fbpx
เยาวชน LGBTQ+

อ่านปัญหาในชีวิตและแรงสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ จากผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

ในเดือนไพรด์ (Pride Month) หรือเดือนแห่งความภูมิใจของคนกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) นี้ คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว โดย 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจความเจ็บปวดที่เยาวชนชาว LGBTQ+ ของไทยต้องเผชิญ พร้อมทั้งสำรวจแรงสนับสนุนของเยาวชนต่อข้อเสนอนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างคนทุกเพศสภาพในสังคม ผ่านผลสำรวจเยาวชนไทย – คิด for คิดส์ Youth Survey 2022

การสำรวจเยาวชนไทยของ คิด for คิดส์ เป็นการสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนอายุ 15-25 ปี ใน 5 มิติ ได้แก่ ความเป็นอยู่พื้นฐาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว การศึกษาและการทำงาน ความสัมพันธ์กับสังคมวงกว้าง และคุณค่าและทัศนคติ เพื่อมุ่ง ‘เข้าใจ’ เยาวชน รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัยและพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้อง[1] ในการสำรวจรอบแรกในปีนี้ (2022) มีเยาวชนทั่วประเทศตอบแบบสำรวจกว่า 25,300 คน โดยจากผลเบื้องต้นของกลุ่มตัวอย่าง 17,442 คน 12.7% นิยามเพศสภาพตนเองเป็น LGBTQ+

เพราะเป็นเยาวชน LGBTQ+ จึงเจ็บปวด

ผลสำรวจเบื้องต้นฉายภาพให้เห็น ‘ความเจ็บปวด’ หรือปัญหาอย่างน้อย 3 ด้านที่เยาวชน LGBTQ+ พบเจอมากกว่าชายหญิง

1. อารมณ์และสุขภาพจิต: เยาวชน LGBTQ+ มีแนวโน้มที่จะเครียดกว่า โดดเดี่ยวกว่า รวมถึงรู้สึกมีคุณค่าและเชื่อมั่นในตัวเองน้อยกว่า

  • LGBTQ+ 44.2% รายงานว่าตนเครียดบ่อยมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (27.9%) ถึง 16.3% หรือกว่าครึ่งเท่าตัว
  • LGBTQ+ 30.0% รายงานว่ารู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (19.9%) 10.1%
  • LGBTQ+ 10.7% รายงานว่ารู้สึกมีคุณค่าและเชื่อมั่นในตัวเองน้อยถึงน้อยที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (7.3%) 3.4%
เยาวชน LGBTQ+ มีความเจ็บปวดทางอารมณ์และสุขภาพจิตมากกว่าชายหญิง

2. การถูกคุกคาม: หนึ่งในสาเหตุของความเจ็บปวดดังกล่าวอาจเป็นเพราะเยาวชน LGBTQ+ มีประสบการณ์ในการถูกคุกคามทางร่างกายและจิตใจมากกว่า

  • LGBTQ+ 42.5% รายงานว่าเคยถูกด่าทอและระราน (bully) เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (24.8%) ถึง 17.7%
  • LGBTQ+ 20.8% รายงานว่าเคยถูกทำร้ายหรือลงโทษให้ร่างกายเจ็บปวด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (11.9%) 8.9% หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว
  • LGBTQ+ 6.3% รายงานว่าเคยถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (3.0%) ราว 3.3% หรือมากกว่าหนึ่งเท่าตัว
เยาวชน LGBTQ+ ถูกคุกคามมากกว่าชายหญิง

3. ความขัดแย้งกับครอบครัว: นอกจากถูกคุกคามแล้ว เยาวชน LGBTQ+ ยังมักขัดแย้งกับครอบครัวของตนมากกว่า

  • LGBTQ+ 15.0% รายงานว่ามีความคิดเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในครอบครัวมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (9.8%) 5.2%
  • LGBTQ+ 16.4% รายงานว่ามีความคิดขัดแย้งในประเด็นสังคมและการเมืองมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (8.3%) ถึง 8.1% หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว
  • LGBTQ+ 5.0% รายงานว่ารู้สึกสนิทกับครอบครัวของตนเองน้อยถึงน้อยที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (2.3%) ถึง 2.7% หรือเกือบ 1.2 เท่าตัว
เยาวชน LGBTQ+ ขัดแย้งกับครอบครัวมากกว่าชายหญิง

เยาวชนสนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+ อย่างท่วมท้น

ความเจ็บปวดข้างต้นสะท้อนว่าเยาวชน LGBTQ+ ยังไม่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติในฐานะที่เป็นคนเท่ากัน อย่างไรก็ดี น่ายินดีว่าในปัจจุบัน เยาวชนไทยทุกเพศสภาพจำนวนมากถึง 80.0% เห็นตรงกันว่า ความเสมอภาคระหว่างทุกเพศสภาพ – ไม่ใช่แค่เพียงระหว่างชายหญิง – เป็นเรื่องสำคัญค่อนข้างมากถึงมากที่สุด หากดูคำตอบเฉพาะในกลุ่มเยาวชนชายหญิงสัดส่วนดังกล่าวก็ยังสูงถึง 78.4%

ยิ่งไปกว่านั้น เยาวชนไทยทุกเพศสภาพส่วนมากยังสนับสนุนข้อเสนอนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างความเสมอภาคนี้ในระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด โดย 80.3% สนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+ ในการรับบุตรบุญธรรม; 75.0% สนับสนุนสิทธิการจดทะเบียนสมรสแบบเดียวกับคู่ชายหญิง (สมรสเท่าเทียม); 70.3% สนับสนุนสิทธิการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและเพศในเอกสาร; และ 63.5% สนับสนุนสิทธิการแต่งกายตามเพศสภาพในพิธีการสำคัญ มีเพียงข้อเสนอเรื่องสิทธิการเลือกเข้าห้องน้ำเพศที่อยากเข้าเท่านั้นที่ยังมีผู้สนับสนุนไม่ถึงครึ่งที่ 36.9%

ความเสมอภาคทางเพศสภาพถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ควรมีมนุษย์คนใดไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเขานิยามตนเองว่ามีเพศสภาพหนึ่ง อย่างไรก็ดี LGBTQ+ ในสังคมไทยยังคงถูกปฏิบัติเสมือนเป็น ‘พลเมืองชั้นสอง’ ส่งผลให้เยาวชน LGBTQ+ ต้องเผชิญความเจ็บปวดในหลายมิติมากกว่าเยาวชนชายหญิง

การเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของประเทศไทยในการมุ่งไปสู่สังคมที่คนทุกเพศสภาพเท่ากัน แต่หนทางสร้างสังคมเช่นนั้นยังคงอีกยาวไกล รัฐบาลและสังคมไทยควรต้องร่วมกันตระหนักถึงปัญหา และรับฟังเสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนการสร้างสังคมดังกล่าวอย่างท่วมท้น แล้วเร่งผลักดันนโยบายเพื่อให้เยาวชน LQBTQ+ ได้มีคุณภาพชีวิต สิทธิ และศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์และประชาชนที่เท่าเทียมสมบูรณ์

References
1 คิด for คิดส์ จะเผยแพร่รายงานสถิติ พร้อมชุดข้อมูลฉบับสมบูรณ์ที่ปิดบังข้อมูลส่วนบุคคลให้ใช้ประโยชน์ในงานศึกษาวิจัยและงานนโยบายสาธารณะเร็วๆ นี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save