fbpx

‘สมาร์ทซิตี้ไทย’ อยู่ตรงไหนในบริบทโลก

ทำความรู้จัก ‘อมตะ’

อมตะ (AMATA) คือบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทนักพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (industrial estate developer) ไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก

เส้นทางของอมตะนับว่ามาได้ไกลและน่าสนใจ บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1989 จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 1997 จากข้อมูลของบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อมตะเป็นบริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีลูกค้ามากกว่า 1,000 ราย สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นประมาณ 10% อมตะมีนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดชลบุรีและระยอง รวมทั้งยังมีการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมบินหัว ประเทศเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังลงทุนที่ประเทศลาวในชื่อ อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโคซิตี้ นาหม้อ (AMATA Smart and Eco City Namor) แขวงอุดมไซ ตอนเหนือของประเทศลาว ครอบคลุมพื้นที่ 19,687 ไร่ โดยจะพัฒนาระยะแรก 8,075 ไร่ ในปี 2022 ด้วยมูลค่าการลงทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเริ่มพัฒนาโครงการแรกที่นาเตย ในประเทศลาวมาแล้ว[1]

จากการที่ผู้เขียนและ ศ.ดร. มาซากิ โอคาโมโต้ (Masaaki OKAMOTO) จาก Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University ประเทศญี่ปุ่นได้สัมภาษณ์เจ้าที่บริหารโครงการ อมตะ สมาร์ท ซิตี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2022 เราสองคนชื่นชมในพัฒนาการที่ก้าวหน้าและทันสมัยของอมตะ แต่เราก็มีคำถามและความสงสัยต่อแนวคิด นโยบาย และการพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ ของอมตะ ในแง่ที่ว่า “อะไรคือสมาร์ท ซิตี้?”  

อมตะกับสมาร์ท ซิตี้

จากการสัมภาษณ์วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) จำกัด ที่ทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อน AMATA Smart City ให้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อันจะผสมผสานให้สามารถอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นเนื้อเดียวกันได้ โดยในการพัฒนาให้อมตะเป็นดั่ง ‘ศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนา’ (Center of Research and Development) วิบูลย์กล่าวว่า[2]

“…อมตะ สมาร์ท ซิตี้ คือเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากๆ ใช้ทรัพยากรน้อย แต่เกิดประสิทธิภาพกับอุตสาหกรรมมาก…”

ทั้งนี้ อมตะ สมาร์ท ซิตี้ แบ่งประเภทอุตสาหกรรมหลักออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มการให้บริการ และการลงทุนอื่นๆ โดยรายได้หลักมาจากกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ในการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว (land sale) และการให้บริการด้านสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะสามารถสร้างการเติบโตในแง่รายได้ให้กับบริษัทปีละประมาณ 10%

แต่ในเวลาเดียวกัน วิบูลย์ยังอธิบายว่า การทำธุรกิจไม่สามารถจะพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจ land sale ในประเทศไทยได้ตลอด ดังนั้นต้องหาพื้นที่ในประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมได้ดี

อมตะจึงต้องปรับตัวให้พัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงทำให้ อมตะ สมาร์ท ซิตี้ ต้องได้รับการส่งเสริมให้เป็นเหมือน Think Tank ศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนา พร้อมกับเป็นพื้นที่พิเศษที่จะดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมระดับไฮเทค ซึ่งสอดคล้องกับการที่ภาครัฐผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้พื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ได้รับการพัฒนายกระดับเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายคือ

  • First S-Curve 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • New S-Curve 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจรและดิจิทัล

แนวคิดเบื้องหลัง อมตะ สมาร์ท ซิตี้ ของวิบูลย์ ยังมีความน่าสนใจ เขาอธิบายว่า “มนุษย์เราทำร้ายสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เห็นกันหรือไม่ว่าเราเริ่มจะโดนสิ่งแวดล้อมเอาคืน จนวันนี้มีพายุต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หรือที่เราเรียกว่า climate change สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้น ซึ่งเป็นการเอาคืนจากธรรมชาติ และถ้ามนุษย์ต่างคนต่างบอกว่า ไม่เป็นไร เราทำแค่เล็กน้อย แต่ถ้าหลายๆ คนคิดแบบนี้ เมื่อเกิดมากขึ้นเข้า และนานวันเข้า ลองคิดดูมันจะเป็นอะไร”

อมตะ สมาร์ท ซิตี้ มีเป้าหมายสำคัญคือการเป็น united sustainable company โดยวิบูลย์ชี้ว่า อมตะได้ดำเนินการพัฒนาสิ่งสำคัญหลายด้าน เช่น ด้านพลังงาน โดยทำการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มากขึ้น เพราะไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดความเสียหาย คือสามารถแปรมาเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานได้ ทั้งนี้วิบูลย์ยังมีแนวคิดในการทำ smart factory ซึ่งก็คือโรงงานที่ไม่ปล่อยควันพิษ

วิบูลย์กล่าวว่า อมตะจะดำเนินการสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องอาศัยความค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของลูกค้าได้

นิคมอุตสาหกรรมเป็น ‘เมือง’ ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ส่งผลให้สามารถออกแบบได้ตั้งแต่ต้นว่าอยากให้เมืองมีลักษณะอย่างไร ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการกลายเป็นเมืองแบบทั่วไป การพูดคุยกับวิบูลย์ในครั้งนี้จึงชวนให้ผู้เขียนต้องคิดใครครวญถึง ‘สมาร์ท ซิตี้’ ของไทยในหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทของภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน

ภาพแสดงแนวทางการพัฒนาอมตะ สมาร์ท ซิตี้

สมาร์ทซิตี้ ที่นอกเหนือจากเทคโนโลยี

ราวทศวรรษที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมประชุม Network of East Asia Think Tank (NEAT) ในฐานะตัวแทนประเทศไทย วงประชุมนี้มีความสำคัญมาก ผมสังเกตว่าตัวแทนของทุกประเทศล้วนแต่เป็นชนชั้นนำทางความคิดและเป็นผู้วางนโยบายที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทระดับโลก เช่น ตัวแทนจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่ตัวแทนของญี่ปุ่นก็มาจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้สังเกตการณ์ของเขาก็เป็นระดับรองประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ส่วนหัวหน้าคณะของสิงคโปร์ก็คือ ศ. หวัง กัง วู (Wang Kang Wu) นักประวัติศาสตร์และเอเชียตะวันออกศึกษา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งชาติสิงคโปร์หลายแห่ง และเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อประธานาธิบดีสิงคโปร์เกือบทุกคน โดยสิงคโปร์เสนอเรื่องสมาร์ทซิตี้ในทุกการประชุม ทั้งที่เมืองบันดุง อินโดนีเซีย. กรุงโซล เกาหลีใต้, กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น

ผมและทีมงานสงสัยมากว่า ทำไมสิงคโปร์จึงผลักดันแนวคิดสมาร์ทซิตี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิงคโปร์เป็นนครรัฐ (city state) จึงเสนออะไรได้มากกว่า อีกทั้งสิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่มีความเป็นเมือง (urbanization) และมีความทันสมัย (modernization) อยู่แล้ว การเสนอกรอบคิดสมาร์ทซิตี้สำหรับสิงคโปร์จึงอาจเป็นแค่เรื่องเท่ๆ เท่านั้น

แต่ปรากฏว่า ผมเองเข้าใจผิดมาตลอดเรื่องสมาร์ทซิตี้ เพราะสิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวพันเพียงแค่เทคโนโลยี การพัฒนา ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ระบบการคมนาคม ฯลฯ เท่านั้น แต่สัมพันธ์อย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐศาสตร์การเมืองของทุนเทคโนโลยี (technology capital) ทุนวัฒนธรรม (cultural capital) และอำนาจนำ (hegemony) ของชาติมหาอำนาจที่แข่งขันกันในระดับโลก

มีงานวิชาการหลายชิ้นที่ทำให้ผมมองสมาร์ทซิตี้ในมุมใหม่ เช่นงานของ ศ.ดร. OKAMOTO Masaaki ในเรื่อง Smart City in ASEAN ซึ่งได้อธิบายว่า สมาร์ทซิตี้ไม่ใช่มีแค่กรอบคิดเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ความเขียวขจี (green) ความทันสมัย (เท่) และเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology) แต่ยังเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครอง (governance) สิทธิพลเมือง (civil right) และการมีส่วนร่วม (participation) ส่วนทางด้านเศรษฐศาสตร์นั้นก็คือเศรษฐศาสตร์ของการเสนอขายเทคโนโลยีให้เมือง การพึ่งพิงเทคโนโลยีและรูปแบบการสร้างสมาร์ทซิตี้ ตามบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporation – MNC) ด้านเทคโนโลยี และก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อันมีทั้งโมเดลแบบญี่ปุ่น ‘transportation system’ แบบจีน ‘surveillance system’ และแบบอเมริกัน ‘electricity grid system’

จากอานิสงส์ของงานวิชาการดังกล่าวทำให้ผมมองว่า แทนที่สมาร์ทซิตี้จะเป็นแค่กรอบคิดด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบ ก่อสร้างเมือง เทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน และการทำให้เป็นสีเขียว แต่สมาร์ทซิตี้ยังน่าจะเกี่ยวพันกับความขัดแย้ง การแข่งขัน และการครอบงำทั้งทางเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ทั้งจากชนชั้นนำของประเทศและชาติมหาอำนาจภายนอกด้วย

สิงคโปร์ผลักดันกรอบคิดสมาร์ทซิตี้ โดยสร้างเครือข่าย ASEAN Smart Cities Network (ASCN) ในปี 2018 ในครั้งที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 32 ASCN ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มเพื่อความร่วมมือระหว่างเมืองต่างๆ ในอาเซียน ในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันของการพัฒนาเมืองสมาชิกและความยั่งยืน โดยได้เลือก 26 เมืองเป็น เมืองนำร่องที่กระจายทั้งจากท้องถิ่นสู่ฮับระดับโลก

สิงคโปร์มีเป้าหมายเพื่อให้ตนเองมีสถานะอำนาจเหนือ (hegemonic) เพราะเมื่อประเทศตนสามารถเป็นสมาร์ทซิตี้ได้แล้ว จะทำให้สิงคโปร์สามารถนำ ‘รูปแบบสิงคโปร์’ หรือ Singapore-designed technocratic ‘smart’ solution ไปยังเมืองนำร่องอื่นๆ และเมืองอื่นๆ โดยจัดให้ technopreneur และสตาร์ตอัปเข้าไปในตลาดอาเซียนอย่างกว้างขวางขึ้น

ซีอีโอของบริษัทและรัฐบาลสิงคโปร์คงมีความคุ้นเคยมากกับภูมิทัศน์สังคม-เศรษฐกิจและวัฒนธรรมระดับภูมิภาค โดยหนึ่งในเมืองของอาเซียนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิงคโปร์ในการเดินแนวทางสมาร์ทซิตี้ก็คือ New Clark City แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าบริษัทสิงคโปร์สามารถแสดงอำนาจเหนือในการสร้างสมาร์ทซิตี้ ภายใต้ ASCN ได้หรือไม่

เมื่อวันฉลอง ASCN ในเดือนกรกฎาคม 2018 JETRO ได้สรุปข้อตกลง MOU กับ UNDP โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ ในการให้การสนับสนุน ASCN จากนั้นอีก 4 เดือนต่อมา สหรัฐอเมริกาก็ดำเนินการ US-ASEAN Smart City Partnership ขณะที่จีนก็ก่อตั้ง Cooperation and Exchange Conference (Co-host by the Nanning Municipal Government and ASEAN-China Center) ในเดือนมิถุนายน 2019 และอีก 4 เดือนต่อมา ญี่ปุ่นก็จัดตั้ง ASEAN-Japan Smart City Network High-level Meeting ขณะที่สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ต่างก็ร่วมจัดตั้งกับ ASCN เท่ากับว่ากรอบ ASCN กำลังเต็มไปด้วยชาติมหาอำนาจเข้ามาร่วมงาน

นักวิชาการเห็นว่า สมาร์ทซิตี้มีความกำกวมและเป็นประโยชน์หลายอย่าง แต่ทำไมกรอบคิดเรื่องสมาร์ทซิตี้ถึงได้เคลื่อนที่ไปไกลมาก โดยมีการวางแผนและสร้างสมาร์ทซิตี้ในทุกๆ เมืองทั่วโลก ขณะที่บรรษัทข้ามชาติพยายามสนับสนุนค้าขายผลิตภัณฑ์สมาร์ต ต่างๆ ของตัวเอง

แนวคิดสมาร์ทซิตี้เกิดมาจากวิสัยทัศน์อนาคต 2 ประการคือ urbanization และ digitalization ที่ทุกๆ ประเทศในโลกกำลังยึดถือ สมาร์ทซิตี้สะท้อนแนวคิดรูปแบบใหม่ในการปกครองเมืองด้วย digitalization ในการเพิ่มคุณภาพความยั่งยืนของชีวิตพลเมืองทุกคน อันแตกต่างจากแนวคิด good governance ของชาติตะวันตกและชาติผู้หนุนคุณค่าประชาธิปไตย สมาร์ทซิตี้สามารถแสดงแนวคิดความเป็นกลางของมูลค่า ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีตรรกะของตัวเอง อีกทั้งยังสะท้อนตรรกะทางสังคมเศรษฐกิจอีกด้วย

สมาร์ทซิตี้จึงเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของหลายประเทศ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบการเมืองไหนก็ตาม ก็สามารถริเริ่มแนวคิดนี้ได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยอินโดนีเซียที่เป็นประชาธิปไตย กึ่งอำนาจนิยมไทย เผด็จการทหารเมียนมา อำนาจนิยมกัมพูชา หรือสังคมนิยมเวียดนาม ที่ดำเนินการภายใต้ฉันทานุมัติก่อร่าง ASCN ในร่มอาเซียน มากไปกว่านั้นชาติมหาอำนาจหลายชาติยังเข้ามาเกี่ยวข้องทำความตกลงกับชาติอาเซียน ทั้งอำนาจนิยมจีน ประชาธิปไตยอเมริกา ญี่ปุ่น หรือสาธารณรัฐเกาหลี ระบบการปกครองแห่งรัฐเหล่านี้ได้เดินหน้าอย่างเข้มแข็งเพื่อให้บริษัทของตนเองก่อสร้างสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่อาเซียน ทั้งจีนและญี่ปุ่นที่ลงทุนเข้าร่วมสร้างระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (East Economic Corridor – EEC) ขณะที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน ก็ร่วมสร้าง New Clark City ในฟิลิปปินส์ เป็นต้น

สมาร์ทซิตี้ท่ามกลางสงครามเย็นใหม่ (New Cold War)

ด้วยความขัดแย้งอย่างร้าวลึกระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร อาณาบริเวณจริงๆ ของสมาร์ทซิตี้ ต้องพบความยุ่งยากในการตกอยู่ภายใต้พื้นที่ของสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่าง 2 ค่ายนี้ ตามความคิดของผู้เขียน และ ศ. Okamoto เสนอว่า ทางเลือกของสมาร์ทซิตี้ คือต้องออกจากการจัดแบ่ง (compartmentalized) รูปแบบนำของเทคโนโลยีของรัฐบาลที่บริหารเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบบสอดส่องบริหารเมืองแบบจีน (Made-by-China ‘smart’ surveillance) ระบบการขนส่ง บริหารเมืองแบบญี่ปุ่น (Made-by-Japan ‘smart’ transportation system) ระบบ grid ผลิตกระแสไฟฟ้าบริหารเมืองแบบอเมริกัน (Made-by-the US ‘smart’ electricity grid system) โดยล้วนต้องพัฒนามาในหนทางที่ไม่มีเงื่อนไขแย้งใดๆ จากผู้บริหารเมืองต่างๆ อีกทั้งทุกๆ ส่วนและชิ้นส่วนของโครงสร้างพื้นฐานเมืองของเมืองที่สร้างขึ้นมาก็ต้องสมาร์ทอย่างแท้จริง แต่ศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นพบว่า เมืองทั้งหมดกลับยังคงห่างไกลจากความสมาร์ท

ในช่วงเวลานี้ที่สงครามเย็นใหม่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความสำคัญของอาเซียนที่เพิ่มมากขึ้น โครงการสมาร์ทซิตี้จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายตัวกว้างขวางทั่วทั้งระดับภูมิภาค นานาชาติ และข้ามชาติ แต่ขอบเขตพื้นที่ที่ปั่นป่วน (disrupt) นี้ของเมืองได้เป็นเหตุสำคัญทำให้องค์กรที่จะเป็นสมาร์ทซิตี้ลดลง นอกจากนี้ความสามารถอันจำกัดของรัฐ โดยเฉพาะด้านงบประมาณ ก็ได้ทำให้การลงทุนสมาร์ทซิตี้เริ่มหยุดชะงัก และการเกิดขึ้นของวิกฤตโควิด-19 ก็ยังเข้ามาส่งผลกระทบอีกทางหนึ่ง ทั้งยังสร้างความปั่นป่วนต่อกรอบคิดสมาร์ทซิตี้อีกด้วย

เราสองคนสงสัยว่า บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จัดโซนนิคมอุตสาหกรรมที่ชลบุรีเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยแยกส่วนกันระหว่างเกาหลีใต้ ไทเป จีน และญี่ปุ่น แต่ยังอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ ภายใต้ความแตกต่างทางเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ รวมทั้งการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังร้อนรุ่มจนอาจเรียกว่าเป็นสงครามเย็นใหม่

เราจึงรอคำตอบอยู่ว่าผลการบริหารของ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) จำกัด จะเป็นเช่นไร

             


[1]อมตะจับมือ สปปลาว จัดตั้ง Smart and Eco City แห่งที่ 2” Construction Thailand.net, 7 กันยายน 2022 (เข้าถึง 17 ตุลาคม 2022)

[2] Lapatrada, “ถอดแนวคิด AMATA Smart City สร้างนิคมอุตสาหกรรมอย่างไร ให้อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล,” Techsauce 26 กันยายน 2019 (เข้าถึงเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2022)

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save