‘เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ถูกจับตามองตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ 2566 จนถึงขณะนี้ที่รัฐบาลใหม่ได้เริ่มปฏิบัติงานมากว่า 2 เดือนแล้ว กระแสวิพากษ์วิจารณ์มีขึ้นเป็นวงกว้างว่าเป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริงหรือไม่ และจะมีวิธีการหาเงิน รวมถึงวิธีการแจกให้กับประชาชนอย่างไร สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนกำลังคาดหวังกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ ที่ยังฟื้นตัวได้ช้าจากวิกฤตโควิด-19
เพื่อให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลงเรื่อยๆ และเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ได้ การทำความเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและโครงสร้างสังคม พร้อมหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วนโยบายเศรษฐกิจแบบใดกันแน่ที่จะตอบโจทย์ประเทศไทยในช่วงเวลานี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
101 ชวน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มาร่วมวิเคราะห์สังคมเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากนโยบายเงินดิจิทัล พร้อมเสนอประเด็นที่สังคมควรพูดถึงเพิ่มเติม จนเกิดเป็นข้อเสนอทางนโยบายต่อรัฐบาล และนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อไป
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.312 เดิมพันใหญ่นโยบายเศรษฐกิจ? กับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ออกอากาศวันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2566 ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล
สถานการณ์เศรษฐกิจไทย อยู่ตรงไหนในบริบทโลก
พิพัฒน์สรุปประเด็นปัญหาที่น่าสนใจของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
ประการแรก เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และฟื้นตัวกลับมาได้ช้า ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พบว่ายังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เท่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด
ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้มาก จากเดิมที่คาดว่าหลังจากจีนเปิดประเทศจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายในประเทศจำนวนมาก แต่ความเป็นจริงแล้วพบว่าการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนกลับไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่หวัง
ประการที่สาม นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไทยยังไม่มีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Engine of Growth) ในช่องทางอื่นๆ อีกทั้งการส่งออกยังคงติดลบ
และประการสุดท้าย การฟื้นตัวในแต่ละภาคส่วนเกิดขึ้นแบบไม่เสมอภาคกัน บางภาคส่วนเติบโตเกินกว่าช่วงโควิด เช่น ภาคการสื่อสาร การเงิน การผลิต ในขณะที่ภาคบริการยังมีช่องว่าง ความไม่เท่าเทียมนี้จึงก่อปัญหาในระดับครัวเรือน โดยสะท้อนผ่านงบดุลครัวเรือน และการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก-กลางที่หนืดลง
เมื่อขยับไปมองภาพรวมในระดับโลก ประเทศอื่นๆ ก็เผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นกัน สหรัฐอเมริกาที่มีเงินอยู่ในระบบเยอะจนเงินเฟ้อ ในขณะที่จีนยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไม่เต็มที่ ส่วนไทยอยู่ตรงกลาง โดยเป็นภาวะที่ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดมาแล้วและพยายามเข้าสู่ภาวะปกติ เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ ‘Global Economic Divergence’ หรือการที่เศรษฐกิจโลกเดินหน้าไปในคนละทิศทาง เจอปัญหาแบบเดียวกัน พร้อมกัน แต่ฟื้นตัวกลับมาได้ไม่พร้อมกัน
ปัญหาของ ‘นโยบายอุดหนุนค่าครองชีพ’ ประเด็นที่รัฐบาลไทยควรพิจารณาเพิ่มเติม
ช่วงที่ผ่านมา ปัญหาเศรษฐกิจไทยได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก รัฐบาลจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผ่านนโยบายต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือทุกนโยบายมีต้นทุน การจะใช้งบประมาณในการจัดทำจึงต้องเลือกนโยบายที่ดีและเหมาะสมที่สุด
ปัญหาของนโยบายที่เห็นในขณะนี้ คือการเป็นนโยบายแบบเหวี่ยงแหแจกเงินให้ทุกคน ข้อดีคือสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่หลังจากนั้นอาจเจอปัญหาคือ ต้นทุนสูงและการบิดเบือนราคา เช่น นโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน ที่น่าตั้งคำถามว่า การอุดหนุนค่าครองชีพควรช่วยทุกคนจริงหรือไม่ หากเป็นผู้มีรายได้มาก ทำไมต้องอุดหนุนในจำนวนที่เท่ากับผู้มีรายได้น้อย และยังมีข้อคิดเห็นที่ว่าวิธีการลดราคาน้ำมันที่ดีที่สุดคือปล่อยให้ราคาแพงขึ้น เพราะจะมีความต้องการน้อยลง จนราคาลดลงไปตามกลไก
ใน 1 วัน ไทยใช้น้ำมันดีเซลปริมาณ 60 ล้านลิตร เท่ากับว่าใน 1 เดือนใช้ 1,800 ล้านลิตร โดยรัฐบาลอุดหนุนราคาน้ำมันผ่านภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันรวมกันประมาณ 7-8 บาทต่อลิตร หากต้องอุดหนุนทั้งเดือน งบก็จะยิ่งบานปลาย หากโชคดี ผลลัพธ์ก็จะเป็นการที่ราคาน้ำมันลดลง แต่หากเกิดวิกฤตอีก เช่น สงครามในตะวันออกกลางยังดำเนินต่อไป ราคาน้ำมันนอกประเทศสูงขึ้น หรือมีภาระด้านอื่นๆ เข้ามา ก็จะกลายเป็นภาระทางการคลังที่หนักหนา
ยกตัวอย่างนโยบายกำหนดราคาน้ำมันล่าสุดในอดีต ที่ส่งผลให้กองทุนน้ำมันติดลบถึงประมาณ 130,000 ล้านบาท ต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะนำคืนมาได้ แต่ในขณะนี้ก็กำลังอยู่ในช่วง 100,000 ล้านอีกครั้ง โดยน้ำมันแพงกว่าในช่วงก่อนหน้า แต่ก็กำหนดเพดานราคาให้ต่ำกว่าเดิมอีกเช่นกัน ภาระต้นทุนทางการคลังเลยยิ่งสูงขึ้น
สำหรับนโยบายแจกเงิน จากกรณีและงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า ผลลัพธ์จากนโยบายแจกเงินจะทำให้เกิด Multiplier Effect น้อยกว่า 1 กล่าวคือ หากใส่เงิน 100 บาทลงไปในระบบ จะมี GDP สุทธิเพิ่มขึ้นไม่ถึง 100 บาท เนื่องจากมีจุดรั่วอยู่ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก เงินที่แจกจะกลายเป็นเงินออม สมมติว่านายเอใช้จ่าย 10,000 บาทต่อเดือน หากได้รับเงินแจกมาอีก 10,000 บาท ก็จะนำเงินแจกนี้ไปใช้จ่ายเท่าเดิม แล้วนำอีก 10,000 บาทที่มีอยู่แล้วไปเก็บออม หรืออาจใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 15,000 บาท และนำเงินอีก 5,000 บาทที่เหลืออยู่ไปเก็บออม การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจึงไม่เท่ากับต้นทุนที่แจกเงินไปจริง
ประการที่สอง ไม่เกิดการเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ แม้จะนำเงินทั้งหมดที่มีไปใช้จ่าย ก็อาจมีจุดรั่วแบบอื่นๆ เช่น นำไปซื้อสินค้านำเข้า ไม่ได้ซื้อสินค้าในประเทศ
ประการสุดท้าย ยืมเงินในอนาคตมาใช้ เนื่องจากหากมีการกำหนดระยะเวลาใช้จ่าย เช่น ต้องใช้เงินที่แจกไปภายใน 6 เดือน อาจมีการซื้อของอุปโภคบริโภคมาตุนในช่วงเดือนสุดท้าย ดังนั้นในเดือนต่อไปก็จะไม่มีการซื้อสินค้าเหล่านี้เกิดขึ้นอีก หรืออาจมีอีกกรณีคือเลื่อนการใช้จ่ายในปัจจุบันออกไปเพื่อรอจนกว่าจะถึงวันได้รับเงินแจก แล้วค่อยใช้จ่าย
ทั้งหมดนี้จึงเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้และจะส่งผลกระทบให้การแจกเงินอาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่คาดหวัง แม้อาจมีการเพิ่มขึ้นของ GDP แต่ก็จะขึ้นมาน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น จึงต้องพิจารณาจุดรั่วเหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน และดูว่าคุ้มค่ากับต้นทุนหรือไม่ โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบ นโยบายลักษณะนี้จะได้ผลเมื่อโอนเงินให้กับเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อน เพราะเมื่อได้รับเงินแจกนี้ก็จะนำไปใช้สอยทั้งหมด เกิดการใช้จ่ายเต็มที่ หรือแจกในช่วงภาวะวิกฤต ที่ได้เงินมาแล้วต้องใช้เลย ตัวคูณทางการคลังก็จะเพิ่มขึ้นทันทีเช่นกัน
ใช้นโยบายการคลังให้มีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่มองปัญหาให้ถูกจุด
ถ้าหากความท้าทายทางเศรษฐกิจไทยในวันนี้คือการเกิดวิกฤตอย่างโควิดแล้วคนไม่มีเงิน ขาดรายได้ การแจกเงินอาจจะตอบโจทย์ แต่ขณะนี้ที่ประเทศผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวมาแล้ว และเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น นโยบายการคลังจึงควรมองถึงวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การแจกเงินใส่มือประชาชน เช่น ประเด็นเชิงโครงสร้าง การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมุ่งเน้นการตอบคำถามว่าภาครัฐควรมีบทบาทอย่างไร กล่าวคือ รัฐบาลต้องเลือกใช้ต้นทุนกับสิ่งที่มีความสำคัญจริง และเหมาะสมกับสถานการณ์
อย่างไรก็ดี หากตัดสินใจใช้นโยบายแจกเงิน ด้วยเห็นว่าคุ้มค่ากับต้นทุน และตอบโจทย์เป้าหมายระยะสั้นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ ก็ควรพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก ณ ขณะนี้ ไทยมีภาระหนี้ต่อ GDP ที่ประมาณ 61% ต่อ GDP โดยถ้าหาก GDP โตขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีหนี้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3% จากต้นทุนของนโยบายนี้ ก็จะยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ และถ้า GDP โตเยอะ ระดับหนี้ก็จะลดลงมา แต่ปัญหาคือต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ตามมาจากการที่เงินก้อนนี้อาจนำไปใช้ในด้านอื่นที่อาจเหมาะสมกว่าได้
ประเด็นต่อมาคือจะทำอย่างไรกับโจทย์เศรษฐกิจไทยระยะยาว เช่น ประเด็นโครงสร้างประชากร และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีภาระในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผลประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม, รายจ่ายทางสาธารณสุข, งบในการดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ ในขณะที่วันนี้ประเทศมีรายได้จากภาษีลดลง จากเดิมประมาณ 16-17% กลายเป็น 14% ต่อ GDP และมีการศึกษางบประมาณที่ระบุว่าอาจร่วงต่ำลงกว่านี้อีกในอนาคต
ประเด็นสำคัญที่สุดที่ควรมุ่งแก้ไขคือเรื่องโครงสร้างประชากร คือการที่ไทยมีประชากรวัยทำงานลดลง จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน โดยมีหลายประเด็นที่ต้องคำนึงถึง ทั้งการแก้ไขการศึกษา สร้างทักษะให้คนรุ่นใหม่พร้อมกับตลาดแรงงาน, หาการลงทุนที่เหมาะสม, สร้างสภาพแวดล้อมให้แรงงานอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ, กระจายความเจริญ ไม่ให้กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ให้เกิดการลงทุนทั่วประเทศ, เปิดเสรีในหลายอุตสาหกรรม ให้เกิดการแข่งขันได้ คนกล้าเข้ามาลงทุน และเกิดเป็นธุรกิจขนาดเล็กได้ รวมถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีให้ตอบสนองห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้ทันโลก
นอกจากนั้น ยังมีภาระที่จะเกิดในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ควรนำมาพิจารณาในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่จะต้องมีนโยบายการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) มารองรับ โดยต้องใช้ต้นทุนจำนวนมาก
ดึงดูดนักลงทุน อีกหนึ่งทางออกให้เศรษฐกิจไทยได้เติบโต
วิธีการหนึ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ คือการชักชวนบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งถือเป็นอีกทางออกที่ดี เพราะการลงทุนในเศรษฐกิจไทยลดลงเรื่อยๆ ถ้าหากตลาดในประเทศเล็กลง ประชากรก็จะลดลง จนส่งผลให้เศรษฐกิจโตช้าลงไปด้วย แต่จะชักชวนให้คนในประเทศมาลงทุนก็เป็นไปได้ยาก เพราะสถานการณ์การส่งออกของไทยไม่ดีนัก
ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมในไทยขาดความน่าสนใจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูก จึงควรมุ่งความสนใจไปยังอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งการลงทุนที่เข้ามาจากต่างประเทศอาจชักนำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันเข้ามาได้ด้วย เนื่องจากขณะนี้หลายอุตสาหกรรมในไทยกำลังเผชิญกับภาวะ ‘Kodak Moment’ หรือการที่ผลิตภัณฑ์โดนกระทบ (Disrupt) จนหายไป อย่างรถยนตร์ EV ที่เดิมเราเคยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ตลาดก็เริ่มหนืดลง การดึงการลงทุนจากต่างประเทศจึงอาจช่วยเติมอุตสาหกรรมใหม่ๆ จนกลายเป็น Engine of Growth ของไทยได้
ไทยจะต้องเตรียมการเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน โดยพิจารณาจากปัญหาของคนที่เคยเข้ามาลงทุน แต่ย้ายฐานการผลิตออกไปแล้วต้องเผชิญ รวมถึงหาข้อกังวลของคนที่ไม่เคยพิจารณามาลงทุนในไทยว่าเกิดจากอะไร เพราะถ้าหากทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ลงทุนเพิ่ม ประเทศที่เปรียบเสมือนบ้าน ก็จะกลายเป็นบ้านที่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้
ประเด็นสำคัญที่ควรเตรียมการ คือเรื่องคุณภาพแรงงาน เพราะในไทยยังขาดแรงงานมีทักษะ จึงควรพิจารณาปรับนโยบายการเข้าเมือง และพิจารณาอาชีพที่สงวนไว้เฉพาะคนไทยอีกครั้งหนึ่ง แม้จากเดิมจะป้องกันอาชีพเหล่านี้ไว้เพื่อให้คนไทยมีงานทำ แต่ในวันที่ประชากรไทยมีจำนวนลดลง แรงงานมีทักษะก็อาจมีจำนวนไม่เพียงพอ รวมถึงคนที่จะเข้ามาทำงานได้ก็มีแต่แรงงานไม่มีทักษะ (Unskilled Labor) เท่านั้น ซึ่งการมีแรงงานไม่มีทักษะจำนวนมาก ยิ่งทำให้พวกเขาได้รับค่าแรงที่ต่ำลง ส่วนค่าแรงของแรงงานมีทักษะที่คนขาดแคลนกลับได้รับค่าแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำตามมา
นอกจากเรื่องแรงงาน การพิจารณาของกฎระเบียบ การขออนุญาต หรือแม้แต่การทุจริตในประเด็นการเข้ามาลงทุนในประเทศก็มีความสำคัญ ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนเช่นกัน
คำแนะนำถึงรัฐบาล ในการบริหารความคาดหวังของประชาชน กับนโยบายระยะสั้น-ระยะยาว
นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่เห็นว่ารัฐบาลพยายามทำให้สำเร็จในขณะนี้ ถือเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ที่จัดว่ามีความสำคัญ แต่จำเป็นจะต้องสื่อสารให้คนรู้ด้วยว่ามีการเตรียมการแก้ปัญหาระยะยาวอยู่ด้วยเช่นกัน
เพราะความน่ากังวลของปัญหาเศรษฐกิจไทย คือการหาวิธียกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ ที่ไม่สามารถแก้จากนโยบายระยะสั้นได้ แต่ต้องปรับตั้งแต่เชิงโครงสร้าง และหากนโยบายระยะสั้นใช้ต้นทุนสูง จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับตลาดได้ว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ และการันตีว่าจะรักษาวินัยทางการคลัง หาเงินมาคืนหนี้ที่ใช้ไปได้
ในประเด็นที่ว่ารัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้ลดลง เพราะมีเงินหมุนเวียนอยู่นอกระบบเยอะ โจทย์สำคัญจึงต้องเป็นการดึงคนเข้ามาในระบบการจ่ายภาษี รัฐบาลจะได้มีทรัพยากรไปใช้งานต่อ แต่ปัญหาที่เห็นจากที่ผ่านมาคือระบบเศรษฐกิจไทยยังไม่รู้จักประชาชนอย่างเพียงพอ คือไม่เห็นว่าใครกำลังเดือนร้อน ใครมีรายได้เท่าไรบ้าง ปัญหาที่ตามมาจึงเป็นการออกนโยบายที่อาจไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่ตอบโจทย์ และมีต้นทุนสูง
นอกจากนั้น ปัญหาหนี้ของประชาชนยังคงทวีความรุนแรง โดยหนี้เกิดจากการที่รายได้ของประชาชนที่ลดน้อยลงในช่วงโควิดยังไม่กลับมาเท่าเดิม จึงมีหนี้เพิ่มขึ้น วีธีการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ดีที่สุดจึงเป็นการเพิ่มรายได้ เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เช่นนั้นอาจเป็นการก่อหนี้จนเสียสินทรัพย์ที่ต้องไปค้ำประกัน และจะมีผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้เป็นหนี้ได้
ประเด็นที่สังคมควรสนใจและนำมาถกเถียงเพิ่มเติม
นอกเหนือจากประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่แล้วอย่างความเป็นไปได้ของนโยบายอุดหนุนค่าครองชีพ และเรื่องอื่นๆ ยังมีประเด็นที่คนอาจมองข้าม แต่มีความสำคัญและควรนำมาถกเพื่อหาคำตอบเพิ่มขึ้น และเพื่อให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน
ประเด็นแรก มาตรการรายได้ เนื่องจากไทยยังเผชิญปัญหาระดับรายได้ต่อ GDP น้อย และยังลดลงต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็จะต้องขึ้นภาษี เพราะในอนาคตจะต้องมีภาระที่รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล สองสิ่งนี้จึงต้องทำควบคู่กันไปโดยเร่งปฏิรูปรายได้ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระต่อผู้จ่ายภาษี และเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราส่วนผู้เป็นภาระต่อผู้รับภาระ (Dependency Ratio) ซึ่งสะท้อนว่าคนทำงาน 1 คนจะต้องดูแลคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ
ประเด็นที่สอง การเข้าเมือง ไทยจะต้องดึงดูดแรงงานมีทักษะเข้ามาให้ได้มากขึ้น และจะต้องเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย โดยนอกจากประเด็นการรับแรงงานโดยตรง ยังควรพิจารณาถึงการเปิดให้ชาวต่างชาติได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เพื่อดึงดูดให้คนอยากเข้ามาอาศัยอยู่และทำงานในไทย แต่นโยบายนี้ก็ยังมีหลายข้อกังวล เช่น อาจทำให้คนไทยเสียประโยชน์ในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นนโยบายที่ควรนำมาพัฒนาต่อ เพื่อลดข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้น