fbpx

ระยิบทรงจำในระยับสวนอักษรของ ‘ศรีดาวเรือง’

“ศรีดาวเรืองเป็นนักเขียนสตรีผู้ยังมีชีวิตอยู่ที่ถูกมองข้ามและได้รับการประเมินค่าโดยวงการวรรณกรรมศึกษาในเมืองไทยไว้ต่ำเกินจริงอย่างไม่น่าให้อภัย” ประโยคข้างต้นคือท่อนเปิดที่ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์เขียนถึง ‘ศรีดาวเรือง’ ไว้ในงานชิ้น ‘วรรณาคดีของศรีดาวเรือง’

คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนักที่จะกล่าวว่าศรีดาวเรืองคือนักเขียนเรื่องสั้นฝีมือโดดเด่น ที่มีผลงานสม่ำเสมอมากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัย เธอเขียนเรื่องสั้นกว่าร้อยเรื่องในระยะเวลาเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่ผลงานเรื่อง แก้วหยดเดียว ตีพิมพ์ครั้งแรกที่วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2518

นับแต่นั้น นามปากกา ‘ศรีดาวเรือง’ ก็ขจรไกลไปในแวดวงวรรณกรรมและนักอ่าน ไม่มีใครรู้ว่าศรีดาวเรืองคือใคร ได้แต่คาดเดากันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเป็นอีกนามปากกาของนายผี หรือนักเขียนชายหัวก้าวหน้าคนอื่นๆ ผู้คนคาดเดาอยู่ไม่กี่ปี ก็ปรากฏบทวิจารณ์เรื่องสั้นของศรีดาวเรืองอย่างละเอียดในนิตยสาร โลกหนังสือ ฉบับเดือนเมษายน 2522 ในชื่อ ‘ศรีดาวเรือง มิติใหม่ของกรรมาชีพ ‘ดิฉันจบ ป.4 …’ จากชนบท โรงงาน สู่ถนนวรรณกรรม’ แต่นั่นก็เป็นเพียงการเล่าเรื่องของศรีดาวเรืองแค่บางเศษเสี้ยวเท่านั้น ยังไม่ได้ระบุแน่ชัดว่านักเขียนผู้นี้คือใคร

กระทั่งนิตยสาร ถนนหนังสือ ฉบับเดือนธันวาคม 2526 ทำสกู๊ปหน้าปกเรื่อง ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรถไฟสายวรรณกรรม’ ทำให้มีการเปิดเผยว่า ‘ศรีดาวเรือง’ หรือ ‘วรรณา ทรรปนานนท์’ (นามสกุลเดิม) คือคู่ชีวิตของสุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและบรรณาธิการชื่อดัง

ถัดจากนั้นอีก 2 ปี นิตยสาร ถนนหนังสือ ฉบับเดือนมีนาคม 2528 เผยแพร่สกู๊ปว่าด้วยชีวิตของศรีดาวเรืองอย่างละเอียด ในชื่อ ‘ศรีดาวเรือง จากกรวดทรายไร้ค่า มาเป็น ‘แก้วหยดเดียว’’ นับเป็นเวลา 10 ปีเต็ม หลังจากเรื่องสั้นเรื่องแรกของศรีดาวเรืองได้รับการตีพิมพ์ ที่เธอได้รับการเปิดเผยอย่างเต็มภาคภูมิ

ผลงานของเธอถูกพูดถึงว่าเป็นเสียงของชนชั้นแรงงานที่ออกจากชนชั้นแรงงาน งานหลายชิ้นบรรยายภาพบรรยากาศและบทสนทนาอย่างได้อารมณ์และแหลมคม ผลงานจำนวนมากได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ‘เรื่องสั้น แม่พระคงคา เถ้าแก่บัก และหมา’ ใน In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era (แปลและเขียนคำนำโดยเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน), A Drop of Glass and Other Stories (แปลและเขียนคำนำเชิงวิเคราะห์โดยเรเชล แฮร์ริสัน) และ Married to the Demon King: Sri Daoruang and Her Demon Folk (แปลและเขียนคำนำเชิงปริทัศน์โดยซูซาน เคปเนอร์) ฯลฯ

ปัจจุบันในวัยกว่า 80 ปี เธออาศัยอยู่บ้านสวนรังสิตกับสามี ลูกชาย สุนัข และสิงสาราสัตว์ตัวเล็กๆ ที่มาอาศัยอยู่ในสวน – สวนที่เธอใช้เวลาอยู่ด้วยแทบทั้งวัน เพื่อดูแลและคุยกับต้นไม้ – และขอโทษ หลายครั้งเธอคุยเป็นภาษาอังกฤษ

เกือบ 50 ปีของการเขียนหนังสือ เธอผ่านอะไรมาบ้าง เก็บเล็กผสมน้อยอะไรในชีวิตจนออกมาเป็นเรื่องเล่าที่คล้ายไม่มีวันหมดสิ้น ปัจจุบันเธอให้เวลากับอะไร และมองสังคมการเมืองอย่างไร ในวันที่เธออาจเขียนหนังสือไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน

บทสนทนานี้มีฉากหลังเป็นเสียงนกร้องและแดดบ่ายที่ลามเลียชั้นหนังสือ – ศรีดาวเรืองยังส่องแสง

ช่วงนี้ทำอะไรอยู่บ้าง อยู่บ้านได้เขียนหนังสือไหม

ตอนนี้ความจำแย่ลงเยอะ งานเขียนหยุดเลย พอนึกว่าจะเขียนอะไร แป๊บเดียวลืมแล้ว ตอนนี้เลยไม่ได้เขียน พยายามคิดว่าจะฝึกสมองอย่างไร เลยกลับไปเรียนเอบีซีในยูทูบ เพราะแต่ก่อนเราก็เรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ตอนนั้นสมองและความจำยังดี แปลหนังสือเด็กได้ประมาณ 30 กว่าชิ้น มาตอนนี้เลยคิดว่าก็ค่อยๆ เรียนภาษาอังกฤษไปทีละนิด ไม่เป็นเรื่องเป็นราวนัก แต่พยายามฝึกสมอง ได้ฟังสำเนียงฝรั่งด้วย ได้ฝึกเขียนด้วย เขามีตัวอักษรขึ้น เราก็กดหยุดไว้ก่อนแล้วเขียน

ที่ทำเยอะคืองานบ้านนะ ทั้งลูกชาย (โมน สวัสดิ์ศรี) ทั้งพ่อเขา (สุชาติ สวัสดิ์ศรี) ก็ไม่แข็งแรง ทั้งบ้านมีคนอายุ 80 อย่างเราแข็งแรงอยู่คนเดียว (หัวเราะ)

ทุกวันนี้เข้าสวนไปดายหญ้าทุกวัน พอเข้าฤดูหนาว ฝนไม่ตกแล้ว หญ้าเยอะมาก สักสองเดือนมานี้ น้ำหนักลดไป 2-3 กิโลกรัม เพราะดายหญ้า แต่มีความสุขที่ได้ทำ ต้นไม้ดูดีขึ้น ใจเราก็ดีขึ้น พอดายตรงนี้เสร็จ เดินออกมา หันกลับไปมองก็ภูมิใจ

ตื่นเช้ามาทำอะไรอย่างแรก

ตื่นตี 5 ต้องหุงข้าวให้หมา ตั้งน้ำร้อนให้คนกินกาแฟ ทำอาหารของคน บางทีก็ไปตลาดแต่เช้า กลับมาซักผ้า ถูบ้าน เลี้ยงหมา ไปเรื่อยทั้งวัน จนรู้สึกว่าวันหนึ่งมี 24 ชั่วโมงน้อยไป ปกติเป็นคนทำงานเร็ว แต่ตอนนี้ช้าลง ไอ้นั่นก็ยังไม่ได้ทำ ไอ้นี่ก็ยังไม่ได้ทำ

ตอนนี้งานที่ต้องช่วยคุณสุชาติก็ไม่ค่อยได้ทำแล้ว เมื่อก่อนเป็นคนพิมพ์ต้นฉบับให้เขา เขาจะแก้อะไรของใครมา พิมพ์ให้หมด แต่ตอนนี้งานเขาไม่ค่อยมี นานๆ จะมีสักที

ถ้ามีเวลาว่างก็เข้าไปดูเฟซบุ๊กบ้างนิดหน่อย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขียนยาวๆ เช่น หันกลับไปคิดถึงพ่อแม่กับยาย เขียนถึงความทรงจำเยอะเลย ตอนนี้หยุดแล้ว ไม่ได้เขียนยาวๆ อีก

เลิกเขียนหนังสือจริงจังไปนานเท่าไหร่แล้ว

เลิกเมื่อปีที่แล้ว เพราะเริ่มจำอะไรไม่ได้ อีกอย่างพอเขียนงานเสร็จแล้ว หนังสือก็ขายกันไม่ค่อยได้ เห็นใจสำนักพิมพ์ บางทีก็ไม่กล้าเสนอสำนักพิมพ์ ชอบทำหนังสือทำมือเอง หลายเล่มเหมือนกัน ก็แค่นั้น ทำเก็บไว้เรื่องละเล่ม

สิ่งที่ชอบอีกอย่างคือชอบเรียนภาษา แต่ไม่เก่งสักที ชอบแปล ได้รู้ว่าที่ต่างประเทศ เด็กเขาคิดและทำอย่างไร ชอบจนคุณสุชาติเคยบอกว่าเราเสียนักเขียนเรื่องสั้นไปแล้ว

เพราะนักเขียนมัวแต่มาแปลหนังสืออยู่?

ไม่ขนาดนั้นหรอก แต่มีความสุข อย่างตอนเข้าไปทำสวน เรามีความสุข สบาย บางทีก็พูดกับต้นไม้ จะเก็บมะนาวสักลูกก็บอกต้นว่า “Thanks, mom.”

คุณตีพิมพ์เรื่องสั้นครั้งแรกกับสังคมศาสตร์ปริทัศน์ปี 2518 ถ้านับตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปีที่แล้ว คุณเขียนหนังสือมาเกือบ 50 ปีแล้ว?

ใช่ ที่ลงสังคมศาสตร์ฯ เพราะอะไรรู้ไหม ที่จริงส่งไปที่อื่น 2-3 ที่ แต่ไม่ได้ลง ตอนนั้นเขียนเรื่อง แก้วหยดเดียว เป็นชีวิตตัวเอง เวลามีตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง รู้สึกว่าได้อารมณ์ไปด้วย คุณสุชาติเลยบอกว่าเรื่องนี้ฉันเอา เป็น บ.ก. เอง ไม่ให้ส่งที่อื่น เลยได้ลงเรื่อง แก้วหยดเดียว ที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์

ย้อนกลับไป คุณเริ่มต้นเขียนหนังสือได้อย่างไร

ตั้งแต่เด็ก อยู่ที่พิษณุโลก พ่อทำงานการรถไฟ เวลาเข้ากรุงเทพฯ ที พ่อก็ขนหนังสือกลับมาที เป็นลังเลย เราก็ชอบอ่าน ติดน่ะ อ่านหนังสือออกตั้งแต่ ป.3 อ่านให้ยายฟัง บางคำไม่รู้ก็ไม่กล้าถามใคร เจอตัวย่อ กก. ก็งง อ่านเป็น กก จริงๆ คือกิโลกรัม ได้แต่คิด ไม่กล้าถาม

บางทีอ่านพล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต เจอชื่อตัวละคร ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ก็สงสัยว่าทำไมต้องมี ดร. น้องชายบอกว่า ก็ย่อมาจากชื่อดิเรกไง แม่ได้ยิน แม่ก็ไม่บอกว่ามันไม่ใช่นะ เพราะแม่ก็จบ ป.4 เหมือนกัน

อ่านหนังสือจนติด บางทีอ่านแล้วไม่ชอบ ก็มาคิดว่าเรื่องน่าจะเป็นอย่างนี้นะ คือความรู้สึกค้านเรื่อง หรือถ้าเจอเรื่องไหนสนุก ก็โอ้โห คิดได้อย่างไร เจอพระเอกนางเอกมีปานดำปานแดงติดตัวมา เป็นลูกเศรษฐี แหม เหมือนความฝันเลย ทำไมเราไม่มีปานดำปานแดงบ้าง ก็จนอยู่อย่างนั้นแหละ

มีนักเขียนในดวงใจไหมตอนนั้น

ไม่รู้เป็นนิสัยการอ่านหนังสือแบบสมัยก่อนไหมนะ เราไม่สนใจชื่อคนเขียนเลย อ่านเอาแต่เรื่อง ดูชื่อเรื่อง น่าสนใจก็อ่าน แล้วอ่านหลายเล่ม พอมาอยู่กับคุณสุชาติ เขาเลยแนะนำหนังสือใหม่ๆ ให้อ่าน ไม่ใช่อ่านไปเรื่อยเฉื่อย

อ่านเยอะเข้าก็อยากเขียน?

ตอนนั้นอายุ 15 เห็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเขาประกาศรับเรื่องสั้น เราก็เขียนส่งไป ตอนนั้นเรื่องที่เขียนนึกเอาล้วนๆ เลย ไม่มีเรื่องของตัวเองเข้าไปเลย เขียนประมาณว่าคนทำดีต้องได้ดี คนไม่ดีต้องถูกต่อว่า ใช้ดินสอเขียนบนสมุดเล่มละสลึง ลายมือก็ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ เขาตอบรับลงในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าได้รับต้นฉบับแล้ว แค่นี้แหละ ดีใจมาก ต้นฉบับไม่ได้ลงหรอก

ตอนนั้นคิดว่าจบแล้วนะที่ไม่ได้ลง คิดเหมือนกันว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร ก็คิดแค่ว่าที่เราทำเป็นคือเลี้ยงน้อง ถูบ้าน ช่วยแม่ทำขนม แค่นี้ เราไม่ฝันเรื่องนักเขียนแล้ว เพื่อนๆ มีสตางค์ได้เรียนมัธยม เขาคิดว่าจะเป็นครู พยาบาล แต่เราไม่คิดเลย คือคิดว่ามันเหนือเกินกว่าจะเป็นไปได้

ไม่คิดเพราะฐานะทางบ้าน?

ใช่ รู้แล้วว่าอย่างไรก็ไม่ได้เรียนต่อกับเขา เรียนจบ ป.4 แล้ว ใบสุทธิยังไม่มีตังค์ถ่ายรูปไปติด เลยไม่ได้ไปเอา แม่ก็บอกว่าไม่ต้องเอาหรอก ไม่ได้ไปเรียนต่อที่ไหน

พ่อทำงานรถไฟ บางทีก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือถ้ากลับมาบ้าน ส่วนมากเราก็นอนแล้ว ส่วนแม่ทำขนมขาย มียายเป็นลูกมือ เราเป็นคนเลี้ยงน้อง เพราะแม่มีลูกหลายคน อยู่บ้านใต้ถุนสูง แม่มีที่อยู่ 6 ไร่ ก็เล่นกันที่ใต้ถุนกับลานหน้าบ้าน แม่นึ่งขนมข้างล่าง เราเป็นคนโม่แป้ง กวนขนม เป็นลูกมือให้แม่

ห่อข้าวไปกินโรงเรียน เดินตั้งไกลนะ กิโลฯ สองกิโลฯ ไม่มีจักรยาน พอกลางวันก็วิ่งกลับมาหาแม่ที่ตลาด บางทีแม่ก็ให้ตังค์ สลึงหนึ่ง วันไหนขายขนมได้มากเราก็ได้มาก ไม่ได้รู้สึกอดอยากมาก คนที่แย่กว่าเราก็มี

พ่อมีอิทธิพลต่อชีวิตเยอะไหม

พ่อไม่เคยด่าลูกด้วยคำพูดแรง ไม่เคยตี พ่อหาหนังสือให้อ่าน เรารักพ่อ แต่ไม่เคยกอดพ่อ พ่อก็ไม่เคยกอดลูก ตื่นขึ้นก็ไปทำงาน อยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่ได้สนิทสนมอะไร ในความทรงจำทั้งพ่อทั้งแม่ไม่มีใครมากอดเราสักทีเลย ไม่รู้สิ ด้วยวิถีชีวิตเป็นอย่างนั้น ทำมาหากิน ลูกเต้าเยอะแยะ

แต่ก็รู้สึกว่าพ่อรักเรานะ มีฉากหนึ่งจำได้แม่น เราไปนั่งทุบหินที่รางรถไฟเพื่อเอาไปเล่นหมากเก็บ นั่งทุบเพลิน เกือบจะโดนรถไฟทับตาย ตอนนั้นพ่อต้องยืนเฝ้าประแจรถไฟ อาจจะไม่เห็นเรา แต่คนอื่นเห็น ตะโกนใหญ่เลย “เฮ้ย ลูกใครวะ รถไฟมาแล้ว” เราตกใจ วิ่งหลบทัน พอรถไฟไปแล้ว พ่อมาหาแล้วบอกว่า “โถ่ ลูกนะลูก จะให้พ่อห่วงไปถึงไหน”

นามปากกาศรีดาวเรืองก็มีจุดเริ่มต้นจากพ่อ เราไปอาบน้ำที่คลอง เดินผ่านเห็นดอกไม้ต้นหนึ่งขึ้นข้างทางเลยเด็ดเอาไปให้พ่อ พ่อถามว่าดอกอะไร เราตอบว่าไม่รู้ รู้แต่ดอกสีเหลือง พ่อเลยตั้งชื่อให้ว่า ‘Yellow Star’ แต่เราก็แปลความว่าคือดอกดาวเรือง ความจริงคือดอกกระดุมทอง

จากชีวิตวัยเด็กที่พิษณุโลก เข้ามาที่กรุงเทพฯ ได้อย่างไร มาทำอะไร

ตอนนั้นเพิ่งออกจากโรงเรียนไม่นาน อายุยังไม่ถึง 15 เลยนะ มากรุงเทพฯ ตอนแรกมาเพื่อเลี้ยงเด็กแถวบางนา ขึ้นรถไฟมาครั้งแรกตื่นเต้นมาก มาถึงหัวลำโพงเจอคนเยอะมาก ไม่เคยเห็นมาก่อน นึกว่าเขามีงานบวชหรืองานแต่งกันหรือเปล่า

ทำงานเลี้ยงเด็กไปสักปีกว่า ได้กลับไปเยี่ยมบ้าน  ตอนนั้นก็คิดอยู่ว่าไม่อยากกลับไปทำงานที่เดิมอีกเลย เพราะรู้สึกตัวเองต่ำต้อยเอามากๆ นายจ้างมีหลายคน บางคนก็ดูถูกดูหมิ่น วันนั้นตัดสินใจบอกแม่ว่าไม่กลับไปแล้วนะแม่ ปกติแม่ดุมาก แต่วันนั้นแม่ใจดี อนุญาต เราดีใจมาก หลังจากนั้นก็ได้กลับไปกรุงเทพฯอีก แต่ไปทำงานที่อื่น แล้วส่งตังค์ให้แม่เช่นเคย เพราะแม่ต้องเลี้ยงน้องหลายคน

ตอนนั้นทำงานอะไรบ้าง ได้เงินโอเคไหม

เลี้ยงเด็กได้เงินเดือนละ 100 บาท ต่อมาเข้าไปทำโรงงานทำแก้ว ได้เดือนละ 120 บาท ให้แม่ 100 บาท เหลือ 20 บาท ไม่พอใช้ เลยหางานพิเศษทำ หลงจู๊ให้ไปล้างส้วม ได้เงินเพิ่มอีกหน่อย เช่าห้องอยู่กับเพื่อน 3-4 คน แต่ละคนไม่มีมุ้ง ไม่มีหมอน มีผ้าห่มหนึ่งผืน ใช้ทั้งหนุนทั้งห่ม

บางทีก็ไปทำงานร้านอาหาร เคยไปอยู่บ้านฝรั่ง เขาเรียกตำแหน่งงานว่ากุลี ทำทุกอย่างแล้วแต่เขาจะเรียกใช้ ทั้งถูบ้าน ชงกาแฟ ตอนนั้นแหละที่เริ่มสนใจภาษาอังกฤษ เพราะเห็นกุ๊กเขาพูดอังกฤษได้ เราอยากพูดเป็นบ้าง

บ้านฝรั่งได้เงินเดือนมากที่สุดเลย เดือนละ 400 บาท ให้ข้าวสารอีกถังหนึ่ง

ระหว่างนั้นเขียนหนังสือเรื่อยๆ ไหม หรือทำงานอย่างเดียว

ทำงานอย่างเดียวเลย จนกระทั่งมาอยู่กับคุณสุชาติ

เจอกับคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีได้อย่างไร

ช่วงก่อน 14 ตุลา มีนักศึกษาปัญญาชนไปพูดที่นั่นที่นี่ เราก็ตามไปฟัง เลยเจอเขาจนจำได้ ตาคนนี้ผมยาว สะพายย่าม ใส่เสื้อม่อฮ่อม พอเริ่มรู้จักแล้ว เขาพูดที่ไหนเราก็ตามไปฟัง

พอได้คุยกันแล้ว เขาก็มีหนังสือมาฝาก เขาคนทำหนังสือ เราคนอ่านหนังสือ ตรงนี้ที่ไปกันได้ คุยกันรู้เรื่อง เขาก็ให้คำแนะนำเรื่องหนังสือ ถ้าไม่มีคำแนะนำ เราก็เลือกหนังสือไม่เป็น เจออันไหนก็อ่านหมด โฆษณาก็อ่าน

ตอนเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ แรกๆ รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยที่สุด ติดดินเลย แต่พออ่านงานของศรีบูรพาเรื่อง ขอแรงหน่อยเถอะ เรารู้สึกเบาขึ้นมาเลย ข้าก็เท่าทุกคน แรงงานสำคัญกว่าเงิน ลองเอาเงินโยนลงไปสิ สั่งให้เงินดายหญ้า มันก็ดายไม่ได้ เราไม่รู้สึกต่ำต้อยอีกต่อไป ใส่เสื้อม่อฮ่อมไปนั่งโต๊ะหรูๆ ได้ ไม่อายแล้ว ไม่กลัวเขาแล้ว

งานชิ้นนี้ดีมาก เราเคยเอาเรื่องนี้ของศรีบูรพามาแต่งเป็นเพลง

แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มเขียนหนังสือจริงจังเลยไหม

ใช่ พอเริ่มก็เรื่อยมาเลย

ตอนเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ แรกๆ รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยที่สุด ติดดินเลย แต่พออ่านงานของศรีบูรพาเรื่อง ขอแรงหน่อยเถอะ เรารู้สึกเบาขึ้นมาเลย ข้าก็เท่าทุกคน แรงงานสำคัญกว่าเงิน ลองเอาเงินโยนลงไปสิ สั่งให้เงินดายหญ้า มันก็ดายไม่ได้ เราไม่รู้สึกต่ำต้อยอีกต่อไป

ตอนนั้นหาเรื่องมาเขียนได้อย่างไร อยากเล่าเรื่องอะไรจึงเลือกเขียนหนังสือ

เราชอบไปเรียนนั่นเรียนนี่ ตอนทำงานที่ร้านอาหาร ก็เรียนพิมพ์ดีดกับเรียนภาษาอังกฤษขั้นต้นหลังเลิกงาน ค่าเรียนพิมพ์ดีดเดือนละ 40 บาท นายจ้างถาม เธอเรียนเพื่อจะไปทำงานนั่งโต๊ะที่ไหน เราก็ตอบไม่ได้นะ ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าเรียนไปทำไม แต่มันอยากรู้อยากเห็น ไม่ได้คิดว่าจะไปเขียนหนังสือด้วยนะ แค่เห็นตอนพิมพ์ออกมาแล้วตัวหนังสือสวยก็ปลื้ม หรือครั้งหนึ่งเคยไปเรียนตัดเสื้อที่โรงเรียนสปัน เพราะคุณสปัน เธียรประสิทธิ์ เป็นแฟนกับชรินทร์ นันทนาคร เราชอบฟังเพลงชรินทร์ เลยไปเรียนที่นั่น

วันหนึ่งนั่งสามล้อถีบผ่านกรมการรักษาดินแดน เห็นคนทำอะไรกันเยอะแยะ สงสัยเลยบอกให้สามล้อหยุด เดินลงไปดูเจอว่าเขารับสมัครนักเรียนยิงปืน สมัครเลย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเรียนไปทำไม คือมันอยากรู้ กรุงเทพฯ เหมือนเป็นแอ่งกระทะ มีวิชาความรู้มากมาย เราเรียนขับรถด้วยนะ จนป่านนี้ยังไม่มีรถเลย

ทุกอย่างที่เรียน เอามาใช้ในงานเขียนได้หมด ตัวละครมีรถก็ได้ เพราะเราเรียนขับรถมาแล้ว นึกย้อนหลังดูตัวเอง ถึงไม่ได้ร่ำรวยมาก ไม่ได้สบายมาก แต่พอใจนะที่มีประสบการณ์มาอย่างนั้น

แต่ก็มีหลายเรื่องที่เล่าจากชีวิตของตัวเองด้วย

ใช่ อย่างเรื่อง ซ่อนกลิ่น ก็เป็นชีวิตตัวเอง ถ้าเรื่องไหนมีชีวิตเรานิดๆ หน่อยๆ จะได้อารมณ์ เพราะมีส่วนหนึ่งของเราเข้าไป แต่หลายเรื่องก็เขียนจากการเห็นคนอื่น เช่น บางทีไปเห็นชาวบ้านนิสัยแย่มากเลย ก็เก็บเอาบุคลิกของเขามาเป็นตัวละคร ตัวร้ายๆ แย่ๆ ใช้ได้เลย มีประโยชน์สำหรับคนเขียนหนังสือทั้งส่วนดีและไม่ดี

งานเขียนของคุณได้รับการชื่นชมเรื่องการบรรยายเสียงพูดได้ถึงอารมณ์ เหมือนเป็นบทสนทนาที่คนคุยกันจริงๆ เวลาเห็นบุคลิกนิสัยคน เก็บมาเขียนอย่างไร

มันฝังใจเลยนะ เวลาได้ยินเสียงคนตะโกนคุยกัน จำได้แม่น ตอนนั้นอยู่ดอนเมือง เช้าเราไปทำงาน คนข้างบ้านจะตะโกนทักว่า “อ้าว บุกแต่เช้าเลยนะ” ได้ยินแทบทุกวัน ผลสุดท้ายก็เอามาใช้เลย มันแปลกๆ ด้วย ไม่เห็นมีใครทักกันแบบนี้ ถ้าเราคิดคำพูดเองทั้งหมด คงไม่ค่อยได้คำมาเขียนมากมาย

ตอนช่วงการเมืองแรงๆ ช่วงปี 2516-2519 ช่วงนั้นความคิดทางการเมืองเป็นอย่างไรบ้าง

แรกๆ เลย ตอนก่อน 14 ตุลา ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ตอนนั้นเป็นลูกจ้างเขาอยู่ ดูข่าวบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่รู้เรื่อง ได้ยินว่ามีนักศึกษาออกมาประท้วง ตอนนั้นในสมองมีแต่ภาพเด็กหัวเกรียนชั้นประถมหรือมัธยม ไม่รู้ว่านักศึกษาจริงๆ เป็นอย่างไร เราเลยคุยกับเพื่อนว่า ไอ้เด็กพวกนั้นจะรู้เรื่องอะไร วิทยุก็บอกว่ามีพวกญวนเข้ามาสนับสนุน เลยบอกเพื่อนว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องเข้าข้างรัฐบาลเนอะ แต่แหม ตอนนั้นยังไม่เคยเลือกตั้งสักครั้งเลยนะ (หัวเราะ)

หลังจากนั้นมีอยู่วันหนึ่ง ออกจากห้องพักจะไปทำงาน ยืนที่ป้ายรถเมล์ มีคนขับรถเมล์คนหนึ่งจอดรถตรงป้าย บนรถไม่มีผู้โดยสารเลย ตะโกนลงมาว่า “ใครอยากไปดูเขายิงกันไหม ผมจะไปดูลูกผม ลูกผมเป็นนักศึกษาคนหนึ่ง เป็นตำรวจคนหนึ่ง” ตอนนั้นก้าวขึ้นรถเลย พอรถไปถึงสนามหลวงก็ลง ไม่รู้ว่าคนขับรถเขาเจอลูกไหมนะ แต่เราเดินไปคนเดียว เห็นตำรวจทหารถือปืนยาว นักศึกษาคนหนึ่งกำลังจะข้ามถนน เราก็อยากข้ามด้วย เขาบอก “พี่ๆ กลับไปเลย อันตรายมากเลยพี่ อย่าเข้าไป” พูดแล้วยังขนลุก โอ้โห มันอย่างไรกันแน่ ก็ยอมเชื่อเขา กลับ ดูแล้วน่ากลัวมาก ตอนนั้นก็เพิ่งเข้าใจ อ๋อ นักศึกษาคือคนหนุ่มสาวกันทั้งนั้นเลย

หลังจากนั้นก็เริ่มสนใจ นี่เรื่องอะไรกัน วิทยุยานเกราะพูดไปอีกอย่างหนึ่ง แต่เสียงจากฝั่งนักศึกษาเราไม่ค่อยได้ยิน จะได้ยินจากไหน ถ้าไม่ไปเห็นเอง จนมาถึง 6 ตุลา ถึงได้เข้าไปเห็นเยอะหน่อย

ตอนช่วง 6 ตุลาเข้าไปร่วมชุมนุมแค่ไหน อย่างไรบ้าง

เวลาเขามีชุมนุมก็ไปฟัง ไปธรรมศาสตร์ครั้งแรกกับคุณสุชาติ ไปถึงปุ๊บก็แยกกัน เขาไปหาเพื่อนฝูง เราเดินคนเดียว เห็นเก้าอี้ก็คิดว่าจะนั่งได้หรือนี่ เราก็ไปนั่งหมิ่นๆ บนเก้าอี้ กลัวคนว่า พอได้นั่งฟัง ก็เริ่มสนใจการเมืองมากขึ้น

พอเขียนนิยายเรื่องแรก ซ่อนกลิ่น ก็ใส่ฉากการเมืองเข้าไปเยอะเหมือนกัน มีคำประกาศของคณะปฏิวัติ มีเสียงปืน

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ช่วงที่คนเริ่มหนีเข้าป่า ตอนนั้นคุณสุชาติก็ต้องหนีออกจากบ้านด้วย เราต้องขนหนังสือออกไปฝัง ขุดหลุม กลบดิน แล้วปลูกต้นไม้ไว้บนนั้น แต่ก็ยังมีเพื่อนฝูงคอยช่วยเหลือ

ตอนนั้นมีความคิดทางการเมืองเข้มข้นแค่ไหน

เราเป็นคนไม่รุนแรง ไม่เข้มข้นนัก แต่ก็ฟัง อยากฟังทั้งสองข้าง ไม่ว่าเหลืองหรือแดงสมัยนี้ก็เหมือนกัน เพราะสมัยที่คนยังไม่ทะเลาะเรื่องการเมืองรุนแรง ก็ยังคุยเรื่องหนังสือหนังหาได้สนุกสนาน แต่พอแยกสีกัน บางคนก็ไม่มองหน้ากัน

เราก็คุยกันเรื่องที่คุยได้ แต่ไม่ถึงกับถืออาวุธมาห้ำหั่นกัน แล้วเราก็ไม่ใช่คนเก่งมากมาย แต่เป็นคนที่เก็บข้อมูลหรือประโยคที่เขาสนทนากันเอามาไว้ในงานของเรา

ตอนนั่งเขียนงาน มีกระบวนการอย่างไรบ้าง ใช้อะไรเขียน และใช้เวลาเขียนนานไหม

เราเขียนมือก่อน ติดมาจากคุณสุชาติ แต่ก่อนเขาเขียนมือ แล้วให้เราพิมพ์ดีดให้ ตอนนี้เราก็ติดเขียนมือก่อน ไม่อย่างนั้นจะไปชักช้าที่หน้าจอ บางเรื่องเขียนรวดเดียวจบได้ เพราะมีเค้าโครงอยู่แล้ว เมื่อเขียนจบต้องไม่รีบตรวจทาน พักงานไว้ก่อนสักสองอาทิตย์ถึงหนึ่งเดือน พอกลับมาดูอีกทีจะมีที่แก้อีกเยอะ

เวลาศรีดาวเรืองเขียนหนังสือเสร็จ ก็จะให้สุชาติ สวัสดิ์ศรีอ่านก่อน?

ใช่ ตอนแรกเป็นอย่างนั้น แต่พอบินได้แล้วก็ไม่ให้ดู (หัวเราะ)

งานชิ้นแรกๆ คำวิจารณ์จากคุณสุชาติเป็นอย่างไรบ้าง

เขาก็ไม่ค่อยพูดหรอก อ่านแล้วก็จิ้มไปเรื่อยว่าตรงนี้ๆ บางทีเขาก็เขียนเหมือน บ.ก. รับเรื่องสั้นจากที่อื่นมา มีการแก้ ตัด ไม่ค่อยอธิบายเท่าไหร่

ส่วนมากปรับอะไร

ภาษา ซึ่งบางทีเราก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะภาษาคือของเรา ถ้าเชื่อมากๆ ก็เป็นของเขา แต่ตอนแรกๆ ต้องยอม จริงๆ ที่นับว่าเป็น บ.ก. คนแรกคือคุณวินัย อุกฤษณ์ ที่เราส่งเรื่องสั้นไปให้เขา เพราะคุณสุชาติเหมือนคนที่บ้านน่ะนะ ไม่ค่อยอธิบายอะไรเท่าไหร่

คนพูดถึงประเด็น ความเป็นหญิง ในงานของศรีดาวเรืองเยอะ ตอนเขียนมีความตั้งใจอยากจะเล่าเรื่องสิ่งที่ผู้หญิงต้องเผชิญไหม

ตอนที่มีเรื่องสั้น มัทรี ก็โดนเยอะเหมือนกัน แต่ก็มีคนค้านเหมือนกันว่าผู้หญิงยุคนี้ก้าวหน้าแล้ว แต่กลายเป็นว่าความต้องการของคนเขียนกับความเข้าใจในเนื้อเรื่องของผู้วิจารณ์ไม่ตรงกัน

เรื่อง มัทรี มีอยู่ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งพาลูกไปนั่งตรงป้ายรถเมล์ แล้วบอกลูกว่าให้อยู่ตรงนี้นะ เดี๋ยวก็มีคนมา ใครชวนไปด้วยก็ไปอยู่กับเขา คือทิ้งลูก แล้วตัวเองก็หนีไป แต่ถูกจับได้ ตำรวจก็เอาไปสอบสวนว่าทำไมใจดำขนาดนี้ ลูกตัวเองยังจะมาทิ้งได้ ผู้หญิงก็ย้อนให้ว่า แล้วพ่อมันล่ะ มาดูแลไหม ตำรวจก็เถียงไม่ได้ แล้วผู้หญิงก็ถามตำรวจว่า เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาปไหม ตำรวจก็บอกว่า เชื่อสิ ใครทำบาปก็ต้องได้บาป ผู้หญิงเลยว่าถ้าฉันทำบาป ฉันก็ต้องได้รับบาปของฉันเอง ตำรวจไม่ต้องมาลงโทษหรอก

ตอนที่ผู้หญิงคนนี้บอกว่า ทีผู้ชายทำไมยังทิ้งลูกได้ ตำรวจถามว่าใคร ผู้หญิงเลยบอกว่าพระเวสสันดรไง สุดท้ายเถียงกันจนตำรวจจับผู้หญิงไปส่งโรงพยาบาลบ้า พอถึงตรงนี้เราเลยตั้งชื่อเรื่องว่ามัทรี ทั้งที่จริงมัทรีไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย

เรื่องนี้คนก็วิจารณ์เยอะว่าศรีดาวเรืองทำแบบนี้ได้อย่างไร คล้ายๆ ว่าเล่นของสูง ทีนี้ก็มีคนเห็นแย้งไปว่า ทำไมจะทำไม่ได้ ทีผู้ชายยังทิ้งได้ ผู้หญิงก็ทิ้งได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่อย่างที่เราตั้งใจไว้ ที่จริงเราตั้งใจเขียนเรื่องศาสนาว่าเวลาหาเหตุผลไม่ได้ ศาสนาพุทธมักจะเอาเรื่องบาปบุญคุณโทษมาอ้าง มีคนเอาเรื่องนี้ไปอ่านให้เพชรา เชาวราษฎร์ฟัง เพชราบอกว่าผู้หญิงคนนี้ไม่บ้านะ แสดงว่าเขาตั้งใจฟังเหมือนกัน

เราตั้งใจเขียนเรื่องศาสนา แต่คนจับไม่ได้ เราเขียนแล้วคนอ่านไม่ค่อยเข้าใจ แสดงว่าเรายังทำไม่สำเร็จ

ตอนนั้นต้องใช้ความกล้าหาญในการเขียนมากไหม

ไม่ได้กล้าหาญอะไรเลย ก็มองดูว่าชาวพุทธเป็นอย่างนี้นะ น่าจะแก้ไขให้ดีกว่านี้ อย่างท่านพุทธทาสคนก็ไม่ค่อยศึกษาเท่าไหร่ บางคนบอกว่ายาก เราก็ว่าไม่ถึงกับยากนะ เช่น ท่านพุทธทาสบอกว่าไม่ต้องถึงกับต้องแต่งตัวสวยๆ ออกไปใส่บาตรทุกวันหรอก ทำบุญที่บ้านก็ได้ เราก็ค่อยๆ คิด ทำบุญก็คือทำความดี ทำอะไรที่มีประโยชน์ แต่หลายคนแต่งตัวสวยต้องไปวัด ต้องเอาเงินไปถวายพระ บางคนขายบ้านขายช่อง เอาเงินถวายวัดหมด เชื่อว่าชาติหน้าจะสุขสบาย ไปหวังอย่างนั้น เชื่ออย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่แก่นศาสนาเลย

ใช้ชีวิตมาถึงตอนนี้แล้ว มองย้อนชีวิตตัวเองกลับไปคิดว่าคุ้มค่าไหม มีอะไรที่ยังอยากทำแล้วไม่ได้ทำไหม

มีสามอย่าง คิดไว้แต่ไม่ได้จังหวะสักที

หนึ่ง อยากบวชชี อยากรู้ว่าชีวิตในวัดเป็นอย่างไร

สอง อยากเป็นลูกเสือชาวบ้าน ทั้งที่เราไม่ได้เห็นด้วยนะ อยากรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรกัน ทำไมถึงอยู่คนละฝั่งคนละฟากกับนักศึกษาเลย อยากรู้วิธีคิด ไม่ใช่เข้าไปทะเลาะกับเขา อยากรู้วิธีการทำงาน

สาม ชอบเต้นรำ แต่แถวบ้านไม่มีที่เต้น เราเคยเรียนเต้นรำสุนทราภรณ์แล้วชอบ ตอนเรียนครูเคยชมว่าคุณเต้นเก่งที่สุดในนี้เลยนะ เหมือนนิยายเลย เราก็เคลิ้มฝันไป แต่ครูชมมากี่คนแล้วไม่รู้นะ

พอชีวิตเป็นอย่างนี้ก็ไม่ค่อยมีโอกาส ถ้าแถวนี้มีโรงเรียนสอนจะแวบไป คนแก่หลายคนเขาก็ชอบนะ ได้ออกกำลังด้วย เพลิดเพลินกับจังหวะ

ทุกวันนี้ฟังเพลงอะไร

ตอนอยู่บ้านนอกฟังลูกทุ่ง แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ ฟังลูกกรุง ซื้อแม่ไม้เพลงไทยมา เปิดทุกคืนก่อนนอน ชอบฟังทูล ทองใจกับสุเทพ วงศ์กำแหง สองคนนี้เสียงดี อารมณ์อยู่ในเนื้อเพลงหมดเลย เหมือนเขามีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

เนื้อเพลงก็มีเรื่องรักเรื่องเศร้า แต่พอรันไปถึงลูกทุ่ง สนุกสนาน หายง่วง ต้องเปลี่ยนเพลง เพราะจะนอนน่ะ อยากให้เพลงกล่อมให้หลับไป

ดูข่าวไหม

ดูทีวี ตอนเช้าเจอสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) พอมาตอนเย็นก็จะเจอศิโรตม์ (คล้ามไพบูลย์) ได้หลายข่าว

เห็นข่าวการเมืองแล้วรู้สึกอย่างไรกับภาวะบ้านเมืองตอนนี้บ้าง

เศร้า ยังคิดอยู่เลยว่าโควิดกับการเมือง อันไหนจะดีขึ้นก่อนกัน

การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องในภาคการเมืองแล้ว เด็กถูกขังไว้ ยังไม่ได้ขึ้นศาลตัดสินเลย เขาถูกจับแบบไม่มีอะไรเลย จะยัดข้อหาเมื่อไหร่ก็ได้ ใครฟ้องก็ได้ เราทั้งเศร้า ทั้งไม่รู้จะไปช่วยอย่างไรได้ กลัวออกไปเป็นภาระให้เด็กๆ คุณสุชาติยังไปบ้าง ไปยืนหยุดขัง

เด็กยุคนี้เขากล้าหาญ


ศรีดาวเรืองในสายตาสุชาติ สวัสดิ์ศรี

เส้นทางชีวิตในสายตาเดียวกัน

“ช่วงหลัง 14 ตุลา ที่ธรรมศาสตร์เหมือนเป็นเขตปลดปล่อย มีกิจกรรมแทบทุกวัน มีทั้งกลุ่มชาวนา กรรมกร และนักศึกษา ผมเองก็ร่วมขบวนกับการเรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแต่ช่วงเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็น 1 ใน 100 คนที่เรียกร้องจนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา

ศรีดาวเรืองเขาก็คงสนใจสิ่งที่เกิดขึ้น อยากรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผมขึ้นพูดบนเวทีบ่อย มีการแนะนำว่าผมเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และเขาเป็นคนชอบเดินร้านหนังสือ บังเอิญไปเห็นสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็จำได้ว่าผมเป็น บ.ก. เขาก็คงไปดูว่าสังคมศาสตร์ปริทัศน์อยู่ที่ไหน มีเบอร์โทรศัพท์ไหม ก็มีหญิงลึกลับคนหนึ่งโทรมาเพื่อเช็กดูว่าใช่ไหม จริงหรือเปล่า เขาก็มาแนะนำตัวเอง เพราะตอนนั้นเขาก็ทำงานหลายที่ ก็ได้พบกัน

14 ตุลาเป็นจุดเริ่มต้น เขาเช่าบ้านอยู่คนเดียว ผมเป็นหนุ่มโสด บ้านอยู่ทุ่งสีกัน จะเข้าเมืองทีก็ไกลอยู่ เพราะฉะนั้นเลยขอไปอยู่กับเขา

ไม่ได้คิดว่าเป็นรักแรกพบ ไม่ได้คิดว่าจะอยู่ด้วยกันมานานขนาดนี้ ตอนนั้นมีหนังสือเรื่อง การแต่งงานในทัศนะใหม่ ที่วิทยากร เชียงกูลกับพรภิรมณ์ เอี่ยมธรรมแปลร่วมกัน ตอนเจอกัน ผมก็แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้เขาอ่าน ก็อยู่ด้วยกันมาที่ห้องเช่าของเขา ผมทำชั้นหนังสืออยู่ชั้นบนของบ้าน มีทั้งซื้อหนังสือมาเอง มีทั้งคนให้มา อยู่นานจนกระทั่งเจ้าของบ้านบอกว่าบ้านทรุด หนังสือหนัก เลยตัดสินใจว่ากลับบ้านเราเถอะ ตอนนั้นก็คิดว่าอย่างน้อยได้อยู่ด้วยกัน เหมือนอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรีพูดน่ะ “ความรักไม่ใช่การมองตากัน แต่คือการมองไปทางเดียวกัน” ระยะแรกอาจจะมองตากัน แต่ระยะต่อไปมองไปในทางเดียวกัน คือ the same direction

เราอยู่ด้วยกัน ผมรู้สึกว่ามัน same direction เขาก็ช่วยงานผมด้วย ผมเขียนด้วยลายมือ เขาพิมพ์ดีดเป็น ก็เลยเหมือนกลายมาเป็นผู้ช่วย บ.ก. พิมพ์ต้นฉบับทั้งของผมและของคนอื่นๆ ที่ผมอีดิต ที่น่าตลกคือผมพิมพ์ดีดไม่เป็น ปัญญาชนพิมพ์ดีดไม่เป็น ทำงานด้านหนังสือ เขียนต้นฉบับด้วยลายมือ แต่เขาพิมพ์สัมผัสได้

ตอนมาพบเขาที่ห้องเช่า มีหนังสือที่ผมแปลกใจ เช่นนิยายแปล ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ หนังสือ ‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต’ ของสุพจน์ ด่านตระกูล ผมก็นึกในใจ อะไรกัน ผู้หญิงธรรมดาๆ แต่มีหนังสือแบบนี้อยู่ในห้องเช่า ยิ่งพอมีหนังสือของผมเข้ามาเต็มห้อง เขาก็สนใจอยากอ่าน อยากศึกษา

วันดีคืนดี ผมก็ไปเจอเขาเขียนกลอนเปล่า ตอนนั้นก่อนจะมีเรื่องสั้นลงที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ผมก็บอกว่านี่มันบทกวี แต่เขาไม่รู้จัก บทกวีคืออะไร เขาถาม ผมก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่ผมเห็นก็เลยยุให้เขาเขียนหนังสือ ก็ บ.ก. น่ะนะ นิสัยเสีย ผมบอกให้เขาลองเขียนอะไรมาให้อ่านอีก เขาก็เขียนเรื่องสั้นมา ผมบอกเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ลองส่งไปที่อื่น เรื่องสั้นช่วงแรกๆ ส่งไปที่ลลนาและสตรีสาร ใช้ชื่อนามสกุลจริงของเขาส่งไป ตอนนั้นไม่ได้ใช้นามสกุลสวัสดิ์ศรี เพราะเรายังไม่ได้แต่งงานกัน ส่งไปครั้งแรก เข้าใจว่าไม่ได้ลง

เขาเขียนอีกหลายเรื่อง ส่งไปหลายที่ แต่ผมอ่านเจอเรื่องสั้นที่เขาเขียนถึงสมัยทำงานโรงงานแก้ว เรื่องนี้ดี ผมเลยเอาไปลงที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จำได้ว่าปี 2518 ก็ลงพิมพ์เรื่อง แก้วหยดเดียว ตอนนั้นเขาใช้นามปากกา ผมก็แนะนำว่าเรื่องที่ส่งไปที่อื่นให้ใช้นามปากกา

เขาตั้งนามปากกาว่า ‘ดาวเรือง’ จากที่นึกถึงพ่อ ผมเป็นคนเติมคำว่า ‘ศรี’ ให้ เพราะสมัยก่อน พวกนักเขียนชายเอาไปใช้หมด สมัยก่อนมีตระกูลศรี ตระกูลแม่ เช่น ศรีบูรพา แม่อนงค์ ฯลฯ นักเขียนชายทั้งนั้น คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผู้หญิงเขียน ผมเอาคำว่าศรีมาเติมข้างหน้า แล้วให้เขาส่งไปในนามปากกานี้ โดยไม่ให้ที่ติดต่อ ไม่บอกว่าเป็นใคร เพราะฉะนั้นเวลาเรื่องได้ลงก็ไม่ได้ค่าเรื่อง ทำอย่างนี้มาจนกระทั่งหลัง 6 ตุลา

ย้อนกลับไปช่วงก่อน 6 ตุลา ประมาณช่วงปลายปี 2518 ช่วงวันเกิดเขา ผมบอกว่าจะเลี้ยงปีใหม่ ชวนพรรคพวกมา ก่อนหน้านี้คนสงสัยแล้ว เพราะมาบ้านชายโสดที่ทุ่งสีกัน แล้วมาเจอผู้หญิงคนหนึ่ง เพื่อนก็สงสัย พอบอกว่าจะจัดงานปีใหม่ คนที่รู้เรื่องก็มากันหลายคน ที่ไม่คิดว่าจะมาก็มา เช่น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, สุจิตต์ วงษ์เทศ ฯลฯ ก็แบบนั้นแหละถือว่าเป็นงานแต่งแล้ว อยู่ด้วยกันอย่างเปิดเผย เวลาพรรคพวกมาบ้านนี้จะได้ไม่แปลกใจอีกต่อไป ต่อไปนี้เราออกไปข้างนอกก็เดินไปด้วยกัน แต่ก่อนเวลาออกไป ผมเดินนำหน้า เขาเดินตามหลัง

เราจดทะเบียนกันหลัง 6 ตุลา เพราะผมหลบซ่อนอยู่ รอบๆ ตัวเต็มไปด้วยลูกเสือชาวบ้าน ผมก็กลัวว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับผม เขาจะไม่มีที่ไป แล้วเขาก็ถูกญาติๆ มองว่าเป็นสาวญวนมาอยู่กับผม ช่วงนั้นผมไม่ได้กลับบ้าน แต่ให้เขากลับบ้านเพื่อเปิดไฟให้แถวนั้นรู้ว่ายังมีคนอยู่ ผมหลบอยู่เซฟเฮาส์ไม่ไกลจากบ้านนัก ตอนนั้นคิดจะเข้าป่าหรือลี้ภัยไปต่างประเทศ แต่ไปต่างประเทศก็ไม่รู้จักใคร ส่วนเข้าป่าผมก็มีปัญหาขัดแย้งทางความคิด เลยตัดสินใจหลบอยู่ตามเซฟเฮาส์ ตามโรงแรมต่างๆ  ไปไกลที่สุดคือชลบุรี

ผมหลบกลับมาบ้าน 14 ตุลาคม 2519 บอกพี่ชายพี่สะใภ้ให้ช่วยเป็นพยาน เราจะจดทะเบียนกันแล้ว หากผมไม่อยู่แล้ว เขาจะได้มีบ้านอยู่ หลังจากจดทะเบียนผมก็บอกเขาว่าจะไปอยู่ที่ไหนแล้วก็หลบไปเลย พอเหตุการณ์คลี่คลาย ก็เลยอยู่กันมาถึงตอนนี้”

“เขาเขียนหนังสือเก่งกว่าผม”

“สถานะที่ปรากฏของศรีดาวเรืองในสมัยนั้นเป็นความแปลก หนึ่ง เป็นผู้หญิง สอง จบ ป.4 แต่เขียนหนังสือเก่งกว่าผม

ช่วงที่มีเรื่องของศรีดาวเรืองเข้าไปรอบช็อตลิสต์รางวัลซีไรต์ กรรมการบางคนไม่เชื่อว่า ป.4 จะเขียนได้ มันต้องเป็นผมแน่ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เปิดเผยว่าศรีดาวเรืองเป็นใคร คนก็เข้าใจผิดว่าเป็นผม แล้วก็เข้าใจผิดไปหลายอย่างด้วย เช่นคิดว่าเป็นนามปากกาของนายผี หรือของพวกนักเขียนก้าวหน้าคนอื่น แต่ที่แย่ที่สุดคือมองว่าเป็นนามปากกาจัดตั้งของ พคท. เป็นนามจัดตั้งที่ใครในสายจัดตั้งก็เอาไปใช้ได้ ซึ่งตรงนี้ หลัง 6 ตุลา มันมีปัญหา เพราะเราไม่ได้เข้าป่า

หลัง 6 ตุลา ผมไม่เข้าป่า ช่วงปี 2520 ผมทำงานที่โลกหนังสือแล้ว เลยตัดสินใจว่าต้องเปิดเผย ตอนนั้นคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง ทำงานกับผมอยู่แล้ว เลยคุยกันว่าถึงเวลาต้องเปิดเผย ตอนนั้นสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน ยังไม่มี 66/23 ที่นิรโทษกรรมให้คนออกจากป่า ก็ใช้วิธีเอาแค่รูปสมัยสาวๆ ของเขามาขึ้นปกโลกหนังสือ[1] แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร มีความสัมพันธ์กับใคร มาเปิดเผยกันอีกทีว่าเป็นใครก็ตอนที่ถนนหนังสือมาสัมภาษณ์[2]

ในช่วงแรกก็ต้องวิจารณ์งานตามตรง เขาก็ยอมรับ ผมก็ให้คำแนะนำ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาพอใจแค่ไหน เขาเขียนงานเชิงความจริง ใช้ประสบการณ์เขียน ซึ่งก็เป็นคำแนะนำที่หลายคนชอบพูด รู้จักอะไรก็เอาสิ่งนั้นมาเขียน ยังไม่ต้องไปเขียนในลักษณะที่ซับซ้อนเป็นสัญลักษณ์มากนัก เขาก็เริ่มต้นจากตรงจุดนี้

การช่วยเรื่องภาษาก็มีบ้าง สำหรับนักเขียนทุกคนน่ะ ผมแก้ ‘จึง ซึ่ง ที่ ก็’ ให้หมด ทุกคนที่ได้ช่อการะเกด มีชื่อเป็นนักเขียนซีไรต์ ​เป็นศิลปินแห่งชาติ ผมก็แก้ทั้งนั้น แก้แล้วผมก็ให้ต้นฉบับเขาไปดู เขาก็จะปรับแก้ภาษาของเขาให้ดีขึ้นไปเอง แต่สำหรับศรีดาวเรือง เหมือนเขาลัดขั้นตอนได้เอง เพราะเวลาผมแก้ต้นฉบับคนอื่น เขาพิมพ์ต้นฉบับให้ เขาก็คงเห็นว่าผมแก้อะไร เขาเรียนรู้ไวมาก จนกระทั่งช่วงหลังผมคิดว่าเขาเขียนเก่งกว่าผมน่ะ เขาเขียนเรื่องเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างที่ผมไม่เคยคิดว่าผมจะเขียนได้ ส่วนใหญ่เวลาผมเขียนมักจะมีความคิดเชิงซ้อนแบบพวกปัญญาชนน่ะ เขียนแบบจิตใต้สำนึก แบบ monologue ก็อย่างที่เขาวิจารณ์งานของผมว่าอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องนั่นแหละ แต่ของศรีดาวเรืองเขาเขียนประเด็นซับซ้อนออกมาแบบธรรมดาๆ ที่คนอ่านแล้วเห็นว่ามีนัย มีสัญลักษณ์ เช่น คนดายหญ้า, มัทรี ฯลฯ

เขามีประสบการณ์ตรง คือเป็นกรรมกรโรงงานแก้ว เป็นคนใช้ เป็นคนที่ถูกกระทำมาตลอด แต่สนใจหาความรู้ใส่ตัว ชอบเรียนภาษาอังกฤษ ผมเคยพูดกับเขาว่า ถ้าเขาไม่เจอผม แล้วมีโอกาสได้เรียนสูงๆ เขาอาจจะไม่มาเป็นนักเขียนแบบนี้ก็ได้ คงจะไปเป็นนักแปล หรือเป็นอะไรๆ อย่างอื่นไปแล้ว ทุกวันนี้เขาก็ยังฝึกอ่านภาษาอังกฤษ แปลหนังสือเด็กไปเรื่อย ทั้งที่รู้ว่าคงไม่มีใครเอาไปพิมพ์

ด้วยสถานะแบบนี้ งานเขียนของเขาจึงออกมาในลักษณะของคนใช้แรงงานเขียนถึงปัญหาของตัวเอง ซึ่งแบบนี้มีน้อย ไม่ค่อยปรากฏนัก ส่วนใหญ่จะเป็นงานเขียนแบบพวกปัญญาชนพูดภาษามาร์กซิสต์ ใช้คำใหญ่ๆ ในแบบที่ไม่ใช่ความรู้สึกนึกคิดของคนในชนชั้นนั้นๆ”


[1] โลกหนังสือ ฉบับเดือนเมษายน 2522 นำรูปของศรีดาวเรืองมาขึ้นหน้าปก พาดหัวว่า ‘ศรีดาวเรือง ‘มิติใหม่’ ของกรรมาชีพ’ พร้อมบทวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องสั้นในชื่อ ‘ศรีดาวเรื่อง มิติใหม่ของกรรมาชีพ ‘ดิฉันจบ ป. 4 …’ จากชนบท โรงงาน สู่ถนนวรรณกรรม’ โดยจำรัส ถนอมมิตร และธีรา ยุทธวรรณ เปิดเผยภายหลังว่าผู้เขียนคือรัศมี เผ่าเหลืองทอง

[2] ถนนหนังสือ ฉบับเดือนธันวาคม 2526 สกู๊ปปกเรื่อง ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรถไฟสายวรรณกรรม’ และ ถนนหนังสือ ฉบับเดือนมีนาคม 2528 สกู๊ปปกเรื่อง ‘ศรีดาวเรือง จากกรวดทรายไร้ค่า มาเป็น ‘แก้วหยดเดียว’’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save