fbpx

“ขอประกาศภัยพิบัติภาคเหนือของไทยด้วยตนเอง” รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ในวันที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐเกียร์ว่างแก้ปัญหา PM2.5

LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP ภาพประกอบ

ปัญหาฝุ่นกลายเป็น ‘ฤดูกาล’ หนึ่งของประเทศไทย อากาศร้อนระอุมาพร้อมกับมวลฝุ่น PM2.5 พื้นที่สีเขียวกลายเป็นพื้นที่สีม่วง ยอดผู้ป่วยทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น แปรผันตรงตามค่าฝุ่นทั่วภาคเหนือและทั่วประเทศ

ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐกลับนิ่งเฉย ชินชา และไร้น้ำยาในการจัดการ ปล่อยให้เป็นทุกข์ของชาวบ้านและประชาชน จนกลายเป็นปัญหาที่แวะเวียนมาทุกปี

101 ชวนประเมินสถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขปัญหา PM2.5 ไปกับ ‘หมอหม่อง’ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักอนุรักษ์และอาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในรายการ 101 One-on-One Ep.296 “ประเทศไทยในทุ่ง (ฝุ่น) ลาเวนเดอร์” กับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

ต้นตอฝุ่นประจำฤดูกาล

“Nothern Thailand: Where every breath is an adventure.” คือหนึ่งในคำขวัญชวนท่องเที่ยวภาคเหนือของไทยในเวลานี้ที่สร้างสรรค์โดย ChatGPT ในมุมมองของผู้ที่ต้องผู้ผจญอากาศพิษอยู่ทุกวัน รังสฤษฎ์มองว่าคำขวัญข้างต้นสะท้อนความจริงได้อย่างเจ็บแสบเหลือร้ายจนต้องแชร์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมคำขวัญที่เหลือ ผลคือมีผู้กดไลก์และกดหัวเราะให้โพสต์นั้นไม่น้อย อย่างไรก็ตาม เขามองว่า หากรัฐบาลบาลหรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เห็นคงจะรู้สึกปวดร้าว

ภาพจาก Facebook Rungsrit Kanjanavanit

เมื่อมองสถานการณ์ฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง รังสฤษฎ์อธิบายว่าฝุ่นควันปีนี้กลับมาหนักมากอีกครั้ง เมื่อเทียบกับ 3-4 ปีที่แล้วที่มีไฟป่าลุกลามดอยสุเทพ

“ในส่วนของไฟป่า เราไม่มีไฟมากๆ มา 2 ปีแล้วเนื่องจากฝนดีมาก แต่ปีนี้แล้ง ปรากฏการณ์ลานีญาเริ่มอ่อนตัวลงและแล้งมากขึ้น ฝนทิ้งช่วงยาวนาน จึงมีปรากฎการณ์ไฟป่าค่อนข้างรุนแรง”

รังสฤษฎ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า บางวันที่มลพิษทาง PM2.5 สูงมากๆ เป็นอันตรายต่อสุภาพ ทางรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการออกมาเตือนประชาชนหรือนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้หากสถานทูตมีการเตือนนักท่องเที่ยวจากประเทศตนเองให้ระวังภัยฝุ่นในประเทศไทย ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยพึงกระทำคือต้องแสดงเจตจำนงว่าเป็นห่วงสุขภาพของนักท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าหวังให้เม็ดเงินจำนวนมากจากการท่องเที่ยวไหลเข้าประเทศ

นอกจากไฟป่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุของควันพิษที่สำคัญอีกประการคือการจุดไฟเผาพืชไร่ โดยเฉพาะไร่ข้าวโพด เพราะการผลิตข้าวโพดต้องมีการเตรียมพื้นที่ วิธีง่ายที่สุดและถูกที่สุดสำหรับชาวบ้านซึ่งไม่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการปลูกในพื้นที่สูงชัน เครื่องจักรเข้าไปไม่ถึงคือการเผา

“ผมเคยถามเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดว่าเรามีเครื่องจักรให้เกษตรกรยืมไหม แชร์กันใน อบต.ได้ไหม ได้คำตอบกลับมาว่าไม่ได้ พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ในป่าสงวน ผิดกฎหมายจะไปสนับสนุนไม่ได้

“ถึงแม้บริษัทเกษตรมีแนวทางรับซื้อข้าวโพดเฉพาะจากพื้นที่ที่ไม่มีการเผา แต่ประเด็นคือไม่มีการติดตามข้อมูล หากจะเอาผิดกันแบบสิงคโปร์ การฟ้องร้องกันเป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้นจึงต้องมีข้อมูลมอนิเตอร์กันจริงๆ เลยว่า ห่วงโซ่อุปทานที่ทำนั้นยั่งยืนจริงหรือเปล่า หรือมีกระบวนการผลิตที่สร้างมลพิษหรือเปล่า ผมมองว่างเราขาดตรงไปคือ รัฐไม่ลงทุนมอนิเตอร์เรื่องนี้จริงจัง ถ้าเราลงทุนเรื่องข้อมูล บังคับการใช้มาตรการต่าง ๆน่าจะเกิดผลที่แตกต่างขึ้นมา” รังสฤษฎ์อธิบาย

ขณะเดียวกัน รังสฤษฎ์มองว่าการใช้รถฉีดพ่นน้ำเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่การปฏิบัติที่เหมาะสมเท่ากับระดับของปัญหา ประชาชนต้องการเห็นวิธีการควบคุมแหล่งกำเนิดไฟอย่างเป็นรูปธรรมและการวางแผนระยะยาว เพราะวิกฤตฝุ่นควันข้ามพรมแดนไม่ใช่แผ่นดินไหว ไม่ใช่ภัยที่คาดเดาไม่ได้ แต่ฝุ่นพิษเกิดขึ้นทุกปีและมาตามนัด

PM 2.5: ไม่ใช่สาเหตุการตายในมรณบัตร แต่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง

ในแง่ของผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพ รังสฤษฎ์ข้อให้มูลเชิงลึกว่า PM2.5 ทำให้เกิดการสะสมฝุ่นจิ่วในร่ายกาย ถ้าสะสมในปอดจะทำให้ DNA หรือสารพันธุกรรมในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจเสียหายจนเกิดเป็นเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตามฝุ่นจิ๋วไม่ได้อยู่แค่ทางเดินหายใจเพราะ PM2.5 มีขนาดเล็กมากพอที่จะผ่านเข้าสู่กระแสเลือด พอเข้าสู่กระแสเลือดก็ไปทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดอักเสบ ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้นและตีบ นำมาสู่โรคอีกมากมาย ฉะนั้นคนที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบในพื้นที่ที่ปริมาณฝุ่น PM2.5 หนาแน่น สัดส่วนผู้ป่วยสองโรคดังกล่าวจำนวนหนึ่งมี PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค หมายความว่าถ้าแก้ไขจุดนี้ได้คนเหล่านี้จะไม่ป่วย

“ถ้าเป็นในเด็กยิ่งน่ากลัวใหญ่ ผลกระทบระยะสั้นก็ชัดแล้ว ไม่ต้องถึงขั้นสะสมเลย เพราะทางเดินหายใจเปราะบางมาก ฉะนั้นเด็กจะมีปัญหาเรื่องทางเดินหายใจตั้งแต่เด็กเยอะมาก แน่นอนว่าผลที่น่ากลัวกว่าคือ ผลกระทบระยะยาว เพราะฝุ่น PM2.5 เข้าไปถึงสมอง ซึ่งสมองเด็กยังไม่เติบโตพัฒนาเต็มที่ ฉะนั้นเมื่อโดนสารพิษเข้าไปตั้งแต่เด็ก จะส่งผลให้ไอคิวต่ำ การพัฒนาต่างๆ ก็ไม่ดี กระทบต่อผลผลิตประเทศชาติ แต่การศึกษาเรื่องนี้ก็ยังฟันธงทั้งหมดไม่ได้”

“ในส่วนปอดของเด็ก ถุงลมยังสร้างไม่หมด ไม่ครบ การพัฒนาการเติบโตของปอดได้รับผลกระทบจาก PM2.5 แน่นอน มีงานวิจัยชี้อย่างชัดเจน ถ้าสมรรถภาพปอดไม่ดีไม่แข็งแรง เมื่อเด็กโตขึ้นมาก็จะป่วยง่าย มีพื้นที่แลกเปลี่ยนก๊าซน้อยกว่าคนปกติ กลายเป็นคนขี้โรค” รังสฤษฎ์กล่าว

เมื่อดูข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดเทียบกับสัดส่วนการสูบบุหรี่ของไทยโดยกระทรวงสาธารสุข จะเห็นว่าคนภาคเหนือสูบบุหรี่ไม่มาก ในขณะที่คนใต้สูบบุหรี่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามภาคเหนือเป็นภาคที่ประชากรเสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากเช่นกัน

“เรารู้ว่าบุหรี่คือต้นเหตุของมะเร็งปอดที่สำคัญมาก แต่มันไม่ใช่สาเหตุเดียวมีสาเหตุอื่นอีกมากมาย เช่น พันธุกรรม สารพิษอื่น ๆ รวมถึงสารกัมมันตภาพรังสีอย่างพวกเรดอนซึ่งมาจากใต้พื้นดิน

“เทียบกับบุหรี่จะเข้าใจง่ายแล้วจะรู้ว่าเรากำลังเผชิญอะไรอยู่ เพราะสารพิษมี่ความใกล้เคียงมาก เกิดจากการเผาไหม้เหมือนกัน แต่บุหรี่มีสารที่อาจจะดูน่ากลัวกว่าการเผาไหม้จากป่า”

“บางทีเราจะได้ยินทางการบอกว่า ฝุ่น PM2.5 เราเกินมาตรฐานไม่กี่วันหรอก มาตรฐานไทยอยู่ที่ไม่เกิน 50 มคก./ลบม แต่นั่นคือเราตัดที่ 50 มคก. ถ้าเราเอามาตรฐานองค์การอนามัยโลกเหมือนทั้งโลกที่เขาใช้กันคือ 25 มคก./ลบม จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานเยอะกว่าเยอะเลย สำหรับผม ตัวเลข 50 ไม่สมเหตุสมผลในมุมมองทางการแพทย์ เหมือนถ้าเราบอกว่าอยากให้คนไทยไม่เป็นเบาหวาน ทั้งโลกเอาน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 126 มคก. ประเทศไทยเราเอา 240 มคก. พรุ่งนี้เราจะไม่มีคนเป็นเบาหวาน จะมีน้อยมาก จะสุขภาพดีทันทีเลย นี่มันคือปัญหาประเทศเรา เอาทุกอย่างไว้ใต้พรม แล้วเราจะวางแผนระยะยาวได้อย่างไร” รังสฤษฎ์อธิบาย

มากไปกว่านั้น รังสฤษฎ์ระบุว่ารัฐบาลต้องประกาศพื้นที่เสี่ยงภัย อย่างน้อยๆ เพื่อส่งสัญญาณให้คนเข้าใจว่า ประชาชนอยู่ในภาวะที่ต้องปรับตัว ใช้ชีวิตปกติไม่ได้ อย่างในวันที่วิกฤตหนักค่าฝุ่น PM2.5 ทะลุ 500 ไมโครกรัมที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รัฐบาลต้องประกาศให้ประชาชนออกจากพื้นที่ด้วยซ้ำ หรือต้องสร้างพื้นที่ที่เป็น Green room อย่างเช่นศูนย์เด็กเล็กให้แก่กลุ่มเปราะบาง

“หากจะหายใจด้วยอากาศสะอาดได้ในประเทศนี้ต้องใช้เงินซื้อเท่าไหร่หรือ สถานการณ์ที่ประชาชนเผชิญกับวิกฤตอากาศพิษเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เหลื่อมล้ำเรื่องป้องกันตัวเองจากภัยอัตรายเหล่านี้ พวกเรามีเครื่องมือในการป้องกันตัวเอง เราดูแอปฯ ถ้าตัวเลขค่าฝุ่นสูงเราก็เลี่ยงกิจกกรรมบางอย่าง หลายคนไม่ได้ติดตาม ไม่ได้ระวังตัว หรือบางทีไม่มีทางเลือก จำต้องออกไปนาไปไร่ ไปทำงาน บางทีตัวเองอาจจะต้องเป็นคนเผาเองด้วย” รังสฤษฎ์ให้ความเห็น

เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หนทางปิดฉากแชมป์อากาศแย่ของโลก

เมื่อมองถึงแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษข้ามพรมแดน รังสฤษฎ์ชี้แจงว่าหากมองระยะยาว ต้องแก้ปัญหาภาวะโลกรวน หรือวิกฤตสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปด้วย เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น ทุกวันนี้ไฟไหม้ป่ารุนแรงและเกิดขึ้นถี่เกินไป ทั้งยังลุกลามสู่ป่าดิบ ปีก่อนไฟลามถึงยอดดอยปุยซึ่งไม่เคยถูกไฟไหม้ ป่าเปลี่ยนสภาพทันทีเพราะไม่ใช่ป่าที่ปรับตัวกับไฟได้ ดินกลายเป็นผลึกไม่สามารถอุ้มน้ำได้อีกต่อไป จากที่เป็นแหล่งกักเก็บความชุ่มชื้น เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารก็เสียหายไปหมด

“หากเกิดการเผาจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปในอากาศ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจกอย่างมโหฬาร ทำให้เกิดภาวะโลกรวนที่รุนแรงมากขึ้น เมื่ออุณหภูมิโลกพุ่งสูงจะเกิดช่วงแล้งที่รุนแรงและยาวนานยิ่งขึ้น สลับกับช่วงฝนที่รุนแรงกลับมากลับมาอย่างนี้ตลอด ไฟไหม้ทางภาคเหนือถี่และรุนแรงมากขึ้น เราเจอปัญหานี้แน่ๆ ในอนาคต หากขีดความสามารถในการจัดการไฟป่าเรายังเหมือนเดิม” รังสฤษฎ์กล่าว

นอกจากนี้ รังสฤษฎ์ยังมองว่า กลุ่มทุนมีบทบาทมากกับปัญหาฝุ่นควัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมลพิษหมอกควันข้ามแดน

“ผมมีกราฟเปรียบเทียบ บางปีพื้นที่การเผาในพื้นที่เกษตรจะสูงกว่าเผาในป่า จะแทรกกันไปสลับกันมา ปีไหนข้าวโพดราคาดี การเผาพื้นที่เกษตรก็จะมากขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าเราไปดูพื้นที่ในพม่าอย่างรัฐฉาน hot spot ไม่ได้อยู่ในป่าสักเท่าไหร่ เคยเป็นป่า แต่ไม่ใช่ป่าอีกแล้ว กลายเป็นทุ่งข้าวโพด ถ้าเคยเห็นภาพจะทราบว่ามันสุดลูกหูลูกตาจริงๆ โดยมีบริษัทไทยไปลงทุนนำเข้าข้าวโพด แน่นอนว่ารัฐบาลไม่แตะเรื่องนี้เลย บอกกับประชาชนว่าขอความร่วมมือกับทางอาเซียนแล้ว ผมขอถามกลับว่าขอความร่วมมือเฉยๆ ใครเขาจะขยับ มันต้องกำหนดความรับผิดชอบ ถ้าไม่มีมาตรการ คนกระทำความผิดย่อมลอยนวล สิงคโปร์แก้ปัญหาฝุ่นควันสำเร็จเพราะมีคนรับผิดชอบ”

ส่วนตัวรังสฤษฎ์เชื่อว่าถ้าต้องการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หมายความว่า นโยบายระยะสั้นไม่สามารถแก้ได้อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมารัฐมองไม่เห็นว่าปัญหาฝุ่นควันเป็นวาระแห่งชาติจริงๆ แต่ตอนนี้อาจจะเปลี่ยนไปแล้วเพราะคนให้ความสนใจมากขึ้น ถ้าประชาชนให้ความสำคัญกับอากาศสะอาด พรรคการเมืองจะขยับและทำนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

“หลายครั้งที่ผมท้อเนื่องจากรู้สึกว่ามันไม่ไปไหน เพราะว่ายังมีความเหลื่อมล้ำ ความยากจนอยู่ คุณจะไปชี้นิ้วบอกเขาว่าจะห้ามเผาๆ แล้วไปจับเขาหมดเลยไม่ได้ มันมีปัญหาหลายมิติจริงๆ เราต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเรา ผมว่านั่นแหละคือการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นเรื่องของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ถ้ากลุ่มทุนกลุ่มผลประโยชน์สามารถได้กำไรเต็มที่โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ชาวบ้านยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเพาะปลูก ยังคงต้องใช้วิธีผลิตแบบดั้งเดิม ปัญหาก็ไม่น่าหมด” รังสฤษฎ์เน้นย้ำ

ทั้งนี้รังสฤษฎ์ มองว่า การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น เปิดให้นคนในพื้นสามารถเลือกผู้บริหารท้องถิ่นเองได้จะทำให้การแก้ไขปัญหาหาควันพิษเกิดขึ้นได้จริง

“เรารู้สึกว่าเราได้รับแต่ผู้ว่าฯ ใกล้เกษียณทุกทีเลย อยากได้หนุ่มไฟแรงหรือคนที่มีพลังอยากเปลี่ยนแปลงตามที่ประชาชนเรียกร้อง ผมเชื่อในศักยภาพของประชาชนในการเปลี่ยนแปลง ผมยังไม่เห็นข้อเสียการเลือกผู้ว่าฯ ที่คนกลัวเรื่องอิทธิพลหรือการกอบโกยผลประโยชน์ต่างๆ ผู้แทนในระดับประเทศเราก็เลือกตั้ง ระดับ อบต. ก็ยังมีการเลือกตั้ง ทำไมไม่ยอมให้เราเลือกผู้ว่าฯ ผมอยากเรียกร้องว่าจังหวัดที่พร้อมหรือจังหวัดใหญ่ๆ ควรนำร่องได้แล้ว” รังสฤษฎ์ทิ้งท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save