fbpx
You messed with the wrong generation. : ตัวแสบแห่ง Clubhouse รักชนก ศรีนอก

You messed with the wrong generation. : ตัวแสบแห่ง Clubhouse รักชนก ศรีนอก

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

นับแต่ ‘คลับเฮาส์’ เปิดมาได้ไม่ถึงเดือน ก็มีเหตุการณ์ talk of the town เกิดขึ้นมากมาย

ประเด็นร้อนแรงที่สุดหนีไม่พ้นประเด็นการเมือง เริ่มตั้งแต่ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ร่วมวงเล่าเรื่องสถาบันกษัตริย์ ธนาธร-ปิยบุตร เปิดห้องพูดคุยเรื่องการเมือง สภาโจ๊กที่คนพร้อมใจเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นนักการเมืองแล้วต่อบทประชุมสภากัน มาจนถึงเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงในแทบทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่างการปรากฏตัวของ Tony Woodsome หรือทักษิณ ชินวัตร ที่มาร่วมพูดคุยที่ห้องรำลึกความหลังถึงพรรคไทยรักไทย

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือคำถามที่แหลมคมและตรงไปตรงมาจากผู้ฟัง ที่ถามไปยังผู้พูดที่เป็น ‘คนดัง’ ในสังคม หนึ่งในนั้นมีแอ็กเคาต์ที่ใช้ชื่อว่า Rukchanok Srinok ที่เปิดห้องชวนคุยเรื่องสังคมหลายต่อหลายครั้ง และยกมือตั้งคำถามได้อย่างน่าจับตามองและเรียกเสียงฮือฮาทุกครั้ง

เธอคือคนเดียวกันที่ตั้งห้อง ‘เราจะมาชื่นชมรัฐบาลอย่างจริงใจ’ คนเดียวกันกับที่รับบทยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสภาโจ๊ก และคือคนเดียวกันที่บอกทักษิณว่า “แค่แก้รัฐธรรมนูญไม่พอ แต่พวกเราต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”

101 นัดคุยกับ ไอซ์-รักชนก ศรีนอก เจ้าของแอ็กเคาต์ Rukchanok Srinok บัณฑิตจากรั้วธรรมศาสตร์ ที่ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว และบอกว่าเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ตอนนี้เลยว่างพอที่จะเล่นคลับเฮาส์ได้บ่อย

เบื้องหลังความ ‘แสบ’ แบบนี้มาจากไหน เธอมีมุมมองการเมืองอย่างไร และในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ ‘เล่น’ กับโซเชียลมีเดียได้อย่างแพรวพราว โดยเฉพาะประเด็นทางสังคมการเมือง เธอมองวัฒนธรรมโซเชียลฯ ของคนรุ่นใหม่อย่างไร และเห็นการต่อสู้ทางการเมืองแบบไหนจากปรากฏการณ์นี้

 

ตั้งแต่มีคลับเฮาส์มา คุณมีวีรกรรมเยอะมาก จนถูกเรียกว่าเป็นดาวคลับเฮาส์ไปแล้ว เล่าให้ฟังหน่อยว่าเริ่มต้นเล่นคลับเฮาส์ได้อย่างไร

เราเป็นแฟนคลับรายการ Readery Podcast พอพี่โจ้กับพี่เน็ตคนจัดรายการบอกว่าจะเปิดห้องในคลับเฮาส์ เราก็ไปหาว่าคืออะไร จนเพื่อนส่งคำเชิญมาให้ วันแรกเราเลยไปฟังห้องของ Readery เรารู้สึกว่าคลับเฮาส์เป็นแพลตฟอร์มแบบ two-way communication เพราะเราสามารถเข้าไปถกเถียงพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตรงนั้นเลย หลายคนอาจจะบอกว่า แล้วแตกต่างจาก Zoom อย่างไร เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการไม่เห็นหน้าทำให้มีอรรถรสมากขึ้นรึเปล่า เพราะไม่ต้องแต่งองค์ทรงเครื่อง ใช้เสียงอย่างเดียว ตื่นมาก็พูดได้เลย

ช่วงแรกๆ ที่เข้าไปในคลับเฮาส์ เราเห็นซีอีโอกับผู้ก่อตั้งบริษัทเต็มไปหมดเลย เขาออกมาผลิตคอนเทนต์ประมาณว่า ทำอย่างไรให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เราก็รู้สึกว่าเสพในพอดแคสต์และในทุกแพลตฟอร์มแล้ว ยังต้องมาเจอในคลับเฮาส์อีกเหรอ แล้วเราก็รู้สึกว่าคนพวกนี้โกหก บางคนมาสอนวิธีประสบความสำเร็จให้คนอื่น บอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องขยัน มีแพสชัน แต่เขาไม่เคยบอกว่าจริงๆ แล้วที่ประสบความสำเร็จเพราะเขามีคอนเน็กชัน หรือเป็นเพราะพ่อเขารวยมาก่อน สืบทอดกิจการของตระกูล เราเลยตั้งข้อมูลส่วนตัวในแอ็กเค้าต์คลับเฮาส์ว่า ‘ใน clubhouse นี่ถ้าไม่เป็น ceo หรือ founder อะไรสักอย่างสามารถเล่นได้ไหมคะ’ จากนั้นก็มีคนตั้งห้องว่า ‘ไม่ได้เป็นซีอีโออะไรทั้งนั้นอะครับ’ เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเราเลยนะ เราก็เข้าไปพูดในห้องนั้น ก็มีคนเห็นด้วยกับเราเยอะ

 

ตอนแรกยังไม่ได้ตั้งห้องเอง?

ช่วงแรกยังไม่ได้ตั้งห้องเอง ไปเข้าร่วมห้องนั้นห้องนี้ก่อน ไปถกเถียงประเด็นการเมือง ไปฟังห้องอาจารย์ปวิน แล้วก็มาถึงห้องของคุณศาสดา เขาตั้งชื่อห้องว่า ‘ประเทศไทย ประเทศที่ใครๆ ก็ต้องอิจฉา’ เราก็เลยเข้าร่วม เป็นห้องที่มาคุยแซะประเทศไทย เช่น “เนี่ย ที่ฟุตบาทเขาฉาบไม่เรียบ เป็นหลุมเป็นบ่อ เดินไปแล้วน้ำกระเด็นใส่ เป็นเพราะว่ารัฐบาลมีนโยบายอยากให้ประชาชนเดินอย่างระมัดระวัง เป็นห่วงประชาชน” เรารู้สึกว่าพอเป็นการป้อนข้อมูลให้คนที่เป็นกลางทางการเมือง แล้วเขาอาจจะรับมากกว่า

พอวันถัดมา เราก็ไปถามคุณศาสดาว่าวันนี้จะมีห้องนี้ไหม อยากเข้าไปคุยด้วย สนุกดี เขาบอกว่าไม่ได้ตั้ง เราเลยขออนุญาตใช้ชื่อ เขาก็บอกว่าได้เลย ไม่ซีเรียส เราก็เลยเปิดห้องครั้งแรก คนก็เข้ามาหลายพัน

วันที่สองก็เอาอีก ตั้งชื่อห้องว่า ‘เราจะมาชื่นชมรัฐบาลอย่างจริงใจ’ เป็นห้องแซะเหมือนเดิม แล้ววันที่สามก็เป็น ‘ระบบการศึกษาไทยที่ประเทศไหนๆ ก็ต้องอิจฉา’ คนเต็มเหมือนเดิมเลย แต่เราคิดว่าสามวัน ประเด็นแซะน่าจะพอแล้ว พอดีวันนั้นเราเข้าไปเจอกลุ่มที่กำลังเล่นสภาโจ๊กอยู่ เลยเข้าไปเล่นด้วย คิดอยู่ว่าจะเล่นเป็นใครดี สุดท้ายเลยเปลี่ยนโปรไฟล์เป็นคุณยิ่งลักษณ์ เออ มันก็ฮา เลยเป็นห้องสภาโจ๊กที่มาเจอเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง

ตอนแรกว่าจะหยุดพัก เพราะวันที่สี่คอเริ่มจะแตก ไม่มีเสียงพูดแล้ว แต่ก็มีประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คุณโรมขึ้นอภิปราย เราเลยถ่ายทอดเสียงให้คนในคลับเฮาส์ฟังประเด็นนี้ มีคนเข้ามาฟังแรกๆ ประมาณพันคน แล้วก็มีประเด็นตั๋วช้างขึ้นมา ปฏิกิริยาในสภาตอนนั้นทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องสำคัญประมาณป่ารอยต่อหรือ 1MDB เราเลยโพสต์ทวิตเตอร์ว่า ทุกคนช่วยปั่นแฮชแท็กนี้หน่อย น่าจะเป็นอะไรที่สำคัญมาก แล้วเราก็บอกทุกคนที่ฟังประชุมสภาอยู่ว่า เดี๋ยวเราจะเปิดห้องเรื่องตั๋วช้างนะ พอเราเปิดห้องตั๋วช้างไม่ถึง 15 นาที คนก็มาฟัง 8 พันคน มีคนเข้ามายกมือถามว่าตั๋วช้างคืออะไร ทุกคนก็มาแลกเปลี่ยนกันว่าตั๋วช้างคืออะไร เรารู้สึกว่า ถูกใจใช่เลย อารมณ์เหมือนวงเหล้ากับปราศรัยผสมกัน ถ้าปราศรัยเราจะต้องคาดหวังว่ามีคนพูดอยู่คนเดียว แต่คลับเฮาส์เหมือนวงเหล้าที่มีคนนั่งฟังเราอยู่อีกหลายพันคน คนพูดก็พูดไป คนฟังก็ฟัง แล้วมันก็ออกรสชาติ

ห้องนั้นเป็นห้องแรกของเราที่คนเข้าเต็มแปดพันคน รวมที่ถ่ายทอดเสียงมีคนมาฟังรวมๆ ประมาณหมื่นกว่าคน หลังจากนั้นก็มีอินบ็อกซ์มาว่า คุณไอซ์ขอห้องนี้อีก เรายกมือยังไม่ได้พูดเลย อยากแบ่งปันมาก

ต่อมาเราก็เปิดห้อง ‘มาแชร์ประสบการณ์คอร์รัปชันในหน่วยงานของคุณกัน’ ทุกหน่วยงานก็มาแชร์ มีตำรวจ หมอ พยาบาล การจัดซื้อจัดจ้าง หรือแม้แต่การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ จนเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ขึ้นมา มีทั้งตั๋วช้าง ทั้งการทุจริต ก็จะมีคนมาบอกว่า คุณไอซ์ขอห้องประมาณนี้อีก เราก็เปิดห้องเกี่ยวกับการเมือง แล้วก็มีคนเข้ามาฟัง

 

เปิดห้องคลับเฮาส์เองยากไหม บางคนอาจมองว่าเป็นพื้นที่ของคนดัง

คุณสามารถเปิดห้องในคลับเฮาส์เองได้ ถ้าเป็นประเด็นสังคมที่ทุกคนกำลังติดตามอยู่ ก็จะมีคนเข้าไปฟังคุณ อย่าคิดว่าเราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ไม่มีคนฟัง ทำเลย อยากทำอะไรก็ทำ เพราะมีตั้งหลายห้อง เป็นคนโนเนมเปิดกันสามคน แล้วพอมีคนดังตามเข้าไปฟัง ก็จะดึงคนอื่นเข้าไปฟังเอง เราอยาก empower ให้ทุกคนเปิดห้อง ออกมาพูดประเด็นของตัวเอง เราจะได้เพิ่มโอกาสที่ประเด็นสำคัญจะได้เข้าไปอยู่ในสังคมเยอะๆ

เราขอบคุณคลับเฮาส์มากเลย ปกติเราโพสต์ด่าการเมืองในทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊ก แล้วก็ไปม็อบ แต่เราไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียง เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เรามีข้อมูล อ่านหนังสือมา อยากแชร์ แต่ในทวิตเตอร์ก็ต้องอาศัยดวงว่าต้องมีเพื่อนที่เป็นเซเล็บฯ มาช่วยรีทวีต ทวีตนั้นถึงจะดัง เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่มีผู้ติดตามเอง หรือในเฟซบุ๊กก็ต้องอาศัยเรื่องแมสจริงๆ ที่จะมีคนอยากแชร์ เรื่องของคุณถึงจะดัง แต่ในคลับเฮาส์ ถ้าเป็นประเด็นสังคมตอนนั้นก็มีคนเข้ามาฟังคุณเลยทันที คุณจะรู้เลยว่าเป็นประเด็นที่สังคมสนใจอยู่รึเปล่า

 

ตอนแรกคลับเฮาส์เปิดขึ้นมามักอยู่ในแวดวงธุรกิจและเทคโนโลยี แต่ตอนนี้ประเด็นการเมืองโดดเด่นมากในคลับเฮาส์ คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

คลับเฮาส์สะท้อนประเด็นที่ร้อนแรงในประเทศไทยตอนนี้เหมือนกันนะ คนก็เลือกเสพได้แหละว่าฉันจะไปเสพเรื่องเทคฯ เรื่องหุ้น เรื่องบิตคอยน์ เรื่องความโปรดักทีฟ แต่คนก็เลือกที่จะเข้าห้องการเมืองด้วยเหมือนกัน แล้วพอบอกว่าปวินมา ทุกคนก็อยากฟังอาจารย์ปวิน ก็ต้องมีแอ็กเคาต์

ทุกคนจะมีภาพอาจารย์ปวินว่าเป็นกะเทยวี้ดว้าย ไร้สาระในเฟซบุ๊ก แต่พอเข้ามาในคลับเฮาส์ อาจารย์จะเป็นอีกโหมดหนึ่ง องค์นักวิชาการลง มีความรู้อย่างแน่นหนา ทุกคนก็เลยว้าว เลยกลายเป็นว่า แกๆ มาฟังห้องปวินกัน นอกจากนี้ยังมีคุณธนาธร ปิยบุตร มาเปิดห้องคุยด้วย เลยทำให้เป็นประเด็นสังคมขึ้นมา

 

คุณเคยเล่าว่าตัวเองเป็นสลิ่มมาก่อน แต่ตาสว่างขึ้นมาจากการที่เพื่อนมาคอมเม้นต์แล้วตามไปอ่านข้อมูลต่างๆ แสดงว่าเราก็มีความหวังที่จะเปลี่ยนความคิดคนได้โดยการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย

ตอนที่เราเป็นสลิ่ม เราก็คงเหมือนคนทั่วไปที่โดน propaganda ให้ร้องเพลง ติดรูป ทำกิจกรรมต่างๆ ตอนนั้นเราแชร์เรื่องหมาเลียหน้า แล้วพิมพ์ว่านี่แหละนายกฯ ของคนไทย ก็มีคนมาคอมเมนต์ว่า แค่หมาเลียหน้า แกก็คิดว่าเขาเป็นคนดีแล้วเหรอ เราก็เลยฉุกคิดขึ้นมาว่านี่เราเป็นคนตื้นเขินขนาดนั้นเลยเหรอ เราก็ไม่ได้ตอบอะไร แต่คอมเมนต์นั้นก็ตีเรานิดนึงแล้วนะ

อีกรอบคือ ตอนนั้นรัฐประหารใหม่ๆ มีจัดระเบียบรถตู้ เราก็ชมว่ารัฐบาลจัดระเบียบรถตู้ดีมาก ก็มีคนมาคอมเมนต์ว่า รัฐบาลควรจะพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรึเปล่า เราก็… เชี่ย โดนอีกหนึ่งดอก

คนเราต้องไม่อยู่ใน echo chamber ของตัวเอง ตอนนั้นเราก็คิดว่าจะลบเพื่อนพวกนี้ดีไหม แต่สุดท้ายก็ไม่ลบ อีกรอบหนึ่งมีคนมาคอมเมนต์ว่าใครเซ็นรัฐประหาร หลังจากนั้นเราก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เริ่มหาข้อมูล เราเปลี่ยนเลย รู้สึกว่าไม่ได้แล้วนะ ตอนนี้สังคมป่วยมาก

 

นอกจากเรื่องการเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างจนความคิดเปลี่ยนแล้ว คุณมองการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของคนรุ่นใหม่อย่างไร

แต่ละแพลตฟอร์มจะมีช่วงอายุของผู้ใช้งาน เฟซบุ๊กมีช่วงอายุกว้างหน่อย แต่ในทวิตเตอร์แคบกว่า และเป็นเจเนอเรชันที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารมา 7 ปี เป็นเจนฯ ที่เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ เห็นพ่อแม่ขายบ้านขายรถ แล้วมารวมกันอยู่ในทวิตเตอร์ เลยสะท้อนออกมาได้ชัดเจนมากที่สุด

แล้วยิ่งมาในคลับเฮาส์ ยิ่งมีช่วงอายุที่แคบเข้าไปใหญ่เลย และแคบด้วยข้อจำกัดอื่นด้วย อย่างแรกคือคุณต้องมีไอโฟน กลุ่มคนที่ใช้ไอโฟนก็แคบอยู่แล้ว แล้วคนที่จะโหลดแอปฯ นี้ ต้องมีเพื่อนส่งคำเชิญเข้าไป ซึ่งต้องเป็นช่วงอายุที่อยู่กับโซเชียลมากๆ เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่พร่ำหาคำเชิญกัน เลยทำให้คนในคลับเฮาส์มีช่วงอายุที่แคบลงอีก แล้วสะท้อนออกมาเป็นเสียงจากคลับเฮาส์ไปถึงการเมืองมหภาค

 

คุณมองว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์คนดังหรือคนสำคัญในสังคมอย่างตรงไปตรงมา เช่น ตอนที่ Tony Woodsome หรือทักษิณ ชินวัตร ออกมาพูดในคลับเฮาส์ก็โดนคนวิจารณ์เยอะ

ไม่ใช่แค่คุณทักษิณนะ ดาราหรือคนดังหลายคนก็โดน บางคนโดนถามว่าทำไมพี่เซฟเมียนมา แต่ไม่เซฟประเทศเรา หรือดารา ignorance ที่ไปอยู่ในห้อง ‘อยู่เงียบๆ แล้วเราจะมาฟอลกัน’ เพื่อปั๊มฟอลโลเวอร์ ก็โดนด่า คลับเฮาส์เป็นแอปฯ ที่ไม่ได้โอบอุ้มคนดัง แต่โอบอุ้มทุกคน ถ้าคุณไม่ได้มีประโยชน์ต่อสังคม หรือทำอะไรที่สังคมจะต้องสาป ก็จะโดนเลยทันที

แล้ววิธีการยกมือขึ้นไปตอบ คุณก็กรองไม่ได้อยู่แล้วแหละว่าจะเป็นฝั่งที่รักคุณหรือเกลียดคุณ พอคุณขึ้นมาปุ๊บ ก็ต้อง the show must go on ในแง่คนถาม ถ้าคุณกล้า คุณสามารถสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจทุกคนออกมาได้เลย

ตอนเหตุการณ์ทักษิณ โชคดีที่เราทันเข้าไปฟังห้องหลัก ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าจะถามอะไร แต่ก็จะกดยกมือ เผื่อฟลุก สุดท้ายก็ได้ถาม ก่อนหน้านั้นมีคนถามเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันฯ เขาตอบว่าแค่แก้รัฐธรรมนูญก็โอเคแล้ว เขาก็ไม่ได้พูดนะว่าไม่ต้องปฏิรูปสถาบันฯ แล้วมาถึงคนก่อนหน้าเรา เขาก็ถามเรื่องตากใบ-กรือเซะ คุณทักษิณตอบว่า ไม่รู้จำไม่ได้ พอเราเลื่อนดูในทวิตเตอร์ เทรนด์ทวิตเตอร์มาเลย ทักษิณจำได้ทุกเรื่อง รู้ทุกอย่าง แต่จำตากใบไม่ได้ ทักษิณเก่งทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องสังคม ทักษิณดีทุกเรื่องแต่บ้งเรื่องนี้ ฯลฯ เราก็เห็นแล้วว่าเรื่องนี้มีคนไม่พอใจ เดี๋ยวเราจะบอกเขาเรื่องนี้

ตอนแรกเราตั้งใจว่าจะถาม 3 คำถาม คือ หนึ่ง คิดอย่างไรที่ประยุทธ์เอานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคไปเคลมเป็นของตัวเอง

สอง ทำไมประยุทธ์ได้ยินชื่อทักษิณแล้วจะต้องทำเหมือนอกแตกตายทุกที

และสาม คิดอย่างไรกับพรรคก้าวไกล-อนาคตใหม่

แต่สุดท้ายก็ถามได้สองคำถาม มีเรื่องอยากเล่าคือ ก่อนที่เราจะเข้าไปในห้องนี้ เราเพิ่งเล่นสภาโจ๊กมา ตอนนั้นใช้รูปคุณยิ่งลักษณ์ แล้วลืมว่ายังไม่ได้เปลี่ยนรูปกลับ พอนึกได้เลยรีบเปลี่ยนรูป แต่ถ้ายังไม่ได้รีเฟรชก็จะยังเห็นเป็นรูปเดิมอยู่ คนก็มาแซวว่าคุณยิ่งลักษณ์คุยกับพี่เหรอ พอถึงคิวเราถาม เราเลยบอกว่า ขอโทษนะคะที่ใช้รูปอดีตนายกฯ แต่เพิ่งออกจากสภาโจ๊กมาแล้วรับบทเป็นคุณยิ่งลักษณ์ก็เลยลืมเปลี่ยนรูป ไม่ได้จะล้อเลียนอะไร เขาก็ขำกัน

แล้วเราก็บอกว่าตอนนี้ไม่ได้มีแค่ 8 พันคนนะที่ฟังอยู่ในห้องนี้ แต่คนที่ต่อห้องออกไปอีกประมาณ 5 ห้อง อย่างต่ำครึ่งแสนที่ฟังอยู่ พอคุณทักษิณพูดอะไร จะมีคนออกมาสะท้อนสิ่งที่คุณพูดทันที อย่างในทวิตเตอร์ เมื่อกี้ที่คุณทักษิณบอกว่า จำเรื่องตากใบไม่ได้ ทุกคนไม่พอใจนะคะที่ตอบแบบนี้ ก็แค่อยากบอกเฉยๆ

หลังจากนั้นเราก็ถามเขาไปสองข้อแรก แล้วพิธีกรบอกว่าให้พอแค่นี้ เลยไม่ได้ถามคำถามที่สาม แต่เราเลยขอต่ออีกนิด คิดอยู่ว่าจะพูดหรือไม่พูดดี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเอาวะ เลยพูดออกไปว่า เมื่อกี้ที่คุณทักษิณตอบเกี่ยวกับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เราขออนุญาตเป็นตัวแทนของคนเจเนอเรชันนี้แล้วกัน เราเชื่อว่ามีหลายคนที่อยากบอกคุณทักษิณว่าแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้ไม่พอสำหรับพวกเราแล้ว พวกเราต้องการที่จะปฏิรูปสถาบันฯ เสร็จแล้วเราก็ปิดไมค์ ลงมาเลย

หลังจากนั้นทุกคนก็ทวีตมาหาเรา หรือส่งข้อความมาว่า “มึง มึงเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน” แปลว่าทุกคนฟังอยู่จริงๆ ตอนนั้นเราตื่นเต้นมาก จะเป็นลม อารมณ์เหมือนได้คุยกับคนดังด้วย มือเย็นไปหมดเลย ตื่นเต้น กลัวทัวร์ลงด้วย

 

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจพูดประโยคนั้นออกไป

เราอยากบอกเขาด้วยว่าเด็กไทยหรือสังคมไทยตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว เพราะเขาไม่ได้อยู่ไทย อาจจะไม่ได้มีคนพูดให้เขาฟังอย่างถึงพริกถึงขิง เขาไม่รู้ว่าเด็กไทยตอนนี้กล้าขนาดไหนแล้ว เขาอาจจะรู้ข่าวว่ามีม็อบออกมา แต่เราอยากพูดและเน้นย้ำให้เขาฟังว่ามันไม่พอแล้วคุณทักษิณ ที่คุณบอกว่าเศรษฐกิจดีพอแล้วนั้นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาตรงจุดอย่างแท้จริง

 

คนรุ่นใหม่ออกมาใช้โซเชียลมีเดียได้สนุกและมีพลังมาก แต่ถ้ามองในแง่ความหวัง คุณคิดว่าเราจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไรจากการเล่นโซเชียลมีเดียของคนรุ่นใหม่

มีหลักฐานให้เห็นแล้วนะว่าโซเชียลมีเดียสามารถกำหนดทิศทางความคิดคนได้จริงๆ อย่างตอนเสื้อแดงโดนสลายการชุมนุมปี 2553 ตอนนั้นคน 90 เปอร์เซ็นต์เป็นสลิ่ม ทุกคนบอกว่า สะใจ ตายห่าไปให้หมดพวกเสื้อแดง ตาย 99 ศพ สมน้ำหน้า แล้วคนก็ออกไป Big Cleaning Day หลังจากนั้นคนก็เย้วๆ ออกไปเป่านกหวีด ตอนนั้นเราก็ไม่ได้สนับสนุนนะ แต่เราไม่มีข้อมูล ไม่รู้อะไรเลย ตอนนั้นเราก็ยังเป็นสลิ่มอยู่นั่นแหละ รู้แค่ว่าเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง แต่พอ 10 ปีถัดมา คนก็รู้ว่าเสื้อแดงโดนใส่ร้ายมาตลอด 10 ปี เสื้อแดงไม่เคยได้รับความยุติธรรมเลย เสื้อแดงโดนตราหน้าว่าเป็นคนเผาบ้านเผาเมือง ทั้งๆ ที่คดีนี้ศาลยกฟ้องไปตั้งนานแล้ว

เพราะเราเล่นโซเชียลฯ เราถึงรู้เรื่องพวกนี้ แล้วพอเรารู้ก็เอามาแบ่งปันคนอื่น เหมือนสำนึกผิดนิดหนึ่งที่เคยว่าคนเสื้อแดง พอเราได้ฟังเสียงคนเสื้อแดง เขารับรู้ได้นะว่าเด็กเจเนเรอชันนี้กำลังเรียกร้องความยุติธรรมให้พวกเขาอยู่ เด็กเจเนอเรชันนี้ทำให้ความเจ็บแค้นในใจ 10 ปีที่ผ่านมาได้บรรเทา เหมือนการเป็นผู้ร้ายมา 10 ปี วันหนึ่งคุณหมดใจไปแล้วว่าคงไม่ได้รับการพิสูจน์ ไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์กับเขาแล้ว แต่มันมีเด็กเจเนอเรชันนี้ใช้โซเชียลฯ เพื่อกระจายข้อมูล ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม จนมีการตั้งม็อบออกมา และกลายเป็นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ และ 3 ข้อ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่จู่ๆ เกิดขึ้นนะ แต่เป็นการสร้างความคิดจากในโซเชียลฯ ทั้งนั้น มีประเด็นปุ๊บ ทุกคนหาข้อมูล มีประเด็นอนาคตใหม่ ประเด็นการยุบพรรค ประเด็นโต๊ะจีน ประเด็นรัฐมนตรีค้าแป้ง คอร์รัปชัน เรือดำน้ำ ทุกคนหาข้อมูลจากในอินเทอร์เน็ตทั้งนั้น นี่แหละคือสิ่งที่อินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มต่างๆ กำหนดทิศทางความคิดของคนในเจเนอเรชันนี้

ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กหรือเยาวชนด้วย แต่ทุกคนที่ไม่ยอมเสพสื่อแขนงเดียวหรือช่องเดียว ถ้าคุณเปิดใจคุณก็จะได้ข้อมูลเหล่านี้ทั้งนั้น นี่คือสิ่งที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีส่วนดิสรัปความเหลื่อมล้ำและความเลวร้ายในสังคมนี้

 

มีความหวังไหมว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยจริงๆ คิดไหมว่าเราจะชนะเผด็จการ-อำนาจนิยมในประเทศนี้ได้จริงๆ

เรามีความหวัง และเราหวังมากๆ ว่าประเทศเราจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง สมมติว่าเราไม่มีความหวัง เราก็จะไม่เคลื่อนไหว คนเราอยู่ได้ด้วยหวังทั้งนั้น ถ้าคิดว่าไม่ได้หรอก โพสต์ไปก็ไม่มีใครอ่านหรอก เราก็จะไม่มีแรงทำอะไร ถ้าเรามีความหวังว่าวันหนึ่งจะต้องเปลี่ยน เราว่าต้องเปลี่ยนได้แน่

ลองคิดดูสิว่า วันที่เสื้อแดงโดนสลายการชุมนุมมาจนถึงวันนี้ สังคมเราเปลี่ยนไปตั้งเยอะนะ หลายๆ คนอาจจะบอกว่าทำไมไม่จบสักที ไม่ชนะสักที แต่การทำงานทางความคิด คุณจะมาเอาปีสองปีไม่ได้ วันหนึ่งที่ทุกคนได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ และทุกคนรู้สึกว่าถึงจุดที่จะต้องออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองแล้ว สังคมก็จะมีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ทุกคนกำลังเปลี่ยนอยู่ ตอนนี้มีสิ่งที่กำลังทำงานกับทุกคนอยู่แน่นอน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save