fbpx

ที่นี่มีคนตาย (แต่ไม่มีคนผิด?) : ความหวาดกลัวของรัฐลอยนวลกับการลงนาม ICC

ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนของสังคมไทยที่ผ่านมาบอกเราว่า ในเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนแต่ละครั้งไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิดที่ทำให้เกิดการเข่นฆ่าประชาชนอย่างเหี้ยมโหด

เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นจุดเริ่มต้นการสังหารหมู่ประชาชนในการเมืองร่วมสมัยที่ทำให้สังคมไทยค่อยๆ เห็นภาพความอัปลักษณ์ของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและการร่วมมือกันอย่างเป็นกระบวนการของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่ทำให้การฆ่าประชาชนผู้เห็นต่างกลายเป็น ‘ความถูกต้อง’ ในช่วงเวลานั้น

ผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษ สังคมไทยเริ่มรู้จัก 6 ตุลาในมุมมองอื่นนอกเหนือจากเรื่องเล่าชวนเชื่อจากรัฐ แต่ความยุติธรรมก็ยังไม่บังเกิด

กระทั่งเหตุการณ์สังหารหมู่ในกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 ระหว่างการชุมนุมของ นปช. ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 94 คน เป็นฝ่ายประชาชน 84 คน เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ 10 คน (ตัวเลขของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 – ศปช.) จนเวลาผ่านไปสิบกว่าปี คำตอบจากกระบวนการยุติธรรมไทยคือไม่สามารถเอาผิดใครได้

มีเพียงฆาตกรรม แต่ไม่มีฆาตกร

เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ทำให้สังคมไทยรู้จักกับ ‘ศาลอาญาระหว่างประเทศ’ (International Criminal Court – ICC) ในฐานะความหวังว่าจะแสวงหาความเป็นธรรมให้เหยื่อจากอาชญากรรมโดยรัฐได้ แต่ถึงที่สุดแล้วเหตุการณ์ปี 2553 ก็ยังไปไม่ถึง ICC ด้วยติดปัญหาว่าไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือกระทั่งเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็ไม่มีการดำเนินการเรื่อง ICC จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2557

ความตายของประชาชนถูกปล่อยทิ้งไม่ไยดีและยิ่งถักทอโครงสร้าง ‘รัฐลอยนวล’ ให้มั่นคง สิ่งที่ประชาชนทำได้คือการจัดงานรำลึกทุกปีและตะโกนยืนยันว่า “ที่นี่มีคนตาย มีคนฆ่า และมีคนสั่งฆ่า”

เหตุการณ์ปี 2553 กับทางตันในระบบกฎหมายไทย

จนถึงปัจจุบันคดีสลายการชุมนุม นปช. มาถึงทางตันในระบบกฎหมายไทย ความหวังที่เหลืออยู่คือการสอบสวนโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้ประสานงาน ศปช. เล่าสรุปถึงการดำเนินการทางกฎหมายในกรณีเหตุการณ์ปี 2553 [1] ว่า เรื่อง ICC เป็นประเด็นในสังคมไทยขึ้นมาหลังการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่มีการเรียกร้องให้นำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนมาดำเนินคดี

“ขณะนั้นมีการโจมตีกัน ฝ่ายประชาชนบอกว่า ศอฉ. ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม ฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะบอกว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ เป็นผู้ก่อการร้าย มีชายชุดดำ ในที่สุด รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) นำโดย คณิต ณ นคร และสมชาย หอมลออ รายงานของ คอป. ที่ออกมาจะเน้นหนักไปที่ชายชุดดำ บอกว่าพบชายชุดดำทุกจุดที่มีคนเสื้อแดงเสียชีวิต โดยไม่มีการกล่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

“เมื่อ คอป. เสนอรายงานออกมา กระแสที่ตามมาในสื่อมวลชนคือการบอกว่าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง ไม่มีการเรียกร้องให้เอาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตมาดำเนินคดีแต่อย่างไร ขณะเดียวกันมีรายงานของ ศปช. ออกมาสองเดือนก่อนหน้านั้น เป็นข้อมูลตรงกันข้ามที่บอกว่าผู้เสียชีวิตฝ่ายพลเรือนทั้งหมดไม่มีอาวุธปืนอยู่ในมือที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐได้”

ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล คดีเกี่ยวกับปี 2553 ไม่มีความคืบหน้าทั้งสิ้น และจนถึงก่อนการรัฐประหาร 2557 มีคำวินิจฉัยศาลหลายแห่งสรุปว่า ผู้ชมนุมอย่างน้อย 17 คนเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“ในช่วงที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ตำรวจและดีเอสไอเริ่มทำงาน จน ต.ค. 2556 ดีเอสไอและอัยการฟ้องคุณสุเทพและคุณอภิสิทธิ์ข้อหาความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลและร่วมกันก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล โดยศาลอาญาประทับรับฟ้อง แต่หลังการรัฐประหาร 2557 ศาลอาญาบอกว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา แต่อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. เพราะการกระทำของอภิสิทธิ์และสุเทพเป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ศาลลดระดับความรุนแรงของคดีอาญาให้เป็นการกระทำผิดต่ออำนาจหน้าที่เท่านั้น

“ต่อมา ป.ป.ช. ตัดสินว่าไม่มีความผิด โดยไม่มีการเรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติม ไม่มีการเรียกพยานฝ่ายผู้เสียหายไปให้การ ในที่สุดเรื่องในศาลอาญาจึงเป็นที่ยุติ แต่ทางญาติและแกนนำ นปช. พยายามยื่นอุทธรณ์ แต่ทั้งในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ยืนตามศาลชั้นต้นว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ เท่ากับว่าการดำเนินคดีกระบวนการยุติธรรมในประเทศมาถึงทางตัน ไปต่อไม่ได้ ศาลไม่รับพิจารณาเรื่องนี้” พวงทองกล่าว

ระหว่างเส้นทางกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ ในปี 2555 มีความพยายามให้อัยการของ ICC เข้ามาสอบสวนความรุนแรงกรณีปี 2553 [2] ซึ่งหัวใจของการก่อตั้ง ICC คือการยุติการลอยนวลพ้นผิด โดยทางอัยการ ICC ตอบรับว่ากรณีนี้อยู่ในข่ายที่จะรับพิจารณาได้

ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) อัยการของ ICC เดินทางมาพบสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยชี้แจงขั้นตอนการยอมรับเขตอำนาจของ ICC และทำจดหมายให้ ICC สอบสวนกรณีปี 2553 แต่ก็ไม่มีการดำเนินการอะไรจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2557

พวงทองสรุปว่า การเรียกร้องความยุติธรรมเหตุการณ์ปี 2553 มีทั้งเงื่อนไขทางกฎหมายและทางการเมืองที่ทำให้เรื่องนี้มาถึงทางตัน

ICC กับสถาบันพระมหากษัตริย์ : ข้ออ้างที่ไม่เกี่ยวกัน

การเรียกร้องให้ ICC เข้ามาสอบสวนเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 มีข้อถกเถียงทางกฎหมายจำนวนมากทั้งเรื่องความเป็นไปได้ที่จะส่งเรื่องไป ICC จนถึงประเด็นผลกระทบต่อประมุขแห่งรัฐ


ช่องทางในการยื่นเรื่อง ICC

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ยืนยันว่ามีช่องทางที่จะให้ ICC เข้ามาสอบสวนกรณีปี 2553 ได้ [3] โดยสรุปวิธีการส่งเรื่องไป ICC มี 4 วิธี

1. รัฐที่ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมแล้ว เสนอคำร้องไปยัง ICC ซึ่งทุกวันนี้ไทยเป็นรัฐสมาชิกแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันและเหตุการณ์ที่ ICC จะเข้ามาสอบสวนผ่านช่องทางนี้ต้องเกิดขึ้นหลังวันที่รัฐนั้นให้สัตยาบัน

2. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงจึงเข้ามาจัดการส่งเรื่องเอง แม้รัฐนั้นจะไม่ให้สัตยาบันก็ตาม กรณีนี้เกิดขึ้นที่ลิเบียและยูกันดา ซึ่งช่องทางนี้เกิดขึ้นได้ยากสำหรับประเทศไทย

3. บางรัฐแม้ไม่ได้ให้สัตยาบัน แต่ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจ ICC เฉพาะกรณี เฉพาะช่วงเวลา โดยอาศัยมาตรา 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรม กรณีนี้เกิดขึ้นกับโกตดิวัวร์ (ไอวอรีโคสต์) ซึ่งข้อดีคือช่องทางนี้สามารถใช้พิจารณาเหตุการณ์ย้อนหลังได้ โดยธรรมนูญกรุงโรมบังคับใช้วันที่ 1 ก.ค. 2545 เหตุการณ์ที่จะยื่นตามมาตรา 12 (3) จึงต้องเกิดขึ้นหลังธรรมนูญกรุงโรมบังคับใช้ นั่นหมายความว่ากรณี 6 ตุลาไม่เข้าข่ายนี้ แต่สามารถยื่นกรณีปี 2553 ได้

4. อัยการประจำ ICC เปิดกระบวนการพิจารณาเอง กรณีนี้เกิดขึ้นที่เคนยา สำหรับประเทศไทยจะติดปัญหาเรื่องการยังไม่ได้ให้สัตยาบัน


สิ่งที่ต้องเรียกร้องต่อพรรคการเมือง

ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยใกล้จะมีการเลือกตั้งนี้ ปิยบุตรจึงเสนอว่าฝ่ายที่ต้องการให้ไทยให้สัตยาบัน ICC ควรเรียกร้องต่อพรรคการเมือง 3 ข้อ ดังนี้

1. รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมทันที เพื่อในอนาคตหากเกิดกรณีที่รัฐบาลกระทำความรุนแรงต่อประชาชนก็จะสามารถนำเรื่องไปสู่ ICC ได้

2. เพื่อให้การสอบสวนของ ICC ครอบคลุมเรื่องในอดีต (เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดหลัง 1 ก.ค. 2545 เป็นต้นมา) สามารถใช้มาตรา 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรมไปด้วยได้ โดยให้รัฐบาลยอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะกรณี เฉพาะเหตุการณ์ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ปี 2553 แต่อาจรวมถึงกรณีสามจังหวัดภาคใต้หรือสงครามยาเสพติดด้วย เช่นที่ตอนนี้ฟิลิปปินส์ส่งเรื่องฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติดฟิลิปปินส์ไป ICC ผ่านช่องทางนี้แล้วหลังโรดริโก ดูแตร์เตพ้นจากตำแหน่ง

“เราเคยรณรงค์ให้ใช้ มาตรา 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรม เพราะไม่ต้องรอไทยให้สัตยาบัน แค่รัฐมนตรีคนเดียวก็เซ็นได้เลย มีตัวอย่างคือเมื่อปี 2546 รัฐมนตรีต่างประเทศของโกตดิวัวร์ ลงนามรับเขตอำนาจ ICC ย้อนหลังไปถึงวันที่ 19 กันยายน 2545 พอเหตุการณ์วุ่นวายรัฐบาลฝ่ายที่ปราบปรามประชาชนกลับมามีอำนาจ เรื่องนี้จึงล้มไป ต่อมารัฐบาลถัดมาจึงยื่นเรื่องนี้ซ้ำในปี 2547

“ก่อนรัฐประหาร 2557 ผมเคยพยายามเสนอว่าถ้าเป็นไปได้ขอรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยเป็นผู้กล้าหนึ่งคนช่วยเซ็นเรื่องนี้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเราจึงควรเรียกร้องพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลว่านอกจากการให้สัตยาบันแล้ว ต้องใช้มาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรมด้วย” ปิยบุตรกล่าว

3. พรรคการเมืองใดที่เข้ามาเป็นรัฐบาลชุดหน้าต้องใช้เสียงข้างมาก ออกกฎหมาย แก้กฎหมายอาญา หรือทำพระราชบัญญัติกำหนดความผิดอาญาระหว่างประเทศสี่ฐานเข้าไปในกฎหมายไทย (ความผิดอาญาสี่ฐานที่ ICC ใช้คือ 1. อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ 2. ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 3. อาชญากรสงคราม 4.การรุกราน) ถือเป็นการอนุวัติการตามอนุสัญญาที่ไทยเป็นรัฐภาคีอยู่

“หากมีการทำตามสามข้อนี้ เราก็สามารถส่งเรื่องไป ICC ได้แล้ว ซึ่งที่จริงเมื่อส่งไปแล้วก็จะมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศกำลังดำเนินการต่อเหตุการณ์นั้นๆ อยู่หรือเปล่า ถ้าดำเนินการอยู่ต้องรอให้จบก่อน หรือถ้าเขามองว่าเหตุการณ์ไม่รุนแรงพอก็อาจไม่รับก็ได้ แต่ต้องให้เขาเป็นคนพิจารณา ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมส่งเรื่องไปเอง” ปิยบุตรกล่าว


ข้อโต้แย้งเรื่องประมุขของรัฐ

ข้อกังวลสำคัญของผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการให้ ICC เข้ามาสอบสวนกรณีในไทย คือเกรงว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อมาตรา 27 ของธรรมนูญกรุงโรมบอกว่า แม้กฎหมายภายในของรัฐสมาชิกเขียนคุ้มกันไม่ให้ดำเนินคดีประมุขของรัฐ แต่เมื่อขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศจะถือว่าไม่มีความคุ้มกัน

ปิยบุตรบอกว่า เมื่อปี 2555 เคยมีวงเสวนาเรื่อง ICC แล้วข้าราชการกระทรวงต่างประเทศก็บอกว่าประเทศไทยเซ็นไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะขัดมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ (ตรงกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ 2560)

“ผมยืนยันว่าการให้เหตุผลอย่างนี้ไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะ 1. รัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั่วโลกลงนามกับ ICC เกือบทั้งหมด เช่น สหราชอาณาจักร สวีเดน เดนมาร์ก สเปน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ญี่ปุ่น มาเลเซีย กัมพูชา โดยไม่ได้กังวลกับมาตรา 27 ของธรรมนูญกรุงโรม 2. นี่เป็นการให้เหตุผลแบบพิสดารและในทางกลับกันจะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สาเหตุที่หลายรัฐที่มีพระมหากษัตริย์ลงนามเพราะในระบอบ constitutional monarchy เขียนรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่ละเมิดมิได้ หมายความว่าจะดำเนินคดีพระมหากษัตริย์ไม่ได้เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้ใช้อำนาจเอง (The king can do no wrong เพราะ The king can do nothing) หากมีรัฐบาลชุดหนึ่งไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือก่ออาชญากรรมสงคราม รัฐบาลนั้นก็ต้องรับผิดชอบเอง”

ปิยบุตรยกตัวอย่างกรณีสงครามมหาเอเชียบูรพาที่สหรัฐฯ ต้องการนำผู้นำสูงสุดของญี่ปุ่นไปขึ้นศาล จึงเกิดข้อโต้เถียงว่าจะดำเนินคดีจักรพรรดิฮิโรฮิโตะหรือไม่ แต่สุดท้ายด้วยอิทธิพลของดักลาส แมกอาเธอร์ จึงดำเนินคดีเฉพาะโตโจ ฮิเดกิ นายกรัฐมนตรี

โดยปิยบุตรยืนยันว่า สำหรับไทย มาตรา 6 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เป็นปัญหาติดขัดต่อการยื่นเรื่องไป ICC

พวงทองเสริมว่า ในปี 2553 ผู้ที่แต่งตั้ง ศอฉ. คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยไม่มีการลงพระปรมาภิไธย คำสั่งของ ศอฉ. ในการสลายการชุมนุมและการใช้กำลังทางการทหารทั้งหมดลงนามโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งก็ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยเช่นกัน เรื่องนี้จึงไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์

“การเอาประเด็นเรื่องพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อไม่ลงนาม ICC เป็นเรื่องอันตราย ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นข้ออ้างของทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายประชาธิปไตย” พวงทองกล่าว

อย่าปล่อยให้มีการฆ่าคนซ้ำแล้วซ้ำอีก

หนึ่งในผู้ที่พยายามผลักดันเรื่อง ICC คือ ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. ซึ่งร่วมรับรู้ถึงอุปสรรคต่างๆ ตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบันที่ทำให้กรณีปี 2553 ยังไปไม่ถึง ICC

ธิดายืนยันว่าการเรียกร้องเรื่อง ICC ไม่ได้ทำเพื่อเรียกร้องให้เฉพาะกรณีปี 2553 แต่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับประเทศไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า การจัดการกับผู้ประท้วงเหมือนที่เกิดขึ้นกับ 6 ตุลาก็อาจเกิดขึ้นได้อีก จึงต้องการให้มีการให้สัตยาบัน ICC เพื่อไม่ต้องการให้การลอยนวลพ้นผิดเกิดกับประเทศไทยอีก

“ดิฉันเป็นประธาน นปช. ในวันที่ 1 ธ.ค. 2553 ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค. 2553 ก็ทำจดหมายไปถึง ICC ขอให้เขามาสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล เพราะเราเชื่อว่าการเสียชีวิตของคนจำนวนมากและการจับกุมคุมขังคนหลายพันคนเป็นงานใหญ่มาก ตอนนั้นไม่มีศูนย์ทนาย ไม่มีกองทุนช่วยประกันตัวแบบทุกวันนี้ โดยมีทนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ช่วยทำจดหมายเป็นระยะๆ บรรยายว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอัยการสมควรรับเรื่อง

“ตอนที่คุณฟาตู เบนซูดา อัยการ ICC มาคุยกับคุณสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ทางอัยการก็มาคุยกับเราด้วย เขาบอกว่าทางอัยการอธิบายให้คุณสุรพงษ์เข้าใจว่าสามารถใช้มาตรา 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรมได้ โดยไม่ต้องให้สัตยาบัน แค่ลงนามเปิดประตูให้ ICC มาหาหลักฐาน เพราะ ICC เป็นศาลเสริม ไม่ได้จะทำให้ศาลไทยหมดอำนาจ แต่ถ้าศาลไทยไม่ประสงค์ทำหรือทำแล้วมีปัญหา ICC ก็จะเข้ามาเสริม แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าคุณสุรพงษ์สับสนเพราะเข้าใจว่าต้องให้สัตยาบันหรือเปล่า

“ทางคุณสุรพงษ์บอกว่ามีการตั้งคณะกรรมการพิจารณา แต่กระทั่งช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 คุณหมอเหวง โตจิราการ โทรไปหาคุณสุรพงษ์ ขอร้องว่าอีกไม่กี่วันเขาทำรัฐประหารแน่นอน คุณช่วยกรุณาเซ็นได้ไหม ก็ไม่มีคำตอบ แต่ตามความคิดของดิฉันคือเขาอาจเกรงว่าธรรมนูญกรุงโรมมาตรา 27 จะไปมีปัญหากับมาตรา 6 (ในรัฐธรรมนูญ 2560) เขาไม่รู้ว่าถ้าใช้ช่องทางมาตรา 12 (3) นั้นไม่ได้เกี่ยวกับประมุขเลย จะระบุการดำเนินคดีเฉพาะอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาดำเนินคดีบุคคล ไม่ได้ดำเนินคดีรัฐ ดังนั้น ขอเพียงให้รัฐไทยเซ็นรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีปี 2553 จึงจะเริ่มรับหนึ่งได้ แต่สังคมไทยมีความกลัวมากเรื่องมาตรา 6” ธิดากล่าว

อดีตประธาน นปช. จึงเห็นว่าต่อกรณีนี้มีเรื่องที่สมควรดำเนินการตามลำดับ 3 ข้อ

1. ใช้ช่องทางมาตรา 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรม เพื่อให้ได้เริ่มนับหนึ่ง โดยเฉพาะหากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลจะปล่อยให้มีการฆ่าคนซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการทำเอกสารเตรียมไว้จำนวนมากแล้วและเคยคุยกับอัยการ ICC ไว้แล้ว

2. ต้องแก้กฎหมาย โดยตั้งคำถามกับพรรคการเมืองว่าต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้เป็นสากลไหม อำนาจเป็นของประชาชนโดยแท้จริงไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทำกฎหมายให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสนธิสัญญาหลักต่างๆ

3. การให้สัตยาบัน ICC

“ทั้งหมดนี้กว่าจะมาถึงข้อสามได้ต้องรบกันมาก ต้องช่วยกันผลักดัน การจะผ่านด่านกฎหมาย ผ่านความคิดจารีตนั้นไม่ง่าย แต่ถ้าจะเปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตยแบบสากลต้องเดินหน้าช่วยกัน” ธิดากล่าว

การเอาผิดอาชญากรรมโดยรัฐคือเรื่องที่เป็นไปได้

แน่นอนว่าการดำเนินคดีกับอาชญากรรมโดยรัฐไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เคยมีใครทำสำเร็จ

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าอุปสรรคใหญ่สองข้อของการเอาผิดอาชญากรรมโดยรัฐ คือ 1. อายุความ ถ้าหมดอายุความก็ฟ้องไม่ได้ เหลือแต่การรับผิดทางศีลธรรม 2. เรื่องความคุ้มกัน แบบแรกคือความคุ้มกันในทางระหว่างประเทศที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการจับกุมประมุขของรัฐในดินแดนอื่น แบบที่สองคือการคุ้มกันในประเทศ เช่นรัฐสภาตรากฎหมายนิรโทษกรรม

ตัวอย่างในการเอาชนะอุปสรรคดังกล่าวด้วยระบบศาลภายในประเทศคือที่ประเทศชิลี

ในช่วงที่ออกุสโต ปิโนเชต์ ปกครองชิลีตั้งแต่ปี 1973-1990 เกิดการฆ่า ซ้อมทรมาน ทำให้สูญหาย ซึ่งเป็นการกระทำอย่างเป็นระบบ ทั้งตำรวจ ทหาร และศาล ซึ่งทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีได้ ภายหลังจากที่ปิโนเชต์หมดอำนาจแล้วไปรักษาตัวที่อังกฤษ ศาลสเปนออกหมายจับปิโนเชต์ แล้วศาลอังกฤษเห็นว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลสากล จึงรับลูก ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ แม้สุดท้ายปิโนเชต์จะกลับไปชิลีได้ แต่ก็ถูกสอบสวนในชิลี โดยเขาเสียชีวิตก่อนจะเอาผิดสำเร็จ

“การจับปิโนเชต์เป็นหมุดหมายสำคัญที่ขยับวงการตุลาการในชิลี  สิบปีหลังจากที่ปิโนเชต์หมดอำนาจไม่สามารถเอาผิดอะไรได้ แต่พอมีการจับปิโนเชต์ก็เกิดความพยายามอีกรอบ ทิศทางวงการตุลาการก็เปลี่ยน ตั้งแต่ปี 2000 มีคำวินิจฉัยจากศาลภายในประเทศ โดยข้ามเรื่องอายุความ ศาลบอกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ออกมาใช้ไม่ได้และมีการเอาผิดทหารและผู้พิพากษา ปี 2013 ประธานศาลฎีกาออกมาขอโทษประชาชนยอมรับว่าช่วงเผด็จการนั้นสถาบันตุลาการไม่ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญของตัวเอง คือการเป็นผู้ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

“สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เพราะการเมืองเคลื่อน ปิโนเชต์ถูกจับ เป็นการสิ้นสุดของยุคสมัย ขณะที่มีความพยายามหนักมากในการล้างระบบตุลาการทั้งระบบ เขาไม่ได้ปลดผู้พิพากษาทั้งหมดทีเดียว แต่มีการซักประวัติว่าผู้พิพากษาที่อยู่ในตำแหน่งขณะนั้นทำอะไรไว้บ้าง ผู้พิพากษาหลายคนชิงลาออกก่อนเพราะรู้ว่าเคยให้ความร่วมมือ เป็นโอกาสให้ระบอบใหม่ตั้งผู้พิพากษาที่มีความคิดแบบใหม่ที่เข้าใจสิทธิมนุษยชนเข้าไปได้ สภาพนี้เกิดขึ้นได้แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย” เข็มทองกล่าว

เมื่อย้อนกลับมามองกรณีของไทย เข็มทองเห็นว่าการให้มีการสอบสวนโดย ICC เป็นเรื่องสำคัญ แม้สุดท้ายไม่รู้ว่าปลายทางจะสามารถเอาผิดใครได้หรือไม่ แต่ผลที่ตามมาจะทำให้ระบบกฎหมายไทยขยับ

“เหตุการณ์ปี 2553 เป็นครั้งที่เราทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมโดยรัฐละเอียดที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและเราไม่ปล่อยให้ข้อมูลอยู่ในมือรัฐฝ่ายเดียว เรามีข้อมูลในระดับที่ระบุคนทำ คนสั่งการ จนถึงกำลังพลที่ใช้ได้ มีแม้กระทั่งคำวินิจฉัยว่าคนทำคือฝั่งทหาร ปี 2553 เป็นเคสที่มีความหวังที่สุดหากจะเอาผิดรัฐไทย” เข็มทองกล่าว

อย่าอ้างว่าแคร์คนตาย แต่ปฏิเสธการให้ความยุติธรรม

จากการอธิบายเหตุผลทั้งหมดข้างต้นนี้จะเห็นว่า คนไทยยังมีช่องทางที่จะให้มีการสอบสวนเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดในเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชน แต่สิ่งที่จะทำให้เป็นจริงได้คือการผลักดันทางการเมือง

พวงทองยอมรับว่า แม้จะมีช่องทางกฎหมายแต่เจตจำนงทางการเมืองในการผลักดันเรื่องเหล่านี้อ่อนแอมาก

“คนที่อยู่ในอำนาจที่จะทำได้ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะทำ ความยุติธรรมที่ถูกผัดผ่อนให้ล่าช้าคือการปฏิเสธการให้ความยุติธรรมกับเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมาเรามักโจมตีฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่ไม่ได้มีฝ่ายเดียวที่ทำให้ความยุติธรรมล่าช้า ฝ่ายที่อ้างว่าตัวเองแคร์คนตายก็ทำให้ความยุติธรรมล่าช้าเช่นกัน การไม่ทำอะไรก็คือการทำให้ล่าช้าด้วย

“กรณี 6 ตุลาเราก็บอกว่าอย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บมัน เราต้องมูฟออน เราต้องประนีประนอม เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ปัจจุบันเราบอกว่าต้องเลือกตั้งก่อน ต้องเป็นรัฐบาลก่อน เรื่องนั้นเรื่องนี้สำคัญกว่า อยากถามว่าเราให้ความสำคัญกับความยุติธรรมจริงเหรอ หรือเป็นแค่ข้ออ้างที่ไว้โจมตีอีกฝ่ายเท่านั้น และความยุติธรรมเป็นสิ่งที่รอได้เสมอ”

พวงทองยืนยันว่า ตัวอย่างในหลายประเทศการจะยุติการลอยนวลพ้นผิดได้นั้นไม่ได้มาจากการศิโรราบ แต่มาจากการต่อสู้

“เวลาที่เราเรียกร้องการต่อสู้ เราไม่ได้เรียกร้องปัจเจกชนเท่ากับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองซึ่งอาสาเข้ามาทำให้การเมืองดีขึ้น เรามีความชอบธรรมที่จะเรียกร้องจากพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่เราเลือกหรือไม่เลือก แต่คุณอาสาเข้ามาทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน การเมืองไม่ใช่เรื่องตัวใครตัวมัน แต่ต้องร่วมมือกันต่อสู้กับกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองและวิธีทางการเมืองที่แตกต่างกัน” พวงทองกล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ – สรุปจากงานเสวนา ‘ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง’ โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ร่วมกับ มูลนิธิคณะก้าวหน้า และ Common School เมื่อ 1 ตุลาคม 2565

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save