fbpx

“ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย”: ระหว่างกระทรวงยุติธรรมกับโดนัลด์ ทรัมป์ ใครใหญ่กว่ากัน

“ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย” เป็นประโยคที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยใช้เหมือนกัน แม้ว่าโดยทั่วไปในชีวิตธุรกิจและการเมือง เขามักทำตัวอยู่เหนือกฎหมายมาโดยตลอดและเอาตัวรอดมาได้นับทศวรรษ จนทำให้เขาเชื่อว่ากฎหมายก็เหมือนนายทุน ใช้เงินซื้อหรือเปลี่ยนคำตัดสินได้ไม่ยาก

นั่นคืออเมริกาของทรัมป์ที่ไม่ตรงกับภาพลักษณ์และคติความเชื่อในความเข้าใจของคนอเมริกันอื่นๆ รวมถึงคนทั่วโลกด้วย แต่ทรัมป์คือตัวละครหรือตัวแทนของชนชั้นนำที่มีอยู่ในทุกสังคมและทุกระบบ นั่นคือเป็นตัวแทนของด้านที่สุดขั้วและคิดไม่ถึง แต่มันเป็นจริง เพราะเป็นคนส่วนที่มีน้อยจริงๆ

ข้อที่แตกต่างของสังคมนอกตะวันตกเช่นไทย ก็คือชนชั้นนำที่มีอภิสิทธิ์และอำนาจเหนือกฎหมายและระบบนั้น แทนที่จะมีเพียงคนหรือสองคนเช่นทรัมป์ กลับกลายเป็นว่ามีคนจำนวนมากที่อยู่ข้างเคียงเครือข่ายชนชั้นนำ ต่างก็พากันใช้อำนาจและอภิสิทธิ์เหมือนกับเป็นมรดกอันชอบธรรมของพวกเขากันไปหมด แม้กระทั่งในระบบราชการ ระบบบริหาร และระบบยุติธรรม

กรณีล่าสุดคือการที่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ (สำนักงานสอบสวนกลาง) ขอหมายศาลเข้าไปค้นและยึดเอกสารที่เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติจาก Mar-a-Lago คฤหาสน์หรูส่วนตัวของนายทรัมป์ในฟลอริดา สร้างความเดือดดาลแก่ทรัมป์และคณะเป็นยิ่งนัก จนกลายเป็นแนวรบอีกแนวที่เปิดขึ้นนอกจากที่กำลังดำเนินอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรโดยคณะกรรมาธิการพิเศษ 6 มกราคม ที่ไต่สวนพยานเพื่อหาหลักฐานว่านายทรัมป์มีส่วนอะไรแค่ไหนในการบุกยึดรัฐสภาคองเกรสในวันที่ 6 มกราคม 2021 กระทั่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงที่ผิดกฎหมาย

ทั้งหมดนี้สะท้อนระบบการเมืองประชาธิปไตยอเมริกาที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบการเมืองดั้งเดิมนับแต่ได้เอกราชมา ผ่านสงครามโลกสองครั้ง และเศรษฐกิจตกต่ำหลายครั้งจนนับไม่ถ้วน (ทั้งเล็กและใหญ่) และการต่อต้านประท้วงต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่เท่าเทียมกันของคนผิวดำ (เป็นหลัก) และสตรีทุกสีผิว (เป็นรอง) ที่สำคัญผ่านสงครามกลางเมืองในปัญหาเรื่องระบบทาส จนได้ระบบการเมืองที่ลงตัวแบบที่นักประวัติศาสตร์สรุปลงเหลือสองวรรคสั้นๆ ว่า คือประวัติศาสตร์ที่มีทั้งสองด้าน คือด้านที่เป็นความขัดแย้ง (conflict) กับด้านที่เป็นการเห็นพ้องต้องกัน (consensus) นี่คือแนวทางการเรียนและการสอนประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันอย่างน้อยนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดยที่แนวทางและวิธีการทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวดำรงอยู่ต่อมาได้ยาวนานและเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางมาก (ยกเว้นในกลุ่มนักประวัติศาสตร์ซ้ายและนักวิพากษ์ทั้งหลายที่เป็นคนส่วนน้อย)

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าสภาพและสถาบันทางการเมืองทั้งหลายต่างทำตัวอยู่ในกรอบและเดินตามหลักการของรัฐธรรมนูญและตามสามัญสำนึกของคนผิวขาวเผ่าแองโกลแซกซอนที่เป็นโปรเตนแตนท์และผู้ชาย (WASP) เช่น เมื่อผ่านการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครได้ชนะ ฝ่ายแพ้ต้องยอมรับและประกาศแสดงความยินดีกับผู้ชนะ ไม่เคยมีการฟ้องร้องให้ศาลตัดสินเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ยกเว้นการเลือกตั้งปี 2000 ระหว่างจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งพรรครีพับลิกัน กับอัล กอร์ พรรคเดโมแครต ผลคะแนนในฟลอริดาเฉียดฉิวใกล้กันมาก จนต้องขอให้ศาลสั่งนับคะแนนใหม่ในบางเขตเลือกตั้งที่มีปัญหา แต่บุชไม่ยอมและเสนอให้ศาลสูงสุดเข้ามาตัดสิน ซึ่งนำไปสู่มติที่ให้ฝ่ายบุชชนะไป นายอัล กอร์ซึ่งก่อนหน้านี้โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับบุชและชัยชนะ ในกลางดึกคืนนั้นเขาโทรฯ ไปใหม่บอกว่าขอยกเลิกคำแสดงความยินดีนั้นไว้ก่อน กระทั่งเมื่อวันต่อมาหลังจากศาลสูงสุดมีมติเสียงข้างมาก (7-2) ให้บุชชนะไป กอร์ก็โทรฯ กลับไปหาบุชใหม่พร้อมกับกล่าวว่า แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลสูงสุด แต่ก็ต้องยอมรับคำตัดสินและชัยชนะของจอร์จ ดับเบิลยู บุช นั่นเป็นกรณีแรกที่เกิดการตอบโต้และไม่เห็นด้วยกับผลคะแนน (ความขัดแย้งหรือ conflict) แต่ในที่สุดก็ยุติลงได้ด้วยความสมานฉันท์หรือการเห็นพ้องต้องกัน (consensus)

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์กระทบกระทั่งกันในผลคะแนนเลือกตั้งครั้งนั้น ไม่ได้นำไปสู่การขยายความขัดแย้งและการต่อสู้ที่เป็นปฏิปักษ์กันระหว่างสองพรรคใหญ่ หากแต่ค่อยคลี่คลายไปสู่การยอมรับในหลักการใหญ่ นั่นเป็นแนวทางของการเมืองอเมริกันในสองศตวรรษที่ผ่านมา แต่หากถามผมถึงสถานการณ์และการขับเคี่ยวกันของสองพรรคและนักการเมืองทั้งหลายในขณะนี้ ผมคงต้องตอบว่า เรากำลังนั่งดูหนังใหญ่ที่ไม่เล่นตามแบบฉบับทางการอีกต่อไปแล้ว นั่นคือเรากำลังเห็นการเสื่อมสลายไปของสิ่งที่เรียกว่า ‘การเห็นพ้องต้องกัน (consensus)’ ซึ่งค่อยๆ หมดพลังที่เชื่อมประสานพลังการเมืองทั้งหลายไว้

การกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดแว่นมองการเมืองอเมริกันให้ผมใหม่ ว่าทุกระบบการเมืองต่างมีจุดอ่อนและปัจจัยทำลายตัวมันเอง ในขณะที่ก็มีปัจจัยเสริมสร้างพลังและความมั่นคงด้วยเช่นกัน ในอดีตปัจจัยที่เป็นด้านลบไม่ได้อยู่ในตัวผู้นำคนเดียวมากเท่ากับสมัยของทรัมป์ อาจด้วยปัจจัยใหม่ทางโซเชียลมีเดียที่ทำให้ทรัมป์มีอำนาจที่ดูเหมือนทำให้เขาเป็นพระเจ้าไป พูดเขียนอะไรก็มีคนนับล้านๆ เชื่อถือและทำตามอย่างไม่มีเงื่อนไข ในข้อนี้ ทรัมป์จึงไม่ได้ทำให้ผมประหลาดใจและแปลกใจมากนัก เพราะในสังคมไทยเรามีผู้นำที่มีบุญบารมีที่มีอำนาจพิเศษเหนือระบบและกฎหมายมานานมากแล้ว แต่ที่เราไม่มีและพยายามค้นหาและสร้างขึ้นมาคือระบบและสถาบันอย่างในการเมืองอเมริกา ที่ดำเนินไปเหมือนจักรกลและเข็มในเครื่องนาฬิกา ไม่ใช่เดินตามใจคนใช้นาฬิกา

ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายทรัมป์ อันเป็นความผิดหวังและอับอายชนิดที่รับไม่ได้ของทรัมป์ ทำให้เขาวางแผนทางการเมืองชนิดที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรอบศตวรรษไม่เคยและไม่กล้าทำมาก่อน นั่นคือการประกาศไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง แล้วดำเนินการทุกวิถีทางในการล้มผลการเลือกตั้งครั้งนี้ลงไปให้ได้ ถึงขั้นวางแผนหลายขั้นตอน หลากหลายกลยุทธ์และวิธีการ มีทั้งถูกต้องตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กระทั่งในขั้นสุดท้ายคือการปลุกระดมม็อบมวลชนขวาสุดขั้วและชาตินิยมสุดคลั่งให้บุกล้อมสภาคองเกรสในวันที่ 6 มกราคม เพื่อทำลายผลการนับคะแนนผู้เลือกตั้ง จนนำไปสู่การปะทะใช้อาวุธปืนและอื่นๆ ในการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาจนถึงแก่ความตาย ถึงการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องและปลุกระดมมวลชนในแถบที่อุตสาหกรรมร่วงโรยและกำลังปิดตัวลงด้วยข้อมูลและโวหารที่หลอกลวงว่าคะแนนเลือกตั้งของเขาถูกโกงไปโดยเจ้าหน้าที่เลือกตั้งในรัฐต่างๆ แต่เขาก็พ่ายแพ้ในทุกศาลที่ฟ้องร้องเพราะไม่มีหลักฐานที่เขากล่าวหา

กล่าวอย่างสั้นๆ โดนัลด์ ทรัมป์พยายามทำการยึดอำนาจรัฐกลับมาด้วยกำลัง แต่ไม่สำเร็จ แผนการนั้นยุติลงเสียก่อนเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ

การเมืองอเมริกันเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงในช่วงที่เขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจากปี 2016-2020 และความเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันจากความคาดหมายของผู้คนก็ยังดำเนินต่อเนื่องและยกระดับไปในทิศทางที่น่าหวาดเสียวมากขึ้นเรื่อย นั่นคือมุ่งหน้าเข้าสู่การใช้ความรุนแรงในแทบทุกรูปแบบและหนทางที่สามารถนำมาใช้ได้ ตรงนี้อาจกล่าวได้ว่าลักษณะปฏิกิริยาขวาสุดขั้วของทรัมป์แตกต่างจากของหัวหน้าคณะรัฐประหารในโลกที่สามตรงที่เขายังยืนกรานใช้กฎหมายเคียงข้างไปกับการปลุกระดมที่ต่อต้านกฎหมาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะพื้นฐานและความต่อเนื่องของระบบยุติธรรมและกฎหมายในอเมริกามีความเข้มแข็งและเป็นอิสระจากอำนาจรัฐได้ในระดับที่สูงพอควร

ตรงนี้แหล่งที่มาของอำนาจการเมืองและอำนาจรัฐก็น่าสนใจ เพราะมันสะท้อนคติของอำนาจสูงสุดว่ามีที่มาแห่งเดียว ที่เป็นรูปธรรมและผูกพันกับหลักศีลธรรม นั่นคือมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ระบบเลือกตั้งที่จับต้องได้และยึดโยงกับความมีมารยาท ความมีน้ำใจและมนุษยธรรม ในขณะที่อำนาจสูงสุดในเอเชียอาคเนย์มีแหล่งที่มาอันหลากหลายทั้งที่เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ (ไสยศาสตร์) ไปถึงอำนาจของสัญลักษณ์ (บรรพบุรุษ ผี ต้นไม้ สถาบัน) และจารีต และที่สำคัญอำนาจอย่างนอกตะวันตกไม่ยึดโยงกับศีลธรรมหรือจริยธรรมและมนุษยธรรม เพราะปรัชญาโลกวิสัยเหล่านี้แทบไม่ได้กำเนิดและพัฒนาได้เลย นอกจากคำสอนทางศาสนาที่ครอบงำคนส่วนใหญ่ การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์กับพลเอกประยุทธ์ จึงน่าสนใจ เพราะทั้งสองคนต่างพยายามจะอยู่ในอำนาจให้ได้นานที่สุดที่จะทำได้ โดยต่างใช้กลยุทธ์และวิธีการทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมายและจารีตประเพณีในการรักษาและสืบทอดอำนาจรัฐต่อไป

การบุกเข้าค้นบ้านพักนายทรัมป์โดยกระทรวงยุติธรรมภายใต้นายเมอร์ริก บี การ์แลนด์จึงเป็นจุดพลิกผันที่มีความสำคัญและอาจมีผลต่อการไปต่อหรือยุติการเคลื่อนไหวของนายทรัมป์ลงไปในที่สุด ข้อกล่าวหาที่เอฟบีไอใช้ในการขอหมายศาลเพื่อเข้าค้นบ้านพักนายทรัมป์คือมีการเก็บสะสมเอกสารที่เป็นของทางราชการรวมถึงเอกสารจำนวนหนึ่งที่เป็นความลับถึงความลับขึ้นสูงสุด

ตัวอย่างที่ทางเอฟบีไอเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ เพราะฝ่ายทนายความนักกฎหมายของนายทรัมป์ร้องเรียนถึงศาลมลรัฐว่าขอให้เอฟบีไอเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเอาเอกสารอะไรที่อ้างว่าเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐจากบ้านนายทรัมป์ไป ฝ่ายทรัมป์อ้างว่าเขามี ‘อภิสิทธิ์ของอำนาจบริหาร’ (executive privilege) ที่อนุญาตให้เอาเอกสารส่วนตัวหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเขาโดยเฉพาะออกไปได้ ดังนั้นจึงยื่นเรื่องไปยังศาลมลรัฐฟลอริดาและ ไอลีน เอ็ม แคนนอน ผู้พิพากษาศาลของรัฐ อันเป็นคนที่นายทรัมป์เป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้ง ซึ่งเขาเชื่อว่าจะพิจารณาในทางที่ให้คุณแก่เขา (คิดแบบผู้นำไทยจริงๆ เลย) โดยให้แต่งตั้ง ‘เจ้าหน้าที่พิเศษ’ (special master) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาว่าเอกสารที่ยึดไปนั้นเข้าข่ายละเมิดกฎหมายหรือไม่

แหล่งข่าวเริ่มส่งสายกันมาแล้วว่าผู้พิพากษาศาลสูง มีแนวโน้มว่าจะรับคำร้องของทนายฝ่ายนายทรัมป์ ซึ่งจะมีผลทำให้คดีระหว่างกระทรวงยุติธรรมกับนายทรัมป์ในเรื่องเอกสารลับนี้จะยืดเยื้อยาวออกไป อันเป็นสิ่งที่นายทรัมป์ปรารถนาและถนัดที่สุด

ศึกในทางกฎหมายคร้งนี้เริ่มมีสีสันและส่อแววว่าอาจไม่เดินไปตามทางที่นายทรัมป์คาดคิด ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ใช้อำนาจของประธานาธิบดีสั่งการบงการและกระทั่งบีบเจ้าหน้าที่รัฐให้ทำตามที่เขาต้องการอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้ว่าการกระทำนั้นอาจละเมิดกฎหมายก็ตาม เรื่องหนึ่งที่แดงออกมาคือเมื่อเขาสั่งให้นายเจมส์ โคมี ผู้อำนวยการสำนักงานเอฟบีไอ (FBI) ให้เลิกการสอบสวนพลเอกไมเคิล ฟลินน์ ที่ทรัมป์แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงประจำทำเนียบขาว ว่าเขาเคยรับเงินจากองค์กรต่างชาติ (รัสเซีย) หรือไม่ แต่โคมีไม่ยอมทำตาม จนถูกปลดออกจากตำแหน่งกลางอากาศในเวลาต่อมา โคมีพยายามสู้ด้วยการออกข่าวและเขียนหนังสือเปิดโปงทรัมป์ว่ากระทำการที่ฉ้อฉลและละเมิดกฎหมาย แต่ไม่เป็นผล ต่อมาพลังสื่อมวลชนและพรรคเดโมแครตแฉหลักฐานที่ทรัมป์มีเอี่ยวกับฝ่ายข่าวกรองรัสเซีย จนกระทรวงยุติธรรมต้องแต่งตั้งนายโรเบิร์ต มุลเลอร์เป็นอัยการพิเศษทำหน้าที่หัวหน้าคณะสอบสวนเรื่องนี้ แม้คณะมุลเลอร์จะส่งหลักฐานและความเห็นไปให้อัยการรัฐดำเนินการฟ้องร้องไปได้จำนวนหนึ่งแต่ไม่มีคดีไหนเอื้อมมือไปถึงนายทรัมป์ได้  ดังนั้นเมื่อรายงานให้ข้อสรุปว่า ไม่อาจชี้ช่องให้ดำเนินคดีอาญาแก่นายทรัมป์ได้ จึงต้องสรุปได้เพียงว่า ‘หลักฐานไม่เพียงพอ’ ที่จะกล่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งทรัมป์ก็รีบออกมาทวีตทันทีว่า เห็นไหมเขาบริสุทธิ์ ไม่มีการร่วมมือกับรัสเซียในการแทรกแซง และไม่มีการขัดขวางระบบยุติธรรม การสอบสวนของคณะมุลเลอร์เป็นการหาเรื่องใส่ความเขาโดยแท้ สร้างความไม่พอใจและคับข้องใจแก่ผู้คนที่รับรู้เรื่องราวนี้มาตลอดว่า ทำไมการสอบสวนที่ดำเนินไปโดยมือสอบสวนฉกาจอย่างมุลเลอร์อดีตผู้อำนวยการสำนักเอฟบีไอเอง ถึงจบลงอย่างธนูที่ยิงไปไม่ถึงเป้า ตกลงกลางทะเลเสียก่อน (ดูบทความ การเมืองในฟาร์มสัตว์สหรัฐ: อ่านความระหว่างบรรทัด ‘8 นาที’ จากมุลเลอร์ถึงทรัมป์) แม้ต่อมาพรรคเดโมแครตจะรวบรวมหลักฐานการกระทำที่ทรัมป์ละเมิดกฎหมายและความมั่นคงของสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือยูเครนต่อสู้กับรัสเซีย ด้วยการบีบ (แบล็กเมล์) ประธานาธิบดีเซเลนสกี้ให้หาหลักฐานลูกชายนายโจ ไบเดนว่าทำอะไรผิดกฎหมายบ้างในธุรกิจของเขาในยูเครน แม้เดโมแครตสามารถรวบรวมหลักฐานได้มากพอ จนดำเนินการถอดถอน (impeach) นายทรัมป์ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา (ดูบทความ สงครามไต่สวนถอดถอนทรัมป์ในวุฒิสภา : ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในอเมริกา) สรุปคือทรัมป์มีฝีมือและพรรคพวกมากพอจะปกป้องเขาจากเงื้อมมือกฎหมายมาโดยตลอด มาถึงวันนี้คนจึงไม่ค่อยมั่นใจว่ากระทรวงยุติธรรมภายใต้การนำของนายเมอร์ริก การ์แลนด์จะทำอะไรนายทรัมป์ได้จริงๆ หรือ

ผมดูรูปการทั้งหมดแล้ว คิดว่าการปะทะกันทางกฎหมายครั้งนี้ อาจเป็นการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ที่อาจช่วยป้องกันและรักษาระบบประชาธิปไตยอเมริกันให้ดำเนินต่อไปอย่างมีชีวิตและพลังได้ ประการแรกคือตัวบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคือนายเมอร์ริก การ์แลนด์ เขาเป็นผู้พิพากษาอาวุโสมีประสบการณ์กฎหมายทั้งในภาคเอกชนและรัฐ ที่สำคัญคือคดีวางระเบิดตึกที่ทำการของรัฐบาลกลางในโอคลาโฮมา ปี 1995 ที่ทำลายชีวิตคนไป 168 คน รวมทั้งเด็ก เป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ตอนนั้นการ์แลนด์ทำงานช่วยรองรัฐมนตรียุติธรรม เขาขอให้ส่งไปทำการสอบสวนคดีระเบิดในเมืองทันทีเพราะต้องการดูด้วยตาและดำเนินการให้ทันการ เขาเป็นคนสำคัญในการผลักดันการดำเนินคดีนี้จนถึงขั้นสุดท้ายคือพิพากษาประหารชีวิตนายทิมโมธี แมคเวห์หนึ่งในผู้ต้องหา คนที่รู้เรื่องนี้ประทับใจในฝีมือและความมุ่งมั่นในการดำเนินคดีกับผู้ผิดของนายการ์แลนด์อย่างยิ่ง ศึกกับนายทรัมป์ครั้งนี้ จึงมีคนจำนวนหนึ่งยังตั้งความหวังว่า นายการ์แลนด์จะยังรักษาฝีมือและวิญญาณของผู้พิพากษาที่ต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะ ‘ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย’

มีคนห่วงว่านายการ์แลนด์อาจเสียท่านายทรัมป์ก็ได้ เช่นการบุกไปยึดเอกสารถึงในบ้านส่วนตัวนายทรัมป์เลย แต่หลังจากเมื่อเป็นข่าวใหญ่และทรัมป์ออกมาฟาดหัวฟาดหางเป็นการใหญ่ นายการ์แลนด์ก็ออกมาตอบโต้ปกป้องการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เอฟบีไออย่างเต็มที่ แสดงว่าเขาติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และศึกษาข้อมูลหลักฐานหมดแล้ว จนลงนามในหนังสือถึงศาลมลรัฐเพื่อขอหมายค้นบ้านนายทรัมป์ ปมเงื่อนของกรณีบุกบ้านครั้งนี้อยู่ที่บรรดาเอกสารทางการที่นายทรัมป์นำออกมาจากทำเนียบขาวและเอาไปเก็บไว้ในห้องเก็บของในคฤหาสน์ Mar-a-Lago ของทรัมป์ ซึ่งพบว่าจำนวนมากเป็นเอกสารลับและลับที่สุด อันอาจกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศได้

กระทรวงยุติธรรมสรุปกรณีนี้ว่าเข้าข่าย 3 ประการคือ 1. ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการจารกรรม (Espionage Act) จากการนำเอาเอกสารลับมาเป็นของตนเอง 2. กระทำการอันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ยอมมอบและคืนเอกสารทางการเหล่านั้นเมื่อมีการร้องขอจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติและต่อมายอมคืนแต่ไม่ให้หมด และ 3. การปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องต่อเอกสารลับซึ่งมีหลากหลายระดับและแต่ละอย่างมีกฎเกณฑ์การเก็บรักษาที่เข้มงวดอย่างยิ่ง ไม่อาจปล่อยให้อยู่ในมือของคนที่ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ได้

ดูจากหลักการและพื้นฐานในการต่อสู้กับทีมทรัมป์ในกรณีเอกสารลับครั้งนี้ เห็นได้ว่ากระทรวงยุติธรรมมีการจัดเตรียมและวางแผนอย่างมีขั้นตอนในการดำเนินการ เพราะเมอร์ริก การ์แลนด์ไม่ใช่มือใหม่หัดขับในแวดวงผู้พิพากษา เขาเป็นตัวเก็งที่ประธานาธิบดีโอบามาเตรียมยื่นเสนอให้แก่วุฒิสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดหลังจากการอสัญกรรมของผู้พิพากษาแอนโทนิน สกาเลียอย่างกะทันหันในปี 2016 ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับฮิลลารี คลินตันกำลังเข้าสู่เส้นชัย โอบามาเสนอชื่อการ์แลนด์เข้าไปยังวุฒิสภาที่พรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมาก นายมิชต์ แมคคอนแนลหัวหน้าเสียงข้างมากและคุมการประชุม ปฏิเสธการเสนอชื่อของโอบามา อ้างว่ารอให้รู้ผลประธานาธิบดีคนใหม่ก่อน แล้วให้เขาพิจารณาว่าจะส่งใคร ซึ่งเป็นการขัดจารีตของการเสนอชื่อผู้พิพากษาที่สามารถทำได้เลย กลยุทธ์ที่แมคคอนแนลใช้คือไม่นำญัตติแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดเข้าสู่ที่ประชุม กระทั่งเลยกำหนดเวลา ทำให้ญัตตินี้ตกไปโดยปริยาย นายการ์แลนด์จึงมีประสบการณ์อันขมขื่นกับพรรครีพับลิกันและประธานาธิบดีทรัมป์ไม่น้อย เมื่อโจ ไบเดนได้เป็นประธานาธิบดี เขาจึงแต่งตั้งให้นายเมอร์ริก การ์แลนด์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเสียเลย

ศึกทางกฎหมายครั้งนี้จึงมีความหลังไม่น้อยและทำให้การต่อสู้ของฝ่ายพิทักษ์ความยุติธรรมดำเนินไปอย่างมีความหมายทั้งต่อตัวปัจเจกบุคคลและต่อสังคมโดยรวม และนี่คือปัจจัยหนึ่งที่นิยามความเป็นประชาธิปไตยของอเมริกา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save