fbpx

กัณฑ์เทศน์ 12 นักษัตร : สมเด็จโตเทศนา สมเด็จเจ้าพระยาช่วงสดับ?

“…จึงเทศนาว่า 12 นักษัตร 12 ปีนี้ เป็นต้นทางของพระอริยสัจจ์…จบลงแล้ว ใจสมเด็จเจ้าพระยาก็ผ่องแผ้ว…”[1]


สมเด็จโต ถ่ายในงานฉลองพระหลวงกาลมัยนฤมิตร (เหลี่ยม) คนบ้านหล่อ เมื่อปีเถาะ พ.ศ.2410
ซ้าย พระอาจารย์มิสร์ วัดระฆัง ฯ เป็นฐานานุกรมพระครูปปลัด ในเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ
ขวา พระอาจารย์คำ วัดอมรินทร์
(ข้อมูลจาก พันตรี สมจิต ศิกษมัต)


สมณศักดิ์ ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ นับเป็นตำแหน่งสมณศักดิ์ที่ใช้มานับแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ล่วงมาถึงปัจจุบันนับพระมหาเถระครองตำแหน่งนี้จำนวน 22 รูป กระนั้นเมื่อยกชื่อนี้ขึ้นถามผู้คนในสังคม สมเด็จพระพุฒาจารย์อันดับที่ 5 ผู้ผ่านชีวิต 5 แผ่นดิน ‘โต พฺรหฺมรํสี (พ.ศ. 2331-2415)’ ย่อมเป็นรูปแรกๆ ที่ผู้คนนึกถึง


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)


ส่วนในทางอาณาจักร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, พ.ศ. 2351-พ.ศ. 2426) ผู้สำเร็จราชการ บุคคลร่วมสมัยกับสมเด็จพระราชาคณะรูปนี้ ก็นับเป็นนักการเมืองการปกครองที่ยิ่งใหญ่ระดับผู้คนจดจำไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในแง่ตัวละครประวัติศาสตร์ยุคเดียวกัน

ถึงแม้ว่าการพบกันของคู่นี้จะไม่ปรากฏบันทึกในเอกสารราชการ แต่เรื่องเล่าฉบับมุขปาฐะของพระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2473 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 2 ปี ที่อ้างว่าสมเด็จโตได้เทศนาชื่อว่า ’12 นักษัตร’ ย่อมนับเป็นหลักฐานแสดงถึงหนึ่งในเทศนาชิ้นสำคัญที่มีเกร็ดชวนศึกษายิ่ง


‘สมเด็จโต’ ชีวประวัติที่เพิ่งสร้างระยะปฏิวัติ 2475


นับจากสมเด็จโตมรณภาพไปเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2415 เรื่องราวของท่านแทบจะถูกหลงลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์ คงเหลือเพียงบันทึกประปรายในจดหมายเหตุบางเรื่อง เช่น วันมรณะของท่านในบัญชีน้ำฝน เล่ม 3 ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์[2] หรือบันทึกพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 5[3] ถึงสังฆสถานบางแห่งที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จท่าน รวมถึงจดหมายเหตุการแต่งตั้งสมณศักดิ์ แต่ยังนับว่าโชคดีที่ในปัจฉิมวัยของสมเด็จโต เทคโนโลยีการถ่ายภาพจากตะวันตกเผยแพร่เข้าสู่ประเทศสยามแล้ว จึงยังคงหลงเหลือภาพถ่ายไว้ให้ได้เห็นถึงปัจจุบัน

ชีวประวัติและเกียรติคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี พ.ศ. 2331-2415) ต้องรอถึงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพียง 2 ปีหรือเกือบ 60 ปีหลังท่านละสังขารจากโลกนี้ไปจึงมีผู้เรียบเรียงเป็นเรื่องเป็นราวด้วยสมุดบันทึกของพระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์ พ.ศ. 2404-2486)[4] ต้นเรื่องเกิดจาก ม.ล.สว่าง เสนีย์วงศ์ และนายพร้อม สุดดีพงศ์ จดจำมาจากคำสัมภาษณ์เจ้าคุณพระธรรมถาวร (บันทึกนี้ระบุว่าชื่อ ‘ช้าง’ แต่ความเป็นจริงคือ ‘ช่วง สิงหเสนี ชาตะ พ.ศ. 2386 มรณะ พ.ศ. 2477’[5]) อดีตฐานานุกรมของสมเด็จโตขณะอยู่ในวัย 88 ปี อีกทั้งต่อมาทั้งสองท่านนี้ยังได้เข้าไปชมจิตรกรรมฝาผนังประวัติสมเด็จโตที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม (ต่อมาถูกลบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2493 ก่อนจะได้บูรณะใหม่ พ.ศ. 2535) และร่วมกันคัดลอกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ด้วย


พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) ภาพหลักในอนุสรณ์งานศพ


หนังสืองานศพพระยาทิพโกศา พิมพ์ไว้อาลัยโดย ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ


ครั้นภายหลังสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา เรื่องราวของพระมหาเถระรูปนี้ยิ่งได้รับการขยายความพิสดารเคียงคู่ไปกับความเฟื่องฟูของตลาดพระเครื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของ ฉันทิชัย (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์, พ.ศ. 2451-2516)[6] ระยะนั้น ส.ศิวรักษ์ ย้อนรำลึกไว้ว่า “ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มักเห็นคุณฉันทิชย์หมั่นไปมาหาสู่อยู่กับท่านเจ้าคุณอาจารย์เนืองๆ แต่ก็เป็นการรู้จักคุณฉันทิชย์ฝ่ายเดียว เพราะต่างวัยกันมาก ที่ทราบก็เห็นคุณฉันทิชย์ไปขอให้ท่านพระภัทรมุนีรับรองคัมภีร์โหราศาสตร์ที่คุณฉันทิชย์ชำระ ไปขอให้ท่านเล่าเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) โดยที่คุณฉันทิชย์ได้เอ่ยชื่อท่าน ขอบพระเดชพระคุณไว้ให้ปรากฏในหน้าหนังสืออยู่เสมอๆ”[7]  

ฉันทิชย์เริ่มเผยแพร่เรื่องราวของสมเด็จโตผ่านวิทยุกระจายเสียงเมื่อ พ.ศ. 2492 และทยอยเขียนลงเป็นตอนๆ ในวารสารตำรวจของพลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ จนต่อมาได้รวมเล่มขายดิบขายดีเมื่อ พ.ศ. 2495 (เล่ม 1 จำนวน 16 บท พิมพ์ถึงซ้ำถึงสามครั้งในปีเดียว[8] ปลายปีเดียวกันนี้ เผ่า ศรียานนท์ ยังจัดงานสร้างพระสมเด็จอย่างยิ่งใหญ่ ณ วัดอินทรวิหาร โดยกำชับให้นายฉันทิชย์ช่วยเขียนประชาสัมพันธ์อย่างละเอียด) และ พ.ศ. 2496 (เล่ม 2 จำนวน 31 บท) ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเขียนต่อเนื่องจนถึงบทสุดท้ายที่ 46 บท[9] ทั้งนี้ 15 บทหลังนี้รวมพิมพ์ครั้งแรกในหนังสืองานศพอุทิศแด่ ไชย เอี่ยมประเสริฐ เจ้าของสำนักพิมพ์อักษรประเสริฐ และรวมเล่มสมบูรณ์ 46 บทครั้งแรก พ.ศ. 2509 ชื่อเล่มว่า ประวัติและเกียรติคุณ ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)[10]

ด้านชีวิตส่วนตัว นายฉันทิชย์เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. 2505 เปลื้อง ณ นคร เล่าไว้ว่า  “คุณฉันทิชย์ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทราบกันข้างนอกว่าเป็นที่ปรึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ แต่หน้าที่จริงๆ นั้น คือการตรวจดวงและให้ความคิดเห็นต่างๆ ในแง่ของโหราศาสตร์แก่จอมพลสฤษดิ์ ตอนจอมพลสฤษดิ์เจ็บ ได้บอกแก่คุณฉันทิชย์ว่า หายแล้วจะชวนไปเที่ยวสหรัฐด้วยกัน…ได้ตรวจดวงจอมพลแล้ว เห็นว่าจะไม่รอด และก็เป็นจริง จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อนิจกรรม…และคุณฉันทิชย์ก็พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาอีกด้วย”[11]


ฉันทิชัย (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์)
ปกหนังสือประวัติสมเด็จโต โดย “ฉันทิชัย” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2495


ใน พ.ศ. 2495 เดียวกับที่ฉันทิชย์เริ่มจำหน่ายหนังสือสมเด็จโตนั้นเอง บรรณโลกยังให้กำเนิดหนังสืออีกสองเล่มสำคัญคือ ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) โดยพระมหาเฮง  อิฏฺฐาจาโร หรือต่อมาคือ พระครูกัลยาณานุกูล (พ.ศ. 2442-2529) แห่งวัดกัลยาณมิตร[12] และ ปริอรรถาธิบายเเห่งพระเครื่อง เล่ม ๑ พระสมเด็จฯ โดย ตรียัมปวาย (พ.อ.ประจน กิติประวัติ)[13] ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือพระเครื่องสมเด็จโตฉบับแรกของประเทศไทย


พระครูกัลยาณานุกูล (เฮง  อิฏฺฐาจาโร)
ปกประวัติสมเด็จโต โดย พระมหาเฮง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495


ย้อนกลับมาถึงหลักฐานประวัติสมเด็จโตชิ้นแรกสุดที่พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. 2473 ข้างต้น มีผู้อ้างอิงถึงงานชิ้นนี้ไว้มาก แต่ยังมิเคยพบการเผยแพร่ต้นฉบับลายมือนี้แต่อย่างใด เอกสารอ้างอิงเก่าแก่สุดเท่าที่ผู้เขียนสามารถเข้าถึงได้คือฉบับของ เทพย์ สาริกบุตร ซึ่งต่อมาได้รวมพิมพ์เมื่อราว พ.ศ. 2510 อนึ่ง พบการอ้างอิงถึงหลักฐานประวัติสมเด็จโตฯ ชิ้นนี้ในอนุสรณ์งานศพพระยาทิพโกษา เมื่อ พ.ศ. 2486 ที่จัดพิมพ์อุทิศโดยนายปรีดี พนมยงค์ มันสมองคณะราษฎรและผู้สำเร็จราชการขณะนั้น ในช่วงเวลาที่นายโชติ โลหนันทน์ บุตรชายของพระยาทิพโกษา ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ และเนื่องด้วยระยะนั้นยังอยู่ในห้วงเวลาการปฏิวัติภาษา เนื้อหาภายในทั้งเล่มจึงสะกดด้วยรูปแบบที่ขุนวิจิตรมาตราเรียกว่า ‘หนังสือจอมพล’ โดยว่า “นายทิพโกสา โลหนันท์ ชอบแต่งหนังสือต่างๆ เปนคำกลอนบ้าง เปนทำนองอ่านเล่นบ้าน เปนทำนองเทสนาบ้าง คือ…(8) ประวัติสมเด็ดพระพุทธาจารย (โต) วัดระคัง”[14]

ต้นฉบับประวัติสมเด็จโตของพระยาทิพโกษา (สอน) นี้ นายฉันทิชย์เคยเอ่ยอ้างไว้เมื่อพิมพ์หนังสือของเขาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2495 ว่า

“มีผู้สนใจในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นอย่างยิ่งอยู่ผู้หนึ่ง ท่านผู้นี้คือ พระยาทิพโกษา ท่านได้ค้นคว้าเรื่องของสมเด็จพระพุฒาจารย์ไว้มาก ตลอดจนกระทั่งได้พยายามค้นหาประวัติพระพิมพ์ที่สมเด็จได้สร้างขึ้นทุกลักษณะ”[15] และกล่าวถึงต้นฉบับที่ได้มาว่า “ที่ท่านเจ้าคุณทิพโกษาได้เขียนไว้ ข้าพเจ้าได้รับบันทึกนี้จากนายนาวาโทพระพิมลเสนี รน. ด้วยการฝากพระจำนงวินิจฉัยไปให้ข้าพเจ้าอีกทอดหนึ่ง”[16]


ประวัติสมเด็จโต ของ ฉันทิชัย ฉบับสมบูรณ์ครบ 46 บท พ.ศ. 2509


ในขณะที่พระมหาเฮง อิฏฺฐาจาโร ก็อ้างถึงในคำนำในหนังสือประวัติสมเด็จโตพิมพ์ครั้งแรกปีเดียวกันนั้นไว้ว่า

“ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2492 นายศิริ ไทรหอมหวน เปรียญ ข้าราชการกระทรวงกลาโหม ได้นำเรื่องประวัติพร้อมด้วยรูปฉายาลักษณ์ของท่านมาถวายข้าพเจ้า เรื่องประวัตินั้น พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) รวบรวมและเรียบเรียงภายใต้ชื่อว่า ‘ประวัติขรัวโต’ พิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ฉะบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2485 เมื่อพิเคราะห์ตามเรื่องประวัติ ข้าพเจ้ารู้สึกเลื่อมใสในเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ยิ่งนัก”[17]

ด้วยเหตุนี้ ในท้ายเล่มมหาเฮงจึงได้คัดลอก ‘ประวัติขรัวโต’ ของพระยาทิพโกษา (สอน) ในส่วนบันทึกความจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 16 ภาพตีพิมพ์ไว้ในท้ายเล่มฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495 หน้า 206-214. ทันทีที่หนังสือเล่มนี้เผยแพร่ออกไป พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ได้ส่งจดหมายด้วยลายมือลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ถึงพระมหาเฮงแสดงความชื่นชมถึงหนึ่งหน้ากระดาษ ดังปรากฏความท่อนหนึ่งว่า “…ผมอ่านจบแล้ว ออกความเห็นได้ว่าหนังสือที่คุณมหาแต่งขึ้นนี้ ค้นคว้าและแต่งได้เป็นอย่างดี ไม่แพ้หนังสือ ‘วิทยานิพนธ์’ ที่แต่งขึ้นเพื่อรับปริญญาในมหาวิทยาลัย และทั้งแต่งด้วยสำนวนโวหารที่น่าอ่านด้วย ผมจึงขอแสดงความยินดี…”[18]

บันทึกพระยาทิพโกษาฉบับสมบูรณ์จัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะที่ผู้เขียนพบปีลึกสุด ได้แก่เมื่อครั้งงานศพของบุตรชายนายโชติ โลหนันทน์ เมื่อ พ.ศ.2512 ที่พิมพ์เฉพาะ ‘ตอนต้น’ และพิมพ์รวมเล่ม ‘ตอนปลาย’ ถัดมาหนึ่งปีในหนังสืองานศพของนางส้มจีน ทิพโกษา (โลหนันทน์) หนึ่งในภริยาของผู้แต่งประวัติสมเด็จโตท่านนี้ คำปรารภของธิดาผู้วายชนม์กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย และมีศรัทธาที่จะพิมพ์ทั้งตอนต้นและตอนปลายให้จบเป็นเล่มเดียวกันในคราวนี้ จึงได้เรียนปรึกษาอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ซึ่งท่านได้เคยกรุณารับภาระช่วยคัดลอกจากต้นฉบับเมื่อครั้งนั้น ท่านก็เห็นด้วยและกรุณารับช่วยต่อไป ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ไว้อย่างสูง ณ ที่นี้ด้วย ที่มีส่วนช่วยให้ต้นฉบับเดิมซึ่งเป็นลายมือแบบโบราณของคุณพ่อ เปลี่ยนสภาพมาเป็นหนังสืองดงามจำนวนพันเล่มขึ้น[19]


หนังสืองานศพภริยาพระยาทิพโกษา พ.ศ. 2513


นับจากการพิมพ์ครั้งนั้นเรื่อยมาจึงมักปรากฏข้อความที่นายเทพย์ สาริกบุตร เขียนไว้ในทุกพิมพ์ว่า “ได้เคยมีผู้จัดพิมพ์ชีวประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ขึ้นมาแล้วเป็นหลายฉบับด้วยกัน เฉพาะฉบับที่จัดพิมพ์ขึ้นนี้ เป็นฉบับบันทึกของ มหาอำมาตย์ พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) ซึ่งต้นฉบับทั้งหมดนี้ได้ตกทอดมาอยู่ที่ข้าพเจ้า”[20] และว่า “จบบันทึกประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ฉบับของมหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพโกษา ซึ่งเป็นฉบับที่รวบรวมโดย ม.ล. พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ได้รวบรวมขึ้นปี พ.ศ. 2473 ตามคำโคลงตอนท้ายดังนี้

ประวัติคัดข้อย่อ   คำขาน

สมเด็จพุฒาจารย์   เจอดไว้

โต, นามชื่อเดิมจาน   จารึก เรื่องมี

เชิญอ่านเชิญฟังให้   ถ่องแท้แปลความ ฯ

ลงมือที่สิบห้า กรกฎ

วันที่สามกันย์หมด  แต่งแก้

พ.ศ. ล่วงกำหนด   สองสี่ เจ็ดตรี

เดือนหนึ่งมีเศษแท้   สิบเก้าวันตรง ฯ

ได้จัดพิมพ์ขึ้นตามข้อความเดิมในต้นฉบับทุกประการ โดยมิได้แก้ไขในเรื่องศักราช วัน เดือนปี เลย เทพย์ สาริกบุตร 93 ซอยหลังสวน เพลินจิต พระนคร”[21] อย่างไรก็ดี พบว่าในการพิมพ์ชั้นหลังมีการตัดโคลงตอนจบทิ้งอย่างน่าเสียดาย


โหราจารย์ชื่อก้อง เทพย์ สาริกบุตร
ปกหนังสือของเทพย์ สาริกบุตร ฉบับแรกๆ พ.ศ. 2497 ภายในจัดพิมพ์คาถาชินบัญชรพร้อมสรรพคุณ (เครดิตภาพ ทวีสิทธิ์ เปล่งสิริวัฒน์)


อีกหนึ่งเกร็ดประวัติสมเด็จโตของพระยาท่านนี้ คือการเชื่อมโยงพระมหาเถระท่านนี้กับเรื่องราวแม่นากพระโขนงเป็นครั้งแรก![22] ครั้นเมื่อได้รับการจัดสร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว จึงมักพบฉากสมเด็จโตสวดคาถาชินบัญชรยามเผชิญปีศาจสุดฮิตของสังคมไทย ทว่ากลับเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่บันทึกของพระยาทิพโกษานี้ไม่พบการเอ่ยถึง ‘คาถาชินบัญชร’ แต่อย่างใดเลย

ด้านบันทึกเพียงหนึ่งเดียวของชาวต่างประเทศที่ได้พบปะเสวนากับสมเด็จโต ได้แก่ชาวเยอรมันนามว่า อดอล์ฟ บาสเตียน Adolf Bastian (พ.ศ. 2369-2448) ขณะเดินทางเข้าประเทศสยามสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2405 พร้อมบันทึกเหตุการณ์นี้ในต้นฉบับหนังสือภาษาเยอรมันชื่อว่า ‘Reisen in Siam im Jahre 1863’ ได้ถ่ายทอดครั้งแรกที่เข้าพบไว้ว่า (ฉบับแปลภาษาอังกฤษจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus)  “I was told that the very paragon of religious knowledge was the abbot of Vat Rakang (monastery of the bells), one Achan To, and so I spent my first free time introducing myself to him. He received me with great reserve…”[23]

แปลไทยโดยสังเขปได้ว่า “ข้าพเจ้าได้รับการบอกเล่าว่าเพชรน้ำหนึ่งในเรื่องความรู้ศาสนาคือสมภารวัดระฆัง อาจารย์โต ดังนั้นข้าพเจ้าได้ใช้เวลาว่างเข้าไปแนะนำตัวต่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านปฏิสันถารด้วยความสงวนท่าทีอย่างยิ่ง…” ทั้งนี้ในประวัติสมเด็จโตทั้งของฉันทิชัยและพระมหาเฮงเคยอ้างถึงการพบและสนทนากับชาวต่างประเทศที่อ้างว่า ‘ฝรั่งมิชชันนารี’ เรื่องมีอยู่ว่า

“คราวหนึ่งพวกฝรั่งมิชชันนารีไปหาเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ สนทนากันในตอนหนึ่ง ฝรั่งถามว่า ‘ใจกลางโลกอยู่ที่ไหน?’ ท่านย้อนถามว่า ‘ก็โลกกลมหรือแบนล่ะจ๊ะ?” ฝรั่งตอบว่า ‘โลกกลม’ ท่านจึงเอาไม้ปักลงที่พื้นดิน บอกว่า ‘นี่แหละจ้ะใจกลางโลก ถ้าไม่เชื่อก็เชิญวัดดูซิจ๊ะ’ ฝรั่งต่างพากันยกย่องสรรเสริญ ว่าท่านมีปฏิภาณว่องไวเฉียบแหลมมาก (อุปมาว่าโลกกลมดังลูกบอลล์ เมื่อเอาเข็มหมุดปักลงที่ใดๆ ที่ตรงนั้นก็เป็นศูนย์กลางของลูกบอลล์นั้นแล)”[24]


‘สมเด็จโต’ vs. ‘สมเด็จเจ้าพระยาช่วง


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อายุอ่อนกว่าสมเด็จโต 20 ขวบปี จากบันทึกของพระยาทิพโกษา (สอน) พบว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ทั้งคู่มีโอกาสพบปะกัน ซึ่งมีทั้งเรื่องขัดเคืองและขำขัน ดังกรณีแรกที่พระสร้างความขุ่นหมองซึ่งกันและกันว่า

“ครั้งหนึ่งสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) นิมนต์เข้าไปเทศน์ที่จวน สมเด็จเจ้าพระยาจุดเทียน พระเทพกวีขึ้นธรรมาสน์ ครั้งรับศีลแล้ว พวกหัวเมืองเข้ามาหาสมเด็จเจ้าพระยาหมอบกันเป็นแถว ส่วนตัวเจ้าพระยานั้นเอกเขนกริมน้ำขาไขว่ห้างกำลังพระเทศน์ พระเทพกวีเลยเทศน์ว่า สัมมามัวรินกินน้ำชา มิจฉาหมอบก้มประนมมือ สมเด็จเลยบาดหูลุกเข้าเรือน ส่วนพระเทพกวี[25]ก็ลงจากธรรมาสน์กลับวัดระฆัง ข่าวว่าตึงกันไปนาน”[26]

และในทางกลับกัน อีกคราวสร้างความบันเทิงให้แก่โยมโดยฉันทิชัยสรุปความว่า

“เขาว่า สมเด็จเจ้าพระยา เมื่อหม่อมเล็ก ของท่านถึงแก่กรรมลง ท่านมีความอาลัย ไม่ใคร่สบาย จึงนิมนต์ท่านขรัวโตไปเทศน์เพื่อบรรเทาทุกข์ ท่านขรัวโตก็ไป พอขึ้นธรรมาสน์ให้ศีลบอกศักราช ตั้ง นะโม และว่าจุณณียบท กัณฑ์ชูชก พร้อมขึ้นตะหาภาสิงครเถ ฯ ในเนื้อความของท่านเจ้าภาพที่แต่งไว้ สมเด็จเจ้าพระยาก็ยิ้มแย้มแจ่มใสสิ้นความอาลัยที่เป็นทุกข์ พวกข้าราชการพ่อค้าพาณิชย์ทั้งหลายที่คอยฟังอยู่ที่นั้น ก็พากันร่าเริงไปทั้งหมด การที่ซบเซาเหงาหงอยก็หายไปสิ้น”[27] ซึ่งในฉบับของพระยาทิพโกษา (สอน) ถึงกับบรรยายไว้ว่า “สมเด็จพระประสาทก็ลืมโศกถึงหม่อมเล็ก ตั้งกองหัวเราะกิ๊กก๊ากไปทั้งบ้าน…ลงท้ายเหนื่อยไปตามกัน รุ่งขึ้นที่บ้านนั้นก็พูดลือกันแต่ชูชกสมเด็จเทศน์ ฝ่ายสมเด็จพระประสาทก็ลืมโศก ชักคุยแต่เรื่องความชูชก ตรงนั้นผู้นั้นๆ แต่ง ไม่มีใครร้องไห้ถึงหม่อมเล็กมานาน”[28]


2 เรื่องเล่า ‘สมเด็จโตจุดไฟเข้าวัง’


หนึ่งในเรื่องเล่าคลาสสิกของสมเด็จโตคือการจุดไฟเดินในที่แจ้งเข้าสู่วัง พฤติการณ์นี้ของท่านอุบัติขึ้นอย่างคล้ายคลึงกันอยู่ 2 ครั้ง 2 คราว คือ

หนึ่งเรื่องเล่าของพระยาทิพโกษา (สอน) ภายหลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 4  ไม่นาน โดยว่า

 “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านจุดเทียนเล่มใหญ่ เข้าไปในบ้านสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) คือสมเด็จพระประสาท ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เอาคัมภีร์หนีบรักกะแร้ ตาลปัตรทำหางเสือ จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปที่บ้านสมเด็จพระประสาทในเวลากลางวันแสกแสก เดินรอบบ้านสมเด็จพระประสาท (คลองสาร) สมเด็จพระประสาทอาราธนาขึ้นบนหอนั่งแล้วว่าโยมไม่สู้มืดนักดอกเจ้าคุณ อนึ่งโยมนี้มีใจแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาแน่นอนมั่นคงเสมอ อนึ่งโยมทนุบำรุงแผ่นดินโดยเที่ยงธรรม และตั้งใจประคับประคองสนองพระคุณโดยตรงโดยสุจริตคิดถึงชาติและศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่ตั้งตรงอยู่เป็นนิตย์ ขอเจ้าคุณอย่างปริวิตกให้ยิ่งกว่าเหตุ นิมนต์กลับได้”[29]

ในอีกด้านหนึ่งขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 ครองราชย์อยู่นั้น ก็มีอีกเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกันถึง 2 ฉบับโดยของ พระมหาเฮง ว่า

“ได้ฟังเล่ากันมา ว่าเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เกรงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จะทรงฝักใฝ่แต่ในเรื่องละคร (ว่าละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ ตัวละครเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามโดยมาก) ท่านใคร่จะทูลเตือน แต่จะทูลเตือนโดยตรงก็เกรงพระราชอัธยาศัย วันหนึ่งท่านจึงแสร้งทำเป็นปริศนาธรรม คือจุดใต้ถือเข้าไปในวังเวลากลางวันแสก ๆ เป็นประหนึ่งว่าที่ในพระราชฐานมีแต่กลางคืนไม่มีกลางวันเลย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทอดพระเนตรเห็น ดำรัสว่า ‘ขรัวเขารู้แล้ว ๆ’ ว่าแล้วท่านเอาใต้นั้นทิ่มกับกำแพงวังดับไฟ แล้วเดินกลับออกมา”[30]

และฉบับของ ฉันทิชัย ว่า  “เวลากลางวันแสก ๆ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้จุดเทียนเล่มใหญ่เดินเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง พอพวกในวังเห็นต่างพากันแตกตื่นมาดูกันเป็นอันมาก จนความนั้นทราบไปถึงพระกรรณ แล้วรับสั่งให้นิมนต์เข้าไปเฝ้า เมื่อเสด็จออกมาพบกับท่านแล้วจึงรับสั่งว่า ‘โยมไม่มืดดอก’ ครั้นรับสั่งเท่านั้นแล้วก็เสด็จขึ้น”[31]

พระมหาเฮงยังได้ทำเชิงอรรถกรณีดังกล่าว เทียบเคียงของฉบับอื่นไว้ด้วยว่า

“ในหนังสือเรื่อง “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)” โดย “ฉันทิชัย” กล่าวว่า ในรัชกาลที่ 5 เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ได้จุดไต้เข้าไปหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลากลางวันอีกครั้ง 1 ด้วยท่านเห็นว่าเวลานั้นบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ

อนึ่ง ในหนังสือพิมพ์ไทย ฉบับประจำวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2493[32] กล่าวถึงนรินทรกลึง[33]ถือโคมเข้าวังเวลากลางวัน นรินทร์กลึงจะทราบเรื่องเดิมของเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ มาอย่างไรหาทราบไม่ แต่นรินทร์กลึงทำดังนั้นดูน่าประหลาด จึงคัดความตอนนั้นมาลงไว้ด้วย ดังนี้ “ในตอนในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคตใหม่ ๆ นรินทรกลึง (พระพนมสารนรินทร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก) ถือโคมเข้าไปในวังเวลากลางวัน ทหารไม่ยอมให้เข้า และได้มีผู้ถามนรินทรตอบว่า บ้านเมืองมันมืดมนนัก มองดูอะไรไม่ค่อยเห็น จึงต้องใช้ตะเกียงส่องมา”[34]


ภาพนายนรินทร์กลึง โดย Peter Koret https://www.facebook.com/photo/?fbid=10153621530334511


สมเด็จโตเทศนา สมเด็จเจ้าพระยาช่วงสดับ?

หนังสือ เทศน์ 12 นักษัตร ตรวจแลแต่งเพิ่มเติมต่อท้ายโดย
พระราชกระวี สิริจันโท (จันทร์) ร.ศ. 130[35]


เทศน์ 12 นักษัตร พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454)


หนึ่งในผลงานเชิงประจักษ์ที่หลงเหลือของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) คือหนังสือ ‘เทศน์ 12 นักษัตร’ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ร.ศ. 130  (ปีแรกของรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2454) หนังสือเล่มนี้อาจนับได้ว่าเป็นการตีพิมพ์เทศนาแบบสมุดฝรั่งชิ้นแรกๆ ของสมเด็จโตเท่าที่ค้นพบ นอกเหนือจากหลักฐานชิ้นอื่นเช่น เอกสารลายมือ Manuscript ในรูปแบบสมุดไทยพับสาที่อ้างว่าเป็นของท่านสองชิ้นคือ ‘สมุดสมเด็จ’[36] และ ‘มูลปริยายสูตร’[37] (ความซับซ้อนพิสดารของพระสูตรแรกในมัชฌิมนิกายนี้นับเป็นเพียงพระสูตรเดียวในพระไตรปิฎกที่จบลงด้วย  “ภิกษุเหล่านั้นมิได้มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิของพระผู้มีพระภาค”[38] ) ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พบการพิมพ์แบบสมุดฝรั่งอีกชิ้นที่อ้างถึงคือ ‘สุภาษิตสอนศิษย์คำกลอน (พ.ศ. 2479)’[39]  


สมุดข่อย อักษรขอม ลายมือเจ้าประคุณสมเด็จฯ
หนังสือที่ระลึก 200 ปีชาติกาล เมื่อ พ.ศ. 2531 รวบรวมผลงานของสมเด็จโต


การพิมพ์ครั้งแรกนี้ เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ ‘พระราชกระวี’ ได้รับเป็นผู้ตรวจและแต่งอรรถาธิบายขยายความต่อท้าย ปรากฏคำนำบรรยายไว้ว่า

“หนังสือ ๑๒ นักษัตรเล่มนี้ พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ ได้ทรงพบในหนังสือเก่า เปนที่พอพระไทย จึงให้คัดมาเปนต้นฉบับ ขอให้พระราชกระวีเปนผู้ตรวจ เพื่อพิมพ์ขึ้นให้แพร่หลาย แลทรงเห็นว่าน่ากระดาดยังน้อย ขอให้ข้าพเจ้าแต่งเพิ่มเติมขึ้นอีก ในข้อที่จะเปนประโยชน์ พอเปนคติแก่ผู้อ่านผู้ฟัง ข้าพเจ้าเห็นว่า ๑๒ นักษัตรแลอริยสัจ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจาริย์แสดงไว้นี้ เปนของดีควรฟังเปนคติดีอยู่แล้ว จึงได้อธิบายโดยอัตโนมัติ ให้ลงสู่สมัยใหม่ของพวกเราอีกวาระหนึ่ง เปนการเพิ่มพูลสวนานุตริยกุศล ถ้าผู้ฟัง ๆ ด้วยศรัทธาไม่อาศรัยความประมาท อาจจักได้ที่พึ่งคือถึงพระไตรยสรณาคมโดยแท้ การพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น…”[40]


ภาพถ่ายพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) ถ่ายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2475 (ก่อนมรณภาพ 1 เดือนกับ 7 วัน) ที่มาhttps://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2109987359092620&id=104276196330423


เทศนาครั้งนี้ถือเป็นเรื่องเล่าอันชวนขบขันไม่น้อย จากความเดิมที่ระบุว่า ‘พระยาท่านหนึ่ง’ วานให้บ่าวไปนิมนต์สมเด็จโตเพื่อเทศนา ‘อริยสัจ 4′ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าเมื่อเจ้าประคุณสมเด็จมาถึงบ้านขึ้นธรรมาสน์ กลับขึ้นชนนีบท ’12 นักษัตร’ ว่า “มุสิโก อุสโภ พยัค์โฆ…สุกโร” (หนู วัว เสือ…หมู) ยังความมึนงงให้กับท่านพระยาและสัปปุรุษทายก เมื่อสอบกับบ่าวจึงทราบว่า “แจ้งหัวข้อกัณฑ์เทศน์ผิด”

อย่างไรก็ดี สมเด็จโตท่านแก้ให้ว่า “อาตมาภาพก็นึกอยู่แล้วว่า ผู้ไปนิมนต์จะลืมชื่ออริยสัจเสีย ไปบอกว่าท่านให้นิมนต์เทศน์สิบสองนักษัตร์ อาตมาภาพก็เห็นว่า สิบสองนักษัตร์นี้ คือเปนต้นทางของอริยสัจแท้ทีเดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนา…ครั้งนี้เปนบุญลาภของมหาบพิตรเปนมหัศจรรย์เทพยเจ้าผู้รักษาพระพุทธสาสนา จึงได้ดลบันดาลให้ผู้รับใช้เคลิบเคลิ้มไป…”[41]

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์บทเทศนาไว้ทั้งสิ้น 10 หน้า ส่วนหน้าที่ 11-25 ล้วนเป็นอรรถาธิบายแบบพิสดารธรรมเทศนาชิ้นพิเศษนี้  โดยเจ้าคุณอุบาลีจันทร์ครั้งยังครองสมณศักดิ์ ‘ชั้นราช’ เกริ่นไว้ว่า

“เมื่อได้อ่านเรื่องเทศนา ของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจาริย์ (โต) จบลงแล้ว ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใส ต่อวาทะถ้อยคำของท่านอย่างประหนึ่งว่าได้นั่งฟังอยู่ด้วยในเวลานั้น คิดขอบใจท่านผู้อุสาหะเรียบเรียงพิมพ์ขึ้นไว้ให้พวกเราได้ฟังเทศน์ เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจาริย์ ซึ่งล่วงลับไปแล้วนานประมาณกาลแต่ท่านแสดง ๑๒ นักษัตร์ กัณฑ์นี้มาถึงบัดนี้อยู่ในระหว่าง ๖๐ ปี นับว่าคนละสมัยกับพวกเรา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไพเราะจับใจเพราะเปนโวหาราธบาย เกิดจากปรีชาญาณของท่านแท้ ทำให้พวกเรารู้สึกได้ว่านักปราชญ์ชั้นเก่าๆ ท่านเฉียบแหลมว่องไวมาก กลับร้ายให้เปนดี บำรุงสามัคคีให้ปรากฏในที่นั่งอันเดียวได้ น่าเลื่อมใสจริงๆ แต่เมื่อฟังแล้วตรองตาม ดูก็ยังสดๆชื่นๆ…”[42]

ข้อเฉลยที่ว่า ‘พระยาท่านหนึ่ง’ คือใครนั้น ปรากฏอยู่ในบันทึกของพระยาทิพโกษา (สอน) ว่าคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)? ผู้แต่งประวัติฉบับนี้บันทึกไว้ว่า

“ครั้นล่วงมาอีกปี สมเด็จพระประสาท จัดการปลงศพหม่อมเล็ก จึงใช้ให้ทนายไปนิมนต์สมเด็จ ฯ มาเทศนาอริยสัจหน้าศพ ทนายไปถึงสมเด็จ ฯ ที่วัดแล้วกราบเรียนว่า พณ ฯ ให้อาราธนาพระเดชพระคุณไปแสดงธรรมหน้าศพพรุ่งนี้ เพลแล้วขอรับกระผม

ฝ่ายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านจึงถามว่า จะให้ฉันเทศน์เรื่องอะไรจ๋า ทนายลืมคำว่าอริยสัจเสีย ไพล่ไปอวดดีเรียนท่านว่า ให้เทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แจ้งชัดแล้วว่าเขาลืมและท่าก็ยิ้มแล้วรับว่า ๑๒ นักษัตรนั้นฉันเทศน์ดีนักจ้ะ ไปเรียนท่านเถิดว่าฉันรับแล้วจ๊ะ”[43]

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือที่เขียนขึ้น 22 ปีต่อมาของทั้ง ‘ฉันทิชัย’ และ ‘พระมหาเฮง’ ก็ไม่ได้เฉลยว่า ‘พระยาท่านหนึ่ง’ คือสมเด็จผู้ทรงอำนาจท่านนี้ โดยฉันทิชัยยังคงทิ้งปริศนาไว้เพียง “ท่านพระยาผู้หนึ่งเคยนิมนต์พระมาแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังอยู่เนือง ๆ”[44] ขณะที่พระมหาเฮงให้ข้อมูลเลยไปถึงว่าคือพระยาโชฎึกราชเศรษฐีชื่อจ๋อง ดังในย่อหน้านี้ว่า

เทศนา ๑๒ นักษัตรนั้น เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ได้แสดงที่บ้านท่านพระยาผู้หนึ่ง (นัยว่าพระยาโชฎึกราชเศรษฐีชื่อจ๋อง) มีผู้จดบันทึกไว้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ทรงค้นพบอยู่ในพวกหนังสือเก่า ได้คัดลอกมาขอให้ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส เมื่อยังเป็นที่พระราชกวีตรวจและทำคำอธิบายเพิ่มเติมไว้ต่อท้าย โปรดให้พิมพ์แจกจ่ายเป็นสาธารณกุศลเป็นครั้งแรกจำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม เมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ปรากฏว่ามีคนนิยมอ่านกันมาก ต่อมาได้จัดพิมพ์กันอีกหลายครั้ง”[45]

อนึ่ง เทศนา 12 นักษัตรนี้ ถือได้ว่าเป็นผลงานของสมเด็จ ฯ ที่ผลิตซ้ำจำนวนมากที่สุด นับแต่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ร.ศ. 130 ฉบับนี้แล้ว เท่าที่พอจะบันทึกได้ต่อมาคือ 1.งานศพหม่อมขาว บุนนาค ณ วัดประยูรวงศาวาส พ.ศ. 2466 2.งานศพ นายใต้เพ็ง จุณณานนท์  พ.ศ. 2467 3.งานศพรองอำมาตย์ตรี ขุนเกษมพงศ์พิพัฒน์ (เจริญ เกษมพงศ์) ณ วัดอนงคาราม พ.ศ. 2468 4.งานศพเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง จนฺทโชติ) ณ วัดระฆังโฆสิตาราม พ.ศ. 2478 5.งานศพนางเหรียญ เวชรักษ์ ณ วัดสังเวชวิศยาราม พ.ศ. 2478 6.งานศพนายเขียน พิริยกิจ ณ วัดสระเกศ 7.งานศพอุบาสิกากิจ ตุลยานนท์ (มารดา) และ นายธรรมนูญ ตุลยานนท์ (บุตร) พ.ศ. 2481[46]และ 8.งานศพ นางสาวดวงกมล วุฒิศาสน์ พ.ศ. 2505


ส่งท้าย


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)


ความที่เรื่องราวของสมเด็จโตบังเกิดขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ทอดผ่านช่วงเวลาถึง 5 รัชกาลด้วยอายุที่ยืนยาว 84 ปี อีกทั้งกว่าชีวประวัติของพระมหาเถระรูปนี้จะได้รับการรวบรวมเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2473 ก็ทิ้งช่วงเกือบ 60 ปีหลังมรณกาล (พ.ศ. 2415) ผ่านหลากเรื่องเล่า ‘มุขปาฐะ’ จากบุคคลร่วมสมัยที่แม้จะได้ทันพบพระสุปฏิปันโนรูปนี้ ทว่าด้วยสังขารหลายท่านที่เข้าสู่วัยชราเป็นไม้ใกล้ฝั่งกันหมดแล้ว ความแม่นยำของข้อมูลย่อมคลาดเคลื่อนและลักลั่นไม่สอดคล้องไปกับบริบทหลายแห่งเมื่อนำมาเทียบเคียงกับหลักฐานเชิงเอกสารร่วมสมัยเดียวกัน

การค้นคว้าเรื่องราวของผู้คนในสังคมไทยในอดีตระดับยุคของสมเด็จ (โต) นี้ยังคงหวังพึ่งพาการหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น แน่นอนว่าเอกสารชั้นต้นระดับ สมุดไทยใบลาน ยังเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะวงการพระสงฆ์ คงเป็นการดีไม่น้อยหากวงการศึกษาให้ความสำคัญกับการเร่งปริวรรตคัมภีร์โบราณแข่งกับมอดปลวกที่กำลังไล่แทะขุมทรัพย์ทางปัญญาเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในที่สถานที่ต่างๆ  

ในแง่เรื่องเล่าของเจ้าประคุณสมเด็จองค์นี้ก็นับว่ากอปรด้วยความบันเทิง รูปแบบการสอนของท่านหลากหลายวาระมักทำให้ประหวัดนึกถึง ‘ปริศนาธรรม’ อย่าง ‘โกอาน (公案)’ ที่พระเซนมักใช้กัน[47] กล่าวจำเพาะเทศนา 12 นักษัตร ปรากฏลักษณะของความพลิกแพลงไร้กระบวนท่าดูราวจะหลุดกรอบจากพุทธศาสนาเถรวาท หากกระนั้นก็ยังคงกุศลโลบายอย่างแยบคายในการน้อมนำให้ผู้รับฟังได้รับสาระเต็มอิ่มจากพุทธธรรมทุกประการฉะนี้แล


หนังสือพระเครื่องมักปรากฏรูปสมเด็จบนภาพปก




[1] สอน โลหนันทน์ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา, อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางส้มจีน ทิพโกษา (โลหนันทน์) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 9 พฤศจิกายน 2513, (มงคลการพิมพ์), น.88.

[2] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี พระอุดมโยธาธิยุต (สด รัตนาวะดี) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส 16 มิถุนายน พ.ศ.2503, (กำจายการพิมพ์), น.85.

[3] หนังสือเรื่องเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ปีฉลู ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ตรัสถึงรูปเหมือนสมเด็จโตที่วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง ว่า “รูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มีเค้าจำได้ แต่หนุ่มไปกว่าเมื่อเวลาถึงมรณภาพสักหน่อยหนึ่ง”

[4] ปรีดี พนมยงค์, การปลูกและการจัดบ้านตามหลักสุขาภิบาล แจก ไนงานพระราชทานเพลิงสพ นายทิพโกสา โลหนันทน์ นะเมรุวัดสังเวชวิสยาราม 13 มิถุนายน 2486, (มหาวิทยาลัยวิชาธัมสารทและการเมือง)  นอกเหนือจากหนังสืออนุสรณ์งานศพเมื่อ พ.ศ.2486 ภาพและประวัติสังเขปยังหาอ่านได้ใน เอนก นาวิกมูล, บางกอกกับหัวเมือง, บทที่ 9 พระยาทิพโกษา ผู้เขียนเรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์โต กับแม่นากพระโขนง, พ.ศ.2547, (แสงดาว), น.112-116.

[5] พระธรรมถาวร (ช่วง จนฺทโชติ) ดู https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=14983

[6]ฉันทิชยาลัย, พระราชทานเพลิงศพ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2516, ม.ป.ท.

[7] ส.ศิวรักษ์, ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ใน ฉันทิชยาลัย  พระราชทานเพลิงศพ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2516.

[8] ฉันทิชัย (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์),สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต),พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2495,(โรงพิมพ์อักษรประเสริฐ).

[9] ดู ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ คำไว้อาลัยใน ไชยานุสรณ์ ที่ระลึก ในงานฌาปนกิจ นายไชย เอี่ยมประเสริฐ  ณ เมรุวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 21 ตุลาคม 2505, (อักษรประเสริฐ).

[10]ฉันทิชัย (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์), ประวัติและเกียรติคุณ ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2509, (โรงพิมพ์อักษรประเสริฐ).

[11] เปลื้อง ณ นคร, อนุสรณ์แก่ฉันทิชย์ ใน ฉันทิชยาลัย  พระราชทานเพลิงศพ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๖.

[12]ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) รวบรวมและเรียบเรียง,อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฺฐาจาโร ป.ธ.3) ณ เมรุวัดกัลยาณมิตร วันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2529.

[13]ตรียัมปวาย (นามแฝง),ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่ 1 พระสมเด็จฯ, พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2546, (สำนักพิมพ์ไทภูมิ).

[14] ปรีดี พนมยงค์, การปลูกและการจัดบ้านตามหลักสุขาภิบาล แจก ไนงานพระราชทานเพลิงสพ นายทิพโกสา โลหนันทน์ นะเมรุวัดสังเวชวิสยาราม 13 มิถุนายน 2486, (มหาวิทยาลัยวิชาธัมสารทและการเมือง). น.ด.

[15] ฉันทิชัย, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), พิมพ์ครั้งที่ 3 วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2495, (อักษรประเสริฐ), น.163.

[16] ฉันทิชัย, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 1 วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2496, (อักษรประเสริฐ), น.50. 

[17] พระมหาเฮง อิฏฺฐาจาโร, ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2495, (ไทยเขษม), คำนำ.

[18] สมุดสมเด็จ พ.ศ.2531 อนุสรณ์ 200 ปี แห่งชาตะกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม, น.15.

[19] จรัสสี สามะพุทธิ, ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต ) จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางส้มจีน ทิพโกษา (โลหนันทน์) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 9 พฤศจิกายน 2513, (มงคลการพิมพ์), น.คำปรารภ.

[20] เทพย์ สาริกบุตร, บรรณานุสรณ์ ใน ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสิน กลิ่นอดุง ณ เมรุวัดแค อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ, วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2514, (โรงพิมพ์คุรุสภา).

[21] ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายปาน มงคลสินธุ์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2514, (โรงพิมพ์วิทยากร), น.93.

[22] ดู “แม่นาก” ผีชาวบ้านเริ่มเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พระผู้ใหญ่ได้อย่างไร เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_22373 และ นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปริทัศน์ผีไทย ก่อนชวนอ่านเรื่อง “ไม่เอาผี” ของเจ้านายสยาม, ปาจารยสาร ปีที่ 51 ฉบับที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.2565), น.50-116.

[23] Adolf Bastian, A Journey in Siam (1863) translated by Walter E.J.Tips,White Lotus Press 2005,pp.63-65.

[24] พระมหาเฮง อิฏฺฐาจาโร, ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2495, (ไทยเขษม), น.186-187.

[25] สมณศักดิ์ของสมเด็จโต ไล่เรียงปีดังต่อไปนี้ พระธรรมกิติ พ.ศ.2395 พระเทพกระวี พ.ศ.2397 จนเมื่อพระพุฒาจารย์ (สน) มรณภาพ จึงทรงสถาปนาสมณศักดิ์นี้เมื่อ เดือน 10 ขึ้น 9 ค่ำ ปีวอก พ.ศ.2407

[26] สอน โลหนันทน์ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา, อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางส้มจีน ทิพโกษา (โลหนันทน์) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 9 พฤศจิกายน 2513, (มงคลการพิมพ์), น.66-67.

[27] ฉันทิชัย, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 1 วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2496, (อักษรประเสริฐ), น.48.

[28] สอน โลหนันทน์ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา, อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางส้มจีน ทิพโกษา (โลหนันทน์) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 9 พฤศจิกายน 2513, (มงคลการพิมพ์), น.86.

[29] สอน โลหนันทน์ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา, อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางส้มจีน ทิพโกษา (โลหนันทน์) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 9 พฤศจิกายน 2513, (มงคลการพิมพ์), น.85.

[30] พระมหาเฮง อิฏฺฐาจาโร, ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2495, (ไทยเขษม), น.182.

[31] ฉันทิชัย, ประวัติและเกียรติคุณ ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2509, (อักษรประเสริฐ), น.536.

[32] สันนิษฐานว่าเป็นฉบับรายงานการเสียชีวิตของนายนรินทร์ ภาษิต ที่ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจที่บ้านพักริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2493 ด้วยวัย 77 ปี ดู แนวคิดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ของเขาใน ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา, “นรินทร์กลึง” คนขวางโลก, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2536, (มติชน), น.142-144.

[33] ดูประวัติใน Peter Koret, Man Who Accused the King of Killing a Fish, The: The Biography of Narin Phasit of Siam, 1874-1950, 2012 (Silkworm) และ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา, “นรินทร์กลึง” หรือ – นรินทร์ ภาษิต คนขวางโลก สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์แล้วถึง 3 ครั้ง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2536.

[34]พระมหาเฮง อิฏฺฐาจาโร, ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2495, (ไทยเขษม), น.183.

[35] ปรับปรุงขยายความจากบทความของผู้เขียน ดู นริศ จรัสจรรยาวงศ์. เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท, พ.ศ.2399-1475) พระนักปราชญ์อีสาน กับ สรรพหนังสือในตำนาน, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 40 ฉบับที่ 10 สิงหาคม 2562, น.114-137.

[36] ปรีชา เอี่ยมธรรม คำนำ, สมุดข่อยโบราณ ลายมือเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ใน ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) , โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, พ.ศ.2542, (คุรุสภา), น.108-159.

[37] สมุดสมเด็จ พ.ศ.2531 อนุสรณ์ 200 ปี แห่งชาตะกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม, น.126-145.

[38] พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เข้าถึงได้จาก https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=1

[39] สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), สุภาษิตสอนศิษย์คำกลอน กรมศึกษาธิการ พิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดปากน้ำ ปากคลองภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี พ.ศ.2479, (โรงเรือนช่างพิมพ์ วัดสังเวช).

[40] เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจาริย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม, พระราชกระวี สิริจันโท (จันทร์) วัดบรมนิวาศเปนผู้ตรวจแลแต่งเพิ่มเติมต่อท้าย, พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ ทรงสร้างเพื่อแจกแก่พุทธบริษัท ผู้ต้องการเปนสาธารณกุศล ) พิมพ์คราวแรก 2000ฉบับ ร,ศ,130, (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ).

[41] อ้างแล้ว, น.3.

[42] อ้างแล้ว , น.10.

[43] สอน โลหนันทน์ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา, อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางส้มจีน ทิพโกษา (โลหนันทน์) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 9 พฤศจิกายน 2513, (มงคลการพิมพ์), น.86.

[44] ฉันทิชัย (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์),สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต),พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2495,(โรงพิมพ์อักษรประเสริฐ), น.34-35.

[45] พระมหาเฮง อิฏฺฐาจาโร, ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2495, (ไทยเขษม), น.84.

[46] อ้างแล้ว.

[47] เสวนา “เซนล้อมหายาน” วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 เนื่องในวาระรำลึก ๑๐๐ วัน ธีระ วงศ์โพธิ์พระ (ธีรทาส) นาทีที่ 33 https://www.youtube.com/watch?v=P6TZTc67WS0    


หมายเหตุ : บทความนี้พิสูจน์อักษร โดย สุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save