fbpx

‘ความหวังในหล่มโคลน’ สังคมไทยบนทางแยกสู่ประชาธิปไตยจำแลง: สมชาย ปรีชาศิลปกุล

แม้ว่าในปีที่ผ่านมาการเมืองไทยเต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์ แต่หากย้อนมองการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาน่าจะช่วยให้ทำความเข้าใจได้ดีว่า นี่คือผลลัพธ์จากการปะทะกันรุนแรงของสองขั้วความคิดในสังคมไทยหลายปีที่ผ่านมา

หลังผ่านยุคเผด็จการทหาร ปมความขัดแย้งที่ขมึงเกลียวเริ่มคลายตัว สังคมไทยก็ตั้งความหวังถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นว่า เป็นการ ‘เปลี่ยนแต่ไม่ผ่าน’ หรือเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ไม่อาจแน่ใจนักว่าจะนำไปสู่อะไร

แค่ไม่กี่เดือนหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงจากตำแหน่ง การเมืองไทยก็พลิกผันจากความขัดแย้งเผด็จการ-ประชาธิปไตย, ชนชั้นนำกับทหาร-ประชาชน เหลือเพียงความขัดแย้งแดง-ส้ม ราวกับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่มีอำนาจของเครือข่ายชนชั้นนำและทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในภาวะชุลมุนเช่นนี้สังคมไทยควรตกผลึกอย่างไร เรากำลังยืนอยู่บนทางแยกที่นำไปสู่อะไร และ ‘หล่ม’ แบบไหนที่เราต้องก้าวให้ข้าม

101 ชวน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมมองถึงปัญหาการเมืองไทยปัจจุบันอย่างพินิจและชวนกันคิดว่าภาวะที่เป็นอยู่จะนำเราไปสู่อะไร จังหวะก้าวแบบไหนที่ควรระมัดระวัง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ในปีนี้จะครบรอบ 10 ปี รัฐประหาร 2557 ทศวรรษที่ผ่านมามีจุดเปลี่ยนสำคัญอะไรที่ส่งผลต่อการเมืองและสังคมไทย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของตัวละครในฉากการเมือง ผมแบ่งเป็นสามช่วง คือ 1. ปี 2557 ช่วงหลังรัฐประหาร 2. ปี 2562 มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีการเลือกตั้งที่ส่งผลให้หน้าตารัฐบาลเปลี่ยนไป และ 3. ปี 2566 ที่มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ช่วงปี 2557 ตัวละครหลักคือทหารและตุลาการ เราเห็นกลุ่มนายทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองผ่านการรัฐประหาร พร้อมกับเห็นบทบาทของฝ่ายตุลาการ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่ศาล แต่รวมถึงองค์กรอิสระอื่นๆ ที่มีหน้าที่ในเชิงตุลาการด้วย ในช่วงนี้มีการใช้อำนาจทางการเมืองแบบก้าวร้าวและคุกคามประชาชนสูง

พอปี 2560 ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและมีการเลือกตั้ง 2562 ตัวละครที่เพิ่มเข้ามาคือพรรคการเมือง โดยที่ทหารกับตุลาการยังอยู่ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชายังเป็นนายกฯ อยู่ โดยมีพรรคการเมืองเฉพาะกิจมาสนับสนุนการสืบทอดอำนาจจาก คสช. ในช่วงนี้มีการใช้อำนาจทางการ ไม่ใช่อำนาจแบบเด็ดขาดอย่างทหาร ท่าทีบางส่วนจึงเริ่มประนีประนอมมากขึ้น คนเหล่านี้เริ่มพูดจาเข้าหูประชาชนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีบทบาทของพรรคการเมืองที่ประกาศว่าไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ซึ่งมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มาก

บทบาทสำคัญของตุลาการทั้งช่วง 2557 และ 2562 คือการทำหน้าที่จัดการและควบคุมกลุ่มที่ท้าทายฝ่ายถือครองอำนาจ สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือการจัดการกับพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงผู้นำในพรรคอนาคตใหม่ด้วย

จุดเปลี่ยนสำคัญคือในปี 2566 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เป็นช่วงที่ทหารมีบทบาทลดน้อยลงและพรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทหน้าฉากเพิ่มมากขึ้น เดิมทีกลุ่มนายทหารหวังจะใช้การเลือกตั้งเป็นกลไกในการเข้าสู่อำนาจต่อ ในช่วงแรกของการหาเสียงเลือกตั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐจึงยังแข็งขันอยู่ แต่พอลงสนามเลือกตั้งจริงๆ แล้ว ก็ทำให้พรรคที่สืบทอดจากทหารไม่สามารถมีบทบาททางการเมืองได้อย่างชัดเจน

ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือการเมืองซึ่งชนชั้นนำไทยต้องอาศัยพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงจากการเลือกตั้งเข้ามาเป็นฐาน ปีที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนทิศของพรรคเพื่อไทย เพราะบัดนี้ถึงจังหวะเวลาที่พรรคการเมืองจะทำงานทางการเมืองได้แล้ว พรรคการเมืองกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองเฉพาะกิจที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทหารกลายเป็นพรรคที่ไม่มีอนาคตและรอวันถูกควบรวม แต่จะไปรวมกับพรรคใดก็แล้วแต่อนาคต


การมีทหารขึ้นมาเป็นผู้นำการปกครองยาวเกือบทศวรรษสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรแก่สังคม

เราไม่ค่อยเห็นกลุ่มทหารอยู่ในตำแหน่งยาวนานแบบนี้ เมื่อได้เห็นก็ทำให้เราตระหนักว่าคนกลุ่มนี้ไม่เท่าทันสังคมไทยและโลกเลย หากย้อนฟังคำสัมภาษณ์ของคุณประยุทธ์จะเห็นว่าเขาเท่าทันความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้น้อยมาก

ช่วงปี 2557-2566 คงทำให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักชัดๆ อีกครั้งหนึ่งว่า คนกลุ่มนี้ไม่เหมาะจะเป็นผู้บริหารประเทศ เมื่อก่อนเวลามีการยึดอำนาจ ทหารจะขึ้นมาช่วงจังหวะสั้นๆ แล้วกลับสู่ระบบเลือกตั้ง อย่างในปี 2534 หรือปี 2549 แต่ในปี 2557 กลุ่มทหารพยายามจะอยู่ในการเมืองระยะยาวและหวังจะลงหลักปักฐานได้ โดยที่ความรู้ความสามารถที่ถูกฝึกฝนเฉพาะในแง่ความมั่นคงนั้นไม่เท่าทันกับสังคมไทย

ถ้าถามว่าช่วง 2557-2566 มีข้อดีอะไรบ้าง ก็คือทำให้เรารู้ว่าทหารไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างชัดเจนมาก คุณประยุทธ์พ้นไปจากตำแหน่งแล้วมีใครระลึกถึงบ้างว่าถ้าคุณประยุทธ์ยังอยู่มันคงดีกว่านี้ ราวกับว่าที่ผ่านมาคุณประยุทธ์ไม่มีผลงานอะไรเลย เราตระหนักแล้วว่าทหารไม่เหมาะกับการเมืองในโลกปัจจุบันที่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจึงมีความสำคัญขึ้น

แต่เราต้องไม่ลืมว่า ขณะที่มีความเปลี่ยนแปลงในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ฝ่ายตุลาการไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มีเพียงการเปลี่ยนตัวบุคคล ฉะนั้นศาลและองค์การอิสระทั้งหลายยังเป็นองค์กรที่รักษาความต่อเนื่องของอุดมการณ์แบบเดิม

บทเรียนของหลายประเทศที่เปลี่ยนจากการเมืองแบบเผด็จการมาเป็นการเมืองที่เปิดมากขึ้นและมีการเลือกตั้งก็เป็นแบบนี้ เมื่อไหร่ที่ชนชั้นนำดั้งเดิมไม่สามารถคุมการเมืองผ่านการเลือกตั้งได้ องค์กรที่จะถูกผลักให้มาทำหน้าที่ควบคุมคือฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ

มาถึงจังหวะนี้ที่แม้พรรคการเมืองจะเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง แต่อำนาจตุลาการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยังเป็นแรงเสียดทานต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่ ฉะนั้นกรณีคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ที่ต้องขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรณีนักการเมืองหลายคนที่มีคดีความอยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ ยังคาดหมายว่าจะถูกตัดสินด้วยหลักวิชาไม่ได้ เป็นไปได้ว่าจะถูกตัดสินด้วยจุดยืนทางการเมืองมากกว่า


เราสามารถมองง่ายๆ ได้ไหมว่า การที่ทหารลดบทบาทลงเป็นสัญญาณว่าเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

ถามว่าทหารลดอำนาจลงแล้ว สถาบันทางการเมืองส่วนอื่นเพิ่มอำนาจมากขึ้นหรือเปล่า สิ่งที่เห็นคือสถาบันจารีตดึงเอาทหารเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในฐานอำนาจของตน รูปธรรมที่ชัดเจนคือเส้นทางภายหลังพ้นจากตำแหน่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด รวมถึงคุณประยุทธ์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ไม่มาก ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับยุคอื่นนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร


หากมองความเปลี่ยนแปลงของตัวละครทางการเมือง ปัจจุบันพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มอำนาจเก่าไม่ใช่พรรคเพื่อไทยอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นพรรคก้าวไกล ความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนอะไร

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ชนชั้นนำตระหนกกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในการเลือกตั้ง 2562 ไม่มีใครคาดคิดว่าพรรคอนาคตใหม่จะได้คะแนนเสียงมากขนาดนั้น เมื่อมาถึงเลือกตั้ง 2566 คะแนนของพรรคก้าวไกลยิ่งทำให้ความตกใจรุนแรงมากขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้คนจำนวนมากเริ่มมองเห็นว่าระบอบการเมืองที่มีอยู่เป็นปัญหา แม้กระทั่งปัญญาชนซีกอนุรักษนิยมหลายคนก็เริ่มออกมาพูดว่าต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง เราคงอยู่ภายใต้ระบอบแบบนี้ไม่ได้ ต้องมีอะไรถูกจัดการเปลี่ยนแปลง แต่เราก็ยังไม่เห็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลง

เดือนพฤษภาคม 2567 นี้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยทหารจะหมดวาระลง หมายความว่าอำนาจของชนชั้นนำผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่างทหารจะเบาบางลงมาก ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองต้องคิดถึงฐานเสียง นั่นหมายความว่าสิ่งที่เราจะได้เห็นแน่ๆ ในการเลือกตั้ง 2570 คือพรรคการเมืองต่างๆ ปรับนโยบายให้ดูก้าวหน้ามากขึ้น โดยอาจไม่แตะบางประเด็นที่เห็นว่าเป็นภัยต่อพรรค เช่น ไม่แตะเรื่อง 112 แต่ต้องผลักดันนโยบายอื่นๆ เช่น นโยบายสวัสดิการสังคมหลายรูปแบบ เพราะพรรคการเมืองก็รู้ว่าฐานเสียงของเขามีความต้องการอย่างไร

ดังนั้น จะเกิดปรากฏการณ์สองแบบ 1. พรรคการเมืองเก่าๆ ปรับนโยบาย 2. อาจมีพรรคการเมืองแบบพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นมาอีก เพียงแต่เลือกเสนอบางประเด็นที่ตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจหรือสังคม โดยละเว้นประเด็นเรื่อง 112 หรือเรื่องสถาบันฯ นี่เป็นแรงกดดันในระยะยาวที่อย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ประเด็นที่เป็นใจกลางของปัญหา อย่างเรื่อง 112 หรืออื่นๆ อาจจะต้องใช้เวลามากขึ้นหรือเปล่า


การที่พรรคเพื่อไทยไปจับมือกับพรรคสืบทอดอำนาจทหาร นี่คือชัยชนะของชนชั้นนำที่สามารถเอาศัตรูเก่าเข้ามาร่วมได้ หรือว่านี่คือการถอยร่นของชนชั้นนำที่ต้องยอมมาเล่นการเมืองในระบบ

ผมคิดว่าชนชั้นนำไม่รู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยเป็นปัญหา เพราะภายใต้การยึดอำนาจปี 2549 และปี 2557 ชนชั้นนำรู้ว่าพรรคนี้สามารถดีลได้ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง

เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาทำเรื่องเศรษฐกิจไม่เป็น ก็เกิดความคาดหวังว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำรัฐบาลแล้วจะใช้ความสามารถในการบริหารด้านเศรษฐกิจสร้างความนิยมชมชอบให้เกิดขึ้นได้ ประชาชนท้องอิ่ม มีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วจะทำให้ประเด็นที่เคยถูกเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ค่อยๆ ถูกลดทอนความสำคัญลง หรือค่อยๆ ถูกมองข้ามไป นี่คือฉากทัศน์ที่เป็นที่ยอมรับของทั้งฝ่ายชนชั้นนำในพรรคการเมืองและฝ่ายชนชั้นจารีต ในขณะที่พรรคเพื่อไทยแค่คิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะเข้ามาพิสูจน์ความสามารถ ฟื้นฟูความนิยมของตนให้กลับมา

ต้องบอกว่าพรรคเพื่อไทยรอบนี้มีความแตกต่างจากอดีต คือไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเดิม คุณเศรษฐา ทวีสินอ่อนแอมาก ในกรณีคุณประยุทธ์ที่ถูกวิจารณ์ว่าขาลอย ไม่มีพรรคการเมืองของตนเองสนับสนุน แต่อย่างไรเขาก็ยังมี ส.ว. แล้วคุณเศรษฐามีใครบ้าง เพิ่งเข้าพรรคมา ไม่มี ส.ส. สักคน คุณเศรษฐาอ่อนแอมากเสียจนจะทำอะไรไม่ได้มาก ที่คุณเศรษฐานิยามตัวเองว่าเป็นเซลล์แมนนั้นถูกต้อง เพราะไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่นได้เลย สิ่งที่ทำได้คือต้องทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถแตะโครงสร้างอะไรได้ เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ ปรับภาษี นโยบายไหนที่ต้องกระทบกลุ่มอื่นๆ ที่มีพลังอำนาจในทางการเมืองจะทำไม่ได้เลย ทำได้แค่ลดค่าไฟลงมานิดหน่อย แต่ปรับโครงสร้างค่าไฟไม่ได้ เรื่องค่าแรง คุณเศรษฐาก็พูดแรงนะว่า ค่าแรงขึ้นซื้อไข่ฟองหนึ่งยังไม่ได้ แต่สุดท้ายคณะกรรมการไตรภาคีก็ยืนยันตามเดิม

ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ไม่พร้อมจะทุ่มเทให้กับคุณเศรษฐา พรรคเพื่อไทยยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ทั้งต้องดีลกับกลุ่มอำนาจนำดั้งเดิม แต่ก็ต้องคิดถึงการเลือกตั้งด้วย บางเรื่องพอจะไปด้วยกันได้ แต่หลายเรื่องไปด้วยกันไม่ได้ อย่างเรื่องงบประมาณกองทัพ เกณฑ์ทหาร สวัสดิการทหาร แล้วพรรคเพื่อไทยจะเลือกเส้นทางไหน จะเลือกเส้นทางยืนอยู่กับชนชั้นนำหรือจะเลือกเส้นทางที่ต้องลงเลือกตั้ง ในระยะเริ่มต้นตอนนี้ยังพอประคับประคองให้ไปด้วยกันได้ แต่ในระยะยาวเป็นปัญหาแน่ๆ ต่อให้อยากเอาใจชนชั้นนำ แต่ถึงจุดหนึ่งคุณก็ต้องแสวงหาความนิยมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีวิกฤตรอบด้านกระหน่ำเข้ามาอย่างมาก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ปัญหาที่รุมเร้าอยู่หนักหน่วงพอสมควร แถมซ้ำด้วยโควิดที่ทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น เมื่อเราได้รัฐบาลที่ต้องประนีประนอมหลายทางจึงทำให้เขาทำอะไรไม่ได้มาก จะแจกเงินก็ยังถูกดึงแข้งดึงขา ด้วยความที่ไม่สามารถจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างได้มาก สิ่งที่รัฐบาลคุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยจะทำคือการเอาทรัพยากรธรรมชาติมาแปรให้เป็นผลประโยชน์ อย่างโครงการแลนด์บริดจ์ โครงการเหมืองแร่จะผุดขึ้นเยอะมาก การจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแบบยกระดับภาคการผลิตให้เป็นไฮเทคต้องใช้เวลา การแสวงหาความนิยมเฉพาะหน้าจึงต้องแปรทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์หรือดึงการลงทุนเข้ามา

เมื่อเกิดภาวะแบบนี้ สิ่งที่จะตามมาคือการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มออกมาคัดค้านว่าไม่เอาโครงการนี้โครงการนั้น ภาพแบบนี้กระทบต่อฐานเสียงทางการเมืองมาก พรรคเพื่อไทยยืนอยู่บนทางสองแพร่งที่ลำบากมาก


ในระบบเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องทำงานเพื่อให้โหวตเตอร์ลงคะแนนให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีก แล้วโหวตเตอร์ของเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นใคร

ส่วนหนึ่งคือคนที่ยังคงจงรักภักดีกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งผมคิดว่าจะหายไปเยอะ แต่อีกส่วนที่จะเพิ่มขึ้นมาถ้าพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบป๊อกๆ แป๊กๆ แบบลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถไฟฟ้า คือกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เคยเป็นฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่ใช่ฐานเสียงที่กว้างขวางแน่ๆ

หากมองไปอีกสี่ปีข้างหน้าประชากรจะเปลี่ยนรุ่น จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่อีกราวสองล้านเสียง ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นฐานเสียงพรรคก้าวไกล หากยังไม่มีพรรคการเมืองใหม่ที่จะก็อปปี้นโยบายก้าวไกลไปแล้วยกเว้นเรื่อง 112 ที่จะดึงคะแนนบางส่วนไปได้ ส่วนพรรคการเมืองเดิมอื่นๆ หากเพิ่มนโยบายรัฐสวัสดิการมากขึ้นแต่ไม่เอาเรื่องแก้ 112 ก็อาจจะคงฐานเสียงเอาไว้ก็ได้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล


ในช่วงปีที่ผ่านมามีเรื่องเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นเยอะมาก ส่วนตัวอาจารย์เซอร์ไพรส์เรื่องไหนมากที่สุด

ผมอยากชวนมองให้กว้างกว่าแค่ปีที่ผ่านมา ถ้าเรามองไกลขึ้นหน่อยจะทำให้เห็นภาพชัดเจน เรื่องที่น่าเซอร์ไพรส์มากที่สุดคือการเมืองวัฒนธรรม เรื่องนี้อาจารย์เกษียร เตชะพีระเคยพูดไว้

ในช่วงปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน การเมืองวัฒนธรรมมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดว่าจะเห็นปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่เราก็ได้เห็น เช่น สมัยที่ผมเรียนหนังสือ 30 ปีที่แล้ว หากใครไม่ยืนในโรงหนังคือตัวประหลาด แต่ช่วง 3-4 ปีมานี้เรื่องมันกลับตาลปัตร เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่การเมืองวัฒนธรรมที่ชัดเจนมากและกว้างขวางมาก

หลายคนอาจถามว่าการเมืองวัฒนธรรมเปลี่ยนแล้วมันยังไง เรายังเห็นคนโดนป้ายสีด้วย 112 เยอะมาก การเมืองวัฒนธรรมเป็นฐานที่สำคัญของอำนาจ ความชอบธรรมเป็นเรื่องที่ใหญ่มากต่อการดำรงอยู่ของสถาบันใดๆ ก็ตาม ถ้าไม่มีความชอบธรรมหนุนอยู่ สถาบันนั้นก็จะอ่อนแอลง ทั้งในแง่อำนาจไม่ทางการและอำนาจทางการ การเมืองวัฒนธรรมได้เปลี่ยนทัศนคติของคนที่มีต่อสถาบันทางการเมืองต่างๆ หลากหลายสถาบัน

ตัวอย่างคือช่วง 3-4 ปีหลังนี้ทัศนะของคนที่มีต่อสถาบันศาลเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ ผมเป็นนักเรียนกฎหมาย ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่เคยเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น หรือท่าทีต่อศาลในลักษณะที่กว้างขวางและลึกซึ้งขนาดนี้มาก่อน ก่อนหน้านี้เวลาพูดถึงศาลหรือกระบวนการยุติธรรม ผู้คนยังเกร็งๆ อยู่ ต้องสงวนท่าทีหรือใช้ถ้อยคำที่ระมัดระวัง เมื่อท่าทีที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนไป ในแง่หนึ่งความชอบธรรมของมันถูกท้าทาย ผมเชื่อว่าสถาบันที่ไม่มีความชอบธรรม แม้จะยังมีอำนาจอยู่ แต่จะง่อนแง่น หมายความว่ามันพร้อมที่จะล้มลงเมื่อใดก็ได้


หากเรามองการเมืองในสามพื้นที่ คือ การเมืองในสภา การเมืองบนถนน และการเมืองวัฒนธรรม ขณะที่ในช่วงปี 2563 ม็อบมีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ทำให้การเมืองในสามพื้นที่นี้มีจังหวะก้าวที่แตกต่างกันมาก ที่สุดแล้วการเลือกตั้ง 2566 ทำให้สามพื้นที่นี้ขยับเข้ามาใกล้กันหรือไม่

ก่อนหน้าปี 2563-2564 เรารู้สึกว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะเกิดการเมืองบนท้องถนนสำหรับคนในเจเนอเรชันนี้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นมีเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ และยังมีเรื่อง 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน อันประกอบด้วยเรื่องหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา รวมถึงจุดยืนไม่เอารัฐประหารและไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ตอนนั้นสามารถระดมผู้คนมาเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง แต่ต่อมาก็ดูราวกับว่าข้อเรียกร้องไม่ถูกตอบสนองนัก

เรื่องที่เราต้องตระหนักคือ ในการชุมนุมช่วงแรก รัฐยังไม่ทันตระหนักถึงวิธีการรับมือผู้ชุมนุม จึงใช้วิธีการแบบเดิมมาสลายการชุมนุมด้วยกำลัง มีการฉีดน้ำ การยิงกระสุน ซึ่งยิ่งทำให้การชุมนุมกระจายตัวมากขึ้น รัฐรู้ว่าวิธีการรับมือแบบเดิมไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่ ช่วงหลังจึงไม่ใช้กำลังอย่างรุนแรง แต่พอผู้ชุมนุมกลับบ้านก็มีคดีความตามมา วิธีการรับมือแบบใหม่คือ smart repression ที่บั่นทอนกลุ่มคนและองค์กรที่เคลื่อนไหวให้อ่อนแรงลง ผู้ชุมนุมคนหนึ่งโดนเป็นสิบคดี ต้องไปศาล ต้องมีทนาย ต้องมีพยาน ต้องมีทรัพยากรในการเดินทาง

ในช่วงหลังเราไม่ค่อยเห็นการชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมเริ่มตระหนักว่าจะมีคดีตามมา ตอนนี้หน่วยงานรัฐก็คงรู้ว่าวิธีการแบบนี้ทอนกำลังผู้เคลื่อนไหวได้เป็นอย่างมาก ซึ่งฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยต้องเรียนรู้และปรับยุทธวิธี

จากที่ผมติดตามมา การตัดสินคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุม หากไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 พบว่าส่วนมากชนะ แต่หากเป็นคดี 112 ส่วนมากมีโอกาสแพ้คดี หมายความว่าเมื่อไหร่ที่พ้นจากเขตแดนของความขัดแย้งกับสถาบันฯ ยังพอมีความเป็นไปได้ที่จะสู้คดีหรือโต้แย้งด้วยหลักวิชา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เขยิบไปใกล้ 112 มักจะมีความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น

การเมืองบนท้องถนนที่เกิดขึ้นพิสูจน์ว่า การชุมนุมบนท้องถนนมันเป็นไปได้ แต่รัฐก็มีวิธีการรับมือที่ปรับเปลี่ยนไป ฉะนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันคล้ายว่าฝ่ายที่เคยชุมนุมอยู่ในจังหวะตั้งรับ แต่ระหว่างตั้งรับก็ต้องทำการบ้านกัน แน่นอนว่าคงไม่มีสูตรสำเร็จ แต่อย่างน้อยเราต้องเรียนรู้จากท่าทีในการรับมือของรัฐ

ดังนั้น การเมืองบนท้องถนนดูเหมือนจะแพ้ แต่มันก็ไม่ได้แพ้ อย่างน้อยแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ของการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่มันก็เกิดขึ้นและเป็นไปได้ ตัวอย่างการชุมนุมที่มีพลังและความเข้มแข็งส่วนใหญ่ในโลกนี้ต้องมีการเรียนรู้และมีการจัดองค์กร จัดรูปแบบ นี่เป็นสิ่งที่คนในสังคมไทยต้องเรียนรู้และปรับตัว ซึ่งในทางวิชาการก็มีคนศึกษาเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดคืองานของอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา และอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติที่ทำเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง น่าจะเป็นสิ่งเราเอามาใช้ขบคิดได้

อีกด้านหนึ่งคือการเมืองในระบบรัฐสภา หลังเลือกตั้งปี 2562 เราเกิดความประหลาดใจว่าพรรคอนาคตใหม่ได้เสียงมากกว่าที่คิดคาดหมายไว้ ส่วนเลือกตั้งปี 2566 ผมประเมินว่าก้าวไกลน่าจะได้ ส.ส. จากเขตเมืองของทุกจังหวัด รวมกับอีกหลายเขตในกรุงเทพฯ และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ รวมสัก 100 ที่นั่ง แต่ก็ปรากฏว่าผิดคาดหมาย

หลังเลือกตั้งดูราวกับว่าพรรคการเมืองในซีกฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ เราเริ่มพูดกันถึงการเปลี่ยนอนาคตประเทศ จนมีคำว่า ‘หอมกลิ่นความเจริญ’ เราสูดดมความเจริญอยู่สัก 2-3 อาทิตย์และพบว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้น สรุปสั้นๆ คืออย่าคาดหวังการปฏิวัติจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งยากที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน การเลือกตั้งเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายกระโดดเข้ามาในสนามนี้ ทั้งอนุรักษนิยม ทั้งเสรีนิยม การเลือกตั้งคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป

ฉะนั้น ตอนหลังเลือกตั้งที่คนพูดกันว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ราวกับว่าไม่มีคนกลุ่มอื่นหรือไม่มีชนชั้นนำที่อยู่ในอำนาจเลย ในที่สุดมันก็ค่อยๆ สะท้อนออกมาว่าความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ กระทั่งในการเลือกตั้งปี 2570 ก็ตาม หากเราเลือกใช้การเลือกตั้งเป็นเส้นทางแห่งความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันยากพอสมควร มันต้องเกิดขึ้นเมื่อสังคมเห็นฉันทมติบางอย่างร่วมกัน แล้วเลือกพรรคการเมืองที่เห็นว่าจะนำพาชัยชนะแบบเป็นเสียงข้างมากเลย

การเลือกตั้ง 2566 ทำให้เห็นว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองฝั่งที่อยู่ตรงข้ามทหารเกาะกลุ่มกันมา แต่เมื่อเดินมาถึงจุดชี้ขาด เราก็ได้เห็นว่าพรรคไหนเลือกเดินในเส้นทางไหน เลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีเส้นทางอยู่อีกยาวพอสมควรสำหรับการคาดหวังความเปลี่ยนแปลงจากระบบการเลือกตั้ง


น่าสนใจว่านโยบายการแก้ไข ม.112 เป็นหนึ่งในประเด็นหลักในการหาเสียงเลือกตั้ง จนถึงการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะวันโหวตนายกฯ ที่เสนอชื่อคุณพิธา พรรคการเมืองอื่นๆ ก็อภิปรายแต่เรื่องนโยบาย ม.112 ของก้าวไกล เราสามารถมองได้ไหมว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโจทย์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เคลื่อนมาจนกลายเป็นเรื่องการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ปฏิรูปสถาบันฯ

เมื่อประเด็น 112 กลายเป็นตัวชี้ขาดทำให้พรรคก้าวไกลแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นนั้น ในแง่หนึ่งประเด็นนี้ถูกปั่นให้ไปเกินกว่ามาตรฐานทางวิชาการที่เรารับรู้กัน เช่น มีคนไปร้องว่าพรรคก้าวไกลใช้นโยบายแก้ 112 มาหาเสียง ซึ่งเท่ากับว่าพรรคก้าวไกลต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งก็งง เพราะตามหลักการแล้วมาตรา 112 เป็นเพียงแค่มาตราหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา ทำไมจะแก้ไม่ได้ นักกฎหมายที่ไหนก็ต้องบอกว่าแก้ได้ นี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ แล้วมาตรานี้เคยถูกแก้โดยคณะรัฐประหารหลัง 6 ตุลาคม 2519 มาแล้ว โดยหลักการทุกพระราชบัญญัติสามารถแก้ได้โดยผ่านกระบวนการทางรัฐสภา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดสภาวะราชาชาตินิยมล้นเกิน (hyper-royal nationalism) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของภาวะตกค้าง ในหลายกรณีที่ตัวกฎหมาย 112 ไม่ครอบคลุมไปถึง เช่น การแอบอ้างพระราชวงศ์ที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินี หรือกรณีเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ในอดีต แต่เมื่อขึ้นศาลมีการชี้ว่าเป็นความผิดตาม 112

แม้สังคมจะอยู่ในสภาวะราชาชาตินิยมล้นเกิน แต่ถ้าอำนาจตุลาการอยู่ในร่องในรอยก็จะสามารถวินิจฉัยด้วยหลักการที่ตรงไปตรงมาได้ แต่พอมีคำตัดสินที่เปิดช่องมากขึ้นๆ ก็ทำให้กลุ่มราชาชาตินิยมล้นเกินฉวยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยิบมาใช้กับพรรคการเมือง

หากพรรคการเมืองใดชูนโยบายแก้ 112 แล้วเป็นความผิดจนถึงกับยุบพรรคคงประหลาดมาก แต่บทเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่นานนี้ก็มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นหลายหน ผมก็คาดหวังว่าจะไม่เกิดเรื่องประหลาดขึ้นอีก

สมชาย ปรีชาศิลปกุล


จริงๆ แล้ว 112 เป็นปมความขัดแย้งหลักในภาพใหญ่ของสังคมไทยเลยหรือเปล่า หรือแค่ถูกปั่นขึ้นจากสถานการณ์

112 เป็นความขัดแย้งสำคัญทางการเมืองที่ดำรงอยู่ตอนนี้ แต่แน่นอนว่าก็มีความขัดแย้งอีกหลายเรื่อง

เวลาเราพูดถึงปัญหาของ 112 ไม่ได้หมายความว่าสถาบันฯ เป็นปัญหา แต่หมายความว่ากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยกลุ่มที่อ้างความจงรักภักดี นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน

สำหรับคนที่สนใจข้อถกเถียงเรื่องนี้จะพบว่า ไม่ค่อยมีปัญญาชนอนุรักษนิยมออกมาถกเถียงเรื่อง 112 มากเท่าไหร่ คนที่พูดถึงเรื่อง 112 ส่วนใหญ่จะเป็นปัญญาชนฝ่ายเสรีนิยมที่ออกมาถกเถียงกันด้วยเหตุผลเต็มไปหมด จึงทำให้การถกเถียงกันด้วยเหตุผลจากทั้งสองฝั่งไม่เกิดขึ้น

ตอนหลัง 112 กลายเป็นเรื่องการใช้อำนาจรัฐ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์เข้ามาจัดการกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องการถกเถียงหรือหาทางออกว่าทำไม 112 ถึงกลายเป็นปัญหา เรื่องนี้สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะถกเถียงกันได้

เมื่อมองตามกรอบรัฐธรรมนูญที่เรามีอยู่ตอนนี้ คนที่ร่วมถกเถียงเรื่อง 112 แบบเปิดเผยในทางสาธารณะ เขายังถกเถียงในกรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เขาไม่ได้ชวนให้ไปเถียงนอกกรอบนี้ ปัญหาที่น่ากลัวคือถ้าไม่ให้เถียงในกรอบนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือในอนาคตข้างหน้าคนบางกลุ่มก็อาจจะไปเถียงนอกกรอบและไม่ได้เถียงในที่สาธารณะ

คนที่จงรักภักดีควรทำให้เกิดการถกเถียงกันด้วยความรู้ ว่าเราจะจัดวางมาตรา 112 อย่างไรในสังคมที่เป็นเสรีประชาธิปไตย หลายประเทศมีบทเรียนที่เราสามารถมาปรับใช้ได้ การทำแบบนี้จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ได้มั่นคงมากกว่านี้


กระบวนการและการพิจารณาคดี 112 ในยุครัฐบาลเพื่อไทยแตกต่างจากยุครัฐบาลประยุทธ์หรือไม่ การเปลี่ยนรัฐบาลส่งผลต่อคดีการเมืองไหม

ผมไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หากเป็นคดีชุมนุมทางการเมืองก็มีจำนวนไม่น้อยที่ศาลยกฟ้อง หลายคดีไม่ได้ถูกตัดสินลงโทษ โดยศาลยืนยันว่าเป็นสิทธิในการชุมนุมทางการเมือง แต่อาจมีบางคดีที่ถูกลงโทษ ส่วนคดี 112 เท่าที่ติดตามมาผมไม่เห็นความแตกต่างกัน จากรัฐบาลประยุทธ์ 1 รัฐบาลประยุทธ์ 2 และต้นรัฐบาลเศรษฐา นี่คือการสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจตุลาการผ่านองค์กรอิสระต่างๆ มีความต่อเนื่องทางอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม เป็นองค์กรที่ถูกแตะหรือถูกปรับเปลี่ยนน้อยกว่าองค์กรนิติบัญญัติและองค์กรฝ่ายบริหารซึ่งผ่านการเลือกตั้ง

ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา สิ่งหนึ่งที่อำนาจตุลาการพยายามจะทำคือสร้างความเป็นอิสระ ในที่นี้หมายถึงเป็นอิสระจากนักการเมือง การที่นักการเมืองจะเข้าไปแทรกแซงตุลาการจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ในแวดวงตุลาการมีฝ่ายบริหารของตนเองในการเลื่อน ลด ปลด ย้าย โดยที่นักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องได้น้อยมากและในช่วงหลังแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ในอีกด้าน นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา อำนาจตุลาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายกษัตริย์นิยมเพิ่มมากขึ้น ฝ่ายตุลาการมักจะพูดถึงการกระทำของตนเองว่า ‘กระทำในพระปรมาภิไธย’ นี่คือการพยายามเชื่อมโยงสถาบันตุลาการให้เข้าไปใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นและเป็นสิ่งที่สืบเนื่องต่อมา ในปี 2557 เคยมีผู้พิพากษาคนหนึ่งประกาศตนเลยว่า “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว” สะท้อนให้เห็นว่าบุคคลในฝ่ายตุลาการมีความเชื่อว่า ตนเองและสถาบันของตนเองมีความใกล้ชิดและทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นเวลาบอกว่ากระทำการในพระปรมาภิไธยจึงสะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ ซึ่งอุดมการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สืบมาอย่างต่อเนื่องในฝ่ายตุลาการอย่างน้อยตั้งแต่ 2490 จนถึงปัจจุบัน

นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งซึ่งนำไปสู่คำตอบได้ว่า ทำไมท่าทีของฝ่ายตุลาการจึงมองมาตรา 112 ในลักษณะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องปกป้องเป็นอย่างมาก


ในหลายประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการปฏิรูปสถาบันตุลาการ ซึ่งดูเป็นเรื่องยากมากสำหรับประเทศไทย อาจารย์คิดว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะปฏิรูปสถาบันตุลาการได้ไหม

การปฏิรูปสถาบันตุลาการต้องไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น ทำไมในหลายประเทศมีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญแล้วผู้คนไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ มีคนให้คำอธิบายว่าประเทศที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญแล้วทำหน้าที่ดูค่อนข้างเป็นกลาง เพราะมันเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ไม่ได้มีความขัดแย้งทางการเมืองแบบรุนแรงมาก ศาลก็ทำหน้าที่แบบที่ทำให้คนยอมรับในแง่หลักวิชาได้

แล้วทำไมศาลรัฐธรรมนูญในสังคมไทยจึงดูเหมือนไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ศาลรัฐธรรมนูญไทยเกิดขึ้นในภาวะที่ความขัดแย้งทางการเมืองลงลึกมาก แล้วศาลถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองมากขึ้น ที่ชัดเจนคือกระบวนการคัดเลือกและกระบวนการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญหลุดลอยไปจากผู้คนมากขึ้น การตรวจสอบเป็นไปได้ยากมากขึ้น ดังนั้นโอกาสที่จะปฏิรูปสถาบันตุลาการโดยตัวมันเองเป็นไปได้ยาก จึงต้องไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ถ้าปราศจากซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โอกาสที่จะปฏิรูปสถาบันตุลาการเป็นไปได้ยาก

สมชาย ปรีชาศิลปกุล


ช่วงก่อนเลือกตั้งและช่วงสั้นๆ หลังเลือกตั้ง ผู้คนมีความหวังว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่ไม่นานนักก็ต้องผิดหวัง มาถึงตอนนี้อาจารย์มองว่าเรายังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไหม เรากำลังเปลี่ยนจากอะไรไปสู่อะไร

เราอยู่บนทางแยกว่ากำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแบบจำแลง เรามีการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาซึ่งพอรับได้ เรามีเสรีภาพในการแสดงความเห็น ยกเว้นบางเรื่องที่ถูกจำกัดเอาไว้ เรามีรัฐสภาที่มีตัวแทนประชาชนที่พอจะพูดอะไรได้บ้าง ถ้าเทียบจากปี 2557 เรากำลังจะเปลี่ยนไปสู่มิติที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับกำแพง เราเผชิญกับกลุ่มคนที่ไม่อยากให้เปลี่ยนไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ถ้ามองโลกในแง่ดีก็หวังว่าจะเป็นการขยับไปเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่บทเรียนจากบางประเทศก็ติดอยู่อย่างนี้ คือไม่ขยับไปเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ขยับกลับไปเป็นอำนาจนิยมแบบเต็มตัว เป็นภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ผ่านไปไหน ยังคงติดอยู่ตรงนี้

ผมยังคิดว่าการขยับของเจเนอเรชันและการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องสำคัญ คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองเห็นแค่สังคมไทย แต่เขามองเห็นสังคมโลก โดยเฉพาะสังคมที่เป็นเสรีประชาธิปไตย นี่จะเป็นแรงผลักดันในระลอกของการเลือกตั้งที่จะผลักให้การเมืองมีแนวโน้มไปสู่เสรีประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น แต่จะช้าหรือเร็วนั้นคาดเดาได้ยาก เพราะก็มีแรงเสียดทานเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ


เราควรนิยามระบอบการเมืองปัจจุบันว่าอะไร สมัยประยุทธ์เราอาจเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการ โดยมีรัฐบาลทหาร แต่ปัจจุบันก็มีเลือกตั้งแล้ว เราเป็นประชาธิปไตยหรือยัง หรือนี่ก็คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ผมคิดว่าสังคมไทยอยู่ใน ‘ระบอบประชาธิปไตยภายใต้เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ คำว่า ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ มาจากอาจารย์เกษียร เตชะพีระในบทความสาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์

ระบอบประชาธิปไตยภายใต้เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ หมายถึงส่วนเกียรติศักดิ์ (dignified part) เข้ามามีอิทธิพลเหนือส่วนประสิทธิภาพ (efficient part) เรามีระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ในด้านที่เกี่ยวข้องกับส่วนเกียรติศักดิ์ เช่น กรณีมาตรา 112 จะมีผลในทางการเมืองและกฎหมายที่ไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยสักเท่าใด

ตอนนี้เหมือนเราอยู่ในภาวะติดหล่ม คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยกำลังมองว่าอนาคตเราน่าจะดีขึ้น จะบอกว่ามันไม่ขยับก็ไม่ใช่ มันก็ขยับนิดหนึ่ง เหมือนพอจะมองเห็นแสงรำไร ให้รู้สึกมีความหวัง แต่เท้าที่ติดโคลนอยู่มันก้าวไม่ออก อย่างความพยายามที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผมเชื่อว่าจะมีการดึงไปดึงมาและสี่ปีนี้อาจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่เสร็จ

ถามว่าหมดหวังไหม มันก็ไม่หมดหวัง ตอนที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญระดมรายชื่อประชาชนเสนอคำถามประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ พอยื่นแล้ว กกต. บอกว่าเข้าชื่อออนไลน์ไม่ได้ ต้องเซ็นในกระดาษ เขาก็สามารถระดมสองแสนรายชื่อได้ในสามวัน ขณะที่มีอุปสรรคคอยดึงรั้ง แต่ก็มีการเคลื่อนไหวที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นไปได้ ยังพอมีความหวังที่จะผลักสังคมไทยไปข้างหน้า เป็นประชาธิปไตยแบบเข็นครกขึ้นภูเขา เรารู้ว่าจะไปข้างหน้า มันหนักฉิบหายเลย แต่ก็ยังมีคนช่วยกันเข็นอยู่ ไม่ได้สิ้นหวังเสียทีเดียว


อาจารย์มองว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่น่าจะเสร็จภายในสี่ปี ต้องใช้เวลาขนาดนั้นเลยหรือ

ถ้าดูจากไทม์ไลน์ ต้องทำประชามติสองหรือสามครั้ง ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จแล้วไปทำประชามติ ทั้งหมดนี้ถ้าไม่สี่ปี ก็คงสามปีกว่าๆ ซึ่งจะเป็นช่วงปลายของรัฐบาลเพื่อไทย ในไทม์ไลน์นี้ผมคิดว่ารัฐบาลเพื่อไทยประกาศไปเลยก็ได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเราจะยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ เพราะมันคงเสร็จตอนถึงวาระเลือกตั้งครั้งใหม่อยู่แล้ว

ทั้งพรรคการเมืองและองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง อย่าง กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญ จะพยายามหน่วงให้กระบวนการเหล่านี้เขยิบไปทีละนิดๆ ทั้งที่ทำให้เร็วกว่านี้ได้ เช่น การทำประชามติออนไลน์ กกต. ก็ไปดูงานทั่วโลกมาแล้ว ประเทศอื่นเขาก็ทำกันแล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินไปที่คูหาแล้วโหวตเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาใหญ่คือองค์กรต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนำและไม่อยากทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

เรากำลังเผชิญกับแรงต้านจากกลุ่มต่างๆ ของชนชั้นนำที่พยายามทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ช้าที่สุด จนสังคมไทยรู้สึกเหนื่อยมากๆ คนจำนวนมากรู้สึกหมดหวัง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนหลายกลุ่มจุดไม้ขีดไฟให้เห็นว่าหลายเรื่องยังผลักต่อไปได้ ทำให้เรารู้สึกว่ายังมีความหวังอยู่ ยังเป็นไปได้ ซึ่งความหวังในการเห็นความเป็นไปได้ของความเปลี่ยนแปลงนั้นสำคัญ ถ้าเรายังมีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลง มันจะทำให้เรายังใส่ใจและผลักดันกับเรื่องนั้นอยู่

สมชาย ปรีชาศิลปกุล


เราคาดหวังได้ไหมว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจากกระบวนการร่างครั้งนี้ มีบางมุมมองว่าเราต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อปูทางไปสู่ฉบับต่อไปที่จะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบจริงๆ

ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับอุตสาหกรรมการเขียนรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ เช่นที่จะหวังมีรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกฉบับหนึ่ง เรามีรัฐธรรมนูญเยอะเหลือเกิน ในแง่หนึ่งก็ดีที่ทำให้คนที่สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ อย่างผมมีเรื่องให้ศึกษาเยอะแยะเลย ไม่เหมือนประเทศอื่น เช่น ถ้าศึกษารัฐธรรมนูญญี่ปุ่นคงเซ็งแย่ มีอยู่ฉบับเดียวตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แถมไม่เคยแก้ไขอะไรเลย ข้อถกเถียงก็มีอยู่ไม่กี่มาตรา แต่ของเรา…โอ้โห 20 ฉบับ ไม่รวมแก้ไขเปลี่ยนแปลงเยอะแยะเต็มไปหมด

ทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ทำโดยการยึดอำนาจ ผมหวังอยากเห็นมันเป็นฉบับสุดท้าย ผมเป็นนักเรียนกฎหมายที่ต้องสนใจรัฐธรรมนูญ แต่รู้สึกเหนื่อยมากเลย มีรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วยึดอำนาจ 2549 ก็ออกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วยึดอำนาจ 2557 ก็ออกรัฐธรรมนูญ 2560 รายละเอียดแต่ละฉบับก็ไม่เหมือนกัน หลายเรื่องผมก็จำไม่ได้ ถ้าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผมอยากให้มันเป็นฉบับสุดท้าย อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของผมแล้วกัน

การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญบ่อยๆ ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจดีหรือไม่ก็ตาม จะเปิดโอกาสให้องค์กรตุลาการเข้ามาแทรกแซงการเมือง เพราะองค์กรตุลาการจะมองว่ารัฐธรรมนูญใหม่ไม่เหมือนเดิม ต้องตีความใหม่ ไม่จำเป็นต้องยึดบรรทัดฐานเดิม ขณะที่หากเรามีรัฐธรรมนูญที่ใช้มานานแล้วจะเป็นข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับกันในแง่ของบทบัญญัติ การถูกบังคับใช้ และการถูกตีความ ทำให้คนที่จะโดดเข้ามาในการเมืองรู้ว่ากฎเกณฑ์กติกาในทางการเมืองเป็นอย่างไร อำนาจตุลาการก็จะเข้ามาตีความเป็นอื่นได้ยากมากขึ้น

แน่นอน ในการร่างรัฐธรรมนูญต้องมีกระบวนการที่มีส่วนร่วม อย่างน้อยต้องทำให้เป็นรัฐธรรมนูญที่พอจะเป็นที่ยอมรับของคนทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง แล้วใช้ไป อนาคตจะแก้อะไรก็ค่อยว่ากันอีกที เราไม่ควรเขียนรัฐธรรมนูญยาวมาก ควรเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนอ่านแล้วพอจะเข้าใจได้บ้าง ไม่ต้องมาทำความเข้าใจผ่านร่างทรง เพราะจะทำให้ร่างทรงกลายเป็นผู้สถาปนาอำนาจผ่านคำอธิบายของตัวเอง

รัฐธรรมนูญที่ดีควรทำให้ประชาชนทั่วไปที่อ่านออกเขียนได้สามารถอ่านแล้วเข้าใจ อะไรที่เป็นเทคนิควิธีควรเหลือน้อยที่สุด รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของนักกฎหมายมหาชน ไม่ใช่ของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญในช่วงหลังกลายเป็นรัฐธรรมนูญเชิงเทคนิคของนักเทคนิคกฎหมายเพิ่มมากขึ้น เวลาร่างรัฐธรรมนูญควรเอานักกฎหมายออกไปให้ได้มากที่สุด นักกฎหมายควรไปช่วยในขั้นตอนการเขียนเท่านั้น ช่วยเขียนให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น ใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมมากขึ้น

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยพูดไว้ว่า นักกฎหมายเหมือนช่างตัดผม หัวเป็นของประชาชน อยากได้ผมทรงไหนก็ให้ประชาชนบอก ประชาชนอยากได้สกินเฮด นักกฎหมายก็ต้องตัดให้เป็นสกินเฮด ไม่ใช่อยู่ดีๆ นักกฎหมายตัดสกินเฮดเลยแล้วบอกเอาทรงนี้แหละดี บทบาทของนักฎหมายคือเท่านี้ แต่ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา นักกฎหมายกลายเป็นช่างตัดผมที่ไม่เคยถามประชาชนว่าอยากได้ผมทรงอะไร


ปีที่ผ่านมาคนที่ติดตามการเมืองอาจรู้สึกหมดแรง เบื่อ เลือกตั้งไปอะไรก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่ หากมองไปข้างหน้ามีเรื่องไหนที่เราจะสามารถตั้งความหวังได้บ้างไหม

จริงๆ เราควรตระหนักว่าการเลือกตั้งมีข้อดี อย่างน้อยคือเราไม่ต้องเห็นหน้าคุณประยุทธ์ในโทรทัศน์ ทำให้เราสุขภาพจิตดีขึ้น (ยิ้ม) สิ่งที่ตามมาคือเราพอจะมองเห็นความหวังเรื่องต่างๆ มากขึ้น อย่างน้อยตอนนี้เราเริ่มพอจะเห็นช่องทางในการเอาเรื่องที่เป็นปัญหามาเถียงกันมากขึ้นในสภา รัฐบาลหรือรัฐมนตรีก็มาเถียงกัน เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีข้อถกเถียงเกิดขึ้น การที่คุณประยุทธ์ไม่อยู่ ทำให้คนจำนวนหนึ่งเริ่มมองเห็นความจริงบ้าง

ใครที่เกาะติดการเมืองใกล้ชิดก็อาจจะเหนื่อยล้า ขณะที่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทุ่มเทหรือคาดหวังกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราก็พอจะสนับสนุนหรือช่วยเหลือการทำงานต่างๆ กันได้ไม่ยุ่งยากเท่าสมัยก่อนหน้านี้

การเลือกตั้งอาจจะไม่ทำให้เราสมหวังทั้งหมด 100% แต่อย่างน้อยทำให้เรากลับเข้ามาอยู่ในสังคมที่เข้าไปใกล้ความเป็นปกติของสังคมเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น


การที่ ส.ว. กำลังจะหมดวาระนั้นถือว่าเป็นความหวังได้ไหม

ถ้า ส.ว. หมดวาระจะทำให้กลุ่มอำนาจเครือข่ายทหารมีบทบาทน้อยลง แต่การคัดเลือก ส.ว. รูปแบบใหม่ก็คงจะไม่ได้ ส.ว. ที่เป็นตัวแทนจากคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง คงเกิดการฮั้วกันระหว่างกลุ่มองค์กรต่างๆ แต่อย่างน้อยก็เป็นการฮั้วกันในกลุ่มที่กว้างขึ้น ก่อนหน้านี้ ส.ว. ฮั้วกันในกลุ่มแคบๆ เฉพาะคนที่สนับสนุนระบอบอำนาจนิยม

ส.ว. ชุดใหม่ที่มาจากสาขาอาชีพจะเปิดโอกาสให้เสียงของประชาชนดังมากขึ้น แต่อย่าไปหวังว่าจะเป็นเหมือน ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ในหลายประเทศ พอเป็นกลุ่มอาชีพก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีการ ‘ผลัดกันเกาหลัง’ ฉันเลือกเธอ เธอเลือกฉัน แล้วพวกเราก็เข้าไปด้วยกัน อย่างน้อยคือมีการต่อรอง ไม่ใช่ฮั้วกันในวงเล็กๆ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล


ในอนาคตอันใกล้ เรื่องที่คนจับตาคือการยุบพรรคก้าวไกล หากเกิดการยุบพรรคก้าวไกลขึ้นจริงจะทำให้ชนชั้นนำได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไร

ถ้ายุบพรรคก้าวไกล ผลการเลือกตั้งรอบหน้าจะให้ชนชั้นนำรู้สึกว่า ‘ฉิบหาย’ มากกว่านี้ อย่าคิดว่าก้าวไกลเป็นแค่คน 150 คน ก้าวไกลคือเสียงของคน 10 กว่าล้าน หากยุบในจังหวะนี้ที่ยังเหลือการเลือกตั้งอีกหลายปี การก่อตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาโดยใช้อุดมการณ์แบบก้าวไกลหรืออนาคตใหม่ไม่ใช่เรื่องยากมาก และคนจำนวนหนึ่งเห็นแล้วว่าหากยุบแล้วตั้งใหม่คนก็ยังเลือกอยู่ คนจำนวนมากเลือกก้าวไกลไม่ใช่เพราะชื่อคนนั้นชื่อคนนี้ แต่เขาเลือกเพราะนโยบาย ถ้ายุบพรรคไปก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งตั้งพรรคขึ้นมาดำเนินนโยบายในแนวทางเสรีประชาธิปไตย แล้วเลือกตั้งรอบหน้าจะถล่มทลายยิ่งกว่านี้เสียอีก

มีงานวิจัยที่ไปถามว่าทำไมเยาวชนจำนวนหนึ่งจึงลงสู่ท้องถนนในปี 2563 ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เหตุผลหนึ่งคือการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคและการยุบพรรคอนาคตใหม่ ฉะนั้นถ้ายุบพรรคจะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น กว้างขวางขึ้น แต่ชนชั้นนำไทยน่าจะฉลาดกว่านั้น สิ่งที่เขาน่าจะอยากทำที่สุดคือตัดสิทธิ์คุณพิธา เนื่องจากเห็นว่าคุณพิธามีเสน่ห์บางอย่างที่ผู้คนชื่นชอบ แต่ผมไม่เชื่อว่าเขาจะกล้าตัดสิทธิ์ ส.ส. ทั้ง 150 คน


การเมืองในยุคก่อนหน้านี้มีการสร้างภาพคุณทักษิณให้เป็นปีศาจ แล้วในยุคปัจจุบันปีศาจตัวใหม่ของชนชั้นนำคืออะไร

ช่วงที่ผ่านมามีความพยายามที่จะต่อสู้ระหว่างแนวคิดกษัตริย์นิยมที่มองว่าเราควรจัดวางสถาบันกษัตริย์ไว้พ้นความขัดแย้ง ห้ามแตะต้องหรือห้ามพูดถึง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือแนวคิดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งคือการจัดวางพระมหากษัตริย์ลงในสังคม โดยต้องมีการจัดวางชนิดที่มีเหตุมีผล ผ่านการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้งกันได้

เกิดความพยายามฟื้นฟูการสอนเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย การฟื้นฟูประเพณีต่างๆ ซึ่งคือการพยายามจะฟื้นฟูแนวความคิดกษัตริย์นิยมให้เกิดขึ้น มีความพยายามสร้างความหมายของกลุ่มที่เป็นศัตรูให้หมายถึงคนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่งผมไม่คิดว่าการสร้างภาพแบบนี้จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ปัจจุบันต่างจากสมัย 6 ตุลาฯ อย่างมาก เพราะคนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เราควรสามารถจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ได้โดยผ่านความเห็นชอบของผู้คนที่มีการถกเถียงกัน

ฉะนั้น การสร้างภาพแบบปีศาจจึงยากที่จะเกิดขึ้น อย่างมากที่สุดคือมันอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจัดการกับบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมือง แต่ยากที่จะทำให้เกิดกระแสความเกลียดชังแพร่กระจายไปในทางสาธารณะ


ในภาวะ ‘เปลี่ยนแต่ยังไม่ผ่าน’ แบบนี้ ภาคประชาชนทำอะไรได้บ้างไหม มีเรื่องอะไรที่เราควรมาคิดมาทำกันในภาวะแบบนี้

แนวโน้มเชิงบวกที่ผมเห็นในช่วงปลายรัฐบาลคุณประยุทธ์ คือการกลับมาคืนดีกันของการเมืองภาคพลเมือง ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายประชาชนที่เคยแตกกันเมื่อเกิดการเมืองสีเสื้อ จากเดิมที่แยกกันอยู่แบบเด็ดขาด ไม่เผาผีกัน ตอนนี้เริ่มเห็นการกลับมานั่งคุย ถกเถียงในประเด็นต่างๆ ร่วมกันได้

อย่างที่บอกว่ารัฐบาลคุณเศรษฐาไม่เข้มแข็งมากนัก ต่อให้เขาต้องดีลกับชนชั้นนำ ต้องยืนอยู่บนหลายขา แต่เมื่ออยู่ในยุคสมัยที่ต้องมีการเลือกตั้งเป็นกลไกในการเข้าสู่ตำแหน่ง เขาก็ปฏิเสธเสียงของประชาชนไม่ได้ ถ้าการเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็งจะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยปรับเปลี่ยน ทัดทาน หรือนำเสนอนโยบายที่น่าจะมีพลังมากพอสมควร

ประเด็นที่จะเห็นแน่ๆ คือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งอาจจะคุยกันยากอยู่บ้าง แต่ถึงที่สุดก็ต้องคุยกัน ที่ผ่านมาเราเห็นแค่การพูดจากฝั่งพรรคการเมืองและนักการเมือง แต่ยังไม่เห็นจากภาคพลเมือง ที่จริงผมไม่อยากใช้คำว่านิรโทษกรรม เพราะหลายเรื่องยังไม่ใช่ความผิด มันคือการคืนความเป็นธรรมมากกว่า เรื่องเหล่านี้ถ้าเครือข่ายคนที่ทำงานด้านประเด็นทางสังคมพอจะหันกลับมาคุยกันได้จะเป็นการสร้างเครือข่ายกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากแตกสลายไปตอนยุคเหลืองแดง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save