fbpx

ไซด์ ซาดีค (Syed Saddiq) นักการเมืองโชคร้ายแห่งปีของมาเลเซีย

ภาพประกอบ: Facebook – Syed Saddiq Syed Abdul Rahman

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ศาลชั้นต้น (High Court) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีผู้สังเกตเห็น ไซด์ ซาดีค ไซด์ อับดุล ราฮ์มาน (Syed Saddiq Syed Abdul Rahman) ชายหนุ่มวัย 30 ปีในสูทสีดำกลั้นน้ำตาขณะนิ่งฟังผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินคดีของตน ใกล้ๆ เขาคือบิดาและมารดาที่มาให้กำลังใจ 

ซาดีคคืออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬา ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าพรรคมูดา (MUDA: Malaysian United Democratic Alliance) พรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวมาเลเซียในปัจจุบัน

ซาดีคได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยคำพิพากษาระบุว่าเขามีความผิดตามข้อกล่าวหา มีโทษทั้งจำคุกและปรับเป็นเงินมหาศาล ยิ่งกว่านั้นเขากลายเป็นนักการเมืองคนแรกของประเทศที่ถูกพิพากษาศาลให้รับโทษด้วยการโบย เป็นโทษที่น่าอับอายที่ไม่เคยมีนักการเมืองคนใดได้รับมาก่อน คำตัดสินสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคดีของนักการเมืองใหญ่บางราย เช่น คำพิพากษาก่อนหน้านั้นที่ให้ อาฮ์หมัด ซาฮีด ฮามิดี (Ahmad Zahid Hamidi) ประธานพรรคอัมโน (UMNO: United Malays National Organisatio) ผู้เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ให้พ้นผิดจากคดีทุจริตบางคดี

คดีของซาดีคย้อนไปถึง พ.ศ. 2563 ขณะที่เขาเป็นนักการเมืองในสังกัดพรรคเบอร์ซาตู (Bersatu: Parti Pribumi Bersatu Malaysia) และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬาในรัฐบาลที่นำโดย นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด มหาเธร์นำพรรคเบอร์ซาตูจับมือกับแนวร่วมพรรคการเมืองปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) ของนายอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 อย่างถล่มทลาย ใน พ.ศ. 2560  

ในวัยเพียง 25 ปี ซาดีคเป็นรัฐมนตรีหนุ่มอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย เป็นนักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงอนาคตไกล แต่เวลาของความรุ่งโรจน์ช่างแสนสั้น เพราะสองปีต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่คาดฝันทางการเมืองซึ่งเรียกกันภายหลังว่า ‘ความเคลื่อนไหวที่โรงแรมเชอราตัน’ (The Sheraton Move) โดยนักการเมืองกลุ่มหนึ่งจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเบอร์ซาตู รวมทั้ง มูฮ์ยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) ผู้นำคนหนึ่งของพรรคและคนสนิทของนายกฯ มหาเธร์ เข้าประชุมกันที่โรงแรมเชอราตันในกัวลาลัมเปอร์และตัดสินใจตบเท้าออกจากแนวร่วมรัฐบาลหันไปจับมือกับพรรคอัมโน ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำให้รัฐบาลปากาตันสิ้นสุดลงเนื่องจากขาดเสียงข้างมากในสภาฯ ขณะที่เบอร์ซาตูและอัมโนร่วมตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีมูฮ์ยีดดีนเป็นนายกรัฐมนตรี

ชีวิตของซาดีค ผันแปรนับแต่นั้น หลังจากรัฐบาลปากาตันล่มเพียงเดือนเดียว ข่าวเรื่องครอบครัวของเขาได้เข้าแจ้งความเรื่องลักทรัพย์เนื่องจากพบว่าเงินสดประมาณ 250,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราวกว่า 1.8 ล้านบาท) หายไปจากตู้นิรภัยภายในบ้านก็แพร่ไปทั่ว ผู้ไม่ประสงค์ออกนามเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตมาเลเซีย หรือ MACC (Malaysian Anti-Corruption Commission) ว่าเงินนั้นได้มาจากการทุจริต ซาดีคต้องออกแถลงการณ์อธิบายต่อสื่อมวลชนว่าเงินจำนวนนั้นเป็นเงินของเขาและบิดามารดารวมกัน ที่ตั้งใจจะนำไปใช้ในการปรับปรุงบ้านที่เขาและบิดาซื้อร่วมกัน และว่าข้อกล่าวหานั้นมาจากพรรคเบอร์ซาตูซึ่งไม่พอใจที่เขาไม่สนับสนุนมูฮ์ยีดดีนที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม  ผลที่ตามมาคือ MACC เริ่มเปิดแฟ้มสอบสวนกรณีเงินหายและเข้าตรวจสอบบ้านพักของซาดีคในวันที่ 31 มีนาคม นอกจากนั้นยังเปิดแฟ้มสอบสวนตามข้อกล่าวหาอื่นๆ อีกรวมทั้งหมด 5 เรื่อง   

หนึ่งเดือนถัดมาในเดือนพฤษภาคม พรรคเบอร์ซาตูประกาศขับสมาชิก 3 รายออกจากพรรคข้อหาแข็งขืนต่อมติพรรคในการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีมูฮ์ยีดดีน สมาชิกทั้งสามคือ มหาเธร์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค, มูกริช มหาเธร์ (Mukhriz Mahathir) บุตรชายผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรค และซาดีค ทั้งสามต้องระเห็จไปนั่งที่นั่งในปีกของฝ่ายค้านในห้องประชุมสภาฯ แม้ว่าจะไม่ได้รับการต้อนรับจากแนวร่วมพรรคการเมืองปากาตัน ฮาราปัน ที่กลายเป็นแนวร่วมฝ่ายค้านเลยก็ตาม

เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม MACC ตั้งข้อหา ไซด์ ซาดีค ว่ามีพฤติกรรมยักยอกเงินจำนวนหนึ่งล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 7.5 ล้านบาท) จากกองทุนอาร์มาดา (Armada: Angkatan Bersatu Anak Muda) ซึ่งเป็นกองทุนของฝ่ายยุวชนพรรคเบอร์ซาตูที่เขาเป็นประธานเมื่อครั้งที่เป็นรัฐมนตรีในสังกัดพรรคอยู่ นอกจากนั้นยังมีข้อหาใช้ทรัพย์สินของพรรคในทางที่ผิดด้วยการสั่งให้เจ้าหน้าที่พรรคเบอร์ซาตูถอนเงินจากบัญชีกองทุนอาร์มาดาจำนวน 120,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 900,000 บาท) เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งของตน รวมทั้งข้อหาฟอกเงินอีกสองกระทงจากการทำธุรกรรมทางการเงินสองครั้งรวมกันจำนวน 50,000 (ราว 375,000 บาท) โดยพบว่ามีการโอนเงินจำนวนนี้ระหว่างบัญชีธนาคารสองบัญชีของตนเอง ที่ MACC กล่าวหาว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย

ในการให้การต่อศาลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 อาฮ์หมัด มาร์ซูกิ อิบราฮิม (Ahmad Marzuqi Ibrahim) เจ้าหน้าที่สอบสวนของ MACC ที่เข้าตรวจสอบที่พักของซาดีคให้การว่า เขาพบข้อสงสัยเมื่อเข้าตรวจสอบตู้นิรภัยและพบว่าไม่มีสภาพถูกงัดแงะให้เปิด และมีแต่เพียงลายนิ้วมือของซาดีคปรากฏอยู่เพียงผู้เดียว เจ้าหน้าที่ MACC อีกผู้หนึ่งยังให้การว่าการตรวจสอบการสื่อสารในกลุ่ม WhatsApp กลุ่มหนึ่งชื่อ ‘Ocean 17’ พบข้อความที่เขียนขึ้นวันที่ 30 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาที่ MACC เตรียมเข้าตรวจสอบบ้านของไซด์ ซาดีค ข้อความดังกล่าวเขียนว่า “น่าปวดหัวเสียจริง.. เมื่อกี้นี้ ตอนวิดีโอคอล เขาบอกว่ามันเป็นเงินของพรรค” (“Such a headache … just now, in a video call, he said it’s the party’s money.”) ข้อความดังกล่าวมาจากโทรศัพท์มือถือของราฟีค ฮาคิม ราซาลี (Hakim Razali) ผู้ช่วยเหรัญญิกของแผนกยุวชนพรรคเบอร์ซาตู อย่างไรก็ตามไม่มีการระบุว่าบุคคลที่ข้อความนี้ระบุถึงคือใคร

การให้การของพยานฝั่ง MACC ล้วนทำเอาผู้สนับสนุนซาดีคใจแป้ว เจ้าหน้าที่ MACC ยังให้การต่อศาลว่า หนึ่งวันหลังจากที่บ้านพักของตนถูกค้น ซาดีคได้สั่งให้ราฟีคแบ่งแจกจ่ายเงินทั้งหมดหนึ่งล้านเหรียญริงกิตไปยังกรรมการฝ่ายยุวชนพรรคเบอร์ซาตูบางราย เงินจำนวนนี้ถูกถอนจากบัญชีของกองทุนอาร์มาดาตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2563 โดยทรัสตีกองทุนสองคน  คือราฟีคและอาฮ์หมัด รีดซวน โมอัมหมัด ชาฟี (Ahmad Redzuan Mohamed Shafi) ผู้ช่วยเลขานุการกองทุน และถูกเก็บไว้ที่บ้านของนายราฟีค จนกระทั่งถูกกระจายแจกจ่ายออกไปตามคำสั่งของไซด์ ซาดีค ในวันที่ 1 เมษายน 2563 โดยการสอบสวนพบว่าในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ไซด์ ซาดีค ได้ติดต่อราฟีคและสั่งให้ “เคลียร์” เงินที่ราฟีคเก็บไว้ที่บ้าน เพราะเกรงว่าเงินก้อนนี้จะถูกเจ้าหน้าที่ MACC ยึดไป

เจ้าหน้าที่ MACC ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนข้อกล่าวหากรณีกองทุนอาร์มาดาให้การในศาลโดยอ้างปากคำของพยานในการสอบสวนว่า ซาดีคได้พุดคุยกับราฟีคและอาห์หมัดเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 และแสดงความกังวลอย่างยิ่งกับความปั่นป่วนทางการเมืองที่มาจากเหตุการณ์ที่เชอราตัน เขาถามราฟีคว่าเวลานั้นเงินในบัญชีของคณะกรรมการกลางฝ่ายยุวชนเหลืออยู่เท่าไหร่ และว่าเงินนี้เป็นผลจากการทำงานหนักของเขาในฐานะประธานฝ่ายยุวชน ราฟีคแจ้งว่าเหลืออยู่กว่าหนึ่งล้านริงกิต ราฟีคและอดีตกรรมการกรรมการฝ่ายยุวชนบางรายให้การต่อ MACC ว่า เงินดังกล่าวถูกถอนออกจากบัญชีกองทุนเมื่อสถานะทางการเมืองของซาดีคในรัฐบาลปากาตันเริ่มสั่นคลอน

ศาลชั้นต้นตัดสินให้ซาดีคมีความผิดในทุกข้อกล่าวหาด้วยเหตุผลว่าเขา “ไม่สามารถพิสูจน์จนสิ้นสงสัย” ในข้อกล่าวหาทั้งหมดได้ ซาดีคถูกตัดสินจำคุก 7 ปี ปรับ 10 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 75 ล้านบาท) และโบยด้วยหวาย 2 ครั้ง เขาได้รับการประกันตัวและยังทำหน้าที่ ส.ส. ในรัฐสภาฯ ตามปกติในขณะที่รออุทธรณ์ตามขั้นตอน คดีของเขาคงจะลากยาวเป็นปีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าผลการตัดสินของศาลอุทธรณ์ไม่เป็นที่พอใจและเขาตัดสินใจยื่นเรื่องถึงศาลแห่งสหพันธรัฐ (Federal Court of Malaysia) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของมาเลเซีย

ย้อนกลับไปในปี 2560 ก่อนลงสมัคร สส. ไซด์ ซาดีค เป็นเพียงคนหนุ่มหน้าตาดีผู้เริ่มสร้างชื่อในฐานะนักปาฐกและคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่ง ชีวิตเขาคงเรียบง่ายกว่านี้ถ้าไม่บังเอิญไปเข้าตานายกรัฐมนตรี มหาเธร์ ผู้หวนกลับสู่อำนาจอีกครั้งในฐานะผู้นำรัฐบาลปากาตัน ฮาราปัน มหาเธร์นั้นนอกจากจะมีบทบาททั้งทางบวกและทางลบต่อการเมืองมาเลเซียมายาวนานแล้ว ยังเป็นผู้มีสายตาแหลมคมเล็งเห็นเห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ได้อย่างเฉียบขาด ในทศวรรษ 1980 มหาเธร์ประสบความสำเร็จในการดึงตัว อันวาร์ อิบราฮิม นักกิจกรรมหนุ่มออกจากแวดวงกิจกรรมเข้าพรรคอัมโน แล้วปั้นให้เขาเป็นดาวรุ่งในเวลาอันสั้นเริ่มความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังที่กลายมาเป็นเป็นมหากาพย์การเมืองมาจนทุกวันนี้

มาครั้งนี้ มหาเธร์คนเล็งเห็นแววบางอย่างในตัวซาดีค จึงชักชวนเขาเข้าพรรคเบอร์ซาตู ซาดีคลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในรัฐยะโฮร์และชนะแบบลอยลมด้วยกระแสมหาชนที่เบื่อหน่ายรัฐบาลอัมโน มหาเธร์มอบตำแหน่งรัฐมนตรีให้เขาแบบไม่รีรอ ความแนบแน่นกับมหาเธร์สร้างข่าวลือต่างๆ นานา รวมทั้งข่าวที่วาเขากำลังติดพันหลานสาวคนหนึ่งของผู้เฒ่า แต่เขาปฏิเสธ พูดได้ว่าซาดีคในเวลานั้นคือเด็กปั้นคนสุดท้ายของมหาเธร์โดยแท้

ถ้ามหาเธร์กำลังลงมือปั้นอนาคตของซาดีค เหตุการณ์ Sheraton Move ก็เป็นเหตุให้เขาปั้นไม่เสร็จ หลังกรณีเชอราตัน  รัฐบาลอัมโน – เบอร์ซาตู – พาส (PAS: Parti Islam Se-Malaysia) ที่ชิงอำนาจจากปากาตันก็ปั่นป่วนด้วยความขัดแย้งภายในตั้งแต่ต้น นำไปสู่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากมูฮ์ยีดดีนแห่งพรรคเบอร์ซาตู เป็นอิสมาอิล ซาบรี ยาโคป (Ismail Sabri Yacob) แห่งพรรคอัมโน ผู้ที่ในที่สุดประกาศยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565

ผลการเลือกตั้งพบว่าไม่มีขั้วการเมืองใดมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาฯ มาเลเซียตกอยู่ในภาวะ ‘hung parliament’ เป็นครั้งแรก อันวาร์ตัดสินใจพาแนวร่วมปากาตันจับมือพรรคอัมโนศัตรูเก่าจัดตั้งรัฐบาลและรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ อดีตนายกรัฐมนตรีมูฮ์ยีดดีนและพรรคเบอร์ซาตูกลับไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคพาส กลายเป็นขั้วการเมืองอนุรักษนิยมสุดโต่ง และเป็นศัตรูผู้ขมขื่นจากความพ่ายแพ้ต่อแนวร่วมปากาตันและอันวาร์ ส่วนมหาเธร์ผู้ที่เคยยิ่งใหญ่กลายเป็น สส. สอบตกในเขตเลือกตั้งที่ตนเองได้ชัยชนะมาตลอดชีวิตการเมือง อำนาจที่เคยล้นฟ้าจางหาย

แม้ว่ามหาเธร์จะสิ้นอิทธิพล แต่ซาดีคยังอยู่ เขาประกาศตั้งพรรคมูดาในเดือนกันยายน 2563 และพาตัวเองออกห่างจากขั้วการเมืองอนุรักษนิยมรวมทั้งมหาเธร์ผู้อุปถัมภ์เก่า ถึงแม้ว่ามูดาจะไม่ได้เป็นพรรคแนวร่วมปากาตันอย่างเป็นทางการ แต่ก็อยู่ในฐานะแนวร่วมแบบห่างๆ ที่มีแนวทางการเมืองใกล้เคียงกัน ซาดีคพยายามสมัครขอเข้าเป็นพรรคแนวร่วมในกลุ่มปากาตันอย่างเป็นทางการ เขาสามารถเจรจาต่อรองให้พรรคพีเคอาร์ (PKR: Parti Keadilan Rakyat) ที่มีนายกรัฐมนตรีอันวาร์เป็นหัวหน้าพรรค ช่วยหลีกทางแบ่งเขตลงสมัครเลือกตั้งบางเขตให้พรรคมูดาในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2565 โดยพีเคอาร์ตกลงไม่ส่งผู้สมัครซ้ำซ้อน แต่ปรากฏว่ามีซาดีคเพียงผู้เดียวจากผู้สมัครของพรรคมูดาทั้งหมดที่ชนะเลือกตั้งเข้าเป็น สส. ในสภาฯ ได้สำเร็จ ส่วนที่นั่งในเขตอื่นๆ ที่พีเคอาร์สละให้มูดาตกเป็นของพรรคฝ่ายค้านไป

พรรคมูดามีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอยู่ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงวัยหนุ่มสาวของประเทศ และมีนโยบายที่ร่างขึ้นอย่างน่าสนใจ มูดาประกาศว่าตนคือพรรคของคนหนุ่มสาวที่ disruptive (ป่วน) และสนับสนุนประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับนโยบายปฏิรูปการเมืองและอุดมคติสมัยใหม่ ส่งเสริมธรรมาภิบาล การไม่แบ่งแยกทางเชื้อชาติ และมาเลเซียที่อยู่ตรงกลาง (middle Malaysia) รวมทั้งกำหนดเป้าหมายจัดระบบผู้ที่ยังไม่ลงทะเบียนเลือกตั้งด้วย ในเวลาสั้นๆ ของการหาเสียงปี 2565 มูดาระดมกำลังรณรงค์และกลายเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของมาเลเซียที่สร้างความตื่นเต้นในภูมิภาคจากกระแสความตื่นตัวทางการเมืองของคนหนุ่มสาวที่รวมถึงในประเทศไทยด้วย เมื่อเข้าเป็นพันธมิตรกับปากาตัน พรรคมูดากลายเป็นหัวหอกสำคัญในการรณรงค์ใช้กฎหมายลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจาก 21 ปี เป็น 18 ปีจนสำเร็จ

ทว่าในความเป็นจริงทางการเมือง มูดายังต้องฝ่าฟันหาฐานเสียงสนับสนุนระดับรากหญ้าอย่างหนัก ผลการเลือกตั้งทั้งในการเลือกตั้งทั่วไปและระดับรัฐที่มูดาได้รับการช่วยเหลือจากแนวร่วมปากาตัน ชี้ให้เห็นว่าหนทางยังยาวไกลสำหรับพวกเขา ในการเลือกตั้งระดับรัฐของยะโฮร์เดือนมีนาคม 2565 มูดาสามารถเจรจากับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ปากาตันสองพรรคให้แบ่งจัดสรรเขตเลือกตั้งให้ผู้สมัครของมูดาแบบไม่ทับซ้อนกัน และได้รับการจัดสรรเขตเลือกตั้งที่เคยเป็นของพรรคแนวร่วมปากาตันมาทั้งหมด 7 เขต แต่ท้ายที่สุดผู้สมัครของพรรคมูดาได้ที่นั่งเพียงหนึ่งเขต ทำให้ที่นั่งที่เหลือตกเป็นของฝ่ายตรงข้าม

แม้มูดาจะทำได้ไม่ดีนักในการเลือกตั้ง แต่พรรคคงมีเวลาพิสูจน์ตัวเองต่อแนวร่วมปากาตันมากกว่านี้หากผู้บริหารหนุ่มสาวของพรรคจะไม่ตัดสินใจ disrupt การเลือกตั้งระดับรัฐ 6 รัฐที่จัดให้มีขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมปี 2566 เสียก่อน การเลือกตั้งครั้งนั้นสำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลอันวาร์ เพราะมันถูกมองว่าเป็นการแสดงเจตจำนงในการสนับสนุนรัฐบาลของประชาชนในรัฐเหล่านี้ และเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงที่แท้จริงของรัฐบาลได้ไม่น้อย หากว่าแนวร่วมพรรครัฐบาลเสียที่นั่งที่เคยเป็นของตนในรัฐเหล่านี้ให้แนวร่วมฝ่ายค้านเบอร์ซาตู-พาส ก็เท่ากับว่าปากาตันเริ่มเสียฐานเสียงของตนไป จึงจำเป็นต้องปกป้องฐานเสียงเหล่านี้ให้ได้อย่างเหนียวแน่น แน่นอนที่สุดพรรคพีเคอาร์ย่อมปฏิเสธเมื่อมูดาพยายามต่อรองให้จัดสรรที่นั่งให้ผู้สมัครจากพรรคตนอีกครั้งหนึ่ง

ซาดีคตอบโต้ด้วยการประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของมูดาลงสนามอย่างเป็นอิสระ เขายังพูดกับสื่อมวลชนอีกด้วยว่า นายกฯ อันวาร์และผู้บริหารของปากาตันละเลยไม่สนใจความพยายามของมูดาที่จะสมัครเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ อย่างเป็นทางการ แถมด้วยการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินนโยบายที่สัญญาไว้เมื่อตอนหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำกัดวาระของนายกรัฐมนตรี การต่อต้านการทุจริต และการปฏิรูปบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ (government-linked companies)

ท่าทีของซาดีคและมูดานำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์และความคลาดแคลงใจต่อตัวเขาและพรรคมูดามากมาย ผู้สนับสนุนรัฐบาลปากาตันบ้างก็ว่ามูดาขาดความสามารถ ไม่สามารถชนะใจคนรุ่นใหม่ได้ แม้จะได้รับโอกาสจากปากาตันมาแล้วถึงสองครั้งสองหน บ้างก็วิจารณ์เลยไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างซาดีคกับมหาเธร์ในอดีต ถึงขั้นตั้งข้อสงสัยว่าชะรอยจะเป็นเล่ห์กลของมหาเธร์ในการทำลายรัฐบาลปากาตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมหาเธร์หันกลับไปจับมือกับเบอร์ซาตูและพาสอีกครั้งหนึ่ง

แต่ครั้งนี้ แม้แต่มหาเธร์เองก็ยังออกมาช่วยประสานเสียงห้ามมูดากันเซ็งแซ่ มหาเธร์ให้สัมภาษณ์คัดค้านการตัดสินใจของมูดา โดยชี้ว่าการลงแข่งขันในการเลือกตั้งระดับรัฐครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ เพราะแม้ว่ามูดาจะได้ที่นั่งบางที่นั่งในรัฐทั้งหก แต่พรรคก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ถ้าหากว่าไม่ได้รับโอกาสในการบริหาร ส่วน ลิม กิต เสียง (Lim Kit Siang) นักการเมืองอาวุโสของพรรค DAP (Democratic Action Party) ได้ออกมาเตือนให้มูดาอย่ารีบร้อน ขอให้ทบทวนการตัดสินใจครั้งนี้ใหม่ อย่าได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันเลย และมาช่วยกันสนับสนุนรัฐบาลปากาตันต่อไปเถิด

แม้แต่เสียงเตือนของนักการเมืองรุ่นใหญ่ก็ไม่สามารถติดเบรคมูดาและซาดีคได้ พรรคมูดาส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งตามที่ได้ประกาศไว้ และแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบโดยไม่ได้ที่นั่งแม้แต่เก้าอี้เดียว นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่ามูดาอาจสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นพรรคที่มีความหมายในการเมืองมาเลเซียได้ในอนาคต แต่พรรคจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างฐานเสียงระดับรากหญ้าให้ได้เพียงพอ นอกจากนั้นยังจะต้องแข่งขันแย่งเสียงของคนรุ่นใหม่กับปีกยุวชนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีทุนรอน เครือข่าย และประสบการณ์ที่สั่งสมมานานปี

ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคมูดากับแนวร่วมปากาตันขาดสะบั้นลงในเดือนกันยายนปีนี้ เมื่อซาดีควิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลให้รองนายกรัฐมนตรีซาอีดพ้นผิดจากข้อหาทุจริตคดีหนึ่ง เขาปราศรัยในสภาฯ วิจารณ์รัฐบาลว่า “ปากอย่างใจอย่าง” (hypocrite) เพราะเมื่อครั้งที่ยังเป็นฝ่ายค้าน แนวร่วมปากาตันปราศรัยโจมตีกระบวนการศาลในกรณีทุจริตกองทุน 1MDB ของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก (Najib Razk) ในสภาฯ อย่างหนัก แต่กลับเงียบเชียบในกรณีศาลปล่อยให้รองนายกฯ ซาฮีด พ้นผิด ต่อมาเขาประกาศแยกตัวจากการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลด้วยเหตุผลว่าพรรคมูดาไม่สามารถยอมรับได้กับการที่รัฐบาลกำลังเคลื่อนไหวให้ยกฟ้องคดีทุจริตของซาอีดอีก 47 กระทง และย้ายที่นั่งตนเองไปนั่งในฝั่งของฝ่ายค้านในสภาฯ  

พรรคมูดาและซาดีคโดดเดี่ยวในเวทีการเมือง และยิ่งโดดเดี่ยวหนักขึ้นเมื่อคำพิพากษาอันหนักหน่วงในคดีของเขาตามมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ก่อนที่ในวันที่ 9 พฤศจิกายน เขาแถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งประธานพรรค และกล่าวตอนหนึ่งว่าการเป็นประธานของพรรคมูดาจะต้องมีความ “whiter than white” (เป็นคนดีที่ไม่เคยทำผิดอะไรเลย) 

“ผมไม่คู่ควรต่อบทบาทนี้อีกต่อไป พวกเรา (กรรมการพรรค) ได้ตัดสินใจให้ผมลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคระหว่างที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการศาล” 

ถ้าหากเขาปรารถนาจะอยู่ในเวทีการเมืองต่อไป ไซด์ ซาดีค คงต้องใช้เวลานับปีในการสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนให้เป็นนักการเมืองที่คู่ควรแก่ความไว้วางใจของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาว อนาคตเขาจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ ในมาเลเซีย เขาคือนักการเมืองโชคร้ายแห่งปี 2566 โดยแท้


อ้างอิง

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/malaysian-lawmaker-found-guilty-corruption-by-high-court-bernama-2023-11-09/

https://www.benarnews.org/english/news/malaysian/syed-saddiq-guilty-7-years-prison-11092023130750.html

https://www.thestar.com.my/news/nation/2022/07/20/syed-saddiq-instructed-rm1mil-to-be-distributed-day-after-house-was-searched-says-witness

https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2022/06/22/i-suspected-syed-saddiq-2-others-conspired-over-missing-funds-cop-tells-court/

https://fulcrum.sg/whats-the-matter-with-muda-is-it-moody-or-just-misunderstood/

https://www.malaymail.com/news/malaysia/2023/06/28/dr-mahathir-tells-muda-no-point-contesting-if-not-going-to-be-part-of-administration/76859

https://www.thevibes.com/articles/news/95391/kit-siang-sounds-alarm-over-mudas-solo-plans-for-state-polls

https://www.thestar.com.my/news/nation/2023/09/12/syed-saddiq-calls-out-govt-over-hypocrisy-in-first-move-from-opposition-bench

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save