fbpx

การเมืองไทย – กัมพูชาใต้เงาทักษิณ-ฮุน เซน เครือข่ายความสัมพันธ์บนความเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

22 สิงหาคมที่ผ่านมาเป็นหนึ่งวันสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของสองประเทศในภูมิภาคอาเซียน สำหรับประเทศไทย เป็นวันที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และเป็นวันต้อนรับการกลับมายังประเทศไทยของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังลี้ภัยในต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน

ขณะที่ในประเทศกัมพูชา ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของสมเด็จฮุน เซนได้เข้าปฏิญาณตนในฐานะนายกรัฐมนตรีสืบทอดตำแหน่งผู้นำจากผู้พ่อที่ครองอำนาจทางการเมืองกัมพูชานานถึงเกือบสี่ทศวรรษ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชนชั้นนำไทย-กัมพูชามีสายสัมพันธ์สลับซับซ้อน ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทั้งรักทั้งชังกันมาอย่างยาวนาน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันนี้จึงมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติไม่น้อย และยิ่งน่าจับตาเมื่อการกลับมาของทักษิณ ซึ่งเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย และเป็นมหามิตรของฮุน เซน อาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในอนาคตของทั้งไทย-กัมพูชา

101 ชวนสนทนากับ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของทั้งสองประเทศ ความสัมพันธ์ทางการทูตในอนาคต รวมไปถึงความท้าทายทางการต่างประเทศ ท่ามกลางการต่อสู้ของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา-จีน

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.307 ‘ฟ้าใหม่การเมืองไทย-กัมพูชา ใต้เงาสัมพันธ์ทักษิณ-ฮุน เซน’ กับ ดุลยภาค ปรีชารัชช

YouTube video

จับชีพจรการเมืองไทยในวันที่มี ‘รัฐบาลผสมข้ามขั้ว

ดุลยภาคเริ่มต้นวิเคราะห์การเมืองตั้งแต่หลังพรรคก้าวไกลกวาดคะแนนเสียงได้เป็นอันดับหนึ่ง คว้าสิทธิอันชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ด้วยกลไกในรัฐธรรมนูญ 60 ที่ต้องการเสียง ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ทำให้เกิดสนามเจรจาต่อรองทางการเมืองจนพลิกล็อกมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม

จากฉากทัศน์เหล่านี้ ดุลยภาคอธิบายในทางรัฐศาสตร์ว่า มีตัวแสดงทางการเมืองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มสายแข็ง (Hard Liner) อนุรักษนิยมเข้มข้นที่ไม่พร้อมเจรจากับฝ่ายตรงข้ามที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน นั่นคือฟากรัฐบาลเดิม กลุ่มของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรครวมไทยสร้างชาติ (2) กลุ่มประนีประนอม (Soft Liner) กลุ่มที่พร้อมเจรจาและปูทางการผสมข้ามขั้ว ซึ่งหมายถึง กลุ่มของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงอนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคภูมิใจไทย ในขณะที่ฝ่ายค้านเดิมแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสายกลาง (Moderate) พร้อมที่จะประนอมอำนาจกับฝ่ายขั้วรัฐบาลเดิม คือพรรคเพื่อไทย และกลุ่มสุดโต่ง (Radical) ที่พร้อมชนกับโครงสร้างและขั้วอำนาจเดิม นั่นคือพรรคก้าวไกล

ในทางทฤษฎี หากฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในกรณีกลุ่มสุดโต่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย สร้างการเปลี่ยนแปลงการเมืองขนานใหญ่ แต่จะขาดเสถียรภาพ หากชนชั้นนำยังคงมีบทบาทสำคัญและกลุ่มอนุรักษนิยมรับไม่ได้ อาจจะนำไปสู่การรัฐประหาร ขณะที่ถ้ากลุ่มสายกลางเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถประนอมอำนาจกับกลุ่มประนีประนอมได้ แต่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้เงื่อนไขที่ชนชั้นนำยังมีส่วนสำคัญในสมการการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งหากมองประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาที่พยายามเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่ประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่ามีทั้งประเทศที่เลือกเส้นทางการท้าชนโครงสร้างอำนาจเดิม และประเทศที่เลือกเส้นทางประนีประนอม แต่ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหนก็เคยมีทั้งประเทศที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่าน

“สำหรับประเทศไทย มันพิเศษและพิลึกพิลั่นในทางรัฐศาสตร์ เพราะกลุ่มอนุรักษนิยมอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยด้วย สุดท้ายสมการการเมืองเป็นฝ่าย Moderate, Soft Liner, Hard Liner จับมือกัน และขับก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายค้าน ผมคิดว่าเป็นเพราะชนชั้นนำทางการเมืองไทยที่เป็นปีกอนุรักษนิยมคงมองว่าภัยคุกคามใหม่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย แต่เป็นพรรคก้าวไกลที่น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อโครงสร้างกองทัพหรือสถาบันกษัตริย์” ดุลยภาคกล่าว

ดุลยภาคกล่าวต่อว่า อุดมการณ์การต่อสู้ของพรรคก้าวไกลเป็นแบบกลุ่มสุดโต่ง ซึ่งต้องการถอนรากถอนโคนระบอบการเมืองเก่า เมื่อก้าวไกลจดทะเบียนพรรคการเมืองและเข้าสู่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับมรดก คสช. ทำให้ติดเงื่อนไขข้อจำกัดหลายอย่างจนถูกผลักออกมาเป็นฝ่ายค้าน จึงอาจจะต้องใช้เวลาในการเคลื่อนไหวในฐานะพรรคการเมืองและการระดมมวลชนผ่านการเคลื่อนไหวในคณะก้าวหน้า เพื่อให้เกิดการแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และปลดล็อกข้อจำกัดที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันสำหรับโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลคือการจัดสัมพันธภาพเชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการเกลี่ยประโยชน์ไปให้กลุ่มศัตรูเดิมหรือมิตรเก่า เพื่อประคับประคองเสถียรภาพของรัฐบาล และจะเป็นตัวชี้วัดว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในแบบที่ประนีประนอมกับขั้วอำนาจเดิมจะทำได้สำเร็จหรือไม่

การเมืองกัมพูชา: จากฮุน เซน สู่ฮุน มาเนต

ขยับมาที่การเมืองกัมพูชาภายใต้การครองอำนาจนำของสมเด็จฮุน เซน ดุลยภาคได้ให้คำจำกัดความลักษณะการเมืองกัมพูชาว่าเป็นระบอบเผด็จการเลือกตั้งแบบครอบงำภายใต้โครงสร้างรัฐราชการอุปถัมภ์ มีลักษณะเป็น ‘เผด็จการการเลือกตั้งแบบครอบงำ’ (hegemonic electoral authoritarianism) ที่แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง แต่พรรครัฐบาลอย่างพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party: CPP) ของสมเด็จฮุน เซนผูกขาดทรัพยากรทางการเมืองและสื่อมวลชนจนสามารถแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งเกือบทุกครั้ง โดยมีลักษณะพิเศษอีกอย่างคือ ‘การเป็นรัฐราชการอุปถัมภ์’ ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของฮุน เซนมีเครือข่ายสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับ ตั้งแต่รัฐส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น

การส่งไม้ต่อจากสมเด็จฮุน เซน สู่ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตวัย 46 ปี จึงเป็นการสืบอำนาจของทายาทตระกูลการเมืองเก่าแก่ที่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับทั้งฉากหน้าและฉากหลังของสมเด็จฮุน เซนที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค CPP ทำให้การเมืองกัมพูชาอาจจะไม่แตกต่างอะไรจากเดิมมากนัก แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของฮุน มาเนต ที่เมื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วจะยังคงคุมกองทัพบกด้วยตัวเองหรือไม่ เนื่องจากตระกูลของพลเอกเตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คุมอำนาจในกองทัพเรือและมีชนชั้นนำอีกตระกูลดำรงตำแหน่งบัญชาการทหารสูงสุด อย่างไรก็ดี ดุลยภาคมองว่าจะไม่มีความขัดแย้งมากนัก เนื่องจากกลุ่มชนชั้นนำยังคงอยู่ภายใต้ระบอบฮุน เซนที่แข็งแรงและมั่นคง

แม้การเมืองทั้งสองประเทศจะมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบการเปลี่ยนผ่านก็มีความแตกต่าง ด้วยสามองค์ประกอบ ได้แก่

1. ผู้สืบทอดอำนาจ การเปลี่ยนผ่านของกัมพูชาเป็นการสืบทอดอำนาจภายในตระกูลการเมืองเก่าแก่เดิม ในขณะที่การเมืองไทย ฟากรัฐบาลเดิมพ่ายแพ้การเลือกตั้ง จึงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจของทายาทจากพลเอกประยุทธ์ แต่เป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่มีแกนนำคือพรรคเพื่อไทย

2. ความสามารถในการควบคุมทรัพยากรทางการเมือง จากพัฒนาการพรรคการเมือง CPP ของกัมพูชาที่สัมพันธ์กับกระบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ซึ่งมีโครงสร้างของพรรคเชื่อมร้อยประสานกับโครงสร้างรัฐ ทำให้รัฐบาลกัมพูชามีความสามารถในการควบคุมสื่อมวลชนและการแสดงออกของประชาชนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลจนนำมาสู่ลักษณะของเผด็จการเลือกตั้งแบบครอบงำ ขณะที่สื่อมวลชนไทยยังคงมีอิสระในการให้พื้นที่สื่อกับพรรคประชาธิปไตยมากกว่า

3. ลักษณะของตระกูลการเมือง ตระกูลฮุนมีความสำคัญกับการเมืองกัมพูชาที่เข้มข้นและถือครองอำนาจส่วนใหญ่ในประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยไม่ใช่แค่ตระกูลชินวัตรที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย แต่ยังมีตระกูลทวีสินของเศรษฐา ทวีสินด้วย

ยุคทองของการเมืองไฮบริดในอุษาคเนย์ ที่สะท้อนผ่านการเมืองไทย-กัมพูชา

จากการเมืองไทย-กัมพูชา เมื่อมามองภาพใหญ่อย่างการเมืองระดับภูมิภาค พบว่าอัตลักษณ์ของการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือระบอบการเมืองแบบไฮบริด โดยระบอบการเมืองในภูมิภาคอาเซียน สามารถแบ่งเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกรัฐเผด็จการ ซึ่งแยกย่อยเป็น (1) เผด็จการทหาร เช่น เมียนมา (2) เผด็จการโดยสุลต่าน หรือราชาธิปัตย์ เช่น บรูไนดารุสซาลาม (3) เผด็จการพรรค เช่น สปป.ลาว และเวียดนาม ตามด้วยกลุ่มที่สอง คือรัฐประชาธิปไตยระดับสูง แม้ว่าจะไม่เท่ากับบางประเทศในตะวันตก เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และติมอร์-เลสเต นอกเหนือจากนั้นก็มีกลุ่มประเทศที่มีระบอบไฮบริด หรือระบอบผสมระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย เช่น กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย

ในแต่ละประเทศมีเฉดสีความเป็นประชาธิปไตยหรือรูปแบบการบริหารที่แตกต่างกัน อย่างมาเลเซียจะค่อนไปทางประชาธิปไตยค่อนข้างมาก ในขณะที่กัมพูชากับสิงคโปร์ ที่แม้จะมีระบอบการเมืองไฮบริดในลักษณะเผด็จการเลือกตั้งครอบงำเหมือนกัน แต่ก็มีความต่าง โดยในกัมพูชามีพรรค CPP ที่แลนด์สไลด์มาหลายทศวรรษ แต่มีปัญหาคอร์รัปชันและความยากจน ขณะที่พรรคกิจประชา (People’s Action Party: PAP) ของสิงคโปร์ที่ครองอำนาจอย่างมีเสถียรภาพมายาวนานเหมือนกัน แต่มีธรรมาภิบาลในการบริหารและเจริญรุ่งเรือง

ดุลยภาคชี้ว่าการเติบโตของระบอบการเมืองแบบไฮบริดได้ก้าวเข้าสู่ยุคทองและแข็งแรงขึ้นในอาเซียน โดยดุลยภาคมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยตั้งแต่หลังการรัฐประหารโดย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ซึ่งเป็นการเมืองที่เผด็จการผสมประชาธิปไตยมาโดยตลอด ถึงแม้จะมีสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตย มีพรรคการเมือง มีรัฐสภา แต่โครงสร้างอำนาจบางอย่างมีพลังของชนชั้นนำกับอนุรักษนิยมรวมอยู่ด้วย ทำให้ได้รัฐบาลผสมภายใต้ระบอบการเมืองลูกผสม แม้ทุกวันนี้จะมีดีกรีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าสมัยพรรคพลังประชารัฐก็ตาม

อีกประเด็นที่เป็นจุดร่วมในอาเซียนคือ คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาท้าทายขั้วอำนาจ ทั้งในเมืองไทยที่มีพรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่-ก้าวไกล และในกัมพูชาที่มีพรรคการเมืองแสงเทียนหรือการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน กระทั่งในประเทศอื่นในภูมิภาค

แต่ขณะที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเคลื่อนไหวท้าทายระบอบการเมือง เราก็ได้เห็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในระบอบเก่ากำลังเข้ามาขับเคี่ยวกับคนกลุ่มแรกเหมือนกัน ซึ่งเห็นได้ชัดในกัมพูชา ที่มีการส่งไม้ต่อจากฮุน เซน สู่รุ่นลูกอย่างฮุน มาเนต ส่วนในประเทศไทยก็น่าจับตามองต่อไปว่าจะมีคนรุ่นใหม่ในตระกูลการเมืองไหนเติบโตขึ้นมาบ้าง

ทิศทางสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ใต้สายสัมพันธ์ตระกูลฮุน-ชินวัตร-ทหารสายบูรพาพยัคฆ์

การเมืองในอุษาคเนย์มีความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำต่อชนชั้นนำ ถือเป็นลักษณะเด่นของการทูตเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในแง่ดีคือ หากชนชั้นนำทั้งสองประเทศเป็นเกลอกันก็สามารถแก้ปัญหากรณีข้อพิพาทได้ง่าย ลดทอนความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในข้อเสียก็ทำให้อาจละเลยมิติของประชาชน หรือกระทั่งนำไปสู่การใช้ผลประโยชน์ของประเทศเพื่อวงศ์ตระกูลผู้นำมากกว่า

หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาภายใต้อำนาจของรัฐบาลไทยเดิมและรัฐบาลใหม่ ดุลยภาคมองว่าการต่างประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลเพื่อไทยผสมข้ามขั้วจะมีความแตกต่างกัน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าทักษิณ ชินวัตรมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสมเด็จฮุน เซน กระทั่งตอนที่ทักษิณได้รับผลกระทบทางการเมืองก็ได้สมเด็จฮุน เซนเป็นพันธมิตรคนสำคัญถึงขนาดมีตำแหน่งที่สัมพันธ์กับการเมืองในกัมพูชา

นอกจากนี้ เมื่อย้อนไปในยุคทองทางการทูตในสมัยคุณทักษิณ จะเห็นว่าการต่างประเทศมีความตื่นตัวและทำให้ประเทศไทยโดดเด่นทั้งในเวทีอาเซียนและเวทีเศรษฐกิจการเมืองเอเชีย ซึ่งแตกต่างกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมาที่เป็นการทูตแบบเงียบเชียบ เนื่องจากเริ่มต้นมาจากการเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหารทำให้ถูกกีดกันในกิจกรรมทางการทูต ไม่สง่างามในเวทีระหว่างประเทศมากนัก และข้อจำกัดอีกหลายประการ ทำให้การต่างประเทศภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ไม่โดดเด่น แต่ยังคงความสัมพันธ์บางอย่างไว้ได้ เช่น การค้าขายชายแดน

อีกด้านหนึ่ง ดุลยภาคยังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลกลุ่ม 3 ป. มาจากทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออก ทำให้ต้องรบทัพจับศึกกับกัมพูชาอยู่บ้าง แต่ในที่สุดก็มีการเจรจาสานสัมพันธ์ทางการทหารกับกัมพูชาในระยะเวลาต่อมา ทำให้พลเอกประยุทธ์มีประสบการณ์ในการเข้าใจความเจนจัดช่ำชองของนักการเมืองกัมพูชา ในขณะเดียวกัน การที่พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณในฐานะผู้มีอำนาจในมูลนิธิป่ารอยต่อ ซึ่งเป็นเขตป่าที่อยู่ในจังหวัดทางภาคตะวันออกติดกับประเทศกัมพูชา น่าจะทำให้มีความสัมพันธ์กับพลเอกเตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กัมพูชา

แม้ภายหลังจะมีการแสดงท่าทีทางการทูตเพื่อกระชับความสัมพันธ์เช่นนี้ แต่หากเทียบกับสายสัมพันธ์กับทักษิณแล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ไม่อาจผูกมิตรกับกัมพูชาได้เหนียวแน่นเท่า การกลับมาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยรอบนี้จึงอาจเห็นความแนบชิดกลมเกลียวระหว่างสองประเทศมากขึ้น และยิ่งทักษิณได้กลับมาอยู่ในไทย ก็อาจยิ่งมีผล เพราะทักษิณก็อาจมีการให้คำปรึกษารัฐบาลในเรื่องกิจการต่างประเทศ ขณะที่เศรษฐาเองก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่จบด้านบริหารการเงิน ที่น่าจะมีความเข้าใจในการลงทุนชายแดนกับเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีกัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาอาจซับซ้อนไปกว่านั้น เพราะรัฐบาลข้ามขั้วของไทยชุดนี้ยังประกอบด้วยคนจากปีกรัฐบาลเดิม ทั้งคนที่มีสายสัมพันธ์กับพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร และยังมีพรรคภูมิใจไทยที่พื้นที่ฐานเสียงติดกับชายแดนกัมพูชา ทำให้ดุลยภาคมองว่าน่าจะทำให้เกิดโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ และการค้าขายระหว่างชายแดน พร้อมกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้ค่อนข้างแน่น

ในเชิงการทูต คาดว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเน้นสร้างสันติภาพ และพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน แต่อาจจะไม่ได้เน้นการทูตแบบมีกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลกัมพูชาและชนชั้นนำประเทศอื่นในอาเซียนมีความสบายใจ ตรงกันข้าม หากสมมติว่าพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จะกลับกลายเป็นว่าทำให้ผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านต่างหวาดระแวง เพราะก้าวไกลอาจดำเนินนโยบายทางการทูตแบบหัวก้าวหน้า วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา เน้นการกระชับความร่วมมือของแนวร่วมองคาพยพทางการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ดุลยภาคมองว่าในแง่หนึ่งเป็นเรื่องดีต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยและการให้สิทธิมนุษยชนแก่ประชาชน แต่แน่นอนว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นปกครองในประเทศเพื่อนบ้านที่ประชาธิปไตยยังไม่ก้าวหน้ามากนัก เพราะฉะนั้นชนชั้นนำในประเทศเพื่อนบ้านจึงต้องพยายามเบรกความก้าวหน้า ขัดขาและมีวิวาทะ วาทกรรมเผ็ดร้อนโจมตีกันไปมา

ความหวาดระแวงต่อพรรคก้าวไกลยังเห็นได้จากปฏิกริยาของชนชั้นนำในประเทศรอบข้างที่มีการออกมาแสดงความไม่พอใจถึงชัยชนะของพรรคก้าวไกลหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นใหม่ๆ ด้วยเกรงว่าโมเดลก้าวไกลจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับฝ่ายค้านในแต่ละประเทศได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ผ่านนวัตกรรมของประชาธิปไตย เช่น ท่าทีของพลเอกอาวุโส โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาที่ไม่พอใจการเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยกล่าวว่าจะทำให้ฝ่ายตะวันตกเข้ามามีอำนาจในแถบอาเซียน และทำให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) แข็งแรงขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลทหาร ขณะที่ในกัมพูชา ฮุน เซนเองก็ออกมาเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียสะท้อนความไม่สบายใจ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกลมีความคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของพรรคแสงเทียน (Candlelight Party) พรรคฝ่ายค้านในกัมพูชา ด้วยเหตุผลจาก กกต.กัมพูชาที่ว่า “ยื่นเอกสารที่จำเป็นไม่ครบถ้วน”

ความท้าทายของรัฐบาลเพื่อไทยต่อความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชา

แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ดุลยภาคมองว่ายังมีความท้าทายจากปมปัญหาที่ยังคงเรื้อรังอย่างยาวนานที่รอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการอยู่

1. ปัญหาเขตแดนที่ไม่ลงรอยกันทั้งทางบกและทางทะเล

ในอดีต ประเทศไทยมีประเด็นร้อนกับกัมพูชาเรื่องเขตแดนเขาพระวิหาร ซึ่งปัจจุบันปัญหาเบาบางลงไป กระบวนการชาตินิยมในฝั่งไทยก็ไม่ได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้แล้ว แต่เรื่องที่น่าจะให้ความสนใจในอนาคตคือ ปัญหาเขตแดนทางทะเลที่มีทรัพยากรสำคัญอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ โดยเฉพาะในเขตอ่าวไทยที่กัมพูชามีการวางเส้นแบ่งอาณาเขตลากจากเกาะกง ประเทศกัมพูชาไปยังเกาะกูด จังหวัดตราดภายใต้อธิปไตยของไทย ทำให้มีปัญหาค้างเติ่งมาหลายปี

แต่เร็วๆ นี้รัฐบาลกัมพูชามีท่าทีอยากเจรจาเรื่องผลประโยชน์ของสัมปทานในพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลเพื่อไทยที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศ หรือสร้างสถานการณ์ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เหมือนที่ประเทศไทยทำสำเร็จกับโมเดลความร่วมมือในการจัดการพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ปัญหาเขตแดนบริเวณอ่าวไทยยังมีตัวแสดงอื่นภายในอาเซียน และมหาอำนาจนอกอาเซียนอย่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่เข้ามาแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีข้อพิพาทเขตแดนอื่นๆ กับกัมพูชาที่น่าจับตามอง เช่น ปราสาทตาควาย หรือบริเวณทางบกที่เป็นพรมแดนเทือกเขาพนมดงรักบางจุด

2. การแย่งชิงมรดกโลกและมรดกทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับกัมพูชา

แม้คนไทยจะวิจารณ์ว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่เคลมเก่งในเรื่องความเป็นต้นตำรับทางอารยธรรม แต่ในมุมดุลยภาคนั้นทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนและหยิบยืมอารยธรรมและวัฒนธรรมกันไปมาในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จนไม่สามารถเคลมเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างเด่นชัด

อย่างไรก็ดี ฮุน มาเนตให้ความสำคัญในเรื่องการหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือบางคนมองว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพื่อหาหลักฐานเข้ามาสร้างอำนาจทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ซึ่งเชื่อมโยงกับชาตินิยมของกัมพูชาจึงอาจจะเป็นประเด็นความสัมพันธ์ที่อาจจะต้องระมัดระวัง

3. บทบาทมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา-จีนที่เข้มข้นในภูมิภาค

ประเทศไทยกับกัมพูชาจะถูกกดให้เลือกระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและจีน แม้ประเทศกัมพูชาที่ผ่านมาจะเอนไปทางจีน แต่ก็ไม่ได้เลือกจีนทีเดียวนัก ยิ่งฮุน มาเนตเติบโตผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ ทั้งโรงเรียนทหารเวสต์ปอยต์ และการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศอังกฤษ ทั้งยังมีต้นทุนในกิจการต่างประเทศโดยรู้จักกับคีย์แมนคนสำคัญในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ ก็คาดว่าการทูตต่างประเทศของกัมพูชาจะบาลานซ์ด้วยการดึงตะวันตกเข้ามามากขึ้น และเดินสายกิจกรรมต่างประเทศมากขึ้น

ดุลยภาคจึงมองว่าประเด็นนี้น่าจับตามองมากว่าการทูตกัมพูชาจะทำให้ประเทศเล็กประเทศนี้เสียงดังขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยก็น่าสนใจว่าเศรษฐา ในบทบาทนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลนี้จะทำให้ไทยจรัสแสงในอาเซียน หรือในเอเชียได้โดดเด่นเหมือนในอดีตหรือไม่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save