fbpx
การ์ตูนชั่วชีวิตแบบ 'สะอาดๆ'

การ์ตูนชั่วชีวิตแบบ ‘สะอาดๆ’

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ ภาวิณี คงฤทธิ์ เรื่อง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ภาพ

เอาจริงเอาจัง เฮฮา บ้าพลัง และจริงใจ คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่ออ่านงานของ ‘สะอาด’

การ์ตูนของเขาทำทีเหมือนว่าจะลากๆ เขี่ยๆ เส้นให้ดูยุ่งเหยิง แต่ในท่าทีดิบห่ามนั้นกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวที่อ่อนโยนและเปราะบาง

ไม่ต่าง — ตัวตนของสะอาด หรือ ภูมิ – ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ ก็เป็นคนหัวเราะอย่างเปิดเผยจริงใจ แต่เมื่อได้คุยลึกๆ เขาเป็นคนที่คิดกับทุกอย่างละเอียดยิบ เป็นคนที่น่าคบหามากพอๆ กับการ์ตูนของเขา

“งานเรามีท่าทีแบบเพื่อน มีท่าทีแบบวงเบียร์” เขาอธิบายงานตัวเอง

เด็กหนุ่มที่ตั้งใจจะเป็นนักเขียนการ์ตูนตั้งแต่ ม.5 เมื่อตั้งใจแน่วแน่แล้วก็เขียนไม่หยุด จนถึงตอนนี้เขามีผลงานทั้งหมดออกมากว่า 10 เล่ม เริ่มตั้งแต่ ชายผู้ออกเดินทางตามหาเสียงของตัวเอง (2554) ที่ได้รางวัลตั้งแต่เล่มแรก มาถึงเล่มที่คนชื่นชอบและพูดถึงเยอะใน ครอบครัวเจ๋งเป้ง (2559) และเล่มล่าสุด บทกวีชั่วชีวิต (2562) ที่สะอาดบอกว่าเป็น ‘หนังสืองานศพ’ ของเขา

ยังไม่นับการ์ตูนการเมืองที่ลงรายสัปดาห์ในคอลัมน์ ‘อย่าเห็นฉันเป็นสนามอารมณ์’ ที่ The Momentum งานสารคดีคนกับป่า เรื่องเล่าในโรงเรียนสอนภาษาที่ออสเตรเลีย และการ์ตูนแก๊กในเพจ Sa-ard สะอาด ที่คงมาตรฐานความฮาและเฉียบไว้อย่างคนมือนิ่ง — สะอาดเขียนการ์ตูนทุกวัน

101 ชวนเขามาคุยในช่วงที่การเมืองไทยกำลังร้อนแรง บทสนทนาเต็มไปด้วยการมองโลกการเมืองผ่านแว่นการ์ตูน การเอาตัวตนหลอมรวมกับการ์ตูนเป็นเนื้อเดียว และเรื่องเศร้าๆ ขอเหล้าเข้มๆ อย่างเรื่องปากท้องและวิธีจัดการเงินในฉบับ ‘พ่อรวยสอนลูก’ เวอร์ชั่นนายสะอาด

 สะอาด, ภูมิ - ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์

คุณเขียนการ์ตูนหลายแบบ ปรากฏอยู่หลายที่ ทั้งการ์ตูนแก๊กการเมือง การ์ตูนสารคดี การ์ตูนรวมเรื่องสั้น ฯลฯ จริงๆ แล้วสะอาดเป็นนักเขียนการ์ตูนแบบไหน

เราโตมากับงาน ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เขาเขียนทุกประเภท เราก็ชอบงานทุกประเภทด้วย ก็มีคนมาแนะนำหลายครั้งว่าเราควรทำงานประเภทเดียวไปเลย เพื่อสร้างแบรนด์ให้ชัดเจน แต่เราอยากเล่าหลายๆ แบบ ก็เป็นไปตามจังหวะด้วย มีคนจ้าง เราสนใจ ก็ทำ

กระทั่งการอ่าน เราก็อ่านทุกประเภท ชอบอ่านการ์ตูนแก๊กฝรั่ง ศึกษาอย่างจริงจังอยู่ช่วงหนึ่ง เราโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น บ้าเลย เป็นพาร์ทนึงที่เป็นตัวตนของเรา สารคดีเราชอบมาก ค่ายนักเขียนสารคดีก็เคยไปเข้า จริงจังกับการเขียนหนังสือเลย แต่สุดท้ายเราคิดว่าเล่าเรื่องด้วยการ์ตูนได้ดีกว่า ก็เลยเอาพื้นที่ในการเล่าสารคดีมาใส่ในการ์ตูน

ส่วนเรื่องการเมืองเราก็รู้สึกว่าสำคัญกับชีวิต เราจำเป็นต้องสื่อสาร สวมหมวกของนักสื่อสารมวลชน ก็เลยขอทำ แต่ละพื้นที่ก็ตอบความอยากความใคร่ ตอบโจทย์ของชีวิตเราในแต่ละด้าน สำคัญทั้งหมด ก็เลยช่างแม่งแบรนด์ เราก็ทำไป ไม่รู้ถูกหรือผิด

เรื่องการเมืองสำคัญยังไงกับคุณ ทำไมถึงต้องทำ

เพราะ The Momentum จ้าง (หัวเราะ) มีช่วงหนึ่งที่เราเขียนการเมืองบ่อยๆ ด้วยตัวเอง ใส่ในทุกงาน ทุกพื้นที่ เช่น เขียนสารคดีก็โยงกับการเมือง เขียนการ์ตูนซีรีส์ครอบครัวเจ๋งเป้งก็มีการเมือง เขียนแซะ คสช. ด้วย จนตัดสินใจพักไปช่วงหนึ่งตอนไปออสเตรเลีย เพราะเริ่มรู้สึกว่าการสื่อสารแบบเร็วๆ ในเฟซบุ๊ก มีคนทำเยอะแล้ว เราไม่ถนัดเท่าไหร่

เราอยากจะสื่อสารให้ช้าลง ก็คิดว่าถ้าถอยออกมาทำประเด็นเชิงการเมืองเต็มที่ไปเลย เป็นพื้นที่ 200 กว่าหน้า จะทำให้การสื่อสารมีน้ำหนักขึ้นมั้ย กะให้งานมีอายุยืนหน่อย ขณะเดียวกัน เราก็อยากทำสิ่งที่แตกต่างจากที่โซเชียลมีเดียทุกวันนี้ทำกันมาอยู่แล้ว แต่สุดท้ายพอโมเมนตั้มมาจ้าง ก็คิดว่าได้ตังค์ ก็ทำวะ

แต่พอโมเมนตั้มจ้างก็มีวิธีคิดเขียนเป็นรายสัปดาห์ บ.ก. บอกว่าอยากให้เล่นเชิงกระแสหน่อย ซึ่งพอมาเขียนจริงๆ ทำให้เราพบว่ากระแสหรือดราม่าใดๆ ในประเทศไทย ไม่เคยเกินหนึ่งอาทิตย์ ถ้าเราจะทันกระแสจริง เราต้องเขียนเรื่องในคืนวันพฤหัส แล้วตีพิมพ์เช้าวันศุกร์ ถึงจะทัน ดังนั้นเราอาจจะต้องเล่าในเชิงข่าวน้อยลง พูดเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น เพื่อหาที่ทางให้งานรายสัปดาห์

เวลาเราจะพูดประเด็นทางการเมือง ทำยังไงให้หลักเราดี เราจะมั่นใจได้ไงว่าสิ่งที่เราคิด หรือมุมที่เรายืนอยู่ถูกแล้ว

จริงๆ เมสเสจก็มีอยู่แค่ไม่กี่อย่าง คนเท่ากัน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิมนุษยชน หรือเทรนด์การพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกอย่างเป็นหลักสากลของโลกที่เขาต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน ซึ่งถ้าไปตีพิมพ์การ์ตูนของเราในออสเตรเลีย คนออสเตรเลียก็อาจจะรู้สึกว่ามึงพูดทำไมเรื่องสิทธิมนุษยชน กูก็รู้อยู่แล้ว มาตอกย้ำทำไมว่าประชาธิปไตยสำคัญ แต่พอมาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย กลายเป็นว่า โอ้โห โคตรแรงเลย การที่เราจะยืนยันว่าเผด็จการมีปัญหา กลายเป็นเรื่องที่กล้าหาญเฉยเลย ทั้งที่ทั่วโลกเขาไปไหนต่อไหนกันแล้ว

เราควรจะเขยิบการพูด หรือสิทธิเสรีภาพการแสดงออกไปได้กว่านี้มาก แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เรามั่นใจที่จะแสดงออกทางการเมืองก็ค่อยๆ กะเทาะออกมานะ จากคำถามว่าใช่เหรอวะ ถูกต้องเหรอวะ เริ่มจากการค้นหาข้อมูลมาประมาณนึง ก็เกิดการเชื่อมโยงกับโลก เราคิดว่าการเชื่อมโยงกับโลก ทำให้หลักเราแข็งแรง ว่าสิ่งที่เราพูดเป็นสากลนะ

ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราเขียนเรื่องการเมืองลงไป แล้วกังวลมากจนต้องไปปั่นจักรยานรอบหมู่บ้าน เรารู้สึกว่าเราเป็นคนส่วนน้อยของสังคม คนอื่นไม่เห็นมีปัญหาแบบกูเลย คนอื่นไม่เห็นโกรธแค้นอะไรเลย แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องมากๆ แล้วก็สำคัญมากๆ ต่อวิชาชีพของเรา หรือต่อคนรอบตัวในสังคม เราต้องแสดงออก เพื่อจะรู้สึกผิดต่อสังคมน้อยกว่านี้

แต่ความกลัวน้อยลงตอนที่เราไปออสเตรเลีย ไปเจอคนจำนวนมากที่มองประเทศไทยในอีกมุมนึงที่เราไม่เคยคิด

ยังไง?

เขาสามารถพูดถึงบางเรื่องได้โดยไม่ต้องหันซ้ายหันขวา ไม่ต้องกังวลว่าคนรอบตัวจะได้ยินมั้ย ที่ออสเตรเลียเขาพูดอย่างเต็มที่ มองในมุมธรรมดา ไม่ใช่เรื่องความกล้าหาญ แต่เป็นเรื่องปรกติของชีวิตที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ได้ ก็ทำให้เราค่อยๆ พบว่า ถ้าเทียบกับความคิดของเราเรื่องคนเท่ากัน สิทธิเสรีภาพ เราอาจเป็นคนส่วนน้อยของประเทศนี้ แต่อาจเป็นคนส่วนใหญ่ในโลก พอเราคิดแบบนี้ ความกลัวก็น้อยลง เหมือนมีแบ็คเป็นคนในประเทศโลกที่หนึ่งที่ต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพมา

 

พอทำงานในพื้นที่ประเทศไทย ก็จะมีเส้นว่าเราแตะตรงไหนได้ แตะตรงไหนไม่ได้ ยากง่ายแค่ไหนในการที่เราจะไต่เส้นไปได้ 

ต้องพยายามหาวิธีการนำเสนอที่ไม่กระด้างกระเดื่องมาก ซึ่งศิลปะการนำเสนอหรืออารมณ์ขันช่วยได้เยอะ ทำให้ดูหัวรุนแรงน้อยลง

ตอนนี้เพดานเกี่ยวกับ คสช. เขยิบไปสูงมาก ทุกคนด่าประยุทธ์แหลกลาญ กลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาไปแล้ว แต่เมื่อไหร่ที่เราพยายามจะก้าวไปเพดานใหม่ เมื่อนั้นแหละก็คงจะเสียวต่อไป หรืออาจจะมีเพดานที่ถูกกดลงมาใหม่เมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง หรือมีพรรคไหนเกิดขึ้นมาแล้วพยายามจะคุมสื่อด้วยตัวเขาเอง ก็ต้องมาเสียวไส้กันใหม่

พอเราได้ไปเห็นโลกที่เขาพัฒนาแล้ว โลกที่สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่พูดกันได้ทั่วไป เจ็บใจมั้ยที่ต้องกลับมาทำงานในบ้านนี้เมืองนี้ ที่พูดอะไรก็เหมือนจะผิดไปหมดเลย

เราไม่เจ็บใจ แต่คิดว่าทำงานยากและหดหู่มากกว่า ถึงที่สุดแล้วสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเป็นแค่ขานึงที่ทำให้เรารู้สึกแย่ มีขาอื่นๆ ที่ทำให้เราหดหู่มากกว่านั้น เช่น เรื่องการบริหาร การออกกฎหมาย หรือวัฒนธรรม มีคนที่สนับสนุนเขา เออ อันนั้นแหละที่ประกอบเป็นความรู้สึกแย่ของเรามากกว่า

สมมติวันนึงเราโดนลบเพจไป เพราะเราเขียนเกี่ยวกับการเมือง เรายังไม่เจ็บใจเท่าโดนคนรอบตัวด่าว่าทำไมถึงทำแบบนี้ ทำไมหาเรื่องใส่ตัว ทำไมถึงมีความคิดแบบนี้ วัฒนธรรมกำลังสนับสนุนให้เรารู้สึกไม่มีพาวเวอร์ที่จะทำอะไรเกี่ยวกับประชาธิปไตย หรือแสดงออกอะไรสักอย่างออกมา

ถ้าเป็นเรื่องปากท้องล่ะ อันนี้ก็เป็นความลำบากอย่างนึงของอาชีพนักเขียนการ์ตูนในประเทศนี้มั้ย

อันนี้รู้สึกแย่น้อยกว่า เพราะนักเขียนการ์ตูนประสบปัญหานี้คล้ายๆ กันทั่วโลก แล้วก็จะรอดด้วยวิธีการคล้ายกัน เราไปดูนิทรรศการของนิตยสารโชเน็นจัมป์ที่ญี่ปุ่น เขาเอาต้นฉบับผลงานการ์ตูนยุค 80-90 มาแสดง ซึ่งเป็นช่วงที่จัมป์พรีเซนต์ว่าเป็นยุคทองของเขา มีแสลมดังก์ คนเก่งฟ้าประทาน ดราก้อนบอล วันพีซ นารูโตะ แสดงถึงความรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ ขายได้ไม่รู้กี่ล้านเล่มต่อฉบับ แล้วเราก็เจอนักเขียนหลายคนที่เคยดังมาก แต่ทุกวันนี้หายไปหมดแล้ว ก็เลยทำให้รู้สึกว่า กระทั่งคนที่เคยโด่งดังมากๆ ได้ตีพิมพ์เป็นล้านเล่ม เขาก็อาจจะพบกับความฉิบหายในวิชาชีพก็ได้ อาจเป็นธรรมชาติของอาชีพศิลปินก็ได้มั้ง ที่ทำงานกับความชอบของคน เปลี่ยนไปตามเทรนด์ หรือตามวัฒนธรรม

ช่วงที่เราอยู่ออสเตรเลีย เราก็ชอบไปดูว่าวงการการ์ตูนที่ออสเตรเลียเป็นไงบ้าง เราก็ไปถามทุกคนเลยว่า คุณเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพเหรอ แล้วทุกคนทำหน้าเหมือน มึงถามอะไรของมึงวะ ทุกคนก็จะบอกว่า เป็นครูสอนศิลปะเด็ก หรือทำงานออกแบบ เขาไม่เข้าใจว่าคุณจะพยายามเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพทำไม

วงการบ้านเขา คนที่พยายามจะผลักดันผลงานส่วนตัวออกมาเป็นตลาดแคบมากๆ ระดับพิมพ์ 500 เล่ม เป็นสเกลหนังสือทำมือ ขายตามร้านหนังสือที่ขายแต่คอมมิคส์อย่างเดียว ทุกคนจะเป็น Self-publishing ประเทศโลกที่หนึ่งจะมีตังค์ประมาณนึง การพิมพ์หนังสือตัวเอง ไม่ลำบากมาก เสิร์ฟอาหารอาทิตย์นึง มีตังค์มาพิมพ์หนังสือแล้ว ก็ไปลุ้นว่าจะมีคนชอบงานเรามั้ย พองานเป็นภาษาอังกฤษ ก็สามารถสื่อสารกับออนไลน์ได้ในวงกว้าง เพื่อหวังจะไปตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ที่อเมริกาหรืออังกฤษ ซึ่งตลาดใหญ่กว่ามาก

พอเจอแบบนี้ ก็ทำให้เราหันกลับมามองตัวเองว่า เฮ้ย การที่เราเป็นนักเขียนการ์ตูนในประเทศนี้ได้ หรือเป็นนักเขียนการ์ตูนในโลกนี้ได้ ก็มหัศจรรย์เหมือนกันนะเว้ย จริงๆ ประเทศไทยคนอ่านการ์ตูนเยอะมาก ยิ่งมีอินเทอร์เน็ต ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่คนไม่ค่อยซื้อการ์ตูน เพราะการ์ตูนถูกทำให้เป็นของฟรีหรือของถูกมาตลอดหลาย 10 ปี

สะอาด, ภูมิ - ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์

ย้อนกลับไปตอนเด็กที่อยากวาดการ์ตูน พอโตขึ้นมาได้เป็นนักวาดการ์ตูนจริงๆ แล้วรู้สึกยังไง

ตอนเด็กๆ เลย เราไม่ได้อยากเป็นนักวาดการ์ตูน อยากเป็นหมอ อยากเป็นวิศวกรแบบพ่อ เพราะเราคิดว่าการเขียนการ์ตูนมันยาก เราอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนตอน ม.5 ภาพที่คิดตอนนั้นก็จะคล้ายๆ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ฝันว่าตัวเองไปอยู่กระท่อมที่จังหวัดศรีสะเกษ แล้วก็ผลิตงานออกมา ได้ตังค์อยู่ประมาณหมื่นกว่าบาท แล้วอยู่ให้ได้ตลอดปี เพื่อที่จะผลิตงานต่อไป อันนี้คือโมเดลที่เราคิด จะไม่มีลูกเมียเลย อันนี้คิดแบบแดนอรัญ แสงทอง เพราะการมีลูกเมีย การมีความรัก ลำบากเขาเปล่าๆ เราต้องอยู่ในกระท่อม ผลิตผลงานออกมา โลกจะเห็นเรามั้ยก็ช่างแม่ง

ไปเจออะไรมาชีวิต?

นี่ไง ไปอ่านแดนอรัญ กนกพงศ์เยอะไง (หัวเราะ) ที่เราชอบเพราะมันง่าย ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ต้องไปพึ่งพาใคร เพราะถ้าเราฝันว่า กูจะกลายเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ขายดีที่สุดในประเทศนี้ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว กูต้องพยายามขนาดไหน นอกจากเขียนการ์ตูนให้ดีแล้วกูต้องออกสื่อ ต้องพูดประโยคคมๆ มั้ย หรือว่าต้องพยายามไปสร้างคอนเนคชันมั้ย เราเป็นคนที่ไม่อยากได้พาร์ทนั้นในชีวิตเลย คือจะเอาแค่นี้พอ เงินก็แค่นี้ก็ได้ ก็รอด แล้วตอนหลังถึงพบว่า ติ๊งต๊อง ไม่รอดหรอก ตอนนั้นลืมคิดว่า โตมา พ่อแม่ก็ต้องแก่

ถ้าถามว่าพอใจมั้ย ตอนนี้มาเกินจากที่คิดเยอะมาก ตอนเด็กเราไม่มีภาพว่าจะถูกสัมภาษณ์ เราไม่มีภาพว่าเราจะเขียนการ์ตูนการเมืองหรือสารคดีด้วยซ้ำ เรามีภาพแค่ว่าจะเขียนการ์ตูนต่อสู้แบบการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่ในกระท่อม ถ้าเราได้เขียนสักเรื่องนึง จะต้องสนุกมากๆ เลย คิดแค่นี้

ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าแม่ไม่ค่อยอยากให้มาเขียนการ์ตูน มาถึงตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ตอนนี้ซัพพอร์ตเลย แฟนเราไม่อ่านการ์ตูนเรา แต่แม่อ่านทุกเล่ม การ์ตูนการเมืองอ่านทุกชิ้น เอา ครอบครัวเจ๋งเป้ง ไปเปิดให้คนรู้จัก แล้วก็บอกว่าตลกยังไงบ้าง บางทีก็นั่งอ่านกับพ่อ

ตอนที่เราเด็กๆ ก็เคยมีโมเม้นต์ที่เขาต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งเราเข้าใจได้นะ แต่ตอนนี้เขาก็ค้นพบแล้วว่ากูห้ามมันไม่ได้หรอก ดื้อมาขนาดนี้แล้ว แต่เขาก็เป็นห่วงเราในฐานะแม่คน เขาเข้าใจสถานการณ์ที่วงการสิ่งพิมพ์ดาวน์ แล้วเราอาจจะไม่ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนต่อ เราก็แสดงความเฮิร์ทกับแม่ เขาก็พูดว่า ภูมิ การ์ตูนก็เป็นสัมมาอาชีวะ สุดท้ายก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ เราต้องทำมาหากิน ซึ่งก็จริงของเขา

เรามีปัญหากับเรื่องนี้มากเลย เพราะเราทำให้การ์ตูนผนึกกับตัวตนของเรา ผนึกเข้ากับจิตวิญญาณ สิ่งที่ทำให้เราเติบโต เรียนรู้ เข้าใจ ทุกอย่าง เรามองผ่านการ์ตูน จนวันนึงที่เราพบว่าอาจจะไม่ได้ทำต่อไปแล้ว เราเฮิร์ทหนักมาก มันสะท้อนถึงตัวตนของเรา ว่าสิ่งที่เราเลือก เราทำอยู่ทุกวันนี้ อาจจะผิดรึเปล่าวะ เช่นวันนึงที่พ่อเราล้ม เข้าโรงพยาบาล ครอบครัวเราเสียตังค์ไปตู้มนึง เป็นเงินก้อน ทำให้เราคิดเลยว่า หรือว่ากูจิ้มผิดสายวะตอนเด็กๆ ถ้ากูจิ้มหมอ กูอาจจะรอดก็ได้

มีนักเขียนคนนึงชื่อ เท็ตสึกะ โอซามุ คนเขียนเจ้าหนูอะตอม ฝรั่งนิยามว่าเป็น god of manga แต่เขาเรียนจบแพทย์ เขาเริ่มเขียนการ์ตูนช่วงหลังสงครามที่ญี่ปุ่น วงการสิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงเล็กๆ แต่กำลังโต แล้วโตขึ้นอย่างมหาศาล แต่เขาไม่รู้หรอกว่าจะสำเร็จมั้ย เพราะงั้น เท็ตสึกะ โอซามุ ซึ่งเป็น god ในภายหลัง ก็ยังไม่รู้ว่าสามารถอยู่รอดด้วยอาชีพได้มั้ย สิ่งที่เขาทำก็คือ เรียนหมอไปด้วยและเขียนการ์ตูนไปด้วย เขียนการ์ตูนออกมา 700 กว่าเล่ม เขียนเป็นบ้าเป็นหลัง นอนวันละ 2-3 ชั่วโมง เป็นปรกติ แล้วก็ตายเร็ว ตายตอน 60 มั้ง

เขาทำงานแบบคนเจนนั้นน่ะ ทำงานแบบกลัวสงคราม กลัวไม่มีจะกินอีก ทำให้เราคิดว่าถ้ากูเรียนหมอ แล้วกูก็วาดการ์ตูนไปด้วย คิดแบบฝันเฟื่อง ทั้งที่จริงๆ เราไม่น่าจะเรียนหมอรอดหรอก แต่เรามีคำถามนี้กับตัวตนของเราอยู่เป็นระยะๆ ว่าสิ่งที่เราเลือกถูกต้องมั้ย

ภาพที่เราออกสื่อคือคนทำตามฝัน แล้วก็มีชื่อเสียงประมาณนึง เราคิดว่านักเขียนการ์ตูนหลายๆ คน หรือศิลปินหลายๆ คนที่ไปออกสื่อเหล่านี้ เขามีความซัฟเฟอร์ หรือความกลัวในวิชาชีพอยู่ลึกๆ เพราะว่าต่อให้เรามีรายได้เลี้ยงตัวเองในวันนี้ เราตอบไม่ได้นะ สิบปีข้างหน้าเป็นยังไง สิ่งที่ทำวันนี้คือพยายามจะสร้างฐานที่ทำให้อยู่รอดได้ในอนาคต หรือจัดการการเงินที่ดี

ณ ตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัวร์ว่า 10-20 ปีข้างหน้า จะเป็นยังไง

ถ้าพูดในแง่เศรษฐกิจ ความชัวร์ไม่มีจริง ทุกคนมีความเสี่ยง แต่สิ่งที่ทำได้คือลดความเสี่ยง แต่ปัญหาของเราคือ เราไปผูกตัวตนกับการ์ตูนนี่แหละ เวลาที่พูดถึงตัวตน มันพูดถึงจุดยืนทางการเมืองก็ได้นะ เมื่อไหร่ที่คิดไว้แล้วว่าองค์กรนี้เราไม่ชอบเขา จะไม่ทำงานกับเขาแน่ๆ ส่วนใหญ่องค์กรพวกนี้ก็มักจะรวย กลายเป็นปัญหาในวิชาชีพอีก

เช่น วันนึงมีโครงการของรัฐ มาชวนไปเป็นกรรมการหน่อย แล้วมีพลเอกประยุทธ์มาเปิดงาน เราก็รู้ว่าถ้าเราไป ก็ไปพูดๆ อะไรก็ได้ ก็ได้ตังค์เป็นซองมา ซึ่งก็คือเงินภาษี อย่างนี้เราทำใจทำไม่ได้ แต่ถ้าเราจนมาก เราอาจจะทำใจทำก็ได้ เรามีเคสแบบนี้เยอะมาก แต่ก่อนเยอะกว่านี้อีก เพราะคิดว่าจะไม่รับโฆษณาเลย แล้วก็ยิ่งทำให้อนาคตยากกว่าเดิม ก็ต้องพยายามหลีกหนีไปทำอย่างอื่น

เราพยายามจะหลีกหนีไปทำงานสารคดี ทำสิ่งที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อสังคม ขอทุนมาจากองค์กรที่ไม่ได้ลำบากเรื่องตังค์ แล้วก็ทำงานตอบแทนเขา พยายามทำงานสร้างฐานคนอ่านที่ชอบงานเรา โดยเราก็ต้องชอบงานที่เขียนออกมาด้วย แต่ก็ทำในสเกลเล็กมาก เพราะรู้ว่ากลุ่มคนอ่านก็มีประมาณนี้ การเขียนการ์ตูนซีรีส์ก็เป็นหนึ่งในการแสวงหาทางของเรา

ดูต้องจัดการเยอะมาก เครียดบ้างมั้ย จัดการยังไง

ทุกครึ่งปี ต้องมาคิดว่าจะต้องปรับตัวยังไงบ้าง การปรับตัวในยุคสมัยนี้ ต้องปรับตัวแบบรายวัน ตอนแรกเราพูดว่าอยากจะสื่อสารการเมืองในระยะยาวขึ้น วิธีคิดแรกของเราเกิดจากตอนที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ออกมา เราคิดว่า คสช. จะอยู่ไปอีก 20 ปีเหรอ เพราะฉะนั้นเราจะไม่สื่อสารระยะสั้นแล้ว ในเมื่อยังไงเขาก็ต้องอยู่อยู่แล้ว ไม่ว่าด้วยวิธีการแบบไหน เราจะสื่อสารในงานที่จะอยู่อีก 20 ปี คิดอย่างนั้นอยู่ปีนึง คิดเหมือนคนจะปั่นฟรีคิก แล้วก็บอกกับโกลว่า เดี๋ยวมึงเจอกู วาดเป็นการ์ตูนอะ ติ๊งต๊องป่ะ ชื่อสำนักพิมพ์ด้วง ก็คือ ด้วงเป็นสัตว์ที่เป็นนักสู้ อันนั้นคือวิธีคิดของเรา

หนึ่งปีต่อมา พบว่างานมึงอายุหนึ่งปีก็หรูแล้ว ในสังคมที่เปลี่ยนไปเร็วมาก แล้วเราก็ต้องมารื้อใหม่หมดเลย ว่าเราจะสื่อสารระยะยาวได้ยังไงบ้าง ต่อยอดได้ยังไงบ้าง

การพยายามทำอะไรที่หลากหลาย เราโอเค ยังมีความท้าทายหรือตื่นเต้นในฐานะคนทำงานอยู่ แต่การปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับโจทย์ต่างๆ เรียกศักยภาพในการ unlearn-relearn สูงมาก บางทีเราจะมีโหมดที่เป็นคนไม่อินเทรนด์ มีโหมดแบบอนาล็อกอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหากับเราในอนาคต

ความกลัวคือปัญหาอาจมากขึ้นในตอนที่เราแก่ วันที่เรา unlearn และ relearn ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเหนื่อยแล้ว เขียนแค่นี้แหละ เราเจอนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นหลายคน ที่งานเหมือนถูกสตัฟฟ์ไว้ใน 20 ปีก่อน เคยประสบความสำเร็จมาก แต่เราไม่ได้มีฐานแฟนเยอะแบบเขา ไม่ได้ประสบความสำเร็จตู้มต้ามแบบเขา ก็ต้องเรียกร้องการปรับตัวสูงกว่าเขาเยอะ

การเขียนงานให้อยู่ได้ในระยะยาวต้องทำแบบไหน คุณพอจับทางได้หรือยัง

เรื่องแต่งอาจจะมีทางออกง่ายกว่างานเชิงข่าวหรือสารคดี แต่เราคิดเรื่องนี้กับสารคดีเหมือนกัน อยากให้งานมีอายุยืนที่สุด แล้วเราก็พบคีย์อันนึง คืองานของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เราอ่านเรื่อง ตาคลี-สัตหีบ (ตาคลี น้ำตาไม่มีเสียงร้องไห้ – สัตหีบ ยังไม่มีลาก่อน) เขาเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเวียดนาม ทหารมาตั้งฐานทัพในไทย แต่อ่านทุกวันนี้ยังโคตรมันเลย ทำให้เราพบว่า สิ่งที่ทำให้งานอายุยืนขึ้นในสารคดีคือศิลปะการนำเสนอ เราพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

เมื่อไหร่ที่งานเรามีคุณค่าหรือศิลปะในเชิงการอ่าน จะทำให้งานเรายืนระยะได้นานกว่าคอนเทนต์ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คอนเทนต์ถ้าผ่านไปสิบปีแล้วไม่ตอบโจทย์สังคม จะกลายเป็นหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์ แต่ถ้ามีศิลปะการนำเสนอที่ดี จะอัพเกรดผลงานทำให้คนอยากกลับมาอ่านมากขึ้น เราคิดเรื่องนี้เยอะในการทำงาน

มีบ้างมั้ย แบบตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกเบื่อ เหนื่อย ไม่อยากเขียนการ์ตูนแล้ว

ปีที่แล้ว เรามีช่วงประมาณครึ่งปีที่เบื่อชีวิต แล้วมากระทบกับงานด้วย แต่พอทำงานแล้วมันเยียวยาเรา ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ว่าเรายังได้ทำอะไรบางอย่างอยู่ แต่เรางงว่าเบื่อชีวิตเพราะอะไร ไม่รู้ว่าทุกคนเป็นมั้ยนะ จะมีโมเม้นต์ที่เรารู้สึกว่าเราเป็นเมนส์ แต่เป็นเมนส์ระยะยาว ซึ่งเราจะมีโมเม้นต์นี้ปีละประมาณ 2 ครั้ง แล้วก็แก้ปัญหาด้วยการไปเดินเขา เดินๆๆ กลับมาเหนื่อยว่ะ ทำอะไรของกูวะ แล้วก็กลับมารู้สึกดี

แต่ตอนนั้นเราเบื่อ เจ็บเข่า เดินไม่ได้ ก็อยู่กับสภาวะแบบนั้นไปเรื่อยๆ ไปหาหมอกายภาพ ไม่รู้ตัวว่าเครียดอยู่ลึกๆ ด้วยเรื่องอะไรบ้าง แล้วมาเข้าใจทีหลังว่าเราเครียดเรื่องที่บ้าน เรื่องการเมือง เรื่องอนาคตในชีวิต เรื่องการแต่งงาน แล้วก็เรื่องวิชาชีพ เป็น 4-5 อย่างที่ผสานเป็นความเครียด ความกลัว ทำให้เราเบื่อ

ความเครียดลึกๆ ไปปะทะกับเหตุการณ์พ่อป่วย เราต้องใช้ตังค์เยอะเพื่อที่จะแต่งงาน แล้วก็ตีกลับมาที่ตัวตนเราว่า เราจิ้มถูกมั้ย ทำไมไม่จิ้มหมอ ทำให้เรากลับมาถามถึงตัวตนของตัวเองว่า ถ้าเราเขียนแต่การ์ตูนแล้วเราไม่มีตังค์ เรายังมีคุณค่าอยู่มั้ย คำถามไปลึก เกือบแตะซึมเศร้าแล้ว

พอมาถึงจุดนึง เราก็ปรึกษาพี่ๆ เพื่อนๆ หลายคนมากว่าเคยเบื่อชีวิตมั้ย ทำไงบ้าง ก็มีคำตอบหลายแบบ บางคนก็บอก มึงได้ทำในสิ่งที่ชอบมาตลอดไงล่ะ มึงไม่เคยเผชิญสภาวะที่เบื่อ มึงโดนสปอยล์ด้วยตัวเองมาตลอด จนสุดท้ายเราก็พบว่า ความเบื่อเกี่ยวกับความเครียด ความเครียดเกิดจากการที่เราแคร์คนอื่นมาก อยากมีคุณค่ากับคนอื่นจนไม่เหลือข้างในตัวเอง พูดแล้วเหมือนเข็มทิศชีวิต สุดท้ายเรากลับมารักตัวเองเว้ย (หัวเราะเสียงดัง) นี่เปิดคอร์สได้เลยนะ

เราหนีสิ่งที่ชอบไม่ได้ เพราะถ้าเราไม่เหลือการ์ตูน ชีวิตที่เหลือของเราอาจจะซัฟเฟอร์มากๆ หรือใช้เวลาในการฟื้นตัวยากก็ได้ สิ่งที่กลัวอาจจะมีทางเกิดขึ้นจริง แต่เราก็มีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงน่ะ ก็พยายามให้เต็ม 200% ที่มึงจะทำได้สิวะ แทนที่จะมานั่งกลัวว่าตัวเองเฟล เพราะสภาวะเบื่อตอนนั้น ความโปรดัคทีฟเราโคตรต่ำ เราตัดเฟซบุ๊กไปเลยนะ ไม่อยากเสพโซเชียลมีเดีย หรือกระแสใดๆ เพราะเราไม่พร้อมจะรับความสับสน แต่ก็ยังเขียนให้โมเมนตั้มนะ ทำเหมือนตัวเองอินเทรนด์ แต่จริงๆ คือไปเปิดดูเว็บไซต์ข่าว แล้วก็เขียนออกมา

สะอาด, ภูมิ - ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์

เอาจริงๆ ปัญหาที่เครียดก็คือเรื่องเงิน เรื่องความมั่นคง?

จริงๆ เราไม่ได้อยากได้เงิน เพราะเราอยู่ในกระท่อมก็ได้ ความรู้สึกนี้ยังอยู่ คือวันนึงที่เราไม่ต้องดูพ่อแม่แล้ว หรือเราไม่มีแฟนแล้ว หรือแฟนเราบอกว่า มึงไปอยู่ในกระท่อมเหอะ เราก็จะไม่หาตังค์ คือเราชอบโมเดลของโมสาร์ตที่ปวารณาตนกับเชื้อพระวงศ์ ผลิตแต่ดนตรีออกมา เราอยากไปเป็นทาสศิลปินกับเศรษฐีสักคนนึง แต่แบบนั้นก็ค้านกับหลักการของเรานิดหน่อย แค่เราชอบโมเดลนั้นที่ทำให้เราปลอดจากสภาพคล่องทางการเงิน คล้ายๆ รัฐสวัสดิการนั่นแหละ เราถึงต้องเรียกร้องรัฐสวัสดิการไง ถ้าพูดแบบเท่ๆ ก็คือ เราชอบโมเดลรัฐสวัสดิการ เพื่อที่จะทำให้เราผลิตผลงานได้เต็มที่ โดยที่เราไม่ต้องมาเครียดกังวลเรื่องเงิน

แต่วันนึงเราก็พบว่าในสังคมทุนนิยม คุณค่าของคนถูกวัดกับเม็ดเงิน วันนึงที่เราเป็นแรงงานไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถผลิตเงินได้ ก็เท่ากับว่าไม่มีศักยภาพ ไม่ใช่แรงงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐ รัฐก็จะไม่สนใจมึงเท่าไหร่ ไม่ใช่บุคคลที่ครอบครัวจะชื่นชอบ เพราะไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้น เพราะเงินผูกคุณค่ากับคนในพื้นที่ทุนนิยม

จะไม่มีซีนที่แบบ เราเดินมาบอกพ่อแม่ว่า นี่ค่ะ เดือนนี้งานเขียนของหนูนะคะ พ่อแม่ก็ลูบหัวว่า ขอบคุณมากนะลูกที่เอางานเขียนของลูกมาให้พ่อแม่ทุกเดือน ทุนนิยมคือมึงต้องให้ตังค์เขา เขาถึงจะ ขอบคุณมากนะลูก ที่ทดแทนบุญคุณ

จากความซัฟเฟอร์ของเรา ก็มีบางโมเม้นต์ที่เราไปโทษทุนนิยม ทำไมโลกต้องเป็นทุนนิยมวะ คนที่เป็นฝ่ายซ้ายหลายคนอาจจะรู้สึกแบบนี้  สมมติวันนึงเราน้อยใจทุนนิยม แล้วเราก็ไปโพสต์สเตตัส แม่ง กูน้อยใจทุนนิยมมาก ทุกคนก็จะมองว่ามึงเป็นเฮียอะไร ไร้สาระมั้ย ทั้งที่ความรู้สึกของเราจริงมาก ถ้าเราไปอยู่ในรัฐสวัสดิการ เราจะรู้สึกปลอดภัยกับชีวิตมากกว่านี้ ไม่ต้องมากังวลว่าต้องมีเงินมากๆ เพื่อจะไปรักษาพยาบาล หรือวันนึงถ้ามีปัญหาเรื่องกฎหมาย ก็ต้องหาเงินจำนวนมากไปจ้างทนายความ เป็นต้น

แต่นั่นแหละ ถึงจุดหนึ่ง เราก็พบว่าอยู่ในสังคมนี้ เราไปพลิกกระแสโลกไม่ได้ ก็ต้องยึดในสิ่งที่เรามี แล้วทำอย่างเต็มที่ คิดได้แค่ว่า ทำยังไงถึงจะยึดกับหลักการของเรา แล้วทำเงินทำงานให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากหลบไปเขียนการ์ตูน คุณดีลกับความรู้สึกแบบนี้ยังไง

หลังจากที่เราได้คำตอบกับตัวเอง หนังสือเล่มแรกที่เราอ่านคือ พ่อรวยสอนลูก ดูเลย คิดยังไงวะ พวกนี้ต้องทำยังไงวะ ซึ่งพี่เราเป็นสายนั้นมากๆ แล้วก็พูดกับเรามานานแล้วว่า ภูมิ มึงต้องจัดการกับการเงินนะ ต้องเอาเงินไปลงทุนในสิ่งต่างๆ เพราะเงินจะเฟ้อทุกปี ต้องมีความฉลาดทางการเงิน

เรานี่อ่านพ่อรวยสอนลูก ฟังเลย money coach ศึกษาใหญ่เลย แต่ก็ยังไม่เก่งนะ แต่ตราบใดที่เราอยู่ในประเทศที่ยังไม่มีรัฐสวัสดิการ คนทำงานสายนี้ยิ่งต้องพยายามทำความเข้าใจเลยแหละ คือคนจะเข้าใจว่าเรื่องความฉลาดทางการเงินเป็นเรื่องของคนรวย แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่คนจนต้องมี เพราะเมื่อไหร่ที่งานของเราไม่ตอบโจทย์รายจ่าย ก็เท่ากับว่าเราต้องหาทางออกเรื่องตังค์ให้มากขึ้น

ในเมื่อเราตัดพ้อไป ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เราก็ลองดูเลยว่าเป็นยังไง ก็ช่วยให้เราคิดกว้างขึ้นเลยนะ เรารู้เลยว่าชนชั้นกลางที่อยากจะรวยมีวิธีคิดยังไง ซึ่งแต่ก่อนเราจะแอนตี้ สมมติเราทำการ์ตูนแก๊ก มีรายได้ประจำ เรารู้สึกปลอดภัยที่มีรายได้เข้ามาทุกเดือน แต่คนที่มีความรู้เรื่องการเงิน เขาจะรู้ว่าการมีรายได้ทางเดียวเป็นความเสี่ยง เพราะเราไม่รู้ว่าตรงนี้จะเจ๊งเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นก็ต้องแสวงหาพื้นที่อื่นๆ ทางด้านรายได้ไปด้วย

การลงทุนก็มีหลายแบบ แบบไหนบ้างที่จะทำให้เรารอดตอนเกษียณ เกี่ยวพันกับเงินเฟ้อที่มากขึ้น เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับเป้าหมายของเรา แต่ละครอบครัวก็มีความต้องการเรื่องเงินต่างกัน

สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก เรื่องความฉลาดทางการเงินถูกบรรจุไว้ใน 21st century skills แต่การศึกษาไทยไม่มีเรื่องนี้เลย ไม่มีเรื่องภาษี คนก็ต้องมามั่วกันเอง แล้วเราก็จะเจอคนที่ฉิบหายเพราะไม่มีความรู้เรื่องตังค์ แต่ความยากคือจะบาลานซ์ยังไงนี่แหละ

เราคิดว่ากระท่อมไม่ตอบโจทย์ต่อโลกทุนนิยม หรือตอบโจทย์คนรอบตัวเรา เพราะฉะนั้นถ้าฐานเราแข็งแรง เราทำอะไรก็ได้อย่างที่เราสบายใจ แต่คีย์ก็คือ ความยากจะมาเรื่อยๆ ถึงจุดนึงที่เราคิดว่าเราต้องหารายได้ให้มากๆ วันนึงก็จะมีงานที่ท้าทายจุดยืนเราอยู่เรื่อยๆ

สะอาด, ภูมิ - ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์

นอกจากเรื่องชีวิตส่วนตัวแล้ว เรื่องการเมือง คุณรับมือกับความเครียดอย่างไร

เรามองโลกด้วยสายตาของหนังสือ เซเปี้ยน (หัวเราะ) เวลาที่เจอข่าว แรกๆ จะหดหู่มาก เช่นเรื่อง ออก พ.ร.บ.ไซเบอร์ แต่พอเราถอยออกมา มองว่าเป็นลิงกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะต่อรองอำนาจกัน แล้วอำนาจแปรผันไปเรื่อยๆ ช่วงชิงกัน เป็นการผลักดันทางระเบียบแบบแผนจินตนาการ พอมองเป็น process ทำให้เราเห็นว่าความตื่นตัวทางการเมืองดีขึ้นจาก 5 ปีที่แล้วเยอะ แต่ก่อนมีคนด่าประยุทธ์อยู่ไม่กี่คน คนเหล่านั้นล้วนโดดเดี่ยว ตอนนี้ทุกคนด่าพร้อมกัน ทุกคนเห็นว่า สนช. มีปัญหาพร้อมกัน พอเป็นอย่างนี้ เฮ้ย มีความหวัง

การเลือกตั้งนี้ สุดท้ายอาจจะแพ้ หรืออะไรก็ตาม แต่ความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้นมากๆ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย เราคิดว่ามุมมองด้านกว้างแบบเซเปี้ยนสำคัญสำหรับเรามาก เอามาใช้บ่อยมากในการทำงาน เพื่อประคองสุขภาพจิตให้ทำงานต่อไปได้

แต่ก่อน เวลาเราให้สัมภาษณ์ เราจะดึงเข้าสู่โหมดดาร์คตลอด วงการการ์ตูนไม่ดี ประเทศก็เหี้ย จบสิ้นแล้วกู ก็ทำไปแบบนี้แหละ ทำไปแบบเศร้าๆ แต่หลังๆ เราพยายามมองด้วยมุมใหม่ ว่าทำยังไงให้แข็งแรงขึ้น เวิร์คขึ้น ตราบใดที่ยังต้องอยู่ในสังคมทุนนิยมแบบนี้ ที่เราอาจจะไม่เห็นด้วย หรืออยู่ในสังคมที่มีวิธีคิดอำนาจนิยมสูงแบบนี้ ต้องมีวิธีคิดที่จะตอบรับได้อย่างที่เราเชื่อ และมีคุณค่าที่เราให้ความสำคัญต่อไปได้

ชวนคิดเล่นๆ ว่าทำไมแนวคิดแบบอำนาจนิยม ถึงแทงรากในประเทศไทยได้อย่างหนาแน่นขนาดนี้

เราคิดมาสักพักแล้วว่าสาเหตุที่คนไม่เชื่อในกระบวนการประชาธิปไตย หรือไม่ได้มีระเบียบวินัยที่เกิดจากการเคารพคนอื่น แบบหลายๆ ประเทศ เกิดจากทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในตอนนี้เติบโตมาในสังคมไทยที่เป็นประชาธิปไตยแบบอิหลักอิเหลื่อ จินตนาการไปไม่ถึงที่จะเชื่อว่ากระบวนการแบบประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาได้

ยกตัวอย่างนะ เวลาที่เกิดวิกฤตทางการเมืองต่างๆ เราจะโหยหาอำนาจวิเศษที่มากระชับเพื่อให้จบไป แล้วก็เริ่มต้นใหม่ หวังว่าเขาจะมาช่วย เป็นซูเปอร์ฮีโร่ ที่ผ่านมามีอำนาจวิเศษเกิดขึ้น มีรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำซาก แล้วทุกการรัฐประหารก็จะให้ความหวังว่า เขาจะมาแก้ปัญหาให้คุณได้ แล้วก็มีคนที่รู้สึกว่าได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น ทำให้ความคิดของเขาแข็งแรงขึ้น

แต่พอประวัติศาสตร์ทางการเมือง เป็นการหั่นฉับมาเรื่อยๆ ถึงที่สุดก็ทำให้คนไม่มีจินตนาการที่จะแก้ปัญหาด้วย process ของประชาธิปไตย ซึ่งต้องอาศัยจินตนาการเยอะ เพราะเราไม่เคยเจอ ไม่เคยเห็นผลอย่างชัดเจนมาก่อน

ไม่เชิงว่าอำนาจนิยมจะมาแก้ปัญหานะ แต่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตบางอย่างแล้วทำให้เขาทุกข์ใจ สิ่งที่แว้บขึ้นมาในหัวเขาคือทำยังไงก็ได้ให้จบไปเร็วที่สุด จะไม่มีจินตนาการที่จะยื้อปัญหาต่อไปเพื่อหาข้อตกลงโดยกระบวนการ เราคิดว่าเกิดจากสิ่งที่ฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นเรื่องจิตใต้สำนึก

กระทั่งตัวเราเอง เรามีจิตสำนึกที่เติบโตมากับอำนาจนิยมตลอด เราคิดว่า ทุกคนในวัยเด็กก็อาจเชื่อว่ารัฐประหารเป็นทางออกของประเทศ เราเพิ่งมารื้อสิ่งที่เราเชื่อในตอนโต แต่ถามว่าพอรื้อไป ลึกๆ เราก็ไม่มั่นใจว่ากระบวนการนี้จะเวิร์คร้อยเปอร์เซ็นต์ กูอาจจะผิดก็ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ดันเชื่อแบบนี้ จนกระทั่งเราไปเจอประเทศอื่น ไปเจอรูปแบบอื่นๆ ที่กว้างกว่าสิ่งที่เราเห็น ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่เราคิดมันโอเค แต่คนที่ไม่ได้เห็นเหมือนที่เราเห็น คนที่สโคปของเขาอยู่ประมาณนี้ ก็ไม่แปลกที่จะเชื่อแบบนี้

เวลาที่เราพูดถึงหลักการ หรือนโยบายที่จะฟังก์ชันในอนาคต เป็นการทำงานแบบจินตนาการล้วนๆ แล้วก็ต้องทำไปเรื่อยๆ แต่ตราบใดที่กระแสของโลกยังมาทางนี้ หรือคนเปิดกว้างต่อสิ่งที่อยู่นอกประเทศมากขึ้น ก็จะเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาของคนรุ่นเก่าคือ เขาเติบโตมาในพื้นที่ที่เขาเชื่อมาร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วมองว่ามันฟังก์ชันต่อพื้นที่ของเขาในยุคเขา แล้วเขาดันอยู่ในวัยที่ unlearn หรือ relearn ไม่ได้แล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่

ในแง่หนึ่งคุณค่าของสิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้เป็นคุณค่าที่เก่าขนาดนั้น เป็นคุณค่าที่ค่อนข้างใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเขาอาจจะแค่ยึดคุณค่าเก่าที่เขาเคยยึดถือ แล้วก็เป็นอย่างนั้นมาตลอดชีวิตของเขา พอสิทธิมนุษยชนใหม่เกิดขึ้น เขาก็คิดว่าไม่ได้ฟิตกับเขาเท่านั้นเอง

ถ้าเกิดให้เลือกการ์ตูนมาสักเรื่องเปรียบเทียบกับการเมืองไทย คุณจะเลือกเรื่องอะไร

วันพีซ ภาควาโนะคุนิ พระเอกของวันพีซคือโจร สู้กับรัฐบาล รัฐบาลเป็นเหมือนตัวร้ายที่พยายามใช้อำนาจควบคุม แล้วโจรกลายเป็นฮีโร่ขึ้นมา

เซตติ้งของภาคใหม่คือ มีคนนึงที่มีอำนาจมาก แล้วก็ทำลายล้างหมู่บ้านหนึ่งที่เคยสงบสุข เคยมีอาหารอย่างดี มีการเกษตร ระบบชลประทานที่ดี ฆ่าคนที่เป็นฝ่ายดีทั้งหมด ควบคุมอาหารให้อยู่ในพื้นที่เดียว ป้อนอาหารให้คนบางกลุ่มเหมือนเป็นบุญคุณ แล้วก็รื้อประวัติศาสตร์ทิ้ง สอนนักเรียนว่าประวัติศาสตร์เป็นอย่างนี้ คนที่เคยเป็นฮีโร่ในอดีตกลายเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ แล้วพลเมืองในเมืองนี้ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจที่จะไปต่อรองอะไรได้ แล้วลูฟี่ก็พยายามจะมาทวงคืนประวัติศาสตร์

เราคิดมาตลอดว่าอยากจะพรีเซนต์ปัญหาในเชิงประวัติศาสตร์ในการ์ตูนของเรา วิธีคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องแต่งแบบนึง เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรได้รับรู้ สุดท้ายเรื่องที่เราเจอเรื่องแรกคือวันพีช คือคนที่ไปสู่เมนสตรีมที่สุดในโลก เท่ากับว่าประเด็นเรื่องการตีความประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นไปไกลกว่าเรามาก

เราสังเกตนะ เช่น มิยาโมโตะ มุซาชิ เป็นซามูไรที่โคตรจะเก่งเลย ทุกคนยกย่องว่าเป็นปราชญ์ มีนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นหลายคนเอามุซาชิมาเขียนเป็นตัวละคร บางคนเขียนมุซาชิให้กลายเป็นตาแก่ลามกคนนึง ตัวเตี้ยๆ หลังค่อมๆ แต่ฟันดาบเก่งมาก เขาสามารถเอามุซาชิมาล้อได้ขนาดนั้น ลองคิดว่าเราเอาพระยาพิชัยดาบหักมาอยู่ในโลกการ์ตูน แล้วทำให้พระยาพิชัยฯ ฟันดาบเก่งมาก แต่เป็นคนลามก เราก็เตรียมพบจุดจบของวิชาชีพได้ทันที แค่คิดก็ผิดแล้ว

เรามองว่าอาจจะเจ๋งก็ได้ แต่ถูกตัดทันที เซนเซอร์ชิปทำงานโดยอัตโนมัติ นี่คือความต่างระหว่างนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นกับนักเขียนการ์ตูนไทย ซึ่งการตีความประวัติศาสตร์ต่างกันมาก คุณไม่สามารถตีความคุณค่าหรือคุณธรรมใหม่ได้เลย ศิลปินในประเทศไทยที่จะอยู่รอด ต้องผลิตงานที่สนองคุณค่าหลักที่สังคมไทยยอมรับด้วย

พูดถึงงานของคุณหน่อย งานล่าสุด บทกวีชั่วชีวิต เขียนถึงอะไร

เป็นงานสไตล์มังงะรวมเรื่องสั้นคอนเซ็ปต์เดียวกัน มาจากโมเม้นต์ที่เราเบื่อชีวิต ที่ซัฟเฟอร์มากๆ แตะไปถึงจุดที่เรารู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่าในชีวิต แล้วทำให้เราต้องถอยออกมา สิ่งที่เราพบว่ายังไงก็สำคัญที่สุดก็คือความหวัง โคตรคลิเช่เลย แต่นั่นแหละครับ เข็มทิศชีวิต

ตอนทำปก เราคิดไว้เลยว่าต้องเป็นเด็กกับหมา เพราะงานชิ้นนี้พูดถึงสองอย่างคือความตายกับความหวัง แล้วหนังสือก็ถูกออกแบบเป็นกึ่งๆ หนังสืองานศพ ปกเลยเป็นขาวดำ

ปกหนังสือ บทกวีชั่วชีวิต (2562)
ปกหนังสือ บทกวีชั่วชีวิต (2562)
ตัวอย่างเนื้อหาในเล่ม บทกวีชั่วชีวิต
ตัวอย่างเนื้อหาในเล่ม บทกวีชั่วชีวิต

ถ้าให้มอง บทกวีชั่วชีวิต เป็นสักหมุดหมายหนึ่งในชีวิตของเรา มองว่าเป็นเล่มที่แสดงว่าเรามาถึงจุดไหน หรือกำลังคิดอะไรอยู่

เราเคยมีโกลแบบกนกพงศ์ แอนด์ แดนอรัญ คือสร้างงานสุดยอด มาสเตอร์พีซของชีวิตให้ได้ เราเขียนลงกระดาษเลยว่าจะสร้างผลงานที่กูจะตายตาหลับ ซึ่งคือเล่มนี้เว้ย ไม่ใช่เป็นมาสเตอร์พีซนะ แต่เราพบว่าการที่จะสร้างผลงานที่ทำให้ตายตาหลับ มึงก็แค่เขียนการ์ตูนออกมาเป็นหนังสืองานศพ

เราใส่ทุกอย่างที่ชอบลงไป ใส่ทุกอย่างที่ซื่อสัตย์กับตัวเองที่สุดออกไป ใส่ทุกอย่างที่เราอยากให้ทุกคนจดจำเราในเล่มนี้ ความทะเยอทะยานที่จะสร้างงานที่สุดยอดจบลงที่เล่มนี้ เราพอแล้ว ไม่ต้องไปรอ 40-50 ปี โอเคแล้ว เราพอใจ ในพาร์ทความเป็นนักเขียนการ์ตูนนะ ที่เหลือก็คือเขียนซีรีส์การ์ตูนบาสฯ เอามัน แล้วก็เลี้ยงชีพไป

เราเขียนด้วยความรู้สึกว่า ไม่รู้จะเขียนการ์ตูนไปได้ถึงเมื่อไหร่ เหมือนท่าไม้ตาย เจอกู ถ้าจะต้องเลิกแล้ว เล่มนี้แหละ เราทำแบบส่วนตัวโคตรๆ ขายไม่ออกไม่เป็นไร เก็บไว้ในสต๊อก วันนึงที่เราตายก็เอาเล่มนี้มาแจกแม่งเลย ถ้าไม่โดนปลวกกินนะ

ภูมิ - ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save