fbpx

เกาะเสม็ดและราคาของเรื่องเล่า

คอลัมน์ Sideway เรื่องเล่ารายทางและความหลากหลายของชีวิต

1

“ต้องออกเสียงว่าเวจินยาด้วยนะ ไม่ใช่เวอร์จิเนีย”

ฉันพยายามลอกเลียนสำเนียงของจอห์น เดนเวอร์ หลังท่อนร้อง “Almost heaven, West Virginia” ดังขึ้นผ่านลำโพงบลูทูธ เด็กจากแผ่นดินที่ราบสูงกำลังทำทีเป็นอเมริกันชน

ลมทะเลพัดแรงเป็นฉากหลัง เรานั่งอยู่ในร้านขายของชำเล็กๆ ตรงท่าเรือบ้านเพ เพื่อรอข้ามไปเกาะเสม็ด หากไม่นับคุณยายเจ้าของร้านที่นั่งนิ่งและเงียบ ทั้งร้านมีเพียงพวกเราสามคน ฉัน และช่างภาพอีกสองหนุ่ม – เอ็ม เมธิชัย และแจม กอบบุญ

“ขอเปิดเพลงได้มั้ยคะ” ฉันถามคุณยายเจ้าของร้าน หลังจากสั่งเครื่องดื่มคนละกระป๋อง และนั่งเอนหลังเรียบร้อย

อาจเพราะท่าเรือเงียบสงบ หรืออาจเพราะคุณยายอยากฟังเพลงมาตั้งนานแล้ว แกเลยตอบอย่างไวว่า “เอาเลยลูก”

แจม เด็กหนุ่มจากนครศรีธรรมราช ที่มีรอยยิ้มกรุ้มกริ่มเป็นอาวุธ ควักลำโพงบลูทูธรุ่นพรีเมียมที่มีไฟกะพริบออกมาจากกระเป๋าอย่างไว

“คนอะไรพกลำโพงบลูทูธมาทำงาน” ฉันโพล่งแซวออกไป แจมยิ้มแล้วตอบด้วยรอยยิ้มว่า “ของมันต้องมีครับน้า”

หลังประโยคนั้น เสียงเวสต์เวจินยาก็ดังขึ้นรับขวัญพวกเราท่ามกลางลมทะเลเหงา

ระยองในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เงียบ หากไม่นับโรคระบาดที่พาความเงียบไปเยือนทุกหัวระแหง ระยองกำลังเจอกับปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้น ข่าวน้ำมันรั่วบนอ่าวไทยที่ไหลเข้าหาดแม่รำพึงปรากฏในหน้าสื่ออย่างรวดเร็ว เมื่อเรือของบริษัท SPRC ทำน้ำมันรั่วระหว่างเปลี่ยนถ่ายน้ำมันบนทะเล น้ำทะเลสีฟ้าใสกลายเป็นสีดำเมือกของน้ำมันอยู่ทั่วผิวน้ำ นักท่องเที่ยวหายวับในพริบตา ร้านอาหารริมทะเลต้องปิดชั่วคราว ส่วนโรงแรมก็อาจต้องพับป้ายโฆษณาที่เขียนว่า ‘ตากอากาศริมทะเล’ ออกไป เพราะอากาศบริเวณอ่าวแม่รำพึงอบอวลไปด้วยกลิ่นน้ำมันฉุนจมูก คงไม่มีใครอยากตากอากาศแบบนี้

เราเดินทางมาที่ระยองหลังจากได้ข่าว เพื่อดูสภาพน้ำมันในทะเลและพูดคุยกับชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ สำหรับคนทำงานสื่อ การได้เดินด้วยตีน ดูด้วยตาตัวเอง ย่อมเป็นเรื่องพึงกระทำ

หลังผ่านเหตุการณ์น้ำมันรั่วไปสามวัน ที่หาดแม่รำพึงเหลือเพียงคราบน้ำมันจางๆ บนผิวน้ำ ทีมเก็บกู้กำลังล้อมบูมและกวาดเอาฟิล์มน้ำมันออกจากน้ำทะเลครั้งแล้วครั้งเล่า หากดูด้วยตาเปล่า ดูเหมือนว่าปัญหากำลังจะถูกเก็บกวาดออกไปจนหมดจด แต่แม้แต่คนที่รู้เรื่องนี้น้อยที่สุดก็น่าจะดูออกว่าเรื่องไม่ได้ง่ายแบบนั้น

“ถ้าอยากเห็นคราบชัดๆ ตอนนี้คงไม่มีให้ดูแล้ว แต่ที่อ่าวพร้าว เสม็ด อาจมีไหลไปบ้าง น้องจะลองไปดูก็ได้” คุณลุงชาวประมงที่หาดแม่รำพึงบอกกับเรา ก่อนหล่นประโยคทิ้งท้ายไว้ว่า “ถือว่าไปเที่ยวด้วยแล้วกันนะ”

เราขับรถออกจากหาดแม่รำพึงมุ่งหน้าสู่ท่าเรือเพื่อข้ามไปเกาะเสม็ด ตะวันบ่ายคล้อยลงเรื่อยๆ และกว่าที่เราจะผ่านกระบวนการฝากรถ ซื้อตั๋ว ตรวจ ATK กินข้าว พระอาทิตย์ก็บอกกับเราว่า “คืนนี้น่าจะต้องนอนค้างที่เสม็ด” ฉันแอบเห็นรอยยิ้มพึงใจของสองช่างภาพ

เราเจอกับคุณยายร้านของชำในช่วงเวลารอเรือออก ตรงท่าเรือแทบไม่มีนักท่องเที่ยว คนที่เดินตรงท่าล้วนเป็นคนเรือ เรานั่งอยู่ไม่นาน ชั่วเวลา 6 เพลงจบ และเบียร์อยู่ก้นกระป๋อง ก็ถึงเวลาเก็บกระเป๋าเดินขึ้นเรือ

แม้ว่าเราสามคนจะอยู่ในวัยที่ยังปราดเปรียว แต่เชื่อเถอะว่า คุณไม่มีทางเดินขึ้นเรืออย่างปราดเปรียวได้เท่าน้องๆ ในชุดนักเรียนที่สะพายเป้ด้านหลังได้หรอก เด็กในวัยประถม-มัธยมต้นประมาณ 4-5 คน เดินมาขึ้นเรือ พวกเขาก้าวเข้าไปในเรือโดยแทบไม่ต้องมองช่องระหว่างเรือกับท่า บางคนปีนขึ้นไปนั่งบนดาดฟ้าเรืออย่างว่องไวและเนียนตาเหมือนเดินบนปุยนุ่น พวกเขาทั้งหมดบ้านอยู่เกาะเสม็ด นั่งเรือเข้าฝั่งทุกวันเพื่อมาเรียนหนังสือ แม้ต้องหยุดเรียนไปนานจากโควิด แต่เมื่อทะเลอยู่ในสายเลือด การเดินบนเรือก็เหมือนเดินบนพรมเปอร์เซีย

พวกเราเกือบสิบชีวิตนั่งเรือออกไปด้วยกัน กลุ่มหนึ่งกำลังจะกลับบ้าน อีกกลุ่มกำลังจะไปทำงาน แต่ครึ้มอกด้วยหัวใจของนักท่องเที่ยว

2

หลังจากซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดเรียบร้อย เราก็หอบสัมภาระกันคนละใบสองใบ มุ่งตรงไปยังที่พักที่เพิ่งกดจองกันบนเรือ ปฏิเสธคำชวน “มอเตอร์ไซค์มั้ยครับ” ไปห้ารอบระหว่างทาง มองเห็นนักท่องเที่ยวประปราย ประเมินแล้ว เสม็ดยังไม่กลับมาพลุกพล่านอย่างที่เคยเป็น

พระอาทิตย์ค่อยๆ ไหลลงใกล้น้ำทะเลไปเรื่อยๆ เรารีบเก็บกระเป๋าตรงที่พัก พอได้กุญแจมอ’ไซค์จากคนเฝ้าบ้านแล้ว เราสามชีวิตก็ซ้อนสามมุ่งตรงสู่อ่าวพร้าวก่อนฟ้าจะมืดสนิท

ผ่านเส้นทางคดเคี้ยวไปหลายยก เราก็ถึงอ่าวพร้าว ริมทะเลเงียบสงบ – อันที่จริง ใช้คำว่าเงียบสงัดอาจจะเหมาะสมกว่า เพราะไม่มีผู้คนอยู่บริเวณนั้นเลย จะมีก็แต่พี่ยามที่เฝ้าอยู่ตรงป้อมทางเข้ารีสอร์ตที่ฝังตัวอย่างเงียบเชียบตรงชายหาด

“ไม่มีน้ำมันสักหยด” ฉันพูดขึ้นเมื่อเดินลงไปตรงชายหาด น้ำทะเลใสแจ๋วมองเห็นถึงพื้นทรายด้านล่าง น้ำกระทบโขดหินครั้งแล้วครั้งเล่า มองไปจนสุดตา สิ่งที่ดูจะคล้ายน้ำมันที่สุดคือเงาดำบนผิวน้ำเท่านั้น

อ่าวพร้าวเคยเป็นจุดที่น้ำมันจำนวนมหาศาลเกยตื้นเมื่อครั้งน้ำมันรั่วในปี 2556 ตอนนั้นภาพน้ำมันเคลือบบนหาดเป็นวงกว้างกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทุกคนให้ความสนใจ ข่าวใหญ่ขนาดที่ว่าช่อง 3 ขนรถถ่ายทอดสดขึ้นเรือไปที่เกาะเสม็ด เพื่อนำเสนอภาพให้ได้ทันเหตุการณ์ ในยุคที่อุปกรณ์ทีวีเป็นเรื่องของความใหญ่ และการถ่ายทอดสดเป็นเรื่องที่มีแต่สถานีโทรทัศน์เท่านั้นที่ทำได้ การลงทุนขนาดนี้ย่อมหมายถึงเรื่องนี้สำคัญ

แต่ก็เหมือนกับหลายเรื่องบนโลกใบนี้ เมื่อเวลาผ่าน ไม่ว่าเรื่องราวจะสาหัสสากรรจ์แค่ไหน นาฬิกาย่อมกวาดให้เรื่องเงียบได้ เหมือนที่น้ำทะเลกวาดเอาหอยบนชายหาดลงทะเลไป

มาถึงวันนี้เวลานี้ อ่าวพร้าวใสสะอาด แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่า ลึกลงไปใต้น้ำ มีกี่ชีวิตที่ต้องสูญเสียบ้านของตัวเอง ปะการังกี่จุดที่ถูกเคลือบด้วยน้ำมันสีดำมะเมื่อม ยังไม่นับว่าเวลาผ่านไป 9 ปี ก็มีน้ำมันรั่วลงมาซ้ำเติมอีกรอบ ทะเลระยองกลายเป็นสีดำเหมือนอย่างที่ลุลาว่า

เราตัดสินใจเก็บภาพความใสแจ๋วของอ่าวพร้าวไว้ อย่างน้อยๆ ความใสก็คงบอกอะไรได้ และก่อนที่พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า เราขับรถออกมาหาข้าวกินตรงถนนเส้นหลักของเกาะ คุยกันระหว่างกินข้าวว่าภารกิจวันนี้หมดแล้ว ที่เหลือคือ beer time

3

อาบน้ำอาบท่าเรียบร้อย ขับรถเลาะเส้นหลักอยู่หนึ่งรอบ ก่อนตัดสินใจจอดหน้าบาร์ที่มีโต๊ะพูล ไฟสีส้มเขียวเป็นตัวควบคุมบรรยากาศของร้าน หลังคามุงจากกับบาร์นั่งยาว เก้าอี้ขาสูงทรงกลม ที่เรียกแบบฝรั่งว่า bar stool เป็นตัวดึงดูดชั้นดี – อะไรแบบนี้เขาเรียกว่ารสนิยมต้องกัน

นั่งยังไม่ทันจะมองได้รอบร้าน พนักงานเสิร์ฟก็เดินตรงเข้ามาด้วยรอยยิ้ม

“ดื่มอะไรดีวันนี้” เธอทักทายด้วยประโยคคลาสสิก ฉันแอบคิดในใจ ถ้าตอบว่า “เอาเหมือนเมื่อวาน” น่าจะได้ลุ้นเหมือนกันว่าจะได้ดื่มอะไร

เราเดินตามตำรา ‘เข้าป่าอย่าเพิ่งผลีผลาม’ เลยยังไม่ได้เล่นมุกออกไป สั่งเบียร์กันคนละขวด นั่งฟังเพลงและมองผู้คน

นอกจากโต๊ะเราแล้ว ยังมีลูกค้าอีกสองโต๊ะนั่งอยู่ด้วย เป็นชายชาวตะวันตกนั่งกับผู้หญิงไทย รวมแล้วทั้งร้านมีกันอยู่แค่สามโต๊ะ และพนักงานเสิร์ฟจำนวนเท่าลูกค้า

“ไม่เบื่อเหรอ นั่งกินเบียร์อย่างเดียว” พนักงานเสิร์ฟเดินเข้ามาทัก หลังจากเห็นว่าอัตราการลดลงของเบียร์ดูช้าผิดปกติ ฉันยิ้มแล้วตอบว่า “มีอะไรให้ทำบ้าง”

พนักงานเอื้อมไปหยิบเกมที่อยู่มุมโต๊ะ เป็นเกมสลับกันหยอดเหรียญลงช่อง เหรียญสีของใครเรียงครบ 4 ตัวก่อน คนนั้นชนะ ฉันตกลงเล่นทันที พนักงานเสิร์ฟใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีในการเอาชนะ ทั้งที่เหมือนไม่ได้คิดคำนวณขนาดนั้น แต่ความเซียนปรากฏบนกล้ามเนื้อมือจนต้องคารวะ ใครชนะได้ก็บ้าแล้ว

“เราเล่นมาเป็นพันครั้งแล้วมั้ง” พนักงานเสิร์ฟว่า เธอเป็นหญิงร่างเล็กแต่ดูแข็งแรง ผิวคล้ำแต่ไม่กระดำกระด่าง เธอแนะนำตัวว่าชื่อแอ๋ม เป็นคนโคราช แต่ออกจากบ้านมาทำงานบาร์เป็นสิบปีแล้ว

“ตอนแรกทำงานอยู่พัทยา แล้วค่อยย้ายมาเสม็ด ย้ายมาไม่นานเจอโควิด โควิดยังไม่ทันจะหายดี มีน้ำมันรั่วมาอีก จบเลยทีนี้” แอ๋มเล่าไป หยอดเหรียญไป น้ำเสียงไม่เศร้าไม่โกรธ แค่เล่าให้ฟัง

“ข่าวออกไปว่าทะเลระยองน้ำมันรั่ว ทั้งที่มันรั่วแค่หาดแม่รำพึง ตรงเสม็ดมันไม่ได้เข้ามา แต่นักท่องเที่ยวฟังก็กลัว กลายเป็นว่าคนก็ไม่มาเที่ยว” แอ๋มขยายความต่อ หลังจากฉันถามเรื่องผลกระทบการท่องเที่ยว

“นี่เป็นนักข่าวใช่มั้ย ถามเยอะขนาดนี้” แอ๋มพูดยิ้มๆ “แล้วสองคนนั้นก็เป็นช่างภาพ” แอ๋มพูดต่อ เพยิดหน้าไปทางสองหนุ่มที่นั่งฟังอยู่ใกล้ๆ พวกเราทั้งหมดหัวเราะอย่างไม่อาจปฏิเสธ

“สั่งเบียร์เพิ่มอีกขวดสิ มีเรื่องเล่าให้ฟังอีกเยอะ มีอะไรน่าสนใจกว่าเรื่องน้ำมันรั่วอีก” แอ๋มว่า นาทีนั้น เพลงของศิรินทรา นิยากร ดังขึ้นในหัว “รู้เขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก” – ค่ำคืนแห่งเรื่องราวเริ่มขึ้นอีกแล้ว

แอ๋มเดินไปหยิบเบียร์กลับมา พอถามไถ่จนได้ความว่าเป็นคนบนแผ่นดินที่ราบสูงเหมือนกัน คล้ายว่าความสนิทใจก็เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งระดับ หนุ่มใต้สองคนได้แต่มองตาปริบ ฟังเราคุยกันเป็นภาษาลาวสลับไทเดิ้งแบบโคราช

“ให้กลับไปทำนา คงทำไม่ได้แล้วละ” แอ๋มบอก แอ๋มออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 16-17 ปี เริ่มจากทำงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร ย้ายที่ไปเรื่อย จนไปอยู่บาร์ที่พัทยานานหลายปี ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่เสม็ด เพราะชอบบรรยากาศมากกว่า

“คนเยอะแต่สงบนะ ที่นี่” แอ๋มอธิบาย

การออกจากบ้านมาตั้งแต่ยังเด็ก จนตอนนี้อายุ 30 กว่า ทำให้แอ๋มไม่คุ้นเคยกับบ้านอีกต่อไป “ถามว่าคิดถึงบ้านไหม ก็คิดถึงนะ แต่เราก็รักชีวิตของเราแบบนี้ เราเป็นคนได้ทุกที่น่ะ”

คำว่า ‘เป็นคนได้ทุกที่’ ไม่ใช่มุก แต่เธอหมายความตามนั้นจริงๆ ฉันนึกถึงคนในภาคอีสานจำนวนมากที่ออกจากบ้าน เดินทางไปทั่วโลก บางครั้งไปไกลถึงขั้วโลก พวกเรามีจิตวิญญาณของการพเนจร มีทั้งพเนจรแบบไปตายเอาดาบหน้า และพเนจรแบบมีจุดมุ่งหมายแจ่มชัด มีคนในภาคอีสานหลายคนเคยออกปากกับฉันว่า “พวกเราเป็นคนของโลก” คำนี้ฝังอยู่ในใจฉันเนิ่นนาน

เราคุยกันไปสลับเล่นเกมไป แอ๋มสรรหาเกมใหม่มาให้เล่นอยู่เรื่อย ทั้งไม้เจงก้า ทั้งทอยลูกเต๋าเก็บแต้ม ฯลฯ จนเมื่อเราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะแทงพูลกันสักหลายตา จึงละทิ้งเกมบล็อกไปสู่เกมบนผ้าสักหลาด และในตอนที่เราเดินไปที่โต๊ะพูลนั้นเอง ที่เจ้าของร้านฝรั่งพุงพลุ้ย สวมเสื้อยืด กางเกงบอลขาสั้น รองเท้าแตะ เดินมาหาเราที่โต๊ะพูล

“It’s new, be careful” เฮียเจ้าของร้านพูดพลางทำมือคล้ายประคองผ้าสักหลาดบนโต๊ะ เราถึงกับชะงักด้วยคิดว่าเขาไม่เต็มใจให้เล่น แต่เรื่องมาดีขึ้นเมื่อเฮียทิ้งท้ายว่า “Enjoy, enjoy” แล้วเดินจากไป

ฉันกับแจมลงสนามท้าดวล ส่วนเอ็มผู้มีรอยยิ้มแทนคำพูด เลือกจะนั่งบนแสตนด์เป็นผู้ชมอยู่เงียบๆ เราเล่นกันไปกี่ตา ไม่มีใครนับ กระทั่งมีคนขอมาเล่นด้วย อัตราความมันของเกมจึงเพิ่มขึ้นอีก ฉันจับคู่กับหนุ่มชาวกรีนแลนด์ ส่วนแจมจับคู่กับพนักงานเสิร์ฟ ซึ่งดูเหมือนกำลัง ‘คุยๆ’ กับหนุ่มกรีนแลนด์อยู่ด้วย

ช่วงท้ายๆ ฉันแทงแทบไม่ลงหลุมแล้ว ทั้งที่ปกติก็แทงจะไม่ค่อยลงอยู่แล้ว ยิ่งมาผสมโรงกับกติกาที่ว่าถ้าใครแพ้ต้องกินเหล้าช็อต การพ่ายแพ้แต่ละครั้งจึงถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และเมื่อฉันถูกเหล้าช็อตบาดคอสองครั้ง ก็ถึงเวลากลับบ้าน ประสบการณ์สอนให้รู้ว่า จงใช้ชีวิตแบบไม่ให้เราในวันพรุ่งนี้เสียใจ

ก่อนจากกัน แอ๋มทิ้งท้ายด้วยประโยคคลาสสิกว่า “ไว้มาอีกนะ แล้วเจอกัน” ส่วนหนุ่มชาวกรีนแลนด์ เมาจนไม่อาจร่ำลาใครได้

4

หลังผ่านค่ำคืนอันสาหัสที่เสม็ด ก่อนกลับกรุงเทพฯ เราแวะที่หาดแม่รำพึงอีกรอบ พนักงานยังคงเก็บกู้น้ำมันอยู่เช่นเดิม แต่บนผิวน้ำแทบมองไม่เห็นคราบน้ำมันแล้ว ร้านอาหารยังปิดบานเฟี้ยมสนิท เก้าอี้ถูกพับเก็บ ใบไม้หล่นบนโต๊ะไร้คนเก็บกวาด

ฉันมองไกลไปในทะเล ลมปะทะหน้าพัดเอากลิ่นน้ำมันจางๆ ลอยเข้ามาด้วย – โลกใบนี้มีอะไรมากกว่าตาเห็นเสมอ

กลับมาจากระยองไม่นาน ฉัน เอ็ม และแจม ทำสกู๊ปนำเสนอเรื่องน้ำมันรั่วระยอง ทั้งในรูปแบบตัวอักษรและวิดีโอ อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้เรื่องเงียบหายไปกับสายลม แต่ในใจยังคิดว่าระยองมีเรื่องเล่าอีกมาก ที่การใช้เวลาอยู่แค่ไม่กี่วันก็ยังมีอะไรมากมายให้จดจำ บางส่วนฉันหยิบมาเล่าในคอลัมน์ Sideway นี้ด้วย

ก่อนจะเริ่มเขียนงานชิ้นนี้ ฉันทักแจมและเอ็มไปว่า พอจะมีภาพถ่ายเสม็ดดีๆ สักใบเอามาประกอบคอลัมน์ไหม แจมหายไปหลายนาที ก่อนส่งภาพใบเสร็จของคืนนั้นมาให้ เลขตัวใหญ่ในวงกลมเขียนไว้แจ่มชัดว่า 1,700 บาท

ภาพนี้ทำให้ฉันได้คำตอบกับตัวเองว่า บางครั้งเรื่องเล่ามีราคาที่ต้องจ่าย และหลายครั้ง จ่ายแพงทีเดียว (ฮ่า)


อ่านสารคดี “อีกกี่ปีทะเลจะกลับมาเหมือนเดิม” – น้ำมันรั่วระยอง โศกนาฏกรรมใต้ทะเลอ่าวไทย

รับชมวิดีโอสารคดี ‘น้ำมันรั่วระยอง: โศกนาฏกรรมใต้ทะเลอ่าวไทย’ ได้ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save