fbpx

ความ ‘ไทยๆ’ ในโลกที่มีพระเจ้าหลายองค์: อ่านชีวิตและความคิดของเรเชล แฮร์ริสัน

ถ้าจะมีนักวิชาการต่างประเทศสักคนที่สนใจวรรณกรรมและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง หนึ่งในนั้นย่อมมีชื่อของเรเชล แฮร์ริสัน (Rachel V Harrison) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา ที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน รวมอยู่ด้วย

เรเชลสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมศึกษาที่ SOAS มากว่า 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2532 และหากย้อนไปก่อนหน้านั้น เธอเริ่มเรียนภาษาไทยตั้งแต่เป็นนักศึกษาในลอนดอน มาใช้ชีวิตอยู่ไทยช่วงที่ควันโกลาหลของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เริ่มจางลงแล้ว และทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกว่าด้วยเรื่องของนักเขียนไทยนามว่า ‘ศรีดาวเรือง’ ในชื่อ Writing and Identity in The Short Stories of Sidaoru’ang (1975-1990) เผยแพร่ในปี 2538 รวมถึงมีงานแปลรวมเรื่องสั้น A Drop of Glass and Other Stories (แก้วหยดเดียวและเรื่องสั้นอื่นๆ) ของศรีดาวเรืองออกมาด้วย

ในช่วงชีวิตของการเป็นอาจารย์ นอกจากการสอนแล้ว เรเชลยังมีผลงานทางวิชาการตีพิมพ์ออกมาหลายเรื่อง ที่ว่าด้วยการมองวัฒนธรรมไทยผ่าน ‘หนัง’ และ ‘หนังสือ’ โดยมีงานที่โดดเด่นเช่นการศึกษางานของธิดา บุนนาค นักเขียนหญิงแนวอีโรติกคนแรกของไทย ในบทความ ‘A Hundred Loves’, ‘A Thousand Lovers’: Portrayals of Sexuality in the Work of Thidaa Bunnaak รวมถึงศึกษาการเมืองสังคมไทยผ่านประเด็นทางศาสนา เพศ และวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจุบันเรเชลยังสอนอยู่ที่ SOAS โดยเน้นการสอนวัฒนธรรมศึกษาเปรียบเทียบเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง และสอนวรรณคดีเปรียบเทียบระหว่างไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยเธอพูดเสมอว่าแม้จะสอนวัฒนธรรมศึกษาของหลายประเทศแต่ก็มักจะยกตัวอย่างเป็นเรื่องของไทยเสมอ

อะไรทำให้คนอังกฤษที่ใช้ชีวิตวัยเด็กในชนบทอังกฤษ สนใจประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจังเข้มข้น มุมมองที่เรเชลมีต่อสังคมไทยเป็นแบบไหน การเรียนการสอนวัฒนธรรมศึกษาเขาสอนกันเรื่องอะไร และการมองวัฒนธรรมไทยมีมุมไหนที่เราควรรับฟัง

อ่านบทสนทนาทั้งหมดได้ในบรรทัดถัดจากนี้

คุณรู้จักเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมถึงเริ่มสนใจวัฒนธรรมไทย

ที่จริงไม่รู้จักเมืองไทยและไม่รู้จักวัฒนธรรมไทยเลย แต่เป็นคนชอบเรียนภาษาต่างประเทศตอนอยู่มัธยมฯ เรียนภาษาฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย ตอนนั้นรู้แค่ว่าไม่อยากไปรัสเซียเพราะหนาว เลยไม่อยากเรียนต่อทางรัสเซีย

พอเข้ามหาวิทยาลัย ตอนแรกไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่เรียนแล้วไม่ชอบ เลยขอย้ายไปเรียนที่ SOAS แทน เป็นสถาบันที่สอนทางด้านเอเชียและแอฟริกา ตอนนั้นรู้ว่าเขาเน้นสอนภาษาต่างประเทศที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้เรียน แต่พอดีเข้ากลางเทอม ทำให้คอร์สภาษาจีน อาหรับ ญี่ปุ่น เต็มหมดแล้ว เขาเลยส่งไปคุยกับศาสตราจารย์ที่สอนวรรณกรรมและวรรณคดีไทย แล้วเขาก็แนะนำให้เรียนภาษาไทย เลยตกลงเรียนภาษาไทย

ตอนนั้นก็ยังไม่รู้จักประเทศไทย?

ไม่รู้จักเลยค่ะ ไม่เคยไป แล้วก็ไม่เคยไปไหน ยกเว้นฝรั่งเศสกับเบลเยียม แต่รู้สึกว่าเมืองไทยน่าจะน่าสนใจ เลยเริ่มอ่านเกี่ยวกับเอเชีย เริ่มคุยกับคนที่เคยไปเที่ยวเอเชีย

เราเกิดที่เมืองเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ แล้วย้ายออกมาตอนอายุสิบปี เพราะตอนนั้นมีสงคราม ไปอยู่ลิงคอร์นเชียร์ที่เป็นบ้านเกิดของพ่อแม่ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ไม่ห่างไปจากทะเลเท่าไหร่ แต่ทะเลไม่สวย เพราะเป็นทะเลเหนือ (North Sea) อากาศเย็นมาก ลมพัดแรง เป็นเมืองเกษตรที่ไม่มีใครไปไหนและไม่มีอะไรเลย มีแต่มันฝรั่งกับกะหล่ำปลี (หัวเราะ) เราก็อยู่แต่ในทุ่งนา ตอนนั้นรู้แค่ว่าไม่อยากอยู่ที่นั่น อยากไปอยู่ไกลๆ อยู่ในที่อากาศดี แล้วก็ exotic หน่อย ตอนนั้นก็อาจมองแบบคนอังกฤษที่อยากไปเที่ยวที่แปลกๆ ในโลก

ตอนเข้าไปเรียนที่ SOAS อาจารย์คนแรกที่สอนภาษาไทยคือใคร

ตอนนั้นมีนักศึกษาในห้องสามคน แต่มีอาจารย์สี่คน อาจารย์เยอะกว่านักเรียน

คนแรกคืออาจารย์ซิมมอนด์ส ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ อายุมากพอสมควร เขาเคยไปเมืองไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วยสร้างทางรถไฟสายพม่า เป็นเชลยศึกของประเทศญี่ปุ่น เขาเลยเริ่มสนใจเมืองไทยตั้งแต่ตอนนั้น

คนที่สองคืออาจารย์มนัส จิตเกษม เป็นคนไทยที่สอนภาษาไทยที่ SOAS หลายปี จบจากประสานมิตร ตอนนี้เกษียณแล้ว เขาสอนดีมาก มีระเบียบและเคร่งครัด เป็นครูแท้เลย ตอนนี้เราก็เลียนแบบวิธีสอนภาษาไทยของเขา

คนที่สามคืออาจารย์ปีเตอร์ บี เป็นนักภาษาศาสตร์ชาวอังกฤษ เขาเสียชีวิตในช่วงที่เราเรียนอยู่กับเขา เลยมีอีกคนหนึ่งมาแทนชื่อเดวิด สไมธ์ เป็นคนแปลเรื่อง ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา ตอนนั้นเขาทำวิทยานิพนธ์เรื่องศรีบูรพา และยังมีแปลงานของชาติ กอบจิตติด้วย

ตอนที่เรียนภาษาไทย เขาสอนอะไรกันบ้าง สอนภาษาอย่างเดียวหรือสอนวัฒนธรรมด้วย

สอนทุกอย่าง แต่เน้นภาษา ตอนนั้นสอนวันละสองชั่วโมง อาทิตย์ละห้าวัน ซึ่งไม่เหมือนตอนนี้ที่จะไม่สอนมากขนาดนั้น ทำให้เราได้เรียนภาษาทุกวัน นอกนั้นก็เรียนอีกหลายอย่าง ทั้งพุทธศาสนา วัฒนธรรมไทย แล้วอาจารย์ซิมมอนด์สก็สอนพวกวรรณคดีโบราณ เช่น ขุนช้างขุนแผน ลิลิตพระลอ ฯลฯ เราก็อ่านช้ามากเลย ผ่านไปหลายอาทิตย์อ่านได้นิดเดียว เพราะยากมาก ส่วนอาจารย์มนัสสอนวรรณกรรมสมัยใหม่ เช่น บทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อังคาร กัลยาณพงศ์ แต่รู้สึกว่าที่เขาสอน ยากทั้งนั้นเลย

พอเรียนภาษาไทยก็คิดว่าต้องไปเมืองไทยให้ได้ เรียนครบหนึ่งปีก็ไปซัมเมอร์ที่เมืองไทยเลย แต่พอเราเรียนมายากๆ ทำให้ตอนไปถึงไทยครั้งแรก พูดไม่ออกเลย คืออ่านออกเขียนได้แต่คุยกับคนธรรมดาไม่ได้ เพราะมีแต่คำยากๆ อยู่ในหัว คำง่ายๆ ไม่มีเลย

คุณมาไทยปีไหน และทำอะไรบ้างในช่วงนั้น

เคยไปเที่ยวตอนปี 2525 แต่ไปอยู่ยาวจริงๆ คือปี 2527 อยู่กรุงเทพฯ สามปี

ตอนแรกได้ทุนจากยูเนสโกไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ศิลปากร แต่ไปเรียนแบบไม่เป็นทางการ อาจารย์ก็ไม่ค่อยอยู่ เลยไม่ค่อยได้เรียน ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เข้าไปอีกแล้ว เลยหันไปสอนภาษาอังกฤษตามบ้านคน ไปสอนพวกพันตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจที่ถนนศรีอยุธยาอยู่สองปี ได้ประสบการณ์มาก สนุกมาก หลังจากนั้นไปเจอตำรวจที่เป็นนักแปล เขาแปลนิยายอาชญากรรมจากอังกฤษเป็นไทย แล้วต้องการคนช่วยแปล เราเลยไปทำงานแปลช่วยเขาที่โรงพักนางเลิ้ง

พอไปช่วยเขาแปล เขาก็แนะนำให้เรารู้จักโรงพิมพ์ต่างๆ ทำให้รู้จักโรงพิมพ์พิฆเนศ เจอคุณช้าง–ขรรค์ชัย บุนปาน (ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน) ก็ไปสอนคุณขรรค์ชัยชั่วคราว สอนลูกเขาด้วย ในท้ายที่สุดก็ได้ไปสอนนักข่าวมติชนกับประชาชาติธุรกิจ ตอนนั้นเหนื่อยหน่อย เพราะต้องนั่งรถเมล์ทั้งวัน สอนสองชั่วโมง เสร็จแล้วก็นั่งรถเมล์ต่อ แล้วก็สอนอีกสองชั่วโมง เหนื่อยมากจนต้องกลับอังกฤษ (หัวเราะ) สภาพไม่ค่อยดี

ช่วงที่อยู่ไทยสามปีนั้น ได้อะไรจากไทยบ้าง

ได้เยอะมาก ช่วงแรกๆ ที่ไปไม่รู้อะไรเลย รู้แต่ภาษา แต่ก็พูดไม่ได้ ต้องค่อยๆ คุยกับคน ตอนนั้นเป็นเพื่อนกับนักข่าวมติชนก็สนุกมาก ได้ฟังเขาคุยกัน เป็นทางที่จะได้เรียนรู้มาก จำได้ว่ามีช่วงหนึ่งที่เขาพูดแต่เรื่องกุ้งกุลาดำ จนคำนี้อยู่ในหัวตลอดเวลา เราไม่ค่อยพูด ฟังเขาพูดกัน ภาษาก็ดีขึ้น เพราะตอนเรียนในห้องไม่ค่อยมีโอกาสได้ฟังคนพูด อ่านอย่างเดียว

เรื่องวัฒนธรรมก็ได้เรียนรู้มาก โครงสร้างสังคมไทยกับอังกฤษไม่เหมือนกัน เราเป็นลูกคนเดียว พ่อแม่เป็นศิลปิน เลยไม่ค่อยคบกับใคร อยู่ในทุ่งกับพ่อแม่ ไม่ค่อยมีเพื่อนที่โรงเรียน เล่นคนเดียว พอไปเมืองไทยก็รู้สึกว่าคนไปไหนกันเป็นกลุ่ม ไม่มีใครเดินคนเดียว ตอนไปสอนที่มติชน ไปกินข้าวกับเพื่อนหลายคน นั่งคุยกันตลอดเวลา อบอุ่นมาก ไม่เหมือนวัฒนธรรมอังกฤษ ยิ่งวัฒนธรรมศิลปินอังกฤษ ยิ่งโดดเดี่ยวไม่คบกับใคร

อีกอย่างที่รู้สึกคือคนไทยแบ่งปันเก่ง เราโตแบบลูกคนเดียว ไม่ค่อยชินกับการแบ่งอะไรเลย แต่เห็นคนไทยอยู่ด้วยกันแล้วเขาแบ่งปันตลอด บางทีถึงแม้เราไม่มีอะไร แต่เราก็ยังมีโอกาสให้คนอื่น นี่ก็เป็นเรื่องที่เอามาใช้เป็นบทเรียนที่ดีในชีวิต การแบ่งปันคนอื่นไม่ใช่วิธีคิดของฝรั่ง ส่วนมากจะกินอาหารจานเดียวไม่แบ่งกับใคร แต่เราชอบวิธีกินของคนไทยที่แบ่งอาหารกันบนโต๊ะ ใครมีของดีก็เอามาให้

อีกเรื่องที่ได้คือเรื่องการเมือง ตอนเป็นเพื่อนกับนักข่าวมติชน เป็นครั้งแรกที่เรียนรู้เรื่อง 6 ตุลาฯ 2519 ก่อนหน้านั้นไม่รู้เรื่องเลย ตกใจจริงๆ เพราะเขาไม่ได้สอนที่มหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าตอนนั้นเพิ่งผ่านเหตุการณ์ไปไม่กี่ปี ตอนนั้นรู้สึกว่าการเมืองไทยเข้าใจยากมาก

มีอยู่วันหนึ่งตอนที่มนูญ รูปขจรทำปฏิวัติ 9 กันยา 2528 (ปัจจุบันถูกเรียกว่ากบฏ 9 กันยา เพราะทำไม่สำเร็จ) วันนั้นตื่นมาตอนเช้า เปิดวิทยุ มีแต่เสียงดนตรีทหาร เราก็เอ๊ะ ทำไมวันนี้วิทยุไม่ทำงาน แต่ก็ยังเตรียมตัวไปทำงานที่โรงพักนางเลิ้ง นั่งรถเมล์ไปก็ยังเห็นคนเดินตามถนนปกติ เห็นคนเข็นรถขายอาหาร เลยคิดว่าไม่มีปัญหา แต่พอไปถึงสถานีตำรวจ เขาก็บอกว่ามาทำไม ปฏิวัติแล้ว เหตุการณ์อยู่ใกล้โรงพัก เลยต้องอยู่ในโรงพักทั้งวัน ตอนนั้นรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นฝรั่งโง่ ไม่รู้ว่าปฏิวัติ ไม่รู้อะไรเลย แล้วเราก็ไม่เคยอยู่ในประเทศที่มีปฏิวัติแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้โดนอะไรรุนแรง อยู่ในโรงพักไม่มีปัญหา ถือเป็นประสบการณ์

หลังจากสามปีที่ไทย กลับอังกฤษไปทำอะไร

ตอนแรกได้งานที่ British Council ที่อังกฤษ เป็นงานเฉพาะเกี่ยวกับเมืองไทย ทาง British Council ทำวิดีโอเกี่ยวกับนักศึกษาไทยที่เรียนที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษ เลยช่วยเขาทำซับไตเติล เขาไปสัมภาษณ์นักเรียนไทยก็ไปด้วย ต่อจากนั้นโครงการเดียวกันก็มีนิทรรศการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองไทยกับอังกฤษในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา เราก็ต้องค้นหารูปใส่ในนิทรรศการ ไปคุยกับคนต่างๆ เช่น ไปสัมภาษณ์หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ได้เก็บข้อมูลเยอะ สนุกมากเลย แต่ก็เป็นงานชั่วคราว พอนิทรรศการเสร็จแล้วก็ไม่มีงานทำ เลยไปทำที่ ททท. ในลอนดอน ทำไม่กี่เดือน ไม่ชอบ ก็ลาออก

ทำตำแหน่งอะไรใน ททท.

รับโทรศัพท์คุยกับคนอังกฤษที่อยากไปเที่ยวเมืองไทย เช่น ให้คำแนะนำว่าไปภูเก็ตเดือนนี้กี่องศา ฝนจะตกไหม เพราะตอนนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต คนอยากหาข้อมูลก็ต้องโทรหา ททท.

ก็ดูน่าสนุกนะ

สนุกประมาณสิบนาทีแรก (หัวเราะ) ที่เหลือเบื่อ ต้องเข้าไปนั่งที่ออฟฟิศ ใครแวะมาก็แจกเอกสารและให้คำแนะนำเขา ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ พอ British Council เปิดตำแหน่งถาวร เลยสมัครกลับไปเป็นคนหารูปให้นิทรรศการต่างๆ แต่ไม่เกี่ยวกับเมืองไทยแล้ว คราวนี้เกี่ยวกับประเทศในแอฟริกาชื่อมาลาวี และช่วยทำนิทรรศการเกี่ยวกับแฟชั่นอังกฤษ

ในขณะเดียวกัน ตอนเย็นก็เข้าไป SOAS เพื่อสอนภาษาไทย ก็เป็นช่วงที่เริ่มมีประสบการณ์สอนภาษาไทย จนกระทั่ง SOAS เปิดตำแหน่งอาจารย์สอนภาษาไทยในปี 2532 แต่ต้องเรียนและทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกไปด้วย คือเราไม่ได้เรียนโท ข้ามจากตรีเป็นเอกเลย ตอนนั้นข้ามได้ ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เขาเปิดโอกาสให้คนสอนและทำวิทยานิพนธ์ไปด้วยได้ ถือว่าโชคดีมาก เพราะตอนนี้ไม่มีทางเลยที่เขาจะเปิดตำแหน่งแบบนั้นอีก ก็เลยเป็นอาจารย์สอนภาษาไทย ทำงานโดยมีอาจารย์มนัสและอาจารย์เดวิดที่เป็นครูเก่าเป็นเพื่อนร่วมงาน อาจารย์ซิมมอนด์สเกษียณไปแล้ว เราก็ทำงานด้วยกันสามคน

เข้าไปเป็นอาจารย์ตอนอายุ 26 ปี เป็นอาจารย์วัยรุ่น ตอนนั้นนักศึกษาที่เรียนก็รุ่นเดียวกันนี่แหละ แต่ตอนนี้คนละรุ่นแล้ว (หัวเราะ)

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังสอนภาษาไทยเหมือนเดิมไหม มีอะไรเปลี่ยนไปในเนื้อหาบ้าง

ตอนนี้ไม่ค่อยได้สอนภาษาแล้ว เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทาง SOAS ยกเลิกการสอนภาษาไทย เพราะไม่ค่อยมีคนเข้ามาเรียน เราก็สอนวัฒนธรรมศึกษา ในการสอนโดยทั่วไปก็สอนทฤษฎีวัฒนธรรมศึกษาของเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง แต่เวลายกตัวอย่างก็มักจะยกเกี่ยวกับเมืองไทยทั้งหมด

สมัยก่อนก็มีการสอนภาษาไทย สอนวรรณกรรมไทยเป็นภาษาไทย แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ในสาขาเราไม่เชี่ยวชาญขนาดนั้นแล้ว แล้วคนที่เรียนเกี่ยวกับหนังไทย ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่พูดภาษาไทยไม่ได้ เราต้องดูหนังที่มีซับไตเติลอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องที่เศร้ามาก เพราะจริงๆ แล้วคนรู้จักเมืองไทยมากขึ้น คนก็รู้จักอาหารไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอยากจะเรียนภาษาไทยกับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น

เวลาสอนวัฒนธรรมศึกษาของไทย สอนอะไรบ้าง

สอนเน้นด้านทฤษฎี hybridity (ทฤษฎีพันทาง) ซึ่งได้อิทธิพลจากนักคิด postcolonial เช่น โฮมี บาบา (Homi K. Bhabha) ที่เขียนเกี่ยวกับ hybridity คือถ้าดูเรื่องศาสนาในเมืองไทยจะเห็นว่าความคิดของคนไทยไฮบริดมากเลย ถ้าตามทางการ ไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก แต่ถ้าดูละเอียดจะเห็นว่าไม่ได้เป็นศาสนาพุทธโดยตรง แต่ผสมผสานกับศาสนาผีด้วย (animism) เช่น การบูชาหรือทายผลล็อตเตอรี หรือถ้าไปดูวัดมหาบุศย์ที่อุทิศแด่นางนากก็น่าสนใจมาก เพราะมีรูปนางนาก รูปพระพุทธเจ้า รูป ร.5 พระพิฆเนศ พระพรหม มีทุกอย่างเลย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของ hybridity ที่ดีมาก

วัฒนธรรมไทยคือตัวอย่างที่ดีของการผสมผสาน ไม่ต่างไปจากกัมพูชา ลาว พม่า แต่ที่เราต่อต้านในการสอนคือไม่อยากให้นักศึกษาเข้าใจว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งหยุดนิ่ง เป็นของชาติ มีเอกลักษณ์ที่ชาติบอกว่าวัฒนธรรมของเราเป็นแบบนี้เท่านั้น เพราะที่จริงวัฒนธรรมซับซ้อนกว่านั้นเยอะ วัฒนธรรมผสมผสานและเป็นพันทางตลอดเวลา ซึ่งถ้าดูจากวัฒนธรรมไทยก็มีอิทธิพลของรามเกียรติ์ จีน เขมร ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือวรรณคดี ส่วนวัฒนธรรมสมัยใหม่ก็มีอิทธิพลจากเกาหลี ญี่ปุ่น เราจึงเน้นสอน hybridity ของวัฒนธรรมเป็นหลัก

นอกจากเรื่องวัฒนธรรมแล้ว อยากชวนคุยเรื่องวรรณกรรมด้วย ถ้าย้อนกลับไปช่วงที่เรียนภาษาไทยแรกๆ คุณได้เริ่มอ่านวรรณกรรมที่ไม่ใช่วรรณคดีเก่าๆ ตั้งแต่เมื่อไหร่

เริ่มอ่านตอนเข้าไปทำงานสอน เพราะต้องทำวิทยานิพนธ์ด้านวรรณกรรมไทย เราก็ไม่อยากจะเลือกวรรณคดี เพราะภาษายากเกินไป แล้วตอนนั้นก็สนใจความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับการเมือง โดยเฉพาะการเมืองที่ค่อนข้างจะ radical หน่อย สนใจเรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ สนใจคนที่เคยเข้าป่า เขียนหนังสือในป่า ตอนแรกที่เลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ เราเลือกนักเขียนสี่คนที่อยากเข้าใจมากขึ้นคือ อัศศิริ ธรรมโชติ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศรีดาวเรือง และวัฒน์ วรรลยางกูร

พอไปเมืองไทยเพื่อเก็บข้อมูลทำวิจัยจริงๆ ก็รู้สึกว่าสี่คนมากไป ไม่ไหว เพราะเราต้องเขียนให้เสร็จภายใน 5-6 ปี ไปสัมภาษณ์ทุกคนตอนนั้น เพราะชอบงานของทุกคน แต่คนที่คุยง่ายที่สุดคือศรีดาวเรือง รู้สึกว่าสร้างความสัมพันธ์กับศรีดาวเรืองได้ง่าย ตอนนั้นไปกาญจนบุรีกับพี่ศรีดาวเรือง พี่สุชาติ และโมน (สวัสดิ์ศรี) ไปพักอยู่กับวัฒน์ แต่รู้สึกว่าตอนนั้นวัฒน์ค่อนข้างคุยยาก ตอบสั้นๆ เลยไม่กล้าสัมภาษณ์เขาอีก แต่ต่อมาวัฒน์ก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมาก

ตอนนั้นถ้าจะเลือกสักคนก็คงเลือกศรีดาวเรือง เพราะภาษาของเขาไม่ยากเกินไปสำหรับคนต่างประเทศ แล้วประวัติส่วนตัวเขาน่าสนใจ เป็นผู้หญิง จบ ป.4 แล้วต้องออกจากบ้านไปทำงาน ประสบการณ์ชีวิตของเขาเป็นประสบการณ์คนงานแท้ๆ ไม่เหมือนนักเขียนฝ่ายซ้ายหลายคนที่อาจไม่มีประสบการณ์โดยตรง

แต่ถ้าถามว่าวรรณกรรมชิ้นแรกที่อ่านคือเรื่องไหน ไม่ใช่งานของศรีดาวเรืองนะ แต่เป็นเรื่อง ตำบลช่อมะกอก ของวัฒน์ วรรลยางกูร และถึงแม้ว่าจะตัดสินใจไม่เน้นงานของวัฒน์ในวิทยานิพนธ์ แต่เราก็อ่านของเขาเกือบทุกเรื่อง ชอบมาก เรื่องที่ชอบมากที่สุดคือ มนต์รักทรานซิสเตอร์ เขียนดี เคยขออนุญาตแปลแล้วเขาก็อนุญาต แต่พอลงมือแปลแล้ว แปลยากมากเลย เพราะภาษาของเขาถ้าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษจริงๆ ต้องปรับเยอะ ไม่รู้สิ อ่านเป็นภาษาไทยก็อ่านได้ แต่พอจะแปลเป็นอีกภาษาหนึ่ง แปลยาก เพราะภาษาของเขาลึกซึ้งมาก เลยพักไว้ก่อน แต่ตั้งใจว่าถ้าเกษียณแล้วจะแปลเรื่องนี้ให้ได้

งานของคุณวัฒน์ วรรลยางกูร สะท้อนภาพอะไรของสังคมไทย อ่านแล้วเห็นอะไรจากงานของเขาบ้าง

ที่เห็นใน มนต์รักทรานซิสเตอร์ เห็นชัดเลยว่าเขาผิดหวังกับประสบการณ์ชีวิตตัวเองและประสบการณ์การอยู่ในป่าของคน 6 ตุลาฯ ถ้าอ่านเรื่องสั้นที่เขาเขียนในป่าจะเห็นได้ชัดเลยว่าช่วงแรกๆ มีอุดมคติมาก ทุกอย่างดี อย่างเรื่องสั้น ‘ทะเลปลิง’ ที่เป็นเรื่องคนลงไปในทะเลปลิง โดนดูดเลือด แล้วก็ว่ายออกไปจนเจอพระอาทิตย์ขึ้นตอนถึงฝั่ง เห็นได้ชัดเลยว่าเป็นอุดมคติมาก แต่พอเขาอยู่ในป่านาน เรื่องสั้นจะเกี่ยวกับการล่าสัตว์ เพราะหิว ฝนตกตลอดเวลา ต้องทรมานอยู่ในป่า ถึงแม้ว่าอยู่ในป่าสวย ธรรมชาติดี แต่ก็เห็นว่าเขาต้องอดทน

พอออกจากป่าแล้วเขาก็เขียนเรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ สิ่งที่เราชอบคือนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับแอนตี้ฮีโร่ คือแผนเป็นคนที่น่าจะเป็นฮีโร่ของเรื่อง แต่เขาทำอะไรมั่วตลอดเวลา ทำผิดๆ ถูกๆ ไม่ได้เป็นฮีโร่ เหมือนคุณวัฒน์เขียนประชดตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่จับบรรยากาศของช่วงนั้นได้ดีมากเลย และคุณวัฒน์เขียนได้ตลกมาก คือดูหนังก็ว่าตลกแล้ว แต่นิยายตลกกว่าอีก ตลกร้ายและลึกซึ้ง

ถ้าดูเรื่องอื่นของคุณวัฒน์อย่าง ตำบลช่อมะกอก ก็ชอบ อุดมคติเหมือนกัน ทำให้คิดถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก คือ ปีศาจ และความรักของวัลยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ นี่ก็เป็นภาพอุดมคติมาก แต่พอถึงช่วงของมนต์รักทรานซิสเตอร์ จะเห็นว่าภาพอุดมคติน้อยลง ซึ่งของศรีดาวเรืองก็คล้ายกัน พอถึงปี 2524 เขาก็ไม่ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองแล้ว กลายเป็นเรื่องการเมืองทางอ้อม เช่น การคลอดลูก การเลี้ยงลูก ปัญหาของชาวบ้าน แต่ไม่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง

ถัดจากวรรณกรรมยุคผิดหวังหรือยุคที่ไม่ได้พูดเรื่องการเมืองตรงๆ คุณมองว่าสายธารวรรณกรรมไทยพูดเรื่องอะไรในยุคต่อมา

ถ้ามองยุคช่วงปี 2000 ขึ้นไป (ยุคปี 2540) มีงานของปราบดา หยุ่นที่เราชอบอ่าน งานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย แปลดีมาก ก็รู้สึกว่ายังเน้นเรื่องสังคม แต่วิธีมองสังคมไม่ง่ายอย่างงานสัจนิยมสังคมนิยม (socialist realism) เพราะสังคมซับซ้อนกว่านั้น ไม่มีศัตรูที่เห็นได้ชัด มีศัตรูหลายคนหลายแบบ เลยรู้สึกว่าในบางด้านลึกซึ้งกว่า แล้วไม่เป็นอุดมคติเท่าเดิม เหมือนไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งก็ดีแล้ว เพราะที่จริงวรรณกรรมไม่ควรจะให้คำตอบง่ายๆ แต่ในยุคของวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่พูดตรงๆ เพราะเป็นสิ่งที่คนต้องการจากวรรณกรรม

ช่วงหลังก็มีนักเขียนคนไทยอยู่ต่างประเทศหรือเป็นลูกครึ่งโตต่างประเทศ เช่น Mai Nardone คนไทยโตอเมริกาที่เขียนงานภาษาอังกฤษชื่อ Welcome Me to the Kingdom หนังสือเพิ่งออกมาเลย ก็เห็นว่าน่าสนใจ แต่ต้องยอมรับว่าช่วงหลายปีมานี้ไม่ค่อยได้ตามงานวรรณกรรมไทยใหม่ๆ แล้ว

เหตุผลอะไรที่คุณเลิกตามงานวรรณกรรมไทยใหม่ๆ

สาเหตุหนึ่งที่เราเลิกตามนักเขียน เพราะตอนนั้นมีเหตุการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดง แล้วเรารู้สึกว่านักเขียนไทยส่วนใหญ่อนุรักษนิยมมาก จึงทำให้เราไม่ค่อยอยากตามงานเขาเลย และนี่คือสาเหตุที่เรายังนับถือวัฒน์ วรรลยางกูร เพราะเขาไม่ได้เปลี่ยนตั้งแต่เข้าป่าจนถึงนาทีสุดท้ายของเขา เขายังมีอุดมการณ์

แล้วอีกอย่างถ้ามองในแง่การสอน ถ้าสอนวรรณกรรมหรือวรรณคดีไทยในห้องเรียน ก็เจอปัญหาว่านักศึกษาอ่านช้า แล้วถ้าเราเจอกันอาทิตย์ละสองชั่วโมง ภายในหนึ่งอาทิตย์ เขาอ่านได้หนึ่งบท แล้วส่วนใหญ่ก็คุยแต่เรื่องภาษา ไม่ได้คุยเรื่องเนื้อหาของบทนั้น แต่พอหนังไทยเริ่มบูม เราก็หันไปสอนหนังไทยแทน ให้นักศึกษาดูหนังหนึ่งเรื่อง เราคุยกันได้สองชั่วโมงเกี่ยวกับเนื้อหาของหนัง เพราะหนังมีซับไตเติลภาษาอังกฤษ เลยทำให้หันไปสนใจหนังไทยมากกว่าและเลิกตามวรรณกรรมไทย

ที่บอกว่าให้นักศึกษาดูหนัง ใช้หนังเรื่องอะไรสอนบ้าง

ฟ้าทะลายโจร (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, 2543) นางนาก (นนทรีย์ นิมิบุตร, 2542) มนต์รักทรานซิสเตอร์ (เป็นเอก รัตนเรือง, 2544) พวกนี้เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วก็มีหนังสารคดี เช่น หมอนรถไฟ (Railway Sleepers) (สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์, 2559) หรืองานของนนทวัฒน์ นำเบญจพล (ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง, ดินไร้แดน) ก็น่าสนใจ

แต่ที่จริงก็เหมือนจะไม่ค่อยทันยุคเท่าไหร่นะ บางทีลูกศิษย์ปริญญาเอกที่เป็นคนไทยก็แซวว่าอาจารย์ล้าสมัยประมาณ 20-30 ปีนะ หรืออย่างงานวรรณกรรมก็ไม่ค่อยได้ตามงานใหม่ๆ มีลูกศิษย์คนหนึ่ง ตอนนี้ทำเรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรมทางอินเทอร์เน็ต fan-fiction พวกนี้ ซึ่งก็ทันสมัยกว่าเราเยอะเลย เราไม่ค่อยรู้เรื่องนี้

หนังที่ตามเรื่อยๆ แล้วคิดว่าน่าสนใจคือหนังผี เพราะไทยจะมีหนังผีออกมาตลอดเวลา เราคิดว่าหนังผีสะท้อนความคิดของวัฒนธรรมไทย อย่างที่บอกว่าถ้าพูดเป็นทางการ เมืองไทยเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ แต่หนังผีก็มีเยอะมาก สะท้อนความคิดของคนไทยเกี่ยวกับผี และสะท้อนความคิดเกี่ยวกับเรื่อง gender ด้วย เพราะผีส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง แล้วทำไมผู้หญิงต้องน่ากลัว ยิ่งเป็นผู้หญิงที่เป็นแม่ ตั้งท้อง ทำแท้ง เป็นสิ่งที่เห็นได้ในหนังผีไทยหลายเรื่อง ซึ่งในแง่วัฒนธรรมศึกษา อันนี้น่าสนใจ

ถ้าเทียบกับที่เคยเขียนบทความเกี่ยวกับวิธีมองยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในสังคมไทยว่าถูกมองเป็นผู้หญิงที่น่ากลัว สวยแต่น่าจะกลับไปเป็นโสเภณี เพราะเป็นคนเหนือ วาทกรรมแบบนี้ก็สะท้อนความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงในสังคมไทย เลยรู้สึกว่าหนังไทยก็มีส่วนช่วยให้เราเข้าใจความคิดในแง่กว้างเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยที่ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมของชาติเหมือนเรื่อง สุริโยไท หรือตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เป็นเรื่องกระตุ้นให้คนรักชาติ

เอาไปสอนบ้างไหม ภาพยนตร์แนวประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย

ไม่ได้เอาไปสอนเลย ที่จริงก็เคยใช้ สุริโยไท สอน แต่นักศึกษาอาจจะงงๆ เพราะเรื่องตัดต่อแปลกๆ แล้วยิ่งถ้านักศึกษาไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทยก็จะตามเรื่องยากมาก หรือถ้าจะดูเรื่องความยาวห้าชั่วโมงที่ไม่ตัดต่อก็อาจเข้าใจมากขึ้น แต่ไม่มีใครอยากดูห้าชั่วโมงหรอก แล้วที่ยากคือตัวละครเปลี่ยนชื่อ เพราะตำแหน่งยศถาเปลี่ยน ทำให้เข้าใจยาก

เรื่องประวัติศาสตร์ที่เคยใช้สอนคือ บางระจัน แต่บางทีนักศึกษาจะบ่นว่าทารุณเกินไป ตอนนี้เราต้องมี trigger warning เตือนล่วงหน้า อย่างแต่ก่อนเอาเรื่อง จันดารา หรือ เทพธิดาโรงแรม มาสอนได้ แต่ตอนหลังนักศึกษาก็บ่นว่าทารุณเกินไป ไม่อยากดู เพราะมีผู้หญิงทำแท้งหรือมีคนเสียชีวิต ช่วงหลังเราต้องระมัดระวังมาก ทำให้สอนอะไรยากมากเลย พอนักศึกษาบ่น เราก็ไม่กล้าสอนแล้ว

คุณมองอย่างไรกับประเด็นเรื่องความกังวลกับภาพความรุนแรงของนักศึกษารุ่นใหม่ ในขณะที่คุณก็ต้องสอนให้เขาเข้าใจวัฒนธรรมด้วย

รู้สึกว่ามันซับซ้อน ถ้าเราอยากสอนให้คนเข้าใจวัฒนธรรมประเทศต่างๆ เราต้องลุยเต็มที่ ไม่ใช่ว่ารู้สึกขุ่นเคืองง่ายๆ แล้วไม่อยากเรียน ถ้าคุยเรื่องนี้กับคนรุ่นลูกสาว เราจะเห็นไม่ตรงกัน เพราะรุ่นนั้นเขาต่อต้านตั้งแต่ต้น เราก็ระมัดระวัง ต้องให้เกียรตินักศึกษาด้วย เพราะเราไม่อยากจะทำให้เขาไม่สบายใจ แต่ใจหนึ่งก็อยากชวนให้เขาเปิดใจกว้าง ให้แตะสิ่งที่เขาไม่อยากแตะ เพราะแต่ละวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ถ้าเราอยากเข้าใจว่าวัฒนธรรมเป็นอย่างไร เราต้องเปิดใจกว้าง ถ้าเราปิดตา เราก็ไม่ได้เรียนรู้จริงๆ

ขอถามแทนคนอื่นว่า แล้วทำไมไม่เปิดหนังโรแมนติกคอเมดี้ หนังดูง่ายๆ สบายตาให้นักศึกษาดูล่ะ อันนั้นไม่ใช่วัฒนธรรมเหรอ คุณจะตอบเรื่องนี้อย่างไร

โดยส่วนตัว หนังดูง่ายๆ เราไม่ค่อยสนใจอยู่แล้ว รวมถึงหนังอังกฤษที่ดูง่ายๆ ด้วยนะ โอเค ยอมรับว่าเขาก็สะท้อนวัฒนธรรม เช่น สะท้อนวัฒนธรรมฮอลลีวูด เรื่องตลก แต่เขาไม่ได้สะท้อนอะไรลึกซึ้งที่เราต้องคิดนานว่าหนังพยายามจะสื่ออะไร เป็นความแตกต่างกันระหว่างความบันเทิงกับงานศิลปะ อย่างหนังของอภิชาติพงศ์ (วีระเศรษฐกุล) เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลย เพราะดูแล้วเข้าใจยาก ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือคนไทย ดูแล้วก็เข้าใจยาก

อย่างหนังของพจน์ อานนท์ หรือหนังตลกได้เอาไปสอนไหม เพราะก็ดูเป็นแนวที่สะท้อนภาพสังคมไทยได้อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน

เรื่องของพจน์ อานนท์ เคยดูเรื่อง เพื่อน… กูรักมึงว่ะ เกี่ยวกับผู้ชายที่รักกัน แต่ก็ไม่ใช่หนังตลก หรือถ้าเป็นหนังตลกก็ชอบเรื่อง สตรีเหล็ก แต่หนังตลกใช้ในงานสอนไม่ได้ เพราะ sense of humor แปลยาก ฝรั่งดูแล้วจะรู้สึกว่าตลกแบบไทยไร้เดียงสา ไม่เห็นตลกเลย หรืออย่างเรื่อง บุปผาราตรี ก็จะมีฉากที่นักแสดงตลกของไทยเล่นมุก เช่น คนอ้วนแต่งตัวเป็นกะเทย หรือพูดไม่ชัด คนไทยอาจจะเห็นว่าตลก แต่ฝรั่งส่วนใหญ่ก็รู้สึกไม่ดี ถ้าฉายในมหาวิทยาลัย คนเดินออกหมดเลย เพราะเขามองว่าหนังดูถูกคนพิการ คนอ้วน หรือกะเทย พอเห็นแบบนี้ เราก็ไม่กล้าฉายแล้ว แต่ก่อนเราฉาย บุปผาราตรี ในการสอนทุกปี แต่ตอนหลังไม่แล้ว กระแสเปลี่ยน เดาล่วงหน้าไม่ได้แล้ว

ถ้ามองเฉพาะหนังไทยที่คุณดู มีเรื่องไหนที่สะท้อนภาพสังคมไทยที่คุณอยากพูดถึงไหม

ไม่รู้ว่าหนังเก่าเกินไปหรือเปล่านะ แต่ถ้าดูเรื่อง นางนาก ของนนทรีย์ นิมิบุตร ถึงจะไม่ได้สะท้อนโดยตรง แต่ก็สะท้อนวาทกรรมของคนที่มีอำนาจ เช่น ผีผู้หญิงออกอาละวาดควรจะต้องควบคุม ต้องคุมผู้หญิง คุมผี และคุมชนบทด้วย นางนากเป็นผู้หญิงที่อยู่ชนบท แล้วพระในหนังก็ไม่เก่ง เพราะเป็นพระชนบท ต้องมีคนมาจากในวังเพื่อเข้าไปในชนบทแล้วสอนให้คนเป็นชาวพุทธแท้ๆ เขามีอำนาจทางจิตวิญญาณสูงกว่าคนป่า อันนี้ก็สะท้อนวาทกรรมของคนที่มีอำนาจ

นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้สนใจหนังผี เพราะบางทีหนังผีก็ต่อต้านวาทกรรมของคนที่มีอำนาจเหมือนกัน คล้ายเป็นการตอบโต้คนที่มีอำนาจ เช่น ในเรื่อง บุปผาราตรี เราเห็นว่าบุปผาเป็นตัวละครที่น่าสนใจ เพราะส่วนใหญ่ในหนังผีมักมีคนที่มีอำนาจสูงมาปราบผี แล้วผีก็กลัว แต่ใน บุปผาราตรี ปราบไม่ได้ เขากลายเป็นผู้หญิงที่จะกลับมาหลอกเราเรื่อยๆ คล้ายว่าเป็นคำตอบของคนที่ไม่มีอำนาจ

อยากชวนถอยมองสังคมไทยโดยรวม คุณมองว่าลักษณะโดดเด่นของสังคมไทยคืออะไร บางคนก็บอกว่าคนไทยอดทนเก่ง เป็นพวกประนีประนอม คุณเห็นด้วยไหม  

จะบอกแบบนั้นก็ได้ แต่ทุกอย่างมีข้อยกเว้นนะ โดยรวมก็รู้สึกว่าคนไทยประนีประนอมเก่ง อาจจะเก่งกว่าฝรั่ง เพราะวัฒนธรรมฝรั่งเป็นวัฒนธรรมคริสเตียน มีพระเจ้าองค์เดียว พอยึดอุดมคตินี้แล้วจึงเปลี่ยนไม่ได้ เช่น คนอังกฤษเชียร์ทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล ก็เปลี่ยนไปเชียร์แมนยูไม่ได้ ต้องเชียร์ลิเวอร์พูลตลอดเวลา นั่นก็เป็นพระเจ้าองค์เดียว แต่ในสังคมเอเชีย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า polytheism คือนับถือพระเจ้าหลายองค์ แล้วแต่ว่าวันไหนเราจะบูชาพระองค์ไหน อันนั้นก็ทำให้เราประนีประนอมได้ เพราะเรารู้ว่าในสถานการณ์นี้เราจะประพฤติตัวแบบนี้ แต่ในอีกสถานการณ์หนึ่งเราก็ประนีประนอมได้ สำหรับฝรั่งไม่ค่อยมีโอกาสแบบนี้ หรือถ้าคนทำแบบนี้เราจะเรียกว่าเป็น hypocrite คือมือถือสากปากถือศีล แต่ในเอเชียหลายประเทศที่นับถือพระเจ้าหลายองค์ นี่ก็เป็นวิถีชีวิตธรรมดาที่วันไหนเราอยากได้อะไรจากพระพิฆเนศ เราก็ไปบูชาพระพิฆเนศ วันไหนที่เราอยากมีลูก เราก็ไปบูชานางนาก แล้วแต่บริบท สิ่งนี้ทำให้คนไทยเก่งในการรับหลายสาย แต่ก็มีข้อบกพร่องด้วย เพราะบางทีก็ประนีประนอมมากเกินไป

พูดแล้วก็นึกถึงการ์ตูนที่แซวว่าถ้ารัฐบาลอังกฤษทำอะไรแย่กับประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก คนอังกฤษก็จะยอมรับแล้วไปชงชา แต่คนฝรั่งเศส ถ้ารัฐบาลทำอะไรแย่ๆ ก็ออกไปประท้วงใหญ่เลย ต่างกันมาก

แล้วคนไทยล่ะ ถ้ารัฐบาลทำอะไรแย่ๆ คนไทยมักทำอะไร

อันนี้ก็อยากรู้เหมือนกันว่าในสถานการณ์นี้จะมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่คนไทยก็ประนีประนอมเก่งนะ คงจะหาทางประนีประนอมได้ คงไม่รุนแรงมาก

ถ้าดูจากผลการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา คุณคิดว่าประเทศไทยจะไปทางประชาธิปไตยที่ดีขึ้นไหม เพราะกระแสสังคมดูมาทางประชาธิปไตยมาก

ดูผลการเลือกตั้งแล้วก็ไม่เชื่อจริงๆ ทำให้รู้สึกว่าอาจจะเป็นยุคใหม่ของไทยจริงๆ หวังว่าอย่างนั้นนะ คนที่มีอำนาจคงจะเห็นว่าถ้าเขาไม่ยอมเป็นประชาธิปไตย ก็คงจะมีปัญหากับสังคม เพราะถึงขั้นที่คนเลือกฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมากและเลือกอย่างชัดเจน ดูข่าวจากที่ ส.ว. พูด มีแนวโน้มว่าบางคนก็ยอมรับว่าต้องทำตามประชาธิปไตยแล้ว

คุณคิดว่าอะไรที่พาสังคมไทยมาถึงจุดที่คนเห็นพ้องตรงกันว่าไม่เอาทหารแล้ว ต้องมาทางประชาธิปไตย

เมืองไทย globalize มากขึ้น มีคนรุ่นใหม่ที่หลายคนก็ไปเรียนเมืองนอก ภาษาอังกฤษคล่อง แล้วเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกโลกาภิวัตน์แล้ว ถ้าเทียบที่คุณพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) พูดกับคนรุ่นเก่าพูด วิธีพูดไม่เหมือนกันเลย คือเขาก็พร้อมจะฟังคนอื่น ไม่ใช่สอนอย่างเดียว

แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าเมืองไทยต้องเหมือนฝรั่ง เพราะเราก็ไม่เห็นด้วยที่จะเป็นแบบนั้น เมืองไทยต่างจากวัฒนธรรมฝรั่ง ข้อบกพร่องของฝรั่งคือคิดว่าทุกคนต้องเหมือนตัวเอง รู้ดีกว่าคนอื่น ทุกคนต้องตามวิธีคิดของเรา ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น มีอะไรหลายอย่างที่เราเรียนรู้จากประเทศและวัฒนธรรมอื่นในโลกได้ ซึ่งอยากให้คนตะวันตกเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าคนตะวันตกรู้หมดทุกอย่างแล้วจะสอนประเทศอื่นในโลกได้

พอศึกษาวัฒนธรรมไทยเยอะๆ แล้ว คุณนิยามอัตลักษณ์ตัวเองว่าเป็นใคร เป็นคนอังกฤษ เป็นพลเมืองโลก หรือเป็นใคร

ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอังกฤษ เพราะไม่ชอบความชาตินิยมของคนอังกฤษ แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นพลเมืองโลกก็กลัวว่าพูดอย่างนั้นจะดูถูกประเทศอื่น เพราะเราไม่เข้าใจว่าวัฒนธรรมของประเทศอื่นในโลกเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าเราเป็นพลเมืองโลก ก็เหมือนเราเป็นนักบูรพคตินิยม (orientalist) คือเหมือนว่าเรามีสิทธิที่จะพูดแบบนี้ แต่ที่จริงเราไม่มีสิทธิ แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นชาวอังกฤษก็ไม่อยากพูดเหมือนกัน เพราะมีอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับอังกฤษที่ไม่ชอบ ก็อยากจะบอกว่าเราเป็นคน…คนพันทาง hybrid person (หัวเราะ)

คำถามสุดท้าย ถ้าให้นิยามประเทศไทยด้วยสำนวนไทย คุณจะนิยามว่าอะไร

ชอบที่คนไทยพูดว่า ‘เอาใจเขา มาใส่ใจเรา’ เพราะคนตะวันตกไม่มีความคิดแบบนี้ บางทีเรารู้สึกว่าคนตะวันตกขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ซึ่งถ้าเราไม่มี empathy เราจะไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้ เรื่องนี้สำคัญมาก

‘เอาใจเขา มาใส่ใจเรา’ เป็นความคิดเฉพาะของคนไทยที่ฝรั่งน่าจะเรียนรู้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save