fbpx

“อีกกี่ปีทะเลจะกลับมาเหมือนเดิม” – น้ำมันรั่วระยอง โศกนาฏกรรมใต้ทะเลอ่าวไทย

1

เสียงจากชาวประมงเรือเล็ก “ครั้งนี้สาหัส”

10 วันหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่ว, หาดแหลมรุ่งเรือง ระยอง

ระยับแดดเที่ยงทำให้ทะเลเหงา – หากพูดในเชิงความรู้สึก ทะเลเหงาอาจเป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนอยากสัมผัส แต่สำหรับชาวประมง พวกเขาอาจไม่เคยต้องการทะเลเหงา

ริมหาดแหลมรุ่งเรือง มีเพียงถนนสายเล็กกั้นชุมชนชาวประมงกับทะเล หาดสงบ ไม่มีนักท่องเที่ยว และไร้เรือล่องบนน่านน้ำ ข้างร้านขายของชำเล็กๆ ประจำชุมชนเป็นลานดินขนาดย่อม ชายคนหนึ่งนอนเล่นบนแคร่ อีกคนหนึ่งนอนบนเปล พวกเขาไม่ได้คุยอะไรกันจริงจัง คล้ายว่านอนรอให้บ่ายผ่านพ้นไปเท่านั้น

“หาปลาไม่ได้เลยช่วงนี้” ชายวัย 50 ปีที่นอนบนเปลเปิดฉากสนทนา เขาลุกไปสวมเสื้อสีส้มแสบตา ก่อนกลับมานั่งคุยต่อ ผิวกร้านแดดของเขาบ่งบอกว่าเขาใช้ชีวิตอยู่กับแดดลม เขา หรือ วิรัช สมมาตร เป็นรองประธานชุมชนชาวประมงแหลมรุ่งเรือง จ.ระยอง ชุมชนชาวประมงเรือเล็กที่อยู่กันราว 60 หลังคาเรือน – ทุกคนอยู่กินกับทะเล

“หนักเลย ตั้งแต่น้ำมันรั่ว หากินไม่ได้ จะตายลูกเดียวเวลานี้ ไม่ว่าชุมชนผมหรือชุมชนอื่น เรียบร้อยหมดเลย” วิรัชเล่า เขาลงน้ำหนักเสียงตรงคำว่า ‘หนัก’ อย่างเข้มข้น

ถ้าใครพอตามข่าว คงเห็นภาพน้ำมันสีดำสนิทบริเวณหาดแม่รำพึงอยู่บ้าง สาเหตุมาจากน้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) รั่วที่จุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลมาบตาพุด เมื่อค่ำวันที่ 25 มกราคม 2565 น้ำมันดิบจำนวนมหาศาลไหลไปตามคลื่นลม เพราะไม่ได้รับการควบคุมอย่างทันท่วงที หาดแม่รำพึงซึ่งเป็นหาดยอดนิยมจึงต้อง ‘รับกรรม’ และกลายเป็นการเปิดโฉมหน้าเรื่องน้ำมั่นรั่วต่อสาธารณชน แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อทะเลระยองทั้งจังหวัด

หาดแหลมรุ่งเรืองอยู่ไม่ไกลจากหาดแม่รำพึงนัก ชาวประมงทั้งหมู่บ้านกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบาก วิรัชเล่าว่าชาวบ้านกำลังเผชิญกับข้อกำหนดห้ามเรือหาปลาออกทะเลเกิน 3 ไมล์ทะเล แต่ปัญหาก็คือเมื่อน้ำมันรั่ว ทำให้ในระยะ 3 ไมล์ทะเลที่ว่านี้แทบไม่มีสัตว์ทะเลให้จับ หากอยากหาปลาให้ได้ พวกเขาจำเป็นต้องล่องไปในทะเลที่ลึกกว่านั้น

“กุ้งหอยปูปลาไม่อยู่เลย ไอ้ที่อยู่ก็ตายเพราะน้ำมัน ผมกล้าการันตีเลย ตั้งแต่น้ำมันรั่วรอบที่แล้ว ผ่านมา 9 ปี เพิ่งขยับจะดีขึ้นเอง แล้วมารั่วปีนี้อีก ผมถามว่าประมงพื้นบ้านตายไหม”

คำว่า ‘น้ำมันรั่วรอบที่แล้ว’ ที่วิรัชพูดถึง คือเหตุการณ์ที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ทำน้ำมันรั่วในทะเลมาบตาพุดในปี 2556 มีตัวเลขแจ้งออกมาว่ามีน้ำมันรั่วทั้งหมด 50,000 ลิตร ซึ่งบริเวณที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุดคืออ่าวพร้าวที่เกาะเสม็ด เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อปะการังและบ้านของสัตว์ทะเล ระบบนิเวศใต้น้ำเสียสมดุลเป็นวงกว้าง และยังต้องฟื้นฟูจนถึงปัจจุบัน

ถ้าเปรียบชาวประมงเป็นนักมวย พวกเขาเหมือนโดนหมัดฮุกครั้งที่สอง ทั้งที่ยังลืมตาได้ไม่เต็มที่จากหมัดแรก ยังไม่นับว่าปูปลาใต้ทะเลที่หนีจากบ้านเดิม หลายตัวไม่มีวันได้กลับมาตลอดกาล

ภาพทะเลที่มองเห็นตรงหน้าใสสะอาด คลื่นยังซัดเข้าหาฝั่งซ้ำๆ เหมือนที่เคยเป็น แต่วิรัชบอกว่า “มองแบบนี้ไม่เห็นน้ำมันหรอก แต่ใต้ทะเลเต็มไปด้วยน้ำมัน เอาแหลงทะเลไป หยิบขึ้นมามีแต่คราบน้ำมัน นี่แช่มาอาทิตย์หนึ่งแล้ว ยังไม่ออกเลย”

เขาพาเดินไปดูแหที่แช่น้ำในถังมานานกว่า 1 สัปดาห์ กลิ่นน้ำมันฉุนเข้าจมูกโดยไม่ต้องเดินเข้าไปใกล้ คราบน้ำมันลอยเป็นด่างดวงบนน้ำ ไม่มีวี่แววว่าจะสลัดหลุดออกจากแหได้อย่างไร

“สงสัยจะต้องทิ้งแห” วิรัชว่า “แต่แหก็ไม่ใช่ถูกนะ กว่าจะซื้ออุปกรณ์มาถัก ใช้เวลาทำ รวมแล้วหลายพันบาท”

ป้าชาวประมงที่ถักแหอยู่ตรงนั้นหัวเราะ แล้วเสริมว่า “ค่าเรือ ค่าน้ำมันอีก ไม่มีอะไรถูกเลย แล้วพอหาปูปลาไม่ได้แบบนี้ ยิ่งลำบาก”

วิรัช สมมาตร เป็นรองประธานชุมชนชาวประมงแหลมรุ่งเรือง

แม้ว่าภาพน้ำมันสีดำที่เกยหาดจะหายไปจากหน้าสื่อแล้ว แต่สำหรับชีวิตชาวประมง พวกเขาต้องเผชิญกับ ‘สิ่งตกค้าง’ ในท้องทะเล จนทำให้หาเลี้ยงชีพแบบเดิมไม่ได้ ในช่วงวิกฤตนี้พวกเขาต้องหาอาชีพรับจ้างอื่นเพื่อพยุงชีวิตไปก่อน

“ตอนนี้เขาไล่เก็บน้ำมันหมดแล้ว สภาพทะเลก็เหมือนเดิม แต่ใต้ท้องทะเลหนักหนาสาหัสเลย เขาบอกว่าสารที่ทิ้งลงไปบนน้ำมันเป็นสารร้ายแรง แล้วเรื่องอะไรกุ้งหอยปูปลาอยู่ใต้ทะเลจะไม่สูญหายไป ผมกล้าการันตีเลย ตอนนั้นใช้เวลาฟื้นฟู 9 ปี ปีนี้จะใช้เวลามากกว่า 9 ปี ในการฟื้นฟูความสูญเสียใต้ท้องทะเล ทรัพยากรชายทะเลจะหายเลย ปลาเก๋า ปลากะพงไม่เข้าเลย หายไปหมด รอบนี้หนัก ผมว่าหนักกว่าเดิมมาก” วิรัชว่า

ประเด็นเรื่องไล่เก็บน้ำมันด้วยการทิ้งสารลงไปในทะเล กลายเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองนอกเหนือจากผลกระทบจากน้ำมันรั่ว เมื่อมีการทิ้งสารขจัดคราบน้ำมันทางชีวภาพ (Bio Dispersant) หรือที่คุ้นกันในชื่อซิลิคกอน เอ็นเอส (Slickgone NS) ลงไปตรงบริเวณน้ำมันรั่วเพื่อกดน้ำมันลงใต้ทะเล – คำถามสำคัญที่หลายคนตั้งคำถามคือ การกดน้ำมันลงใต้ทะเลช่วยแก้ปัญหาอะไร นอกจากทำให้ภาพทะเลกลับมา ‘ใส’ เร็วที่สุด แล้วผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลทั้งระบบ ใครจะรับผิดชอบ?

พูดให้เห็นภาพชัดขึ้น น้ำมันดิบที่ไหลลงทะเลเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีสารก่อมะเร็ง และมีสารอินทรีย์ระเหยไวเช่น เบนซีน โลหะหนัก ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ รวมถึงส่งผลต่อระบบทางสมองของมนุษย์ ดังนั้นในทางวิชาการ วิธีที่ที่จะจัดการกับน้ำมันได้เร็วและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดคือการเอาบูมล้อม แล้วใช้เรือสกิมเมอร์ที่คล้ายเครื่องดูดฝุ่นขนาดยักษ์ดูดน้ำมันออกจากน้ำทะเลให้เร็วที่สุด เมื่อแยกกากตะกอนน้ำมันออกมาได้แล้ว จึงนำไปทิ้งยังแหล่งรับกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการทิ้งสารซิลิคกอนลงซ้ำในทะเล นั่นเท่ากับทิ้งสารอันตรายลงไปซ้ำสองในพื้นที่ที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ข้างล่างมหาศาล

ซิลิคกอนไม่ใช่สารที่ปลอดภัย กินไม่ได้ พ่นใส่ตาไม่ได้ และหากเอามือสัมผัสต้องล้างรีบล้างมือให้สะอาด ในบางกรณีหากสารยังปนเปื้อนในทะเล ถ้ามีคนลงเล่นน้ำ อาจทำให้เกิดอาการตัวชาได้ สารตัวนี้ทำงานโดยการจับตัวกับน้ำมัน แล้วทำให้โมเลกุลของน้ำมันแตกตัวจนมีน้ำหนักมากขึ้น เพื่อให้ตกลงไปใต้ทะเล – โดยไม่ต้องจินตนาการให้ลำบาก น้ำมันจะไหลไปกองอยู่ที่บ้านปะการัง บางส่วนไหลไปเคลือบที่เหงือกของสิ่งมีชีวิต ส่งผลให้แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และแนวปะการังเสียหายทั้งหมด

แน่นอนว่าด้วยอันตรายในระดับนี้ จึงมีข้อกำหนดการใช้งานว่าให้ทิ้งสารได้ในทะเลลึกพันเมตรขึ้นไป และมีอัตราส่วนการใช้ในน้ำทะเล 1 ต่อ 10 (ซิลิคกอน 1 ลิตร ต่อน้ำมัน 10 ลิตร) แต่ในทางปฏิบัติ ในทะเลลึกไม่กี่ร้อยเมตรก็มีการทิ้งสารกันแล้ว อย่างที่ปรากฏในทะเลระยองหลายต่อหลายครั้ง – นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการทิ้งสารซิลิคกอนลงทะเลเพื่อกดน้ำมันลงใต้น้ำ แต่คราวน้ำมันรั่ว 50,000 ลิตรในปี 2556 ก็มีการทิ้งสารซิลิคกอนลงไป 32,000 ลิตร ส่วนรอบนี้มีการทิ้งซิลิคกอนลงไปมากกว่า 80,000 ลิตร ทั้งที่ตัวเลขน้ำมันรั่วอยู่ที่ 47,000 ลิตรเท่านั้น

หากคำนวณตามอัตราส่วนการทิ้งซิลิคกอน ตัวเลขน้ำมันรั่วครั้งนี้ควรจะอยู่ที่ 800,000 ลิตร ไม่ใช่ 47,000 ลิตรตามเอกสารรายงาน นี่จึงเป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบแน่ชัดว่า ที่จริงแล้วน้ำมันรั่วกี่ลิตรกันแน่?

“ข่าวที่ออกมาว่าบอกว่ารั่วเท่านั้นเท่านี้ลิตร เขาไม่พูดไม่จริงน่ะ แล้วยิ่งยิงสารลงไปทะเล ความเสียหายยิ่งหนัก สู้ปล่อยให้น้ำมันเข้าฝั่งแล้วเก็บมาดีกว่า ตอนนี้ปะการัง กุ้งหอยปูปลาอยู่ข้างล่างเรียบร้อยหมดเลย” วิรัชพูดย้ำถึงประเด็นความเสียหาย และในภาวะแบบนี้ เมื่อถูกถามว่าเขาคาดหวังการช่วยเหลืออะไรจากรัฐบ้าง เขาตอบเร็วและชัดเจนว่า

“รัฐก็ต้องเยียวยาให้ก่อนที่ชาวบ้านจะตาย แล้วเรื่องอื่นเช่นสิ่งแวดล้อมที่จะพัฒนาในทะเล รัฐก็ต้องช่วยด้วยเหมือนกัน ต้องให้เร็วน่ะ ไม่ใช่พูดแล้วไม่ทำ”

2

ทะเลรำพึง และความสูญเสียที่ยากประเมินค่า

10 วันหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่ว, หาดแม่รำพึง ระยอง

ถ้าเป็นเวลาปกติ หาดแม่รำพึงในช่วงสุดสัปดาห์คงคึกคักด้วยคนเล่นน้ำทะเล โต๊ะนั่งริมชายหาดคงเต็มไปด้วยอาหารทะเล และมีเสียงหัวเราะของเด็กที่นั่งบนห่วงยาง แต่หาดแม่รำพึงหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วนั้นเงียบสงัด

หลังภาพเหตุการณ์น้ำมันเกยเข้าหาดแม่รำพึง กินระยะทางกว่า 3 กิโลเมตรปรากฏลงไปในหน้าสื่อ หาดบริเวณนั้นก็ถูกกำหนดให้เป็นเขตภัยพิบัติ ร้านอาหารทะเลและผู้ประกอบการริมทะเลต้องปิดให้บริการชั่วคราว กะละมังที่เคยเต็มไปด้วยกุ้งหอยปูปลาต้องคว่ำลง ผ้าใบหน้าร้านถูกดึงปิด แม้จะมีบางร้านที่พอกลับมาเปิดได้เพราะอยู่ไกลจากบริเวณน้ำมันเกยหาด แต่ตรงจุดหลักยังเงียบงัน

ธงห้ามลงเล่นน้ำทะเลสีแดงปักเด่นอยู่ตรงหาดบริเวณนั้น มีทีมเก็บกวาดซากน้ำมันหลายสิบชีวิตกำลังล้อมบูม และกวาดเอาคราบน้ำมันจางๆ ออกไปจากหาดทราย

แม้น้ำมันจะหายไปมากจนแทบมองไม่เห็นแล้ว แต่กลิ่นน้ำมันยังลอยมากับลมทะเลปะทะเข้าจมูก แม้จะใส่หน้ากากอนามัยอยู่ก็ตาม

“เป็นรอบท้ายๆ แล้วครับ ตอนนี้เหลือแค่ฟิล์มน้ำมันแล้ว คิดว่าคงกวาดหมดในวันสองวันนี้” หนึ่งในทีมเก็บกวาดน้ำมันเล่า หลายคนถูกจ้างมาเฉพาะงานครั้งนี้ เป็นงาน ‘เก็บกวาด’ รอบท้ายๆ เพื่อไม่ให้มีน้ำมันปรากฏบนน้ำทะเล พวกเขาสวมรองเท้าบูตและถุงมือยาง มีผ้าปิดหน้า และสวมหมวกฟางตอนทำงาน

ถ้าจะมีอะไรฟื้นตัวได้เร็วที่สุดจากวิกฤตน้ำมันรั่วครั้งนี้ก็คงเป็นธุรกิจท่องเที่ยว แน่นอนว่าพวกเขากระทบหนัก นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาเล่นน้ำทะเล และหลายคนก็กังวลที่จะกินกุ้งหอยปูปลาจากทะเลระยอง แต่การทำให้สภาพทะเลกลับมาดูเหมือนเดิมได้เร็วที่สุด เป็นทางออกที่ช่วยภาคการท่องเที่ยวได้ก่อนใครเพื่อน และทำให้ข่าวที่ ‘แรง’ นั้นลดระดับความน่ากังวลลงไป

แต่อย่างที่เรารู้กันว่า ภาพน้ำมันที่หายไปเป็นเพียงการซุกปัญหาไว้ใต้พรมเท่านั้น หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นคือเป็นเพียงการซุกน้ำมันไว้ใต้ทะเล และรอคอยว่าปัญหาจะลอยขึ้นมาอีกเมื่อไหร่

ตรงข้ามกับบริเวณหาดที่น้ำมันเกย มีการตั้งศูนย์รับร้องเรียนจากผู้ประสบภัยของบริษัทที่ทำน้ำมันรั่ว โดยมีคนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นคนรับเรื่อง ชาวบ้าน 2-3 คนกำลังนั่งกรอกรายละเอียดว่าประสบปัญหาอะไร และสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่ ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าชาวบ้านที่ส่งเรื่องไปแล้วจะได้รับการชดเชยอย่างสมควรหรือไม่ อย่างไร

เมื่อขยับมามองภาพใหญ่ มีชาวประมงกว่า 3,000 ลำเรือที่ได้รับผลกระทบจากการออกเรือหาปลาไม่ได้ และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวทั้งจังหวัด โดยเฉพาะบริเวณหาดแม่รำพึงที่สูญเสียรายได้ในช่วงเก็บกู้น้ำมัน ยังไม่นับว่ากระทบไปถึงจังหวัดใกล้เคียง เช่น จันทบุรี เพราะน้ำมันรั่วส่งผลต่อการอพยพของสัตว์ใต้ทะเล จนกระเทือนไปทั้งระบบนิเวศ

“ผลเสียจากน้ำมันรั่วและการทิ้งสารเคมีจะตามมาหลอกหลอนเราไม่รู้จบ” ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พูดถึงความสูญเสียในภาพรวมจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ระยอง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนน่าตั้งคำถามต่อการควบคุมดูแล ทั้งเรื่องป้องกันน้ำมันรั่วและการปูพรมฉีดสารซิลิคกอนลงทะเล

“ก่อนจะพูดถึงเรื่องการแก้ไข ต้องกลับไปถามว่าคุณทบทวนบทเรียนตัวเองหรือเปล่าว่าการทิ้งลักษณะซิลิคกอนปูพรมแบบนี้ สร้างผลกระทบต่อใต้ทะเล สัตว์น้ำก็ไม่อยู่ แนวปะการังก็เปลี่ยนแปลง สัตว์ที่เคยอยู่บริเวณนั้นไม่กลับมา กลิ่นใต้ทะเล มนุษย์อาจจะไม่รับรู้ แต่สัตว์รับรู้ได้ ดังนั้นคุณไม่ควรทำอย่างนี้กับอ่าวระยองอีก” สมนึกกล่าว

เขาอธิบายว่า เมื่อแนวปะการังเปลี่ยน ส่งผลให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง จนอาจทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ตะกอนเลนจะเกิดขึ้นที่ชายฝั่งมากขึ้น และส่งผลต่อทิศทางเคลื่อนไหวของสัตว์น้ำทะเลทั้งหมด ยังไม่นับว่ายังมีสารก่อเกิดมะเร็งที่ตกค้างในทะเล ซึ่งยากที่จะบอกว่าต้องใช้เวลาฟื้นฟูเท่าไหร่ ทะเลจึงจะกลับมาเหมือนเดิม

ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

แม้จะดูเหมือนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากเกินประมาณค่า แต่ในทางวิชาการแล้ว สมนึกอธิบายว่าเราสามารถตีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางตรง-ทางอ้อมได้ ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงอนาคตที่ฐานทรัพยากรจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมหรือใกล้เคียง ด้วยการคิดจากมูลค่าทางเศรษฐกิจของการบริการเชิงนิเวศ (economics value of ecological services) ทั้งหมด 4 ด้าน

1.มูลค่าการใช้ประโยชน์ทางตรง (Provisioning services) คือมูลค่าจากประโยชน์ทางตรงที่ได้รับจากธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลที่จับขึ้นมา สภาพแวดล้อมในทะเล คุณภาพน้ำทะเลที่ทำให้สัตว์ทะเลมีจำนวนที่เปลี่ยนแปลง

2.มูลค่าการทำหน้าที่ของระบบนิเวศ (Regulating services) คือมูลค่าการให้ประโยชน์ของระบบนิเวศ ที่หากพื้นที่หนึ่งเสียหายจะหมายถึงพื้นที่อื่นที่อยู่ใกล้ๆ กันเสียหายไปด้วย เช่น การตายของแนวปะการัง (ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง คลื่นเข้าชายหาดแรงขึ้น เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เกิดตะกอนเลน) หรือความร้อนที่เพิ่มขึ้นของน้ำทะเลจากสารเคมี ออกซิเจนที่ลดลงที่เกิดจากกระบวนการสารเคมีดึงน้ำมันออกจากน้ำทะเล ไขน้ำมัน ไขสารเคมีบดบังแสงอาทิตย์ลงทะเล

3.มูลค่าการให้บริการด้านการสนับสนุนและค้ำจุน (Supporting services) ที่ว่าด้วยภาพรวมของห่วงโซ่อาหาร เช่น แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ในอ่าวระยอง เป็นต้นทางของห่วงโซ่อุปทานด้าน ปลา ปู กุ้งของทะเลในภาคตะวันออก

4.มูลค่าการให้บริการด้านวัฒนธรรม (Cultural services) คือการที่สภาพแวดล้อมจะส่งผลต่อวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ด้วย โดยความเสียหายเหล่านี้ มีผลต่อวิถีชีวิต รายได้ และภาพลักษณ์ของพื้นที่นั้น เช่น การท่องเที่ยว การสันทนาการ ตัวอย่างเช่นคุณค่าและชื่อเสียงของกะปิระยองจากเคยในอ่าวระยองที่เคยมีอยู่มากมาย ปัจจุบันสูญหายไปเกือบหมดแล้ว

“ผมเลยบอกว่า ผลเสียจากน้ำมันรั่วและการทิ้งสารเคมีจะตามมาหลอกหลอนเราไม่รู้จบ” สมนึกกล่าวย้ำ

3

การอยู่ร่วมกันของอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม

ยังไม่ทันจะเคลียร์ของเก่าเสร็จ ก็ปรากฏข่าวน้ำมันรั่วรอบสองเมื่อบ่ายวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ทาง SPRC ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าเป็นน้ำมันค้างในท่ออ่อนที่รั่วออกมาขณะเข้าเก็บกู้เพื่อตรวจสอบจุดที่เสียหาย โดยมีปริมาณน้ำมันรั่ว 5,000 ลิตร น้ำมันแตกตัวและวิ่งเข้าหาชายฝั่งอีกครั้ง

คำถามสำคัญคือเพราะอะไรเรื่องเหล่านี้จึงเกิดขึ้นซ้ำๆ และมีทางไหนที่การกำกับดูแลจะเกิดขึ้นได้จริง ยิ่งกับบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วยแล้ว – เมื่อเราตัดสินใจจะใช้ผืนทะเลร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและประมง อุตสาหกรรมควรดำรงอยู่อย่างไรเพื่อทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

“คำถามคือพวกคุณตรวจท่อกันเป็นประจำหรือเปล่า” สมนึกตั้งคำถามต่อกระบวนการดูแลอุปกรณ์ของบริษัท และตั้งคำถามต่อไปถึงการตรวจสอบของภาครัฐ

“คุณเป็นบริษัทน้ำมัน เป็นบริษัทขนถ่ายสารเคมีทางท่อ คุณจะต้องรู้สิว่าควรมีแนวทางในการตรวจอย่างไร แต่ปรากฏว่าบริษัทที่ทำน้ำมันรั่วรอบนี้ ยังใช้ระบบเดิมอยู่ คือมีนักประดาน้ำลงไปเปิดปิดทุ่นล่างเพื่อจะเอาตัวน้ำมันเข้าท่อ ผมถามว่า ถ้าเกิดน้ำมันรั่วขึ้นมา คุณจะดำน้ำไปปิดอย่างไร ซึ่งเราควรใช้วาล์วไฟฟ้าที่เปิดปิดจากข้างบนเรือได้

“แล้วรายงานใน TOR ยังบอกอีกว่าหลังจากการตรวจล่าสุด พบว่าอุปกรณ์เริ่มเสื่อมสภาพแล้ว เมื่อเห็นประโยคนี้ คนที่เป็นรัฐ รัฐมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ คุณต้องไปสั่งระงับเขาก่อนว่าอย่าใช้ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครทำอะไรเลย เขียนจดหมายโต้ตอบกันไปมา แล้วผมถามว่าอย่างนี้ใครผิด”

ในแง่ของวิศวกรรม สมนึกกล่าวว่าระบบทั้งหมดสามารถควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันและการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ได้ รวมถึงกรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ และที่สำคัญ เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติแล้ว ควรมีการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และไม่ควรมีการทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลลงไปซ้ำอีก

มาถึงตอนนี้ หลายเรื่องที่เกิดขึ้นอาจสายเกินแก้ไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังพอจะทำได้คือการเยียวยาประชาชน และการควบคุมไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

“รัฐต้องเรียกร้องให้ประชาชนด้วย อย่าให้เหมือน 9 ปีก่อนที่บริษัทเยียวยาชาวบ้านแค่ 30 วัน วันละ 1,000 บาทแล้วจบไป จนชาวบ้านต้องไปฟ้องศาล สู้หลายปีจนถึงศาลอุทธรณ์ ครึ่งทศวรรษที่คุณทำร้ายจิตใจชาวบ้าน สุดท้ายคุณก็ต้องจ่าย แต่ชาวบ้านก็ได้ไม่เยอะ คือชาวบ้านเรียกร้องความเป็นธรรม คล้ายเป็นความแค้นที่ทำไมตอนนั้นบริษัทไม่ยอมจ่ายให้คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่บริษัทจ่ายให้หน่วยงานรัฐทั้งหมด ทั้งค่าวิจัย ค่าเสียหายทางทะเล รวมถึงเรื่องที่รัฐดูแล แต่พูดถึงประชาชนแค่ 30 วัน ที่เหลือให้ประชาชนไปฟ้องเอง”

“ตอนนี้ต้องมีเงินเยียวยาขั้นต้นให้เลี้ยงชีพได้ ในช่วงที่ตัวเลขสุดท้ายยังไม่ออก บริษัทก็ต้องจ่ายชาวบ้านไปเรื่อยๆ ถ้าบริษัทไม่ยอมจ่าย รัฐก็ต้องไปฟ้องมาจ่าย ถ้ารัฐบอกว่าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้อง รัฐก็ต้องไปหาเงินมาจ่ายให้ จริงๆ ควรมีการตั้งกองทุนดูแลเรื่องพวกนี้ เป็นเงินที่จ่ายให้ชาวบ้านก่อน ไม่ว่าจะหาตัวคนรับผิดชอบได้หรือไม่ อย่ารอให้น้ำมันรั่วก่อนค่อยมาคิดเรื่องเยียวยา” สมนึกกล่าวถึงประเด็นเรื่องการเยียวยา

ในการแก้ไขระยะยาว เขาเสนอว่าควรทำให้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เกิดขึ้นในทางกฎหมายได้จริง เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

“อุตสาหกรรมกับประมงสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้าอุตสาหกรรมกำกับดูแลตัวเองได้ดี เอกชนดูแลตัวเองก่อน และรัฐก็ช่วยกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งให้ดี มีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ เราอย่าปล่อยให้บริษัทพวกนี้เป็น sunset industry ที่คิดว่าเดี๋ยวจะย้ายฐานการผลิตแล้ว อะไรเสียก็เสียไป นั่นทำให้ประเทศไทยกลายเป็นถังขยะ นอกจากเป็นถังขยะธรรมดาแล้ว ยังเป็นถังขยะโรงงานด้วย” สมนึกกล่าวสรุป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save