fbpx

โลกของโดนัลด์ ทรัมป์: “ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย” (ของใคร)

ราวกับฟ้าผ่าปฐพีหรือหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดินอเมริกา (รามเกียรติ์) ในวันที่ 30 มีนาคมศกนี้ เมื่อนายอัลวิน แบรกก์ (พรรคเดโมแครต) อัยการแห่งมลรัฐนิวยอร์ก ตัดสินใจดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาคดีอาญาต่อ โดนัลด์ ​ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีและกำลังจะเป็นผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2024 ในนามพรรครีพับลิกัน

ข้อกล่าวหาหลักคือการฉ้อฉลหลักฐานการทำธุรกรรม พูดอย่างง่ายคือการปลอมแปลงเอกสารการเงินที่ใช้ในธุรกิจ ที่เห็นกันบ่อยๆ ทั่วไปคือทำใบเสร็จรับเงินปลอม ไม่ตรงกับการจ่ายหรือรับเงินจริงๆ ความผิดนี้ไม่มีใครสงสัยหรือปฏิเสธว่ามันคือการกระทำผิดกฎหมาย แต่แทบทุกคนก็บอกว่าถ้าเป็นพ่อค้าแล้วไม่โกงก็ไม่มีวันรวย ทุกคน (ที่ต้องอาศัยพ่อค้าในการดำรงชีพ) จึงลงความเห็นว่ามันเป็นความผิดลหุโทษ คือเล็กน้อย อย่างมากก็เสียค่าปรับพอเป็นทำเนา เท่านั้นก็เรียบร้อย

เมื่ออัยการอัลวิน แบรกก์แถลงการกล่าวหาทรัมป์ในข้อหาปลอมแปลงหลักฐานการเงิน ทุกคนตะลึงถามว่าคดีมีเท่านี้หรือที่จะเล่นงานนายทรัมป์ได้ มันเหมือนเอากระบองหยวกกล้วยไปปราบยักษ์ ทำท่าจะเป็นความฝันกลางฤดูร้อนเสียมากกว่า

ผมก็ประหลาดใจเหมือนนักสังเกตการณ์เหล่านั้น จนเมื่อได้ฟังคำชี้แจงอย่างละเอียดของฝ่ายอัยการรัฐแล้ว จึงพอเข้าใจและเห็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินคดีอย่างอุกฉกรรจ์ต่อนายทรัมป์ อะไรคือไม้ตายของฝ่ายกฎหมาย คำตอบคือมันต้องเป็นคดีอาญาที่อุกฉกรรจ์ที่ความผิดถึงขั้นจำคุกด้วย ต้องไม่ใช่คดีมโนสาเร่หรือลหุโทษอย่างที่คนคิดทั่วไป

จะเข้าใจมหากาพย์ของนายทรัมป์ได้อย่างดี ต้องอาศัยวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ ความพยายามในการฟ้องนายทรัมป์ที่มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งในและนอกประเทศ ต่างกรรมต่างวาระนับตั้งแต่เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 มีมาตลอด เป็นผู้นำประเทศคนเดียวที่ถูกเปิดโปง วิพากษ์วิจารณ์โดยสิ่อมวลชนและฝ่ายการเมืองไปถึงฝ่ายกฎหมายมากที่สุด แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่เคยสามารถเอาผิดกับนายทรัมป์ได้สักเรื่อง ข้อกล่าวหาใหญ่ๆ ได้แก่ การสอบสวนโดยคณะกรรมการอัยการพิเศษของนายมุลเลอร์ เรื่องนายทรัมป์ร่วมมือกับรัสเซียในการหาเสียงเลือกตั้ง จงใจใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและกระทั่งประทุษร้ายต่อความมั่นคงแห่งรัฐ แต่อัยการพิเศษมุลเลอร์ก็ไม่สามารถตั้งข้อกล่าวหานายทรัมป์ได้ เพราะนโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่มีมานานแล้วห้ามไม่ให้ทำการกล่าวหาประธานาธิบดีที่กำลังอยู่ในตำแหน่งในคดีอาญาใดๆ ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ (แปลว่าอำนาจตุลาการจะละเมิดอำนาจบริหารด้วยตัวเองไม่ได้)[1]

พรรคเดโมแครตจึงตัดสินใจเล่นไม้เข็งด้วยการยื่นถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบทเดียวที่ให้อำนาจรัฐสภาในการกำกับตรวจสอบพฤติกรรมของอำนาจบริหาร นั่นคือการที่สภาผู้แทนราษฎรภายใต้พรรคเดโมแครตดำเนินการไต่สวนเพื่อถอดถอนนายทรัมป์ออกจากตำแหน่ง (impeachment) ถึงสองครั้งด้วยข้อหาอุกฉกรรจ์ยิ่ง ครั้งแรกในปัญหาการแทรกแซงความช่วยเหลือให้ยูเครน ครั้งหลังเมื่อทรัมป์ยุยงให้กลุ่มขวาจัดออกมาบุกยึดรัฐสภาคองเกรสและก่อจลาจลใช้กำลังโจมตีทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐหลังจากแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี ข้อนี้ใกล้กับการพยายามก่อกบฏในประเทศ

แต่แล้วไม้ตายและไม้แข็งที่เคยกำราบประธานาธิบดีก่อนหน้ามาได้ ก็กลายเป็นไม้ตีพริก (สาก) ไป เมื่อเสียงข้างมากในวุฒิสภาเป็นของพรรครีพับลิกัน คนที่ติดตามฟังการอภิปรายอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนของสมาชิกรัฐสภาทั้งสองพรรค เมื่อเห็นการลงคะแนนเสียงลับของวุฒิสมาชิกแล้วก็อดเปรียบเปรยอย่างสะใจว่า มันช่างเหมือนสมาชิกสูงวัย (ส.ว.) ของไทยเลย คือเป็นฝักถั่วเหมือนกัน [2]

หลังจากล้มเหลวไปในมาตรการทางการเมืองแล้ว ล่าสุดสถาบันที่เป็นเสาหลักของระบบยุติธรรมก็ก้าวออกมาดำเนินคดีกับนายทรัมป์ นั่นคือกระทรวงยุติธรรม เมื่อนายทรัมป์ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีอีกต่อไป ก็ไม่มีปัญหานโยบายอะไรมาขัดขวางการใช้กฎหมายเล่นงานเขา นั่นคือที่มาของการกล่าวหานายทรัมป์เรื่องการไม่มอบคืนเอกสารลับของรัฐบาล ละเมิดกฎหมายและความลับระดับสูงของประเทศ เหล่านี้เป็นข้อหาอุกฉกรรจ์ทั้งนั้น นอกจากนี้กระทรวงยุติธรรมยังแต่งตั้งอัยการพิเศษสืบสวนเรื่องของนายทรัมป์อีก

รวมๆ แล้วมาถึงวันนี้มีข้อกล่าวหาและอัยการพิเศษที่จ่อหัวเขาอยู่นับไม่ถ้วน แต่เหตุที่คนไม่ค่อยมั่นใจ เพราะไม่รู้ว่าการรวบรวมหลักฐานและแจ้งข้อกล่าวหาเขาจะเสร็จสิ้นเมื่อไร กระบวนการทั้งหมดดูเหมือนจะเดินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดหมายและหมุดหมายที่แน่นอน

ผมคิดว่าคนอเมริกันทั่วไปเชื่อว่าการหาทางกล่าวหาและดำเนินคดีกับนายทรัมป์ โดยเฉพาะโดยกระทรวงยุติธรรมเองนั้น จะจบลงด้วยการคว้าน้ำเหลว เพราะธรรมชาตินายทรัมป์นั้นลื่นไหลและซึมลึก ยิ่งนานยิ่งรอด ตรงนี้เองที่การตัดสินใจเด็ดเดี่ยวของอัลวิน แบรกก์ในการลงมืออย่างฉับพลันด้วยข้อหาที่ดูธรรมดาและเล็กน้อยเกินไป จึงเป็นเรื่องน่าสนใจและอย่าเพิ่งสรุปไปตามเสียงปี่เสียงกลอง แต่ต้องพิจารณาถึงบริบทความเป็นมาของปัญหานั้นด้วย

ก่อนที่อัลวิน แบรกก์จะตัดสินใจเดินหมากตาสำคัญนี้ เมื่อเขารับตำแหน่งปีที่แล้ว แฟ้มการรวบรวมข้อกล่าวหาการกระทำปลอมแปลงหลักฐานทางธุรกิจของนายทรัมป์มีเกือบเต็มห้อง ขณะนั้นนายไซรัส แวนส์ อัยการมลรัฐนิวยอร์กคนก่อนสามารถฟ้องร้องบริษัทของทรัมป์ที่ทำผิดกฎหมายได้จำนวนหนึ่ง แต่ลงโทษได้แค่พนักงาน ไม่มีเรื่องใดสาวไปถึงทรัมป์ได้ ช่วงแรกหลังแบรกก์รับตำแหน่ง ที่ปรึกษากฎหมายก็ยื่นเรื่องให้เขาดำเนินการกล่าวหาทรัมป์ต่อ แต่เมื่อเห็นว่ามีแค่เรื่องจ่ายเงินปิดปากดาราสาวหนังผู้ใหญ่ เขาก็คิดว่าคงไปไม่ถึงฝั่งแน่ๆ จึงบอกให้ยกเลิกการทำเรื่องนายทรัมป์เสีย แต่พวกนักกฎหมายที่ทำงานค้นคว้ารวบรวมหลักฐานมาอย่างละเอียดรอบด้านพากันประท้วงไม่ยอม ยืนยันว่าคราวนี้สามารถดำเนินคดีกับทรัมป์ได้อย่างแน่นอนและมีเป้าหมายด้วย

การจะดำเนินคดีกับนายทรัมป์ได้ต้องเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ฝ่ายอัยการนิวยอร์กจึงต้องทำให้คดีนี้เป็นเรื่องการใช้จ่ายเงินอันเป็นเท็จและปลอมแปลงเอกสารด้วย เรียกว่าจ่ายเงินค่าปิดปากให้แก่นางสาวสตอร์มมี แดเนียล (นามแฝง) เพื่อจะให้เธอปิดปากไม่พูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ชู้สาวระหว่างคนทั้งสองในอดีตหลายปีมาแล้ว แต่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรง ก็เพราะมันแดงขึ้นในปีที่ทรัมป์กำลังหาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แน่นอนว่าถ้าความลับเรื่องชู้สาวปรากฏต่อสาธารณชนก็หมายถึงการสูญเสียคะแนนเสียงเพื่อเอาชนะในการเลือกตั้งไพรมารี ทรัมป์จึงสั่งนายไมเคิล โคเฮน นักกฎหมายประจำตัวเขาให้จ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อนจำนวน 130,000 ดอลลาร์สหรัฐแก่นางสาวแดเนียล หลังจากนั้นทรัมป์จ่ายเงินของเขาให้แก่โคเฮน ต่อมาโคเฮนถูกสอบสวนเรื่องการทุจริตและหลบเลี่ยงการเสียภาษี โคเฮนยอมรับผิดทุกกระทงและยอมมาเป็นพยานในคดีที่เกี่ยวข้องกับทรัมป์แลกกับการลดโทษ นี่เองที่หลักฐานการจ่ายเงินของทรัมป์ให้แก่แดเนียลจึงไปอยู่ในแฟ้มของอัยการนิวยอร์กมาพักใหญ่แล้ว

ตอนนี้มาถึงหมากรุกฆาต นั่นคือฝ่ายกฎหมายนิวยอร์กพบว่า ในมลรัฐนิวยอร์กนั้นมีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งและหาเสียงเลือกตั้งที่เข้มงวดและหนักหน่วงกว่ามลรัฐอื่นๆ ที่สำคัญมีเรื่องการใช้จ่ายเงินในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ละเอียดและเขี้ยวมากๆ เช่นการปลอมแปลงหลักฐานการจ่ายเงินเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ บทกำหนดโทษจึงระบุว่าเป็นคดีอาญาอุกฉกรรจ์ที่ต้องเข้าคุกเลย

จุดนี้เองที่อัยการนิวยอร์กนำมามัดคอทรัมป์ว่าเงินที่เขาจ่ายปิดปากแก่ดาราสาว ซึ่งลงบันทึกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งระดับประเทศ ถือว่าเป็นความผิดทางอาญาระดับสหพันธ์ที่อุกฉกรรจ์ตามกฎหมายรัฐ ที่ผมชอบมากคือการที่อัยการรัฐอ้างว่าไม่ไกลจากที่ทำการของศาลนิวยอร์กคือถนนวอลสตรีต อันเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก การสร้างความเชื่อมั่นทางการเงินเป็นภารกิจที่รัฐนิวยอร์กไม่ยอมประนีประนอม แปลว่าการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายเป็นการทำลายธุรกิจของมลรัฐและประเทศ พูดอย่างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือ รัฐนิวยอร์กยืนหยัดพิทักษ์รักษาประโยชน์อันชอบตามกฎหมายของระบบทุนนิยมอย่างเด็ดขาด ไม่เอื้ออำนวยและส่งเสริมนายทุนไม่ว่าใหญ่หรือเล็กในการกระทำทุจริต พูดได้ว่าเอาระบบไม่เอาบุคคล

จุดยืนและท่าทีต่อระบบทุนนิยมของศาลสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่เริ่มการพัฒนาระบบการปกครองประชาธิปไตยที่แบ่งแยกอำนาจกันในสามสถาบัน วิวัฒนาการที่แปลกของอำนาจตุลาการในอเมริกาคือการที่ศาลสูงสุดตั้งแต่ยุคแรกสามารถสำแดงบทบาทและอำนาจของตนในการกำกับถ่วงดุลอำนาจบริหารและนิติบัญญัติได้ กรณีที่เป็นหมุดหมายสำคัญคือการดำเนินนโยบายที่เรียกว่า ‘ตุลาการชาตินิยม’ (judicial nationalism) ภายใต้การนำของจอห์น มาร์แชล ทำให้ต่อมาศาลมลรัฐสามารถตัดสินความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยพิจารณาจากจุดยืนของการส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของวิญญาณระบบทุนนิยม เช่น การเคารพทรัพย์สินส่วนตัว การค้าเสรีจากรัฐ

ถ้าอัยการมลรัฐนิวยอร์กสามารถดำเนินการทางคดีอาญากับทรัมป์จนบรรลุผลสำเร็จได้ ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการดำเนินคดีกับทรัมป์จากอีกหลายมลรัฐ ที่กำลังจ่อคอหอยและคดีมีความหนักหน่วงกว่าของนิวยอร์กคือในจอร์เจีย ในข้อหาที่ทรัมป์มีคำสั่งไม่เป็นทางการแก่มนตรีแห่งรัฐให้หาคะแนนเสียงที่ขาดไปให้แก่เขาขณะเป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเหมือนกันและอุกฉกรรจ์ไม่น้อยกว่าของนิวยอร์ก

ศึกครั้งนี้ไหญ่หลวงนัก ถ้าระบบกฎหมายอเมริกันสามารถนำตัวทรัมป์มาลงโทษได้ตามกระบวนการทางยุติธรรมอย่างธรรมดา ไม่ใช่ด้วยคณะกรรมการอัยการพิเศษ แสดงว่าการปกครองโดยระบบกฎหมายหรือนิติรัฐของอเมริกายังทำงานได้จริงและเป็นธรรม ซึ่งกำลังเป็นสิ่งหายากมากขึ้นในโลกยุคโลกาภิวัตน์

น่าสนใจว่าความสำเร็จและอำนาจของกฎหมายอเมริกาไม่ได้ปฏิบัติและยอมรับในระหว่างสถาบันการเมืองทั้งหลาย เพียงเพราะว่าพวกเขาเป็นคนดีหรือมีสติปัญญาสูงส่งกว่าคนอื่นๆ หากแต่เป็นผลจากการที่ระบบกฎหมายอเมริกันนั้นยึดโยงกับระบบทุนนิยมอย่างเหนียวแน่น ดังคำอ้างของอัยการรัฐอัลวิน แบรกก์ในการดำเนินคดีต่อนายทรัมป์อย่างฝืนความรู้สึกของคนทั่วไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save