fbpx

เรินดัง (Rendang) อาหารปาดังหรือมินังคาเบา? เรินดังมาจากไหน? เป็นของใคร?

เชื่อว่าหลายท่านที่ไปเยือนอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเกาะไหน จะเกาะเล็ก เกาะใหญ่ น่าจะเคยผ่านตาร้านอาหารปาดังที่มักจะขึ้นป้ายชื่อร้านว่า ‘Masakan Padang’, ‘Makanan Padang’ หรือ ‘Rumah Makan Padang’ ที่มีอยู่ทุกมุมเมืองและหลายระดับ ตั้งแต่ภัตตาคารหรูจนถึง ‘วารุง’ (warung / ร้าน) เล็กๆ โดยจุดเด่นของร้านอาหารปาดังคือ อาหารจะถูกตักใส่จานหรือชามเล็กๆ แล้วนำมาตั้งเรียงรายบนโต๊ะให้ได้เลือกรับประทาน แต่ถ้าชิมทุกจานก็อาจล้มละลายได้ เพราะทางรานคิดราคาเป็นจาน กินจานไหน จ่ายจานนั้น จานไหนไม่กินก็ไม่ต้องจ่ายเงิน ถ้าเป็นร้านธรรมดาๆ บางทีทางร้านก็ให้ลูกค้าตักข้าวและกับเอาเองเลย ให้ลูกค้าเลือกว่าจะเอากับข้าวอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน แล้วก็คิดเงินตามของที่ตัก ที่ขาดไม่ได้และถือว่าเป็น ‘ตัวเอก’ สำหรับร้านอาหารปาดังที่ต้องมีทุกร้านคือ คือ ‘เรินดัง’

เรินดัง ทำจากเนื้อวัวเอามาเคี่ยวกับกะทิ ใส่เครื่องปรุงที่โขลกจนเป็นเนื้อเดียวกัน อันได้แก่ พริก, ขิง, ข่า, ตะไคร้, ขมิ้น, หัวหอม และอื่นๆ นอกจากเนื้อวัวแล้ว ก็ยังพบว่ามีเนื้อควาย, ไก่, แกะ, เป็ด, ตับ, บางทีไข่ต้มก็เอามาทำเรินดังได้ด้วย ความอร่อยของเรินดังอยู่ที่การเคี่ยวเนื้อจนนุ่มแทบละลายในปาก มีน้ำขลุกขลิกเอาไว้คลุกกับข้าวสวยร้อนๆ เรินดังมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ในปี 2021 เรินดังได้รับการจัดอันดับโดย CNN ว่าเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกลำดับที่ 11 จาก 50 และหากย้อนไปในปี 2017 เรินดังมาเป็นลำดับ 1 และในปี 2018 กระทรวงการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียได้เลือกให้เรินดังเป็นอาจารย์ประจำชาติควบคู่กับโซโต (soto / แกงจืด), นาซีโกเร็ง (nasi goreng / ข้าวผัด), สะเต๊ะ (sate) และสลัดแขก (gado-gado)   ในงานเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวันรายอ วันขึ้นปีใหม่ งานแต่ง งานกินเลี้ยงต่างๆ มักมีเมนูเรินดังอยู่ด้วยเสมอ

เรินดังมาจากไหน

เรินดังเป็นอาหารดั้งเดิมของสุมาตราตะวันตก หรือจะพูดให้ตรงกว่านั้นก็คืออาหารของกลุ่มชาติพันธุ์มินังคาเบา เรินดังมาจากคำว่า มารันดัง (marandang) หรือ รันดัง (randang) ในภาษามินังคาเบาที่มีความหมายว่า ‘ช้าๆ’ มารันดัง แปลว่า ทำเรินดัง ซึ่งก็คือการปรุงเนื้อเข้ากับน้ำกะทิและเครื่องเทศต่างๆ จนกลายเป็นเรินดัง การทำเรินดังแบบดั้งเดิมผู้ปรุงต้องคอยคนตลอดเพื่อให้เนื้อสุกทั่วถึงกัน ทิ้งไม่ได้แม้แต่แค่ชั่วครู่ ซึ่งกรรมวิธีนี้ได้แฝงปรัชญาไว้ด้วย การคนเรินดังเปรียบได้กับภาวะผู้นำที่ต้องตัดสินใจ ก่อนที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นำต้องมองเห็นภาพทั้งหมด ต้องชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและจะไม่เสียใจในภายหลัง

ความพิเศษของเรินดังคือ เครื่องปรุงอันหลากหลายนั้นทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็นสารกันบูดตามธรรมชาติ ทำให้เรินดังสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเดือนๆ ว่ากันว่า ถ้าเป็นการทำเรินดังแบบดั้งเดิม การเคี่ยวน้ำกะทิให้งวดต้องใช้เวลาถึงแปดชั่วโมงทีเดียว เรินดังได้รับอิทธิพลเครื่องปรุงและวิธีการทำจากคนอาหรับและอินเดียที่เดินทางมาถึงสุมาตราตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 และ 14 เรินดังคือการก้าวข้ามแกงแบบอินเดียไปอีกขั้น คือทำให้แห้งกว่า เพื่อถนอมอาหารเก็บไว้ได้นานกว่า

ในอดีต เรินดังจะมีเสิร์ฟเฉพาะในโอกาสพิเศษและถือเป็นอาหารมงคล ในหนังสือเรื่อง Rendang Traveler: Menyingkap Bertuahnya Rendang Minang (2012) เขียนโดย เรโน อาดัม ซูรี (Reno Adam Suri) อธิบายว่าเรินดังหมายถึง ‘kepalo Samba’ หรือเป็นจ้าวแห่งอาหารในงานประเพณีทั้งหลายของชาวมินังคาเบา สำหรับชาวมินังคาเบาแล้วการทำเรินดังไม่ใช่แค่การประกอบอาหาร แต่คือการเรียนรู้คุณค่าสำคัญสามประการได้แก่ ความอดทน ความรอบคอบ และความอุตสาหะ การทำเรินดังได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

เรินดังกลายเป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นอาหารที่ถูกช่วงชิงความเป็นเจ้าของ เมื่อมาเลเซียก็อ้างว่าเรินดังคืออาหารมาเลเซีย และในบางสื่อเมื่อนำเสนอเกี่ยวกับอาหารของมาเลเซียก็มีเรินดังอยู่ในลิสต์ด้วยเช่นกัน มีงานที่สันนิษฐานว่าพ่อค้าจากอินโดนีเซียเอาเรินดังไปเผยแพร่ที่มาเลเซียจนกระทั่งเรินดังกลายเป็นอาหารที่เป็นที่นิยมในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รัฐเนเกอรี เซิมบีลัน (Negeri Sembilan) และปาหัง (Pahang) ที่มีชาวมินังคาเบาอาศัยอยู่จำนวนมาก

ชาวมินังคาเบาคือใคร

มินังคาเบา (Minangkabau) มีรากศัพท์จากคำว่า เมอนัง (Menang) + เคอรเบา (Kerbau) ซึ่งหมายความว่า ชัยชนะของควาย มาจากตำนานที่เล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยก่อนที่ยังเป็นรัฐอาณาจักร อาณาจักรชวาได้ขยายอำนาจมาจนถึงบริเวณมินังคาเบา และจะทำสงครามเพื่อพิชิตดินแดนดังกล่าว ผู้นำของมินังคาเบาจึงคิดวิธีที่จะไม่ให้ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ผู้นำมินังคาเบาจึงออกอุบายว่า จะให้ทำการสู้รบโดยใช้ควายแทนคน ให้แต่ละฝ่ายไปหาควายมาสู้กัน ชวาก็ไปหาควายที่แข็งแรง ตัวโต กำยำ ส่วนชาวมินังคาเบาได้ไปหาลูกควายมา แล้วก็ให้ลูกควายอดนมเป็นเวลาหลายวัน เมื่อถึงวันนัดประลอง ชาวมินังคาเบาก็ติดมีดไว้ที่ปลายของเขาควาย และเมื่อควายทั้งคู่เข้าเผชิญหน้ากัน ลูกควายที่หิวโซก็วิ่งเข้าหาเจ้าควายตัวใหญ่ และด้วยความหิวก็เลยวิ่งเข้าไปดูดนม เลยทำให้ใบมีดที่ติดที่เขาไปทิ่มแทงท้องของควายชวา ทำให้ควายชวาตาย และอาณาจักรมินังคาเบาก็เลยชนะในที่สุด ก็เลยตั้งชื่ออาณาจักรของตัวเองว่า ‘มินังคาเบา’ ตั้งแต่นั้น

ชาวมินังคาเบาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานอยู่ตรงบริเวณสุมาตราตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย วัฒนธรรมของมินังคาเบาพบได้ในบริเวณจังหวัดเรียว เกาะสุมาตราทางเหนือ กาลิมันตัน สุลาเวสี รัฐเนอเกอรี เซิมบีลัน ในมาเลเซีย และที่อื่นๆ อีกมากมาย มีประชากรชาวมินังคาเบาราว 8.5 ล้านคน ในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียหนึ่งล้านคน ถึงแม้ชาวมินังคาเบาจะเป็นกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงว่าเป็นมุสลิมเคร่งครัดศาสนาอิสลามแต่ชาวมินังคาเบายึดมั่นกับจารีต (adat) ดั้งเดิมของตน ชาวมินังคาเบามีวัฒนธรรมผู้หญิงเป็นใหญ่ในบ้าน การนับญาติทางฝั่งมารดาเป็นลักษณะเด่นของชาวมินังคาเบา ลูกสาวจะได้รับมรดกจากแม่ ชาวมินังคาเบาโดดเด่นในเรื่องของการค้า และจากการค้าทำให้คนมินังคาเบาไปตั้งถิ่นฐานนอกเกาะสุมาตราเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันชาวมินังคาเบากว่าครึ่งอาศัยอยู่ในต่างแดน ทั้งในเมืองอื่นๆ ของอินโดนีเซีย และในต่างประเทศเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เป็นต้น

ร้านอาหารปาดังที่พบเห็นได้ทั่วประเทศอินโดนีเซีย ใช้ชื่อว่าปาดังเป็นส่วนมาก จะมีใช้ชื่อ Minang บ้างแต่ค่อนข้างน้อย คนจำนวนมากรวมถึงชาวอินโดนีเซียมักคิดว่า ปาดัง กับ มินังคาเบา คือสิ่งเดียวกัน แท้ที่จริงแล้ว ปาดัง เป็นชื่อเมืองเอกของจังหวัดสุมาตราตะวันตก และบางครั้งมีผู้อธิบายว่าคนปาดังคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเมืองปาดังและบริเวณใกล้เคียง คนปาดังมีภาษาเป็นของตนเอง มีความเก่งกาจในด้านการทำอาหารและเชี่ยวชาญในการเดินเรือ ส่วนคนมินังคาเบาคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณเมืองปาดังปันจัง (Padang Panjang), บูกิตติงกี (Bukittinggi) และบริเวณรอบๆ คนมินังคาเบาเป็นที่รู้จักในด้านความเชี่ยวชาญการค้า ศิลปะ และวรรณกรรม และมีจารีตวัฒนธรรมเป็นแบบเฉพาะของตนเอง เช่นการแต่งงานหรือการทำพิธีศพ

เรินดังกับวัฒนธรรมเมอรันเตา (Merantau)

เรินดังเป็นอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมของกลุ่มมินังคาเบา แต่หลักฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเรินดังกลับปรากฏอยู่น้อยมาก กุสตี อานัน (Gusti Anan) นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอันดาลัส (Andalas University) ที่เมืองปาดังได้เสนอว่าจากหลักฐานเท่าที่มีกล่าวว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คนมินังคาเบาได้ออกเดินทางข้ามช่องแคบมะละกา ไปสิงคโปร์ ไปมาเลเซีย การเดินทางเช่นนี้เป็นวัฒนธรรมของคนมินังคาเบาเรียกว่า เมอรันเตา (merantau) คือ การเดินทางออกไปหาประสบการณ์ที่อื่นไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ด้วยจุดประสงค์หลากหลาย ตั้งแต่ศึกษาหาความรู้, หาความหมายของชีวิต, หาประสบการณ์, หางานทำในที่อื่นๆ ฯลฯ ซึ่งในการเดินทางไกลเช่นนี้ เริงดังคืออาหารที่พวกเขาสามารถตระเตรียมไปและเก็บไว้ได้เป็นแรมเดือน ซึ่งกุสตียังตั้งข้อสันนิษฐานว่า เรินดังน่าจะมีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 แล้วจากที่คนมินังคาเบาได้ไปตั้งรกรากตามที่ต่างๆ รวมถึงในสิงคโปร์, มะละกา และมาเลเซีย

วัฒนธรรมเมอรันเตานี้ส่งผลให้ในสมัยก่อนเด็กผู้ชายและผู้ชายจะไม่ค่อยได้อยู่บ้าน บ้านจะเป็นที่ของผู้หญิง พวกผู้ชายจะเมอรันเตาไปยังที่ต่างๆ ถ้าตอนเด็กก็คือไปศึกษาเล่าเรียนตามโรงเรียนสอนศาสนาหรือปอเนาะ ถ้าเป็นผู้ชายที่โตแล้วก็ไปหางานทำ ดังนั้นบทบาทและอำนาจในตัดสินใจในครัวเรือนรวมถึงเรื่องสำคัญอื่นๆ จะอยู่ในมือของผู้หญิง และผลด้านกลับทำให้ผู้ชายมีบทบาทน้อยหรือไม่มีบทบาทในครอบครัว ผู้หญิงในวัฒนธรรมมินังคาเบาจึงมีบทบาทสูงมากในสังคม เราจึงจะเห็นว่าวัฒนธรรมมินังคาเบานับญาติทางฝั่งแม่ การแต่งงานคือฝ่ายชายแต่งเข้าบ้านผู้หญิง และผู้หญิงเป็นผู้ได้รับมรดก

ในบรรดานักชาตินิยมอินโดนีเซียที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเพื่อเป็นเอกราช ผู้นำที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากซูการ์โน ซึ่งเป็นชาวชวา แต่ มูฮัมมัด ฮัตตา (Muhammada Hatta 1902-1980) บุรุษผู้ยืนเคียงข้างซูการ์โนในวันประกาศเอกราชและในหลายๆ เหตุการณ์สำคัญก็เป็นผู้นำที่มีความสำคัญไม่น้อยเลย ฮัตตาเป็นคนมินังคาเบา และนอกจากฮัตตาแล้วยังมีนักชาตินิยมอินโดนีเซียที่มีบทบาทสำคัญต่อชาติอินโดนีเซียอีกหลายคน เช่น อิหม่าม บอนจอล (Imam Bonjol 1772-1864) ผู้นำศาสนาอิสลามต่อต้านเจ้าอาณานิคมดัตช์, ตัน มะละกา (Tan Malaka 1897-1949) ผู้นำขบวนการคอมมิวนิสต์คนสำคัญ, ไคริล อันวาร์ (Chairil Anwar 1922-1949) นักกวีนักเขียนผู้โด่งดังของอินโดนีเซีย เจ้าของผลงานอมตะเรื่อง Aku (1943), ฮัมกา (Hamka 1908-1981) ผู้นำศาสนา นักคิด นักเขียนผู้มีบทบาทสำคัญในยุคซูฮาร์โต และ ซูตัน ชาห์รีร์ (Sutan Sjahrir) นักชาตินิยม นักการเมืองคนสำคัญของอินโดนีเซีย เป็นต้น พวกเขาเหล่านี้ล้วนเคยผ่านวัฒนธรรมเมอรันเตามาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับจากช่วงเมอรันเตาน่าจะส่งผลต่อแนวคิดและบทบาททางสังคมการเมืองของพวกเขา และแน่นอนว่าพวกเขาต้องเคยกินเรินดัง


ข้อมูลประกอบการเขียน

Aiman. “Asal Usul Rendang Yang Perlu Anda Tahu!.” CendoolDurian, 21 April 2023, https://cendooldurian.my/asal-usul-rendang-yang-perlu-anda-tahu.html

Chaniago, Suci Wulandari Putri and Aisyah, Yuharrani. “Sejarah Rendang, Berkaitan dengan Tradisi Merantau Orang Minangkabau.” Kompas, 6 January 2022. https://www.kompas.com/food/read/2022/01/06/113400575/sejarah-rendang-berkaitan-dengan-tradisi-merantau-orang-minangkabau  

Cheung, Tim. “Your pick: World’s 50 best foods.” CNNTravel, 12 July 2017, https://www.cnn.com/travel/article/world-best-foods-readers-choice/index.html

CNN Travel Staff and Calderon, Justin. “Malaysia’s top 40 foods.” CNNTravel, 12 July 2023, https://edition.cnn.com/travel/article/malaysian-food/index.html

Darosha, Muthyarana. ““Marandang”,Tradisi Suku Minang dan Sejuta Filosofi Dibaliknya.” Kompas, 22 May 2020. https://muda.kompas.id/baca/2020/05/22/marandang-tradisi-suku-minang-dan-sejuta-filosofi-dibaliknya/

Nurmufida, Muthia, et al. “Rendang: The Treasure of Minangkabau.” Journal of Ethnic Foods, 2017: 232-235.

Rohmitraiasih, Mimi. “Sejarah Rendang Khas Minang, Makanan Paling Enak di Dunia.” Fimela, 11 June 2022, https://www.fimela.com/food/read/4984019/sejarah-rendang-khas-minang-makanan-paling-enak-di-dunia

Tim Rembulan. “Asal Usul dan Filosofi Rendang yang Membuatnya Identik dengan Islam.” Liputan6, 9 November 2022. https://www.liputan6.com/islami/read/5120185/asal-usul-dan-filosofi-rendang-yang-membuatnya-identik-dengan-islam?page=3

Zulfukar, Fahri. “Rendang Berasal dari Indonesia atau Malaysia? Ini Sejarahnya.” Detikedu, 14 November 2022. https://www.detik.com/edu/detikpedia/d-6405318/rendang-berasal-dari-indonesia-atau-malaysia-ini-sejarahnya   

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save