี่ยนแปลงของโลกมาก คณะรัฐประหารจึงได้นำเอาอานันท์ ปันยารชุน อดีตนักการทูต ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจจนกลายเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ภาพลักษณ์ว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ขณะเดียวกันอานันท์ก็ฉลาดพอที่จะอยู่ในอำนาจไม่นาน พร้อมกับสร้างภาพเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางที่รังเกียจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่มีความรู้และทุจริตคอร์รัปชัน จนเขาได้รับฉายา ‘ผู้ดีรัตนโกสินทร์’ ‘นายกฯ แบบอานันท์’  จึงเป็นความใฝ่ฝันของบรรดาผู้สนับสนุนรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน 

หรือการรัฐประหาร 2549 รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ชูคำขวัญ ‘ถวายคืนพระราชอำนาจ’ ที่จุดประกายโดยสนธิ ลิ้มทองกุล[24] ผู้ที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีคือองคมนตรีนามว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่สุรยุทธ์ก็รู้ตัวดีว่าไม่มีความสามารถและความนิยม เมื่อจัดให้มีรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อกำจัด ‘ระบอบทักษิณ’ และจัดให้มีการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 แล้ว รัฐบาลรัฐประหารก็สลายตัวลง สุรยุทธ์ จุลานนท์ก็กลับไปดำรงตำแหน่งองคมนตรีเช่นเดิม

รัฐบาลรัฐประหารที่มีประสิทธิภาพ และไม่อยู่ในอำนาจยาวนาน ถูกทำลายโดยคณะรัฐประหาร 2557 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลลัพธ์คือการปฏิเสธการรัฐประหารผ่านการเลือกตั้งดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งบทต่อไปผู้เขียนจะวิเคราะห์ถึงความล่มสลายของสถาบันรัฐประหารในแง่มุมต่างๆ

References
1 ไมเคิล ไรท์, โองการแช่งน้ำ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2543), หน้า 84.
2 สำนักงานคณะกรรรมการกฤษฎีกา, ประมวลกฎหมายอาญา
3 ส. ธรรมยศ, Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2547), หน้า 82.
4 จำนวนรัฐประหารในประเทศไทยมีการนับแตกต่างกัน ในที่นี้ผู้เขียนขอยึดตาม ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561).
5 นิธิ เอียวศรีวงศ์, “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย,” ใน ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก (กรุงเทพฯ: มติชน, 2538), หน้า147.
6 ผู้เขียนทราบดีถึงผลโหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภาอันประกอบด้วย ส.ส. จากการเลือกตั้ง 500 คน และ ส.ว. จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร 249 คน ได้ลงมติ เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง ไม่มาลงคะแนน 44 คน ทำให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะรวบรวมเสียง ส.ส. ได้ถึง 312  จาก 500 เสียง เนื่องจากคะแนนยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา 375 เสียงในเวลานั้น  แต่นั่นก็เป็นการรอเวลาให้วุฒิสภาจากการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารหมดอายุวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เท่านั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ‘สถาบันรัฐประหาร’ ได้ล่มสลายแล้ว ดังจะอธิบายในบทความต่อไป
7 ในส่วนนี้ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่. เว้นแต่ผู้เขียนจะเพิ่มเติมไว้ในเชิงอรรถ
8 สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “หลักนิติรัฐประหาร,” ใน รัฐประหาร 19 กันยารัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, บ.ก. ธนาพล อิ๋วสกุล (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2550) หน้า 190-202.
9 ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2563), หน้า 61.
10 เรื่องเดียวกัน, หน้า 67-8.
11 ดังปรากฏในคำอภิปรายของ ส.ส. ในขณะนั้น เช่น ชื่น ระวีวรรณ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันแท้จริง แต่มีลัทธิการปกครองแปลกประหลาดแทรกซ่อนอยู่ ลัทธินี้ คือ ลัทธินิยมกษัตริย์” อ้างจาก ธงชัย วินิจจะกูล, “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาคม,” ใน ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556).หน้า  34
12 กริช สืบสนธิ์, “บทบาทและพฤติกรรมของวุฒิสภาไทยสมัยต่างๆ,” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2515), หน้า 140-51. อ้างจาก รัฐประหาร พ.ศ. 2494 – ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
13 บุญชนะ อัตถากร, บันทึกการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า (2525), อ้างจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ใน “ใครเป็นใครใน 6 ตุลา” หน้า 161-3
14 คึกฤทธิ์ ปราโมช, “ตำนานพระร่วงและกรุงสุโขทัย,” อ้างจาก อาสา คำภา, กว่าจะครองอำนาจนำ: การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย ทศวรรษ 2490-2530 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2564), หน้า 330.
15 สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “เนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญฉบับหมกเม็ด,” ฟ้าเดียวกัน 11: 2 กรกฎาคม-กันยายน 2556 หน้า 118.
16 ศิลปวัฒนธรรม, 19 กันยายน 2549 รัฐประหารไทยในรอบ 15 ปี
17 ไทยรัฐออนไลน์, 9 ปี รัฐประหาร ย้อนนาทียึดอำนาจ ซ้ำรอยประวัติศาสตร์
18 กรณีถวายคืนพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ดู “รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ VS ฉบับประกาศใช้หลังพระราชกระแสรับสั่ง”, กรณีถวายคืนพระราชทรัพย์ ดู ชัยธวัช ตุลาธน, “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ : พระราชทรัพย์ยามผลัดแผ่นดินและรัฐประหารสองครั้ง,” ฟ้าเดียวกัน 15: 2 2560 หน้า 85-115
19 ชัยอนันต์ สมุทวณิช และเชาวนะ ไตรมาศ, ข้อมูลพื้นฐาน 80 ปี ประชาธิปไตยไทย 2475-2555, บ.ก. ทิพย์พาพร ตันติสุนทร (กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา), 2556.
20 ดูเส้นทางความคิดชัยอนันต์ สมุทวณิช  ใน ประจักษ์  ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ หน้า 425-8
21 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ร.7 สละราชย์ : ราชสำนัก การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ 14 ตุลา” ในประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หน้า 9-19
22 กษิดิศ อนันทนาธร, “จาก ‘คณะปฏิวัติ’ สู่ ‘กบฏเมษาฮาวาย’ ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ รัฐบาลเปรมฯ,” คณะก้าวหน้า
23 พระราชดำรัส ในหลวง ร. 9 ถึง ทองน้อย ทองใหญ่ เลขาธิการคณะองคมนตรี “จากจิตรลดาสู่ประชาไทย,” อ้างจาก อาสา คำภา, กว่าจะครองอำนาจนำ, หน้า 193-194
24 ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการ), รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2550)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save