fbpx

สุภาพบุรุษนักฝัน The Great Gatsby

ผมรู้พล็อตและบทสรุปตอนจบใน The Great Gatsby ของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ เนิ่นนานหลายปีก่อนจะได้อ่านตัวนิยาย จากบทความที่กล่าวถึงวรรณกรรมเรื่องนี้ รวมทั้งจากการดูหนังฉบับปี 2013 กำกับโดยบาซ เลอห์มานน์

เล่ากันอย่างย่นย่อ เป็นเนื้อเรื่องประเภทแทบจะไม่มีอะไรต่างจากนิยายรักโศกสะเทือนใจที่มีอยู่ดาษดื่น ชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งรักกัน เขามีฐานะยากจน เธอมีฐานะดีกว่า ต่อมาฝ่ายชายไปเป็นทหาร เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนสงครามสงบแล้ว เขาก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะกลับมา ลงท้ายฝ่ายหญิงตัดสินใจแต่งงานกับชายอื่น หลายปีต่อมา เขาปรากฏตัวอีกครั้ง กลายเป็นเศรษฐี และทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อติดตามค้นหาเธอ และมุ่งหวังว่าจะได้กลับมาครองคู่กันอย่างมีความสุข ก่อนที่อุปสรรคกีดขวางต่างๆ นานาจะทำให้เรื่องราวจบลงแบบ ‘ฝันสลาย’

เนื้อเรื่องข้างต้นไม่ได้ทำให้ผมเกิดความสนใจนึกอยากอ่าน The Great Gatsby เลยนะครับ แรงดึงดูดนั้นมาจากปัจจัยอื่น

อย่างแรกคือ ความสงสัยใคร่รู้ว่าเพราะเหตุใดงานเขียนชิ้นนี้จึงขึ้นหิ้งคลาสสิก เป็นนิยายเรื่องสำคัญในแวดวงวรรณกรรมโลก

ถัดมาคือ ในนิยายรุ่นหลังจำนวนมาก (รวมถึงหนังหลายๆ เรื่อง) มักจะนำเสนอให้เห็นตัวละครอ่านนิยายเรื่องนี้และกล่าวถึงด้วยความชื่นชมหลงใหล ผมจำไม่ได้แน่ชัดว่ามีนิยายและหนังเรื่องอะไรบ้าง ที่พอจะอ้างได้ด้วยความมั่นใจก็คือในงานเขียนของฮารุกิ มุราคามิ

ในบ้านเรา มี The Great Gatsby ฉบับภาษาไทยอยู่หลายสำนวน ได้แก่ รักเธอสุดที่รัก (แปลโดย ศ. ปรางค์), เดอะ เกรต แกตส์บี (แปลโดยชลลดา ไพบูลย์สิน), แกตสบี้…ผู้ยิ่งใหญ่ (แปลโดยมาศสวรรค์ จำปาสุต) และ แก็ตสบี้ความหวังยิ่งใหญ่และหัวใจมั่นคง (แปลโดยโตมร ศุขปรีชา)

ฉบับที่ผมอ่านได้และหยิบมาแนะนำเชิญชวน คือแก็ตสบี้ความหวังยิ่งใหญ่และหัวใจมั่นคง

อ่านแล้วก็สิ้นสงสัย เกิดความกระจ่างแจ้งแก่ใจว่านิยายเรื่องนี้ดีงามอย่างไร พูดสั้นๆ คือ ยอดเยี่ยมสมดังคำร่ำลือที่เคยสดับรับรู้มาทุกประการ

จนถึงขณะนี้ ผมอ่าน The Great Gatsby จบไปแล้ว 2 ครั้ง และป่าวประกาศล่วงหน้าได้เลยว่าหากสบโอกาสเหมาะ คงได้อ่านอีกหลายครั้งหลายครา มันเป็นนิยายประเภทที่สามารถหยิบมาอ่านซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ ยิ่งอ่านก็ยิ่งชื่นชอบประทับใจมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการพบเห็นความยอดเยี่ยมละเอียดถี่ถ้วนขึ้นตามลำดับ

หนแรกสุดที่ผมอ่าน สิ่งที่ได้รับคือความรู้สึกจับอกจับใจไปกับเรื่องราวสะเทือนอารมณ์บาดลึก ครั้งถัดมา เป็นความชื่นชอบที่มีต่อชั้นเชิงลีลาการเขียนอันยอดเยี่ยมของเอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์

ความดีงามแรกสุดของนิยายเรื่องนี้คือเป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่สนุกชวนอ่านชวนติดตามตลอดทั้งเรื่อง เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ผมควรระบุเพิ่มเติมว่าเป็นรสบันเทิงที่แตกต่างจากนิยายประเภทเบสต์เซลเลอร์ ซึ่งมักจะเน้นความเข้มข้นของพล็อตและเหตุการณ์ เต็มไปด้วยช่วงตอนเร้าอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาและโจ่งแจ้งจงใจ

The Great Gatsby ห่างไกลและไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยสักนิด เบื้องต้นคือเป็นการเล่าพล็อตแบบนิยายรักพาฝันให้ออกมาลึกและเกิดความสมจริงน่าเชื่อถือ ถัดมาเป็นลำดับแบบแผนในการดำเนินเรื่องที่ผิดแผกจากขนบคุ้นเคยในนิยายประเภทเดียวกัน และสุดท้าย เต็มไปด้วยการเร้าอารมณ์สะเทือนใจอันเปี่ยมด้วยชั้นเชิงและกลวิธีทางศิลปะอย่างแนบเนียน ดูเผินๆ เหมือนจะเรียบง่าย ไม่โน้มน้าวบีบคั้นถึงขั้น ‘เอาตาย’ แต่ลึกๆ แล้วผ่านการออกแบบอย่างประณีตพิถีพิถัน เพื่อเป้าหมายทางอารมณ์ที่ดียิ่งกว่าเรียกน้ำตาผู้อ่าน นั่นคือการกรีดเฉือนบาดลึกภายในและชวนให้รู้สึกใจสลาย

โดยพล็อตหลักแล้ว The Great Gatsby เป็นเรื่องความรักและความสัมพันธ์ระหว่างเจย์ แก็ตสบี้ กับ เดย์ซี บูคานัน แต่นิยายก็ไม่ได้เล่าเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับตัวเอกทั้งสองออกมาโดยตรง เรื่องทั้งหมดนำเสนอผ่านมุมมองคำบอกเล่าของอีกตัวละครคือ นิก คาราเวย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่วงนอก (นิคเกี่ยวดองเป็นญาติกับเดย์ซี แต่ไม่ได้สนิทชิดเชื้อกันมากนัก และเป็นเพื่อนบ้านติดกันกับแก็ตสบี้)

การใช้มุมมองผู้เล่าเรื่องเช่นนี้ ทำให้ผู้อ่านมีสภาพใกล้เคียงกับนิก คือเริ่มต้นด้วยข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับแก็ตสบี้ผู้ร่ำรวย มีพฤติกรรมแปลกประหลาดและลึกลับ เขาจัดปาร์ตี้หรูหราสุดเหวี่ยงที่บ้านแทบทุกคืน มีแขกทั้งที่ได้รับเชิญและไม่ได้รับเชิญหลายร้อยคน ทว่าผู้มาร่วมงานเลี้ยงส่วนใหญ่แทบไม่เคยเห็นหรือได้พบปะเจ้าภาพ จนนำไปสู่คำซุบซิบนินทา และเรื่องคาดเดานินทาว่าร้ายต่างๆ นานาเกี่ยวกับตัวแก็ตสบี้ ว่าเคยเป็นใคร เคยเป็นอะไร และร่ำรวยล้นฟ้ามาได้อย่างไร

พูดอีกแบบได้ว่า เนื้อหาหลักส่วนหนึ่ง คือการพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเจย์ แก็ตสบี้ทีละนิด ซึ่งมีทั้งเรื่องราวข้อมูลที่เป็นความจริงและเรื่องโกหกผสมปนกัน หลายเรื่องราวก็ขัดแย้งหักล้างกันเองจากการบอกเล่าและให้ปากคำของหลายๆ ฝ่าย แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ ภาพและตัวตนที่แท้จริงของแก็ตสบี้ก็ค่อยๆ เด่นชัดขึ้น พร้อมๆ กับการเผยความลับออกมาทีละเปลาะ

การเผยความลับในนิยายเรื่องนี้ใช้วิธีนำเสนอที่ผมไม่เคยพบเจอมาก่อน และเป็นลีลาการเขียนที่สดใหม่มาก อธิบายง่ายๆ คือเป็นการเผยความลับตามปกติทั่วไป ไม่มีอะไรแปลกพิสดาร แต่สิ่งที่ทำให้เกิดผลลัพธ์พิเศษมากก็คือ ทุกๆ ความลับหรือเหตุการณ์สำคัญ ได้รับการบอกเล่าผ่านๆ คร่าวๆ เหมือนไม่เน้น หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นบอกกล่าวแบบอ้อมๆ ไม่ลงลึกในรายละเอียด

เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเกิดขึ้นในหนังหรือนิยายส่วนใหญ่ ถือเป็นฉากสำคัญที่จะต้องขับเน้นกันอย่างถี่ถ้วน แต่เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือนำเสนอออกมาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผลคือนิยายเรื่องนี้ปลอดพ้นจากการคร่ำครวญฟูมฟาย ถัดมาคือความน้อยมัธยัสถ์ในการบอกเล่า ทำให้ความลับและเหตุการณ์สำคัญๆ ชวนให้ตระหนกตกใจและรบกวนความรู้สึกของผู้อ่าน จนยากจะสลัดตัดทิ้งไปได้ง่ายๆ และต้องวนเวียนนึกถึงอยู่เนืองๆ

ที่สำคัญ ความน้อยนั้นเปิดพื้นที่ให้จินตนาการของผู้อ่านทำงานอย่างเต็มเปี่ยม จนมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการเร้าอารมณ์สะเทือนใจกันด้วยวิธีตามปกติ

วิธีเล่าเรื่องผ่านมุมมองของนิกยังส่งผลเชื่อมโยงไปสู่ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของ The Great Gatsby นั่นคือการจัดวางเหตุการณ์ต่างๆ แบบไม่เรียงลำดับตามเวลา มีการตัดสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนะครับ ว่าพล็อตของนิยายเรื่องนี้ธรรมดามาก (จะเรียกว่าน้ำเน่าก็ได้) แต่ด้วยวิธีการเขียน สำนวนโวหาร การเลือกขับเน้นสิ่งใดและรวบรัดตัดความหลายช่วงสำคัญ (พูดง่ายๆ คือเป็นการเลือกที่จะเล่าและไม่เล่าอะไรบ้าง) รวมถึงการจัดวางเรียงลำดับเรื่อง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ The Great Gatsby กลายเป็นเรื่องเล่าที่ผ่านการจัดองค์ประกอบอย่างวิจิตรบรรจง จนยกระดับพล็อตเรื่องดาดๆ ให้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องรักโศกซึ้งตรึงใจที่ดีที่สุดตลอดกาล

ประการต่อมาที่ทำให้นิยายรักเรื่องนี้ ‘เหนือชั้น’ กว่านิยายรักทั่วๆ ไปหลายขุมคือเนื้อหาสาระที่นำเสนอ

คำหนึ่งซึ่งพ่วงผูกกับนิยายเรื่องนี้ (ครอบคลุมไปถึงผลงานจำนวนมากของเอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัชด์) อย่างแนบแน่นก็คือ jazz age

jazz age หมายถึงสังคมอเมริกันในช่วงทศวรรษ 1920 (ปี 1920-1930) สภาพทั่วๆ ไปคือเป็นยุคสมัยที่เพิ่งผ่านพ้นจากความโหดร้ายและการสูญเสียในสงครามโลกครั้งที่ 1 สังคมอเมริกันเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยี บางอย่างก็เกิดขึ้นมาระยะหนึ่ง แต่ได้รับการพัฒนาจนลงตัวเข้าที่เข้าทางในยุคนี้ บางสิ่งก็เพิ่งถือกำเนิด รถยนต์ กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ การถ่ายทำภาพยนตร์ เครื่องเล่นแผ่นเสียง กลายเป็นที่นิยม ทั้งหมดนี้โยงใยมาสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นเติบโตอยู่ในช่วงขาขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างสวยหรู

อีกเงื่อนไขสำคัญคือการออกกฎหมาย (prohibition law) ห้ามผลิตและจำหน่ายสุรา ส่งผลให้เกิดการลักลอบค้าเหล้าเถื่อน จนทำให้เกิดยุคเฟื่องฟูของบรรดามิจฉาชีพ มีเจ้าพ่อและเศรษฐีใหม่สร้างเนื้อสร้างตัวร่ำรวยขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

ความเปลี่ยนแปลงต่อมา คือวิถีการดำเนินชีวิต ค่านิยม และทัศนคติต่างๆ ของผู้คนในสังคม

เงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ประกอบรวมกันเป็น jazz age ยุคสมัยที่ผู้คนแสวงหาความสุขและความสนุกสุดเหวี่ยงชนิดลืมโลก (อันโหดร้ายจากสงครามใหญ่ที่เพิ่งผ่านพ้น) กินดื่มปาร์ตี้กันอย่างไม่บันยะบันยัง จับจ่ายใช้สอยกันอย่างสุรุ่ยสุร่าย เที่ยวเตร่ตามไนต์คลับ เต็มไปด้วยงานเลี้ยงฟุ้งเฟ้อไร้สาระ การเต้นรำ และดนตรีแจ๊ส และเกิดการเสื่อมถอยของศีลธรรม

สรุปกว้างๆ ทื่อๆ คือ jazz age เป็นยุคสมัยที่เจริญและเติบโตพรวดพราดในทางวัตถุ แต่จิตใจของผู้คนกลับตกต่ำฮวบฮาบ

พูดอีกนัยหนึ่ง jazz age เป็นภาวะฟองสบู่ลวงตา ก่อนที่ฟองสบู่นั้นจะแตกในเวลาต่อมาไม่นาน (เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929)

คำว่า jazz age ปรากฏขึ้นและเรียกขานเป็นครั้งแรกโดย เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ในผลงานรวมเรื่องสั้นชื่อ Tales of the Jazz Age เมื่อปี 1922

กล่าวกันว่า ชีวิตจริงของเอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์นั้นได้รับผลกระทบและรับอิทธิพลจาก jazz age เต็มๆ ไม่น้อยหน้าใคร ทั้งการกินอยู่และดำเนินชีวิตอย่างหรูหรามือเติบ กระทั่งกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เส้นทางอาชีพนักเขียนและอัจฉริยภาพของเขาต้องตกต่ำลงอย่างน่าเสียดาย

แต่ในทางกลับกัน งานเขียนของเอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ไม่ว่าจะเป็น The Side of Paradise (1920), The Beautiful and Damned (1923), The Great Gatsby (1925), The Tender is the Night (1934) และ The Last Tycoon (1941) นิยายเรื่องสุดท้ายที่เขียนไม่จบ เนื่องจากเสียชีวิตไปก่อน ล้วนได้ชื่อว่าสะท้อนภาพและบรรยากาศทั้งดีและร้ายของสังคม jazz age ออกมาได้อย่างเข้มข้นจริงจัง ละเอียดลออ มีชีวิตชีวา เปี่ยมด้วยเสน่ห์น่าหลงใหล และซ่อนอันตรายร้ายกาจน่าสะพรึงกลัวไว้เบื้องลึกได้อย่างโดดเด่นยิ่งกว่านักเขียนอื่นใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลงานที่ดีที่สุดของเขาอย่าง The Great Gatsby

รายละเอียดในการสะท้อนสังคม jazz age ในนิยายเรื่องนี้มีหลายบทบาทหน้าที่ ทั้งเกี่ยวข้องโยงใยกับเนื้อเรื่องและพื้นเพความเป็นมาของตัวละคร สร้างจุดขับเคลื่อนเรื่องราวและเหตุเปลี่ยนแปรพลิกผัน และเป็นทั้งเนื้อหาสาระที่ตัวนิยายเจตนาถ่ายทอดสื่อสาร

แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือมันเป็นนิยายที่พูดถึงความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ของตัวเอก ที่ไม่มีวันลดละล้มเลิก ไม่ว่าจะมีอุปสรรคสาหัสเพียงไรก็ตาม กระทั่งแม้จะรู้ซึ้งอยู่แก่ใจแล้วว่าสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝันไม่มีวันเป็นจริงและไม่อาจเป็นไปได้ เป็นความใฝ่ฝันที่ตายดับล่วงลับไปแล้ว เจย์ แก็ตสบี้ก็ยังไม่เลิกฝันและไม่ยอมให้ตนเองสูญเสียความหวัง

พร้อมๆ กับการสร้างตัวละคร ‘สุภาพบุรุษนักฝัน’ เช่นนี้ The Great Gatsby ก็สะท้อนภาพความเป็นไปต่างๆ ใน jazz age อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อทำหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือเป็นสิ่งที่ค่อยๆ กัดกินและทำลายคนอย่างเจย์ แก็ตสบี้จนพินาศย่อยยับ และลงเอยกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่จับใจผู้อ่านจนยากจะลืมเลือน

มีท่วงทีลีลาในการเขียนอีกอย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก นั่นคือการพรรณนาบรรยาย ฉาก สถานที่ สภาพดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ ตรงนี้ผมยังจับสังเกตได้ไม่อยู่มือหรอกนะครับ แต่รู้สึกอยู่อย่างหนึ่งตลอดการอ่านทั้งสองครั้ง คือการเขียนบรรยายของเอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ มีทั้งความงามและอารมณ์หม่นเศร้านิดๆ เคล้าระคนปนกันอยู่ตลอดเวลา และมีข้อสังเกตว่าในหลายช่วงหลายตอน เขาให้ความสำคัญกับบทบรรยายเหล่านี้มากกว่าการอธิบายเหตุการณ์สำคัญๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้อ่านอยากรู้ให้ละเอียดมากกว่าที่เป็นอยู่) โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ที่เล่าถึงโศกนาฏกรรมหรือบรรยายถึงเรื่องราวโศกสลดรันทดใจโดยตรง กลับไปเน้นการอรรถาธิบายถึงสิ่งอื่นๆ รายรอบ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกัน

แต่ก็แค่ ‘ดูเหมือนจะ’ เท่านั้นนะครับ เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่สาธยายอ้อมๆ เหล่านี้มักวกกลับมาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยอ้อม ในลักษณะของการเทียบเคียง และก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกพิเศษ ทั้งเศร้าสะเทือนและงดงามอย่างน่าประหลาด

ผมคิดว่า The Great Gatsby เป็นสุดยอดวรรณกรรมที่สามารถอ่านกันได้หลายระดับ ตั้งแต่อ่านแค่พอให้รู้เนื้อเรื่องเหตุการณ์เพื่อแสวงรสบันเทิงและอารมณ์สะเทือนใจ อ่านเพื่อจับประเด็นเนื้อหาสาระกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน อ่านเพื่อเพ่งเล็งมองหาแง่งามในทางศิลปะและลีลาการเขียนชั้นเยี่ยม

การอ่านเพื่ออีกจุดมุ่งหมายหนึ่ง ซึ่งผมยังมองไม่เห็น แต่เชื่อแน่ว่ามีอยู่อย่างท่วมท้นล้นหลาม ก็คือการอ่านในลักษณะตีความถอดความหมาย

แทบจะกล่าวได้ว่าในทุกๆ รายละเอียดของนิยายเรื่องนี้ซ่อนนัยยะความหมายอะไรต่อมิอะไรอยู่เต็มไปหมด ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมพอจะจับเค้าได้ก็เช่นแสงไฟสีเขียว ป้ายโฆษณาแว่นตาข้างถนน

ตอนนี้ยังรู้ไปไม่ถึง คิดไม่ทันนะครับ ว่ารายละเอียดเหล่านี้เชื่อมโยงไปสู่แง่มุมใดได้บ้าง เป็นเรื่องที่จะต้องฝากไว้ก่อนและอ่านซ้ำอีกครั้งในอนาคต

ผมคงอกแตกตายด้วยความอึดอัด ถ้าไม่ได้สรุปลงท้ายว่า The Great Gatsby เป็นนิยายที่ดีเข้าขั้นสมบูรณ์แบบ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เข้าใกล้คำว่าสมบูรณ์แบบมากที่สุด เท่าที่สุดยอดนักเขียนหรือศิลปินคนหนึ่งจะพึงกระทำได้นะครับ

แปลว่าอะไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ได้เขียนเช่นนี้แล้วสบายใจน่ะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save