fbpx

สุดแค้นแสนรัก: ความสัมพันธ์ระหว่างโคลอมเบียและเวเนซุเอลา

ความสัมพันธ์ระหว่างโคลอมเบียและเวเนชุเอลาเริ่มมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อผู้ปกครองชาวสเปนริเริ่มจัดตั้งจังหวัดซานตามาร์ตา ซึ่งปัจจุบันคือโคลอมเบีย และขณะเดียวกันก็จัดตั้งจังหวัดนิวอันดาลูเซีย ซึ่งปัจจุบันคือเวเนซุเอลา ทั้งสองประเทศได้รับเอกราชพร้อมกันในวันที่ 20 กรกฎาคม 1810 ภายใต้การนำของ Simón Bolivar และได้รวมตัวเป็นประเทศเดียวกันในนาม The Gran Colombia ซึ่งนอกจากจะรวมทั้งสองประเทศดังกล่าว ยังรวมเอกวาดอร์และปานามาอีกด้วย แต่ต่อมาไม่นานเวเนซุเอลากับเอกวาดอร์ก็ขอแยกตัวเป็นเอกราช และนับตั้งแต่นั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างโคลอมเบียและเวเนซุเอลาก็มีทั้งในแง่ความร่วมมือและความขัดแย้ง

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ความขัดแย้งที่สำคัญระหว่างสองประเทศคือความขัดแย้งทางการทหารในประเด็นเรื่องพรมแดน ความสัมพันธ์ของของสองประเทศได้ถึงจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 1987 เมื่อเรือรบของโคลอมเบียแล่นเรือในเขตน่านน้ำที่มีปัญหาระหว่างสองประเทศ ทำให้ประธานาธิบดี Jaime Lusinchi ของเวเนซุเอลาส่งกองกำลังทางอากาศเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ความขัดแย้งภายในของโคลอมเบียเองระหว่างรัฐบาลและกองกำลังฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะเป็น Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia (FARC) หรือ Ejército de Liberación Nacional (ELN) ก็ส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 ประเทศ การต่อสู้ตามชายแดนของกองทัพโคลอมเบียกับกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย ทำให้มีการก้าวล่วงเข้าไปในดินแดนของเวเนซุเอลาอยู่เสมอ และเมื่อความรุนแรงในโคลอมเบียเพิ่มสูงขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1980 ก็ส่งผลให้ประชาชนชาวโคลอมเบียจำนวนมากหนีภัยสงครามเข้าไปอยู่ในเวเนซุเอลา กลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายในโคลอมเบียยังมีบทบาทบริเวณพรมแดนของสองประเทศที่มีความยาวถึง 2,210 กิโลเมตรโดยเฉพาะการค้าขายของเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ยาเสพติด อาวุธสงคราม และรถยนต์ที่ถูกขโมยมา และนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ของโคลอมเบียและเวเนซุเอลาก็มีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ อันเป็นผลมาจากความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ

ในช่วงปี 1939 รัฐบาลเวเนซุเอลาประกาศให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของอ่าวเวเนซุเอลาเป็นของตัวเอง ทำให้รัฐบาลโคลอมเบียเรียกร้องให้รัฐบาลเวเนซุเอลาจัดการเรื่องพรมแตนทางทะเลเสียใหม่ให้เป็นไปตาม The United Nations Convention on the Law of the Sea จนมีการลงนามในสนธิสัญญาพรมแดนระหว่างสองประเทศกันในปี 1941 ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน 1989 ทั้งสองประเทศได้ตกลงจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อจัดการปัญหาพรมแดนระหว่างกัน จากนั้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 1991 โคลอมเบียและเวเนซุเอลาทำข้อตกลงการใช้น่านฟ้าร่วมกัน และยังจัดตั้งคณะกรรมาธิการผสมเพื่อจัดการปัญหายาเสพติดข้ามชาติ และต่อมาในปี 1994 ก็มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศ

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1995 กลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายของโคลอมเบีย ELN ก็ได้บุกรุกเข้าไปในดินแดนของเวเนซุเอลา ส่งผลให้ชาวเวเนซุเอลาตายไป 8 คน และบาดเจ็บ 12 คน จากนั้นในวันที่ 30 เมษายน 1998 กบฏ ELN ก็ทำการโจมตีเมืองพรมแดนของโคลอมเบียและหนีเข้าไปในเวเนซุเอลา รัฐบาลของเวเนซุเอลาภายใต้การนำของ Rafael Caldera อนุญาตให้กองทัพโคลอมเบียข้ามพรมแดนเข้ามาจัดการกับกลุ่มกบฏ ELN ได้ ก่อนที่ในวันที่ 21 มีนาคม 2000 เฮลิคอปเตอร์จำนวน 4 ลำและเครื่องบินอีก 2 ลำของเวเนซุเอลาได้ข้ามน่านฟ้าเข้าไปในโคลอมเบียและยิงถล่มใส๋ผู้ก่อการร้าย และในวันที่ 23 เมษายนปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลของโคลอมเบียและเวเนซุเอลาก็ได้ลงนามในข้อตกลงในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยสงครามชาวโคลอมเบียที่หนีเข้าไปอยู่ในเวเนซุเอลา

เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ 2001 José María Ballestas ผู้นำกลุ่มกบฏ ELN ผู้อยู่เบื้องหลังการจี้เครื่องบินสายการบิน Avianca ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของโคลอมเบียก็ถูกจับได้ในเวเนซุเอลา แต่ต่อมาก็ได้รับการปล่อยตัว ทำให้ผู้นำโคลอมเบีย Andrés Pastrana เกิดความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อผู้นำเวเนซุเอลา Hugo Chávez

ในปี 2002 มีความพยายามที่จะก่อการรัฐประหารโค่นล้ม Chávez แต่ไม่สำเร็จ ผู้นำการรัฐประหารในครั้งนั้น Pedro Carmona ได้เข้าไปขอลี้ภัยทางการเมืองในสถานทูตโคลอมเบีย ณ กรุงการากัส เมืองหลวงของประเทศเวเนซุเอลา สร้างความไม่พอใจให้กับ Chávez อย่างมาก ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเสื่อมทรามลงอีก เมื่อมีการลักพาตัวผู้นำกบฏฝ่ายซ้ายกลุ่ม FARC ของโคลอมเบีย Rodrigo Granda ในเขตพื้นที่ของเวเนซุเอลาและพาตัวเขากลับไปยังโคลอมเบีย

ปลายปี 2007 ประธานาธิบดีของโคลอมเบียในขณะนั้น Álvaro Uribe ได้ร้องขอให้ประธานาธิบดี Chávez เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยในการแลกเปลี่ยนระหว่างตัวประกันชาวโคลอมเบียที่ถูกจับไปกับสมาชิกของ FARC โดยผู้นำในการเจรจาของโคลอมเบียคือ Piedad Córdoba ต่อมาระหว่างการประชุมแบบสองต่อสองในระหว่างการประชุมใหญ่ The Ibero-American Summit ประธานาธิบดี Uribe ได้ขอร้องไม่ให้ประธานาธิบดี Chávez ติดต่อกับผู้นำทางการทหารของโคลอมเบียโดยพลการ แต่สองอาทิตย์ถัดมาประธานาธิบดี Chávez ได้พยายามติดต่อผู้บัญชาการทหารบกของโคลอมเบีย ส่งผลให้ประธานาธิบดี Uribe ไม่พอใจเป็นอย่างมาก และประกาศยกเลิกการเจรจาไกล่เกลี่ยกับ FARC ที่มี Chávez และ Córdoba เป็นผู้นำในการเจรจาไกล่เกลี่ยดังกล่าว

ขณะที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มแย่ลงในทุกที ในวันที่ 27 ธันวาคม 2007 ประธานาธิบดี Chávez ประกาศว่าเขามีแผนเข้าไปช่วยเหลือตัวประกันที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ FARC ในโคลอมเบีย โดยเขาส่งเครื่องบินของเวเนซุเอลาโดยความร่วมมือกับองค์กรกาชาดสากลเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน 3 คนออกมาได้

ในวันที่ 1 มีนาคม 2008 กองทัพของโคลอมเบียได้ยิงปืนถล่มกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย FARC บริเวณพรมแดนระหว่างโคลอมเบียกับเอกวาดอร์ ส่งผลให้กลุ่มกบฏตายไป 17 คน ซึ่งรวมทั้งผู้นำเบอร์สองของ FARC Raúl Reyes การโจมตีครั้งนี้เลยเข้าไปในพรมแดนเอกวาดอร์ 1.8 กิโลเมตร โดยประธานาธิบดีของโคลอมเบีย Álvaro Uribe ได้ต่อสายไปยังประธานาธิบดีเอกวาดอร์ Correa ว่าการกระทำทางการทหารดังกล่าวเป็นไปเพื่อการกำจัดกบฏฝ่ายซ้ายแต่เพียงเท่านั้น ประธานาธิบดี Correa ได้ประกาศที่จะสืบสวนเรื่องนี้ ต่อมา Correa ได้ประกาศว่ารัฐบาลของโคลอมเบียทำการละเมิดดินแดนของเอกวาดอร์ มีการเรียกตัวเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงโบโกตาของโคลอมเบียกลับประเทศ ต่อมารัฐบาลของโคลอมเบียได้ขอโทษเรื่องนี้ต่อเอกวาดอร์

ส่วนประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา Chávez ก็ประกาศว่าถ้ากองทัพโคลอมเบียล้ำเข้ามาในพื้นที่ของเวเนซุเอลา เขาจะประกาศสงครามต่อโคลอมเบียทันที นอกจากนี้เขายังประณามผู้นำโคลอมเบียอย่างหนัก Chávez สั่งการให้กองทหาร 10 กองร้อยเข้าประชิดพรมแดนโคลอมเบียกับเวเนซุเอลารวมทั้งประกาศปิดสถานทูตของตนเองในโคลอมเบีย อีกทั้ง Chávez ยังประกาศสนับสนุนประธานาธิบดีของเอกวาดอร์ อย่างไรก็ตามในวันที่ 8 มีนาคม 2008 รัฐบาลเวเนซุเอลาประกาศว่าจะปรับปรุงความสัมพันธ์ของรัฐบาลเวเนซุเอลากับรัฐบาลโคลอมเบียให้อยู่ในระดับปกติ

Chávez ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาและสหภาพยุโรปให้นำชื่อของ FARC ออกจากรายชื่อการเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย แต่ทุกประเทศปฏิเสธ โดย FARC ถูกบรรจุในลิสต์ผู้ก่อการร้ายหลังจากการลักพาตัว Íngrid Betancourt นักการเมืองหญิงสัญชาติโคลอมเบียและฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน 2008 ท่ามกลางผู้ที่ถูกลักพาตัวอยูทั้งหมดกว่า 700 คน Chávez พยายามที่จะหาทางช่วยตัวประกันที่ FARC ควบคุมตัวแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนนำไปสู่การถอนตัวของ Chávez ในการสนับสนุนกลุ่มกบฏ FARC ในเวลาต่อมา

ปลายเดือนกรกฎาคม 2008 รัฐบาลโคลอมเบียออกแถลงการณ์ว่าปืนต่อสู้อากาศยานของรัฐบาลเวเนซุเอลาที่ซื้อมาจากบริษัทของสวีเดนถูกนำมาใช้โดยกลุ่ม FARC ทำให้ประธานาธิบดี Chávez ตอบโต้โดยการเรียกเจ้าหน้าที่ทางการทูตเกือบทั้งหมดรวมถึงเอกอัครราชทูตกลับประเทศ รวมถึงประกาศยกเลิกการนำเข้ารถยนต์จากโคลอมเบีย และห้ามการส่งน้ำมันไปยังโคลอมเบีย อย่างไรก็ตาม อีกไม่นานเอกอัครราชทูตเวเนซุเอลาประจำกรุงโบโกตาก็ได้ถูกส่งกลับไปประจำการอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาเมื่อประธานาธิบดี Chávez ถึงแก่อสัญกรรม รองประธานาธิบดี Nicolás Maduro ได้ดำรงตำแหน่งสืบแทน เขาทำการประณามประธานาธิบดี Juan Manuel Santos แห่งโคลอมเบียที่ได้ให้การต้อนรับ Henrique Capriles คู่แข่งทางการเมืองของเขาที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโบโกตา ขณะที่ Capriles นั้นกำลังเดินสายไปทั่วลาตินอเมริกาเพื่อขอเสียงจากประชาคมลาตินอเมริกาให้ร่วมกันประณามการโกงการเลือกตั้งในปี 2013 ที่จัดขึ้นหลังจาก Chávez ถึงแก่อสัญกรรมได้ไม่นาน และคะแนนเสียงที่ Maduro ชนะเขาได้ก็เพียงเฉียดฉิวเท่านั้น

ในกลางเดือนสิงหาคม 2015 ประธานาธิบดี Maduro ประกาศปิดสะพาน Simón Bolívar International Bridge ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างโคลอมเบียกับเวเนซุเอลา และขับไล่คนโคลอมเบียที่อยู่บริเวณนั้นและใกล้เคียงให้กลับประเทศ เนื่องจากรัฐบาลเวเนซุเอลามองว่าผู้ก่อการร้ายชาวโคลอมเบียเข้าโจมตีกองทัพของเวเนซุเอลา รวมถึงลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน และของใช้ที่จำเป็นอีกด้วย รัฐบาลเวเนซุเอลายังประกาศเตือนว่า ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็จะประกาศปิดสะพานเชื่อมระหว่างสองประเทศให้หมด วิกฤตครั้งนี้ยังทำให้ชาวโคลอมเบียนับหมื่นคนที่ลี้ภัยอยู่ในเวเนซุเอลาถูกส่งตัวกลับประเทศ

เห็นได้ว่าไม่ว่าประธานาธิบดี Chávez หรือประธานาธิบดี Maduro แห่งเวเนซุเอลา เมื่อมีปัญหากับโคลอมเบีย ก็มักใช้วิธีการปิดพรมแดน การปิดสถานทูต และการเรียกตัวเจ้าหน้าที่การทูตกลับ แต่เพียงแค่เวลาไม่นานก็ยอมกลับสู่สภาพการณ์ปกติ เพราะอย่างไรแล้วเวเนซุเอลายังต้องพึ่งพาสินค้าอุปโภคและบริโภคเป็นจำนวนมากจากโคลอมเบีย ดังนั้นการปิดพรมแดนจะส่งผลเสียต่อสินค้า ทำให้ชาวเวเนซุเอลาเดือดร้อนเสียเอง เป็นการได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้นการใช้การทูตในลักษณะนี้มีผลเสียมากกว่าผลดีต่อเวเนซุเอลา

ในปัจจุบัน โคลอมเบียได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือ Gustavo Petro ซึ่งมีนโยบายเอียงซ้ายแตกต่างจากประธานาธิบดีในอดีตทั้งหมดของโคลอมเบียที่มีแนวคิดเอียงขวาในการบริหารประเทศ เขาได้ส่ง Armando Alberto Benedetti Villaneda ไปเป็นเอกอัครราชทูตคนใหม่ประจำกรุงการากัสของเวเนซุเอลา และกล่าวไว้ว่าเขาจะพยายามอย่างเต็มความสามารถในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองที่เคยมีอดีตรวมกันในการเป็นประเทศเดียวกันมาก่อน

ต่อมาในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2022 ประธานาธิบดี Petro เดินทางเยือนเวเนซุเอลาอย่างเป็นทางการ และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประธานาธิบดี Maduro นอกจากนี้โคลอมเบียยังเปิดรับผู้ลี้ภัยจากความอดอยากในเวเนซุเอลามากกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน โดยรัฐบาลโคลอมเบียประกาศไว้ว่า ตอนที่โคลอมเบียประสบปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1950-2000 เวเนซุเอลาได้เปิดประเทศต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวโคลอมเบียเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเวเนซุเอลาประสบปัญหา คนโคลอมเบียก็พร้อมที่จะช่วย

เราอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ทั้งโคลอมเบียและเวเนซุเอลามีลักษณะที่เป็นเหมือนคู่รักกัน ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นครั้งคราวอยู่เสมอ แต่ท้ายที่สุดก็ตัดกันไม่ขาด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save