fbpx

ฉันเป็นฉันเอง The Awakening (การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า)

นิยายเรื่อง The Awakening แปลเป็นไทยและพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2543 หลังจากนั้นก็มีการพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี 2555 (ผมไม่แน่ใจและไม่ทราบว่า ต่อมามีการพิมพ์ใหม่อีกหรือไม่)

จนถึงบัดนี้ ผมอ่านไปแล้ว 4 รอบ ชอบมากตั้งแต่หนแรกที่ได้อ่าน ยิ่งนำมาทบทวนซ้ำ ก็ยิ่งประทับใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ตอนที่อ่านนิยายเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ผมอ่านโดยรู้เนื้อเรื่องอย่างละเอียด รวมถึงรู้ตอนจบก่อนจะได้อ่าน

อย่างไรก็ตาม การรู้ตอนจบมาก่อนสำหรับนิยายเรื่องนี้ ปลอดพ้นจากสิ่งที่เรียกกันว่าถูกสปอยล์ ไม่มีผลต่อการสูญเสียอรรถรสใดๆ ทั้งสิ้น เพราะความน่าตื่นเต้นที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่พล็อตหรือเหตุการณ์ แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงภายในใจอันสลับซับซ้อนของตัวเอก เอ็ดน่า ปองติเยร์ ซึ่งเล่าแสดงออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ มีความลึกและสมจริง ถี่ถ้วนชัดเจน

The Awakening เป็นวรรณกรรมคลาสสิค ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียบพร้อม สำหรับนักอ่านที่อยากเริ่มต้นทำความรู้จักกับงานเขียนประเภท ‘ขึ้นหิ้ง’ ซึ่งไม่ยากหรือซับซ้อนจนเกินเข้าใจ ขณะเดียวกันก็ยังมีความบันเทิงในระดับที่คล้ายคลึงกับงานเขียนประเภทนิยายขายดีอยู่พอสมควร ที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นงานเขียนที่โดดเด่นทรงคุณค่าด้วยเนื้อหาสาระที่นำเสนอ และความเป็นศิลปะชั้นเยี่ยมในเชิงวรรณศิลป์

The Awakening มักถูกกล่าวขวัญถึงใน 2 ประเด็นใหญ่ อย่างแรกคือการนำเสนอเนื้อหาสาระว่าด้วยสิทธิสตรี ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและท้าทายเอามากๆ ในช่วงเวลาที่นิยายเรื่องนี้ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1899 หรือ 124 ปีที่แล้ว

ดูจาก ค.ศ. และจำนวนปี ทีแรกผมก็ไม่ได้รู้สึกถึงความเก่านานมากนัก เพราะสำหรับวรรณกรรมตะวันตกที่มีประวัติความเป็นมายืดยาวแล้ว แค่ร้อยกว่าปีถือเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย

แต่เมื่อเทียบเคียงเป็น พ.ศ. ซึ่งตรงกับปี 2442 หรือช่วงเริ่มระยะปลายสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งนึกถึงวรรณกรรมไทยรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือที่เขียนขึ้นในเวลาต่อมาถัดจากนั้น ในแง่นี้ ถือได้ว่านิยายเรื่องนี้ล้ำและมาก่อนกาลเอามากๆ

ที่สำคัญคือหยิบมาอ่านในตอนนี้ ก็ยังคงสดใหม่ทันสมัย ดังนั้นนอกจากจะมาก่อนกาล (เป็นเวลานานมาก) แล้ว งานเขียนชิ้นนี้ยังเป็นอมตะ ‘อยู่เหนือกาลเวลา’

ด้วยความที่เป็นผลงาน ‘มาก่อนกาล’ จึงนำมาสู่ชื่อเสียงอีกประการ ซึ่งเป็นเรื่องเศร้า เพราะเป็นชื่อเสียงในแบบ ‘ชื่อเสีย’

ไม่นานนักหลังจากตีพิมพ์เผยแพร่ The Awakening ก็ถูกกระหน่ำยับเยินจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งจากโดยนักวิจารณ์และผู้อ่านทั่วไป จนกระทั่งตายดับจมธรณีไม่ได้ผุดได้เกิด หนังสือถูกแบนโดยห้องสมุดหลายๆ แห่ง ซ้ำร้าย เคท โชแปง ก็พลอยฟ้าพลอยฝน โดนคนในแวดวงวรรณกรรมและคนรอบข้างที่รู้จักพากันรุมประณามต่อต้านอย่างรุนแรง

ถัดจากนั้นมา เคท โชแปงยังคงพยายามเขียนเรื่องสั้นออกมาอีกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ถูกนิตยสารต่างๆ และสำนักพิมพ์ปฏิเสธ เธอเริ่มมีปัญหาสุขภาพ จนในที่สุดก็เสียชีวิต ปี 1904

ต้องผ่านเวลาอีกร่วมๆ 50 ปี จึงค่อยบังเกิดเสียงพูดถึง The Awakening ในทางยกย่องชื่นชม มีการหยิบยกนิยายเรื่องนี้มาประเมินใหม่ จนท้ายที่สุด นิยายเรื่องนี้ก็เปลี่ยนฐานะจากงานอื้อฉาวเสื่อมเสียกลายเป็นเพชรเม็ดงามของวรรณกรรมอเมริกัน

The Awakening เล่าถึงเอ็ดน่า ปองติเยร์ หญิงสาววัย 28 ย่าง 29 เธอแต่งงานกับเลอองส์ นักธุรกิจฐานะดี มีลูกด้วยกัน 2 คน วัย 5 ขวบและ 4 ขวบ ชีวิตครอบครัวดูราบรื่นมีความสุขเป็นปกติ

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นเมื่อครอบครัวปองติเยร์ไปพักผ่อนช่วงฤดูร้อนที่เกาะแกรนด์ไอล์ (นายปองติเยร์จะมาเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น ส่วนวันธรรมดาเขาก็เดินทางกลับเข้าเมืองไปทำงาน) ที่นั่น เอ็ดน่าได้พบกับโรเบิร์ต ลูกชายเจ้าของบ้านพัก ทั้งคู่สนิทสนมและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ร่วมกัน จนกระทั่งเกิดความรักลึกซึ้ง แต่แล้วก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างคู่หนุ่มสาวจะเลยเถิดไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ โรเบิร์ตก็ตัดสินใจเดินทางไปสร้างเนื้อสร้างตัวที่เม็กซิโก ไม่เปิดโอกาสให้เอ็ดน่าได้ตั้งสติเตรียมตัวเตรียมใจ

จนฤดูร้อนสิ้นสุดลง เอ็ดน่ากลับจากพักร้อนมาใช้ชีวิตในเมือง เธอเปลี่ยนจากเดิมเป็นคนละคน เริ่มปฏิเสธบทบาทการเป็นเมียและแม่ที่ดีตามที่คนทั่วไปยึดถือปฏิบัติ ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำสิ่งที่ใจนึกปรารถนาอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นทุกข์และสุขในการคิดถึงโรเบิร์ต คนรักผู้จากไกล

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเอ็ดน่ากับสามีเริ่มระหองระแหงไม่ราบรื่น นายปองติเยร์ก็จำต้องเดินทางไกลไปอยู่ต่างถิ่นในระยะยาวด้วยเหตุผลทางธุรกิจ เอ็ดน่าส่งลูกๆ ไปพำนักอาศัยอยู่กับแม่สามี สบช่องมีโอกาสเหมาะในการใช้ชีวิตตามลำพัง

เธอก้าวไปไกลเกินกว่าแค่ไม่ยอมอยู่ในโอวาทสามีอย่างไร้ปากเสียง แต่ถึงขั้นต่อต้าน ดื้อแพ่ง และหลุดพ้นจากการครอบงำ เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม เอ็ดน่าปฏิเสธการอยู่ต้อนรับแขกเหรื่อในงานเลี้ยงยามบ่ายประจำสัปดาห์ โดยไม่ยี่หระต่อคำตำหนิหรือมารยาททางสังคม ตัดสินใจเช่าบ้านหลังใหม่ ย้ายออกจากบ้านเดิมที่เคยอาศัยกับสามีมาตลอดชีวิตการแต่งงาน (ซึ่งเอ็ดน่าไม่เคยรู้สึกว่าที่นั่นเป็นบ้านของเธอ) มาพำนักตามลำพังในบ้านขนาดกระทัดรัด ซึ่งตั้งชื่อว่ารังนกกระจอก

สิ่งที่ท้าทายต่อศีลธรรมมากสุด คือเอ็ดน่ามีสัมพันธ์สวาทกับอัลเซ่ อาโรแบง ชายหนุ่มผู้ฉาวโฉ่ในแวดวงสังคมว่าเป็นเสือผู้หญิงตัวฉกาจ เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจทางกาย โดยเธอไม่ได้รู้สึกผิด แต่มีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ้าง นั่นคือความสุขทางเพศรสที่เธอได้รับไม่ได้เกิดจากความรัก และไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ชายที่เธอรัก

เรื่องมาขมวดเข้ม เมื่อโรเบิร์ตกลับจากเม็กซิโกในไม่กี่เดือนต่อมา ชายหนุ่มพยายามหลบเลี่ยงการพบปะเอ็ดน่า ครั้นเมื่อพบกันก็รักษาระยะห่าง ระมัดระวังตน เพื่อกลบเกลื่อนอำพรางความรู้สึกแท้จริงที่เขามีต่อเอ็ดน่า ก่อนที่เกราะป้องกันตนเองจะพังทลายในเวลาต่อมา คู่รักหนุ่มสาวเปิดเผยความในใจแท้จริงต่อกัน

แต่แล้วกลับเกิดเหตุด่วนมาขัดจังหวะ เอ็ดน่าถูกตามตัวไปเป็นเพื่อนมาดามราตินญอล ซึ่งกำลังเจ็บท้องใกล้คลอด ภายหลังการคลอดเสร็จสิ้น เอ็ดน่ากลับบ้านรังนกกระจอก ด้วยใจมุ่งหมายถึงโรเบิร์ตและความสุขที่รอคอยอยู่ แต่ก็พบกับความว่างเปล่า ชายหนุ่มจากไปแล้วพร้อมกับทิ้งข้อความสั้นๆ ไว้ว่า “ผมรักคุณ เพราะว่าผมรักคุณ ผมจึงต้องกล่าวลา”

เรื่องจบลงด้วยฉากทิ้งท้ายอันยอดเยี่ยม เอ็ดน่ากลับไปที่แกรนด์ไอล์ในช่วงฤดูหนาว ปราศจากนักท่องเที่ยว เธอก้าวลงทะเลในสภาพเปลือยเปล่า และว่ายน้ำอีกครั้ง

เรื่องย่อคร่าวๆ ที่ผมเล่ามา เป็นเรื่องย่อแฝงเจตนาเลวนะครับ

เลวอย่างแรกคือจงใจเปิดเผยความลับสำคัญอยู่หลายแห่ง ถัดมาคือเจตนาปิดบังละเว้นส่วนที่เป็นเหตุเป็นผลต่อการกระทำต่างๆ ของตัวละคร

ความตั้งใจเช่นนี้ เกิดจากความอยากลองนะครับว่า หากตัดเหตุผลทั้งสิ้นทั้งปวงออกไป เหลือเฉพาะการกระทำของตัวละครล้วนๆ ท่านที่ไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้มาก่อนจะรู้สึกอย่างไรต่อเอ็ดน่า

อีกประการคือเรื่องย่อในแบบแปลงสารที่ผมเล่า น่าจะช่วยให้จินตนาการไปถึง ‘ชื่อเสีย’ ฉาวโฉ่ที่นิยายเรื่องนี้ได้รับเมื่อครั้งอดีตกาล

สรุปซ้ำอีกครั้ง หากปราศจากการอธิบายเหตุและผล The Awakening ก็เป็นนิยายว่าด้วยผู้หญิงที่ละเมิดศีลธรรม ทั้งการนอกใจไปรักชายอื่น มิหนำซ้ำยังมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้รัก ทำตัวห่างไกลจากการเป็นภรรยาที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อบกพร่อง ซึ่งแม้กระทั่งในปัจจุบัน ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมทำใจยอมรับได้ยาก นั่นคือการละเลยต่อหน้าที่ความเป็นแม่

ผมสันนิษฐานว่า เมื่อคราวอดีต ตัวนิยายคงทำให้ผู้อ่านไม่พึงพอใจด้วยสาเหตุประมาณนี้ อาจรวมสมทบเพิ่มได้อีกอย่างด้วยว่า ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมน่าชิงชังรังเกียจ แต่ตลอดเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เคท โชแปงก็ใช้ทักษะฝีมืออันเยี่ยมยอดในการเขียน ทำให้ตัวละครอย่างเอ็ดน่าเป็นเสมือนวีรสตรีผู้กล้าหาญ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมไม่ได้เล่า และเป็นอรรถรสยอดเยี่ยมของนิยายเรื่องนี้ คือเหตุผลและคำอธิบายอย่างละเอียดพิสดารเกี่ยวกับ ‘โลกภายใน’ ของเอ็ดน่า ซึ่งพรรณนาอย่างถี่ถ้วน หนักแน่น สมจริง น่าเชื่อถือ และทรงพลังในการทำให้ผู้อ่านเข้าอกเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเอ็ดน่า จนไม่เพียงแต่จะยอมรับคล้อยตามเท่านั้น ทว่ายังสะเทือนใจโศกเศร้าไปกับชะตากรรมของเธอด้วย

เคท โชแปงเขียนนิยายเรื่องนี้ด้วยการใช้มุมมองของนักเขียนเป็นพระเจ้าผู้รอบรู้ทุกสรรพสิ่ง แต่ก็เน้นเจาะจงเล่าละเอียดเพียงความคิดในใจของเอ็ดน่าเป็นหลัก ตัวละครอื่นๆ มีการอธิบายความคิดเบื้องลึกในใจแต่เพียงน้อยนิดเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เรื่องเล่าได้ใจความสมบูรณ์

ผมคงไม่ลงสู่รายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของนิยายเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากบทกล่าวตามโดยคุณไอดา อรุณวงศ์ และบทความชื่อ ‘การกลับมาอีกครั้งของเทพีอโฟรไดที’ เขียนโดย ซานดรา เอ็ม. กิลเบิร์ต ซึ่งพิมพ์ผนวกรวมอยู่ในช่วงท้ายเล่ม ได้วิเคราะห์ทุกแง่ทุกมุมเอาไว้ได้ยอดเยี่ยมมากๆ

ขณะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมหักห้ามใจไม่อ่านทั้ง 2 บทความนะครับ ใดๆ ก็ตามที่เคยอ่านก็ผ่านมาหลายปี จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว จำได้แต่เพียงเป็นการวิเคราะห์ที่ลึกและเจริญสติปัญญาได้ดียิ่ง

หากกล่าวโดยรวบรัดย่นย่อ The Awakening เล่าถึงการตื่นของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งถูกค่านิยมของสังคม ศีลธรรม สถานะความเป็นแม่และความเป็นเมีย กล่อมเกลาให้หลับใหลหรือไม่ตระหนักถึงตัวตนและความรู้สึกเบื้องลึก เชื่อหรือเกิดความคิดว่าตนเองมีความสุขกับสภาพที่เป็นอยู่ จนวันหนึ่งเกิดสิ่งกระตุ้นเตือนให้ตื่นจากภาวะหลับใหลนั้น ค้นพบตัวเอง เกิดแรงปรารถนาจะเป็นอิสระเสรีจากพันธนาการต่างๆ และลุกขึ้นมาใช้ชีวิต เป็นตัวของตัวเอง รวมถึงต้องปะทะขัดแย้งกับโลกรอบข้างที่แตกต่างเป็นอื่น เกิดความแปลกแยก โดดเดี่ยว

ใจความสำคัญคร่าวๆ คงประมาณนี้นะครับ สิ่งที่ผมอยากกล่าวถึงก็คือ The Awakening ไม่เพียงแต่เป็นงานเขียนที่มีประเด็นเนื้อหาสาระยอดเยี่ยม เขียนขึ้นอย่างกล้าหาญชาญชัย มีความลึกซึ้งในประเด็นที่ตั้งใจนำเสนอเท่านั้น ในแง่ของการเขียน นิยายเรื่องนี้ยังเข้าข่าย ‘เขียนดีเหลือเกิน’ จนหยิบมาอ่านซ้ำเพื่อเรียนรู้ศึกษาได้ไม่รู้จบรู้สิ้น

ความโดดเด่นอย่างแรกคือ สำนวนภาษา เรียบง่าย คมคาย มีชีวิตชีวา ชวนอ่านชวนติดตาม

ถัดมาคือ การดำเนินเรื่องที่กระชับฉับไว รัดกุม ไม่เยิ่นเย้อน่าเบื่อ ยิ่งเมื่อคำนึงถึงช่วงเวลาที่เขียน ถือว่าเป็นท่วงทีลีลาที่ล้ำสมัยเอามากๆ

แต่ที่ยอดเยี่ยมกว่านั้น The Awakening ทำให้ผมนึกถึงหนังจำพวกหนึ่ง ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในเนื้องานล้วนสำคัญ จำเป็น และมีความหมายต่อการนำพาผู้อ่านไปสู่แก่นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร (ทั้งหมด) ฉากหลัง (เช่น บ้านและทะเล)  เหตุการณ์ (การว่ายน้ำ การบรรเลงเปียโนของมาดมัวแซลไรซ์) ฯลฯ

ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งรายละเอียดยิบย่อยสารพัดสารพันที่ปรากฏในนิยายเรื่องนี้ (แม้กระทั่งนกแก้วปากเสียที่พูดจาสบถคำหยาบในฉากเปิดเรื่องและอีกครั้งในฉากงานเลี้ยง) ล้วนมีบทบาทแฝงความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ นอกเหนือไปจากการประกอบรวมเพื่อผลลัพธ์ในการเล่าเรื่อง

ความน่าทึ่งก็คือ ทั้งหมดที่กล่าวมาระคนปนกันไปกับการดำเนินเรื่องอย่างแนบเนียน ตรงที่ควรเน้นก็บ่งชัด ตรงที่ควรซ่อนหรือบอกกล่าวเป็นนัยๆ ก็จัดวางไว้ลึก อ่านแบบทำความเข้าใจตรงๆ ตามตัวอักษรก็ได้รับสารและสาระไม่ตกหล่น อ่านแบบครุ่นคิดตีความหมายก็เต็มไปด้วยแง่มุมให้จับต้องแพรวพราวไปทั่ว

ที่สำคัญคืออ่านแล้วไม่รู้สึกหรือสังเกตเห็นร่องรอยของความยัดเยียดจงใจ ไม่แห้งแล้งเป็นกลไก ไม่ชี้นำผู้อ่านจนกลายเป็นการเทศนาสั่งสอน

มีอยู่หลายตอนที่เขียนโดยตั้งใจอธิบาย แต่ก็เป็นคำอธิบายในแบบพอเหมาะกำลังดี และมีเพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ รวมทั้งทิ้งไว้ให้คิดต่อไปได้อีก

ความยอดเยี่ยมต่อมา เป็นสิ่งที่ถูกชื่อเสียงอันลือลั่น ทั้งเนื้อหาที่มาก่อนกาล และประวัติความเป็นมาอันโศกระทมที่นิยายเรื่องนี้พบเผชิญ บดบังจนจมหาย (ตรงนี้ผมพูดด้วยความไม่แน่ใจนะครับ เอาเป็นว่าผมไม่เคยอ่านเจอหรือผ่านตาจะดีกว่า) นั่นคืออารมณ์โรแมนติก อารมณ์ขัน และความซาบซึ้งสะเทือนใจ

The Awakening เป็นนิยายที่ตราตรึงกัดกินใจผมมากอย่างนึกไม่ถึง มันเล่าเรื่องแบบไปเรื่อยๆ เรียบสงบ แต่ถึงจุดหนึ่งโดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ก็ปรากฏความหม่นเศร้าเข้าปกคลุม เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกสารพัดสารพันโถมเข้าใส่ผู้อ่าน

เป็นวิธีการสร้างความสะเทือนใจที่เร้าอารมณ์ผู้อ่านเพียงน้อย แต่ได้ผลออกฤทธิ์ทำลายล้างรุนแรง แนบเนียน และเหนือชั้นเหลือเกิน

ตอนที่อ่านจบลง ผมนึกไปถึงหนังเรื่อง The Age of Innocence ของมาร์ติน สกอร์เซซี อารมณ์ความรู้สึกนั้นแตกต่างไม่เหมือนกันหรอกนะครับ แต่อาการบาดเจ็บทางใจนั้น สาหัสเอาตายหนักหน่วงประมาณเดียวกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save