fbpx

มองความหวังเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง 2022 กับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ก่อนเข้าสู่ปี 2022 โลกคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการควบคุมโควิด-19 ที่ได้ผลจากวัคซีน รวมถึงการกลับมาเปิดประเทศเพื่อการค้าและการท่องเที่ยวของหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อครึ่งปีแรกของ 2022 เริ่มต้นด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่และหลากหลายสายพันธุ์ อีกทั้งการปะทุขึ้นของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น 

ปัจจัยจากสงครามและปัญหาการชะงักงันของอุปทาน (supply shock) กลายเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมา ส่งผลให้ธนาคารกลางของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve System) หรือ ‘เฟด’ ต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยท่ามกลางความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง นำมาสู่ความเสี่ยงและความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัว หรือแย่ที่สุดคืออาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิดอย่างไทยย่อมได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

101 ชวน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก เพื่อหาคำตอบว่าสังคมเศรษฐกิจไทยควรเดินหน้าอย่างไรในครึ่งปีหลัง 2022 ไปจนถึงต้นปี 2023

หมายเหตุ – เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 One-on-One Ep. 270 อ่านเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง 2022 กับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย วันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565 

เศรษฐกิจโลกปี 2022 ในครึ่งแรกที่ผ่านมาเป็นเหมือนที่เคยคาดหวังไว้ในปีที่แล้วหรือไม่

ในภาพรวม เศรษฐกิจโลกครึ่งแรกเจริญเติบโตเหมือนที่หลายคนคาด แต่ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่า เงินเฟ้อคือความเสี่ยงสำคัญ ซึ่งมีที่มาจากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกินพอดีของหลายประเทศ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะสงคราม ปัญหาการชะงักงันของอุปทาน (Supply Disruption) ปัญหาเหล่านี้คือช็อกของเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นช็อกแรก

พอเงินเฟ้อไม่ลงอย่างที่คาดและปรับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็นำไปสู่ช็อกที่ 2 ที่หลายคนกังวลมาก คือช็อกของอัตราดอกเบี้ย เดิมธนาคารกลางหลายแห่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากโควิด-19 และหลังจากนี้ก็จะค่อยๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทุกอย่างก็จะเป็นไปอย่างสงบเรียบง่าย แต่ปรากฏว่าเงินเฟ้อไม่ได้สงบเรียบง่ายอย่างที่คาดไว้ 

ถ้าจำได้ปีที่แล้วธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาบอกว่าเงินเฟ้อเป็นแค่ประเด็นชั่วคราว ไม่ใช่ประเด็นถาวร แต่ตอนนี้ต้องยอมรับแล้วว่าเงินเฟ้อเป็นประเด็นที่หนักกว่าที่คาด และมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม ซึ่งก็นำมาสู่ช็อกที่ 3 คือภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มจะเห็นสัญญาณไม่ค่อยสู้ดีนัก ในปลายปีนี้จนถึงต้นปี 2023 หลายแห่งประเมินว่าเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆ อยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่ากังวล

เงินเฟ้อที่เราเผชิญในรอบนี้แตกต่างจากสิ่งที่เราเจอในอดีตอย่างไร

จริงๆ ต้องบอกว่ามันเหมือน Perfect Storm เงินเฟ้อคือภาวะที่ระดับราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในภาวะปกติ เงินเฟ้อจะมีสาเหตุมาจากอุปสงค์เยอะกว่าอุปทาน ปกติในช่วงที่เศรษฐกิจดีจะนำไปสู่อุปสงค์ที่เยอะมาก คนไปไล่ซื้อสินค้า ทำให้เงินเฟ้อขยับขึ้น ถ้าเป็นแบบนั้นการสู้กับเงินเฟ้อในสภาวะปกติจะไม่ยากมากนัก เพราะหากมาจากฝั่งอุปสงค์ก็ต้องเหยียบเบรกอุปสงค์ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยหรือลดการกระตุ้นทางการคลัง 

แต่ในภาวะปัจจุบันมันผสมโรงกันระหว่างอุปสงค์ที่เกิดจากเศรษฐกิจที่ได้รับการกระตุ้นมากจนเกินพอดีอย่างในสหรัฐอเมริกา และฝั่งอุปทานที่เห็นได้ชัดคือราคาน้ำมัน หลายคนบอกว่าถ้ารัสเซียไม่บุกยูเครน ราคาน้ำมันก็จะค่อยๆ ขยับขึ้นอยู่แล้ว แต่พอรัสเซียบุกยูเครน ก็ยิ่งทำให้เรื่องของอุปทานทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก 

ในสภาวะปกติคนมักจะพูดกันว่าสิ่งที่จะมาแก้ไข ‘ราคาสินค้าแพง’ ได้ดีที่สุดก็คือ ‘ราคาสินค้าแพง’ หมายความว่าถ้าของแพง เช่น น้ำมันแพง สักพักจะมี Supply Response คือคนจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น กำลังการผลิตก็จะเยอะขึ้น สินค้ามีเยอะขึ้น และสุดท้ายราคาก็จะถูกลงด้วยตัวมันเอง 

ก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26) มีการคุยกันเรื่องโลกร้อน ต่อไปนี้เราจะเลิกใช้พลังงานฟอสซิลแล้ว ซึ่งถ้าผมเป็นบริษัทน้ำมัน ในเมื่อทุกคนบอกว่าจะเลิกใช้น้ำมัน และในวันนี้ที่ราคาน้ำมันขึ้น ถ้าจะให้ผมไปลงทุนผลิตน้ำมันอีกรอบ ผมก็คิดหนักนะครับ เพราะว่าถ้าลงทุนไปตอนนี้ก็มีความกังวลว่าเดี๋ยวอีกสักพักคนก็จะเลิกใช้น้ำมันกันหมดแล้ว ผมจึงมองว่าตอนนี้เรากำลังเจอปัญหาที่เรียกว่า preemptive under-investment คือไม่มีใครลงทุนเพิ่ม และการตอบสนองต่อราคาที่สูงขึ้นก็มีน้อยกว่าในอดีตมาก สมัยก่อนพอราคาน้ำมันขึ้น ทุกคนจะต้องมาคอยนับว่าจำนวนหัวเจาะน้ำมัน (rig count) เยอะขึ้นหรือเปล่า ซึ่งรอบนี้แทบจะไม่ค่อยเพิ่มเลย ทำให้ราคาน้ำมันค้างอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

พอน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ รวมถึงถ่านหินมีราคาสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้เงินเฟ้อในหลายประเทศขยับสูงขึ้นตาม และเป็นที่มาจากฝั่งต้นทุนด้วย ผมมองว่าประสบการณ์ในปัจจุบันคล้ายกับในยุค 1970-1980 ค่อนข้างมาก คือเป็นภาวะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากฝั่งต้นทุน ส่วนฝั่งอุปทานคือดอกเบี้ยกับนโยบายการคลังก็กำลังคิดหนักว่าต้องทำอย่างไรดี และพอเป็นเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศพุ่งสูงขึ้นที่สุดในรอบ 40 ปี อย่างในสหรัฐอเมริกาขึ้นไปที่ 9% กว่าๆ ยุโรปในหลายประเทศขึ้นไปกว่า 10% ที่ลัตเวียเงินเฟ้อขึ้นไปถึง 20% พอราคาแก๊สขยับขึ้น เขาก็ปล่อยให้ค่าไฟฟ้าต่างๆ ขยับขึ้นมหาศาล

เงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างไรบ้าง

เงินเฟ้อทำให้เกิดปัญหาอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่ 1 พอต้นทุนในการดำรงชีวิตสูงขึ้น คนก็จะนำเงินไปซื้อสินค้าประจำที่จำเป็นก่อน เช่น เติมน้ำมัน กินข้าว ซึ่งถ้ารายได้ไม่เพิ่มตามหรือรายได้มีอยู่อย่างจำกัด แน่นอนว่าเงินที่จะเหลือไปใช้ซื้อสินค้าอื่นๆ ก็จะลดลง เศรษฐกิจก็จะหมุนช้าลง เพราะคนมีความสามารถในการบริโภคน้อยลง 

เรื่องที่ 2 ถ้ารายได้ของคนไม่เพิ่มขึ้น คนมีเงินเหลือน้อยลง เงินออมก็จะน้อยลง เงินที่จะนำไปใช้คืนหนี้ก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ก็จะมีปัญหา 

เรื่องที่ 3 เวลาเงินเฟ้อขึ้นทีไรจะทำให้ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยด้วย ก็จะยิ่งไปแตะเบรกเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก เงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องที่กระทบทั้งชีวิตคนและกระทบถึงธุรกิจด้วย 

โดยเฉพาะถ้าเงินเฟ้อเกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ได้ดีมาก ธุรกิจก็จะเจอต้นทุนการผลิตสินค้าที่แพง ของมีไม่เพียงพอ และจะส่งผ่านราคาสินค้าไปให้ผู้บริโภคไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ดี ต้นทุนสูง ถึงราคาจะสูงก็สูงตามต้นทุนไม่ทัน มีผลกระทบไปถึงกำไรของบริษัท เพราะฉะนั้น เงินเฟ้อจึงเป็นปัญหาในหลายมิติ และดูเหมือนว่าสถานการณ์ในรอบนี้จะแก้ลำบาก เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายที่เราไม่ได้เจอมาหลายสิบปีแล้ว 

เงินเฟ้อในรอบนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับเงินเฟ้อที่เคยเกิดขึ้นในปี 1980 ซึ่งตอนนั้นขยับขึ้นไปถึง 10-20% สิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำตอนนั้นคือขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างหนัก แปลว่าเงินเฟ้อในตอนนี้มีโอกาสทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่

ผมก็หวังว่าจะไม่นะครับ ถ้าย้อนกลับไปรอบที่แล้ว มันเป็นซีรีส์ของปัญหาที่ค่อนข้างเยอะ ก่อนที่จะถึงยุค 1980 จริงๆ เงินเฟ้อขึ้นรอบแรกตั้งแต่ต้น 1970 ก่อนแล้ว แต่ก่อนที่เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ธนาคารรีบลดดอกเบี้ยเร็วไปหน่อย พอรีบลดดอกเบี้ยในขณะที่เงินเฟ้อยังคงค้างอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ก็นำไปสู่ภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Wage Price Spiral คือพอเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงไปสักระยะหนึ่งก็จะเอาลงยากแล้ว เพราะทุกคนจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าภาวะปัจจุบันเงินเฟ้อกำลังสูงนะ เพราะฉะนั้นก็จะสามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภคได้โดยไม่มีปัญหา บางคนจึงบอกว่าเป็นการขยับจากภาวะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำแล้วคนไม่ค่อยกล้าขึ้นราคาสินค้า ไปสู่ภาวะของเงินเฟ้อสูงที่นำไปสู่การขึ้นราคาสินค้าเต็มไปหมด 

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าสมมติเงินเฟ้อปกติอยู่ที่ 2% และใครก็ตามที่อยากจะขอขึ้นเงินเดือน ถ้าเขาเดินไปหาเจ้านายก็คงจะบอกว่าขอขึ้นเงินเดือน 2% ขึ้นไป คือขอให้ชนะเงินเฟ้อก็พอใจแล้ว แต่ถ้าในภาวะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 5% ผมไปขอขึ้นเงินเดือนกับเจ้านาย ผมไม่มีทางขอแค่ 5% แน่นอน เพราะถ้าขอเพิ่มเท่ากับเงินเฟ้อ ผมก็ไม่ได้อะไรเพิ่มเลย ผมต้องขอมากกว่านั้น และถ้าทุกคนทำแบบนี้ ไม่ว่าจะในแง่ของการกำหนดเงินเดือน ราคาค่าเช่า หรือการขึ้นราคาสินค้า ทุกครั้งที่ปรับ ทุกคนก็จะปรับแบบบวกจากเงินเฟ้อขึ้นไปอีก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่

บางครั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็อาจจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ด้วย อย่างช่วงเงินเฟ้อยุค 1980 ที่พอล โวล์คเกอร์ (Pual Volcker) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในตอนนั้นเข้ามาจัดการ ตอนนั้นเงินเฟ้อน่าจะอยู่สักประมาณ 12-15% แต่โวล์คเกอร์ขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 20% เพื่อที่จะเบรกเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ซึ่งก็ค้างอยู่อย่างนั้น และสุดท้ายก็นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 2 ครั้ง คือในปี 1980 และปี 1982 

บทเรียนที่ธนาคารส่วนใหญ่เรียนรู้จากกรณีปี 1970-1980 คือเวลาเจอภาวะเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปทานหรือฝั่งต้นทุน จะเป็นการดีกว่าถ้าเข้าไปเบรกมันตั้งแต่ต้นและทำให้คนเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะเข้ามาคุมเงินเฟ้อ และกดการคาดการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ ดีกว่าปล่อยให้มันอยู่ในระดับสูงแล้วสุดท้ายก็ต้องไปขึ้นดอกเบี้ยอยู่ดี และอาจจะต้องขึ้นเยอะกว่าที่ควรจะต้องทำด้วยซ้ำ จึงเป็นเหตุผลที่หลายๆ ที่ อย่างในยุโรปที่เงินเฟ้อสูงมาก เศรษฐกิจแย่มาก แต่อย่างไรก็ต้องส่งสัญญาณว่าจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย เพราะทุกคนก็รู้ว่าต้นทุนของเงินเฟ้อเผลอๆ จะเยอะกว่าต้นทุนของดอกเบี้ยที่ขึ้นด้วยซ้ำ

ตอนนี้ธนาคารกลางของหลายประเทศพยายามรับมือกับเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันแล้ว แนวโน้มเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร จะขึ้นต่อไปไหม หรือว่าเราผ่านจุดที่สูงที่สุดมาแล้ว

ไม่ว่าจะทำอะไรในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถ้าเงินเฟ้อมาจากฝั่งต้นทุน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในปัจจุบันได้เลย สมมติเงินเฟ้อมาจากราคาน้ำมันที่สูงหรือจากการรบกันระหว่างรัสเซียกับยูเครน การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยทำให้ราคาน้ำมันลงได้ และไม่ได้ทำให้สงครามหยุด 

แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการปรามไม่ให้เงินเฟ้อในอนาคต หรือไม่ให้การคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงในอนาคต ส่วนใหญ่การขึ้นดอกเบี้ยจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจทันที ต้องรอไปอีกสัก 6 เดือนถึง 1 ปีเป็นต้นไป ถ้าเงินเฟ้อจะลงในสถานการณ์ปัจจุบันมันไม่ได้มาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลย เพราะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งถึงจะมีผล เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่อาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะขึ้นถึงจุดพีกแล้วก็ตาม 

ถ้าถามว่าตอนนี้เงินเฟ้อขึ้นถึงจุดพีกหรือยัง ผมเชื่อว่ากำลังจะพีก เพราะส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงก็คือราคาน้ำมัน ตอนนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าถ้าราคาน้ำมันไม่ได้ขึ้นต่อ สมมติว่าคงที่อยู่ที่ 90-110 แรงกดดันต่อเงินเฟ้อและแรงกดดันต่อราคาสินค้าโดยรวมก็จะแผ่วลงด้วยตัวมันเอง แต่ไม่ได้แปลว่าราคาสินค้าจะลงนะ แต่ความเร่งตัวของราคาสินค้าจะโตขึ้นช้าลง ซึ่งอันนี้ที่ผมพูดเป็นการคาดการณ์ในกรณีที่ราคาน้ำมันไม่ขึ้นต่อ 

ย้อนไปในช่วง 1970-1980 ตอนนั้นราคาน้ำมันมาเป็นเวฟเลย เพราะมีเรื่องของการคว่ำบาตร การลดกำลังการผลิตต่างๆ เต็มไปหมด แต่รอบนี้ดูเหมือนว่ายังไม่มีสัญญาณที่จะรุนแรงขึ้น แต่ถ้ารุนแรงขึ้น เงินเฟ้อก็จะไม่พีก ถามต่อว่าถ้าเงินเฟ้อพีกแล้ว เราไม่ได้บอกว่ามันจะกลับไปที่ 2% ภายในปีหน้า ผมไม่เชื่อว่ามันจะกลับไปเท่านั้นได้ด้วยซ้ำ เพราะพอเงินเฟ้อขึ้นแล้วมีสินค้าหลายรายการที่ราคาหนืด (sticky) กว่าราคาน้ำมัน พูดง่ายๆคือ ขึ้นแล้วไม่ยอมลง ตอนนี้หลายคนเริ่มก็กังวลเรื่องค่าเช่าบ้านที่เริ่มแพงแล้ว และเวลาค่าเช่าบ้านขึ้นแต่ละทีมันไม่ได้หยุดง่ายๆ มันจะค่อยๆ ทยอยขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง หรือค่าบริการต่างๆ ก็จะขยับและจะเป็นฐานทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อไม่ลงเร็วอย่างที่คาด

เราจะมองการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในครึ่งปีหลังนี้อย่างไร มีราคาอะไรที่ต้องจ่ายจากการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในรอบนี้

สหรัฐอเมริกาอาจจะต่างจากคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะจริงๆ สหรัฐฯ มีส่วนประกอบของเงินเฟ้อที่มาจากอุปสงค์ค่อนข้างเยอะ เพราะไปกระตุ้นเศรษฐกิจทิ้งไว้เยอะ เพราะฉะนั้น การถอนออกมาก็เป็นการช่วยถอนคันเร่ง ตรงนี้อาจจะช่วยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ แต่อย่างที่บอกว่าถ้าเงินเฟ้อมีที่มาจากฝั่งอุปทานด้วย ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ต้องยอมรับว่าการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ไปช่วยให้อุปทานเพิ่มขึ้นเลย แต่เป็นการแตะเบรกเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดแรงงานคลายความตึงตัว ทำให้แรงกดดันของค่าจ้างลดลง พูดง่ายๆ คือทำให้เศรษฐกิจชะลอ และหวังว่าเศรษฐกิจจะชะลอเพียงพอที่จะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง

เพราะฉะนั้น ราคาที่ต้องจ่ายของการคุมเงินเฟ้ออาจเป็นคนที่ต้องตกงานเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจที่หมุนช้าลง คนได้รับผลกระทบมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ พูดชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้ามีเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจก็จะไม่อาจโตอย่างมีคุณภาพและมั่นคงได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องยอมจ่ายโดยทำให้ตลาดแรงงานอ่อนแอลง

มองว่าจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบที่หลายคนกังวลเลยไหม 

มีความเป็นไปได้มากขึ้นเยอะเลย และตรงนี้ก็ต้องถามด้วยว่ากำลังพูดถึงที่ไหนกันอยู่ อย่างตอนนี้ GDP ไตรมาสที่ 1 ของสหรัฐฯ ติดลบไปแล้วประมาณ 1% ครึ่ง ซึ่งหลายคนก็มองว่ายังไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรอก แต่ไตรมาสที่ 2 ตอนนี้ก็เหมือนว่าตัวเลขจะติดลบแล้วเหมือนกัน แต่ถ้าตัวเลขติดลบ 2 ไตรมาสติดก็อาจจะมองว่าเป็น technical recession หลายคนก็มองว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแน่นอน เพราะอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.6% ค่าจ้างแรงงานก็ยังขยับขึ้น ทุก 1 คนที่หางานจะมี job opening รออยู่ 2 ตำแหน่ง เรียกได้ว่าอุปสงค์ในตลาดแรงงานยังคงดีมากอยู่ 

แต่ตอนนี้ถ้าเรามองตัวเลขก็จะเห็นว่ามันเริ่มม้วนลงเรื่อยๆ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ช่วงปลายปีนี้หรือช่วงต้นปีหน้า เราอาจจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวหรือถดถอยจริงๆ และคนก็มองว่ามีโอกาสจะเกิดเยอะขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ซึ่งมีที่มาจากหลายประเด็น

ประเด็นที่ 1 คือภาษีที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ (inflation tax) ที่พอของแพงก็ยิ่งทำให้คนใช้จ่ายน้อยลง ตอนนี้ทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้จัดการกองทุนต่างๆ อยู่ในจุดที่แย่มาก พอเกิดภาวะแบบนี้คนก็จะไม่กล้าใช้จ่าย การใช้จ่ายจะหยุดชะงัก

ประเด็นที่ 2 ดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น ถึงจะบอกว่าดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นไปไม่เยอะมาก แต่ถ้าเราไปดูตัวอย่าง เช่น อัตราดอกเบี้ยเพื่อซื้อบ้าน (mortgage rates) ตอนนี้ขึ้นจาก 3% ไป 6% แล้ว ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อบ้านแพงขึ้น เพราะฉะนั้น อุปสงค์สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จะเริ่มชะลอตัวลงแล้ว 

แต่ต้องบอกว่าเท่าที่พูดมา สหรัฐฯ ตอนนี้คือเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกในปัจจุบันนะ เศรษฐกิจที่อื่นมีความเสี่ยงมากกว่านี้อีก

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (technical recession) กับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) มีความน่ากลัวแตกต่างกันอย่างไร และเราควรจะเตรียมรับมืออย่างไร

ปกติคนที่มีหน้าที่ในการบอกว่าตอนนี้เราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือยังคือ National Bureau of Economic Research (NBER) ซึ่งก็มีเกณฑ์ในการตัดสิน 3 อย่างใหญ่ๆ เกณฑ์แรก คือการที่ภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างรุนแรง เกณฑ์ที่ 2 กระทบไปในหลายภาคส่วน เกณฑ์ที่ 3 กินเวลาไปสักระยะหนึ่ง

สรุปคือภาวะเศรษฐกิจถดถอยมี 3 มิติ คือต้องลึก กว้าง และนาน สมมติบอกว่าเศรษฐกิจติดลบนิดเดียวแล้วสักพักก็กลับไปเดินได้เหมือนเดิม ก็อาจจะไม่ได้นับว่าเป็นเศรษฐกิจถดถอยก็ได้ หรือถ้า GDP ติดลบแค่บางภาคส่วนหรือติดลบลงมาแค่ 2-3 เดือนแล้วก็กลับขึ้นไป แบบนี้ก็อาจจะไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

คำว่า technical recession จริงๆ เป็นตัวเลขหรือเป็นหลักการง่ายๆ ที่เอาไว้ดูเฉยๆ เพราะก็มีหลายครั้งที่ GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติด แต่ NBER อาจจะไม่นับเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ได้ ถ้าถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ตัวเลขติดลบ 2 ไตรมาสแล้วภาวะเศรษฐกิจจะไม่แย่ ผมมองว่าประเด็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ GDP เป็น production concept คือนับมูลค่าสินค้าที่ถูกผลิตในระยะเวลานั้นๆ ในประเทศนั้น ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับฝั่งอุปสงค์เลยก็ได้ เราอาจจะมีภาวะที่อุปสงค์ดีมาก มีภาวะเศรษฐกิจที่คนรู้สึกว่ายังอยากจ้างงาน ยังคงลงทุนหรือจับจ่ายใช้สอยได้อยู่แต่ GDP อาจจะติดลบก็ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเราไปเจอภาวะหยุดชะงักครั้งใหญ่อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างรวดเร็วแล้วก็ฟื้นกลับขึ้นมา บางทีรายการสินค้าต่างๆ มันยังค้างอยู่ เพราะผลิตมาตั้งนานแล้วแต่ไม่มีคนใช้ หรือหยุดผลิตแต่คนยังจับจ่ายใช้สอยอยู่ เศรษฐกิจยังดีอยู่ เรื่องแบบนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ จริงๆ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจถดถอยผมว่าดูแค่ตัวเลขอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องดูความรู้สึกของผู้คนด้วย 

ถ้าจะให้สรุปเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครึ่งปีหลัง คิดว่าหากภาวะนี้เกิดขึ้นจริงจะรุนแรงถึงขนาดมาฉุดให้เศรษฐกิจโลกถดถอยตามไปด้วยหรือเปล่า และเราควรจะทำความเข้าใจภาวะเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังอย่างไร

ผมมองว่าควรจะต้องจับตาดูสหรัฐฯ ให้ดี เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และคนบอกว่าสหรัฐฯ มักจะเป็นผู้ส่งออกภาวะเศรษฐกิจถดถอย หมายความว่าถ้าประเทศอื่นเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย สหรัฐฯ อาจจะไม่ได้มีปัญหาด้วยก็ได้ แต่ทุกครั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหา ประเทศอื่นก็จะมีปัญหาด้วยทุกที

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มองแค่ตัวเลข GDP อย่างเดียวอาจไม่พอแล้ว เพราะตัวเลขอาจจะหลอกได้ ผมคิดว่าตัวหนึ่งที่สำคัญพอๆ กันหรืออาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ คือ ตลาดแรงงาน เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จับตาดูด้วย เพราะเป้าหมายที่สำคัญของธนาคารกลางสหรัฐฯ คือเงินเฟ้อกับตลาดแรงงาน อาจจะดูจากอัตราการว่างงาน ค่าจ้างแรงงาน หรือตำแหน่งงานที่เปิดก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่คนยังมีงานทำอยู่ คนก็จะไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร ยังคงจับจ่ายใช้สอยได้อยู่ แต่ว่าถ้าคนเริ่มตกงาน ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นมาคือราคาพลังงานที่ดีดตัวขึ้นตั้งแต่มีการเข้าบุกรุกยูเครนของรัสเซีย คุณมองว่าครึ่งปีหลังนี้การเมืองยุโรปในภาคพื้นยูเครนกับรัสเซียจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน

ผมคิดว่าสงครามเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากมาก เหมือนกับที่เราก็คงไม่ได้คาดว่าปูตินจะบุกยูเครนจริงๆ และท่าทางจะไม่จบกันง่ายๆ เพราะฝั่งยุโรปก็คงจะไม่ยอมรัสเซีย รัสเซียก็คงจะไม่ยอมฝั่งยุโรป และประเด็นสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันคือรัสเซียเป็นคนส่งออกทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินรายใหญ่ของโลก จริงๆ ต้องบอกว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เดือดร้อน เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน วันนี้ที่ราคาพลังงานแพงขึ้น ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือยุโรป ที่ต้องใช้พลังงานต่างๆ ในราคาที่แพงขึ้น นี่คือราคาที่ยุโรปต้องจ่ายในการที่ไม่ยอมรัสเซีย

วันนี้สิ่งที่ชัดเจนมากที่ยุโรปบอกว่าจะทำ คือ ลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย เกินกว่าครึ่งของพลังงานที่ใช้ในยุโรปมาจากรัสเซีย ทั้งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อยุโรปเลิกพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ก็ต้องไปหาแหล่งใหม่ พลังงานของรัสเซียที่เคยจัดหาในโลกผ่านยุโรปก็จะหายไปจากตลาดโลกบางส่วน ทำให้ต้นทุนพลังงานแพงขึ้น ราคาแก๊สขึ้นมาประมาณ 10 เท่าจากก่อนเกิดสงคราม และลากเอาราคาถ่านหินและน้ำมันดิบแพงขึ้นไปด้วย

วันนี้สิ่งที่น่ากังวลคือตอนนี้รัสเซียปิดท่อแก๊สที่เยอรมนีไปแล้ว และถ้าไม่กลับมาเปิดถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมันเป็นท่อแก๊สที่วิ่งจากรัสเซียเข้าไปหาเยอรมนี และถ้าเยอรมนีมีแก๊สไม่เพียงพอ ในช่วงปลายปีที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวจะเจอปัญหาใหญ่แน่ๆ และอาจทำให้ยุโรปเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบไม่ได้ตั้งตัว และจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ไม่ได้มาจากฝั่งอุปสงค์ แต่จะมาจากฝั่งอุปทาน

ลองนึกภาพว่าถ้าอยู่ดีๆ ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้จะหายไปครึ่งหนึ่ง แล้วเราจะทำอย่างไรกับกำลังการผลิต โรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงงานต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงาน การผลิตจะหยุดไปหมดเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะปกติการสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาสินค้าจะลง แต่ถ้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัวมาจากฝั่งพลังงานหยุดชะงัก การผลิตจะหยุดและราคาสินค้าจะแพงขึ้น ปัญหาที่มาจากอุปทานไม่เพียงพอ ผมก็นึกไม่ออกเลยว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากของเศรษฐกิจยุโรป และเผลอๆ จะลามมาถึงเศรษฐกิจโลกด้วย

ตอนนี้เริ่มมีคนพูดว่าความไม่เท่าเทียมกันของความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้บางประเทศเริ่มมีปัญหา และอย่างเลวร้ายที่สุดคืออาจเกิดวิกฤตการณ์ยูโรโซนซ้ำรอย คิดว่าในอนาคตจะเลวร้ายถึงขนาดนั้นเลยไหม

ผมว่าน่ากังวลมาก ถ้ายังจำกันได้ ยุโรปเคยเจอปัญหา Dept Crisis มาแล้วประมาณปี 2014-2015 สังเกตว่าในช่วงที่เกิดโควิด-19 ไม่มีใครพูดเรื่อง European Dept Crisis เลย ต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตการณ์นี้คือประเทศฝั่งยุโรป โดยเฉพาะประเทศทางใต้ เช่น กรีซ อิตาลี ที่มีระดับหนี้ที่ค่อนข้างสูง อย่างอิตาลีก็เกือบ 150% ของ GDP ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยถูกมากในช่วงโควิด-19 อิตาลีเหลือต้นทุนทางการเงินแค่ 1% ในปัจจุบันที่ยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเลยสักครั้ง ต้นทุนทางการเงินของอิตาลีขึ้นไปแล้วเป็น 4% เท่ากับว่าเฉพาะภาระดอกเบี้ยอย่างเดียวคือ 6% ของ GDP ซึ่งขึ้นมาจาก 1.5% หลายคนจึงตั้งคำถามว่าสุดท้ายจะไปรอดไหม

วันนี้สิ่งที่ธนาคารกลางยุโรปกำลังคิดกันอยู่คือถ้าดูแค่เงินเฟ้ออย่างเดียว ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ยังมีความกังวล 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรก คือ กลัวเศรษฐกิจชะลอ เพราะมันไม่ได้ฟื้นตัวเข้มแข็งแต่แรก เรื่องที่ 2 คือ fragmentation risk หมายถึงความเสี่ยงที่ถ้าขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วจะกระทบประเทศที่อ่อนแอจนนำไปสู่ภาวะวิกฤติในยูโรโซน 

หันไปมองที่ประเทศที่เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจโลกอย่างจีน ซึ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด จีนยังคงยืนยันที่จะยึดมั่นนโยบายเข้มงวด Zero Covid (โควิดเป็นศูนย์) ในขณะที่หลายที่เปิดประเทศกันแล้ว คิดว่าจีนจะสามารถต้านทานกระแสโลกในเรื่องโควิด-19 ไปได้อีกนานแค่ไหน

ผมเชื่อว่ามันเป็นการตัดสินใจทางการเมือง และเชื่อว่าเมื่อสีจิ้นผิงได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่ 3 เมื่อไหร่ จังหวะนั้นอาจจะมีทางออกที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ผมมองว่ามันมี 2 เรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกคือจีนยึดมั่นนโยบาย Zero Covid มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นถ้าจู่ๆ ผ่อนคลายมาตรการจนนำไปสู่การระบาดทั้งประเทศ มีคนเสียชีวิตเยอะ ผมคิดว่าเขาคงยอมรับไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองอย่างรุนแรง ไม่ว่าอย่างไรจีนก็คงยืนหยัดในนโยบาย Zero Covid ต่อไปถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแพง

เรื่องที่ 2 คือวัคซีน ซึ่งจีนใช้วัคซีนที่ผลิตในจีนเอง ไม่ใช้วัคซีน mRNA ตอนนี้หลายประเทศกล้าเปิดประเทศกัน เพราะการติดโรคโควิด-19 ถือเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว และเพราะวัคซีน mRNA ถูกใช้ทั่วโลกไปหมดแล้ว ความรุนแรงก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่วันนี้สิ่งที่จีนไม่กล้าเสี่ยงคือ ปล่อยให้เกิดการระบาดแรงๆ ในประเทศกับวัคซีนที่อาจจะยังไม่มั่นใจ ลองนึกภาพประชากรมี 1,400 ล้านคน ติดโควิด-19 แค่สัก 10% ของคนในประเทศ  อัตราการเสียชีวิตในกรณีที่วัคซีนไม่ได้ประสิทธิภาพมีความเป็นไปได้ที่ว่าจะมีคนเสียชีวิตกว่าล้านคน 

สิ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือเราฉีดวัคซีนที่มีความสามารถในการลดความรุนแรงของโรคได้ทั่วถึงพอหรือยัง ซึ่งจีนอาจจะยัง ทำให้ไม่กล้าเสี่ยงเปิดประเทศ จึงทำให้เกิดต้นทุนต่างๆ เช่น การชะงักงันของอุปทาน (supply disruption) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ

หลายคนมีความคาดหวังว่าถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจจีนน่าจะเป็นตัวช่วยผลักให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจจีนกลับชะลอตัวลงจากผลกระทบของนโยบาย Zero Covid สุดท้ายถ้าเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรต่อไป

ผมก็ค่อนข้างกังวล ก่อนหน้านี้เราบอกว่าต่อให้เศรษฐกิจจะแย่ แต่มันคงไม่แย่ลงพร้อมกันแน่ๆ เพราะสหรัฐฯ ก็ยังแข็งแกร่งอยู่ ยุโรปอาจจะมีปัญหา แต่ว่าเดี๋ยวเศรษฐกิจจีนก็ฟื้นตัว แต่ก็มีความเสี่ยงที่เราจะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกัน (Synchronized Slowdown) ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า แต่ผมก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น หวังว่าสหรัฐฯ จะยังยันภาวะเศรษฐกิจได้อีกสักพักหนึ่ง

ปัญหาธนาคารล้มกับฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในจีนมีโอกาสเป็นชนวนลุกลามไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ไหม

ผมว่ามีความน่ากังวล แต่ไม่ได้คิดว่ามันจะเกิดขึ้นแบบแน่นอน ปัญหาของจีนมีต้นเหตุสำคัญมาจากปัญหาหนี้ ซึ่งสะสมมาเป็นเวลานาน ทั้งหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น หนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และดูเหมือนว่าวันนี้มันจะค่อยๆ แตกไปทีละจุด

ด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจจีน และที่ผ่านมาจีนก็ใช้วิธีสร้างเมืองใหม่ สร้าง Megacity ต่างๆ ทำให้คนไปติดกับฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะฉะนั้น เวลาอสังหาริมทรัพย์ลดลงก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตคนเยอะมาก เราจะเห็นได้จาก Global Financial Crisis ในสหรัฐฯ เพราะว่าความมั่งคั่งของคนอยู่อสังหาริมทรัพย์เยอะจริงๆ ถ้าคนซื้อบ้านน้อยลงและการลงทุนสร้างบ้านใหม่มีน้อยลง เศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลง วันนี้ก็จะเริ่มลามไปถึงภาคธนาคารแล้ว และถ้าคนหมดความเชื่อมั่นในระบบก็เป็นปัญหาที่ค่อนข้างน่าห่วง แต่ก็หวังว่าทางการจีนจะบริหารจัดการได้

คิดว่าปัญหาของ Emerging Markets จะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีโอกาสลุกลามบานปลายกลายเป็นโดมิโน หรือจะกระทบมาถึงประเทศไทยด้วยไหม

ปกติในทุกรอบที่ประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย Emerging Markets จะเหนื่อยด้วยทุกรอบ สาเหตุสำคัญคือเวลาเศรษฐกิจดี คือเงินล้นหรือดอกเบี้ยถูก เงินก็จะหลุดออกมาจากประเทศใหญ่ๆ ไปที่ประเทศต่างๆ แต่พออัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ค่อยๆ ขยับขึ้น เงินมันก็จะเริ่มดูดกลับเข้ามา คนก็จะกังวลเรื่องความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ประเทศไหนก็ตามที่พึ่งพาเงินออมและเงินทุนจากต่างประเทศเยอะๆ เหมือนไทยช่วงก่อนยุค 1940 ที่เอาเงินตราหรือเงินออมจากต่างประเทศมาใช้ในการพัฒนาประเทศ บางทีก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า sudden stop คือ การชะลอตัวอย่างฉับพลันของการไหลเข้ามาของเงินทุน พอมันหยุดก็ไปต่อลำบาก

ส่วนใหญ่ประเทศที่จะมีปัญหาคือประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเงินสะพัดสูง เพราะเป็นประเทศที่พึ่งพาเงินทุนจากประเทศเยอะ มีปัญหาเรื่องหนี้ต่างประเทศ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยหรือมีเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยก็ต้องขยับเพิ่มขึ้นไปอีก และในวันนี้ก็มีประเทศที่เจอปัญหาอย่างที่กล่าวไปเต็มไปหมด

ประมาณ 10-20 ปีที่แล้ว จะมีกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Emerging Markets เช่น ไทย อินโดนีเซีย ตุรกี แอฟริกา แต่ทุกวันนี้เวลาพูดถึงประเทศที่กำลังมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ คนจะไปพูดถึงประเทศที่เราเริ่มจะไม่รู้จักแล้ว เช่น แทนซาเนีย เอลซัลวาดอร์ หรือประเทศที่เมื่อก่อนไม่ได้พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเลยด้วยซ้ำ เช่น ลาว พม่า บังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา ที่เป็นเหมือนกลุ่ม frontier market (ตลาดหุ้นชายขอบ) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งของ Emerging Markets ในขณะที่ Emerging Markets แบบเดิมที่เราเคยเข้าใจกันทุกวันนี้ยังถือว่าอยู่ในภาวะที่โอเคอยู่ มีความเสี่ยงในระดับที่ยังไม่สูงมาก 

สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าเรายังไม่ได้มีปัญหาที่กล่าวมา เราอาจจะขาดดุลบัญชีเงินสะพัดนิดหน่อย แต่ถ้านักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ผมคิดว่าน่าจะเริ่มขาดดุลน้อยลงหรืออาจจะเกินดุลได้ เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศเยอะมากในเปอร์เซ็นต์ของ GDP จริงๆ เราไม่ได้มีความน่ากังวลขนาดนั้น แต่ช่วงนี้อาจจะเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อน แต่ผมคิดว่าเราไม่ได้มีความเสี่ยงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

เท่าที่คุยกัน ดูเหมือนว่าในครึ่งปีหลังนี้จะไม่มีข่าวดีทางเศรษฐกิจโลกเลย คิดว่าเราพอจะมองเห็นอะไรที่อาจจะเป็นความหวังในครึ่งปีหลังนี้บ้างไหม

ผมมองว่าจริงๆ เศรษฐกิจโลกก็ค่อยๆ ฟื้นตัว ตอนนี้หลายคนก็ยังหวังว่าจีนจะฟื้นตัวและรอดจาก Zero Covid ไปได้ แต่ในช่วงนี้จีนก็มีปัญหาภายในต่างๆ ของตัวเอง ก็อาจจะบอกได้ว่าจริงๆ จีนอาจจะไม่ได้แข็งแกร่งจากข้างใน และหนี้ก็สูง ข่าวส่วนใหญ่จึงเป็นข่าวร้ายค่อนข้างเยอะ 

ข่าวที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นข่าวดีกว่าที่คาดคือถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถ Soft Landing ได้โดยไม่เจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย แค่นั้นผมว่าคนก็ดีใจแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ก็ยังคงเป็นเรื่องของเงินเฟ้ออยู่ เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ชะลอแต่เงินเฟ้อยังสูงอยู่ ก็อาจจะลากให้ปัญหายาวนานขึ้นได้เหมือนกัน

คิดว่ามันจะยาวนานไปอีกแค่ไหนกับสถานการณ์เงินเฟ้อไปจนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่หลายคนกังวล ผมคิดว่าอาจจะเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นก็ได้นะ (หัวเราะ) เพราะว่าภาวะเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะช่วยทำให้เงินเฟ้อลดลงมาด้วย และสุดท้ายธนาคารก็จะสามารถลดดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นมาได้ ผมมองว่าตอนนี้มี 2 กรณีที่น่ากังวล และมี 1 กรณีที่น่าจะเป็นเรื่องดี 

กรณีที่น่ากังวลอย่างที่ 1 คือเศรษฐกิจชะลอแต่เงินเฟ้อไม่ลง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นจากอุปทาน ประเด็นจากราคาน้ำมันหรืออื่นๆ แต่ทำให้เศรษฐกิจแผ่ว ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยตามลงมาไม่ได้ นี่คือปัญหาเดียวกับยุค 1970-1980 ที่น่ากังวลมาก

อย่างที่ 2 คือถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปส่งผลทำให้มีบางอย่างแตกหักเสียหาย จริงๆ วันนี้ผมมองว่าเริ่มมีสัญญาณของการแตกหักเสียหายหลายเรื่องแล้ว เช่น คริปโต ตอนนี้เหมือนเรากำลังเอาเข็มไปจิ้มฟองสบู่ให้แตก และฟองสบู่จะก็แตกไปเรื่อยๆ พอฟองสบู่แตกไปทีละอัน ผลกระทบก็จะเริ่มลาม เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นจะทำให้ต้นทุนในการซื้อบ้านเริ่มแพง หลายคนก็บอกว่าราคาบ้านในหลายประเทศก็เป็นเหมือนฟองสบู่ หรือประเทศในกลุ่ม Emerging Markets ถ้าต้นทุนทางการเงินขยับขึ้น มันจะนำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงกว่าหรือไม่

ส่วนกรณีที่น่าจะดีคือ ขอแค่เศรษฐกิจสามารถ Soft Landing ก็ดีแล้ว

เป็นไปได้ไหมว่าจะเกิด best case ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริง แต่เป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบอ่อนๆ ที่อาจจะไม่มีผลกระทบหนักและช่วยให้รับมือกับเงินเฟ้อได้

มันคือสิ่งที่หลายคนหวังไว้ว่าเศรษฐกิจจะแผ่วลงมา ทำให้เงินเฟ้อไหลลงมา ธนาคารกลางก็จะค่อยๆ ลดดอกเบี้ยลงมา แต่ดูเหมือนว่าวันนี้แรงกดดันเงินเฟ้อค่อนข้างสูง และอาจจะค้างยาวเป็นเวลานาน โอกาสที่เงินเฟ้อจะลงมาอย่างเร็วก็คงยากเหมือนกัน แต่ก็หวังว่ามันจะไม่ยาวนานเหมือนตอนปี 1980

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังอย่างไรบ้าง มีความเสี่ยงหรือความท้าทายอะไรที่รอเศรษฐกิจไทยอยู่

จริงๆ ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ถ้าเราเอาภาพที่น่ากลัวของเศรษฐกิจโลกออกไปก่อน ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในโหมดฟื้นตัวอย่างชัดเจน และเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำมาก เพราะทั้งโลกมีแค่ 3 ประเทศ ที่ระดับ GDP ปีนี้แม้ว่าจะโตแล้วก็ยังไม่กลับไปเท่าก่อนปี 2019 คือมีไทย ญี่ปุ่น และอิตาลี แต่ว่าการหดตัวที่ผ่านมา มันรุนแรงมาก และการฟื้นตัวของเราก็เป็นไปอย่างช้ามาก ถ้าจะบอกว่าไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผมมองว่ามีโอกาสไม่เยอะในปีนี้ แต่ปีหน้าไม่แน่ 

ผมมองว่าการฟื้นตัวของไทยมาจากการกลับเข้าสู่ภาวะปกติของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งการบริโภค การลงทุน คนกลับไปทำงานเหมือนเดิม เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจเริ่มโตได้แล้ว ปัจจัยที่สำคัญอย่างที่ 2 คือการท่องเที่ยว จากที่เราแทบไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ปีนี้ผมว่าเราอาจจะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยว 7-8 ล้านคนก็ได้ เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจที่เคยแย่มา 3 ปี สุดท้ายมันอาจจะกำลังฟื้นขึ้นมา ตรงนี้ก็เป็นความหวังที่ค่อนข้างดี แต่บังเอิญว่าการฟื้นตัวจากฐานต่ำของเรามันมาพร้อมกับความเสี่ยง 3 เรื่องใหญ่ๆ

ความเสี่ยงแรก คือเศรษฐกิจภายนอก เพราะเราพึ่งพาการส่งออกประมาณ 60% ของ GDP ถ้าเศรษฐกิจข้างนอกแย่ไปหมด ผู้ส่งออกของประเทศเราเหนื่อยแน่ๆ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว จะดึงให้การฟื้นตัวของเราแผ่วลง

ความเสี่ยงที่ 2 คือเงินเฟ้อ มี inflation tax (ภาษีที่ขึ้นตามเงินเฟ้อ) ทำให้การบริโภคได้รับผลกระทบ

ความเสี่ยงที่ 3 คือเศรษฐกิจที่ฟื้นช้าและอยู่ใต้ระดับที่ควรจะเป็นในระยะเวลานาน ซึ่งจะทำให้งบดุล (balance sheet) ของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาเป็นระยะเวลานานอาจจะไม่ฟื้นตัวเลย เพราะมันฟื้นช้าและฟื้นช้าแบบไม่เท่าเทียมกัน จะเห็นได้ว่าหลายกลุ่มตอนนี้ฟื้นตัวเกินระดับก่อนเกิดโควิด-19 ไปแล้ว เช่น การผลิตเพื่อการส่งออก ภาคการเงิน ภาคเทคโนโลยี แต่ภาคบริการ ทั้งร้านอาหารและโรงแรม แม้ว่าตอนนี้จะมีสัญญาณดีขึ้น แต่มันจะยังไม่กลับไประดับก่อนเกิดโควิด-19 แน่นอน

เศรษฐกิจไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งหรือมีภูมิคุ้มกันรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัจจัยภายนอกได้ดีแค่ไหน และสิ่งเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยคืออะไร

ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติแบบที่เราเข้าใจ ไม่ได้มีวิกฤต sudden stop หรือ Emerging Markets แบบประเทศอื่น แต่ความเสี่ยงสำคัญที่สุดของไทยตอนนี้คือการโตช้า เพราะจะเห็นว่าเราโตช้าลงเรื่อยๆ ความสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ และเวลาเศรษฐกิจโตช้าจะสร้างปัญหาเยอะมาก 

ลองนึกภาพเหมือนพาย ถ้าขนาดของพายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เราจะแบ่งขายเยอะแค่ไหนก็ไม่เป็นไร เพราะทุกคนก็จะได้กินชิ้นพายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วย แต่ถ้าพายไม่โตหรือเริ่มหดลง การแบ่งหรือแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ จะสำคัญมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และเราก็จะไม่สามารถยกคนออกจากความยากจนได้ การยกระดับคนจากชนชั้นกลางให้ขยับขึ้นมาก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ

และตอนนี้ไทยกำลังเจอปัญหาที่ประชากรกำลังหดลงจากเรื่องของโครงสร้างประชากร สังเกตว่าเราแทบจะไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ใหญ่ๆ แล้ว การลงทุนใหม่ๆ ไปอยู่ต่างประเทศหมดเลย เพราะคนไทยไปลงทุนที่ต่างประเทศ และคนต่างประเทศก็ไม่มาลงทุนที่ไทย กลายเป็นว่าเราจะมีความสำคัญน้อยลงไปเรื่อยๆ ตอนนี้ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดของไทยในระยะยาวคือ แทบจะไม่มีใครสนใจเรา เราไม่ได้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอีกต่อไป และเป็นประเทศที่ระดับความเป็นอยู่ไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้ พูดง่ายๆ คือค่อยๆ โตช้าลงไปเรื่อยๆ ส่วนระยะสั้นคือ ความเสี่ยงจากต่างประเทศ ถ้าเศรษฐกิจภายนอกชะลอตัว การส่งออกและการท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบ

ถ้าย้อนกลับไปดูที่ต้นทาง อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าในระยะยาว และเราจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร

มิติที่ 1 เป็นเรื่องของโครงสร้างประชากรของไทย ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหนักขึ้นเรื่อยๆ จากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดต่ำลงกว่าระดับ replacement rate คือผู้หญิง 1 คนโดยเฉลี่ยควรจะมีลูกประมาณ 2 คนเพื่อที่จะทำให้ระดับของจำนวนประชากรในระยะยาวมั่นคงยั่งยืน แต่ตอนนี้อัตราการเกิดของไทยอยู่ที่ประมาณ 1.4% มาหลายปีแล้ว ทำให้จำนวนประชากรลดลง และที่น่ากังวลคือจำนวนประชากรในวัยทำงานของไทยผ่านจุดพีกมาแล้ว และตอนนี้กำลังหดตัวลง 

มิติที่ 2 คือจำนวนคนสูงอายุที่จะมากขึ้น เพราะฉะนั้น Dependency Ratio (อัตราส่วนของประชากรที่ไม่ได้ทำงานเชิงเศรษฐกิจ) คือจำนวนของเด็กและคนแก่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราผ่านจุดที่ดีที่สุดของโครงสร้างประชากรไปแล้ว และทำให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่าง ปัญหาแรกคือตลาดเล็กลงแน่นอน เพราะเวลาเราทำของมาขายก็ต้องขายคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นวัยที่มีรายได้ เพราะฉะนั้น วันนี้คนไทยจึงไปลงทุนต่างประเทศ เพราะถ้าลงทุนในประเทศก็ไม่รู้ว่าจะลงทุนเพิ่มไปทำไม คนข้างนอกก็ไม่อยากจะเข้ามาลงทุน เพราะตลาดไม่โตและไทยมีแรงงานน้อยลงอีก และเรายังเจอว่าคุณภาพของประชากรประเทศเราก็มีปัญหา คือไม่ใช่แค่ปริมาณเล็กลง แต่คุณภาพก็มีปัญหาด้วย 

อีกปัญหาใหญ่ คือเราตามเทรนด์ของเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ทัน เราเหมือนย่ำอยู่กับที่ ผลิตแต่สินค้าเดิมๆ ซึ่งเป็นความท้าทายที่หนักมาก ถ้าเราจะกระโดดข้ามไปหาประเทศอื่นๆ ได้ เราต้องเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ของแรงงาน ซึ่งทำได้ผ่านการเพิ่มคุณภาพของแรงงานและการใช้เทคโนโลยีต่างๆ แต่ดูเหมือนว่าวันนี้เรากำลังติดกับดักรายได้ปานกลางแบบค่อนข้างชะงักไปแล้ว

จริงๆ เรื่องกับดักรายได้ปานกลางเราพูดกันมาแทบทุกปี ในวันนี้เราเห็นทางออกที่ดีขึ้นของปัญหานี้แล้วหรือยัง

โห ผมว่าเราน่าจะติดกับดักนี้กันไปอีกสักพักหนึ่งเลย เพราะยังไม่มีแนวทางที่จะขยับออกไป แต่อย่างที่บอกว่าทุกคนมองเห็นวิธีการแก้ปัญหากันหมดแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังไม่เกิดขึ้น มันอาจจะเป็นประเด็นระยะยาวที่ยังต้องคุยกันเยอะๆ ทางออกสุดท้ายคือการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ผมว่าทุกคนรู้หมด ทั้งคุณภาพการศึกษา เพิ่มความสามารถของแรงงาน กระจายอำนาจ เปิดเสรีแรงงาน พัฒนาคุณภาพของภาครัฐ ลดคอรัปชัน เหล่านี้ผมเชื่อว่าทุกคนท่องกันได้แล้ว แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้จริงๆ ผมว่าเรายังวนลูปกันแปลกๆ และคงจะออกจากวังวนนี้ค่อนข้างยากเหมือนกัน

บางคนเรียกยุคนี้ว่า ‘ยุคข้าวยากหมากแพง’ คนไทยในตอนนี้มีความพร้อมแค่ไหนในการใช้ชีวิตในยุคนี้ เงินเฟ้อของไทยจะเพิ่มขึ้นไปอีกหรือเปล่า และแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่คนไทยต้องเผชิญในยุคนี้คืออะไร

ปัญหาใหญ่ของยุคข้าวยากหมากแพงคือรายได้โตช้ากว่าค่าใช้จ่าย ผมเชื่อว่าตอนนี้เงินเฟ้อยังไม่ถึงจุดพีก และจะยังคงเพิ่มขึ้น ตัวเลขล่าสุดคือ 7.7% อาจจะขึ้นไปถึงจุดพีกที่ 8-9% ในช่วงไตรมาสที่ 3 หลังจากนั้นอาจจะทยอยลดลงมา เงินเฟ้อที่เห็นก็ยังไม่หมด เพราะมีหลายคนที่อมเอาไว้เต็มเลย อย่างรัฐที่ยังอุดหนุนน้ำมันดีเซลและลดภาษีสรรพสามิต ดังนั้นต้นทุนของเงินอุดหนุน (subsidy) 1 เดือนก็ประมาณ 2-3 หมื่นล้าน 1 ปีก็เป็น 3 แสนล้าน ซึ่งนับเป็น 2% ของ GDP และ 10% ของงบประมาณรายจ่าย ถ้าเราอุดหนุนแบบนี้ทั้งปี ตัวนี้ถือเป็นระเบิดเวลาที่สำคัญ รวมถึงก๊าซ LPG และค่าไฟที่ต้นทุนพลังงานแพงขึ้นมาก 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญคือค่าจ้างแรงงาน ถ้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เงินเฟ้อก็จะขยับสูงขึ้นอีก เรื่องนี้อาจจะช่วยลดปัญหาข้าวยากหมากแพงได้ เพราะรายได้ของคนขยับตามขึ้นไป แต่พอรายได้ขยับขึ้น รับรองได้ว่าราคาของก็ขยับขึ้นไปอีก ผมมองว่าถ้าเราไม่สามารถแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบันและไม่สามารถป้องกันปัญหาเงินเฟ้อที่จะตามมาในอนาคตได้ มันอาจจะกลายเป็นปัญหาที่วนเวียนกับเราไปอีกสักระยะหนึ่งเลย นี่คือสาเหตุว่าทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยถึงต้องพูดถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน

ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีธนาคารหรือสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจออกมาปรับเพิ่มตัวเลข GDP ของไทยในช่วงครึ่งปีนี้ แปลว่าไทยกำลังกลับมามีความหวังอีกครั้งหนึ่งหรือเปล่า 

ผมมองว่าตัวเลขที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนคือตัวเลขนักท่องเที่ยว ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยประมาณวันละ 3 หมื่นคน 1 เดือนก็กว่าล้านคน ซึ่งทุกๆ ล้านคนก็จะมีผลกระทบต่อตัวเลข GDP ได้ในระดับหนึ่ง ถึงอย่างไร เราก็จะเจอผลกระทบจากปัจจัยภายนอกด้วย แต่นักท่องเที่ยวก็ถือเป็นความหวังที่สำคัญของตัวเลขเศรษฐกิจไทย

ตอนนี้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทยอยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยกันแล้ว แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงยืนยันใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป คิดว่าในช่วงครึ่งปีหลังความท้าทายในเรื่องนโยบายการเงินสำหรับไทยคืออะไร

ผมว่ามันคือความขัดแย้งหรือความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของนโยบายการเงิน เพราะฝั่งหนึ่งจะบอกว่าเราต้องสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเราควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป พูดง่ายๆ คือถอนเท้าออกจากคันเร่งอย่างช้าๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่านี่ไม่ใช่การเหยียบเบรก ซึ่งถ้าเป็นภาวะปกติผมคิดว่าเราก็ทำแบบนั้นได้ แต่วันนี้มันมีข้อจำกัด 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่ทำให้การวางแผนแบบค่อยเป็นค่อยไปอาจจะทำไม่ได้อย่างที่ต้องการ

ข้อจำกัดแรกคือเงินเฟ้อขึ้นเร็ว ถึงจะบอกว่ามันมาจากฝั่งต้นทุน แต่มันก็ขึ้นสูงและค้างสูงเป็นเวลานาน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเร่งเข้ามาจัดการ 

ข้อจำกัดที่ 2 คืออย่างที่เห็นว่าธนาคารกลางหลายประเทศขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วมาก ที่น่าสนใจคือระหว่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและรอจะไปปรับขึ้นรอบหน้า แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นไปแล้ว 150-175 bps (basis points) ซึ่งเป็นแรงกดดันให้เราต้องปรับขึ้นตาม เพราะหากไม่ทำก็จะมาสู่ข้อกำจัดที่ 3 คือค่าเงิน วันนี้เราก็เห็นแล้วว่าค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงเร็วขึ้น

ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยถือว่ามีเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพียงพอหรือเปล่าในการรับมือกับความเสี่ยงรอบนี้ หรือมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งพอจะไว้วางใจได้ไหม

จริงๆ ผมว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีเครื่องมือทางเศรษฐกิจเหมือนกับธนาคารกลางแห่งอื่นๆ อยู่แล้ว มีเงินสำรองระหว่างประเทศมากพอจะรองรับผลกระทบจากต่างประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือธนาคารแห่งประเทศไทยต้องประเมินว่าการทำอะไรก็ตามย่อมมีต้นทุนเสมอ การขึ้นดอกเบี้ยในปัจจุบันก็มีต้นทุนต่อครัวเรือน ธุรกิจ และเศรษฐกิจ การไม่ขึ้นหรือขึ้นช้าก็มีผลต่อค่าเงิน ซึ่งจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ดี หรือจะไปทำให้เงินเฟ้อค้างสูงต่อไปเป็นเวลานานขึ้น ทำให้ Inflation Expectation หรืออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ค้างสูงเป็นเวลานาน

ความเสี่ยงสำคัญคือการที่ทำช้าเกินไป สุดท้ายเราอาจจะถูกบีบให้ต้องทำเยอะกว่าที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น ถ้าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเร็ว สุดท้ายธนาคารแห่งประเทศไทยต้องไปเบรกให้หนักขึ้นไหม หรือค่าเงินบาทจะอ่อนจนเราคุมไม่อยู่หรือเปล่า และสุดท้ายก็ต้องไปขึ้นในอัตรามากกว่าเดิม ผมมองว่านี่คือสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังชั่งน้ำหนักอยู่ เพราะถ้าทำเร็วก็มีต้นทุน ทำช้าก็มีต้นทุน เราควรจะขยับไปทางไหนที่จะเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของไทยมากที่สุด

ดูเหมือนว่าคุณจะอยู่ในฝั่งที่สนับสนุนให้มีนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือเปล่า

ในภาวะปัจจุบันเนื่องจากข้อจำกัดเยอะ การขึ้นช้าจึงมีปัญหาจริงๆ ผมคิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในวันนี้พอจะขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ว เพราะการฟื้นตัวเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีความเสี่ยงภายนอกต่างๆ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยปรามเรื่องของเงินเฟ้อ และต้นทุนของเงินเฟ้ออาจจะสูงกว่าต้นทุนของการขึ้นดอกเบี้ยก็ได้ ประเด็นสำคัญคือการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดหนักว่าถ้าขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะไปลดผลกระทบกับกลุ่มเปราะบางอย่างไร เพราะฉะนั้น เราอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยแล้วไปหามาตรการที่จะมาดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ

ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเยอะแค่ไหนเพื่อที่จะพอรับมือกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ได้

สถานการณ์ตอนนี้เปรียบเหมือนกับเรากำลังคาเท้าไว้ที่คันเร่ง วันนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5 เงินเฟ้ออยู่ที่ 7% กว่า ถ้าให้คิดดอกเบี้ยที่แท้จริงคือติดลบมหาศาลเลย และอย่างที่บอกว่าตอนนี้การขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่การเหยียบเบรก แต่เป็นการลดการอัดฉีดที่ไม่จำเป็นออกจากเศรษฐกิจในภาวะที่มีความจำเป็นน้อยลงและมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าอย่างน้อยธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพาอัตราดอกเบี้ยให้ไปอยู่ที่ประมาณ 2% ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งผมเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีทางที่จะขึ้นทีละ 50 bsp ไปเรื่อยๆ อาจจะขึ้นทีละ 25 bsp ไปก่อน และสุดท้ายพอขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสักพักหนึ่ง เดี๋ยวภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมันจะเริ่มมีแนวโน้มขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงต้นปีหน้า ผมคิดว่าถ้าเราพาดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว สุดท้ายอาจจะไปหยุดที่ไม่เกิน 2% 

ถ้าถามว่าในสถานการณ์ปัจจุบันต้องขึ้นดอกเบี้ยเท่าไรถึงจะแตะเบรกเงินเฟ้อได้ ในภาวะที่เงินเฟ้อขึ้นไปสูงขนาดนี้ ผมว่าต้องปรับขึ้นไปใกล้ๆ 3% เลย แต่ด้วยสถานการณ์ในประเทศที่การฟื้นตัวไม่ได้แรงมากนัก เศรษฐกิจภายนอกก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าสุดท้ายขึ้นไปอาจจะแตะ 2% นิดหน่อย แล้วอาจจะไม่ต้องแล้ว เพราะเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวแทน 

แปลว่าประเทศไทยน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แค่ทีละ 25-50 bps แต่ไม่สามารถปรับทีละ 75-100 bps ได้แบบที่ประเทศอื่นทำกัน

ยากมากครับ เพราะจริงๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยอยากจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากที่สุด คือส่งสัญญาณว่าขึ้นแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะขึ้นเท่าไร ส่วนตัวผมคิดว่าขึ้น 50 bps นี่ก็สุดๆ แล้ว อาจจะขึ้นแค่ 25 bps ด้วยซ้ำ

เราอยู่ในยุคดอกเบี้ยต่ำกันมานาน แต่มารอบนี้อาจจะเป็นยุคของดอกเบี้ยขาขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจะเป็นอย่างไรในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นนี้

เวลาดอกเบี้ยขึ้นก็จะกระทบหลายด้าน ผลกระทบโดยตรงคือต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ภาวะปัจจุบันสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง แต่อาจจะโชคดีหน่อยที่หนี้ครัวเรือนของไทยประมาณ 2 ใน 3 เป็นหนี้แบบคงที่ เช่น หนี้บ้าน ที่ถึงดอกเบี้ยขึ้นแต่รายจ่ายต่อเดือนอาจจะไม่ขึ้น คือเราจ่ายดอกเบี้ยเยอะขึ้น แต่จ่ายเงินต้นลดลง ส่วนหนี้ SME อาจจะเยอะหน่อย 

เรื่องที่ 2 ที่กระทบแน่นอนคือเวลาเราจะตัดสินใจซื้อสินค้าที่ต้องใช้เงินกู้ เช่น รถ บ้าน ราคาต่อเดือนจะแพงขึ้น คือบ้านราคาเท่าเดิมแต่ค่าผ่อนอาจจะแพงขึ้น รวมถึงการตัดสินใจบริโภคและการลงทุนก็จะได้รับผลกระทบด้วย และเรื่องที่ 3 คือเศรษฐกิจโดยรวมจะช้าลง ธุรกิจต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเงินกู้ในการใช้สอย

ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นที่ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแพงขึ้น เช่น อาหาร พลังงาน ที่อยู่อาศัย เราจะดูแลกลุ่มคนที่มีความเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร

ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่ใหญ่และยาก เพราะเวลาปรับดอกเบี้ยขึ้น ต้นทุนทางการเงินอื่นๆ ก็ขึ้นตามไปหมด ธนาคารก็ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการเบรกอุปสงค์นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ก็ถูกต้องแล้วที่คนจะต้องรู้สึกหนักใจขึ้น เพราะมันคือต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ 

ผมว่าเราควรจะต้องเข้าไปดูว่าจะไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ตรงไหนได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยพึ่งออกจากภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักจากโควิด-19 ที่ครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่างๆ ก็อาจจะมีความจำเป็น แต่ก็ต้องหากลุ่มเป้าหมายที่ควรจะได้รับจริงๆ คนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ซึ่งสมควรได้รับการช่วยเหลือ

ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เราจะสามารถสะสมหรือเก็บความมั่งคั่งอย่างไร หรือเราจะเอาเงินไปเก็บหรือลงทุนอะไรในภาวะแบบนี้ได้บ้าง

ผมมองว่าทุกวันนี้ cash is king จริงๆ นะ คือใครยังมีเงินสดถือว่าโชคดี ซึ่งถ้าใครมีก็ควรจะรอจังหวะและทำการบ้านเยอะๆ ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นโอกาสของชีวิตถ้าเรายังเชื่อในการลงทุน เช่น ลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีๆ ผมเชื่อว่าถึงจะเจอปัญหาความเสี่ยงอะไรต่างๆ สุดท้ายมันก็จะกลับไปดี ตรงนี้ก็อาจจะมีโอกาสกลับไปซื้อในราคาที่ถูกกว่าก่อนหน้านี้เยอะ 

ถ้าเจอปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผมว่าตัวที่ควรซื้อเลยคือพันธบัตร มันอาจจะน่าเบื่อหน่อยนะครับ แต่ว่าทุกครั้งเวลาเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมาจริงๆ ถ้าเราสามารถล็อกอัตราดอกเบี้ยได้ อันนี้อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ให้ผลตอลแทนดีมากเลย เพราะถ้าถึงจุดที่เศรษฐกิจถดถอย ไม่ว่าอย่างไรดอกเบี้ยก็ต้องปรับลดลงมา ยกเว้นกรณีเดียวคือ stagflation ที่ดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ลดลงเร็วขนาดนั้น แต่ถ้าเล็งดีๆ ผมเชื่อว่าเรามีโอกาสที่จะล็อกอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ค่อนข้างสูงได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตอนนี้อาจจะกำเงินสดไว้ก่อน แล้วเล็งเป็นหุ้นหรือพันบัตรที่มีอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจไว้

อีกตลาดหนึ่งที่วุ่นวายคือ คริปโต คิดว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกคริปโตที่คนจำนวนมากเชื่อว่ามันจะกลายเป็นอนาคตของเงินตรา และมันจะผ่านวิกฤติรอบนี้ไปได้หรือเปล่า

จริงๆ คริปโตน่าจะพิสูจน์ได้ไปแล้วว่ามันไม่ได้เป็นโลกใหม่ของเงินตรา ผมไม่คิดว่าคริปโตจะมาทำหน้าที่เป็นเงินตราที่เราใช้กันได้ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น มันมีความผันผวนมากจนเกินไป และก็ติดข้อจำกัดเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย สังเกตได้ว่าไม่มีที่ไหนเลยที่จะเอาคริปโตมาเป็นการใช้จ่ายหรือ payment หลัก ผมมองว่าจริงๆ คริปโตมันขยับไปจากความหวังที่จะเป็นเงินตราหรือสกุลเงินไปนานแล้ว น่าจะสรุปได้แล้วว่ามันไม่ใช่ตัวแทนของเงินแน่นอน เมื่อก่อนก็มีคนบอกว่าบิทคอยน์เป็นอนาคตของเงินตรา แต่วันนี้มันพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ เพราะมีความผันผวนเต็มไปหมด ความหวังนี้จึงหายไปแล้ว

อีกหนึ่งความหวังคือการเชื่อว่ากระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะมาทดแทนภาคการเงิน ผมว่าตอนนี้ก็เริ่มพิสูจน์ได้แล้วว่าข้อจำกัดต่างๆ ยังคงมีอยู่ ทำให้ไม่สามารถทดแทนการเงินแบบรวมศูนย์ (centralized finance) ที่เราใช้กันอยู่ได้ ผมว่าข้อจำกัดที่สำคัญคือถ้าเทคโนโลยีอย่างคริปโตจะเข้ามามีบทบาทได้จริงๆ มันต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถเพิ่มอะไรให้กับระบบเศรษฐกิจได้ ตัวย่างเช่น ถ้านวัตกรรมเหล่านี้ทำให้กระบวนการทางการเงินทำได้ดีขึ้น เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น หรือในไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้หน้าที่ของภาคการเงิน การรวบรวมจัดสรรทรัพยากรทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนั้นคริปโตอาจจะอยู่ต่อไป

ถ้าคริปโตเป็นแบบทุกวันนี้ที่สุดท้ายแล้วคือการเก็งกำไร กระบวนการต่างๆ ทำออกมาเพื่อจะปล่อยกู้แล้วเอาไปเก็งกำไรอีกทีหนึ่ง ไม่ได้สนับสนุนหรือเพิ่มอะไรให้ระบบเศรษฐกิจ คนก็จะตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วมีขึ้นมาทำไม เหมือนกับมีฟองสบู่อีกก้อนหนึ่งขึ้นมาแล้วก็แตกไปหรือเปล่า ตรงนี้เป็นความท้าทายที่คนเห็นแล้วว่าน่าสนใจ แต่ยังมองไม่เห็นว่าจะมาทำให้เศรษฐกิจมีระบบที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร สุดท้ายพอคนหมดความเชื่อมั่นก็จะเจอปัญหาตามมา

ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมา มีความท้าทายอะไรบ้างที่รออยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนโยบายทางการคลังและความท้าทายของรัฐบาล

จริงๆ ผมว่ามีเยอะเลย อย่างแรกคือแน่นอนว่าเวลาของแพงก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้าไปดูแลคนกลุ่มเปราะบาง เพราะฉะนั้นในการอุดหนุนบางอย่าง เช่น การอุดหนุนน้ำมันดีเซลซึ่งต้นทุนแพงมหาศาล นี่เป็นโจทย์ใหญ่มากที่จะทำอย่างไรให้ลดต้นทุนในการอุดหนุนลงให้ได้ เราอาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบของการอุดหนุนให้ตรงกลุ่มมากขึ้น เพราะบางทีถ้าเราสาดการอุดหนุนเข้าไปเลย คนที่ได้รับอาจจะไม่ตรงจุด อาจจะเป็นกลุ่มที่ยังไม่ควรได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้

และตอนนี้ต้นทุนการอุดหนุนแพงถึงขนาดที่ถ้าทำไปทั้งปีจะนับเป็น 2-3% ของ GDP ซึ่งจะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะ และในจังหวะนี้ที่ระดับหนี้ของไทยสูงขึ้น จะทำให้กันชนที่จะไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะพอหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ วิกฤตที่จะเกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยก็จะหนักขึ้น และจะทำให้ภาระการคลังเยอะขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างสำคัญ

นโยบายทางการคลังของไทยในยุคโควิด-19 ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ‘เป๋าตัง’ นวัตกรรมทางการคลังเหล่านี้ยังสามารถใช้ในยุคปัจจุบันนี้ได้อยู่ไหม

ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับความจำเป็นและกลุ่มเป้าหมาย นวัตกรรมเหล่านี้คือการพยายามทำให้มันเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทุกวันนี้เราก็มีอุปกรณ์ เช่น แอปพลิชันเป๋าตัง ซึ่งผมคิดว่าในภาวะปัจจุบันมันก็มีความจำเป็นมากขึ้น เพราะปัจจุบันเราอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องไปสาดเงินหรือแจกเงินให้กับทุกคน แต่เราควรจะเข้าไปช่วยกลุ่มเปราะบางมากกว่า เพราะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นแล้ว การท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาแล้ว เพราะฉะนั้น ความจำเป็นในการใช้ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ อาจจะมีน้อยลง แต่ถ้านักท่องเที่ยวเริ่มหายไปมันก็อาจจะกลับมามีความจำเป็นอีกครั้งก็ได้ ผมว่าคีย์เวิร์ดสำคัญในวันนี้คือทำอย่างไรให้เราอุดหนุนตรงจุด ตรงกลุ่มคน หรือที่เรียกว่า targeted subsidy มากกว่า

เวลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้น สูตรสำเร็จที่มักบอกกันคือ ให้ปรับตัวไปสู่โลกออนไลน์ มองว่าเทคโนโลยีจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวิกฤติรอบนี้อย่างไร จะเป็นทางออกในยุคโควิด-19 ไหม หรือจะซ้ำเติมให้ซับซ้อนวุ่นวายมากขึ้น

ผมคิดว่าการเอาเทคโนโลยีมาใช้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีก็ค่อนข้างเยอะ อาจจะทำให้การตรวจสอบโปร่งใสและง่ายขึ้น ทำ targeted policy ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็คงจะไม่ได้ช่วยได้มากเท่ายุคโควิด-19 เพราะมีโจทย์ที่สำคัญคือเราไม่สามารถออกมาเจอกันได้ แต่ปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่องของการใช้นโยบายแบบตรงจุด ตรงพื้นที่ ลงไปหาเป็นจังหวะ ไม่ใช่การสาดไปทั่วประเทศแล้ว ยังไม่นับการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพต่างๆ ลดกระบวนการ ลดต้นทุน รวมถึงบริการภาครัฐที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้เยอะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการให้บริการ

คิดว่ารัฐบาลควรใช้นโยบายทางเศรษฐกิจในยุคนี้อย่างไร มีนโยบายอะไรบ้างที่เราพอทำได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน หรือทำให้ประเทศไทยดีกว่านี้

ถ้ามองในระยะสั้น ความจำเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะน้อยลง แต่การดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางมีความจำเป็นมากขึ้น ถ้ามองในระยะยาวขึ้น ผมมองว่าภาคการคลังควรจะต้องมีการกระจายอำนาจทางการคลังมากขึ้น เราต้องขยายความเจริญออกไปต่างจังหวัดมากขึ้น เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญ เพราะว่าวันนี้กรุงเทพฯ หนาและแน่นมากพอแล้ว 

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ส่วนตัวคาดหวังกับคณะกรรมการนี้แค่ไหน

ถ้าไปดูคณะกรรมการฯ ผมว่าก็คือ ครม. ชุดนี้ บวกปลัด บวกผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย เท่าที่ดูโดยโครงสร้างก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรใหม่

ต้นปีที่ผ่านมาคุณเคยคาดการณ์ว่าปีนี้อาจจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ตอนนี้ผ่านมาครึ่งปีแล้ว เศรษฐกิจไทยต่อจากนี้จะยังคงมีแสงสว่างบ้างไหม

ผมยังคงเชื่อว่านี่คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นะ และเผลอๆ เราออกจากอุโมงค์มาแล้วด้วย ถ้าจำได้ช่วงปลายปีที่แล้วมันแย่มาก เพราะเกิดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ติดๆ กัน และก็เป็นจริงอย่างที่ว่าคือเศรษฐกิจภายในประเทศมันเริ่มดีขึ้น ถ้าเทียบวันนี้กับเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ผมว่าดีขึ้นเยอะเลย ร้านอาหารกลับมาเปิดได้ ห้างฯ กลับมาเปิดได้ คนกลับไปเข้าโรงหนังกัน เรากลับมาทำงานกันมากขึ้น เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินได้ นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา โรงแรมเริ่มเปิด ผมคิดว่านี่คือภาพเศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และนี่คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่เราเห็นตอนนั้น 

แต่เผอิญว่าพอเราเดินออกจากปลายอุโมงค์มาได้ เราก็มาเห็นฟ้ามืดอีกแล้ว เหมือนพายุกำลังจะมา (หัวเราะ) ซึ่งอันนั้นเป็นอีกความเสี่ยงหนึ่ง แต่ผมคิดว่าตอนนี้เราออกจากอุโมงค์มาแล้ว ยกเว้นแต่ว่าโควิด-19 จะไม่ยอมให้เราออกจากอุโมงค์นะ เราอาจจะโดนไล่เตะกลับไปในอุโมงค์ถ้าสถานการณ์โควิด-19 มันรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันถึงจะมีความรุนแรง แต่คนกังวลน้อยลง ความรุนแรงของโรคน้อยลง อัตราการเสียชีวิตก็น้อยลง คือดีกว่าปีที่แล้วเยอะมาก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save