fbpx

อำนาจอันสัมบูรณ์ของประธานาธิบดีมีไหม

อย่างไม่น่าเชื่อ คดีความนับร้อยเรื่องที่ฟ้องร้องอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ปีที่แล้วเริ่มมีวี่แววว่าจะนำไปสู่จุดที่ใกล้จบหรือไม่ก็อาจนำไปสู่หลุมดำหรือจุดจบของรัฐธรรมนูญอเมริกาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเท่าที่มีการสร้างขึ้นมา

คดีความของทรัมป์ครอบคลุมจากเรื่องส่วนตัว (คดีปิดปากดาราสาวกรณีชู้สาว) ไปถึงการใช้กำลังพยายามล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ซึ่งในที่สุดกระทรวงยุติธรรมภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนสามารถลงมือแต่งตั้งนายแจ็ก สมิธ อัยการพิเศษมือฉมังของกระทรวงเข้ามาดำเนินการหาทางฟ้องร้องทรัมป์ต่อไป และสุดท้ายคืออัยการมลรัฐนิวยอร์กและจอร์เจียก็เดินหน้าฟ้องร้องทรัมป์ในข้อหาคดีอาญาที่เกี่ยวพันกับการละเมิดกฎหมายในการบีบบังคับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการนับคะแนนเลือกตั้งให้โกงคะแนนเพื่อช่วยเหลือทรัมป์ ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยเสียงฮือฮาทั้งเห็นด้วยและคัดค้านของประชาชนอเมริกัน จากนั้นเวลาผ่านมาหลายเดือน พร้อมกับการเคลื่อนไหวหาทางดิ้นรนเอาตัวออกจากกระบวนการศาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ผลคือทำให้คดีความเหล่านี้ค่อยๆ ชะงักและทำท่าหยุดนิ่ง

กลวิธีทางกฎหมายที่โดนัลด์ ทรัมป์นำมาใช้คือการอ้าง ‘อำนาจอันสัมบูรณ์’ (absolute power) ของประธานาธิบดีที่กฎหมายไม่อาจแตะต้องหรือดำเนินการสอบสวนในพฤติกรรมการทำงานของประธานาธิบดีในตำแหน่งได้ ยกเว้นว่าถูกตัดสินพิพากษาว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญาแล้วจึงจะสามารถดำเนินการสอบสวนการกระทำต่างๆ ของเขาได้ แต่จนถึงบัดนี้ ทรัมป์ยังไม่เคยถูกพิพากษาว่ามีความผิดทางอาญาแต่ประการใด แน่นอนว่าเพราะไม่เคยมีใครสามารถฟ้องร้องเอาเรื่องเขาได้ง่ายๆ

ตามรัฐธรรมนูญแล้ว การจะพิพากษาประธานาธิบดีว่ามีความผิดทางอาญาได้ก็คือกระบวนการถอดถอน (impeachment) ซึ่งดำเนินการในรัฐสภาคองเกรส ที่เริ่มต้นด้วยสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนรวบรวมข้อมูลเอาผิดประธานาธิบดี แล้วเสนอไปยังวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตัดสินว่าผิดหรือไม่ หลังจากถูกถอดถอนแล้วจึงจะนำไปสู่การดำเนินการคดีอาญากับเขาตามกระบวนการยุติธรรมปกติได้

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยถูกรัฐสภาดำเนินการถอดถอนถึงสองครั้งแล้ว และเขาเอาตัวรอดว่าไม่ผิดได้ เพราะวุฒิสภาเสียงข้างมากเป็นของพรรครีพับลิกันนั่นเอง ในความคิดของชาวบ้านก็มองออกว่านี่มันไม่ใช่การพิจารณาคดีอาญาแบบที่ชาวบ้านเขาถูกอัยการฟ้องร้องและต้องไปแก้ตัวต่อหน้าคณะลูกขุนและผู้พิพากษาที่ไม่อาจติดสินบนได้ง่ายๆ

สิ่งที่ทรัมป์อ้างถึงคือ ‘ภูมิคุ้มกัน’ (immunity) ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มี ในการปลอดจากการรับผิดและถูกลงโทษจากกฎหมายแห่งรัฐ ก่อนนี้เขาใช้เรื่องนี้แต่ไม่ได้อ้างอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะคดียังไม่เข้าขั้นอันตราย ที่ผ่านมาเป็นแค่การเริ่มต้นซักถามซักค้านจากอัยการ ซึ่งทนายของทรัมป์ก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา น่าสังเกตว่านายทรัมป์ปรากฏตัวไปศาลทุกครั้ง ทั้งๆ ที่ในชั้นนี้เขาสามารถมอบให้ทนายทำการแทนได้ แต่เขาก็ต้องการปรากฏตัว เพราะรู้ดีว่าสื่อมวลชนต้องการทำข่าวของเขา จากนั้นทรัมป์ก็นำข่าวนี้ไปปั่นต่อในโซเชียลมีเดียและบนเวทีหาเสียงเลือกตั้งของเขาอย่างได้ผล เพราะเสียงสนับสนุนเขายิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกครั้งที่เขาถูกศาลเล่นงาน ด้วยการอ้างว่าเขาถูกเล่นงานอย่างไม่ยุติธรรม

ยุทธวิธีและกลอุบายของทรัมป์ในการชะลอและหาทางทำให้การพิจารณาความผิดทางอาญาในศาลไม่อาจเกิดได้ทำท่าเป็นจริงมากขึ้น ยิ่งนานวันทรัมป์ยิ่งเก็บคะแนนจากแฟนคลับของเขามากขึ้นทุกวัน เพราะเวลาของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดียิ่งงวดเข้ามาทุกวัน ตามกำหนดการในเดือนมกราคมจะเริ่มการเลือกตั้งไพรมารีในรัฐแรกคือไอโอวา ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 มกราคมนี้ จากนั้นก็จะนำไปสู่การเลือกไพรมารีในนิวแฮมป์เชียร์และอื่นๆ ตามมา เป็นสัญญาณว่าการเลือกตั้งเพื่อคัดตัวผู้สมัครของสองพรรคใหญ่ได้เริ่มแล้ว แน่นอนว่าผู้สมัครของเดโมแครตย่อมได้แก่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่เป็นประธานาธิบดีอยู่แล้ว ตามธรรมเนียมมักไม่มีใครเสนอตัวขึ้นมาแข่งด้วย นอกจากไบเดนประกาศว่าเขาจะไม่ลงสมัครเสียก่อน

ส่วนทางพรรครีพับลิกัน มีผู้เสนอตัวเป็นผู้สมัครหลายคน รวมทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ด้วย ซึ่งเข้าใจได้ว่าโอกาสที่เขาจะรอดจากการถูกพิพากษาคดีอาญาได้ก็คืออาศัยการเลือกตั้งและมวลมหาประชาชนที่เลือกเขาเป็นเกราะกำบัง หากเขาสามารถหักปากกาเซียนพยากรณ์เอาชนะในการเลือกตั้งได้ ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งที่พลิกความคาดหมายที่สุด แต่จะสร้างความปั่นป่วนและความไม่แน่นอนทางการเมืองขั้นมหาวิกฤตในการเมืองอเมริกัน เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศแล้วว่า เขาจะประกาศนิรโทษกรรมตัวเขาเองจากการถูกฟ้องร้องโดยอัยการหลายคดีให้หมดสิ้น ข้อนี้ทุกคนมองเห็นเพราะมันระบุอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญอเมริกัน

หากเหตุการณ์ในอนาคตเกิดขึ้นอย่างนี้จริงๆ ก็จะเป็นโบดำอันมหึมาในการเมืองอเมริกาที่เสื่อมทรามอย่างถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ 

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายทรัมป์และฝ่ายยุติธรรมในการผลักดันคดีนี้ ทันใดก็เหมือนมีฟ้าผ่าลงกลางวันแสกๆ เมื่อศาลสูงแห่งมลรัฐโคโลราโดมีมติเสียงข้างมากตัดสิทธิอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จากการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการก่อจลาจลในเมืองหลวงเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 อันเป็นข้อห้ามในบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 14 วรรคที่ 3 ซึ่งระบุว่าห้ามไม่ให้บุคคลใดก็ตามเป็นสมาชิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎรและตำแหน่งในรัฐได้ หากเคยให้คำสาบานต่อรัฐธรรมนูญแล้วว่าจะรักษารัฐธรรมนูญ กระทำการที่เป็นการลุกฮือต่อต้านหรือกบฏต่อรัฐหรือให้การช่วยเหลือก็ตาม

หมายความว่าศาลสูงในรัฐโคโลราโดห้ามไม่ให้ทรัมป์ลงสมัครรับเลือกตั้งไพรมารีของพรรครีพับลิกันในโคโลราโด เป็นการเปิดชัยชนะอันแรกๆ ให้แก่การพิจารณาดำเนินคดีอาญากับนายทรัมป์อย่างไม่เคยมีมาก่อน

หลังจากนั้นศาลสูงแห่งมลรัฐเมนก็มีมติเรื่องทรัมป์ออกมาอีกเช่นกัน โดยมีมติเหมือนกับศาลสูงโคโลราโด คือนายทรัมป์ขาดคุณสมบัติในการเข้ารับสมัครเลือกตั้งไพรมารี เพราะละเมิดรัฐธรรมนูญบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 นี้นั่นเอง ฝ่ายกฎหมายของทรัมป์ออกมาแย้งและหาข้อพิสูจน์ว่า วรรคที่ 3 ในมาตรานั้นไม่ได้ระบุว่า ห้ามคนเป็นประธานาธิบดีที่เคยให้คำสาบานและมีส่วนเกี่ยวพันกับการจลาจลเข้ารับตำแหน่งของรัฐได้

ผมลองอ่านดูวรรคที่ว่านั้นก็จริงตามที่ทนายของทรัมป์แถลงโต้ศาลสูงสองรัฐที่ตัดสิทธิในการรับเลือกตั้งของเขา เพราะในนั้นไม่ได้ระบุตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ตรงไหนเลย แปลกมากๆ เพราะอะไร ผมลองคิดเล่นๆ บทแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 14 นั้นออกมาในปี 1868 ภายหลังภาคเหนือและรัฐบาลลิงคอล์นชนะในสงครามกลางเมืองแล้ว โดยมีจุดหมายหลักอยู่ที่การปลดปล่อยทาสผิวดำให้เป็นเสรีชน ซึ่งต้องออกเป็นกฎหมายผ่านรัฐสภา บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 13 จึงออกมาก่อนระบุชัดเจนว่าบัดนี้ทาสผิวดำไม่มีอีกแล้วในสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญอเมริกันระบุถึงการมีทาสในประเทศ แต่พอยอมรับว่ามีก็ประกาศต่อไปเลยว่าให้ยกเลิกเสียด้วย แสดงว่าก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญอเมริกาไม่เคยรับว่ามีทาสผิวดำในประเทศเลย นี่คือการเมืองของระบบทาสในอเมริกาที่ทำให้การพูดความจริงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เหมือนการเมืองไทยที่ระบบการเมืองก็ทำให้พูดความจริงในบางเรื่องไม่ได้เช่นกัน

ปัญหาการจัดการเรื่องอดีตทาสที่บัดนี้กลายเป็นคนอเมริกันที่มีอิสระเสรีแล้ว เป็นเรื่องยากลำบากกว่าที่คิด โดยเฉพาะการต่อต้านจากอดีตเจ้าของทาสผิวขาวในภาคใต้ ทำให้มีการกีดกันสิทธิการเมืองของพวกเขาอย่างมากมาย กระทั่งรัฐสภาต้องออกบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 และตามมาด้วย 15 ถึงจะอุดช่องโหว่และอำนาจการเมืองของฝ่ายอดีตเจ้าของทาสได้ บทแก้ไขที่ 14 หลักๆ คือการตอกย้ำความเท่าเทียมและการรักษาสิทธิของคนดำในทุกทางและในทุกมลรัฐว่าจะกระทำขัดขืนไม่ได้ ตอกย้ำให้ใช้การดำเนินการทางกฎหมายก่อนในการพิจารณาตัดสิน วรรคที่สามจึงต้องการกีดกันไม่ให้อดีตเจ้าทาสและนักการเมืองเก่ากลับเข้ามามีตำแหน่งและอำนาจในระบบการเมืองของรัฐอีก ดังนั้นสภาคองเกรสจึงไม่ได้คิดถึงว่าประธานาธิบดีเป็นตัวปัญหาที่ต้องระวัง รายละเอียดจึงมุ่งไปยังเจ้าหน้าที่รัฐและสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น นายโดนัลด์ ทรัมป์จึงมีคุณูปการในการทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคต (หากสามารถทำได้) จะต้องมีการระบุและเขียนถึงบทบาทและอำนาจอันล้นเกินของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะต้องมีการจำกัดและลงโทษได้มากกว่าที่เคยระบุมา

ผมเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องความประหลาดของตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนนี้ (ดูที่บทความ ‘กบฏ 6 มกรา’ ในอเมริกาและไทย) ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วแทบมีอำนาจการเมืองอันสูงสุดชนิดที่ไม่มีอำนาจอื่นใดทางกฎหมายในประเทศที่จะเล่นงานฟ้องร้องเอาผิดกับเขาได้เลย เปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์ในประเทศที่ยังมีระบบกษัตริย์อันทำงานได้เต็มที่หรือเกือบเต็มก็ได้ ที่ผ่านมาไม่มีประธานาธิบดีคนไหนอาจหาญคิดใช้อำนาจประธานาธิบดีอย่างเต็มที่และหรืออย่างล้นพ้น เพราะไม่มีกฎหมายหรืออำนาจอื่นใดบังคับอยู่ ที่มักอธิบายกันก็บอกว่ามีการถ่วงดุลและแบ่งอำนาจปกครองนี้กับฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการแล้ว

แต่ในทางปฏิบัติฝ่ายบริหารก็ยังมีอำนาจทางกฎหมายและประเพณีที่กระทำอะไรก็ได้ โดยรัฐสภาได้แต่คัดค้านและตรวจสอบเพื่อถอดถอน หากรวบรวมหลักฐานได้ครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งก็ต้องอาศัยเสียงข้างมากในวุฒิสภาสำหรับการลงมติลงโทษประธานาธิบดี ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์เชื่อในอำนาจอันสัมบูรณ์ของเขาเมื่อเป็นประธานาธิบดี เขาเชื่อกระทั่งว่า เขาสามารถทำอะไรก็ได้ รวมถึงการใช้ปืนยิงคนตายบนถนนกลางมหานครนิวยอร์กได้ โดยที่คะแนนเสียงเขาจะไม่เสียเลย

ผมคิดว่านักการเมืองและผู้มีอำนาจในเมืองไทยก็คงคิดคล้ายนายทรัมป์เหมือนกันว่า เมื่ออำนาจอยู่ในมือแล้วสามารถใช้ได้อย่างไม่มีเขตจำกัด แต่ที่ต่างกันคือในจารีตและประเพณีเรื่องอำนาจการเมืองในสังคมไทยแต่โบราณมา เราเชื่อว่าอำนาจเป็นสิ่งนามธรรม มีที่มาหลากหลาย ยิ่งการอ้างว่ามาจากแหล่งเดียวคือกฎหมายนั้น ยิ่งไม่อาจปฏิบัติได้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองไม่ได้มาจากสัญญา หากแต่มาจากพันธะผูกพันทางสังคมที่ยึดโยงกันไว้ด้วยการแลกเปลี่ยนตอบแทนระหว่างกัน ระบบปกครองไทยให้น้ำหนักไปที่ความเป็นเอกภาพของผู้มีอำนาจ เพื่อใช้มันในการสร้างการผลิตและการค้าต่อไป ความมั่งคั่งจึงเป็นผลของอำนาจ ไม่ใช่ที่มาของอำนาจ

ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์และคณะยังยืนกรานว่าพวกเขาใช้กฎหมายเคียงข้างไปกับการปลุกระดมต่อต้านรัฐบาลไบเดน ที่เป็นเช่นนี้เพราะพื้นฐานและความต่อเนื่องของระบบยุติธรรมและกฎหมายในอเมริกามีความเข้มแข็งและเป็นอิสระจากอำนาจรัฐได้ในระดับที่สูงพอควร นั่นคือยอมรับว่าแหล่งที่มาอันชอบธรรมของอำนาจการเมืองคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ก็น่าสนใจ เพราะมันสะท้อนคติของอำนาจสูงสุดว่ามีที่มาแห่งเดียว ที่เป็นรูปธรรมและผูกพันกับหลักศีลธรรม นั่นคือมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ระบบเลือกตั้งที่จับต้องได้ และยึดโยงกับลัทธิเสรีนิยม ที่ทรัมป์ขาดคือคติจารีตเรื่องอำนาจอันสัมบูรณ์ในตัวผู้ปกครองก็คือพระมหากษัตริย์ เพราะไม่เคยมีในประวัติศาสตร์อเมริกา จึงคิดและทำไม่ได้ ดังนั้นพอทรัมป์อ้างว่าเขามีภูมิคุ้มกันการไม่ต้องรับผิดที่สัมบูรณ์ นักกฎหมายที่ตีความอย่างนิติรัฐก็ออกมาตอบโต้เป็นการใหญ่ว่านี่คือสัญญาณอันตรายในระบบกฎหมายและประชาธิปไตยอเมริกา หากปล่อยให้ทรัมป์ใช้ทฤษฎีอำนาจอันสัมบูรณ์ในการต่อสู้ทางคดีอาญาของเขา

การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์กับผู้นำเผด็จการและอำนาจนิยมในอุษาคเนย์จึงน่าสนใจ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างพยายามจะอยู่ในอำนาจให้ได้นานที่สุดที่จะทำได้ โดยต่างใช้กลยุทธ์และวิธีการทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมายและจารีตประเพณีในการรักษาและสืบทอดอำนาจรัฐต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save