fbpx
เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

ความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนว่า พวกเขาคิดฝันถึงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองใหม่ และอยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายนั้น เราทุกคนอาจรู้กันดีว่าเยาวชนคิดฝัน แต่กลับมีภาพในหัวเลือนรางเหลือเกินว่าความคิด-ความฝันนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร? – ‘คุณค่า-ทัศนคติ’ แบบไหนเป็น ‘แว่นตา’ ที่พวกเขาใช้มองโลกปัจจุบันและสร้างภาพฝันแห่งอนาคต?

การเหมารวมว่า ‘เด็กสมัยนี้’ มีคุณค่า-ทัศนคติเหมือนกันเสียหมด ดูจะละเลยความหลากหลายทางความคิดในหมู่เยาวชนเกินไป ขณะเดียวกัน คำที่มักถูกใช้เรียกกลุ่มเยาวชนตามคุณค่าทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง เช่น สลิ่ม ควายแดง สามกีบ หรือเฟมทวิต ก็อธิบายได้น้อยมากว่าจริงๆ แล้วคนที่ถูกเรียกเช่นนั้นคิดหรือเชื่ออะไรกันแน่? – หลายครั้งถูกใช้ ‘แปะป้าย-ตีตรา’ คนเห็นต่างเสียมากกว่า

การเข้าใจคุณค่า-ทัศนคติของเยาวชนนี้นับว่าสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาบทสนทนาและความร่วมมือที่สร้างสรรค์ในสังคม เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ ยั่งยืน และเสริมสร้างเสถียรภาพและความเป็นปึกแผ่นในสังคมได้ดียิ่งขึ้น

คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ชวนทำความเข้าใจคุณค่า-ทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของเยาวชนไทย จากการวิเคราะห์ผลสำรวจเยาวชนเกือบสองหมื่นคนทั่วประเทศ หาคำตอบว่าเยาวชน ‘5 กลุ่มทัศนคติ’ คิดฝันอะไร เป็นใคร และมีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อเป็นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจยิ่งขึ้น

เข้าใจเยาวชนด้วย ‘การวัดและจัดกลุ่มคุณค่า-ทัศนคติ’ จากผลสำรวจ คิด for คิดส์

เข้าใจเยาวชนด้วย ‘การวัดและจัดกลุ่มคุณค่า-ทัศนคติ’ จากผลสำรวจ คิด for คิดส์

คุณค่า-ทัศนคติเยาวชนที่จะเล่าถึงในที่นี้ มาจากการวิเคราะห์ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ ซึ่งสำรวจเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี 19,237 คนทั่วประเทศ เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2022[1] โดยนำคำตอบของข้อคำถามที่เกี่ยวข้อง มาวัดคุณค่า-ทัศนคติของเยาวชนแต่ละคนใน 6 เรื่อง แต่ละเรื่องจะวัดด้วยคะแนนในสเกลระหว่าง ‘สองขั้วจุดยืน’ ที่สำคัญในเรื่องนั้น[2] ทั้งนี้ คุณค่า-ทัศนคติและขั้วจุดยืน 6 เรื่องดังกล่าวประกอบด้วย

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล: เน้นรักษาความสัมพันธ์ VS แสดงออกตัวตน
  2. ความสัมพันธ์กลุ่ม: เน้นกลุ่ม VS เน้นปัจเจกบุคคล
  3. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ/การเมือง: ลำดับชั้น/อำนาจนิยม VS เท่าเทียม/เสรีนิยม
  4. ประเด็นทางสังคม: สืบสานธรรมเนียม VS ก้าวหน้า/อิสระ
  5. เศรษฐกิจการเมือง: ตลาดแบบปัจจุบัน VS รัฐคุ้มครองให้เสมอภาค
  6. เพศสภาพและครอบครัว: ชายเป็นใหญ่ VS ทุกเพศเท่าเทียม

แน่นอนว่าเยาวชนแต่ละคนย่อมมีคุณค่า-ทัศนคติแตกต่างกัน แต่เพื่อให้พอเห็นภาพและอธิบายความหลากหลายนั้นได้โดยไม่ซับซ้อนจนเกินไป จึงจัดเยาวชนที่มีคุณค่า-ทัศนคติในทั้ง 6 เรื่องใกล้เคียงกัน เข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน ผลปรากฏว่าสามารถจัดออกมาได้ทั้งสิ้น ‘5 กลุ่มทัศนคติ’[3] โดยเยาวชนแต่ละกลุ่มยึดถือคุณค่า-ทัศนคติ และมีลักษณะสำคัญ ดังต่อไปนี้

กลุ่มทัศนคติ 1

กลุ่มทัศนคติ 1

กลุ่มทัศนคติ 1 คิดอะไร?

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 มีแนวโน้มเชื่อถือคนรอบตัวอย่างครอบครัว ครูอาจารย์ และเพื่อนบ้านในชุมชนน้อย แต่ไว้ใจเพื่อนสนิทมาก – มากกว่าคนรอบตัวกลุ่มอื่น และมากกว่าเยาวชนกลุ่มทัศนคติอื่นทั้งหมด – พวกเขายังให้ความสำคัญกับการแสดงออกอัตลักษณ์-ตัวตนของ ‘ปัจเจกบุคคล’ เหนือกว่าการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวอย่างชัดเจน

เยาวชนกลุ่มนี้ถึง 89.7% นิยามตนเองเป็น ‘พลเมืองโลก’ มากกว่าพลเมืองไทย ภายใต้วาทกรรมชาตินิยมกระแสหลักในปัจจุบัน ราว 61.9% รู้สึกภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด และ 90.4% เห็นว่าชาติและวัฒนธรรมไทยมิได้ดีกว่าชาติและวัฒนธรรมอื่น สัดส่วนสองข้อหลังนี้สูงกว่ากลุ่มทัศนคติอื่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยค่าเฉลี่ยของกลุ่มทัศนคติ 2-5 เท่ากับ 19.1% และ 45.7% ตามลำดับ

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 มองคน ‘เท่าเทียม’ และยึดถือคุณค่า ‘ประชาธิปไตยเสรีแบบมีส่วนร่วม’ 98-100% เห็นว่าเสรีภาพทางความคิด การแสดงออก และการรวมตัว-ชุมนุม ตลอดจนสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองสำคัญค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ฉะนั้น พวกเขาจึงมีแนวโน้มไม่ไว้ใจให้รัฐใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดย 75.4% เห็นว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลไม่ควรถูกจำกัด แม้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ส่วนรวม, 93.4% เห็นว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชนเพื่อรักษาความสงบ, และ 61.0% เห็นว่าการรักษาเสรีภาพทางการแสดงออกสำคัญกว่าการกำจัดข่าวลวง (fake news)

คุณค่าซึ่งกลุ่มทัศนคติ 1 แตกต่างจากกลุ่มอื่นมากที่สุดคือเรื่องสังคมและเพศสภาพ โดยมีจุดยืน ‘ก้าวหน้า’ ไม่ยึดติดกับธรรมเนียม-ความเชื่อดั้งเดิม เยาวชนกลุ่มนี้เกินครึ่งหรือ 50.6% ไม่นับถือศาสนาใดเลย เป็นสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มทัศนคติ 2-5 ที่มีค่าเฉลี่ย 5.5% ตัวอย่างจุดยืนในประเด็นอื่นได้แก่ 85.4% สนับสนุนสิทธิการุณยฆาต, 94.2% สนับสนุนสิทธิทำแท้ง, 97.4% สนับสนุนสมรสเท่าเทียม, 82.2% สนับสนุนเสรีภาพการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้แต่งงานด้วย, และ 96.4% สนับสนุนโสเภณีถูกกฎหมาย

ท้ายที่สุด เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 ถือเป็นกลุ่มเดียวซึ่งเสียงข้างมาก (79.6%) มองว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจการเมืองไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา แต่เป็น ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง โดย 99.2% เห็นว่าโครงสร้างดังกล่าวไม่เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเสมอภาค และ 83.0% เห็นว่าความมั่งคั่งของคนรวยเกิดจากการกดขี่ขูดรีดคนจน เยาวชนกลุ่มนี้ 99.6% ยังเห็นว่าการกระจายความมั่งคั่ง-ลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เป็นกลุ่มเดียวที่สนับสนุนให้รัฐจัด ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ มากกว่าจัดสวัสดิการให้เฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องได้รับ (59.1%)

กลุ่มทัศนคติ 1 เป็นใคร-มีพฤติกรรมอย่างไร?

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 มีสัดส่วน 29.1% ของจำนวนเยาวชนทั้งหมด ถือเป็นกลุ่มทัศนคติที่ ‘ใหญ่ที่สุด’ ในสังคมไทย และใหญ่ที่สุดในหมู่เยาวชนเพศสภาพหญิง (35.3%) และ LGBTQ+ (47.1%) เยาวชนอายุ 19-22 ปี (46.0%) และ 23-25 ปี (65.9%) รวมถึงเยาวชนในครัวเรือนรายได้สูงสุด 60% แรก สัดส่วนของเยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุและรายได้ครัวเรือน พวกเขายังมีระดับการศึกษาเฉลี่ยสูงสุด โดยเยาวชนที่กำลังเรียนหรือเรียนจบปริญญาตรี 57.4% ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้

เราอาจพบเจอเยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 ได้ใน ‘ทวิตเตอร์’ ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่พวกเขาใช้งานมากที่สุด – มากกว่าสื่ออื่น และมากกว่ากลุ่มทัศนคติอื่น – โดย 52.4% ใช้งานอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เป็นกลุ่มที่ใช้งานติ๊กต็อก รวมถึงรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสมัยเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์น้อยที่สุด น่าสนใจด้วยว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือเยอะที่สุด เฉลี่ยประมาณ 10.4 เล่มต่อปี

เนื่องจากยึดถือคุณค่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จึงไม่น่าแปลกที่เยาวชนกลุ่มนี้ถึง 85.2% จะสนใจติดตามการเมือง และ 96.8% เคยมีส่วนร่วมทางการเมือง ถือเป็นสัดส่วนสูงสุดในทุกกลุ่มทัศนคติ ทั้งนี้ พวกเขามักมีส่วนร่วมในรูปแบบที่ลงมือทำได้เอง ไม่ผ่านองค์กรจัดตั้ง และตอบสนองสถานการณ์เฉพาะเรื่อง พรรคการเมืองที่พวกเขาเห็นว่ามีแนวคิดตรงกับตนเองที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ พรรคก้าวไกล (75.8%) พรรคเพื่อไทย (13.5%) และพรรคสามัญชน (0.8%)

กลุ่มทัศนคติ 2

กลุ่มทัศนคติ 2

กลุ่มทัศนคติ 2 คิดอะไร?

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 2 เชื่อถือไว้ใจและให้ความสำคัญ ‘คนรอบตัว’ สูง 98.7% รายงานว่าพวกเขามักตัดสินใจและทำสิ่งต่างๆ โดยคำนึงถึงคนรอบตัวมากกว่าตนเอง พวกเขายังให้น้ำหนักกับ ‘ความเกรงใจ มารยาท และความถูกต้องทางการเมือง’ (political correctness, PC) เหนือกว่าเสรีภาพในการแสดงออกอย่างมีนัยสำคัญ

เยาวชนกลุ่มนี้ 86.0% นิยามตนเองเป็น ‘พลเมืองโลก’ มากกว่าพลเมืองไทย ซึ่งเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับกลุ่มทัศนคติ 1 ขณะเดียวกัน 73.6% ก็ ‘ภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย’ ด้วย ถึงกระนั้น ส่วนใหญ่หรือ 62.3% ก็ไม่ได้มองว่าชาติและวัฒนธรรมไทยดีกว่าชาติและวัฒนธรรมอื่น แต่เท่าเทียมกันหรือด้อยกว่า

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 2 เคารพลำดับชั้นทางสังคมมากกว่ากลุ่มทัศนคติ 1 โดย 71.2% รู้สึกกลัวที่จะแสดงความเห็นแย้งกับผู้ที่อาวุโส มีอำนาจ หรืออยู่ในสถานะสูงกว่า พวกเขายึดถือคุณค่า ‘ประชาธิปไตยเสรี’ โดย 95-98% ให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางความคิด การแสดงออก และการรวมตัว-ชุมนุม อย่างไรก็ดี พวกเขามีแนวโน้มยินยอมให้รัฐ ‘จำกัดสิทธิเมื่อจำเป็น’ ได้มากกว่ากลุ่มทัศนคติ 1 โดย 52.0% เห็นว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลควรถูกจำกัด หากก่อให้เกิดผลประโยชน์ส่วนรวม และ 63.1% เห็นว่าการกำจัดข่าวลวงสำคัญกว่าการรักษาเสรีภาพทางการแสดงออก

เยาวชนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับ ‘ศาสนาและขนบธรรมเนียม’ โดยมีเพียง 9.5% เท่านั้นที่ไม่นับถือศาสนา, 42.0% เห็นว่าชีวิตมนุษย์ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยกรรมในชาติก่อน พระเจ้า หรือดวงชะตา, และ 74.1% เห็นว่าคนไทยควรรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมให้คงอยู่สืบไป จุดยืนต่อประเด็นทางสังคมของพวกเขามีลักษณะเป็นอนุรักษนิยมกว่ากลุ่มทัศนคติ 1 แต่ก้าวหน้ากว่ากลุ่มที่เหลือ ตัวอย่างได้แก่ 41.1% เห็นด้วยกับสิทธิการุณยฆาต และ 56.6% เห็นด้วยกับสิทธิทำแท้ง

ในประเด็นเพศสภาพและครอบครัว เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 2 สนับสนุนข้อเสนอที่มุ่งยกระดับสิทธิของ ‘LGBTQ+’ ให้เสมอภาคกับชายหญิงเป็นสัดส่วนสูงมาก ใกล้เคียงกับกลุ่มทัศนคติ 1 เช่น 91.7% สนับสนุนสมรสเท่าเทียม แต่ยอมรับเสรีภาพทางเพศน้อยกว่า เช่น 58.0% ยอมรับเสรีภาพการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้แต่งงานด้วย และ 75.6% ยอมรับโสเภณีถูกกฎหมาย

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 2 มีจุดยืนต่อประเด็นว่า ความเหลื่อมล้ำเป็น ‘เรื่องธรรมดา’ หรือ ‘ปัญหาที่ต้องแก้ไข’ ในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง แต่พวกเขาเกือบทั้งหมดหรือ 98.5% ก็เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทยไม่เปิดโอกาสให้ทุกคน และ 85.8% เห็นว่าความมั่งคั่งของคนรวยเกิดจากการเอาเปรียบคนจน แม้ประมาณ 97.8% จะให้ความสำคัญกับการกระจายความมั่งคั่ง-ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ 67.5% เห็นว่ารัฐควรแก้ปัญหาข้างต้นโดยจัดสวัสดิการให้เฉพาะ ‘ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับ’ มากกว่าจัดสวัสดิการถ้วนหน้า

กลุ่มทัศนคติ 2 เป็นใคร-มีพฤติกรรมอย่างไร?

เยาวชนไทยราว 22.7% ถูกจัดอยู่ในกลุ่มทัศนคติ 2 ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในหมู่เยาวชนอายุ 15-18 ปี (23.5%) และเยาวชนจากครัวเรือนที่รายได้ต่ำสุด 40% แรก สัดส่วนของเยาวชนกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลงจากช่วงอายุ 19-22 ปี (24.4%) สู่ 23-25 ปี (11.6%) อย่างมีนัยสำคัญ และลดลงตามระดับรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

แม้จะมีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มทัศนคติ 1 แต่พวกเขาก็กระตือรือร้นกับการเรียนในระบบมากที่สุด โดย 32.4% อยากเรียนถึงระดับปริญญาโทขึ้นไป ในแง่การรับสื่อ พวกเขาใช้งาน ‘อินสตาแกรม’ และ ‘เฟซบุ๊ก’ มากกว่าสื่ออื่นและมากกว่ากลุ่มทัศนคติอื่น โดยมีผู้ที่ใช้งานสื่อข้างต้นเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันคิดเป็น 59.4% และ 54.4% ตามลำดับ

เยาวชนกลุ่มนี้ 74.1% สนใจติดตามการเมือง และ 86.0% เคยมีส่วนร่วมทางการเมือง พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนคุณค่า-ทัศนคติของพวกเขาได้ดีที่สุดคือ พรรคก้าวไกล (49.0%) พรรคเพื่อไทย (28.0%) และพรรคประชาธิปัตย์ (2.5%)

กลุ่มทัศนคติ 3

กลุ่มทัศนคติ 3

กลุ่มทัศนคติ 3 คิดอะไร?

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 3 เชื่อถือไว้ใจคนรอบตัวอย่างครอบครัว ครูอาจารย์ และเพื่อนบ้าน ต่ำกว่ากลุ่มทัศนคติ 2 แต่สูงกว่ากลุ่มทัศนคติ 1 และเยาวชนทั้งหมดโดยเฉลี่ย พวกเขาให้ความสำคัญกับการแสดงออกอัตลักษณ์-ตัวตนของ ‘ปัจเจกบุคคล’ โดยเฉพาะการแสดงออกกับคนใกล้ตัว

เยาวชนกลุ่มนี้มีคุณค่าใน 5 เรื่องที่เหลืออยู่ ‘กึ่งกลาง’ ระหว่างทุกกลุ่มทัศนคติ โดย 70.1% นิยามตนเองเป็นพลเมืองโลกมากกว่าพลเมืองไทย ถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเยาวชนภาพรวม พวกเขามีลักษณะชาตินิยมคล้ายกับกลุ่มทัศนคติ 2 คือ ภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย (77.4%) แต่มิได้มองชาติและวัฒนธรรมไทยเหนือกว่าชาติและวัฒนธรรมอื่น (58.8%)

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 3 เคารพลำดับชั้นทางสังคม พร้อมทั้งยึดหลักสิทธิเสรีภาพต่ำกว่ากลุ่มทัศนคติ 2 โดย 85-92% ให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางความคิด การแสดงออก และการรวมตัว-ชุมนุม ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังยินยอมให้รัฐจำกัดสิทธิและมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ ‘ทวยราษฎร์’ มากกว่ากลุ่มทัศนคติ 2 หมายความว่าสนใจและกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยกว่า

ในภาพรวม พวกเขามีจุดยืนต่อประเด็นทางสังคม เพศสภาพ และครอบครัว อนุรักษนิยมในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับกลุ่มทัศนคติ 2 โดยมีเพียง 8.1% ไม่นับถือศาสนา, 38.0% เชื่อว่าชีวิตมนุษย์ถูกกำหนดไว้ด้วยกรรมในชาติก่อน พระเจ้า หรือดวงชะตา, และ 75.8% มองว่าควรรักษาธรรมเนียม ตัวอย่างจุดยืนเฉพาะเรื่อง เช่น 32.5% เห็นด้วยกับสิทธิการุณยฆาต, 41.2% เห็นด้วยกับสิทธิทำแท้ง, 87.6% สนับสนุนสมรสเท่าเทียม, 44.6% สนับสนุนเสรีภาพการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้แต่งงานด้วย, และ 60.5% สนับสนุนโสเภณีถูกกฎหมาย

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 3 ส่วนใหญ่ราว 59.7% มองว่าความเหลื่อมล้ำเป็น ‘เรื่องธรรมดา’ มากกว่าปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่ 91.3% ก็เห็นด้วยว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองไทยไม่เปิดโอกาสให้ทุกคน และ 74.9% เห็นว่าความมั่งคั่งของคนรวยเกิดจากการกดขี่ขูดรีดคนจน ถือเป็นสัดส่วนต่ำกว่ากลุ่มทัศนคติ 2 เยาวชนกลุ่มนี้ 89.5% ให้ความสำคัญกับการกระจายความมั่งคั่ง-ลดความเหลื่อมล้ำ โดยกว่าสองในสามหรือ 69.0% คิดว่ารัฐควรจัดสวัสดิการให้เฉพาะ ‘ผู้ที่จำเป็น’ มากกว่าสวัสดิการถ้วนหน้า

กลุ่มทัศนคติ 3 เป็นใคร-มีพฤติกรรมอย่างไร?

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 3 คิดเป็น 18.8% ของจำนวนเยาวชนทั้งหมด โดยเป็นกลุ่มทัศนคติใหญ่ที่สุดในหมู่เยาวชนเพศสภาพชาย (23.1%) สัดส่วนของกลุ่มทัศนคตินี้มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงอายุ 15-18 ปี (22.7%) สู่ 19-22 ปี (11.5%) อีกทั้งยังมีจำนวนน้อยในหมู่เยาวชนจากครัวเรือนรายได้สูงและต่ำ แต่มีอยู่มากในครัวเรือนรายได้ปานกลาง

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 3 เรียกได้ว่าเป็น ‘วัยรุ่นติ๊กต็อก’ เพราะพวกเขารับข้อมูลข่าวสารผ่านติ๊กต็อกมากกว่าสื่ออื่น และมากกว่ากลุ่มทัศนคติอื่น ราว 58.6% ใช้งานสื่อดังกล่าว 2 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป

เยาวชนกลุ่มนี้สนใจติดตามการเมืองน้อยที่สุดในบรรดาทุกกลุ่ม (55.0%) อย่างไรก็ดี 74.4% เคยมีส่วนร่วมทางการเมือง ถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ากลุ่มทัศนคติ 1-2 และเยาวชนภาพรวม แต่ยังสูงกว่ากลุ่มทัศนคติ 4-5 หากแยกตามรูปแบบการมีส่วนร่วม พบว่ากลุ่มทัศนคติ 3 มีส่วนร่วมแบบผ่านองค์กรจัดตั้งน้อยกว่ากลุ่มอื่นทั้งหมด โดยมีเพียง 6.7% ที่เคยร่วมกิจกรรมกับพรรคการเมือง และ 10.8% เคยร่วมชุมนุมทางการเมือง พรรคการเมืองที่พวกเขาเห็นว่ามีแนวคิดตรงกับตนเองที่สุด ได้แก่ พรรคก้าวไกล (35.8%) พรรคเพื่อไทย (29.1%) และพรรคพลังประชารัฐ (5.3%)

กลุ่มทัศนคติ 4

กลุ่มทัศนคติ 4

กลุ่มทัศนคติ 4 คิดอะไร?

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 4 เชื่อถือและคำนึงถึงคนรอบตัวสูงสุด 99.2% รายงานว่าพวกเขาตัดสินใจหรือทำสิ่งต่างๆ โดยคิดถึงคนรอบตัวมากกว่าตนเอง อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ ‘ความเกรงใจ มารยาท ตลอดจนการรักษาความรู้สึกและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว’ เหนือกว่าเสรีภาพการแสดงออกของปัจเจกบุคคลมากที่สุดด้วย

เยาวชนกลุ่มนี้มีความรู้สึกชาตินิยมสูงสุด แม้ 65.9% จะนิยามตนเองเป็นพลเมืองโลก แต่กว่า 91.8% ก็ภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ที่สำคัญ 71.8% ยังเห็นว่าชาติและวัฒนธรรมไทย ‘ดีที่สุด’ เหนือกว่าชาติและวัฒนธรรมอื่น ต่างจากกลุ่มทัศนคติ 2-3 ซึ่งมีมุมมองในประเด็นหลังตรงกันข้าม

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 4 เคารพ ‘ลำดับชั้นทางสังคม’ สูงสุด 83.2% รู้สึกกลัวที่จะแสดงความเห็นแย้งกับผู้ที่อาวุโส มีอำนาจ หรืออยู่ในสถานะสูงกว่า ในเชิงหลักการ พวกเขาให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางความคิด (78.1%) และการแสดงออก (77.8%) แต่กลับยอมรับให้รัฐใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพได้มากที่สุด โดย 78.7% เห็นว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลควรถูกจำกัดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม, 58.8% เห็นว่ารัฐชอบธรรมที่จะใช้ ‘ความรุนแรง’ กับประชาชนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย, และ 74.2% เห็นว่าการกำจัดข่าวลวงสำคัญกว่าการรักษาเสรีภาพทางการแสดงออก

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 4 ยึดถือ ‘ศาสนาและธรรมเนียม’ มากที่สุด มีเพียง 1.9% ไม่นับถือศาสนา, 61.0% เชื่อว่าชีวิตมนุษย์ถูกกำหนดไว้ด้วยกรรมในชาติก่อน พระเจ้า หรือดวงชะตา, และ 93.2% เห็นถึงความจำเป็นในการรักษาธรรมเนียม พวกเขามีจุดยืนต่อประเด็นทางสังคมในแนว ‘อนุรักษนิยม’ มากกว่ากลุ่มทัศนคติ 1-3 แต่น้อยกว่ากลุ่มทัศนคติ 5 ตัวอย่างเช่น 11.0% เห็นด้วยกับสิทธิการุณยฆาต และ 10.6% เห็นด้วยกับสิทธิทำแท้ง ข้อยกเว้นได้แก่ประเด็นการรักษา ‘สิ่งแวดล้อม’ ซึ่งเกือบ 81.1% สนับสนุน – เป็นสัดส่วนที่สูงใกล้เคียงกับกลุ่มทัศนคติ 1-3 มากกว่าประเด็นทางสังคมอื่นอย่างชัดเจน

ประเด็นเพศสภาพและครอบครัวก็เช่นกัน เยาวชนกลุ่มนี้สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศน้อย โดยมีเพียง 60.3% ที่สนับสนุนสมรสเท่าเทียม และเปิดกว้างต่อเสรีภาพทางเพศน้อยยิ่งกว่า เช่น 16.4% ยอมรับเสรีภาพการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้แต่งงานด้วย และ 18.1% สนับสนุนโสเภณีถูกกฎหมาย น่าสนใจด้วยว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับ ‘การแต่งงานสร้างครอบครัว’ มาก โดยประมาณ 30.0% รายงานว่าการแต่งงานจำเป็นสำหรับตนเอง ถือเป็นสัดส่วนสูงสุดในทุกกลุ่มทัศนคติ

เมื่อเคารพลำดับชั้นทางสังคมที่สุด จึงไม่น่าแปลกที่เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 4 จะมองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่อง ‘ปกติธรรมดา’ มากกว่ากลุ่มทัศนคติอื่นทั้งหมด (79.5%) ถึงกระนั้น พวกเขาก็เล็งเห็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เปิดโอกาสอย่างเสมอภาค (89.9%) และเอาเปรียบคนจน (81.1%) มากกว่ากลุ่มทัศนคติ 3 แต่น้อยกว่ากลุ่มทัศนคติ 1-2 นอกจากนี้ 79.1% ยังให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ และ 83.4% เห็นว่ารัฐควรจัดสวัสดิการให้เฉพาะ ‘ผู้ที่จำเป็น’ มากกว่าให้ทุกคน

กลุ่มทัศนคติ 4 เป็นใคร-มีพฤติกรรมอย่างไร?

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 4 คิดเป็น 15.9% ของจำนวนเยาวชนทั้งหมด สัดส่วนของเยาวชนกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลงตามอายุและระดับรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ในประเด็นการรับข้อมูลข่าวสาร พวกเขาใช้งานอินสตาแกรมมากกว่าสื่อโซเชียลมีเดียอื่น อีกทั้งยังดูโทรทัศน์มากกว่ากลุ่มทัศนคติอื่น โดยมีผู้ที่รับสื่อข้างต้นเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันคิดเป็น 52.2% และ 17.6% ตามลำดับ

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 4 มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการแสดงจุดยืนและทัศนะส่วนตัว พวกเขาสนใจติดตามและมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยกว่าเยาวชนไทยโดยเฉลี่ย (64.3% และ 68.5% ตามลำดับ) หากแยกตามรูปแบบการมีส่วนร่วม พบว่าเยาวชนกลุ่มนี้มักเคยมีส่วนร่วมผ่านองค์กรจัดตั้ง เช่น 11.0% เคยร่วมกิจกรรมพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนคุณค่าของกลุ่มนี้ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย (33.7%) พรรคก้าวไกล (25.8%) และพรรคพลังประชารัฐ (9.6%)

กลุ่มทัศนคติ 5

กลุ่มทัศนคติ 5

กลุ่มทัศนคติ 5 คิดอะไร?

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 5 ให้ความสำคัญกับ ‘การเอาตัวรอด’ เหนือคุณค่านามธรรมมาก พวกเขาจึงเชื่อถือและคำนึงถึงคนรอบตัวอย่างครอบครัว เพื่อนสนิท และคนรักน้อยที่สุด ทั้งยังใส่ใจมารยาทและความถูกต้องทางการเมืองค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทัศนคติอื่น

เยาวชนกลุ่มนี้นิยามตนเองเป็นพลเมืองโลกน้อยที่สุด (64.6%) แต่ชาตินิยมต่ำกว่ากลุ่มทัศนคติ 4 โดย 81.0% ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย และ 66.4% เห็นว่าชาติและวัฒนธรรมไทยดีกว่าชาติและวัฒนธรรมอื่น

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 5 มิได้ยึดถือคุณค่าความเท่าเทียม-เสมอภาคมากนัก แต่ก็มิได้เคารพและ ‘กล้าท้าทายลำดับชั้นทางสังคม’ 30.6% ไม่รู้สึกกลัวที่จะต้องแสดงความเห็นแย้งกับผู้ที่อาวุโส มีอำนาจ หรืออยู่ในสถานะสูงกว่า ถือเป็นสัดส่วนสูงสุดอันดับสองรองจากกลุ่มทัศนคติ 1 เท่านั้น

ในเชิงหลักการ พวกเขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางความคิด (มีเพียง 31.2% ที่เห็นว่าสำคัญค่อนข้างมากถึงมากที่สุด) เสรีภาพการแสดงออก (29.2%) เสรีภาพการรวมตัว-ชุมนุม (28.8%) และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง (27.4%) ขณะเดียวกัน ก็ยินยอมให้รัฐใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพได้มาก แต่ยังน้อยกว่ากลุ่มทัศนคติ 4 ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาไม่ไว้ใจทั้งมนุษย์และรัฐ โดย 63.3% เห็นว่าสิทธิควรถูกจำกัดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม, 58.0% เห็นว่ารัฐชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชนเพื่อรักษาความสงบ, และ 62.3% เห็นว่าการกำจัดข่าวลวงสำคัญกว่าการรักษาเสรีภาพการแสดงออก

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 5 รายงานว่าเคารพศาสนาและธรรมเนียมสูง เป็นรองเพียงกลุ่มทัศนคติ 4 แต่ก็พบว่าจำนวนมาก ‘นับถือเพียงในนาม’ มิได้ยึดถือเชื่อใช้หลักการและคุณค่าของศาสนาและธรรมเนียมเหล่านั้นจริงจัง พวกเขามีจุดยืนต่อประเด็นสังคม เพศสภาพ และครอบครัวในแนวทาง ‘อนุรักษนิยมมากที่สุด’ โดยมีเพียง 5.4% เห็นด้วยกับสิทธิการุณยฆาต, 6.1% เห็นด้วยกับสิทธิทำแท้ง, 34.9% ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม, 32.5% สนับสนุนสมรสเท่าเทียม, 10.0% ยอมรับเสรีภาพการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้แต่งงานด้วย, และ 9.8% ยอมรับโสเภณีถูกกฎหมาย

เยาวชนกลุ่มนี้ 69.7% มองความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องธรรมดา และราว 65% เล็งเห็นปัญหาของโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเสมอภาคและกดขี่ขูดรีดคนจน หมายความว่า พวกเขาเล็งเห็นปัญหามากกว่ากลุ่มทัศนคติ 4 อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่เห็นความสำคัญของบทบาทรัฐในการแก้ปัญหา โดยมีเพียง 31.4% ที่คิดว่าการกระจายความมั่งคั่ง-ลดความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นนโยบายที่สำคัญ ในแง่สวัสดิการ 70.3% มองว่ารัฐควรจัดให้เฉพาะผู้ที่จำเป็น มากกว่าจัดให้ทุกคน

กลุ่มทัศนคติ 5 เป็นใคร-มีพฤติกรรมอย่างไร?

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 5 มีสัดส่วน 13.5% ของจำนวนเยาวชนทั้งหมด ถือเป็นกลุ่มทัศนคติที่ ‘เล็กที่สุด’ ในสังคมไทย และเล็กที่สุดในหมู่เยาวชนทุกเพศสภาพ ช่วงอายุ และระดับรายได้ครัวเรือน สัดส่วนของเยาวชนกลุ่มนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงอายุ 15-18 ปี (17.4%) สู่ 19-22 ปี (6.5%) และกระจุกตัวในหมู่เยาวชนจากครัวเรือนยากจนที่สุด 40% แรก ควรเสริมว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยและระดับการศึกษาเฉลี่ยต่ำสุดในทุกกลุ่ม เยาวชนที่กำลังเรียนหรือเรียนจบปริญญาตรีเพียง 3.9% ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้

เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 5 ใช้งานติ๊กต็อกมากกว่าสื่อโซเชียลมีเดียอื่น อีกทั้งยังฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์มากกว่ากลุ่มทัศนคติอื่น โดยสัดส่วนของผู้รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อข้างต้นเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันคิดเป็น 46.6%, 2.1%, และ 1.8% ตามลำดับ นอกจากนี้ พวกเขายังอ่านหนังสือที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนและการทำงานน้อยที่สุด เฉลี่ยประมาณ 6.6 เล่มต่อปี

เยาวชนกลุ่มดังกล่าวมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการแสดงจุดยืนและทัศนะส่วนตัว ราว 56.3% สนใจติดตามการเมือง เป็นสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มทัศนคติ 3 เล็กน้อย แต่ต่ำกว่ากลุ่มทัศนคติที่เหลือ ขณะที่ 61.0% เคยมีส่วนร่วมทางการเมือง น้อยที่สุดในทุกกลุ่มทัศนคติ พรรคการเมืองที่พวกเขาเห็นว่ามีแนวคิดตรงกับตนเองมากที่สุดได้แก่ พรรคเพื่อไทย (31.1%) พรรคก้าวไกล (20.9%) และพรรคพลังประชารัฐ (9.6%)

เยาวชนชายอยู่ กลุ่มทัศนคติ 3 มากที่สุดหญิง-LGBTQ+ อยู่ กลุ่มทัศนคติ 1 มากที่สุดเยาวชนชายอยู่ กลุ่มทัศนคติ 3 มากที่สุด หญิง-LGBTQ+ อยู่ กลุ่มทัศนคติ 1 มากที่สุด
เยาวชนจนสุด 40% อยู่ กลุ่มทัศนคติ 2 รวยสุด 60% อยู่ กลุ่มทัศนคติ 1 มากที่สุด
พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยเป็นตัวแทนคุณค่า-ทัศนคติเยาวชนที่สำคัญ

บทส่งท้าย

เยาวชนไทยยึดถือเชื่อใช้คุณค่าและทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อย่างหลากหลาย แต่อาจจัดกลุ่มได้เป็น ‘5 กลุ่มทัศนคติ’ ใหญ่ การเข้าใจเยาวชนผ่านกลุ่มทัศนคติเช่นนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจตัวตน-ความฝันของพวกเขาในเชิงลึกต่อไป อีกทั้งยังมีศักยภาพที่จะนำไปสู่การพัฒนาบทสนทนาและความร่วมมือที่สร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม ให้ตอบสนองเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

กลุ่มทัศนคติยังสามารถอธิบายพฤติกรรมที่แตกต่างกันของเยาวชน ไม่จำกัดเพียงแค่พฤติกรรมการรับสื่อและพฤติกรรมทางการเมืองที่ได้เล่ามาแล้ว รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023 ของ คิด for คิดส์ ก็ได้ใช้โมเดลนี้ไปวิเคราะห์ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเปราะบาง ปัจจัยในการเลือกงานและนายจ้าง ปัญหาที่นักเรียนเผชิญในสถานศึกษา ปัญหาสุขภาพจิต ประสบการณ์การตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ตลอดจนความฝันต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองใหม่ ผู้สนใจสามารถอ่านต่อได้ที่นี่[4]

References
1 ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา, และ สรวิศ มา, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022, 22 สิงหาคม 2022, https://101pub.org/youth-survey-2022/ (เข้าถึงเมื่อ 22 มิถุนายน 2023).
2 ผู้วิจัยสร้างคะแนนประจำเรื่อง โดยสรุปจากคำตอบของคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นหลายคำถาม ด้วยการทำ Principle Component Analysis (PCA) ซึ่ง PCA เป็นการจับรูปแบบความสัมพันธ์ของตัวเลขคำตอบจากหลายคำถามให้เหลือตัวเลขเพียงตัวเดียวที่สรุปความสอดคล้องกันของคำตอบมากที่สุด หากผู้ตอบแบบสอบถามไม่มีรูปแบบคำตอบของเรื่องที่ชัดเจนก็จะมีค่าเข้าใกล้ 0 แต่หากคำตอบมีความคงเส้นคงวา ก็จะมีค่าเข้าใกล้ 1 หรือ -1 ซึ่งสะท้อนทิศทางของขั้วจุดยืน
3 ผู้วิจัยจัดกลุ่มด้วยวิธี K-mean clustering โดยมีหลักการคือ หากเยาวชนมีทัศนคติโดยรวมในทั้ง 6 ประเด็นใกล้เคียงกัน ก็ควรจะอยู่กลุ่มเดียวกัน แต่หากเยาวชนมีทัศนคติโดยรวมแตกต่างกัน ก็ควรจะอยู่คนละกลุ่มกัน ในการกำหนดจำนวนกลุ่ม ใช้ระเบียบวิธีตาม Mackle (2012) โดยทดลองจัดกลุ่มตั้งแต่ 2-20 กลุ่ม และพบว่าการจัดกลุ่ม 5 กลุ่มเหมาะสมที่สุด
4 วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา, เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023, ฉัตร คำแสง (บก.) (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2023).

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save