fbpx

กลับไปอ่าน ‘สาวไห้’ ของ วิตต์ สุทธเสถียร ในฐานะ ‘วรรณกรรมแห่งการต่อต้าน’

ในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ช่วงเวลาในทศวรรษ 2480 เป็นช่วงที่ถูกกลืนไปพร้อมกับสงครามโลกและวรรณกรรม ‘สร้างชาติ’ แบบหลวงวิจิตรวาทการมากกว่าที่จะนึกถึงวรรณกรรมแบบอื่นๆ บริบททางประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานี้ได้ชี้ให้เห็นว่ามีการควบคุมวิธีการเขียนและเซนเซอร์เนื้อหาของวรรณกรรม จนถึงขั้นทำให้นักเขียนหลายคนถึงกับ ‘หยุด’ เขียนหนังสือไปชั่วคราว เช่น มาลัย ชูพินิจ นอกจากนี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างปัญหาเรื่องกระดาษแพงก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลงานวรรณกรรม ‘ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐบาล’ ในขณะนั้นมีสัดส่วนลดลงอย่างมหาศาลจากทศวรรษก่อนหน้านี้

แม้บทบาทของรัฐในช่วงสงครามโลกจะขยายตัวใหญ่ขึ้นในหลากหลายด้านและได้เข้าไปควบคุมแทรกแซงตั้งแต่ชีวิตประจำวันของผู้คนจนไปถึงวรรณกรรม แต่ก็ยังมีนักเขียนบางส่วนที่ยังคงยึดมั่นในการทำงานวรรณกรรม บ้างก็โอนอ่อนผ่อนตามกฎเกณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น หรือบ้างก็หันไปหาวิธีการเขียนแบบใหม่ สำนวนแบบใหม่ รวมถึงเนื้อหาที่ทั้งหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมและข้อบังคับของรัฐ ณ ขณะนั้น ผมคิดว่าเราสามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ใน 2 แง่มุม คือนักเขียนอาจต้องการท้าทาย, โต้กลับ, ปฏิเสธอำนาจรัฐ หรือไม่ก็เพียงแค่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีเหตุผลอื่นใดทางสังคมการเมือง

สำหรับนักเขียนที่ยังคงทำงานวรรณกรรมในช่วงสงครามโลกนั้นมีไม่มาก และในจำนวนไม่มากนั้นมี ‘วิตต์ สุทธเสถียร’ เป็นนักเขียนที่คนรุ่นหลังอาจจะคุ้นหูอยู่บ้าง และอาจเคยได้ยินชื่อนี้จากการอ้างถึงโดยนักเขียนคนอื่นๆ เช่น รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่กล่าวยกย่องวิตต์อยู่เสมอทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและงานเขียน [1] หรือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็เคยพูดถึงและยกย่องชื่นชมวิตต์อยู่บ่อยครั้ง ในแวดวงวรรณกรรมศึกษาเท่าที่ผมเห็นนั้นมีงานของ อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู ที่ศึกษาผลงานของวิตต์อย่างจริงจัง [2] หรือ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ก็เคยเขียนแนะนำบริบทในการอ่านนวนิยายเรื่องสาวไห้ได้อย่างน่าสนใจ แต่ทั้งหมดนี้ต่างก็อยู่ในแวดวงแคบๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ งานของวิตต์ขาดหายจากตลาดหนังสือไปอย่างยาวนาน จนกระทั่งในปี 2564 สำนักพิมพ์แซลมอนก็นำเอา ‘สาวไห้’ มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง หลังจากนั้นผมก็ได้เห็นกิจกรรมของการอ่านนวนิยายเล่มนี้มากมาย บทวิจารณ์ชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังจากมีคนชวนให้ผมไปพูดคุยถึง ‘สาวไห้’ ผมคิดว่านวนิยายเรื่องสาวไห้มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น จึงนั่งทำการบ้านก่อนไปพูดและคิดว่าคงพูดไม่ได้ครบทุกประเด็นแน่ๆ

ผมจึงเอา ‘การบ้าน’ ทั้งหมดมาเรียบเรียงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจได้เห็นแง่มุมอื่นๆ ของ ‘สาวไห้’

จาก ‘โซ๊ด’ ถึง ‘สะวิง’ : ในฐานะพื้นที่การต่อสู้ของสำนวนภาษาและการเมืองวัฒนธรรม

ในบทความ ‘จาก ‘โซ๊ด’ สู่ ‘สะวิง’ : อัสดงคตนิยมกับการเมืองของการแปลทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่’ ของ อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู (2560) ได้อธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นใต้ปกครองในสังคมไทยช่วงต้นของ ‘สยามสมัยใหม่’ ไปจนถึงหลังสังคมไทยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญผ่านปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘โซ๊ด’ และ ‘สะวิง’ ทั้งสองปรากฏการณ์นี้คือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมใน ‘สงครามอัสดงคตนิยม’ (war of occidentalism)

ความเป็น ‘โซ๊ด’ อาทิตย์ เจียมรัตตัญญูอธิบายเอาไว้ว่าคือความหัวนอก ฝรั่งจ๋า หรือคลั่งฝรั่ง ซึ่งได้ส่งผลต่อชนชั้นนำไทยเพราะความเป็นตะวันตกที่ชนชั้นนำเห็นว่าล้นเกินนั้นเป็นการ ‘รบกวน’ หรือแม้กระทั่งคุกคามระบบระเบียบของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ ปรากฎการณ์ ‘โซ๊ด’ ในแง่หนึ่งอาจเป็นการท้าทายของชนชั้นใต้ปกครองของสยามที่พยายามนำเสนอความเป็นตะวันตกในแบบอื่นที่ไม่ใช่ความเป็นตะวันตกแบบชนชั้นนำหรือแบบเจ้าที่ถูกทำให้เป็นบรรทัดฐาน หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็อาจกล่าวได้ว่าคือปรากฏการณ์ที่แข่งกันเป็น ‘ฝรั่ง’ นั่นเอง แต่เป็นการแข่งที่ ‘อสมมาตร’ เพราะอีกฝ่ายเป็นชนชั้นนำ ดังนี้เองความ ‘โซ๊ด’ จึงถูกวิจารณ์ในฐานะความบิดเบี้ยว การละเมิดกรอบศีลธรรมจรรยา การทำลายและท้าทายช่วงลำดับชั้นของสังคมไทยที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ 

ภาษาแบบพวก ‘โซ๊ด’ ถือเป็นอันตรายเพราะเป็นภาษาที่คาบลูกคาบดอกกับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อาจเรียกได้ว่าเป็นภาษาลูกครึ่ง แต่ภาษาลูกครึ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำเห็นว่าเป็นการเลียนแบบเอาอย่างตะวันตก ‘อย่างไม่ระมัดระวัง’ และไม่น่าเอาอย่าง ภาษาเช่นนี้คือการรบกวนระเบียบ ‘อันดีงามและถูกต้องของภาษาไทย’ ซึ่งภาษาแบบ ‘โซ๊ด’ แพร่หลายมากในวรรณกรรมไทยขณะนั้น ความกังวลของชนชั้นนำในการใช้ภาษาในวรรณกรรมไทยนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรเพื่อ ‘อนุรักษ์’ และ ‘นิยาม’ วรรณกรรมไทยที่ถูกต้องและเที่ยงแท้เพื่อยกย่องและพยายามชี้ให้เห็นเป็น ‘แบบอย่าง’ ของภาษาที่ดี อย่างการจัดตั้ง ‘วรรณคดีสโมสร’ นั่นเอง

ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สำนวนภาษาในวรรณกรรมแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาคือ ‘สำนวนสะวิง’ อันเกิดจากอิทธิพลของวัฒนธรรมแจ๊สในสหรัฐอเมริกา นายตำรา ณ เมืองใต้ กล่าวถึงสำนวนสะวิงเอาไว้ว่าเสียงของเพลงแจ๊สนั้น

“คะครึ้มใจอยากจะกระโดดโลดเต้น ตะโกนวี้ดว้ายโวยวายตามอารมณฯสนุก อย่างไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นระเบียบละมุนละไม […] เมื่อเราจะเขียนหนังสือให้แลดูกะดี้กะดิกระริกระรี้ ไม่คำนึงระเบียบนิยมละมุนละไม สำนวนที่เขียนก็จัดเข้าอยู่ในสำนวนสะวิงเข้าทำนองดนตรีสะวิง” (2492: 75 อ้างถึงใน อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู, 2560: 115)

อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู ยังขยายความต่อไปว่าสำนวนสะวิงนั้น “เป็นวัจนลีลาที่ผสมผสานการผูกประโยคและเล่าเรื่องอย่างกระชับทว่าสวิงสวายเข้ากับถ้อยคำแปลกใหม่โลดโผน บางคำหยิบยืมจากภาษาต่างประเทศอย่างภาษาสเปนและตากาล็อก และถ้อยคำอีกบางส่วนจากภาษาอังกฤษด้วยกลวิธีเดียวกันกับสำนวนโซ๊ด” (2560: 115)

นอกจากนี้สิ่งที่ปรากฏอีกประการในสำนวนสะวิงคือ “นาฏลักษณ์ (theatricality) ซึ่งเกิดจากใช้บรรยายโวหารและภาพพจน์ความเปรียบสร้างจินตภาพแบบต่อเนื่อง (serial imagines) ทำให้กิริยาท่าทางและการกระทำของตัวละครหรือองค์ประกอบอื่นๆ ของเรื่องมีลักษณะดุจมหรสพโดยเฉพาะการเต้นรำอันแคล่วคล่อง…” (2560: 116)

วิตต์ สุทธสเถียร เป็นนักเขียนผู้ริเริ่มสำนวน ‘สะวิง’ ด้วยความที่เป็นนักเรียนนอกจากฟิลิปปินส์ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา ได้หล่อหลอมตัวตน วิธีการมองโลกตลอดจนวิธีการเขียนให้กับวิตต์ ในท้ายเล่มของ ‘สาวไห้’ อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู ได้เขียนคำตามเพื่อให้พื้นฐานความเข้าใจในตัววิตต์และผลงานของวิตต์แก่ผู้อ่านไว้ว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 2460 เป็นต้นมา ฟิลิปปินส์นั้นเป็นตัวแทนของความทันสมัยแบบอเมริกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นประเทศที่นักเรียนไทยไปเรียนมากที่สุดช่วงหนึ่งรองจากอังกฤษในช่วงกลางทศวรรษ 2470 ดังนั้นวัฒนธรรมแจ๊สของอเมริกัน ความสำรวยแบบชนชั้นกลางใหม่ที่สร้างความกังขาให้กับชนชั้นสูง ประสบการณ์ต่างแดน จึงผสมผสานอยู่ในสำนวนสะวิงของวิตต์ สุทธเสถียรอย่างชัดเจน

ผมอยากชี้ชวนให้พิจารณาการดำรงอยู่ของสำนวนสะวิงในฐานะเครื่องมือในการ ‘รบกวน’ ระเบียบสังคมเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคต้นของสยามสมัยใหม่อย่างสำนวนแบบ ‘โซ๊ด’ เพราะหาก ‘โซ๊ด’ ได้สร้างความรบกวนรำคาญใจให้ชนชั้นนำฉันใด ‘สะวิง’ ก็ไม่น่าจะมีลักษณะที่แตกต่างกันมากนัก

ผมคิดว่าเราอาจพิจารณาสำนวนสะวิงของวิตต์ในฐานะที่เป็นการโต้กลับและการไม่ยอมรับในกฎเกณฑ์ที่ออกมาควบคุมนักเขียนในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม เพราะไม่เพียงแต่ตัวภาษาเท่านั้น (เช่นการเลือกใช้พยัญชนะ มาตราตัวสะกด) แต่ยังหมายรวมไปถึงเนื้อหาที่อยู่ในวรรณกรรมด้วย และไม่ว่าในปัจจุบันจะมีการทำความเข้าใจยุครัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงครามอย่างไรในแง่มุมที่แตกต่างกันมากมายขนาดไหนก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเซนเซอร์วรรณกรรมคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในยุคสมัยนั้น และก็เป็นธรรมดาเช่นกันที่จะมีการต่อต้านการเซนเซอร์ด้วยวิธีการต่างๆ

หากเราเข้าใจว่ารัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้นมีแนวโน้มไปในทิศทางของการให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่น หรือเป็น ‘อักษะ’ ความเป็นอเมริกาหรือสัมพันธมิตรคือสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอักษะ ดังนั้นจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สำนวนสะวิงซึ่งได้รับอิทธิพลจากอเมริกัน (ผ่านอาณานิคมฟิลิปปินส์) คือตัวแทนจากโลกอีกค่ายหนึ่งของคู่ขัดแย้งในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งต่อสู้กับโลกของฟาสซิสต์ที่มีรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นตัวแทน

ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ของภาษาและวรรณกรรมคืออีกหนึ่งสนามรบของการต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั่นเอง

ผัวเดียวเมียเดียว เมียๆ ผัวๆ กับความต้องการ ความปรารถนา และศีลธรรม

ในเรื่อง ‘สาวไห้’ มีประเด็นที่ผมสนใจอีกประการคือ เรื่องความปรารถนาของผู้หญิงที่ถูกปลดปล่อยแต่ดูเหมือนว่าความปรารถนานั้นจะไปได้ไม่สุดทางด้วยติดกรอบของศีลธรรมบางอย่าง กับกรอบคิดแบบโลกสมัยใหม่ที่รัฐมีบทบาทและอำนาจในการควบคุมชีวิตของผู้คน สำหรับผมมันเป็นความละล้าละหลังบางประการที่เกิดขึ้น

เราอาจพิจารณาได้ว่า ‘สาวไห้’ ของวิตต์นั้น นอกจากจะใช้สำนวนสะวิงในฐานะเครื่องมือในการโต้กลับและไม่ยอมรับการควบคุมของรัฐ ตัวความปรารถนาของผู้หญิงก็เป็นเครื่องมือในการไม่ยอมรับบรรทัดฐานของรัฐอีกเช่นกัน แต่ความปรารถนานั้นก็ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้นท่าทีกึ่งยอมรับและไม่ยอมรับการปลดปล่อยความปรารถนาของผู้หญิงในตัวบทเองก็ยังแสดงออกมาอย่างชัดเจนอีกด้วย มันจึงเป็นความยอกย้อนในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในตัวเรื่อง “จุ๋ง – กรรณิการ์ บุศราคัม” เป็นตัวละครหญิงที่แสดงให้เห็นว่าเธอนั้นมีความปรารถนาที่จะได้รับการตอบสนองทางเพศและคาดหวังว่าชีวิตการแต่งงานกับ “วโรดม สาระธรรม” จะมอบความสุขสมเช่นนั้นได้ แต่การณ์กลับกลายเป็นไปในทางตรงกันข้าม ดังที่เราจะเห็นได้จากการบรรยายความคิดของวโรดม

“การแต่งงานกับกรรณิการ์มิเป็นไปดั่งที่เขาได้เคยคิดไว้ การร่วมเตียงเคียงหมอนกับกรรณิการ์เหมือนแต่งงานกับความไม่พอใจ เขาจับพิรุธของฝ่ายเมียสาวได้ พบความไม่สมบูรณ์ในตำแหน่งคนรักของเขา …เขาเองมิได้มีเลือดปรารถนาที่รุนแรง เขาได้รับการฝึกฝนว่ากามารมณ์และเพศหญิงเป็นของที่น่าอับอาย ซึ่งชายมีสิทธิจะประพฤติโดยธรรมชาติ ทั้งเป็นการที่เพศหญิงจะต้องรับโดยสุดที่จะเลี่ยงได้ เมียของเขาได้รับการกระทำนั้นด้วยความต้องการ อับอาย และไม่มีความสุข ทั้งๆ ที่ฝ่ายหญิงมิได้อธิบายและอธิบายไม่ได้…กรรณิการ์ต้องการให้เขาพะเน้าพะนอเยี่ยงหนุ่มสาวที่เพิ่งจะตกหลุมรักกันอยู่ตลอดเวลา เขาต้องทำงานหนักในเวลากลางวัน เมื่อกลับมาถึงบ้านในตอนเย็น สิ่งที่เขาปรารถนาคือความร่มเย็นสันติสุขและความเห็นอกเห็นใจจากเมีย กรรณิการ์​นอกจากจะมิได้แสดงความเห็นอกเห็นใจแล้ว ยังทำตัวดังมิได้รับความสุข จนทำให้ระแวงว่าเขามีปมด้อยในชีวิตสมรสอย่างมากมาย” (หน้า 31-32)

เราอาจเห็นได้ว่าวโรดมนั้นมีโลกทัศน์ที่สอดคล้องกับศีลธรรมแบบ ‘วิคตอเรียน’ ที่มองว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งที่น่าอับอาย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็กลับรู้สึกว่า ตัวเขาเองต่างหากที่ควรจะได้รับการปรนเปรอจากกรรณิการ์มากกว่านี้ และเขาก็เข้าใจไปด้วยว่ากรรณิการ์ต่างหากควรจะเป็นผู้รับเอาความสุขที่เขามอบให้ ดังนั้นความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผัวเมียคู่นี้ในแง่หนึ่งจึงเกิดจากความมั่นใจในความเป็นชายของตัวเองที่สูงเกินความเป็นจริงของวโรดม และจากตัวอย่างที่ยกมาเรายังได้เห็นด้วยว่า ความสามารถทางเพศของวโรดมนั้นกลายเป็นปมด้อยในชีวิตสมรสอย่างหนึ่งด้วย วโรดมจึงเต็มไปด้วยความอิหลักอิเหลื่ออย่างสูง มุมหนึ่งก็มองว่าเรื่องเพศนั้นน่าอับอาย แต่ตัวเองก็ต้องการจะให้เมียชื่นชมความสามารถทางเพศซึ่งก็ไม่เป็นไปตามนั้น

ในเรื่องสาวไห้ นอกจากวโรดมแล้ว ผู้ชายที่กรรณิการ์มีความสัมพันธ์ด้วยอีกคือ “พระวรวงศ์เธอ พะองค์เจ้าจักรวาลแว่นฟ้า” “อิศวร อิศรารักษ์” และคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของกรรณิการ์คือ “ราศี สิทธิการยะ” นอกจากนี้ยังมี “มาโด อเล็กซานดรา” ที่ทำให้กรรณิการ์ได้พบกับ “ความประหลาดลึกลับ ระทึกใจอย่างใหม่ที่เขาไม่เคยพบเมื่อหญิงอยู่ต่อหญิง” (หน้า 61)

ความสัมพันธ์กับผู้คนเหล่านี้ไม่ได้ถูกเล่าออกมาในฐานะการเรียนรู้ของตัวกรรณิการ์เอง อาจกล่าวได้ว่าในแง่หนึ่ง สาวไห้คือนวนิยายแห่งการเรียนรู้ของตัวละครอย่างกรรณิการ์ และทุกๆ การเรียนรู้ได้เปลี่ยนแปลงตัวตนของกรรณิการ์ไปทีละขั้นจนกระทั่งถึงที่สุดแล้ว กรรณิการ์เองก็ต้องพบกับทางแยกว่าเธอจะต้องเลือกเอาความถูกต้องที่กำกับอยู่บนศีลธรรมหรือปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามความปรารถนาของตัวเอง

ราศี สิทธการยะ คือผู้ชายคนเดียวในชีวิตของกรรณิการ์ที่เธอมอบความรักให้อย่างสุดจิตใจ สิ่งที่ทำให้ราศีเป็นที่รักของกรรณิการ์นั้นอาจเป็นเพราะการศึกษาและหน้าที่การงานของราศีที่เป็นเสมือนแรงผลักดันให้ตัวกรรณิการ์

“ในหมู่นักเรียนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ราศี สิทธิการิยะ เป็นผู้หนึ่งที่จบ บี.เอ. อักษรศาสตร์ในบรรดานักศึกษาไทยที่ได้ปริญญาทั้งหลาย เขาเป็นชายหนุ่มของอนาคต เมื่อเขาได้ก้าวเข้ามาในตำแหน่งอาจารย์อักษรศาสตร์ที่โรงเรียนกรรณิการ์ เสรีภาพของความคิดเห็นและการเขียนได้ถูกนำมาใช้ … ราศีเป็นคนใหญ่ ผิวคล้ำและไหล่กว้าง ชอบสูบกล้องนอกเวลาสอน เขาพูดเสียงลึกและมีท่าทางสง่าที่ตรึงให้กรรณิการณ์นิ่งฟังได้โดยไม่เบื่อหน่าย ตามธรรมดากรรณิการ์ไม่ชอบการประพันธ์ แต่วิธีสอนของเขา ถ้อยคำที่สละสลวย ไพเราะ และนิ่มนวลนั้น สั่นสะท้านเป็นดนตรีที่กริ่งอยู่ในหู แฝงไว้ด้วยความงามอันเป็นรากฐานแห่งอักษรศาสตร์” (หน้า 22-23)

ตัวเรื่องไม่ได้พยายามจะตัดสินว่าความสัมพันธ์ของกรรณิการ์กับคนอื่นๆ วางอยู่บนความผิดทางศีลธรรมแบบชนชั้นกลาง นั่นคือแนวคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียวที่ได้มีการรณรงค์อย่างหนักในสมัยรัฐนิยม เรื่องผัวเดียวหลายเมียนั้นเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางต่อต้าน เพราะในแง่หนึ่งมันคือแนวคิดของพวกศักดินาที่นิยมมีเมียหลายคนเพื่อแสดงความร่ำรวย อำนาจและบารมี นอกจากนี้แนวคิดผัวเดียวเมียเดียวยังเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางตะวันตกให้ความสำคัญในฐานะหมุดหมายอย่างหนึ่งของโลกสมัยใหม่อีกด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 6 ชนชั้นนำอย่างรัชกาลที่ 6 เองก็ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกันในฐานะความทันสมัยแบบตะวันตก ต่อมาพอถึงสมัยรัฐนิยม การมีผัวเดียวเมียเดียวเป็นเครื่องบ่งชี้ของการมีวัฒนธรรมและสัมพันธ์กับการสร้างชาติอีกด้วย

ในแง่นี้ผมคิดว่า การวางเรื่องให้ความสัมพันธ์ของกรรณิการ์กับตัวละครอื่นๆ สัมพันธ์กันผ่านเรื่องเพศในฐานะของการปลดปล่อยความปรารถนานั้นคือส่วนหนึ่งของการตอบโต้และการไม่ยอมรับบรรทัดฐานของรัฐในการจัดการกับชีวิตประจำวันของผู้คนเช่นกัน

แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ดูเหมือนว่าตัวเรื่องจะไปติดอยู่ที่ทางแยกระหว่างคุณธรรมแบบผัวเดียวเมียเดียวของชนชั้นกลางกับการต่อต้านบรรทัดฐานของรัฐสมัยใหม่ที่มีฐานรากมาจากชนชั้นกลางเช่นกัน และสุดท้ายเราก็จะได้เห็นว่า วิตต์ได้หาทางออกให้กับตัวละครอย่างกรรณิการ์ด้วยการ ‘เทศนา’ ผู้หญิงแบบกรรณิการ์เอาไว้ในช่วงท้ายเรื่องผ่านการขบคิดและการเรียนรู้ของตัวกรรณิการ์เอง

ศัตรูที่ร้ายที่สุดของผู้หญิงก็คือความนึกคิดของเจ้าตัว กรรณิการ์มีความเห็นเช่นนี้ ผู้หญิงมักจะซวนเซเมื่อถึงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตแทบทุกครั้ง ผู้หญิงจะดำเนินชีวิตตัวเองด้วยความเป็นเพศหญิง และในทำนองเดียวกันสำแดงความเป็นเพศหญิงด้วยตัวของตัวเอง เขาจะคุกเข่าอ้อนวอนต่อสู้ แม้กระทั่งพลีชีวิตเพื่อความเสมอภาคกับผู้ชาย แต่แล้วก็ทรยศกับตัวเอง โดยหันกลับไปสู่ความเป็นเพศหญิงนั้นอีก ด้วยการเรียกร้องสิทธิพิเศษที่ความเป็นเพศหญิงควรจะได้รับ เมื่อถูกผูกมัดด้วยบัญญัติของโลก เขาพากันเรียกร้องเสรีภาพ ครั้นเป็นอิสระแล้ว ก็อดที่จะขอให้ “ความเป็นเพศหญิง” คุ้มครองตัวเองเสียมิได้เลย เหล่านี้หาเป็นความผิดของฝ่ายชายไม่ แต่เป็นการกระทำของฝ่ายหญิงเองที่ทำตัวให้วุ่นวายไปเพราะแรงอารมณ์” (หน้า 166)

“อะไรคือสิ่งที่หญิงคร่ำครวญในดวงใจ ซึ่งบางคราวทำให้เห็นชายเป็นพระเจ้า และบางทีเป็นผีปีศาจ สิ่งที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายตัดสินเอง ซึ่งผู้ชายมิได้ขอร้อง สิ่งนี้จะเรียกว่าความหลอกลวงตัวเองหรือ กรรณิการ์บิดริมฝีปากเมื่อตรองข้อนี้ เห็นจะจริงที่ว่าเพศหญิงเป็นเพศที่รักจะหลอกลวงตัวเอง ทำไมจะต้องปฏิเสธเมื่อมันเป็นความจริงเล่า เพศหญิงเราควรจะยอมรับโดยชื่นตาว่า ถ้าไม่มีอาการหลอกตัวเองแล้ว ก็จะไม่สามารถทนยืนสู้เหตุการณ์ผันผวนเฉพาะหน้าได้เลย ผู้หญิงไม่เคยหน้าชื่นอกตรมบ้างเชียวหรือ ผู้ชายไม่ปรากฏว่าต้องการจะปกครองบังคับหญิงอย่างใด แต่หญิงนั่นแหละที่ได้ปกครองบังคับตัวเอง” (หน้า 167)

แม้อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู จะพยายามอธิบายเอาไว้ในคำตามท้ายเล่มว่า สิ่งที่ทำให้วิตต์แตกต่างออกไปจากนักเขียนหนุ่มสำรวยร่วมสมัยในวัฒนธรรมคนอื่นๆ ที่มองผู้หญิงเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตยั่วประสาทและไร้ความรู้สึก คือการพยายามชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วผู้หญิงอ่อนไหว ละเอียดลออ รับรู้และทุกข์ทรมานกับโลกได้มากกว่าผู้ชาย

แต่ผมกลับเห็นในทางตรงกันข้ามว่า วิตต์ไม่เพียงแต่ตอกย้ำความแตกต่างระหว่างชายหญิงและชี้ให้เห็นว่าหญิงด้อยกว่าชายในแง่ใดบ้าง แต่วิตต์ยังทำให้ตัวละครอย่างกรรณิการ์มีลักษณะที่ละล้าละหลัง เพราะหากเราพิจารณาพัฒนาการของตัวละครอย่างกรรณิการ์ที่ยอมแตกหักกับครอบครัวเพื่อไปแต่งงาน ยอมหย่าขาดกับวโรดม ดึงดันที่จะไปเรียนมหาวิทยาลัย และยังไม่นับว่าความสัมพันธ์ที่มีกับทั้งพระองค์เจ้าจักรวาลแว่นฟ้าและอิศวร ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากวโรดมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการยุยงส่งเสริมให้ราศีหย่าขาดกับอรพินท์เพื่อมาอยู่เป็นคู่รักกับเธอตลอดไป สิ่งที่วิตต์สร้างกรรณิการ์มานั้นมันไม่อาจเป็นอื่นได้นอกจากการยืนยันในความรักและความปรารถนาของเธอที่มีต่อราศีต่อไป โดยไม่จำเป็นจะต้อง ‘ขอได้รับการกราบพนมลา’ จากราศี

ดังนั้นในท้ายที่สุดแล้ว วิตต์ก็ไม่อาจต้านทานการวิพากษ์คุณธรรมจริยธรรมแบบชนชั้นกลางที่ถูกกำหนดจากรัฐได้เช่นเดียวกัน


อ้างอิง

[1] โปรดดูใน รงค์ วงษ์สวรรค์. (2552). วานปีศาจตอบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ฟรีฟอร์ม.

[2] โปรดดูใน อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู. (2560). “จาก “โซ๊ด” สู่ “สะวิง”: อัสดงคตนิยมกับการเมืองของการแปลทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่” ใน รัฐศาสตร์สาร, 38 (2), หน้า 83-130.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save