ชลิดา หนูหล้า เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
การจากไปของเคน หรือเซอร์เคนเนธ โรบินสัน (Sir Kenneth Robinson) ภาคีสมาชิกราชสมาคมศิลปะแห่งลอนดอน และนักการศึกษาผู้อุทิศตนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ในวันที่ 21 สิงหาคม ถือเป็นหนึ่งในความสูญเสียสำคัญของวงการศึกษา
เคนฝึกฝนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและศิลปการละครในระดับอุดมศึกษา ก่อนเริ่มต้นอาชีพในทศวรรษ 1980 ด้วยการเป็นผู้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษาในโรงเรียน และเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยวอร์ริกผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้ศิลปศึกษาถึง 12 ปี ร่วมกับการเป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านการศึกษาและความคิดสร้างสรรค์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เจ. พอล เก็ตตี้ (J. Paul Getty Museum) ลอสแอนเจลิส
ด้วยประวัติการศึกษาและประสบการณ์ทำงาน นักการศึกษาผู้นี้จึงให้ความสำคัญแก่จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ งานเขียนและปาฐกถาของเคนล้วนส่งเสริมความใฝ่รู้ การลองผิดลองถูก และการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองบุคลิกภาพและความต้องการที่หลากหลายของเด็กๆ กระทั่งหนึ่งในโครงการล่าสุดของเขาระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ก็สะท้อนแนวความคิดดังกล่าว โดยเคนเชิญชวนผู้คนทั่วโลกให้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ คำถาม และความกังวลเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่บ้านระหว่างการปิดโรงเรียน โดยเคนจะร่วมสนทนาและให้คำแนะนำ ผู้อ่านสามารถติดตามการดำเนินโครงการและงานเขียนอื่นๆ ของเคนที่เว็บไซต์
นอกจากนักการศึกษา นักเขียน และพ่อผู้มีอารมณ์ขัน เคนยังเป็นนักพูดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งด้วย โดยปาฐกถาของเขาเรื่อง ‘โรงเรียนกำลังทำลายความคิดสร้างสรรค์หรือไม่’ (Do schools kill creativity?) ซึ่งว่าด้วยการออกแบบระบบการศึกษาที่โอบอุ้มความใคร่รู้และความคิดสร้างสรรค์นั้นการพูดบนเวที TED Talks ที่มีผู้ชมมากที่สุดตลอดกาล หรือมากกว่า 66 ล้านคน และถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 62 ภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วย
โรงเรียนกำลังทำลายความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ (Do schools kill creativity?)
“ความคิดสร้างสรรค์นั้นสำคัญต่อการศึกษา และควรได้รับความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการรู้หนังสือ” เคนกล่าว ก่อนอธิบายว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ อย่างไร
“เด็กๆ มักลองผิดลองถูกแม้ไม่รู้คำตอบ เพราะพวกเขาไม่กลัวความผิดพลาด พวกเราต่างรู้ว่าหากไม่พร้อมรับความผิดพลาด ย่อมไม่อาจสร้างสรรค์สิ่งใหม่” ทว่าโรงเรียนทั้งหลายกลับผลักไส ‘ความผิดพลาด’ ผ่านการให้ความสำคัญแก่ศาสตร์ต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียม เด็กๆ จึงถูกปลูกฝังให้ชื่นชมและพัฒนาเฉพาะทักษะที่ ‘พึงมี’ โดยละเลยศักยภาพอื่นๆ ที่ไม่ได้รับความสำคัญเทียมเท่า
เคนชี้ว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นดอกผลของการเริ่มต้นจัดการศึกษาโดยรัฐในศตวรรษที่ 19 ซึ่งมุ่งป้อนบุคลากรสู่ระบบอุตสาหกรรมอันเฟื่องฟู เน้นผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการเพื่อการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย และประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของระบบอุตสาหกรรม มากกว่าการตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายของบุคคล
แนวปฏิบัติดังกล่าวนำมาซึ่ง ‘ภาวะวุฒิการศึกษาเฟ้อ’ เมื่อปริญญาบัตรซึ่งรับประกันคุณลักษณะอันดาษดื่นไม่นำไปสู่การจ้างงาน “เดี๋ยวนี้เด็กๆ ที่มีปริญญาบัตรกลับไร้อาชีพ และต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จึงสามารถประกอบอาชีพที่ครั้งหนึ่งเรียกร้องเพียงวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี”
ปาฐกถาใน TED Talks ที่มีผู้ชมมากที่สุดตลอดกาลสิ้นสุดด้วยเรื่องราวของจิลเลียน ลินน์ (Gillian Lynne) นักบัลเลต์และนักออกแบบท่าเต้น ผู้ออกแบบท่าเต้นแก่แคตส์ (Cats) และปีศาจแห่งโรงอุปรากร (The Phantom of the Opera) ซึ่งเป็นสองละครบรอดเวย์ที่จัดแสดงนานที่สุด ในวัยเด็ก จิลเลียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำและถูกวินิจฉัยว่ามีปัญหาการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม หลังพรสวรรค์ของเธอถูกค้นพบโดยแพทย์ผู้ดูแล จิลเลียนเข้าศึกษาในโรงเรียนนาฏศิลป์และเป็นนักบัลเลต์ที่ประสบความสำเร็จในที่สุด
เริ่มปฏิวัติการเรียนรู้เสียที! (Bring on the learning revolution!)
ค.ศ. 2010 หรือ 4 ปีหลังปาฐกถาแรก เคนกลับสู่เวที TED Talks เพื่อยืนยันว่าความพยายามปฏิรูปการศึกษา ซ่อมแซมและแก้ไขข้อบกพร่องของระบบการศึกษาในปัจจุบันนั้นไม่ทันการณ์ ถึงเวลาต้อง ‘ปฏิวัติ’ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ในปาฐกถา ‘เริ่มปฏิวัติการเรียนรู้เสียที!’ (Bring on the learning revolution! )
“หลายคนมีชีวิตโดยไม่รู้จริงๆ ว่าพรสวรรค์ของตนคืออะไร หรือกระทั่งตนมีพรสวรรค์หรือไม่” เคนกล่าวอย่างหนักแน่น
“ผมได้พบผู้คนจำนวนมากที่ไม่ชอบพออาชีพของตน พวกเขาเพียงมีชีวิตต่อไปโดยไร้ความพอใจในสิ่งที่ตนทำ อดรนทนต่อมันมากกว่าดื่มด่ำ และรอให้สุดสัปดาห์มาถึง ผมพบผู้คนมากมายเช่นกันที่รักสิ่งที่ตนทำจนไม่อาจจินตนาการถึงสิ่งอื่น ต้นสายปลายเหตุนั้นหลากหลาย ทว่าที่มีความเป็นไปได้สูงคือการศึกษา” นักการศึกษาผู้ศรัทธาในความหลากหลายอธิบาย “ทรัพยากรมนุษย์นั้นเหมือนทรัพยากรธรรมชาติ คือถูกพบได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น การศึกษาควรสร้างสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ ทว่าทำไม่ได้ การปฏิรูปขณะนี้จึงไม่เพียงพอ ต้องปฏิวัติการศึกษาเสียทีเพื่อยกเครื่องการศึกษาในปัจจุบัน”
เคนชี้ว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันเพียงตระเตรียมผู้คนให้ “รับมือดอกผลของศตวรรษก่อนหน้า” ไม่ใช่เผชิญความผันผวนในศตวรรษใหม่ เขาเปรียบเทียบการเลือกไม่สวมนาฬิกาข้อมือเพราะมี ‘คุณสมบัติไม่หลากหลาย’ ของผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันกับระบบการศึกษาที่ไม่มีพื้นที่สำหรับความเป็นไปได้อื่นในชีวิต นอกจากการมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมีชื่อและประกอบอาชีพอันเป็นที่นับหน้าถือตา จึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชนผู้มุ่งสู่อนาคตซึ่งเต็มไปด้วยปริศนาและความเปลี่ยนแปลง
สาระสำคัญของทั้งสองปาฐกถาถูกกล่าวถึงอีกครั้งในสุนทรพจน์ของเคน ณ ราชสมาคมศิลปะแห่งลอนดอน พร้อมแอนิเมชันซึ่งช่วยอธิบายว่า กระบวนทัศน์เกี่ยวกับการศึกษาซึ่งเติบโตจากการส่งเสริมความรอบรู้ในสมัยเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) และความต้องการแรงงานหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) นั้นล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลอย่างไร
การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์เกี่ยวกับการศึกษา (Changing education paradigms)
สามปีให้หลัง ปาฐกถาของเคนใน TED Talks มุ่งวิพากษ์นโยบายด้านการศึกษาในสหรัฐอเมริกา โดยเปรียบเทียบความพยายามปฏิรูประบบการศึกษาด้วยโครงการ ‘ไม่มีเด็กคนใดถูกทอดทิ้ง’ (No Child Left Behind) กับ ‘หุบเขามรณะ’ (Death Valley) หรือหุบเขาในทะเลทรายโมฮาวีอันทุรกันดารและไร้ชีวิตโดยสิ้นเชิง ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในฤดูหนาว ค.ศ. 2004 ฝนกลับตกในหุบเขามรณะ พรมดอกไม้จึงปกคลุมหุบเขาอันแห้งแล้งในฤดูใบไม้ผลิปีถัดมา เคนจึงเชื่อว่า “หุบเขามรณะมิได้มรณาทว่าหลับใหล เมล็ดพันธ์ุแห่งความเป็นไปได้ใต้ผิวดินพร้อมงอกงามในเวลาอันเหมาะสม”
และเพราะแท้จริงหุบเขานั้นมิได้ไร้ชีวิต “ในสภาพแวดล้อมเหมาะเจาะ ชีวิตจึงงอกงามได้ หากเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม มอบกลิ่นอายแห่งความเป็นไปได้และโอกาสที่หลากหลายเพื่อสร้างสรรค์และริเริ่มสิ่งใหม่ โรงเรียนย่อมเต็มไปด้วยชีวิต”
ทางรอดจากหุบเขามรณะแห่งการศึกษา (How to escape education’s death valley)
สำหรับเคน สภาพแวดล้อมที่นำมาซึ่งชีวิตอันผาสุกและงอกงามนั้นประกอบด้วยความหลากหลาย ความใคร่รู้ และความคิดสร้างสรรค์ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่อาจกระตุ้นให้เติบโต เด็กๆ จำนวนไม่น้อยจึงยังเข้าไม่ถึงการศึกษา และหลายคนที่เข้าถึงก็แทบไม่ได้เรียนรู้ ไม่พบความสุขหรือความหมาย ณ ปลายทางการศึกษาอันยาวนาน
“นโยบายนี้ไม่ได้คำนึงความหลากหลาย โรงเรียนเพียงเฟ้นหาพรสวรรค์ของเด็กๆ ผ่านเกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอันจำกัดจำเขี่ย ขณะที่พวกเขาเติบโตได้ดีด้วยการศึกษาซึ่งให้ความสำคัญแก่ทักษะอันหลายหลาก หากศิลปะสำคัญ ย่อมไม่ใช่เพราะศิลปะส่งเสริมทักษะคณิตศาสตร์ แต่เพราะศิลปะได้สัมผัสส่วนเสี้ยวของเด็กคนหนึ่งซึ่งศาสตร์อื่นไม่อาจล่วงล้ำ”
นักการศึกษาผู้นี้ยังกล่าวถึงข้อบกพร่องของแบบทดสอบ ‘มาตรฐาน’ ซึ่งทำลายความใคร่รู้ของเด็กๆ ด้วย “หากคุณจุดไฟในเด็กและเยาวชนได้ พวกเขาจะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ครูจึงต้องอำนวยความสะดวกแก่การเรียนรู้ ปัญหาคือ ระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญแก่การเรียนรู้เท่ากับที่ให้แก่การทดสอบ แบบทดสอบมาตรฐานนั้นไม่เลวร้าย แต่ไม่ควรได้รับความสำคัญถึงเพียงนี้ ทั้งเด็กและครูถูกผลักดันให้ดำเนินชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นวัฏจักร ไม่ใช่ให้ตื่นตากับพลังแห่งจินตนาการและความสงสัย”
การขาดจินตนาการนี้เองที่หยุดยั้งการเติบโตของความคิดสร้างสรรค์ เพราะความคิดสร้างสรรค์ย่อมงอกงามบนทางเลือกและความเป็นไปได้อันนับไม่ถ้วน การประเมินมาตรฐานซึ่งกำจัดทางเลือกและความเป็นไปได้ที่หลากหลายกระทั่งเหลือเพียงทางเลือกหรือความเป็นไปได้เดียวจึงทำลายความคิดสร้างสรรค์อย่างสิ้นเชิง
“การศึกษาไม่ใช่ระบบจักรกล ทว่าเป็นระบบ ‘มนุษย์’ มนุษย์ที่เติบโตได้ในบางสภาพแวดล้อม และหลับใหลในบางสภาพแวดล้อม” เคนเปรียบเปรย “ในบรรยากาศแห่งความเป็นไปได้เท่านั้นที่ผู้คนจะเติบโตและบรรลุเป้าหมายซึ่งอาจไม่มีใครเคยจินตนาการถึง”
หากระบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์เพื่อบ่มเพาะปัญญา และความบริบูรณ์ของทรัพยากรมนุษย์ในอดีตซึ่งอุ้มชูระบบอุตสาหกรรมอันรุ่งเรือง แม้ประดิษฐกรรมชิ้นนี้จะทันสมัย และได้สร้างผลผลิตอันไร้ที่ติเพียงใด เมื่อถูกกัดเซาะด้วยเวลากว่าศตวรรษ ย่อมไม่อาจรอดพ้นการบุบสลาย
เซอร์เคนเนธ โรบินสันเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญที่ประกาศว่า การดันทุรังปะชุนประดิษฐกรรมชิ้นเดิมไม่ใช่คำตอบของโลกในอนาคตซึ่งถูกแวดล้อมด้วยบริบทอันแตกต่างจากวันที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันถูกประดิษฐาน โลกได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างมนุษย์ ตระหนักถึงประสบการณ์ ความคิด และพรสวรรค์อันหลากหลายซึ่งเป็นคุณลักษณะอันเด่นชัดและงดงามที่สุดของมนุษย์ ประดิษฐกรรมชิ้นใหม่ที่จะนำมาซึ่งความบริบูรณ์ของทรัพยากรมนุษย์ได้จึงต้องโอบอุ้มข้อเท็จจริงนี้ด้วย
“เบนจามิน แฟรงคลินกล่าวว่า มีผู้คน 3 ประเภทในโลก คือผู้ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง ไม่เข้าใจและไม่กระตือรือร้นจะทำอะไร ผู้เปลี่ยนแปลงได้ พร้อมรับฟัง และผู้ริเริ่มหรือผู้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง” เคนส่งท้ายปาฐกถาของเขาเช่นนั้น
“หากโน้มน้าวผู้คนให้เปลี่ยนแปลงได้ ความเคลื่อนไหวย่อมปรากฏ และหากความเคลื่อนไหวนั้นมีพลังเพียงพอ คงไม่มีชื่อใดเหมาะเจาะกว่า ‘การปฏิวัติ’ ”
และเคนเชื่อ อย่างที่หลายคนซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากปาฐกถาของเขาคงเชื่อเช่นกันว่า “นั่นคือสิ่งที่พวกเราต้องการ”
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world