หนังสือน่าตื่นเต้นเล่มหนึ่งซึ่งกำลังจะออกใหม่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 49 ประจำปี พ.ศ. 2564 ได้แก่ นวนิยายเรื่อง สาวไห้ ผลงานประพันธ์ของวิตต์ สุทธเสถียร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แซลมอน
จะว่าไป นี่มิใช่หนังสือใหม่เอี่ยมหรอกครับ เป็นหนังสือเก่าที่ได้รับการนำมาตีพิมพ์ใหม่อีกหน เพียงแต่ทอดช่วงระยะห่างจากการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกสุดเมื่อราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 ยาวนานกว่า 78 ปีทีเดียว

วิตต์ สุทธเสถียร นักเขียนไทยคนสำคัญผู้ครองบทบาทโลดแล่นในบรรณพิภพช่วงทศวรรษ 2480 และทศวรรษ 2490 โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาก่อนกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) มิอาจปฏิเสธว่า นักอ่านจำนวนไม่น้อยมักคุ้นชื่อเสียงเรียงนามของเขา เนื่องจากเป็นบุคคลที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เอ่ยอ้างพาดพิงในฐานะแรงบันดาลใจ และเยินยอยกย่องสำนวนภาษาเฉพาะตัวของเขา
วิตต์อาศัยกลวิธีเล่าเรื่องและจัดเรียงรูปประโยคแปลกตาอันรับอิทธิพลจากภาษาตะวันตก มิหนำซ้ำ เขาทดลองประดิษฐ์คำศัพท์ใหม่ๆ ที่หลายคำยังใช้กันตราบปัจจุบัน เช่น นางแบบ, ล้ำยุค และมือปืน
วิตต์เคยศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ในประเทศฟิลิปปินส์ยุคสมัยอยู่ใต้ร่มเงาสหรัฐอเมริกา แต่มิทันร่ำเรียนสำเร็จ สงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้นเสียก่อน เขาต้องเดินทางระหกระเหินระคนยากเข็ญหวนคืนสู่เมืองไทยประมาณปี พ.ศ. 2485 เริ่มต้นมุ่งมั่นทำงานในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ สร้างสรรค์งานเขียนทั้งสารคดี นวนิยาย และเรื่องสั้น ชิ้นงานโดดเด่นมักอาศัยฉากประเทศฟิลิปปินส์ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องที่โด่งดังสุดขีดเห็นจะมิพ้น ตระเวนมะนิลา ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ประชามิตร ระหว่างปี พ.ศ. 2486 และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เทพไพศาล ราวๆ พ.ศ. 2487

ภาพจาก อนุสรณ์งานเมรุวิตต์ สุทเสถียร
สาวไห้ คือนวนิยายเล่มแรกสุดของวิตต์ สุทธเสถียร หลังกลับมาจากดินแดนแห่งภาษาตากาล็อก และมิแคล้วถือเป็นหนังสือเล่มแรกสุดในชีวิต เนื่องจากเดิมทีงานเขียนของเขาปรากฏในรูปแบบเรื่องสั้นและข้อเขียนจิปาถะตามหน้านิตยสารต่างๆ
สาวไห้ จัดพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ครั้งแรกปลายๆ ปี พ.ศ. 2486 โดยสำนักพิมพ์จิระพานิช ที่ตั้งอยู่ในเวิ้งนาครเขษมติดกับฝั่งถนนเยาวราช เข้าแท่นพิมพ์ที่โรงพิมพ์สมรรถภาพ ถนนบำรุงเมือง นับเป็นเรื่องอันดับที่ 37 ของสำนักพิมพ์ นักเขียนลือเลื่องผู้เคยออกผลงานกับสำนักนี้ก็มีหม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ เจ้าของนามปากกา ‘ดอกไม้สด’ กับนวนิยายเรื่อง นันทวัน เมื่อปี พ.ศ. 2485
นักอ่านไทยยุคระหว่างสงครามจึงได้ตื่นตาสำนวนลีลาของวิตต์กับ สาวไห้ ก่อนจะมาตื่นเต้นเริงโลดกับ ตระเวนมะนิลา เสียอีก แม้ สาวไห้ จะเปิดฉากในกรุงเทพมหานครที่เมืองไทย หาใช่ฟิลิปปินส์ แต่ก็มิวายกำหนดให้ตัวละครเดินทางไปโลดแล่นต่างประเทศ นั่นคือดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส จนนับว่าเข้าข่าย ‘ไพรัชนิยาย’ อีกเรื่องหนึ่ง
ย้อนไปหลายปีที่แล้ว ช่วงทศวรรษ 2550 แว่วยินเสียงเรียกร้องเนืองๆ ให้มีการนำงานเขียนของวิตต์ สุทธเสถียรมาจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งใหม่ คงเพราะงานของเขาเป็นที่ร่ำลือด้านฝีมือแพรวพราวมานาน ทว่าน่าเสียดายที่นักอ่านยุคปัจจุบันไม่ค่อยมีโอกาสได้ลองสัมผัส คนที่จะได้อ่านจริงๆ ต้องเป็นพวกนิยมคลุกคลีและเสาะแสวงหาหนังสือเก่าๆ
ผมเองเริ่มริอ่านงานเขียนของวิตต์มาตั้งแต่สมัยกลางทศวรรษ 2550 และเพียรพยายามนำมาเขียนถึงบ่อยๆ ผ่านหน้าสื่อต่างๆ ในช่วงปลายทศวรรษ 2550 เรื่อยมา คุณผู้อ่านท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติม ลองหาอ่านบทความของผม เฉกเช่น “ทัศนคติเรื่องญี่ปุ่นในงานเขียนของ ‘วิตต์ สุทธเสถียร’ เจ้าพ่อสำนวนสะวิงคนแรกๆ ของไทย” ลงพิมพ์ใน The MATTER เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561 และ “ในร่างทรง “วิตตมิน” ก่อนไปฟิลิปปินส์ของวิตต์ สุทธเสถียร และแรกมีมิกกี้ เมาส์ ณ เมืองไทย” ลงพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้น
สำหรับ สาวไห้ ผมสบโอกาสลองอ่านหนแรกประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ด้วยความอนุเคราะห์จากคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ซึ่งเป็นเล่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2486 หน้าปกสีเหลือง แสดงภาพหญิงสาวในชุดเดรสสายเดี่ยวสีขาว ลองพลิกดูตัวบทเนื้อหาจะพบการดำเนินเรื่องราวด้วยภาษาไทยยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือที่คนในแวดวงหนังสือเรียกขานติดปาก ‘ภาษาวิบัติ’

วิตต์เขียนคำอุทิศไว้ใน สาวไห้ ว่า
“ขออุทิสงานชิ้นแรกนี้ไห้นายและคุนหยิงเมธาธิบดี ผู้บังเกิดเกล้าของผู้เขียน.
กับ
“มาลี” เพื่อนรัก”
‘นายและคุนหยิงเมธาธิบดี’ คือพระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร) นักการศึกษาผู้นำเข้านิทานอีสปมาสู่สังคมไทยและคุณหญิงอรุณ บิดามารดาของวิตต์
ส่วน ‘“มาลี” เพื่อนรัก’ หลายท่านอาจนึกสงสัยครามครัน เธอคือใครหนอ? ผมเชื่อว่าวิตต์หมายถึงมาลี พันธุมจินดา หญิงสาวผู้เคยประกวดนางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2482 อันเป็นปีแรกที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาจากการประกวดนางสยามเป็นนางสาวไทย สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ มาเป็น ‘ไทย’
มาลีมิได้สวมมงกุฎ เพราะผู้คว้าตำแหน่งนางสาวไทยคือสตรีสาวมุสลิมชาวยานนาวา นามว่าเรียม เพศยนาวิน (ต่อมาในทศวรรษ 2490 เรียมได้กลายเป็นรานีหรือภรรยาคนที่สองของรายาแห่งรัฐเปอร์ลิศ ประเทศมาเลเซีย) กระนั้น ตำแหน่งรองนางสาวไทยอันดับหนึ่งมิแคล้วเป็นของมาลี

ภาพจาก ท่องเที่ยวสัปดาห์ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2482

จากซ้ายไปขวา: มาลี พันธุมจินดา, เทียมจันทร์ วาณิชขจร, เรียม เพศยนาวิน และเจริญศรี ปาศบุตร์
ก้าวย่างลงมาจากเวทีนางงาม มาลีพลันก้าวเข้าสู่แวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ชื่อเสียงของเธอเกรียวกราวลือลั่นบรรณพิภพในฐานะนักหนังสือพิมพ์สาวสวยแห่งทศวรรษ 2480 ยุคนั้นยังมิค่อยปรากฏผู้หญิงที่ยินดียึดถืออาชีพนี้ เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์ สุภาพสตรี รายวันและฉบับพิเศษรายสัปดาห์ ซึ่งประภาศรี ศิริวรสารเป็นผู้อำนวยการ มีคณะกองบรรณาธิการจัดทำเป็นผู้หญิงแทบทั้งสิ้น รวมถึงหนังสือพิมพ์ นครสาร
ล่วงมาทศวรรษ 2490 มาลียังฝากฝีมือประพันธ์เรื่องสั้นไว้หลากหลายชิ้น เช่น “สุดาวดี” ลงพิมพ์ใน ประชามิตร ฉะบับที่ 243 ประจำวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2490 (อันเป็นนิตยสารในเครือสำนักสุภาพบุรุษที่วิตต์มักเขียนเรื่องสั้นและช่วยออกแบบปก บรรณาธิการคือมนูญ วัฒนโกเมร), “ธาตุแท้ของผู้หญิง” ลงพิมพ์ใน สยามสมัย ปีที่ 1 ฉบับที่ 52 ประจำวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 และ “ความหวังบนความพินาศ” ลงพิมพ์ใน สยามสมัย ปีที่ 2 ฉบับที่ 61 ประจำวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 เป็นต้น



วิตต์ สุทธเสถียรย่อมประทับใจบทบาทนักหนังสือพิมพ์หญิงของมาลี พันธุมจินดา และถ้าอ่านเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวประวัติของเขาจะทราบว่า แม่สาวโฉมแฉล้มเยี่ยงมาลีเคยเป็นที่หมายปองต้องจิตพิสมัยนักเรียนนอกหนุ่มฟ้อรูปหล่อสำรวยเยี่ยงวิตต์เช่นกัน ครั้นนวนิยายเรื่องแรกสุดได้รับการตีพิมพ์จึงอุทิศให้ ‘“มาลี” เพื่อนรัก’ มิหนำซ้ำ ตัวละครเอกใน สาวไห้ เยี่ยง “กรรนิการ์ บุสราคัม” (เขียนแบบภาษาไทยปัจจุบันจะได้ว่า “กรรณิการ์ บุษราคัม”) ก็เป็นนักหนังสือพิมพ์หญิงหัวก้าวหน้า เธอยังไปปรากฏตัวในนวนิยายเรื่องอื่นๆ ของวิตต์ เช่น วิญญาณเปลือย
ไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันเท่าไหร่ว่ากุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ มีส่วนเกี่ยวข้องผูกพันกับ สาวไห้ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าผู้เป็นบรรณาธิการอ่านต้นฉบับนวนิยายเรื่องนี้ให้แก่วิตต์คือกุหลาบนั่นแหละ เพียงแต่อาศัยนามแฝง “มกโท” (กุหลาบหมายถึง ‘มะกะโท’) แห่ง ประชามิตร-สุภาพบุรุส มาเปรยคำปรารภลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2486
“- – – ผู้อ่านของเราที่ได้เคยผ่าน นวนิยายขนาดสั้นของวิตต์ สุทธสเถียร ไนหนังสือพิมพ์ของเรามาแล้วนั้น คงจะเห็นพ้องกันว่า นักเขียนผู้นี้กำลังจะก้าวหน้าไปหย่างรวดเร็ว ไนวิถีการประพันธ์ ถึงกะนั้นก็ดี ความแจ่มจรัดไนวิถีการประพันธ์ของเขา อาจจะยังไม่กะจ่างพอจนกว่าท่านจะได้พิจารนางานชิ้นไหย่ของเขา คือเรื่อง “สาวไห้” – –
ผู้เขียนได้ระบายชีวิตของสตรีสาวคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อท่านได้อ่านแล้ว บางทีจะอดนำไปเปรียบกับชีวิตสการ์เล็ด โอแฮราไน “กอนวิธเดอะวินด์” เสียมิได้ และไนการวาดชีวิตอันเปนที่ตรึงไจของสตรีเอกไนเรื่อง “สาวไห้” นี้เอง จะทำไห้ผู้อ่านเล็งเห็นความแจ่มจรัด ไนวิถีการประพันธ์ของนักเขียนผู้นี้หย่างชัดแจ้ง- – -”
ดังได้แจกแจง นวนิยาย สาวไห้ ที่ผมอ่านเป็นเล่มตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2486 ตลอดทั้งเรื่อง สองตาจึงจัดเจนต่อภาษาไทยยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จะขอยกบทเปิดมาสำแดงคร่าวๆ
“เมื่อมีการจำกัดน้ำมันเชื้อเพลิง รถถีบก็เข้ามาหยู่ไนสมัยนิยม.
คนเดินเท้าได้มีโอกาสปล่อยอารมน์ดีกว่าก่อน ท้องถนนน้อยเสียงยานยนต์ และสติถิคนถูกรถยนต์ทับที่สถานีตำหรวดและโรงพยาบาลก็ลดลงหย่างน่าปีติยินดี – – –
พิกุลเปนเพื่อนสาวคนแรกที่ได้รับรถถีบเปนของขวันไนวันเกิด ต่อมาบันดาเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวทั้งหลายต่างก็ทยอยกันได้หมดชุด เว้นไว้แต่กรรนิการ์ นักเรียนสาวที่ยังคงเปนทารกของคุนพ่อคุนแม่หยู่…”
( ‘สติถ’” ในต้นฉบับเรียงพิมพ์ผิด ที่แท้คือ สถิติ – – หมายเหตุของผู้เขียนบทความ)
ขณะ สาวไห้ พ.ศ. 2564 ที่สำนักพิมพ์แซลมอนจัดพิมพ์ ผมคาดเดาว่าคงปรับเปลี่ยนให้เป็นภาษาไทยแบบปัจจุบันเพื่อความอ่านง่ายคุ้นชิน (ตอนนั่งเขียน ผมยังไม่มีหนังสือเล่มนี้อยู่กับตัว)
ผมคงไม่บอกเล่าเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหานวนิยายหรอกครับ เพราะปรารถนาให้คุณผู้อ่านไปอุดหนุนหนังสือมาลิ้มอรรถรสด้วยตนเอง อนึ่ง กลวิธีของผมมิใช่การอ่าน ‘ตัวบท’ แล้ววิเคราะห์วิจารณ์หนังสือให้ทุกๆ ท่านได้ยล แต่คือการอ่านถอดรหัส ‘บริบท’ แวดล้อมหนังสือ แล้วลองนำมาเสนอให้คุณผู้อ่านแลเห็นภาพกระจ่างเพิ่มเติม เพื่อจะได้ไปขะมักเขม้นอ่าน ‘ตัวบท’ อย่างทบทวีความสนุกสนานเพลิดเพลิน
ถ้าจะมีสิ่งที่อยากแย้มพรายสักนิดๆหน่อยๆ ก็ใคร่บ่งชี้ว่าในเรื่อง สาวไห้ สะท้อนปณิธานการเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ดี การเป็นบรรณาธิการ และมารยาทในการเขียนข่าวโดยคำนึงผลกระทบของแหล่งข่าว ผมยังสังเกตเห็นประเด็นเล็กๆ ซึ่งวิตต์สอดแทรกไว้คือความสัมพันธ์เชิงพิศวาสระหว่างครูหนุ่มผู้มาสอนหนังสือที่บ้านกับลูกศิษย์สาว มองเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่ผมคิดว่าวิตต์เจตนาไม่น้อยที่จะถ่ายทอดสู่สังคมไทย กระทั่งเขานำมาขยายความกลายเป็นเรื่องสั้น “ธิดาลอยตายอยู่ในบ่อ” ลงพิมพ์ใน สยามสมัย ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 ประจำวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2490 พอพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ห้วงยามนั้นจะพบกรณีโศกนาฏกรรมอันมีต้นตอมาจากลักษณาการทำนองเดียวกับประเด็นของวิตต์
น่าปีติยินดียิ่งที่ผลงานวรรณกรรมแห่งวันวานของวิตต์ สุทธเสถียรเรื่อง สาวไห้ ได้นำกลับมาตีพิมพ์ใหม่อีกครา ไม่เพียงเป็นนวนิยายเล่มแรกสุดในชีวิตผู้ประพันธ์ หากยังเป็นเล่มแรกสุดที่ได้นำมาตีพิมพ์ภายหลังมรณกรรมของผู้ประพันธ์เนิ่นนาน 32 ปี (วิตต์อำลาโลก 14 เมษายน พ.ศ. 2532)
คุณผู้อ่านมิควรพลาดการเสาะหามาจดจ่อสายตาเลยเชียว !
เอกสารอ้างอิง
ท่องเที่ยวสัปดาห์. (ธันวาคม 2482)
มาลี พันธุมจินดา. “ความหวังบนความพินาศ.” สยามสมัย 2 ฉ. 61 (12 กรกฎาคม 2491)
มาลี พันธุมจินดา. “ธาตุแท้ของผู้หญิง.” สยามสมัย1 ฉ.52 (10 พฤษภาคม 2491)
มาลี พันธุมจินดา. “สุดาวดี.” ประชามิตร ฉ. 243 (7 กันยายน 2490)
มาลี พันธุมจินดา สนิทวงศ์ฯ, คุณหญิง.““ข้อประทับใจในคุณรองฯ” จากชาวสุภาพสตรีและนครสาร.” ใน
งานพระราชทานเพลิงศพ นายรองสนิท โชติกเสถียร ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่
18 มกราคม พุทธศักราช 2524, กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดอรุณการพิมพ์, 2524
วิตต สุทธสเถียร. สาวไห้. พระนคร: จิระพานิช, 2486
วิตต์ สุทธเสถียร. “ธิดาลอยตายอยู่ในบ่อ.” สยามสมัย1 ฉ.12 (4 สิงหาคม 2490)
อรสม สุทธิสาคร. ดอกไม้ของชาติ จากเวทีความงามสู่เวทีชีวิต อัลบั้มชีวิต ๑๓ นางสาวไทย.
กรุงเทพฯ : รวมทรรศน์, 2533.
อนุสรณ์งานเมรุวิตต์ สุทธเสถียร ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2533.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ด่านสุทธา, 2533