fbpx

ชายหนุ่มผู้ล้มเหลวในการรักหญิงสาว The Age of Innocence

หนังเรื่อง The Age of Innocence ครบรอบ 30 ปีพอดิบพอดีในตอนที่เพิ่งเผยแพร่ให้ดูใน Netflix ช่วงที่ผ่านมา

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย นักดูหนังจำนวนไม่น้อยพากันตื่นเต้น รอคอย และสงสัยใคร่รู้ว่าหนังจะออกมาดีร้ายอย่างไร เนื่องจากเป็นการจับคู่ที่แปลกและดูเหมือนเคมีจะไม่เข้ากัน ระหว่างสุดยอดผู้กำกับอย่างมาร์ติน สกอร์เซซี กับการดัดแปลงนิยายเรื่องสำคัญของอีดิธ วอร์ตัน

ผลงานของทั้งสองท่านนี้แตกต่างและตรงข้ามกันเป็นคนละขั้ว สกอร์เซซีเป็นผู้กำกับประเภทจอมขยัน ทำหนังเยอะและต่อเนื่อง ครอบคลุมหลากหลายแนวทาง (นับรวมจนถึงปัจจุบันน่าจะกล่าวได้ว่าแทบจะครบถ้วนหมดสิ้น) โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาว่าด้วยปมขัดแย้งในใจของตัวละครที่ต้องเผชิญและขับเคี่ยวกับความรู้สึกผิดบาป หรือรูปแบบทางศิลปะอันจัดจ้าน

คุณสมบัติอย่างหลังนี้ ทำให้สกอร์เซซีได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘นายของหนัง’ สำหรับความเชี่ยวชาญในการนำเทคนิคต่างๆ ทางภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดองค์ประกอบภาพ มุมกล้องและการเคลื่อนกล้อง การตัดต่อลำดับภาพ รวมถึงเทคนิคปลีกย่อยสารพัดสารพัน (บางอย่างก็เป็นเทคนิคที่พ้นยุคและเลิกใช้ไปแล้ว เช่น iris shot หรือการถ่ายภาพแบบบังเฟรมให้เป็นวงกลม ดังเช่นที่พบเห็นกันบ่อยๆ ในตอนจบของหนังการ์ตูน) มาใช้ในหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนนักเขียนที่เลือกสรรถ้อยคำเพื่อเล่าเรื่องได้อย่างเหมาะเจาะ มีทั้งรสคำและรสความ

หนังของสกอร์เซซีเหมือนมวยบู๊ โผงผาง บ้าพลัง จู่โจมผู้ชมด้วยลีลากระแทกกระทั้น ตัวละครไม่เก็บงำอำพรางอารมณ์ความรู้สึก แต่ปลดปล่อยและระเบิดความในใจแบบไหลหลั่งพรั่งพรู เต็มไปด้วยความดิบความกร้าว

ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับงานเขียนของอีดิธ วอร์ตัน ซึ่งอยู่ในสกุลศิลปะแบบธรรมชาตินิยม (Naturalism) เน้นความสมจริง หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งเพื่อบีบคั้นเร้าอารมณ์ ปล่อยให้เรื่องราวและรายละเอียดที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ ซึมซับและนำพาผู้ชมไปสู่อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ด้วยตนเอง

ยิ่งไปกว่านั้น งานเขียนของอีดิธ วอร์ตัน มักกล่าวถึงสังคมผู้ดีในนิวยอร์ก (เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา) พรรณนาสาธยายให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่หรูหรา เต็มไปด้วยจารีตธรรมเนียมปฏิบัติมากมาย จนนำไปสู่แก่นเรื่องว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคลกับสังคมรอบข้าง

ที่สำคัญคือตัวละครในนิยายของอีดิธ วอร์ตัน อยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยกฎ กติกา มารยาท จนกระทั่งไม่สามารถยืนกรานแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้ถนัดชัดแจ้ง ต้องปกปิดเก็บงำและควบคุมอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกไม่ให้ปรากฏต่อสายตาผู้อื่น สวมใส่หน้ากากเกือบจะตลอดเวลา

ความแตกต่างตรงข้ามที่กล่าวมา ทำให้ใครและใครมากมายพากันสงสัยว่า มาร์ติน สกอร์เซซีจะทำ The Age of Innocence ออกมาอย่างไร?

ไม่มีใครสงสัยหรอกนะครับว่าหนังจะออกมาดีหรือไม่ ข้อนี้ทุกคนไว้เนื้อเชื่อใจฝีมือของมาร์ติน สกอร์เซซีเต็มร้อย แม้กระทั่งงานของเขาที่ล้มเหลวสุดๆ ในด้านรายได้และคำวิจารณ์ก็ยังคงห่างไกลจากการเป็นหนังเลว

สกอร์เซซีเป็นหนึ่งในผู้กำกับน้อยคนที่ทำหนังได้แค่ 2 แบบ คือดีมากๆ กับดีพอประมาณ

ประเด็นที่ผู้คนคลางแคลงใจจึงอยู่ที่ว่า สกอร์เซซีจะดัดแปลงนิยายที่เต็มไปด้วยตัวละครเก็บอาการ อมพะนำ ปกปิด กลบเกลื่อนอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งขัดแย้งสวนทางกับหนังในลีลาที่เขาถนัดออกมาเช่นไร โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ผลลัพธ์คือสกอร์เซซีสอบผ่านฉลุยเลยนะครับ ลายเซ็นเครื่องหมายการค้าต่างๆ ที่มิตรรักแฟนเพลงคุ้นเคยกันดียังคงมีอยู่ครบถ้วน พร้อมๆ กันนั้นก็เป็นการดัดแปลงงานเขียนของอีดิธ วอร์ตันออกมาได้อย่างเข้าถึงแก่นแท้

ผมชอบหนังเรื่องนี้ตั้งแต่คราวได้ดูเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และยังฝังใจจดจำหลายฉากเด่นๆ ได้ไม่รู้ลืม แต่การดูซ้ำในปัจจุบัน (ด้วยช่วงวัยใกล้เคียงกับตัวเอกในตอนจบ) ก็ทำให้เพิ่งเข้าอกเข้าใจเป็นครั้งแรก

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือแต่เดิมผมไม่เคยรู้สึกว่า The Age of Innocence เป็นหนังที่ดูสนุก (ในกาลก่อนผมรู้สึกว่าหนังค่อนข้างไปทางน่าเบื่อเสียด้วยซ้ำ) แต่กับการติดตามครั้งล่าสุดกลับกลายเป็นว่าสนุกมาก จนเวลา 2 ชั่วโมง 18 นาทีผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น ยังเต็มไปด้วยความร้าวรานสะเทือนอารมณ์อยู่ตลอดทั่วทั้งเรื่อง

เป็นหนังรักที่ใจร้ายและเลือดเย็นสุดๆ อีกเรื่องหนึ่งเท่าที่ผมเคยดูมา

มี 2 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ความรู้สึกของผมต่อหนังเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปไกล จากที่เคยชอบมากเป็นฉากๆ เฉพาะช่วงเฉพาะตอน มาเป็นหลงใหลประทับใจต่อภาพรวมทั้งหมด อย่างแรกคืออายุขัยที่เจริญวัยใกล้จะมีคำว่า ‘วุฒิ’ ต่อท้าย อย่างถัดมา คือระยะหลังผมมีโอกาสอ่านและคุ้นเคยกับวรรณกรรมสายแข็งที่เน้นการสะท้อนเนื้อหาสาระมากกว่าความหวือหวาโลดโผนของพล็อตเรื่อง จึงกลายเป็นตัวช่วย ทำให้ค้นพบความบันเทิงอีกลักษณะหนึ่งได้ดีขึ้น

พล็อตกว้างๆ ของ The Age of Innocence เป็นเรื่องรักระหว่างชายหนึ่งหญิงสอง ดูเผินๆ ก็เหมือนนิยายชิงรักหักสวาททั่วไป จริงๆ แล้วก็ใช่นะครับ แต่เรื่องราวและรายละเอียดพาไปไกลกว่านั้นเยอะ

ฉากหลังและเวลาในเรื่อง คือนิวยอร์กในทศวรรษ 1870 (นิยายเรื่อง The Age of Innocence ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1920) นิวแลนด์ อาเชอร์ ทนายความหนุ่มรูปหล่อ จากครอบครัวฐานะดี หมั้นหมายกับเมย์ เวลแลนด์ สาวสวยจากตระกูลมั่งคั่งและทรงอิทธิพลทัดเทียมกัน เหตุการณ์ทุกอย่างน่าจะลงเอยราบรื่นและมีความสุข ถ้าหาก ‘มือที่สาม’ ไม่ปรากฎตัว

เธอผู้นั้นคือ เคาน์เตสเอลเลน โอแลนสกา (ลูกพี่ลูกน้องของเมย์) ซึ่งเดินทางจากยุโรปกลับมาใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก พร้อมกับข่าวลืออื้อฉาว ชีวิตแต่งงานพังไม่เป็นท่า จนต้องหลบหนีสามีและตระเตรียมจะฟ้องหย่า

เอลเลนมาอยู่นิวยอร์กโดยได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชาเหินห่างจากสังคมผู้ดีที่นั่น หนักข้อกว่านั้นคือเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ และตกเป็นหัวข้อซุบซิบนินทาอย่างสนุกปากต่างๆ นานา

ในฐานะ ‘ว่าที่ญาติ’ นิวแลนด์จึงยื่นมือเข้าช่วยเหลือเอลเลน ด้วยการประกาศข่าวการหมั้นของตนเองในงานเต้นรำประจำปี เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คน รวมทั้งออกปากขอความช่วยเหลือจากตระกูลอันเป็นที่นับหน้าถือตาในนิวยอร์ก จนกระทั่งครอบครัวอื่นๆ ยอมรับเอลเลน (อย่างไม่เต็มใจ แต่จำต้องโอนอ่อนผ่อนตาม เพราะเกรงใจหลายครอบครัวใหญ่ที่สนับสนุนเธออยู่)

เหตุการณ์ดังกล่าวนำพาไปสู่ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างเอลเลนกับนิวแลนด์ กระทั่งกลายเป็นความรัก (ในแง่นี้ หนังแสดงถึงความเป็นไปได้ว่า สิ่งที่นิวแลนด์ทำเพื่อญาติของคู่หมั้นอาจเกิดจากความรักตั้งแต่ต้น)

เรื่องราวส่วนใหญ่ที่เหลือถัดจากนั้น ว่าด้วย ‘รักต้องห้าม’ บนสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ โดยสิ้นเชิง ท่ามกลางความพยายามต่อต้านขัดขืนของนิวแลนด์ อาเชอร์ ซึ่งลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า

ความล้มเหลวและพ่ายแพ้ของนิวแลนด์ อาเชอร์ เกิดจากสาเหตุหลายประการ อย่างแรกคือเขาอ่อนแอเกินไป (หนังให้ข้อมูลสำคัญเอาไว้ในช่วงต้นผ่านเสียงบรรยายของผู้เล่าเรื่อง ว่านิวแลนด์ อาเชอร์ เป็นตัวของตัวเอง ประพฤติปฏิบัติสวนกระแสจากผู้อื่น เมื่ออยู่ตามลำพัง แต่เมื่อเข้าสังคม เขาก็คล้อยตามและอยู่ในร่องในรอยเหมือนคนอื่นๆ) พูดอีกแบบคือนิวแลนด์ผ่านการใช้ชีวิตตามครรลองของสังคม กระทั่งกลายเป็นชาวนิวยอร์กเต็มตัว

อุปสรรคต่อมาคือเอลเลน ซึ่งตกหลุมรักชายหนุ่มด้วยอารมณ์และแรงปรารถนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นอกจากปัญหาข้อผูกมัดจากการแต่งงานที่ยังคาราคาซังเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว เอลเลนยังกลายเป็นขวากหนามต่อความรักต้องห้าม (ของตัวเธอเอง) ด้วยจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว เป็นตัวของตัวเอง และความคิดที่ชัดเจนของเธอ ซึ่งไม่ต้องการมีความสุขบนความทุกข์ของเมย์ ญาติผู้น้อง และยินดี ‘ทน’ ต่อความเจ็บปวดใดๆ ทั้งปวงที่เกิดจากความรัก

อีกหนึ่งอุปสรรคที่หนักหนาไม่แพ้กันคือเมย์ หญิงสาวผู้ดูเหมือนใสซื่ออ่อนต่อโลก แต่ลึกๆ แล้วชาญฉลาดล้ำ ซ่อนความเจ้าเล่ห์เพทุบายไว้อย่างแนบเนียน เธอระแคะระคายสงสัยถึงการมีใจเป็นอื่นของคนรัก แต่ไม่แสดงอาการกระโตกกระตาก และทำตัวเหมือนไม่รู้เท่าทัน ยังคงวางตัวเป็นคนรักและภรรยาผู้แสนดี อ่อนหวาน นุ่มนวล แต่รู้วิธีคุมเกมให้ผลลัพธ์ทุกอย่างเป็นดั่งใจ

ประการสุดท้าย คือสังคมผู้ดีนิวยอร์กในช่วงทศวรรษ 1870 ‘ผู้ร้าย’ ตัวจริงของหนังและนิยายเรื่องนี้

The Age of Innocence พรรณนาสาธยายโลกของผู้ดีนิวยอร์กอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งความเป็นอยู่หรูหรา งานเลี้ยงสารพัดสารพัน กิจกรรมบันเทิงต่างๆ นานา ความไร้สาระของผู้คนที่ใช้ชีวิตปราศจากแก่นสาร สาละวนสนใจอยู่กับเรื่องนินทาว่าร้าย เฝ้าสรรหา ‘เหยื่อ’ คนแล้วคนเล่ามาเป็นเป้าของเรื่องซุบซิบติฉิน เพื่ออวดความเป็นคนดีมีศีลธรรมและจิตใจอันสูงส่งของตนเอง

หนักหนากว่านั้น มันเป็นโลกอันโหดร้ายที่มากด้วยกฎ กติกา มารยาท และจริต ซึ่งควบคุมพันธนาการผู้คนในแวดวงนั้นจนหมดสิ้นความเป็นตัวของตัวเอง ทุกคนต้องวางตัวคล้อยตามความเห็นชอบหรือจารีตของส่วนรวม ไม่เฉพาะเพียงแค่ต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกหลักศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงคำพูดคำจา การกินอยู่ ฐานะทางการเงิน มารยาทในการเข้าสังคม (ซึ่งเต็มไปด้วยระเบียบแบบแผนยุบยิบหยุมหยิม) จนแม้กระทั่งจะแต่งตัวอย่างไรก็ยังมีกาลเทศะบังคับอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นี่ยังไม่นับรวมถึงทัศนคติเกี่ยวกับสถานะระหว่างหญิงชาย ซึ่งแตกต่างเหลื่อมล้ำจนเห็นได้ชัด (แง่มุมนี้สะท้อนผ่านเรื่องการหย่าร้าง ซึ่งสังคมมองว่าหากผู้ชายเป็นฝ่ายฟ้องหย่า เป็นเรื่องสามารถยอมรับได้ ทว่าเมื่อผู้หญิงเรียกร้องสิ่งเดียวกัน กลับกลายเป็นเรื่องเสื่อมเสียอื้อฉาว)

กล่าวโดยรวม มันเป็นโลกและสังคม ‘หน้าไหว้หลังหลอก’ ที่โหดเหี้ยมอำมหิตซึ่งฉาบเคลือบไว้ด้วยภายนอกอันสวยหรูและวาจาไพเราะอ่อนหวาน

สภาพแวดล้อมและสังคมรอบข้างที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตบุคคล เป็นประเด็นใจความหลักซึ่งพบเห็นได้เสมอในนิยายของอีดิธ วอร์ตัน และมาร์ติน สกอร์เซซีก็ถ่ายทอดแง่มุมต่างๆ เหล่านี้ออกมาในหนัง The Age of Innocence ได้อย่างสุดแสนจะเจ็บปวดร้าวราน (รวมทั้งเต็มไปด้วยอารมณ์เสียดสีเย้ยหยัน)

นิยายที่มีเรื่องราวและเนื้อหาอย่าง The Age of Innocence นั้น หากเปลี่ยนมือเป็นผู้กำกับอื่น พอจะนึกคะเนได้ไม่ยากนะครับว่าโทนของหนังคงออกมาอ้อยอิ่ง เนิบนาบ และละเมียดละไม

ผมแยกแยะเอาเองนะครับว่า มาร์ติน สกอร์เซซี กำกับหนังเรื่องนี้โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือช่วงที่เกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่อง และช่วงที่ว่าด้วยการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ

ส่วนแรกนั้นเต็มไปด้วยการใช้ลูกเล่นเทคนิคต่างๆ ทางภาพยนตร์ สร้าง ‘ภาษาหนัง’ ตามความถนัดของเขา เพื่อเล่าเรื่องต่างๆ อย่างกระชับฉับไว (ตัวอย่างที่เด่นมากคือฉากดูโอเปราตอนเปิดเรื่องความยาวประมาณ 8 นาที เล่าปูพื้นฐานสำคัญๆ ไว้เกือบครบถ้วน ทั้งบรรยากาศของยุคสมัย ตัวละครหลักๆ เกือบทั้งหมด โลกของผู้ดีนิวยอร์ก รวมทั้งเงื่อนและความขัดแย้งต่างๆ สำหรับเรื่องราวที่เหลือ) ผ่านการตัดต่อและเคลื่อนกล้องที่หวือหวาฉวัดเฉวียน

เทคนิคลูกเล่นต่างๆ ข้างต้นนั้น มีอยู่แพรวพราวเต็มไปหมดตลอดทั้งเรื่อง และช่างคิดสร้างสรรค์มาก ทั้งหมดนี้ส่งผลอยู่ 2 ประการ อย่างแรกคือเป็นการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ชมรู้สึกตัวอยู่เป็นระยะๆ ว่ากำลังดูหนังโดยไม่ปกปิดอำพราง เป็นการสร้างท่วงทีลีลาในการเล่าเรื่องอีกรูปแบบหนึ่ง อาจดูแปลกแปร่งอยู่บ้างในเบื้องต้น แต่เมื่อผู้ชมคุ้นชินแล้วก็สามารถติดตามไปด้วยความรู้สึกราบรื่น

อาจเทียบเคียงได้อย่างนี้ครับว่าช่วงเล่าเรื่องอันเปี่ยมด้วยลูกเล่นดังที่กล่าวมา ทำหน้าที่ทดแทนบทบรรยายเกี่ยวกับฉาก และสภาพแวดล้อมในนิยาย เพียงแต่เปลี่ยนจากการใช้ถ้อยคำมาเป็นการเล่าด้วยภาพ

ผลบวกต่อมาคือลูกเล่นโลดโผนทั้งปวงเหล่านี้ เมื่อประกอบรวมกับเสียงบรรยายเล่าเรื่องในบางบทบางตอนแล้ว มันสร้างและแสดงนัยยะของการเสียดสีเย้ยหยันเอาไว้ด้วย (เช่น ฉากที่นิวแลนด์คุยกับเจ้านายเกี่ยวกับคดีความหย่าร้าง ผู้ชมได้ยินเสียงพูดคุยของทั้งสอง แต่ภาพที่เห็นกลับเป็นอาหารหรูหราจานแล้วจานเล่าที่นำมาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร ซึ่งน่าทึ่งมากที่รับส่งกับถ้อยสนทนาอย่างเหมาะเจาะ)

ทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับช่วงเน้นอารมณ์ ซึ่งอาจจะมีการใช้ลูกเล่นภาษาภาพอยู่บ้าง แต่ก็คุมระดับจนไม่โดดเด่นโจ่งแจ้งนัก เท่าที่มีก็เป็นการนำมาใช้เพื่อขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกในใจของตัวละครให้ชัดกระจ่างยิ่งขึ้น

พ้นจากนั้นแล้ว หนังปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์เรื่องราวในนิยาย ซึ่งมีความเข้มข้นเป็นทุนเดิม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักแสดงฉายศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่

ส่วนแสดงอารมณ์ในหนังเรื่องนี้ มีฉาก ‘เจ็บเจียนตาย’ อยู่มากมายเต็มไปหมด ทุกฉากไม่ได้โศกเศร้าเรียกน้ำตา แต่บาดลึกและเชือดเฉือน ดูแล้วก็เกิดอาการหัวใจเจ็บแปลบ

การแสดงในหนังเรื่องนี้ดีแบบแปลกๆ กล่าวคือถ้าจะให้เลือกฉากใดฉากหนึ่งออกมาเพื่อโชว์ความสามารถของนักแสดง ผมพบว่าเลือกยากหรือแทบไม่มีเลย

พูดอีกแบบคือยกมาเป็นฉากๆ แล้วดูปกติธรรมดา ไม่มีอะไรโดดเด่น แต่ถ้าดูตั้งแต่ต้นจนจบ จะรู้สึกได้ทันทีว่ายอดเยี่ยมมาก

ผมเล่าได้อย่างนี้ครับ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก่อนดูหนัง ผมคลั่งไคล้วิโนนา ไรเดอร์ (ผู้รับบทเป็นเมย์ เวลแลนด์) และเฉยๆ กับมิเชล ไฟเฟอร์ (ผู้รับบทเป็นเอลเลน โอแลนสกา) และชอบฝีมือการแสดงของแดเนียล เดย์ ลูอิส

แต่ฉับพลันทันทีที่ดู The Age of Innocence ผมรักและเอาใจช่วยเอลเลน โอแลนสกา สงสารระคนเวทนานิวแลนด์ อาร์เชอร์ กลัวและเกลียดเมย์ เวลแลนด์ ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยความเก่งกาจของผู้กำกับ ด้วยความเลอเลิศในการสร้างตัวละครให้มีเลือดเนื้อชีวิตจิตใจจากนิยาย

และแน่นอนที่สุดว่าด้วยการแสดงอันแสนวิเศษ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save