fbpx

จาก ‘แหม่มปลาร้า’ ถึง ‘จดหมายจากเมียเช่า’: ฟังเพลงลูกทุ่งไทยในยุค ‘อเมริกันครองเมือง’

“ทำไมไม่ไป อยู่อเมริกา คุณหญิงดอลลาร์กลับมาทำไมเมืองไทย”

เสียงร้องผ่านลูกคอนักร้องลูกทุ่งชาย เจ้าของฉายา ‘ขวัญใจคนเดิม’ สายัณห์ สัญญา ในผลงานเพลงสร้างชื่อ ‘แหม่มปลาร้า’ ยังคงถูกเปิดตามหน้าปัดคลื่นวิทยุให้แฟนเพลงลูกทุ่งได้ยินบ่อยครั้ง แม้ว่าในปัจจุบัน สายัณห์ สัญญาจะลาลับแฟนเพลงไปแล้วไกลแสนไกล

การจากไปของสายัณห์ทำให้ในช่วงเวลาหนึ่งมีมุกตลกเล่นกันขบขันว่า “เพลงลูกทุ่งไม่มีวันตาย”

แต่แล้วก็จะมีคำถามสวนกลับมาอย่างทันควันว่า “แล้วสายัณห์ไปไหน?”

แม้เป็นการยากที่จะตอบคำถามว่า สายัณห์ไปไหน? แต่ก็มีเรื่องที่พอจะตอบได้ว่าไม่เคยหายไป ก็คืออาการตระหนกและหวั่นวิตกอิทธิพลทางการเมืองและการทหารของประเทศสหรัฐอเมริกาในหมู่ประชาชนบางกลุ่มของสังคมไทย

แม้ในปัจจุบัน ประเทศไทยจะมิใช่จุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองและการทหารของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ดังเช่นในยุคสงครามเย็นช่วงราวทศวรรษ 2500-2510 อีกต่อไปแล้ว ทว่า ในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาไม่นาน ปรากฏว่ามีประชาชนบางส่วนในสังคมไทยเกิดอาการตระหนกและหวั่นวิตกต่อการแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐฯ จนถึงขนาดที่เชื่อกันว่า หากพรรคของคนรุ่นใหม่ไฟแรงซึ่งได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จะเป็นผลทำให้สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยได้สำเร็จ และที่สำคัญคือจะปล่อยให้มีการสร้าง ‘ฐานทัพ’ สหรัฐฯ ขึ้นในประเทศไทย

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาคร่าวๆ ถึงช่วงอายุหรือวัยของกลุ่มประชาชนที่มีอาการตระหนกและหวั่นวิตกต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ในปัจจุบันจะพบว่า ส่วนใหญ่ก็คือคนวัยหนุ่มสาวเมื่อราวประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว โดยประชาชนกลุ่มได้เติบโตและผ่านชีวิตทางการเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2500-2510 ซึ่งเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ‘ยุคอเมริกันครองเมือง’

1

เกริ่นนำ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาก็ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร และสำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทอย่างเด่นชัดนับตั้งแต่เมื่อสถานการณ์ในหลายประเทศแถบภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเชียงใต้ได้รับอิทธิพลจากกระแสอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะและสามารถจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศจีนได้สำเร็จในช่วงต้นทศวรรษ 2490 รวมถึงสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือและการเติบโตของขบวนการฝ่ายซ้ายในลาวช่วงทศวรรษ 2500

กล่าวได้ว่าในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยให้ความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร กับสหรัฐฯ เป็นอย่างดี นับตั้งแต่ในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามช่วงทศวรรษ 2490 รัฐบาลเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงทศวรรษ 2500 จนมาถึงในยุครัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร ในช่วงกลางทศวรรษ 2500-2510 โดยประเทศไทยถือเป็น ‘ป้อมปราการ’ สำคัญในการต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองไทยอย่างสำคัญ กล่าวโดยกระชับ ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของไทยภายใต้ ‘วาทกรรมการพัฒนา’ มีสถิติตัวเลขระบุว่า ระหว่าง พ.ศ. 2493-2518 สหรัฐฯ ให้เงินงบประมาณถึง 650,000,000 เหรียญสหรัฐแก่ไทย เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ[1] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุคสมัยเผด็จการจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม โดยมีการพัฒนาภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ ครอบคลุมในหลายด้าน เช่น ด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ บริการ การพัฒนาหัวเมืองขนาดใหญ่ไปจนถึงในระดับการพัฒนาชนบท รวมทั้งมีการสร้างถนนหนทาง ติดตั้งระบบไฟฟ้า และการพัฒนาระบบการสื่อสารวิทยุโทรทัศน์ให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ประเทศไทย[2]

ขณะที่ในด้านการทหารมีสถิติตัวเลขระบุว่า ระหว่าง พ.ศ. 2494-2514 สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไทยเป็นเงินถึง 935,000,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับ 59% ของงบประมาณด้านการทหารทั้งหมดของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น โดยยังมีงบประมาณในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น งบประมาณราว 760,000,000 เหรียญสหรัฐสำหรับการจัดหายุทโธปกรณ์ทางการทหารและการจ้างกองกำลังไปรบที่เวียดนาม งบประมาณราว 250,000,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับการสร้างฐานทัพทางอากาศและเรือในประเทศไทย และงบประมาณสำหรับการใช้จ่ายของทหารอเมริกันในไทยเพื่อ ‘การพักผ่อนและสันทนาการ’ อีกราว 850,000,000 เหรียญสหรัฐ[3]

ไม่เพียงเท่านั้น สถิติตัวเลขการท่องเที่ยวในช่วงต้นทศวรรษ 2510 ยังแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนนักท่องเที่ยวและทหารอเมริกันเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากสถิติตัวเลขใน พ.ศ. 2513-2514 ระบุว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 630,000 คน เป็นชาวอเมริกันถึง 150,000 คน โดยเป็นทหารอเมริกันที่เข้ามาพักผ่อนถึง 30,000-40,000 คน ขณะที่ใน พ.ศ. 2511 มีสถิติตัวเลขระบุว่ามีทหารอเมริกันไม่ต่ำกว่า 46,000 คน ประจำการอยู่ตามฐานทัพต่างๆ ในประเทศไทย[4] โดยสหรัฐฯ มีฐานทัพทางอากาศจำนวน 8 แห่ง เป็นฐานทัพหลักครอบคลุมเขตพื้นที่ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ได้แก่ ฐานทัพอากาศดอนเมือง (กรุงเทพฯ) ฐานทัพตาคลี (นครสวรรค์) ฐานทัพนครราชสีมา ฐานทัพนครพนม ฐานทัพอุดรธานี ฐานทัพอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) ฐานทัพอุบลราชธานี และฐานทัพน้ำพอง (ขอนแก่น) รวมทั้งมีการปรับปรุงท่าเรือขนาดใหญ่เพื่อรองรับการขนส่งทหารและลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ท่าเรือสัตหีบ (ชลบุรี) และยังมีทหารประจำการในฐานทัพสถานีเรดาร์ขนาดใหญ่อย่าง สถานีเรดาร์ค่ายรามสูร ที่จังหวัดอุดรธานี[5]

ด้วยบริบททางการเมืองดังกล่าว ทำให้นักวิชาการไทยศึกษาอย่าง เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน
มีความเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐฯ ต่อประเทศไทยก่อให้เกิดกระแส ‘อเมริกานุวัตร’ (Americanization) ในประเทศไทย และส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูอยู่นานต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ

ด้วยความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ ‘กระฎุมพีคนชั้นกลาง’ และ ‘นายทุนน้อย’ เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ในบริเวณพื้นที่ชนบทที่เศรษฐกิจการค้าขาย ฐานทัพทหาร ถนนหนทาง และระบบสาธารณูปโภคขยายเข้าไปถึง เป็นผลทำให้ผู้กว้างขวาง เจ้าของโรงสี พ่อค้า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต่างพากันร่ำรวยถ้วนหน้า

ขณะที่ในบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ ตลอดจนตามบริเวณพื้นที่ตั้งฐานทัพของทหารอเมริกัน ก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากพบช่องทางทำมาหากินและสามารถยกระดับฐานะของตนเองให้ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพต่างๆ  เช่น ช่างตัดผม แมงดาแมน ช่างแต่งเล็บ ช่างซักรีด คนขับรถ หมอนวด มัคคุเทศก์ บาร์เทนเดอร์ และพนักงานต้อนรับ สัมพันธ์ไปกับปรากฏการณ์ที่โรงแรม ภัตตาคาร โรงภาพยนตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไนต์คลับ และอาบอบนวดผุดขึ้นราวดอกเห็ด อันเนื่องมาจากนักธุรกิจ ทหาร และนักท่องเที่ยวต่างพากันไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทย[6]

จากข้อมูลในช่วงทศวรรษ 2510 แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ และพัทยาถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทหารอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนาม ถนนเพชรบุรีที่กรุงเทพฯ กลายเป็น ‘แหล่งอเมริกัน’ ที่เต็มไปด้วยบาร์ ไนต์คลับ ซ่อง อาบอบนวด และอุตสาหกรรมเพศพาณิชย์ โดยประมาณการว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนผู้หญิงบริการที่กรุงเทพฯ มีมากถึง 300,000 คน[7]

2

เพลงลูกทุ่งไทย: กระจกสะท้อนยุคสมัย ‘อเมริกันครองเมือง’

ในยุคอเมริกันครองเมือง สังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายและปรากฏไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในหลายด้านหลายมิติ นับตั้งแต่ในเชิงพื้นที่กายภาพ ไปจนถึงด้านศิลปวัฒนธรรมอย่าง ‘เพลงลูกทุ่งไทย’

ดังที่ผู้เขียนเคยนำเสนอไว้แล้วว่า อัตลักษณ์สำคัญของเพลงลูกทุ่งไทยนั้นมีลักษณะแบบ ‘บ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งแดนไกล’ ที่แม้นักร้องและนักแต่งเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนชนบท/ต่างจังหวัด แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์อำนาจของเมืองเป็นหนทางสำคัญในการก้าวขึ้นมามีชื่อเสียง โดยเพลงลูกทุ่งไทยในช่วงทศวรรษ 2510-2520 มีลักษณะน่าสนใจประการหนึ่งคือ เพลงจำนวนหนึ่งมีลักษณะแบบ ‘ด่าเมือง’ และประเด็นด่าเมืองของเพลงลูกทุ่งไทยในยุคสมัยดังกล่าวก็คือการเล่าว่าชนบทถูกเมืองแย่งชิงเอาทรัพยากรมนุษย์ ‘ผู้หญิง’ ไป อันเนื่องมาจากยุคสมัยแห่งการพัฒนา

แน่นอนว่า เพลงลูกทุ่งไทย ถือเป็นอีกหนึ่งร่องรอยหลักฐานสำคัญในยุคอเมริกันครองเมือง โดยเฉพาะเพลงที่กล่าวถึงหญิงสาวชาวไทยที่หลงใหลไปกับ ‘เงินตรา แสงไฟ และไส้กรอก’ ดังเช่นเพลงดัง ‘แหม่มปลาร้า’ ผลงานสร้างชื่อให้กับนักร้องลูกทุ่งขวัญใจคนใหม่ ก่อนกาลเวลาจะทำให้เขากลายเป็น ‘ขวัญใจคนเดิม’ อย่าง สายัณห์ สัญญา ที่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นภาพเพลงลูกทุ่งไทยในยุคอเมริกันครองเมือง ราวช่วงปี 2515 ได้เป็นอย่างดี ดังที่สายัณห์ขับร้องว่า

ทำไมไม่ไป อยู่อเมริกา คุณหญิงดอลลาร์กลับมาทำไมเมืองไทย

ไปกินหมูแฮม ไข่ดาวหนมปังอันใหญ่

ไอ้หนุ่มจีไอมันคอยเอาใจเอาใจโอ้โอ๋

จีไอนิโกร ฮัลโหลเซย์กู๊ดบาย คุณหญิงคุณนายเสียดายนั่งร้องไห้โฮ

จะหอบผ้าตามเขาไปก็กลัวโดนโห่ ต้องเดินเซโซเข้าบังกะโลหาผัวคนไทย

ฮ่วยบอกแล้วบ่ฟัง มีผัวฝรั่งเดี๋ยวมันก็ทิ้งเจ้าไป

โอ๊ยยยย อยากกินหมูแฮม อยากเป็นอีแหม่มแล้วต้องมานั่งเจ็บใจ

แม่นางหน้ามนก็คนมักง่าย มีผัวจีไอสมใจละเด้อ

ทำไมไม่ไป อยู่อเมริกา แม่แหม่มปลาร้ากลับมาทำไมเล่าเธอ

สมน้ำหน้าจังฝรั่งมันทิ้งแสนเกร่อ ไปนั่งขายเบอร์ตามบาร์กลับมาทำไม

จะเห็นได้ว่าในด้านหนึ่งแหม่มปลาร้าเป็นการเสียดสีผู้หญิงไทยที่หลงใหลและฝันใฝ่ไปกับวัฒนธรรมอเมริกัน ด้วยการเปรียบเทียบผ่านภาพพจน์ทางอาหารที่เป็นภาพตัวแทนอเมริกันอย่าง ‘หมูแฮม ไข่ดาว และหนมปังอันใหญ่’ โดยเปรียบเทียบกับอาหารที่ให้ภาพพจน์ความเป็นชนบท/บ้านนอกแบบไทยๆ อย่าง ‘ปลาร้า’

แต่ทว่า ในอีกด้านหนึ่งเพลงแหม่มปลาร้าก็สะท้อนให้เห็นถึงภาพของการพยายามโน้มน้าวรักษาทรัพยากร ‘ผู้หญิง’ ของไอ้หนุ่มลูกทุ่งไทยเอาไว้ ผ่านวิธีการ ‘สร้างความกลัว’ ให้แก่หญิงสาวไทย ดังที่ว่า “ฮ่วยบอกแล้วบ่ฟัง มีผัวฝรั่งเดี๋ยวมันก็ทิ้งเจ้าไป โอ๊ยยยย อยากกินหมูแฮม อยากเป็นอีแหม่มแล้วต้องมานั่งเจ็บใจ”

ชวนสังเกตว่า เนื้อหาในเพลงแหม่มปลาร้าของสายัณห์ มีลักษณะแบบเดียวกับเนื้อหาในเพลงลูกทุ่งกลุ่ม ‘ด่าเมือง’ ช่วงทศวรรษ 2510 ที่มักจะสร้างความน่ากลัวของเมืองต่อหญิงสาวที่อยู่ในชนบท โดยมีการนำเอามาตรการลงโทษทางสังคมมาสร้างความกลัว ดังเช่นเพลงดังอย่าง ‘ดาวเรืองดาวโรย’ ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่เล่าถึงหญิงสาวผู้ชอกช้ำจากเมืองจนต้องเดินทางกลับมาบ้านนอกว่า “สิ้นสดหมดสาวกลายเป็นข่าวกลับนา นางดาวเรืองโดนไอ้หนุ่มแซวมา เออ เอ่อ เอิง เอ่ย เรียกอีหม่า ดาวโรย”

กลยุทธ์การสร้างความกลัวให้กับหญิงสาวในเพลงลูกทุ่งไทย นับเป็นหนึ่งในกลไกทางวัฒนธรรมแบบชุมชนชนบท/บ้านนอกที่พยายามให้สมาชิกรู้สึกร่วมกันถึงผลประโยชน์บางอย่างทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวม โดยมีจุดประสงค์เพื่อย้ำเตือนและโน้มน้าวมิให้หญิงสาวซึ่งเป็นทรัพยากรของชนบท/บ้านนอกต้องสูญเสียให้กับเมือง

แต่แหม่มปลาร้านั้นแตกต่างไปจากดาวเรืองดาวโรยตรงที่ว่า แหม่มปลาร้าขยายภาพพื้นที่อำนาจการเมืองในระดับโลก กล่าวคือในขณะที่เพลงดาวเรืองดาวโรยให้ภาพ ‘ชนบทกับเมือง’ เพลงแหม่มปลาร้าได้ให้ภาพ ‘ประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา’ ดังนั้น สัมพันธภาพอำนาจทางการเมืองในเพลงแหม่มปลาร้า จึงคือภาพซ้อนที่ ‘ชนบท กลายเป็น ประเทศไทย’ และจาก ‘เมือง กลายเป็น ประเทศสหรัฐอเมริกา’

ปฏิเสธมิได้ว่าการหลงใหลและฝันใฝ่ในยุคอเมริกันครองเมืองของหญิงสาวไทยก็มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า รายได้ของผู้หญิงตามบาร์และไนต์คลับในยุคอเมริกันครองเมืองนั้นเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก จากบทความสารคดีในยุคร่วมสมัย เรื่อง ‘ตาคลี : ขยะสงคราม’ ของวีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ แสดงให้เห็นภาพยุคสมัยอเมริกันครองเมืองอย่างแจ่มชัด ดังที่เขาเล่าเกริ่นนำว่า “ปัจจุบันถ้าใครเอ่ยถึงชื่ออำเภอตาคลี ก็คงจะทำให้เรานึกถึงทหารอเมริกัน สนามบิน บาร์ ไนต์คลับ และเมียเช่า เช่นเดียวกับที่เราได้ยินชื่อ อุดร อู่ตะเภา อุบล โคราช นครพนม และน้ำพอง”

จากการเก็บสถิติข้อมูลในพื้นที่อำเภอตาคลีของวีรประวัติ พบตัวเลขที่น่าสนใจว่า ในช่วงปี 2515 อำเภอตาคลีมีจำนวนบาร์และไนต์คลับมากกว่าจำนวนวัดที่เป็นศาสนสถาน (บาร์และไนต์คลับ มีจำนวนรวมมากว่า 46 แห่ง ในขณะที่วัดมีจำนวน 44 แห่ง) รวมทั้งจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลรายได้ของผู้หญิงที่หากินตามบาร์ พบว่า มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนขั้นต่ำระหว่าง 3,000 ถึง 5,000 บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ทำให้อำเภอตาคลี ซึ่งเคยเป็นชนบทอันเงียบสงบ ได้กลายเป็น ‘อเมริกันทาวน์’ ที่ ‘ขวักไขว่ด้วยผู้หญิงที่เดินควงอยู่กับทหารอเมริกัน’ และ ‘ภาพหญิงไทยและชาวต่างชาติเดินกอดกันจูบกันอยู่ขวักไขว่’[8]

ดังนั้น แม้ไอ้หนุ่มลูกทุ่งไทยจะย้ำเตือนและเหนี่ยวรั้งหญิงสาวชาวไทยสักเพียงใด แต่ในยุคอเมริกันครองเมืองเช่นนี้ หนุ่มลูกทุ่งไทยก็มิอาจต้านทานอำนาจของ ‘เงินตรา แสงไฟ และไส้กรอก’ ของอเมริกันได้ ทำให้ในเพลง ‘ผู้หญิงอย่างยู’ ของสังข์ทอง สีใส ถึงกับเพ้อรำพันและเสียดสีผู้หญิงไทยที่อยากจะเป็น ‘แหม่ม’ ว่า

ไม่อยากเซด ไอทุเรศยูเหลือเกิน ยูเห็นไอทำเป็นเมินเพราะยูเดินควงฝรั่ง

ยูแฮฟมันนี่ ไอบ่จี้ไม่มีสตางค์ ยูเห็นไอเป็นตัวงั่ง เห็นฝรั่งเป็นเทวดา

ไม่อยากเซด ไอทุเรศยูทุกวัน ยูเลิฟทัวร์มะริกันยูเห็นไอนั้นเป็นคนป่า

ผู้หญิงอย่างยูใครก็รู้ว่าเป็นแค่กา นั่งรถเก๋งทำวางท่า ทำแอ็กว่าข้านี้เป็นผู้ดี

เมื่อก่อนหน้านั้น เคยรักกันแบบเด็กบ้านนอก เราเคยเซดกันว่าไอเลิฟยู ยูเลิฟมี

ก็แล้วไฉนมาเปลี่ยนใจเสียนี้ ไอแอมซอรี่ น้ำตาไหลปรี่โศกาโศกา

ไม่อยากเซด ยูมีเกรดเป็นดาวสังคม ยูเห็นไอเป็นโคลนตม ยูไม่นิยมเพราะไม่มีค่า

ผู้หญิงอย่างยู ใครก็รู้มาจากท้องนา เพียงต้องการเงินดอลลาร์ เลยขึ้นราคาค่าตัวเป็นแหม่ม

แต่แล้ว ความเคลื่อนไหวก็ปรากฏดั่งคำเตือน เมื่อสหรัฐฯ เริ่มถอนกองทัพทหารออกจากสงครามอินโดจีนตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2510 ผนวกกับภายหลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม-ประภาส ในเดือนตุลาคม 2516 กระแสการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนกองทัพออกจากประเทศไทยของกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนไทยก็ประสบผลสำเร็จ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลประโยชน์ในยุคอเมริกันครองเมืองต่างรู้สึกและรับรู้ได้ว่ายุคทองของพวกเขากำลังจะค่อยๆ สิ้นสุดลงแล้ว

แน่นอนว่า ภาพการถอนทัพของทหารอเมริกันก็นำมาซึ่งการปรากฏเพลงลูกทุ่งไทยในลักษณะที่เย้ยหยันและเสียดสีหญิงสาวชาวไทยที่คิดอยากจะเป็น ‘แหม่ม’ ผ่านมุมมองการเล่าของไอ้หนุ่มลูกทุ่งไทยที่เสมือนเป็นภาพแทนหรือร่างประทับของ ‘ประเทศไทย’ ที่มีต่อสหรัฐฯ ดังเช่นเพลง ‘ฝรั่งขี้นก’ ของนักร้องลูกทุ่งเจ้าของฉายา ‘แมนซิตี้ไลอ้อน’ ชาย เมืองสิงห์ ที่ร้องว่า

อายยย เขาไหมเนี่ย เอ๊วเอ๊วฝรั่งขี้นก ปลูกไว้โชกในเมืองไทย

นกมันถ่ายตกไว้ เมื่อตอนเข้าย้ายอู่ตะเภา

เด็กผมแดง มันวิ่งแซง มาเกิดเก็บเอา

เอาความเศร้าเศร้า อีตอนพ่อเจ้าเซกู๊ดบาย

อายยย เขาไหมเนี่ย เอ๊วเอ๊วฝรั่งขี้นก เยสยิ่งครกเธอนั่งวอ

โนโน อยากหัวร่อ ภาษาของพ่อขุนราม อ๊ายอาย

เห่อขนมปัง ชิงและชัง ’พริกปลาทูไทย

ฟุตฟิตฟอไฟ ยูยูไอไอ ละโธ่ แหม่มปลาร้า

จะเห็นได้ว่า นอกจากเย้ยหยันและเสียดสีแล้ว เพลงฝรั่งขี้นกยังแสดงให้เห็นถึงภาพของ ‘ลูกระเบิดมนุษย์’ ที่ฝรั่ง (ทหารอเมริกัน) ทิ้งไว้ให้กับบรรดา ‘เมียเช่า’ หรือหญิงสาวชาวไทยที่ไปเอ๊วเอ๊วฝรั่ง ซึ่งหมายถึงบรรดาเด็กผมแดงที่เกิดจากทหารอเมริกันกับเมียเช่าหรือหญิงสาวชาวไทยที่ได้กลายเป็นประเด็นทางสังคมของไทยในช่วงหลังยุคอเมริกันครองเมือง[9]

และแล้ว เมื่อยุคอเมริกันครองเมืองเดินทางมาถึงที่สิ้นสุด ก็คงจะไม่มีเพลงลูกทุ่งใดเป็นกระจกสะท้อนภาพสภาวะดังกล่าวได้ชัดเจนเท่าเพลงดังอย่าง ‘จดหมายจากเมียเช่า’ ของ มานี มณีวรรณ ผลงานการประพันธ์โดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่เล่าถึงภาพเมียเช่าในจังหวัดอุดรธานี กำลังเขียนจดหมายบรรยายความทุกข์ระทม ภายหลังการ ‘หิ้วกระเป๋าโกโฮม’ ถอนทัพกลับไปประเทศสหรัฐฯ ของทหารอเมริกัน

ไอเขียนเลตเตอร์ ถึงเธอ เดียร์ จอห์น

เขียนในแฟลตที่ยูเคยนอน

จังหวัดอุดร ประเทศไทยแลนด์

ไอบร็อคเก่นฮาร์ด ยูมัสต์อันเดอร์สแตนด์

จอห์นจ๋าจอห์น ดอลลาห์ขาดแคลน

เมียเซคกั้นแฮนด์ของยูยังคอย

ยูทิ้งเมียเช่า หิ้วกระเป๋าโกโฮม

ทิ้งรอยจูบลูบโลม จนเชพไอโทรมเพราะยูเอ็นจอย

ฟอร์เก็ตยูว๊อน กลับไปอยู่อินลินอย

ไอเสียใจจนเป็นไทฟอยด์ เอาไทเกอร์ออยมาทากันตาย

โศกเศร้ากว่าแซดมูวี่ โอ้ว  จอห์นยูเมคมีคราย

ไอโลนลี่ เสียจนผอมไป อยากตายวายยูทิ้งมี

รอยน้ำตาหยดรดบนลายเซ็น หาซองใส่จ่าหน้าไม่เป็น

โธ่เวรเอ๋ยเวรฮูช่วยเขียนที

ฉีกทิ้งเลตเตอร์ หันไปเจอดีดีที

กู๊ดบาย สวัสดี โกมีทกับมี ที่เมือง The End

อันที่จริงแล้ว ดูเหมือนว่าการถอนทัพของทหารอเมริกันในช่วงปี 2517-2518 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเมียเช่าและธุรกิจทางเพศในเชิงพาณิชย์ของไทย หากแต่ยังเป็นผลสืบเนื่องประการหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างหนักในช่วงปลายทศวรรษ 2510 ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยที่เคยเป็นป้อมปราการต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ ก็กลายเป็นป้อมที่ถูกทิ้งร้างจากทหารอเมริกัน ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยคอมมิวนิสต์ที่ประชิดอยู่รอบด้านอย่างโดดเดี่ยว รวมไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลกในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ส่งผลให้บรรดาชนชั้นกระฎุมพีใหม่และนายทุนน้อยที่เติบโตและก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในยุคอเมริกันครองเมือง เกิดอารมณ์หงุดหงิดและโมโห โดยเฉพาะต่อพวกนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยที่พวกเขามองว่าเป็น ‘ตัวปัญหา’ จนนำมาซึ่งความปั่นป่วนทางอุดมการณ์ของผู้คนในสังคมไทยในช่วงปรากฏการณ์ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ซึ่งก็จบลงด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[10]

3

บทส่งท้าย

แม้บางคนอยากจะปฏิเสธยุคอเมริกันครองเมืองในสังคมไทย แต่เพลงลูกทุ่งไทยก็ราวกับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทำการบันทึกภาพสังคมและความคิดของคนในสังคมไทยในขณะนั้นอย่างแจ่มชัด จนยากที่จะปฏิเสธ

น่าสนใจว่าสำหรับประชาชนชนคนไทยที่มีอาการตระหนกและหวั่นวิตกต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน หากย้อนเวลากลับไปในยุคสมัยอเมริกันครองเมือง พวกเขากำลังทำอะไร มีอาชีพแบบไหน หรือใช้ชีวิตอย่างไรในยุคอเมริกันครองเมือง?

บางที ใครสักคนหนึ่ง…อาจกำลังเป็นนักศึกษาหัวเอียงซ้ายที่มีตำราหนังสือว่าด้วยแนวคิดคอมมิวนิสต์วางไว้อยู่บนหัวนอน ใครสักคนหนึ่ง…อาจกำลังช่วยอาป๊าทำธุรกิจค้าขายกับเหล่าบรรดาทหารอเมริกันอย่างขยันขันแข็ง หรือใครสักคนหนึ่ง…ก็อาจกำลังมีความคิดว่า อยากจะลองเป็น ‘แหม่มปลาร้า’ ดูบ้างก็อาจจะเป็นได้

References
1 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ในกระจก : วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน, (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2553), 18.
2 ดู ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, กําเนิด “ประเทศไทย” ภายใต้เผด็จการ, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2558).
3 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ในกระจก : วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน, 18.
4 เพิ่งอ้าง, 19-20.
5 ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ, (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556), 145-149.
6 เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน, 19. ; เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา: ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่, (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2558), 68-70.
7 คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2559), 211.
8 วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์, “ตาคลี : ขยะสงคราม”, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 8 (สิงหาคม 2515), 44-55.
9 สามารถดูบทความสารคดีในยุคร่วมสมัยที่กล่าวถึง เด็กผมแดง ได้ใน อนันต์ วิริยะพินิจ, “เด็กผมแดง : ลูกระเบิดที่อเมริกันทิ้งในไทย”, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 10 ฉบับที่  8 (สิงหาคม 2515), 58-65.
10 ดู เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา: ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่, 58-106.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save