fbpx

สวดมนต์ฉบับหลวง หนังสืองานศพเล่มแรกของกรุงสยาม

ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับมอบกระเป๋าผ้าชุดหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพจำนวน 3 เล่มพร้อมเหรียญพระเครื่องของ พระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ พ.ศ.2476-2566 ) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ต้นตำรับคู่มือมนต์พิธี[1] ที่จัดพิมพ์ขึ้น 2 เล่มเป็นของชำร่วยประกอบหนังสืออัตชีวประวัติเจ้าของผลงานอีก 1 เล่ม เนื้อหาเล่าถึงจุดกำเนิดของผลงานแห่งชีวิตของผู้วายชนม์ไว้ว่า ขณะที่ทำงานในคณะสงฆ์เมื่อ พ.ศ.2513 “มีกุลบุตร ชื่อ เสวย พรหมโชติ ได้เข้ามาอุปสมบท กับหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี ได้รับฉายาว่า พุทฺธเวโท เป็นผู้สนใจในกิจวัตรทำวัตรสวดมนต์ ไม่บกพร่อง ข้าพเจ้าในฐานะเลขาของพระอุปัชฌาย์ก็ต้องหาซื้อหนังสือสวดมนต์ให้หลายชนิด ก็ยังไม่ค่อยพอใจของท่านนัก ท่านจึงปรารภกับข้าพเจ้าว่า จะให้ช่วยพิมพ์หนังสือสวดมนต์ให้สักเล่มหนึ่ง ให้ใส่บทที่จะเป็นต้องใช้ และใช้ตัวหนังสือแบบอ่านง่ายๆ จำนวนพิมพ์ 1,000 ฉบับ ทำบุญถวายพระทุกวัดทั้งจังหวัดชลบุรี จะหาเงินค่าจ้างพิมพ์ให้ ข้าพเจ้าจึงให้เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์จึงให้พระเสวยเรียกข้าพเจ้าเข้าพบ มีบัญชาว่าให้เลขาฯ ช่วยทำต้นฉบับหนังสือสวดมนต์ให้คุณเสวยเขาหน่อย เขาจะพิมพ์ถวายพระสัก 1,000 เล่ม เขาจะออกค่าพิมพ์เอง”

หนังสือเล่มนี้เดิมตั้งชื่อว่า ‘สวดมนต์และศาสนพิธี’ ถูกนำไปถวายวัดต่างๆ ทั่วจังหวัดชลบุรีจนเป็นที่นิยม พระเจ้าคุณรูปนี้เล่าต่อไว้ว่า “ใกล้จะเข้าพรรษา พ.ศ.2514 เจ้าอาวาสวัดต่างๆ เกือบทั้งจังหวัด แห่กันมาขอหนังสือสวดมนต์ของพระเสวย แต่หนังสือหมด…”  

ต่อมา ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 ไม่ได้ระบุนามพระเสวย แม้เพิ่มจำนวนขึ้นอีก 2,000 เล่ม ก็ยังไม่เพียงพอ และเมื่อใกล้จะเข้าพรรษาปีถัดมา พ.ศ.2515 ก็ “แห่กันเข้ามาอีกแล้ว แต่คราวนี้ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดชลบุรีเท่านั้น ลามไปถึงระยองฉะเชิงเทรา…หลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ขออนุญาตพิมพ์จำหน่าย ตั้งแต่ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ขอคำนำด้วย และขอย่อชื่อจาก สวดมนต์และศาสนพิธี เป็น มนต์พิธี ด้วย หลวงพ่อก็ได้เขียนคำนำให้ พร้อมลายเซ็น ทำให้มีความหมาย มีคุณค่า และเป็นศักดิ์ศรีเป็นสิริมงคลแก่ข้าพเจ้า และหนังสือมนต์พิธีมาจนกระทั่งบัดนี้”[2]


อนุสรณ์งานศพเจ้าของผลงานมนต์พิธี พระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ)


จุดก่อเกิดตำรายอดนิยมของพุทธมามกะนี้กระตุกจิตกระชากใจผู้เขียนให้รื้อหนังสือเก่าหมวด ‘สวดมนต์’ ขึ้นมาทบทวนเพื่อร้อยเรียงเป็นบทความ ด้วยนึกได้ว่า พ.ศ.2423[3] ราว 90 ปี หรือเกือบหนึ่งศตวรรษก่อนหน้าหนังสือมนต์พิธีปกเหลืองอันคุ้นเคยนี้จะคลอดออกมาในบรรณพิภพนั้น หนังสือสวดมนต์ในรูปแบบสมุดฝรั่งฉบับแรกก็ได้ถูกเสกสรรขึ้น ณ กรุงสยาม


สวดมนต์ฉบับหลวง หนังสืองานศพเล่มแรกของประเทศไทย


หนังสือแจกในงานศพเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของสังคมไทย วงการนักสะสมหนังสือยอมรับร่วมกันว่า ‘เล่มแรกสุด’[4] จัดพิมพ์ในงานเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ‘พระนางเรือล่ม’ กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2423 (ปฏิทินเก่า)

ภาพปกเรียบง่าย ระบุเพียงข้อความว่า “หนังสือสวดมนต์ รวมพระสูตร แลพระปริตรต่าง ๆ ตีพิมพ์โรงพิมพ์หลวง ในพระบรมมหาราชวัง 10000 ฉบับ ปีมะโรงศก ศักราช 1242” ภายในปรากฏข้อความบรรยายที่มาของการจัดพิมพ์ภายใต้ตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 (หรือตราอาร์ม) ดังย่อหน้าสำคัญว่า


ภาพปกหนังสืองานศพ ‘พระนางเรือล่ม’


“ศุภมัศดุ พระพุทธสาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว 2423 พรรษา ปัตยุบันกาล…

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปประทับ ณ หอธรรมสังเวช ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน พระบรมราชเทวี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางค์ทัศนิยลักษณ อรรควรราชกุมารี ได้ทรงสดับพระสงฆ์สวดถวายมหาสติปัฏฐานสูตร พรักพร้อมเรียบร้อยดี ทรงกำหนดความตามไป เป็นที่เฉลิมพระบรมราชศรัทธา ทรงพระราชดำริจะทรงสร้างหนังสือสวดมนต์ รวมพระสูตรแลพระปริตรต่างๆ ลงพิมพ์ผูกเป็นเล่มพระราชทานแด่พระสงฆ์ทั่วไปทุกพระอาราม เพื่อเป็นการพระราชกุศล ในคราวพระเมรุ การพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน พระบรมราชเทวี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางค์ทัศนิยลักษณ อรรควรราชกุมารี จึงทรงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสเผดียงอาราธนา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จาริยญาณอดุลยสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอดุรคณฤศร บวรสังฆราม คามวาสีอรัญญวาสี สถิตย ณ วัดราชประดิษฐ์ สถิตยมหาสีมาราม วรวิหารพระอารามหลวง ให้จัดรวบรวมพระสูตร แลพระปริตรต่างๆ ที่ได้ตีพิมพ์ไว้แล้วบ้าง แลจัดเพิ่มเติมขึ้นใหม่บ้าง ให้พอเพียงสำเร็จประโยชน์ ในการที่พระสงฆ์สามเณรจะเล่าบ่นสาธยาย ทั้งคณะธรรมยุติกนิกาย แลมหานิกายทั่วไป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณเป็นแม่กองลงพิมพ์อักษรไทยแทนขอม ใช้ตามมคธภาษา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ เป็นผู้สอบทานตรวจตราให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ ได้ตีพิมพ์ ณ โรงพิมพ์หลวง ในพระบรมมหาราชวัง 10,000 ฉบับ เสร็จ ณ วันที่ 5 เดือน 3 แรม 4 ค่ำ ปีมะโรงโทศก ศักราช 1242”


คำบรรยายเหตุแห่งการสร้างหนังสือสวดมนต์ พ.ศ.2423 ในบทนำใต้ตรมแผ่นดิน


ความสำคัญของหนังสือสวดมนต์ความหนาราว 300 หน้าฉบับนี้ คือการรวบรวมบทสวดมนต์ปริวรรตสู่รูปแบบสมุดฝรั่งเป็นครั้งแรกด้วยอักษรไทย จากอดีตที่บันทึกด้วยอักขระขอมลงบนสมุดไทย และมักผลิตด้วยต้นข่อยพับสาหรือแม้แต่จารลงใบลาน ด้วยจำนวนการพิมพ์มหาศาลระดับ 10,000 เล่ม (หนึ่งหมื่น) โดยภาครัฐ หนังสือสวดมนต์ฉบับนี้ย่อมเผยแผ่ไปยังสังฆสถานและสังคมสยามอย่างกว้างขวางอย่างเป็นทางการครั้งแรก

หลังจากงานพระเมรุครั้งนั้นอีก 6 ปีถัดมา เมื่อ พ.ศ.2430 (จ.ศ.1249) หนังสือสวดมนต์ฉบับนี้ได้จัดพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 จำนวน 3,000 เล่มในวาระ “พระราชกุศลงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตมธำรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกะกุธภัณฑ์ และพระอรรคชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน ณ ท้องสนามหลวง เมื่อรัตนโกสินทร ศก 106”  นับจากครั้งนั้นก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แก่เอกชนผู้มีศรัทธาแลปรารถนาจะโดยเสด็จในพระราชกุศลนี้ได้จัดพิมพ์ตามประสงค์หลายครั้ง

จนกระทั่งถึงพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2443 จำนวน 1,500 เล่ม ทรงได้ “พระราชทานเพิ่มเติมไว้สำหรับวัดในกรุง แลหัวเมืองอีก คราวนี้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงตรวจฉบับ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงจัดการสร้าง สำเร็จบริบูรณ์ในรัตนโกสินทรศก 119”  ครั้งนี้ถือเป็นการจัดพิมพ์ครั้งสุดท้ายในรัชกาลของพระองค์ ก่อนเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.2453 ราวหนึ่งทศวรรษนับจากนั้น


ภาพปกฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2430
ภาพปกฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2443


ทั้งนี้ ก่อนหน้าการเสด็จสวรรคต 1-2 ปี ราวต้น พ.ศ.2450 ได้ปรากฏหนังสือสวดมนต์ที่น่าสนใจอยู่ 2 เล่มสำคัญ หนึ่งคือฉบับของสมเด็จกรมหลวงดำรงราชานุภาพที่ปริวรรตจากต้นฉบับสมุดไทยภายในหอพระสมุดวชิรญาณ 4 จบ “เปนหนังสือที่มีอยู่แต่เดิม 2 จบ ใน ร.ศ.127 ได้มาจากวัดโมฬีโลกจบ 1 ได้มาจาเมืองเพ็ชร์บุรีจบ 1”  ปรากฏข้อความบนปกว่า “หนังสือ สวดมนต์แปล ฉบับ หอพระสมุดวชิรญาณ พิมพ์ครั้งแรก 1000 ฉบับ ร.ศ.128 โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ” (ดูภาพปกประกอบ)

สองคือฉบับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ บรรยายปกไว้ว่า “พุทธะพจน์ แบบสวดมนต์ไหว้พระบูชาธรรมคำสั่งสอน สมเด็จพระพุทธจ้าว ทำวัตเช้าเย็นรักษาอุโบสถศีล บำเพ็ญทานการกุศล ที่บุคคลควรปฏิบัติประพฤติตน แห่งสาธุชนสัปปุรุศย์พุทธสาสะนิกะชนบริสัช พิมพ์ที่โรงพิมพ์สยามประเภท ริมวัดราชบพิธ ถนลเฟื่องนคร กรุงเทพฯ ร.ศ.126 พิมพ์ด้วยทรัพย์สมบัติของนายกุหลาบผู้เดียวทั้งสิ้น ไม่ได้เรี่ยรายเข้าหุ้นส่วนแก่ผู้ใด พิมพ์ไว้แจกเปนสาธาระณะทานประโยชน์ทั่วไป พิมพ์ 10000 ฉบับ ราคาเล่มละ 1 บาท” (ดูภาพปกประกอบ)


หนังสือสวดมนต์แปลชำระโดย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ภาพปกหนังสือสวดมนต์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ


ถึงแม้ว่าในโลกหนังสือยุคนั้นจะพบหนังสือสวดมนต์อีกจำนวนหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงแนะนำฉบับมาตรฐานไว้เพียง 3 เวอร์ชั่นภายในหนังสือตำนานพระปริตร ที่นิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ.2472 คือนอกเหนือจากฉบับพระจุลจอมเกล้าฯ พ.ศ.2423 และฉบับที่ผู้เขียนชำระเองเมื่อ พ.ศ.2452 ยังทรงอ้างถึงอีกหนึ่งฉบับของพระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล พ.ศ.2418-1488)

โดยเขียนไว้ในคำนำว่า “หนังสือที่บอกรายเรื่องพระปริตต่างๆ กับทั้งบทบาลีแจ้งอยู่ในหนังสือสวดมนตร์ ฉะบับหลวง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ ได้ทรงรวบรวม มีฉะบับพิมพ์อยู่แล้ว คำแปลพระปริตก็มีความเก่าซึ่งแปลครั้งรัชชกาลที่ 3 หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์ความหนึ่ง กับความใหม่ซึ่งพระสาสนโสภณ วัดมงกุฎกษัตริย์ แปล ดูเหมือนท่านจะได้พิมพ์หลายครั้งแล้ว อีกความหนึ่ง ถ้าท่านผู้ใดประสงค์จะทราบว่า พระปริตหรือบทบาลีสวดมนตร์และอนุโมทนามีอันใดบ้าง หรือจะใคร่ทราบว่า แปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร ขอจงศึกษาในหนังสือ 3 เล่มซึ่งได้กล่าวมานั้นเถิด”[5]

ทั้งนี้ หนังสือสวดมนต์ภายใต้ฉายา ‘อนุสรณ์งานศพเล่มแรก’ นี้ ปัจจุบันรู้จักกันดีในนาม ‘สวดมนต์ฉบับหลวง’ จากสถิติการพิมพ์จนถึงปี 2538 โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ คือมหามกุฏราชวิทยาลัย แสดงรายละเอียดไว้ว่าได้ผลิตซ้ำไปแล้วถึง 16 ครั้ง ดังสามารถดูตัวเลขได้จากภาพประกอบนี้[6]

สถิติการพิมพ์หนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง นับจาก พ.ศ.2423-2538


ข้อคิดเห็นบางประการหลังสำรวจหนังสือสวดมนต์เล่มแรกของไทย


พระมหาเถระผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการรวบรวมเรียบเรียงบทสวดในหนังสืองานศพพระนางเรือล่มเมื่อ พ.ศ.2423 คือ ‘สา ปุสฺสเทโว (พ.ศ.2356-2443)’ แห่งวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ขณะยังดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และต่อมา ได้ครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ.2436 จนถึงสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2443

ท่านนับเป็นสุดยอดพระเอกอุแห่งยุคสมัยอย่างแท้จริง สามารถสอบได้เปรียญ 9 ประโยคขณะยังเป็นสามเณรรูปแรกในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 จนเมื่อได้ครองสมณศักดิ์เป็นพระอมรโมลี ได้ลาสิกขาไปมีครอบครัวแล้ว แต่ครั้นผลัดแผ่นดินสู่รัชกาลที่ 4 เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเรียกตัวกลับมาอุปสมบทใหม่ ก็ยังสามารถสอบได้เปรียญ 9 ประโยคอีกครั้ง จนได้รับฉายาว่า ‘พระมหาสา 18 ประโยค’ ภายหลังบวชใหม่ไม่นานใน พ.ศ.2401 ได้รับสมณศักดิ์เป็น ‘พระสาสนโสภณ’ รูปแรก จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาวัดราชประดิษฐฯ เมื่อ พ.ศ.2407 ได้อาราธนาเจ้าคุณสาขึ้นครองวัดเป็นปฐมสมภาร

ความปรีชาทางด้านอักษรศาสตร์ของท่านปรากฏในพระนิพนธ์บาลีบนตราอาร์มแผ่นดินอันเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 5 ด้วยคาถาจารึกว่า “สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา” แปลว่า “ความเป็นผู้พร้อมเพรียงแห่งชนผู้เป็นหมู่แล้วทั้งหลายทั้งปวงให้ความเจริญสำเร็จ”[7] พระกรณียกิจที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ในคราวพระราชพิธีทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.2416 ในแง่ประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) นับเป็นสามัญชนเพียงท่านเดียวที่ได้ดำรงตำแหน่งสังฆราชาในสมัยราชาธิปไตยนับจากการก่อกำเนิดของธรรมยุติกนิกาย (อีก 3 พระองค์ที่เหลือล้วนมาจากราชสกุล) ในงานพระเมรุของพระองค์ยังบังเกิดเหตุดราม่าระดับตำนานเมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์ พ.ศ.2377-2464) ได้ประพันธ์หนังสือชีวประวัติของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้[8]จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราวถึงกับต้องราชทัณฑ์[9]


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวช พ.ศ.2416


ด้านเนื้อหาหนังสือสวดมนต์พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2423 ในส่วนของ 7 ตำนาน (จุลราชปริตต์-ปริตต์หลวงชุดเล็ก) และ 12 ตำนาน (มหาราชปริตต์-ปริตต์หลวงชุดใหญ่) ล้วนเป็นบทสวดที่พุทธมามกะคุ้นเคย คำว่า ‘ปริตฺต’ แปลว่า ‘คุ้มครอง’ ธรรมเนียมการสาธยายบทสวดกำเนิดจากประเทศศรีลังกาจนเป็นที่นิยมในดินแดนที่สมาทานพุทธศาสนาแบบเถรวาท ตามคติเป็นการสาธยายคาถาทั้งแบบสั้นและยาวที่มีต้นทางจากพระไตรปิฎก หรือจากบทประพันธ์นอกพระสูตรบ้าง เช่น บทสวดนำที่ขึ้นต้นด้วย ‘สัมพุทเธ…’ บทนโมอัฏฐกคาถา (พระราชนิพนธ์ ร.4 สมัยยังเป็นพระวชิรญาณภิกษุ) หรือบทมงคลสูตร (อุดมธรรม 38 ประการ) เป็นต้น

ส่วนคำว่าตำนานในที่นี้ มีการตีความว่า ควรเรียกว่า ‘ตำนาณ’ (ณ สะกด) ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ‘ตาณ’ ในภาษาบาลีซึ่งแปลว่า ‘การต้นทาน’ (บ้างก็สันนิษฐานว่า คำว่า ‘ต้าน’ มีต้นทางจากคำนี้) หรือ ‘การคุ้มครอง, ที่พึ่ง, สิ่งกำบัง’ จนถึงกับว่าเป็นไวพจน์ของพระนิพพานก็มี[10]

ต่อมาคือบทสวดชุด จตุภาณวาร แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ซึ่งเป็นชุดบทสวดขนาดยาวที่ปัจจุบันไม่ค่อยได้พบเห็นในพุทธพิธีทั่วไปแล้ว เนื่องจากมีขนาดยาวและซับซ้อน ในหนังสือสวดมนต์นี้แน่นอนว่าต้องพบบทสวดอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ที่ได้สดับรับฟังในงานศพ บทกรวดน้ำ บทให้พรต่างๆ อย่างครบถ้วน รวมถึงคาถายอดนิยมในปัจจุบันอย่าง ‘พุทธชัยมงคลคาถา’ หรือที่คุ้นเคยในบท ‘พาหุง’ (ฉบับชำระของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ใช้คำนี้[11])

ในหนังสือสวดมนต์พิมพ์แรกใช้ชื่อว่า ‘ชยมังคลอัฎ์ฐก 8 คาถา’[12] ใจความว่าด้วยพุทธประวัติในการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ คติดังกล่าวเป็นที่ต้องพระทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จนถึงกับนิพนธ์บทสวดนี้เป็นวรรณกรรมร้อยกรองเพื่อสร้างความฮึกเหิมและความรักชาติ หรือเมื่อครั้งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพเรือได้นำเอาคาถาบทที่ 7 ว่าด้วยการเอาชนะนันโทปนันทนาคราชใช้สวดก่อนออกรบเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจ จนกลายเป็นประเพณีสืบมาสำหรับอาชีพที่ข้องแวะกับการเดินเรือหรือทะเลจะต้องสาธยายคาถาพาหุงบทที่ 7 นี้[13]


คาถาพาหุง ภายในหนังสือสวดมนต์ พ.ศ.2423


บทสวดทำวัตรเช้า-ค่ำ ที่สาธุชนคุ้นเคยก็ล้วนปรากฏในหนังสือสวดมนต์พิมพ์แรกนี้[14] ถึงแม้ในเล่มจะมิได้ระบุชื่อผู้ประพันธ์ กระนั้นบททำวัตรคู่นี้เป็นที่รับทราบกันดีว่าคือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผลงานของพระองค์ในด้านสวดมนต์พระราชนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ รวบรวมจัดพิมพ์ครั้งแรกโดยระบุพระนามผู้ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อปีชวด พ.ศ.2467 (ดูภาพประกอบ)


บททำวัตรค่ำ ในหนังสือสวดมนต์ พ.ศ.2423
ปกหนังสือสวดมนต์พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พ.ศ.2467
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์ทรงศีล ทรงฉายเมื่อ พ.ศ.2410


ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนสนใจค้นคว้า คือคาถา 2 บทนำที่มักมีผู้นำมาอ้างอิงในเชิงสัญลักษณ์แบ่งแยกนิกาย ‘มหานิกาย-ธรรมยุต’ ฝ่ายแรกมักขึ้นบทนำด้วย ‘สัมพุทเธฯ’ (ใช้สวดแต่โบราณ ปรากฏในฉบับพิมพ์แรกหนังสือสวดมนต์แจกงานพระเมรุพระนางเรือล่มเมื่อ พ.ศ.2423 ส่วนฉบับสมเด็จกรมหลวงดำรง ฯ พ.ศ.2452 จั่วหัวชื่อว่าบทสวดนี้ว่า ‘อเนกสัมพุทธนมการคาถา’[15])  ขณะที่ฝ่ายหลังมักขึ้นบทนำด้วย ‘โย จักขุมาฯ’ หรือชื่อเรียกทางการว่า ‘นมการสิทธิคาถา’

ส.ศิวรักษ์ เคยแสดงความเห็นประเด็นนี้ไว้ว่า “บทสวดที่เริ่มต้นว่า สัมพุทเธ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส-ผู้เขียน) ก็ทรงเห็นว่าเหลวไหล ที่มีพระพุทธเจ้ามากมายเกินเลยไป จึงทรงพระนิพนธ์บทสวดขึ้นใหม่ เริ่มต้นว่า โยจักขุมา สรรเสริญคุณพระปัจจุบันพุทธพระองค์นี้เท่านั้น”[16] เรื่องนี้มีเค้ามูลอยู่บ้างเมื่อสอบกับลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสที่ทรงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2446 ความว่า “คาถาประณามพระรัตนตรัยที่ขึ้นต้นว่า สัม์ พุท์เธ แลนโมเมนั้น เหนแปลกจากความรู้ของพวกฝ่ายใต้ ในพระคัมภีร์ก็มีแต่พระเจ้า 7 พระองค์หรือมากก็ไม่นับสังขยา เข้าใจว่าเปนตามคติของพวกมหายาน ดังแสดงในสุขาวดีพยูหสูตรว่ามีพระพุทธเจ้ามากกว่ามาก สำนวนเปนลาวแต่ง แต่ไฉนจึงได้คติของพวกมหายานเช่นนั้น ยังไม่ได้เค้าเงื่อน”[17]

สอดคล้องกับพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ปลายปีเดียวกันนั้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 (ปฏิทินเก่า) ว่า “เช่นกับมูลแห่งสาสนามหายาน ถือว่ามีพระพุทธเจ้าโลกธาตุละองค์ ขึ้นพระพุทธอมิตาภาซึ่งอยู่ในศุขัสนคร จึงมีสูตรสำหรับบูชาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ยิ่งท่องสูตรเหล่านั้นได้มากเท่าใดยิ่งได้บุญ จนพวกจีนทำเครื่องจักร์สวดมนต์ ข้างฝ่ายสูตรสัมพุทเธของเรามีมูลเปนอันเดียวกัน บอกอานิสงส์ก็คล้ายกัน แต่ตัดชื่อเสียงลงเสียเปนอันมาก ปรากฎว่ามาจากครูเดียวกับมหายาน”[18]

อย่างไรก็ตาม ดร.ปีเตอร์ สกิลลิง (Peter Skilling) นักปราชญ์พระพุทธศาสนาชาวต่างประเทศผู้เข้ามาปักหลักอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30 ปี ได้วิเคราะห์เนื้อความ ‘สัมพุทเธ’ ไว้อย่างแยบคายว่า ถึงแม้จะบรรยายถึงอดีตและอนาคตพระพุทธเจ้านับแสนนับล้านพระองค์นั้น ก็ยังถือเป็นคติที่พบอยู่แล้วภายในความเชื่อพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยแสดงไว้อย่างละเอียดพิสดารในบทความที่ชื่อว่า ‘The Sambuddhe verses and later Theravadin Buddhology’[19]

ภายในหนังสือสวดมนต์วัดดอยธรรมเจดีย์ให้ข้อมูลเบื้องต้นของที่มาบท ‘โยจักขุมา’ ว่า  “นมการสิทธคาถา เป็นคาถากล่าวนมัสการพระรัตนตรัย ทรงรจนาโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  ในพระราชพิธีฉัตรมงคล ปี พ.ศ.2462 อันเป็นวาระที่ประเทศไทยได้ชัยชนะร่วมในมหาสงครามโลก นมการสิทธิคาถา กล่าวสรรเสริญพระคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์  กล่าวนมัสการพระรัตนตรัย ขออานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัยอำนวยให้มีชัยชนะ ภยันตรายใดๆ ที่จะมีจงถึงความพินาศไป”[20] ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากเอกสารราชการก็พบว่า ‘ถูกต้อง’ โดยในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2462 แสดงประกาศพระบรมราชโองการในประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า

“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ ทรงพระดำริห์ขึ้นในเวลาพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ วันสมโภชพระราชอาณาจักรว่า การที่กรุงสยามมีชัยชำนะศตรูคราวนี้ เปนการสำคัญของแผ่นดินในรัชกาลปัจจุบันประการหนึ่ง ถ้าได้ทรงรจนาพระคาถานมัสการพระรัตนตรัยแลอำนวยชัยถวาย แลได้สวดเปนครั้งแรกในวันนั้นจักเปนการสมควรยิ่งนัก ทรงถือเอาพระดำริห์อันเกิดขึ้นในเวลานั้นเปนศุภนิมิต ได้ทรงพระนิพนธ์ “นมการสิทฺธิคาถา” ขึ้นถวายเพื่อสวดทันในอภิลักขิตสมัยงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งร่วมวารที่กรุงสยามได้มีชัยชำนะศตรูพอประจบรอบปี เพื่อทรงพระราชสิริสวัสดิ์เฉลิมพระเกียรติ์ยืนยาวสืบไป

ทรงพระปีติเลื่อมใสใน “นมการสิทฺธิคาถา” ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณะทรงพระนิพนธ์ถวายนี้ยิ่งนัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อาราธนาพระสงฆ์เริ่มเจริญ “นมการสิทฺธิคาถา” เปนพระฤกษ์ครั้งแรกในวันสวดพระพุทธมนต์การพระราชพิธีฉัตรมงคล แลต่อไปภายน่าการสวดมนต์ในงานพระราชพิธีก็ให้สวด “นมการสิทฺธิคาถา” นี้แทน “สมฺพุทฺเธ” สืบไป แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตด้วยว่า การกุศลทั้งปวงในกรุงแลหัวเมือง เมื่อจะสวด “นมการสิทฺธิคาถา” ด้วยก็ได้ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศ “นมการสิทฺธิคาถา” ทั้งคำแปลด้วยดังนี้ ( ตามด้วยคาถาบาลี พร้อมคำแปล – ผู้เขียน)[21]

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ‘นมการสิทฺธิคาถา’ พ.ศ.2462
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงฉายภาพร่วมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ พ.ศ.2447


ฉะนั้น จึงนับได้ว่าบทสวด ‘โยจักขุมาฯ’ เริ่มต้นใช้นับจากปลาย พ.ศ.2462 ถอยห่างจากหนังสือสวดมนต์พิมพ์แรกเมื่อ พ.ศ.2423 ถึงเกือบ 40 ปีทีเดียว กระนั้นในปัจจุบันก็ใช่ว่าบทสวดคู่นี้จะสามารถระบุนิกายของคณะสงฆ์เสมอไป เพราะยังสามารถพบพระทั้งสองนิกายขึ้นบทสวดทั้งคู่สลับกันไปไม่เป็นที่แน่นอน ถึงขนาดเคยมีเรื่องเล่าว่าสมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่งจากธรรมยุติกนิกายนิยมขึ้นบทสวด ‘สัมพุทเธฯ’ โปรดทายกทายิกาเสมอ

ประเด็นสุดท้ายที่อยากนำเสนอคือ  ‘คาถาสมเด็จ’ หรือที่รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘คาถาชินบัญชร’ ไม่พบว่าปรากฏอยู่ในการรวมบทสวดมนต์คราวนั้น ทั้งในการพิมพ์ซ้ำรวมหนังสือบทสวดมนต์ต่างๆ โดยเฉพาะฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ชำระโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงเมื่อ ร.ศ.128 (พ.ศ.2452)[22] ก็มิเคยพบการผนวกคาถานี้ร่วมเข้าด้วยแต่อย่างใด

ถึงแม้ว่าโดยประวัติ คาถานี้คาดว่ามีอายุราว 400-500 ปี แต่สำหรับในสังคมไทย พบว่าเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลงไม่นานในช่วงทศวรรษ 2490[23] ข้อสังเกตสำคัญอยู่ที่ว่าคาถานี้ไม่ได้ถูกเอ่ยถึงแม้แต่น้อยในชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ฉบับแรกสุดเมื่อ พ.ศ.2473[24] จากบันทึกของพระยาทิพโกษา (สอน) ผู้เขียนพบว่า ‘คาถายอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก’ ที่ภายหลังมักนิยมตีพิมพ์คู่กับคาถาชินบัญชรดูจะเป็นที่รับทราบและจัดพิมพ์กันอย่างแพร่หลายมากกว่า เช่นจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2469[25], 2471[26] และ 2480[27] ขณะที่คาถาชินบัญชรในเวลาเดียวกันกลับไม่เคยพบว่ามีการจัดพิมพ์หรือเอ่ยขึ้นในพุทธจักรสยามยุคนั้นแต่อย่างใด? 

คาถาสำคัญที่เคียงคู่ไปกับการปลุกเสกพระเครื่องสมเด็จนี้กว่าจะได้รับการเผยแพร่สู่สื่อสิ่งพิมพ์ต้องรอจนล่วงถึง พ.ศ.2495 ผ่านหนังสือชีวประวัติสมเด็จโต ทั้งของฉันทิชย์ และพระมหาเฮง รวมถึงปรากฏในตำรา ‘คัมภีร์พุทธมนต์โอสถ’[28] ของเทพย์ สาริกบุตร โดยฉบับของฉันทิชย์อ้างว่าได้รับจากพระอมรมุนี (จับ ฐิติธมฺโม ป.ธ.9) วัดโสมนัส เทียบเคียงกับฉบับพระนิรันดรญาณมุนี (นิรันตร์ นิรนฺตโร ป.ธ.9) วัดเทพศิรินทร์ และแปลโดย พระโศภนคณาภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.9) แห่งวัดบวรนิเวศ ซึ่งขณะนั้น พระระดับเปรียญธรรม 9 ประโยคทั้ง 3 ท่านของวัดธรรมยุตนี้ยังดำรงตำแหน่งเพียงพระราชาคณะชั้นสามัญ ครั้นเมื่อเวลาล่วงผ่านจากนั้นอีก 30-40 ปีต่อมา พระมหาเถระ 2 รูปแรกได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระวันรัต และรูปสุดท้ายนั้นก็คือสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19!

ด้านฉบับของพระมหาเฮงนั้น ตีพิมพ์บาลีอีกฉบับหนึ่งที่ได้ตรวจแก้โดยพระภัทรมุนี (อิ๋น ภทฺรมุนี ป.ธ.9) แห่งวัดทองนพคุณ และอ้างคำแปลไทยว่าต้นฉบับเป็นของพระมงคลราชมุนี (สนธ์) วัดสุทัศน์ แปลโดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง ปญฺญาทีโป ป.7) แห่งวัดราชบูรณะ? (น่าสงสัยในข้อมูลนี้ เนื่องจากสมเด็จองค์นี้มีชีวิตระหว่าง พ.ศ.2375-2446) ตรวจทานโดย พ.อ.พระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์)[29] และทำเชิงอรรถกำกับว่าพระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร ป.ธ.7) วัดสุทัศน์ เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) รับสั่งว่า ‘ชินปญฺชรคาถา’ เป็นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง อีกทั้งยังแนบเกร็ดเสริมไว้อีกด้วยว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้คาถาที่ 8 ‘ปุณฺโณ องฺคุลิมาโล จ  ฯลฯ นลาเต ติลกา มม’ เสกน้ำสรงพระพักตร์[30]

ส่วนฉบับของเทพย์ไม่ได้แจกแจงที่มา และตรียัมปวายได้คัดลอกสองย่อหน้าบรรยายสรรพคุณมนต์นี้ของอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ไปผลิตซ้ำในเล่มปริอรรถาธิบายเเห่งพระเครื่อง เล่ม 1 พระสมเด็จฯ (แต่ต่อมาการพิมพ์ครั้งหลังสุด พ.ศ.2546 อ้างอิงฉบับพระพิมลธรรม อาสภเถระ แห่งวัดมหาธาตุ พ.ศ.2506)[31]


ส่งท้าย


ถึงแม้ในกรุหนังสือสวดมนต์ของผู้เขียนยังคงมีหลงเหลืออีกหลายเล่มที่ยังมิได้หยิบยกมาพูดถึงในบทความนี้ เบื้องต้นคงได้เพียงจำกัดขอบเขตเนื้อหามิให้เกินเลยหรือลงลึกไปกว่านี้ ลำพังการพิมพ์หนังสือสวดมนต์ในรูปแบบสมุดฝรั่งสามารถพูดได้เต็มปากหนังสืออนุสรณ์งานศพงานพระเมรุครั้ง พ.ศ.2423 คือการกำหนดมาตรฐานการสวดมนต์ในทุกหมู่เหล่าชนชั้นของสังคมสยาม อีกทั้งยังนับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาหมวดหนังสือวรรณกรรมอนุสรณ์งานศพ ที่หากนับถอยจากปัจจุบันคือระยะเวลา 142 ขวบปีที่ล่วงผ่าน หรือถ้าจะนับย้อนเริ่มจากการก่อตั้งกรุงเทพมหานครก็เป็นระยะเวลา 100 ปี (ร.ศ.99) พอดี


แบบสันนิษฐานรูปด้านทิศตะวันออกพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ จากหนังสือ “สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม เล่ม ๑” อ้างอิงจาก https://www.silpa-mag.com/royal-funeral-pyre-news/article_3748
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี  และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา (เครดิตภาพ https://www.silpa-mag.com/history/article_33627)


ท้ายสุดผู้เขียนขออุทิศบทความชิ้นนี้แด่ ‘ขุนวรรณการพินิจ’ (บุญเฮียง ปัณยวณิช) ข้าราชการใจบุญผู้ที่ ‘อาปา’ ของผู้เขียนให้ความเคารพและต้องเชิญมาเป็นผู้นำประกอบพุทธพิธีให้ทางบ้านอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นเหตุให้ผู้เขียนได้สดับมักคุ้นกับเสียงสวดมนต์นับแต่วัยเยาว์  ท่านเป็นผู้อาวุโสที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา และพวกเราก็แสดงความเคารพด้วยการเรียกขานท่านผู้นี้ว่า ‘คุณตา’

ขอบคุณนางสาวสุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค) สำหรับการพิสูจน์อักษรบทความชิ้นนี้




[1] มติชนออนไลน์, สิ้นหลวงปู่เอี่ยม วัดอรุณ เจ้าตำรับหนังสือ ‘มนต์พิธี’ สิริอายุ 89 ปี 70 พรรษา จุดเชื่อมต่อ https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_4020335

[2] สูจิบัตร งานพระราชทานเพลิงศพ พระราชวัชรรังสี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม วันที่ 29 – 30 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ณ ฌาปนสถาน วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร, (เลี่ยงเชียง), น.35-36.

[3] งานพระเมรุที่แจกหนังสือเล่มนี้อยู่ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2423 ปฏิทินเก่า ซึ่งถ้านับปัจจุบันคือปี พ.ศ.2424

[4] เอนก นาวิกมูล, ประยงค์ อนันทวงศ์ หนังสืองานศพเล่มแรกของเมืองไทยและสารพัดหนังสือ ใน หนังสือและสมุดคลาสสิค, พ.ศ.2553, (สำนักพิมพ์แสงดาว), น.79-93.

[5] ตำนานพระปริตร พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ ราชบัณฑิตสภา พิมพ์ถวายพระภิกษุสามเณร เป็นของชำร่วย เมื่อมาเยี่ยมหอพระสมุดฯ และพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร พ.ศ.2472, (โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร), น.คำนำ.

[6] สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว), สวดมนต์ฉบับหลวง, พิมพ์ครั้งที่ 16 พ.ศ.2538, (โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย).

[7] ธัชชัย ยอดพิชัย บรรณาธิการ, นนทพร อยู่มั่งมี ค้นคว้าและเรียบเรียง, พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, จัดพิมพ์ประกาศพระเกียรติคุณ ในโอกาสวาระครบ 200 ปี แห่งวันประสูติ วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2556, (มติชน), น.106.

[8] ประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์ สถิตมหาสิมาราม กรุงเทพมหานคร (คำนำ) ข้าพระพุทธเจ้า นาย ก.ศ.ร.กุหลาบ อายุ 67 ปี ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาศ พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานเรียบเรียงเรื่องประวัติสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์ สถิตมหาสิมาราม ขึ้นทูลเกล้า ทูลกระหม่อมถวาย ฉลองพระเดชพระคุณ ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท สำหรับประดับพระบารมี เปนที่เฉลิมพระเกียรติยศ ปรากฏแก่ชาติศาสนาบ้านเมืองสยาม ตามสมัยที่ได้มีการพระศพพระสังฆราชพระเมรุท้องสนามหลวง ณะรัตนโกสินทรศก 119 ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณา โปรฏเกล้าโปรฎกระหม่อม ขอเดชะ

[9] ประกาศเรื่องประวัติสมเด็จพระสังฆราช ที่นายกุหลาบ เรียบเรียงพิมพ์ นำขึ้นทูลเกล้าถวาย, ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 พฤษภาคม ร.ศ.120 เล่ม 18 น่า 1-2 และ ดู จดหมายเหตุ เรื่องไต่สวนนายกุหลาบ ซึ่งแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พิมพ์ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศเธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง ครบศตมาห วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2472, (โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร).

[10] พระพิษณุพล สุวณณฺรูโป (รูปทอง), การวิเคราะห์พระปริตต์ในพระพุทธศาสนา, สารนิพนธ์รายวิชาสัมมนาพระไตรปิฎก หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2559, น.22.

[11] กรมหลวงดำรงราชานุภาพ, หนังสือสวดมนต์แปล ฉบับ หอพระสมุดวชิรญาณ พิมพ์ครั้งแรก 1000 ฉบับ ร.ศ.128, (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), น.295.

[12] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา), หนังสือสวดมนต์ รวมพระสูตร แลพระปริตต่างๆ, พิมพ์ครั้งแรก จ.ศ.1242, (โรงพิมพ์หลวง), น.82.

[13] ณัฎฐรัตน์ ผาทา, ศึกษาวิเคราะห์บทสวดมนต์พุทธอัฏฐชยมงคลคาถา (คาถาพาหุง) วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2549, น.149-150.

[14] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา), หนังสือสวดมนต์ รวมพระสูตร แลพระปริตต่างๆ, พิมพ์ครั้งแรก จ.ศ.1242, (โรงพิมพ์หลวง), น.213-218.

[15] กรมหลวงดำรงราชานุภาพ, หนังสือสวดมนต์แปล ฉบับ หอพระสมุดวชิรญาณ พิมพ์ครั้งแรก 1000 ฉบับ ร.ศ.128, (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), น.242.

[16] ส.ศิวรักษ์, ใคร คือ ชาวพุทธ ร่วมสมัย (ตอน 2), มุทิตาสักการะในโอกาสที่พระราชมงคลวุฒาจารย์ มีชนมายุครบ 7 รอบนักษัตร 10 มกราคม 2545 จุดเชื่อมต่อ https://asoke.info/Kid/k164%20pdf/50.PDF

[17] กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส, ทรงตอบพระราชหัตถเลขา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ร.ศ.122 ใน ประมวลพระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชหัตถเลขา-ลายพระหัตถ์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด พิมพ์ในงานมหาสมณานุสรณ์ครบ 50 ปี แต่วันสิ้นพระชนม์ แห่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วันที่ 1-7 สิงหาคม พุทธศักราช 2514, (พุทธอุปถัมภ์การพิมพ์), น.268.

[18] https://vajirayana.org/พระราชหัตถเลขาฯ-ทรงพระราชวิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนา/พระราชหัตถเลขา-ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์-ลงวันที่-๑๔-กุมภาพันธ์-รศ-๑๒๒

[19] Skilling, Peter. 1996. “The Sambuddhe Verses and Later Theravadin Buddhology.” Journal of the Pali Text Society 22: 151–183.

[20] นมการสิทธิคาถา จุดเชื่อมต่อ https://www.analaya.com/listen-to-dhamma/chanting/buddhist-ceremony-chanting/306-nama-kara-sitti-kata.html

[21] ประกาศ “นมการสิทฺธิคาถา” ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 พฤศจิกายน 2462 เล่ม 36 น่า 166-170.

[22] กรมหลวงดำรงราชานุภาพ, หนังสือสวดมนต์แปล ฉบับ หอพระสมุดวชิรญาณ พิมพ์ครั้งที่ 2 ร.ศ.128, (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ).

[23] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความของผู้เขียน ใน นริศ จรัสจรรยาวงศ์, สมเด็จโตฯ กับ คาถาชินบัญชร ร่องรอยสายธารศรัทธาในสังคมไทย, ปาจารยสาร ปีที่ 51 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม พ.ศ.2565), น.70-113.

[24] ดูเพิ่มเติม นริศ จรัสจรรยาวงศ์, กัณฑ์เทศน์ 12 นักษัตร : สมเด็จโตเทศนา สมเด็จเจ้าพระยาช่วงสดับ? จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/somdej-to-nakasat-12/

[25] ยอดพระกัณฑ์ ไตรปิฎก อุบาสิกาบุญรอด ชั้นประเสริฐ นางเม้า มะลิวงษ์ นางดำ บุญตานนท์ มีจิตต์ศรัทธาเลื่อมใส พร้อมใจกันสร้างขึ้นไว้ในพระพุทธศาสนา เป็นจำนวน 500 เล่ม (เดิม พ.ศ.2469) สร้างใหม่ พ.ศ.2498.

[26] หนังสือยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก ข้าพเจ้าแม่เผือก พี่แม่เจิมน้อง มีจิตต์ศรัทธาเลื่อมใส สร้างขึ้นไว้ในพระพุทธศาสนา พิมพ์ 1000 ฉบับ พ.ศ.2471, (โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ).

[27] หนังสือยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก มีจิตต์ศรัทธาเลื่อมใส สร้างขึ้นไว้ในพระพุทธศาสนา จำนวน 1000 ฉบับ พ.ศ.2480, (โรงพิมพ์กิมหลีหงวน).

[28] ลำดับที่ 27 ใน เทพย์ สาริกบุตร, พระตำหรับวิเสส คัมภีร์พุทธมนต์โอสถ, พ.ศ.2497, (อุตสาหกรรมการพิมพ์),  น.37-39

[29] สมุดสมเด็จ พ.ศ.2531 อนุสรณ์ 200 ปี แห่งชาตะกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม, น.170-171.

[30] พระมหาเฮง อิฏฺฐาจาโร, ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2495, (ไทยเขษม), น.56.

[31] ตรียัมปวาย (นามแฝง),ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่ 1 พระสมเด็จฯ, พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2546, (สำนักพิมพ์ไทภูมิ), น.208.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save