fbpx
การรักษาต้องสงสัย : เมื่อความรู้ทางการแพทย์พร้อมที่จะเก่าเสมอ

การรักษาต้องสงสัย : เมื่อความรู้ทางการแพทย์พร้อมที่จะเก่าเสมอ

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ความรู้และความก้าวหน้าทางการแพทย์มีประโยชน์มากมายมหาศาล การแพทย์สมัยใหม่ ความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัย และราคาที่ถูกลงของบริการทางการแพทย์ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคนตลอดช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

ในปี 1950 อัตราการตายของเด็กในกว่า 59 ประเทศเคยสูงถึง 1 ใน 5 ของจำนวนเด็กทั้งหมด แต่ในปี 2016 ไม่มีประเทศไหนที่มีอัตราการตายเด็กที่สูงในระดับนั้นอีกแล้ว กระทั่งประเทศโซมาเลียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่สภาพแวดล้อมแย่ที่สุดในโลก อัตราการตายในเด็กก็เหลือเพียงแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น

ไม่ใช่แค่เด็กตายน้อยลงเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็มีอายุยืนยาวมากขึ้นด้วย อายุเฉลี่ยของประชากรโลกสูงขึ้นจากประมาณ 41.6 ปีในช่วงทศวรรษ 1950 กลายเป็น 71.4 ปีในปี 2015 นั่นคือ มนุษย์มีอายุขัยเพิ่มขึ้นถึง 30 ปี ภายใต้ระยะเวลา 50 ปีของการพัฒนา

กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ความรู้ทางการแพทย์ถูกต้องและเชื่อถือได้เสมอไป มีหลายกรณีที่ความรู้ทางการแพทย์นำไปสู่ความสูญเสียอย่างไม่น่าเชื่อ!!

 

การให้เด็กแรกเกิดนอนคว่ำ : สาเหตุการตายของเด็กหลายหมื่นคน!

 

พ่อแม่มือใหม่จำนวนมากเข้าใจผิด หรือได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการท่านอนของเด็กทารกแบบผิดๆ ว่า ควรให้เด็กนอนคว่ำ  เพราะ “การให้ทารกนอนหงายมีข้อเสีย 2 ประการ คือ ถ้าเด็กอาเจียนจะมีโอกาสสำลักอาเจียน และมีแนวโน้มที่เด็กจะตะแคงศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งทำให้ศีรษะข้างนั้นแบน”

อันที่จริง คำแนะนำข้างต้นเคยเป็นคำแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในทางการแพทย์และกลายเป็นแนวปฏิบัติในโรงพยาบาล โดยนายแพทย์เบนจามิน สป็อก (Benjamin Spock) เป็นผู้ให้คำแนะนำดังกล่าว คุณหมอสป๊อกคือแพทย์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘การดูแลเด็กและทารก’ (Baby and Child Care) หนังสือขายดีที่กลายเป็นคัมภีร์ของทั้งผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพและพ่อแม่ ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรอยู่นานหลายสิบปี

คำแนะนำให้เด็กนอนคว่ำของคุณหมอสป๊อกถูกกลั่นกรองมาจากประสบการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คุณหมอสังเกตเห็นว่า ทหารที่หมดสติและถูกหามกลับมาด้วยการนอนหงายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าทหารที่นอนคว่ำ โดยสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากการสำลักเลือดและอาเจียนจนทำให้หายใจไม่ออก ด้วยชื่อเสียง บารมี และเหตุผลทางการแพทย์ ทำให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่านอนของคุณหมอสป๊อกถูกนำไปใช้กับเด็กจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้กลับมีส่วนทำให้เด็กทารกเสียชีวิตระหว่างนอนหลับกว่า 50,000 คนทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา แม้ไม่อาจโทษว่าการเสียชีวิตทุกกรณีเป็นเพราะคำแนะนำให้นอนคว่ำ แต่เมื่อเลิกใช้แนวทางปฏิบัตินี้และประชาสัมพันธ์ให้เด็กนอนหงายแทน การเสียชีวิตในลักษณะนี้กลับลดฮวบลง

ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 วงแพทย์เริ่มมีหลักฐานชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับผลร้ายของการให้เด็กทารกนอนคว่ำ แพทย์และสื่อจึงเริ่มรณรงค์ให้เด็ก ‘กลับมานอนหงาย’ (back to sleep) อีกครั้ง และใช้เวลาหลายปีกว่าสลายมายาคติเกี่ยวกับท่านอนของเด็กทารกในแวดวงการแพทย์ได้

ในสังคมไทย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย จำนวนไม่น้อยยังคงเข้าใจผิดเกี่ยวกับท่านอนที่เหมาะสมของเด็กทารกอยู่ หากใครมีญาติสนิท มิตรสหายที่กำลังเลี้ยงเด็กอ่อน ลองถามไถ่เกี่ยวกับท่านอนของเด็กดูสักนิด

 

การให้ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน : คำโฆษณาที่เกินจริงเกี่ยวกับการป้องกันหัวใจวาย

 

การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) เป็นวิธีการรักษาที่มีประโยชน์หลายประการสำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะการลดอาการร้อนวูบวาบทรมานที่ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญ แต่นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การให้ฮอร์โมนทดแทนเริ่มถูกนำไปโฆษณาถึงสรรพคุณอื่นๆ เช่น การเป็นยาเสริมความงาม การป้องกันโรคกระดูกพรุน และการป้องกันหัวใจวาย

จุดเริ่มต้นของความเข้าใจผิดในสรรพคุณของการใช้ฮอร์โมนทดแทนมีที่มาจากงานวิจัยทางแพทย์เอง โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มคนที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในระหว่างและหลังจากหมดประจำเดือนกับกลุ่มคนที่มีอาการคล้ายคลึงกันแต่ไม่เคยได้รับฮอร์โมนดังกล่าว ผลการศึกษาเบื้องต้นชี้ว่า ฮอร์โมนทดแทนลดความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง แต่โลกต้องใช้เวลากว่า 20 ปีจึงจะพบว่า ข้อสรุปดังกล่าวนี้มีความผิดพลาด

ในปี 1997 แวดวงทางการแพทย์ค้นพบข้อพิสูจน์เชิงประจักษ์ที่แน่ชัดว่า การให้ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้มีสรรพคุณในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจเลย มิหนำซ้ำ กลับเป็นต้นเหตุของอาการปวดหัว (แบบไม่ทราบสาเหตุ) และยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองและการเกิดโรคมะเร็งเต้านมด้วย

ตลอดกว่า 20 ปีของความเข้าใจผิด มีผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหลายล้านคนเริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทนยาวนานมากขึ้นภายใต้คำแนะนำของแพทย์ แม้จะบอกไม่ได้แน่ชัดว่า มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะการใช้ฮอร์โมนทดแทนมากน้อยเท่าไหร่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเข้าใจผิดเรื่องนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสตรีที่สั่งใช้ฮอร์โมนทดแทนทั่วโลกในวงกว้าง

 

น้ำมันอีฟนิงพริมโรส : ไม่อันตราย แต่สิ้นเปลือง

 

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 น้ำมันอีฟนิงพริมโรสเปิดตัวในฐานะทางเลือกของการรักษาผิวหนังอักเสบ ซึ่งเดิมมักใช้ครีมสเตียรอยด์ในการรักษา แต่มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียง น้ำมันอีฟนิงพริมโรสเป็นสารสกัดธรรมชาติที่ได้จากการสกัดดอกอีฟนิงพริมโรส มีส่วนประกอบสำคัญคือ กรดไขมันจำเป็นที่เรียกว่า กรดแกมมาไลโนเลนิก (gamma-linolenic acid หรือ GLA) ซึ่งความรู้ทางการแพทย์ในยุคนั้นรู้แน่ชัดแล้วว่า ร่างกายของผู้มีปัญหาผื่นผิวหนังอักเสบจะมีกระบวนการเผาผลาญ GLA ที่บกพร่อง ดังนั้น จึงมีการตั้งสมมติฐานว่า การให้ GLA เสริมจึงน่าจะช่วยรักษาโรคผิวหนังอักเสบได้

ทฤษฎีข้างต้นทำให้น้ำมันอีฟนิงพริมโรสกลายเป็นส่วนประกอบของผลิตอาหารเสริมที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

ปัญหามีอยู่ว่า ยังไม่มีการพิสูจน์ทฤษฎีอย่างชัดแจ้งว่า การให้ GLA จะช่วยรักษาอาการอักเสบของผื่นผิวหนังได้จริงหรือไม่ แม้จะมีการวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก แต่ผลของการวิจัยกับไม่ตรงกัน งานวิจัยส่วนใหญ่บอกว่าการได้รับ GLA ไม่เป็นโทษต่อร่างกายก็จริง แต่หลักฐานที่ยืนยันสรรพคุณ GLA ต่อการรักษาผิวหนังอักเสบส่วนใหญ่เป็นการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยบริษัทที่ผลิตอาหารเสริมในกลุ่มนี้

ในปี 1995 กระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักรจึงขอให้นักวิจัยที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ผลิตทบทวนงานวิจัยทั้งที่ตีพิมพ์และไม่ได้ตีพิมพ์ 20 ชิ้น ซึ่งไม่พบหลักฐานเลยว่า การให้ GLA มีประโยชน์ต่อการรักษาผิวหนังอักเสบ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงฯ ไม่ได้รายงานต่อสาธารณะ เพราะผู้ผลิตยานี้คัดค้าน

ในปี 2000 นักวิจัยกลุ่มเดิมทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบอีกครั้งเกี่ยวกับน้ำมันอีฟนิงพริมโรส (และน้ำมันโบราจ ซึ่งมีสรรพคุณคล้ายกัน แต่มีปริมาณ GLA สูงกว่า) ผลการวิจัยในครั้งนี้ยังคงยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อว่าวิธีการรักษาเหล่านี้ใช้ได้ผล โดยครั้งนี้มีการเผยแพร่และตีพิมพ์งานวิจัยด้วย

ผลของการวิจัยข้างต้นส่งผลให้ องค์การควบคุมยาของสหราชอาณาจักร (Medicines Control Agency) ซึ่งปัจจุบันคือ องค์การควบคุมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Medicines and Healthcare Product Regulatory Agency) ถอดทะเบียนผลิตภัณฑ์อีฟนิงพริมโรสบางรายการไป

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จากอีฟนิงพริมโรสก็ยังคงวางขายได้อยู่ทั่วไป และผู้บริโภคก็หาซื้อได้ในฐานะ ‘อาหารเสริม’ โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพราะน้ำมันอีฟนิงพริมโรสไม่ได้มีปัญหาในเรื่องความปลอดภัย ในสหราชอาณาจักร สรรพคุณในการรักษาผิวหนังอักเสบของน้ำมันอีฟนิงพริมโรสถูกปรับให้เป็นข้อความกำกวม เช่น “คนที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบอาจมีอาการดีขึ้น” “อาจมีประโยชน์” หรือ “มีคุณสมบัติยาบางประการที่อาจออกฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลายโรค เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ” เป็นต้น

ในประเทศไทย มีอาหารเสริมหลายผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันอีฟนิงพริมโรสเป็นส่วนประกอบสำคัญ และใช้สรรพคุณของอีฟนิงพริมโรสในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตน จริงอยู่ว่า สารสกัดจากธรรมชาติชนิดนี้ไม่มีอันตรายใดๆ แต่ประโยชน์ที่ได้จะคุ้มค่าเงินที่จ่ายหรือไม่ คงต้องพิจารณาดูให้ดี

 

สมุนไพรจีนกับการฟื้นฟูความอ่อนล้าจากการทำคีโมรักษาโรคมะเร็ง : หลักฐานสนับสนุนยังค่อนข้างน้อย

 

ในประเทศมาเลเซีย คนจำนวนมากมีความเชื่อว่าสมุนไพรจีนจะช่วยฟื้นฟูความอ่อนล้าให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่เข้าทำการรักษาด้วยการทำคีโม (chemotherapy) โดยมีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ยืนยันถึงสรรพคุณดังกล่าว แต่ด้วยราคาสมุนไพรจีนในมาเลเซียสูงถึง 151 ริงกิตหรือราว 1230 บาทต่อ 100 กรัม ส่งผลให้ Malaysian Health Technology Assessment Section (MaHTAS) หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพของมาเลเซียจึงทำการทวทวนงานวิจัยกว่า 913 ชิ้นเพื่อสำรวจสรรพคุณที่แท้จริง และความคุ้มค่า

การรับประทานยาที่แม้ไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรค แต่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า ‘placebo effect’ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ป่วยคาดหวังว่าว่าการทานยาจะทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้น และหลังจากรับประทานยาแล้วผู้ป่วยก็รู้สึกว่าอาการต่างๆ บรรเทาลง (subjective judgment) อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ไม่อาจสรุปได้ว่า อาการผู้ป่วยดีขึ้นจริงและยานั้นมีสรรพคุณและมีคุณค่าในการรักษา

ในงานประชุมวิชาการ The HTAsiaLink 2018 ซึ่งสัมนาวิชาการประจำปีของสถาบันและหน่วยงานด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพระดับภูมิภาคเอเชีย คณะนักวิจัยจาก MaHTAS ได้นำเสนอผลการวิจัยพบว่า แม้งานวิจัยจำนวนมากจะชี้ว่า สมุนไพรจีนมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการทำคีโม แต่ข้อสรุปก็เป็นไปอย่างจำกัดและไม่เป็นกลาง

ในเบื้องต้นคณะผู้วิจัยจึงสรุปว่า  มีหลักฐานที่สนับสนุนว่าสมุนไพรช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้นค่อนข้างน้อยถึงปานกลาง ที่สำคัญ แม้ว่าจะไม่พบรายงานอาการผิดปกติร้ายแรงในผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้สมุนไพรจีน แต่ก็มีรายงานอาการข้างเคียง เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ คลื่นไส้ และอาเจียน

แม้ MaHTAS จะชี้ว่า การสรุปสรรพคุณที่แท้จริงของสมุนไพรจีนที่มีต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งจะต้องอาศัยการศึกษาที่ได้มาตรฐานอีกจำนวนมาก แต่อย่างน้อยที่สุดนัยเชิงปฏิบัติที่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอคือ การใช้สมุนไพรจีนไม่มีประสิทธิผลทางด้านราคา

ในประเทศไทย เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ยาสูตรลับ’ ที่ผู้ป่วยรับประทานแล้วรายงานว่า ได้ผลดียังมีให้เห็นอยู่เสมอๆ หลายในหลายกรณี ‘ยาสูตรลับ’ ไม่มีกระทั่งงานวิจัยทางการแพทย์ (ไม่ว่าจะได้มาตรฐานหรือไม่ได้มาตรฐาน) สนับสนุนด้วยซ้ำ แต่ได้รับความนิยมจากผู้คนนับหมื่นจนกลายเป็นข่าวดังระดับประเทศ ดังนั้น การทดสอบให้แน่ใจว่า ยาแต่ละชนิดสามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิผลจริง หรือเป็นเพียงแค่ ‘placebo effect’ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

รายงานนี้ไม่ได้จะบอกว่า ‘ความรู้ทางการแพทย์ผิด’ เท่ากับจะบอกว่า ‘ความรู้ทางการแพทย์ผิดได้‘ และในบางกรณีถึงแม้ไม่ผิด แต่ก็อาจจะไม่คุ้มค่า ความรู้ทางการแพทย์ก็เหมือนความรู้อื่นๆ ที่พร้อมจะเก่าและเชื่อไม่ได้ แพทย์ ผู้ป่วย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการรักษาพยาบาลจึงไม่ควรปักใจเชื่อความรู้ทางการแพทย์แบบหนึ่งๆ อย่างสนิทใจ โดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่อาจต้องรับความเสี่ยงจากการรักษาและภาระจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

อ่านเรื่องราวของเรื่องราวความเข้าใจผิดและเหตุผลที่เราต้องสังสัยความรู้ทางการแพทย์เพิ่มเติมได้จากหนังสือ “การรักษาต้องสงสัย

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save