พิมพ์ใจ พิมพิลา และ ภาวิณี คงฤทธิ์ เรื่อง
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ฝุ่นในปัจจุบันจะเบาบางลงไป ทั้งความหนาแน่นของฝุ่นในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและกระแสสังคมตามสื่อต่างๆ ที่มีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยลง แต่การที่อากาศในกรุงเทพฯ ปลอดโปร่งขึ้นไม่กี่วันไม่ได้หมายความว่าฝุ่นพิษเหล่านั้นจะหายไป ยิ่งกว่านั้นเมื่อเสียงความกังวลที่กรุงเทพฯ เงียบลงไป ทำให้ปัญหาฝุ่นพิษที่ยังหนักหนาในต่างจังหวัดถูกละเลย ขณะเดียวกันประชาชนก็ยังไม่ได้เห็นการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพจากรัฐบาล
ยังไม่อาจพูดได้ว่าปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ จะไม่กลับมารุนแรงอีก เมื่อกิจกรรมสร้างฝุ่นในพื้นที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ควันจากรถยนต์หลากขนาด รวมถึงอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันยังคงสร้างฝุ่นพิษให้สะสมขึ้นเรื่อยๆ
ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่มคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา ‘ฝุ่น : มิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ’ หยิบยกประเด็นปัญหาสำคัญในเชิงสังคมศาสตร์มามองปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ วารสารศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพื่อจะได้เห็นมิติอื่นนอกเหนือจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ที่มีการให้ข้อมูลกันมากช่วงที่ผ่านมา
แม้จะมองได้ว่าปัญหาฝุ่นสร้างผลกระทบต่อทุกคน แต่ผลกระทบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเสมอหน้า คนทำงานในห้องแอร์ที่มีเครื่องฟอกอากาศย่อมได้รับผลไม่เท่าคนหาเช้ากินค่ำที่ทำงานตามท้องถนน อย่างคนงานก่อสร้าง คนเก็บขยะ หรือคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่หนทางแก้ปัญหาที่ผู้บริหารประเทศชี้ให้ทำคือบอกให้คนเลิกขายไก่ย่างริมถนน ให้คนหาหน้ากากมาสวม แต่ไม่จี้ไปที่จุดใหญ่อย่างโรงงานอุตสาหกรรมที่น่าจะสร้างปัญหามากกว่าร้านขายไก่ย่าง
ท่ามกลางวิธีแก้ปัญหาด้วยการฉีดน้ำบนถนน โดยไม่มีการตั้งหน่วยงานที่ให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างชัดเจนและทันท่วงที จึงควรมีการทบทวนแง่มุมต่างๆ ในปัญหาที่เกิดขึ้น จนถึงแนวทางแก้ปัญหาที่ควรจะเป็นเมื่อฝุ่นพิษยังไม่จางหายอย่างแท้จริง
ยิ่งจนยิ่งเจ็บ

เมื่อไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบแล้วหน้าที่ในการแก้ปัญหาถูกโยนให้เป็นเรื่องของปัจเจก กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วย คนยากจน ที่มีความสามารถในการดูแลตัวเองน้อยจะได้รับผลกระทบก่อน
สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เล่าว่าตนเองเป็นผู้ป่วยปอดพิการจากการทำงาน และรู้สึกถึงความผิดปกติวันที่อยู่กลางแจ้งและไม่ได้ใส่ผ้าปิดจมูก จากนั้นจึงเป็นไข้และอาการจากปอดอักเสบที่หายไปนานก็กลับมาแสดงอาการ
สมบุญบอกว่าในทีแรกเธอไม่รู้จัก PM 2.5 มาก่อน จนได้ยินจากข่าว แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จึงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งแล้วมาค้นหาข้อมูลต่อ เธอไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเรียกว่า PM 2.5 เพราะสำหรับคนที่ไม่รู้ว่าคืออะไร เมื่อได้ยินคำนี้แล้วไม่สื่อความหมายอะไรเลย
“ปัญหาเรื่องฝุ่นมีผลกระทบต่อคนจนมาก ผ้าปิดจมูกอย่างถูกก็ราคา 30 บาทแล้ว ยิ่งป่วยอยู่แล้วยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ปกติเสียค่ายาอยู่แล้วเดือนละเป็นพันบาท ใช้สิทธิสามสิบบาทไม่ได้ เพราะไม่มีคลินิกอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม พอสุขภาพไม่แข็งแรงมากขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อการทำงาน
“แถวหน้าบ้านกำลังมีการสร้างรถไฟฟ้าทำให้ฝุ่นคลุ้งมาก มองไปบริษัทใหญ่โตเขามีเงินหลายสิบล้านเป็นโครงการใหญ่ แต่ปล่อยให้มีฝุ่นควันฟุ้งไปตามถนน ตึกรามบ้านช่องต้องปิดทั้งแถบ กระทบคนยากจนหาเช้ากินค่ำไม่สามารถเดินขายของได้ คนไม่มีเงินอยู่แล้วพอเจ็บป่วยเสียค่ายาทำมาหากินไม่ได้ก็ยิ่งลำบากยิ่งจนเข้าไปอีก ครอบครัวจะอยู่ยังไง เราไม่มีเงินเก็บ นี่เป็นความวิกฤตของประเทศไทยและวิกฤตของคนจน ที่จนอยู่แล้วยิ่งจนมากไปอีก สุขภาพก็แย่ลง ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นยังไง มองไม่เห็นอนาคตคนยากจนเลย” สมบุญกล่าว
ฝุ่นกับความเหลื่อมล้ำ

ด้าน รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากพฤติกรรมที่ทุกคนช่วยกันทำ ทั้งการใช้รถ ใช้ไฟฟ้า โดยละเลยว่ากำลังสร้างสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อคนอื่น และเอาความสุขของตัวเองเป็นที่ตั้ง รัฐจึงต้องเข้ามาจัดการดูแลว่าจะควบคุมอย่างไร
“กิจกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ต้องตั้งคำถามว่าระหว่างคนจนกับคนรวยใครปล่อยมลพิษมากกว่ากัน แม่ค้าขายไก่ย่างเป็นคนจน โรงงานเป็นคนรวย แล้วคนที่ได้รับเคราะห์เป็นคนรวยหรือคนจน คนกรุงเทพฯ ใช้รถ ใช้ถนน ใช้ไฟ โดยไม่สนใจว่าโรงไฟฟ้าอยู่ที่ไหน คนกรุงเทพฯ อยากได้รถไฟฟ้า รอว่า 3 ปีเมื่อก่อสร้างเสร็จจะสะอาดเอี่ยม โครงการรถไฟฟ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่มีการทำ EIA แต่ละโครงการมีมาตรการที่ดี แต่บังเอิญมีการสร้างรถไฟฟ้าพร้อมกัน 3-4 สาย เช่นเดียวกันต่อให้ ม.ธรรมศาสตร์บำบัดน้ำเสียออกไปได้ใสระดับหนึ่ง โรงพยาบาลศิริราชก็บำบัดน้ำใสระดับหนึ่ง ร้านค้าริมน้ำก็ทำได้ใสระดับหนึ่ง แต่ระดับความใสของแต่ละคนไม่สามารถที่จะเอามาอาบน้ำได้ สุดท้ายถ้าแถวท่าน้ำเป็นน้ำนิ่งไม่ไหลก็เน่าแบบคลองแสนแสบได้”
นิรมล ยืนยันว่าต้องมี การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) ทั้งโครงการรัฐและเอกชนต้องนึกถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน และผู้ก่อมลพิษต้องเป็นคนรับผิดชอบ แต่เมื่อโครงการรถไฟฟ้าเป็นของรัฐ ไปตรวจมลพิษก็ไม่เจอ ระงับก็ไม่ได้เพราะมีระบบสัมปทาน เราไม่มีการวางแผน ไม่มีคู่มือว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติแล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดหรือไม่ เช่นที่สิงคโปร์เมื่อค่า AQI สูง จะสั่งห้ามเด็กและผู้สูงอายุออกจากบ้านแล้วทุกคนปฏิบัติตาม คนออกนอกบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้นและทุกคนใส่หน้ากากเดิน ผลกระทบจึงเบาบางมาก
“เราไม่ได้ตระหนักว่าจะได้รับผลกระทบจากสิ่งที่ตัวเองก่อ แต่ถ้าจะหาทางป้องกันดูแลตัวเองแล้วเรามีศักยภาพในการป้องกันแค่ไหน มาตรการรัฐจึงต้องจัดการให้กลุ่มเปราะบางก่อน ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย บางอย่างต้องแจกฟรี ให้สิทธิ์เข้าตรวจที่โรงพยาบาล ต้องมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ส่วนเศรษฐกิจต้องเดินต่อไป เช่นถ้าจำเป็นต้องขายไก่ย่างจะจำกัดเวลาได้ไหม อย่างน้อยต้องมีเงินเลี้ยงครอบครัว
“รัฐต้องใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาจัดการ โดยคำนึงถึง 1.ความเหลื่อมล้ำทางสังคม คือ กลุ่มเปราะบาง 2.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การระงับกิจกรรมของคนที่มีรายได้น้อยควรมีช่องทางในการเยียวยา เช่น คนขับรถเมล์ หาบเร่แผงลอย ประเด็นสำคัญคือกรุงเทพมหานครยุติกิจกรรมบางอย่างได้หรือไม่ เช่นหยุดโรงเรียนแล้วใครจะดูแลลูก หรือ 3 เดือนนี้ให้ทำงานที่บ้านได้ไหม”
นิรมลบอกว่าในปัญหามลพิษยังทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ คนภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสานเจอหมอกควันมาก่อน แต่ไม่มีคนมาร้องเรียน ไม่มีใครบอกว่าต้องมีเขตควบคุมมลพิษ แต่หมอกควันภาคเหนือเกิดจากกิจกรรมในพื้นที่อื่นหรือจากการเผาหญ้าเผาฟาง แล้วหากหมอกควันจากข้าววิ่งเข้ากรุงเทพฯ จะทำอย่างไร ชาวนาทำให้เดือดร้อนแต่เราต้องกินข้าวเขา ขณะที่มลพิษในกรุงเทพฯ คนรวยเป็นคนก่อ แต่คนจนได้รับผลกระทบ มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า สร้างตึกสูง สร้างมหาวิทยาลัย ขับรถยนต์ได้ตามอัธยาศัย จึงอยากให้มองว่าผู้ก่อมลพิษทางอากาศเป็นคนจนหรือคนรวย แล้วรัฐจะช่วยคนจนหรือคนรวย
“ฝุ่นจากโรงงานมีมานานแล้วและคนกรุงเทพฯ ไม่เคยพูดถึง โรงงานปูนที่สระบุรีมีคนตายเพราะฝุ่นในปอด แต่กลับไปตายที่บ้านเกิด ตัวเลขคนตายจึงไม่เกิดขึ้นที่สระบุรี เรามีความสุขกับการเพิ่มขึ้นของตึกในเมือง โดยไม่รู้สึกว่าควรพอแล้ว นี่คือความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ คนแถวโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะเป็นโรคปอดขณะที่เรามีความสุขกับการใช้ไฟฟ้า เราไม่เคยตั้งคำถามกับคนกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีโรงไฟฟ้าของตนเอง ไม่มีปูนเป็นของตนเอง ไม่มีบ่อขยะของตนเอง เพราะเอาไปทิ้งที่อื่น”
การจัดการข้อมูลข่าวสารที่มัวยิ่งกว่าฝุ่น

แม้จะมีคนบอกว่าสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์กำลังจะตายแต่ดูเหมือนวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ครั้งนี้กำลังบอกเราว่าสื่อโทรทัศน์ยังจำเป็นอยู่
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามกับผู้ร่วมเสวนาบนเวทีว่ารับรู้ข่าวสารเรื่องฝุ่นจากช่องทางใด
“คนชนชั้นกลางถึงชั้นล่างจะรับรู้ข่าวสารผ่านสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์หรือวิทยุ ขณะที่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถือว่าเป็นชนชั้นกลางค่อนมาทางสูงจะได้รับข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะกลายเป็นข่าว ฉะนั้นถ้าถามว่าคนส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพิงสื่อไหนเป็นหลัก คำตอบคือสื่อโทรทัศน์”
วิไลวรรณกล่าวเสริมว่า โดยปกติผู้คนจะได้รับข้อมูลเรื่องสาเหตุของการเกิดภาวะวิกฤต วิธีป้องกัน หรือวิธีแก้ไขจากการรับชมโทรทัศน์ แต่ข่าวสารที่ปรากฏในเหตุการณ์ฝุ่น PM 2.5 ครั้งนี้กลับต่างออกไป เธอให้ข้อสังเกตว่าในการสื่อสารเรื่องฝุ่นที่ผ่านมามีความสับสนเกิดขึ้นมากมาย เกิดเฟคนิวส์ตามโซเชียลมีเดีย ประชาชนควรจะได้รับความเข้าใจในแง่ความรู้ แต่กลับมีเพียงแค่ ‘เรื่องดราม่า’ เท่านั้น ในกระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสาร สื่อจะยึดข้อมูลที่ได้มาจากรัฐเป็นหลัก ย่อยสารให้เข้าใจง่ายและส่งต่อสารนั้นให้ประชาชนรับรู้ แต่สำหรับครั้งนี้เรียกได้ว่าผิดตั้งแต่เริ่มต้น
“แทนที่สื่อจะให้ข้อเท็จจริงหรือความรู้แก่ประชาชน กลับเล่นข่าวในเชิงดราม่าเป็นส่วนใหญ่ เราเห็นภาพเมืองที่มีฝุ่นหนาปกคลุมจนทำให้ผู้คนเริ่มตื่นตัวและพัฒนาเป็นเรื่องดราม่า แต่กลับไม่มีใครออกมาชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น การจัดการข้อมูลข่าวสารในการสื่อสารของรัฐบาลนี้เรียกได้ว่าล้มเหลวเป็นศูนย์ รัฐมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษชี้แจงก็มีวิธีให้ข้อมูลที่ดูจับต้องได้ยาก ความถี่ในการให้ข้อมูลในแต่ละวันก็น้อย เพื่อนนักข่าวบอกว่าไม่มีคนให้ข้อมูลและข้อมูลที่มีก็เข้าใจยากมาก ถ้ารัฐสนใจทำอินโฟกราฟฟิกหรือคลิปความรู้ออกมา คนทำสื่อก็พร้อมหยิบไปเผยแพร่ต่อ แต่รัฐไม่ได้หาพาร์ทเนอร์ที่เล่าเรื่องเป็นและเล่าเรื่องเก่ง เลยทำให้ฝุ่น PM 2.5 เป็นแค่ข่าวดราม่า ทำให้ความตระหนักหายไป เป็นเพียงแค่ความตระหนกกับข่าวดราม่าเท่านั้น”
วิไลวรรณ เน้นย้ำว่าคำว่า ‘เฟคนิวส์’ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ข่าวเท็จ แต่รวมถึงการผสมระหว่างข่าวจริงและไม่จริง นี่คือสิ่งน่ากลัวที่เกิดขึ้นกับสื่อมืออาชีพ ถ้ารัฐมีการจัดการชัดเจนต้องตั้งกองอำนวยการขึ้นมาแถลงชัดเจน สื่อจะได้รู้ว่ามีที่พึ่งพิงหลักที่ไหนแทนที่จะต้องไปหาเอง
บทบาทรัฐบาลในยุคฝุ่นตลบ

ในท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญคือการควบคุมและแก้ปัญหาจากรัฐบาล ซึ่งต้องกลับมาทบทวนกันว่าท่าทีในปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลไทยมองเรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารหรือไม่ แล้วอะไรทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ออกมาเป็นภาพการฉีดน้ำบนถนนหรือการปล่อยละอองน้ำจากตึกใบหยก ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมาให้คำตอบในเรื่องนี้
“ในเชิงโครงสร้างทางสถาบัน การบริหารจัดการในบ้านเราอาจจะมีปัญหา เช่นกรุงเทพมหานครบริหารจัดการ 50 เขตพื้นที่เหมือนกันหมด รัฐบาลก็บริหารจัดการแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังเมือง การบังคับใช้กฎหมาย ทุกพื้นที่ใช้เหมือนกันหมดซึ่งไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีจุดวิกฤตต่างกัน ถ้ายังมองแต่ส่วนกลาง ไม่เห็นปัญหาว่าเป็นปัญหา แบบนี้จะบริหารจัดการไม่ได้ ปัญหาไม่ได้มีแค่เรื่องฝุ่นแต่เกี่ยวข้องไปถึงระบบโครงสร้างสถาบันด้วย”
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ แบ่งปัญหาหลักๆ ออกเป็น 3 เรื่อง 1.กฎหมายที่ล้าหลัง 2.ความไม่เข้าใจ 3.การสื่อสารที่ผิดพลาดของรัฐบาล
“เหตุที่ไม่มีการประกาศภัยพิบัติและไม่สร้างศูนย์บัญชาการ เพราะระบบราชการไทยและรัฐบาลไทยทำงานไม่เป็นหากไม่มีกฎหมายหรือพระราชบัญญัติเขียนให้ทำ แล้วกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเป็นกฎอ่อนมากกว่ากฎแข็ง คือไม่ได้เขียนชัดว่าห้ามทำหรือทำได้ ขณะที่ลักษณะกฎหมายไทยโดยทั่วไปคือการเขียนสั่งให้ทำหรือไม่ให้ทำ ถ้าเป็นประเทศที่เจริญแล้วจะมองว่าสิ่งที่ไม่ได้เขียนให้ทำแต่มิได้ห้าม หากเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมแล้วนั้นให้สามารถกระทำได้
“แต่การใช้หลักการนี้ต้องวางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อใจว่าการกระทำนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐในประเทศเราไม่ได้วางอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ต่อให้ท้องถิ่นที่เข้าใจปัญหาตัวเองได้ดีและอยากลุกขึ้นใช้มาตรการบางอย่างทันที ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือจะตอบคำถาม สตง. และ ป.ป.ช. อย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาพูดเรื่องนี้ต้องแก้เชิงโครงสร้าง เช่น พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ไม่เคยกำหนดว่าฝุ่นเป็นอันตราย ขาดการอธิบายเรื่องการทับถมจนเป็นมลภาวะและกลายเป็นภัยพิบัติได้”
ปัญหาต่อไปคือเรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างรัฐกับประชาชนไปจนถึงรัฐกับรัฐด้วยกันเอง ทวิดามองว่าไม่จำเป็นต้องตั้งศูนย์อำนวยการขึ้นมาใหม่ เพราะมีหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสาธารณภัยอยู่แล้ว นำไปสู่อีกปัญหาคือเรื่องความเข้าใจของผู้คน เมื่อประชาชนกับรัฐบาลมองระดับความอันตรายของปัญหาต่างกัน ซึ่งคนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือภาครัฐ
จากเรื่องความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้สะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่อย่างการสื่อสาร ดังจะเห็นที่กรมควบคุมมลพิษออกมาให้ข้อมูลที่เข้าใจยาก การจัดการปัญหาภาวะวิกฤตหรือภัยพิบัติ สื่อเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมภาวะโกลาหลแตกตื่นของสาธารณะ ผู้นำต้องมีการฝึกฝนสำหรับการตอบคำถามเวลาเกิดภัยพิบัติ ข้อความต้องไม่ยาวมาก ในภาวะวิกฤตต้องอัพเดทข้อมูลทุกกี่นาที มีส่วนงานที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะทำงานประสานงานกับสื่อหน่วยต่างๆ และไม่ใช่ให้ใครมาพูดก็ได้
ทวิดายืนยันว่าเรื่องฝุ่นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการขอความร่วมมือจากสาธารณะ เพราะต่อให้เราพยายามอย่างดีที่สุดที่จะไม่สร้างฝุ่นควันจากบ้านตัวเอง แต่เมื่อรวมกันแล้วผลที่ได้ก็ยังต่ำกว่าระดับที่จะแก้ปัญหาได้ จึงเป็นหน้าที่รัฐที่จะบอกให้ใครไปทำที่จุดไหน
“การบริหารจัดการวิกฤตไม่สามารถทำได้บนการตัดสินใจฉับพลันของผู้มีอำนาจทางการบริหาร ต้องมีการทำข้อมูลความเสี่ยงเก็บไว้และวิเคราะห์อย่างชัดเจน มีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมาตรการระยะยาวส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน แต่มาตรการระยะสั้นสามารถใช้นโยบายสาธารณะที่แบ่งเฉพาะสำหรับคนแต่ละกลุ่มได้ เช่น กลุ่มคนเปราะบางที่ไม่มีความสามารถในการตอบโต้สถานการณ์ระยะสั้นได้
“ในสถานการณ์วิกฤตและฉุกเฉิน ต้องใส่ใจกลุ่มคนเปราะบางมากกว่ากลุ่มคนปกติ มีมาตรการกึ่งช่วยเหลือ หรือมีข้อยกเว้นพิเศษให้บางจุด แต่ต้องทำบนพื้นฐานของข้อมูลเพื่อป้องกันอิทธิพลของกลุ่มต่างๆ ที่มีต่อการกำหนดโซนนิ่งเพื่อใช้มาตรการพิเศษ และถ้ามีนโยบายห้ามทำอะไรก็ต้องห้ามให้เด็ดขาด อย่าให้มีข้อยกเว้น ต้องเป็นมาตรการที่เสมอภาค”
ทวิดากล่าวทิ้งท้ายที่ชวนให้คิดว่าจากเหตุการณ์นี้น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการรับมือต่อปัญหาของสังคมไทยต่อไป
“การเปลี่ยนพฤติกรรมคนและหน่วยงานของประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้เพราะข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะก็เกิดขึ้นได้ด้วยข่าวร้ายมากกว่า เพราะคนรู้ว่าไม่ทำจะเจออะไร มากกว่าทำแล้วได้อะไร”
