fbpx

ตอบโจทย์หมอลาออกในสถานการณ์ลิงแก้แห: Dos and Don’ts จากมุมมองการคิดเชิงระบบ

1

หมอไม่พอหรือการจัดการระบบสุขภาพไม่ดีพอ?

ปัญหาการลาออกของแพทย์ใช้ทุนจำนวนมากกลายเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจมากในระยะที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากสังคมไทยบางส่วนไม่เคยรับรู้ปัญหานี้มาก่อนแม้ว่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีอยู่นานแล้ว แต่การที่สื่อมวลชนและประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจต่อปัญหาดังกล่าว คงไม่ใช่เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงปัญหาเชิงเทคนิคด้านการจัดการบุคลากรภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เท่านั้น แต่เพราะการลาออกของแพทย์รุ่นใหม่รวมไปทั้งความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพของสถานพยาบาลภาครัฐ ส่งผลให้เกิดปัญหาคุณภาพในการใช้บริการสุขภาพของประชาชน และยังเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อความยั่งยืนของระบบบริการสุขภาพภาครัฐภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาวได้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารหน่วยงาน สธ. รวมทั้งประชาชนจำนวนมาออกมาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากหลายมุมมอง ทุกฝ่ายต่างยอมว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานหลายสิบปี มีความซับซ้อนซึ่งอาจไม่สามารถแก้ไขได้อย่างลุล่วงได้ในทันทีทันใด และที่สำคัญคือปัญหาดังกล่าวเป็น ‘ปัญหาเชิงระบบ’ ซึ่งไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยนโยบายระยะสั้นหรือใช้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเห็นที่ตรงกันของหลายฝ่ายว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงระบบ เราสังเกตเห็นได้ว่าในการนำเสนอข้อมูลและการอภิปรายหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวในหลายโอกาส ทั้งโดยผู้กำหนดนโยบายภาครัฐและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อาจจะยังเข้าใจไม่ตรงกันเมื่อกล่าวอ้างอิงถึงการแก้ไขปัญหาเชิงระบบว่าครอบคลุมถึงประเด็นในการทำงานเรื่องใดบ้าง ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากความเข้าใจที่ยังไม่ตรงกันว่า ‘ปัญหาเชิงระบบ’ ที่หลายคนพูดถึงหมายถึงอะไร ทำให้ขาดความชัดเจนว่า ‘กระบวนการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ’​ ควรเกี่ยวข้องกับใครบ้าง หรือมีขั้นตอนอะไรบ้าง

ในการแก้ไขภาวะขาดแคลนแพทย์เรื้อรังของภาครัฐ ‘ภาพสุดท้าย’ ที่เราต้องการเห็นคงไม่ใช่เพียงมีแพทย์รุ่นใหม่ลาออกจากโรงพยาบาลรัฐน้อยลง และคงไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นจนไม่ต้องทำงานหนักต่อเนื่องหลายวันหลายคืนจนอาจเกิดผลเสียต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเท่านั้น แต่การแก้ปัญหาเชิงระบบนี้ควรจะช่วยให้เราสามารถเดินทางไปสู่ภาพฝันของการมีระบบสุขภาพในรูปแบบที่ดีกว่าเหมือนที่เราสามารถพบเห็นได้ในบางประเทศ เราคงต้องการเห็นภาพของระบบสุขภาพที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงทีมบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนได้เมื่อมีความจำเป็นได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องพึ่งพาเพียงบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐเท่านั้น เราคงต้องการเห็นบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานอย่างมีความสุข มีระบบสนับสนุนการทำงานที่ดีจากผู้บริหารหน่วยงาน สามารถพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และได้รับค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะทำงานในภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ตาม แต่เราจะใช้การแก้ไขปัญหาเชิงระบบเพื่อช่วยกันค้นหาวิธีการทำงานที่จะนำเราออกจากปัญหาในปัจจุบันและทำให้ภาพฝันเหล่านั้นเป็นจริงได้อย่างไร?

ในบทความนี้ ผู้เขียนในฐานะแพทย์คนหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงระบบในการทำวิจัยนโยบายสุขภาพ และเคยมีส่วนร่วมทำงานศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทย[1] จึงพยายามรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดการแก้ไขปัญหาเชิงระบบให้ตรงกัน เพื่อช่วยกันอภิปรายต่อยอดและใช้การแก้ไขปัญหาเชิงระบบสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาแพทย์ใช้ทุนลาออก จัดการความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐ และพัฒนาระบบสุขภาพอย่างยั่งยืนให้สามารถดูแลประชนได้อย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นธรรมมากขึ้น

2

กระบวนการแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดอย่างไร?

แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบเดิมที่เราเคยทำมาตั้งแต่ในอดีต รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จากการแสดงความคิดเห็นของผู้กำหนดนโยบายสุขภาพ ผู้บริหารหน่วยงานด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งประชาชนจำนวนมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและการสังเคราะห์มาตรการแก้ไขปัญหาหลายด้านจากหลายมุมมอง

แต่มาตรการแก้ไขปัญหาที่ถูกนำเสนออาจจะยังไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่คิดครบถ้วนทั้งระบบทั้งหมด หลายมาตรการยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วน ซึ่งนอกจากอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ผลแล้วอาจทำให้เกิดปัญหาใหม่แทรกซ้อนขั้นมาจากมาตรการแก้ไขปัญหาของเราอีกด้วย เปรียบเสมือนหมอที่ ‘รักษาแค่อาการ’ ของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังไม่ได้ค้นหา ‘สาเหตุของโรค’ อย่างถ่องแท้เพื่อที่จะวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องก่อนที่จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดกับโรค ทำให้ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ผลจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง หรือมีการเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาที่อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ ตรงกับสำนวนไทยที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเหมือน ‘ลิงแก้แห’ (ดูข้อจำกัดของตัวอย่างมาตรการแก้ไขปัญหาที่รวบรวมและวิเคราะห์ไว้ในภาคผนวกท้ายบทความ)

ความตั้งใจที่ดีในการแก้ไขปัญหาของผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารหน่วยงาน หรือผู้เชี่ยวชาญกลุ่มต่างๆ อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เราสามารถบรรลุผลสำเร็จในการทำงานนี้ได้ ถ้าหากเรายังคงใช้วิธีคิดแยกส่วนในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังและซับซ้อนมากอย่างปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบบริการสุขภาพภาครัฐ เนื่องจากปัญหาการลาออกของแพทย์ใช้ทุนจำนวนมากในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกับระบบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและกระบวนการนโยบายสาธารณะอีกหลายประเด็นที่อาจจะเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่หรือความเชี่ยวชาญของของผู้กำหนดนโยบายหรือผู้บริหารของแต่ละหน่วยงาน ได้แก่

– ระบบการบริหารจัดการองค์กร (organizational management) โดยฉพาะการจัดการกำลังคนภายในแต่ละสถานพยาบาลบนพื้นฐานความแตกต่างของแนวคิดระหว่างวัย (generation gap)

– ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมของแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพ (health professional education systems) โดยเฉพาะระบบการเรียนรู้จากการทำงานของวิชาชีพสุขภาพ

– ระบบการคลังสุขภาพ (health financing systems) โดยเฉพาะระบบการคลังสุขภาพที่เชื่อมโยงค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยของแต่สถานพยาบาลกับค่าตอบแทนของบุคลากรด้านสุขภาพในภาครัฐ

– ระบบโครงสร้างพื้นฐานของการทำงานในภาครัฐ (healthcare infrastructure systems) โดยเฉพาะระบบสารสนเทศสุขภาพและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางแผนนโยบายด้านกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ (data analytics) รวมทั้งระบบสวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐ

– ภาวะผู้นำและการอภิบาลระบบ (leadership and governance) โดยเฉพาะการกำหนดกรอบกฎเกณฑ์การกำกับดูแลระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงทั้งการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพในตลาดแรงงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน (regulatory framework) 

ระบบย่อยที่การทำงานเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ดีว่าทำไมปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาเชิงระบบ ซึ่งไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาซับซ้อนนี้ได้ด้วยการดำเนินนโยบายเพียงบางเรื่อง แต่ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องทำงานในจุดที่สามารถเชื่อมโยงระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในกระบวนการแก้ไขปัญหา

3

การแก้ไขปัญหาเชิงระบบคืออะไร? มีหน้าตาเป็นอย่างไร?

การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systemic change) วางอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเรื่อง ‘การคิดเชิงระบบ’ (systems thinking)[2] [3] ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางของการแก้ไขปัญหาซับซ้อนที่เกิดขึ้นในสังคม นอกจากการที่เราจะต้องสืบค้นไปถึงรากเหง้าของปัญหาเพื่อที่จะลงมือแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดเหมือนกับแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยทั่วไปแล้ว นโยบายหรือมาตรการที่เป็นการจัดการเชิงระบบจึงยังมีจุดเน้นอีกอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

1) มุ่งออกแบบกลไกการแก้ไขปัญหาจากการคิดวิเคราะห์แบบเป็นองค์รวม (holism) โดยพิจารณาครบทุกปัจจัยในระบบที่เกี่ยวข้องที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อป้องกันการสร้างปัญหาใหม่หรือปัญหาแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากมาตรการที่ใช้แก้ไขปัญหาที่คิดไม่ครบถ้วนรอบด้าน

2) มุ่งแก้ไขปัญหาในระดับวิธีคิด ผ่านการร่วมกันทำความเข้าใจมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน เพื่อทำให้เรามองเห็น ‘กระบวนทัศน์’ (paradigm) ‘ทัศนคติ’ (mindset) และ ‘ฐานคิด’ (mental model) ที่ทำให้เรายอมรับโครงสร้างการทำงานที่สร้างปัญหานั้นขึ้นมาตั้งแต่แรก และเพื่อกำหนดเป้าหมายใหม่ในการทำงานร่วมกันโดยใช้มุมมองใหม่ในการทำงานแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่จำกัดเพียงแค่การออกแบบนโยบายหรือวิธีทำงานแก้ไขปัญหาภายใต้ข้อจำกัดของหน่วยงานหรือกติกาเดิมเท่าที่มีอยู่เท่านั้น

3) มุ่งปรับโครงสร้างของระบบการทำงาน หรือปรับกฎกติการที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกัน โดยไม่ยอมรับว่าปัญหาซับซ้อนและเรื้อรังเกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลเท่านั้น แต่เกิดจากปัจจัยที่ฝังอยู่ในโครงสร้างของระบบ (endogeneity) ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมส่วนบุคคลของคนหรือองค์กรภายในระบบ ทำให้นโยบายหรือมาตรการที่ออกแบบให้เป็นเพียงแรงกระตุ้นในการปรับพฤติกรรมเพียงชั่วครั้งชั่วคราวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบ (structural change) ที่ส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมของคนหรือองค์กรในระบบภายในระยะยาวจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ผลอย่างยั่งยืน

วิธีคิดแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานความเข้าใจดังกล่าวเป็นหัวใจในการทำงานแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาซับซ้อนและเรื้อรังในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน[4] นอกจากนั้น ความเข้าใจดังกล่าวยังอาจช่วยลดความขัดแย้งในกระบวนการแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย เพราะหากเราสามารถมองเห็นและยอมรับได้ว่าตัวเรา (หรือหน่วยงานของเรา) ก็อาจมีส่วนร่วมในโครงสร้างการทำงานที่สร้างปัญหานั้นขึ้นมา แสดงว่าตัวเราก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการทำงานนั้นเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องมองตนเองเป็นเพียง ‘เหยื่อของระบบ’ ที่ออกแบบมาผิดพลาดจนทำให้ตนเองต้องเดือดร้อน ซึ่งอาจทำให้เราทำได้เพียงแค่การตำหนิผู้อื่นหรือเรียกร้องให้ผู้อื่นจากภายนอกระบบมาแก้ไขปัญหาให้

เราสามารถสรุปแนวการจัดการเชิงระบบดังกล่าวเป็นข้อแนะนำที่ควรทำและข้อควรระวังที่ควรหลีกเลี่ยงในกระบวนการทำงานแก้ไขปัญหาเชิงระบบ[5] ดังนี้

ข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ (do)ข้อควรระวังในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ (don’t)
1. เน้นการจัดการกับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งที่เป็นความสัมพันธ์ทางตรงและความสัมพันธ์ทางอ้อมซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย แม้ว่าแต่ละฝ่ายอาจยังไม่เคยรับรู้ว่ามีส่วนร่วมทำให้เกิดปัญหานั้นก็ตาม และเน้นการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนานโยบายที่สร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน1. หลีกเลี่ยงการเร่งพัฒนานโยบายหรือมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาซับซ้อนก่อนการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุของปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างของระบบ (jump to the conclusion) เพราะเข้าใจผิดว่าการจัดการกับสาเหตุที่สังเกตุเห็นชัดเจนตรงไปตรงมาเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาแล้ว
2. เน้นการออกแบบนโยบายหรือมาตรการที่การสร้างความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นที่เอื้อไปสู่การสร้างความสำเร็จในระยะยาว2. หลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดว่าการแก้ไขปัญหาโดยนโยบายที่สร้างผลลัพธ์ในระยะสั้นจะทำให้เกิดผลลัพธ์แบบเดียวกันในระยะยาว แต่ในความเป็นจริงมาตรการเร่งซ่อมแซม (quick fix) ส่วนใหญ่มักทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ในระยะยาว
3. เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละหน่วยงานหรือผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของระบบในภาพรวมให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน (optimize the system by improving the relationship among the parts)3. หลีกเลี่ยงการพัฒนานโยบายหรือมาตรการที่เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพของแต่ละหน่วยงานเท่านั้น (หรือพัฒนาแต่ละส่วนย่อยของระบบเท่านั้น) เพราะเข้าใจผิดว่านโยบายหรือมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพของแต่ละส่วนย่อยจะทำให้เกิดประสิทธิภาพของระบบใหญ่ (optimize each part of the system)
4. เน้นการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และทุ่มเททรัพยากรทำงานอย่างต่อเนื่องเฉพาะบางนโยบายหรือบางมาตรการซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จุดคานงัดของระบบ (high-leverage points)4. หลีกเลี่ยงการเรียกร้องให้ทุกคนทุกหน่วยงานพยายามทำงานเต็มที่ในทุกเรื่องในเวลาเดียวกัน โดยแต่ละหน่วยงานทำงานแบบอิสระแยกกันตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง
5. มองว่าตนเองมีส่วนร่วมทำให้เกิดปัญหา ซึ่งทำให้ทุกคนทุกองค์กรในระบบมีโอกาสสามารถแสดงบทบาทผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง(change agents) เพราะสามารถปรับบทบาทการทำงานของตนให้แก้ไขปัญหาที่ตนมีส่วนร่วมสร้างขึ้นมาได้5. หลีกเลี่ยงการมองตนเองเป็น ‘เหยื่อ’ ของระบบที่ออกแบบมาผิดพลาดทำให้ตนเองต้องเดือดร้อนจากการกระทำผิดของคนอื่นจึงเน้นการตำหนิหรือการเรียกร้องให้ผู้อื่นจากภายนอกระบบมาแก้ไขปัญหาให้ตนเอง

4

การวิเคราะห์ระบบเพื่อค้นหาจุดคานงัดในระบบการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพในภาครัฐ

การออกแบบนโยบายหรือมาตรการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเริ่มต้นจากการคิดวิเคราะห์โครงสร้างการทำงานของระบบที่ทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังที่เราต้องการแก้ไข ตัวอย่างเช่น เราสามารถวิเคราะห์โครงสร้างการทำงานของระบบที่ทำให้เกิดปัญหาแพทย์ใช้ทุนจำนวนมากลาออก หรือโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบบริการสุขภาพภาครัฐแบบเรื้อรัง

เมื่อเราใช้มุมมองกว้างขวางมากขึ้นจะทำให้การคิดแก้ไขปัญหาของเราครอบคลุมสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งที่เป็นความสัมพันธ์ทางตรงและความสัมพันธ์ทางอ้อมมากขึ้น หากย้อนกลับไปคิดถึงภาพฝันของการทำให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยมีรูปแบบการจัดการที่ดีกว่าปัจจุบัน เราอาจพิจารณาปัญหาหมอลาออกในมุมมองที่กว้างขวางที่สุดคือความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐที่เรื้อรังมานาน ซึ่งสะท้อนว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ต้องใช้โรงพยาบาลรัฐได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ หรือเป็นธรรมมากพอ ผู้กำหนดนโยบายยังไม่สามารถใช้กลไกการจัดการอภิบาลระบบสุขภาพเพื่อทำงานกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ

ดังนั้น ความขาดแคลนแพทย์ในภาครัฐจึงเป็นเพียง ‘อาการ’ ส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถของระบบการจัดการภาครัฐที่จะตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน


4.1 ยาขนานเดิมที่เริ่มไม่ได้ผล

ในกระบวนการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในระบบบริการสุขภาพภาครัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นไปที่การทำให้ระบบบริการสุขภาพภาครัฐทำงานได้มากขึ้นหรือทำงานหนักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบบริการสุขภาพภาครัฐเป็นหลักในการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาลมาหลายทศวรรษ[6] หรือมาตรการด้านแพทยศาสตรศึกษา[7] โดยเฉพาะการเร่งผลิตแพทย์ให้มีจำนวนมากขึ้นโดยกำหนดให้นักเรียนแพทย์รับทุนรัฐบาลและทำงานชดใช้ทุนในภาครัฐเป็นเวลา 3 ปี (นโยบายของรัฐบาลที่เริ่มต้นตั้งแต่ประมาณ 50 ปีก่อน) พยายามผลิตแพทย์ที่มีความสามารถทำงานท่ามกลางความขาดแคลนได้มากขึ้น (ลดการเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานแต่เพิ่มการปฏิบัติงานในขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 6 และเพิ่มการเพิ่มพูนทักษะในปีแรกหลังเรียนจบ ซึ่งเป็นนโยบายด้านแพทยศาสตรศึกษาที่เราใช้มาแล้วมากกว่า 30 ปี) รวมทั้งการทำงานด้านแพทยศาสตรศึกษาเพื่อให้แพทย์คงอยู่ในภาครัฐนานขึ้น (เช่น การปลูกฝังทัศนคติขณะเรียนแพทย์ การเน้นความเสียสละของวิชาชีพ หรือการเพิ่มการผลิตแพทย์เพื่อชนบทโดยเน้นรับนักเรียนแพทย์จากนักเรียนมัธยมในชนบท)

เราอาจเรียกโครงสร้างของการทำงานแก้ไขปัญหาลักษณะดังกล่าวนี้ว่า ‘การทำงานหนักมากขึ้น’ (work harder) มาตรการกลุ่มนี้ทำงานได้ผลดีในระดับหนึ่ง และมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยยกระดับขีดความสามารถของระบบบริการสุขภาพภาครัฐของประเทศไทยให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปัจจัยสำคัญให้ประเทศไทยสามารถพัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ตั้งแต่ประมาณ 20 ปีก่อน[8]

อย่างไรก็ตามภาระงานของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการสุขภาพของประชาชนในระยะหลัง ไม่ว่าจะเกิดจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ประชาชนมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพลดลง การเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมืองและสังคมสูงอายุ การเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่เรามีเพิ่งประสบการณ์ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การเติบโตของสถานพยาบาลภาคเอกชนที่ทำให้เกิดแรงดึงดูดกำลังคนด้านสุขภาพจำนวนมากออกจากภาครัฐ แม้กระทั่งความแตกต่างของแนวคิดในการทำงานของคนต่างวัยที่ต้องทำงานร่วมกันในสถานพยาบาลภาครัฐซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในระยะหลัง ล้วนมีส่วนทำให้การคงอยู่ของกำลังคนด้านสุขภาพในภาครัฐลดลงและทำให้มาตรการที่มุ่งเน้นการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพเพื่อให้ระบบบริการสุขภาพภาครัฐทำงานได้มากขึ้นหรือหนักขึ้นที่เคยทำงานได้ผลในอดีตเริ่มได้ผลน้อยลง ดังแสดงในภาพที่ 1

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหมอลาออกส่วนใหญ่ที่เราได้ยินในช่วงที่ผ่านมามักจำกัดอยู่ที่มาตรการปรับปรุงการศึกษาอบรมของแพทย์ การจัดการภาระงานรวมทั้งค่าตอบแทนและสวัสดิการภายใต้กรอบข้อจำกัดของระบบราชการ หรือแม้แต่การปรับปรุงระบบจัดการกำลังคนด้านสุขภาพในองค์กร เช่น การพัฒนาระบบจัดการคนเก่งในหน่วยงาน (talent management system) ก็มีข้อจำกัดตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทำให้ไม่สามารถปรับระบบการจัดการบุคลากรให้เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างทันท่วงที

ภาพที่ 1 วงจรสาเหตุของปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลภาครัฐแบบเรื้อรังแม้มีความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ

4.2 ผลแทรกซ้อนของยาขนานเดิม

มาตรการที่มุ่งเน้นเฉพาะการจัดการระบบบริการสุขภาพของ สธ. ทำงานได้มากขึ้น ยังอาจส่งผลกระทบทำให้ผู้กำหนดนโยบายสุขภาพมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายผ่านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกระทรวง สธ. เป็นหลัก จนหลายครั้งการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนของแพทย์ในสถานพยาบาลสังกัด สธ. ถูกมองเป็นการจัดการเชิงเทคนิค (เช่น นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมักให้ข่าวว่าการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เป็นเรื่องการจัดการตำแหน่งข้าราชการของ สธ. มากกว่าจะพิจารณาเป็นประเด็นนโยบายด้านการวางแผนและการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ) ทางเลือกเชิงนโยบายในการจัดการบุคลากรทางการแพทย์ทั้งที่อยู่ในภาครัฐ (ในและนอก สธ.) และภาคเอกชนให้สามารถร่วมกันตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างเพียงพอจึงไม่ถูกนำมาพิจารณา ดังแสดงในภาพที่ 2

มุมมองที่จำกัดดังกล่าวยังอาจทำให้กระทรวงสาธารณสุขลดบทบาทตนเอง หรืออาจจะไม่เหลือทรัพยากรเพียงพอในการแสดงบทบาทเป็น ‘ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ’ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้รัฐขาดความพยายามในการพัฒนานโยบายหรือมาตรการเพื่อนำแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ในภาคเอกชนมาพิจารณาวางแผนร่วมทำงานให้บริการสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการใช้กลไกการคลังสุขภาพภาครัฐโดยไม่ปล่อยไปตามกลไกตลาดแต่เพียงอย่างเดียว (เช่น โรงพยาบาลเอกชนดึงแพทย์อาวุโสที่มากประสบการณ์ไปทำงานประชาชนส่วนหนึ่ง ส่วนโรงพยาบาลรัฐยังต้องพึ่งพาแพทย์จบใหม่ในการทำงานดูแลรักษาประชาชนทั่วไป) เพราะนโยบายสาธารณะที่รัฐตั้งใจออกแบบให้ประชาชนเข้าถึงหมอทั้งภาครัฐและเอกชนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐในการจัดการกับปัญหาสุขภาพของประชาชน สามารถนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของภาคเอกชนมาจัดการภาระงานที่ล้นอยู่ในภาครัฐได้ทันที แม้ว่าจะต้องใช้เวลาปรับปรุงนโยบายการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเอกชนให้เหมาะสมมากขึ้น แต่ก็ทำให้เราไม่จำเป็นต้องรอคอยการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนให้เข้ามาทำงานในภาครัฐซึ่งต้องใช้เวลานานนับสิบปี

หากเราพิจารณาแนวทางการจัดการระบบสุขภาพของหลายประเทศที่ใช้ระบบการคลังสุขภาพภาครัฐในการสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะพบว่ามีกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ไม่ได้จำกัดเพียงการใช้สถานพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐเป็นผู้ให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนที่มีสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐ แต่ผู้กำหนดนโยบายมีกลไกกำกับดูแลให้สถานพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ภาคเอกชนเข้ามาร่วมดูแลประชาชนที่มีสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐ และรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรมในการจัดบริการสุขภาพของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตัวอย่างเช่นญี่ปุ่นมีกลไกให้ภาครัฐทำการต่อรองราคาและควบคุมคุณภาพของผู้ให้บริการสุขภาพภาคเอกชนที่ทำงานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและปรับปรุงแก้ไขราคาค่าบริการสุขภาพที่รัฐจ่ายทุกปี[9] เป็นต้น

แม้ว่าการลงทุนเพิ่มเติมในระบบราชการเพื่อสร้างกลไกกำกับดูแลสถานพยาบาลภาคเอกชนดังกล่าว จำเป็นต้องใช้เวลา ไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (เช่น หยุดแพทย์ใช้ทุนจำนวนมากลาออกอย่างทันท่วงที) เราจึงจำเป็นต้องมีการทำงานระยะสั้นเพื่อรักษาการคงอยู่ของบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐในระหว่างรอผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการใช้กำกับการดูแลภาคเอกชนในรูปแบบใหม่ด้วย แต่การทำงานแก้ไขปัญหาตามแนวคิดใหม่ดังกล่าวคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระบบราชการไทย หากผู้กำหนดนโยบายยังคงมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรเพื่อการทำงานแก้ไขปัญหาใน ‘วงจรการทำงานหนักมากขึ้นของภาครัฐ’ เท่านั้น

สำหรับแนวทางการปรับรูปแบบการจัดการสถานพยาบาลภาครัฐให้หลุดออกมาจากระบบราชการ เพื่อทำให้หน่วยบริการสุขภาพภาครัฐบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้คล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งการปรับบทบาทของผู้กำหนดนโยบายสุขภาพให้กำกับดูแลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ดีขึ้น มีการประสานงานกันมากขึ้นเพื่อนำทรัพยากรสุขภาพในภาคเอกชนมาร่วมจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนทั่วไปอย่างทั่วถึงมากขึ้น ผ่านกลไกการสร้างการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เราอาจเรียกว่าเป็นโครงสร้างของระบบการทำงานที่เน้น ‘การสร้างขีดความสามารถของผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ’

ภาพที่ 2 วงจรสาเหตุของข้อจำกัดในการพัฒนาขีดความสามารถของภาครัฐในการจัดการกับปัญหาสุขภาพของประชาชน

4.3 การผ่าตัดครั้งใหญ่

หากเราพิจารณาข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอจำนวนมากของผู้กำหนดนโยบายสุขภาพ ผู้บริหารหน่วยงานด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งประชาชนที่ได้นำเสนอไว้ เราจะเห็นได้ว่ารากเหง้าของปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ให้หายขาดแต่กลับเรื้อรังมาหลายทศวรรษเกิดจาก ‘ข้อจำกัดของระบบราชการ’ ที่ทำให้การจัดการหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐด้วยระบบราชการมีความไม่เหมาะสมกับบริบทของปัญหาสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน เนื่องจากธรรมชาติของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในบางด้าน โดยเฉพาะบริการการศึกษาหรือบริการสุขภาพ มีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากการทำงานของหน่วยราชการทั่วไปค่อนข้างมาก มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางในหลากหลายวิชาชีพเพื่อทำงานร่วมกันเป็นทีมในบริบทการทำงานที่แตกต่างกัน และยังจำเป็นที่ต้องแข่งขันกับภาคเอกชนในการจัดบริการลักษณะเดียวกัน

หลายประเทศจึงเลิกระบบการบริหารหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแบบกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ตัวอย่างเช่น National Health Service (NHS) ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐที่มีรูปแบบการจัดการโรงพยาบาล คลินิก และสถานพยาบาลในรูปแบบที่คล่องตัว แยกตัวออกมาระบบกระทรวงทบวงกรม เช่น NHS England แยกการบริหารจัดการองค์กรออกมาจาก UK Department of Health and Social Care[10] หรือในประเทศไทยก็มีตัวอย่างของโรงพยาบาลบ้านแพ้วซึ่งเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ (autonomous hospital) ซึ่งมีรูปแบบการจัดการตามกฎหมายที่คล่องตัวมากขึ้นคล้ายการทำงานในองค์กรภาคเอกชน[11] ทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วมีกลไกในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์มากกว่ารพ.ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข

หากผู้กำหนดนโยบายปรับรูปแบบการจัดการสถานพยาบาลภาครัฐให้หลุดออกจากระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างที่เป็นอยู่และทำให้มีระบบการจัดการที่คล่องตัวคล้ายภาคเอกชนมากขึ้น (แต่ยังสามารถคงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุข เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ไว้เป็นหน่วยราชการตามเดิม) น่าจะช่วยให้ผู้บริหารหน่วยงานมีความคล่องตัวในการออกแบบมาตรการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพให้เหมาะสมสำหรับปัญหาของแต่ละพื้นที่แต่ละหน่วยงานมากยิ่งขึ้น น่าจะเอื้อให้ข้อเสนอเพื่อปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐเป็นจริงได้มากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดน่าช่วยให้สถานพยาบาลภาครัฐมีอำนาจต่อรองทรัพยากรในการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับการทำงานในสถานะที่เป็นหน่วยราชการซึ่งการจัดสรรทรัพยากรขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายส่วนกลางอย่างที่เป็นอยู่

ดังนั้น ‘จุดคานงัดของระบบ’ (high-leverage points within systems) ซึ่งมีพลังมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนบุคลากรสุขภาพในระบบสุขภาพภาครัฐ คือ 1) การลดข้อจำกัดของการบริหารงานแบบราชการของหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐ และ 2) การพัฒนากลไกกำกับดูแลสถานพยาบาลของผู้กำหนดนโยบายภาครัฐเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน

นโยบายหรือมาตรการการทำงานที่มีจุดเน้นในสองประเด็นนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่แล้วในประเทศ แต่กระจายอยู่ในภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีส่วนร่วมจัดการกับภาระงานการดูแลสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐยังมีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถในตอบสนองความต้องการสุขภาพของประชาชนได้อย่างครอบคลุมรอบด้านมากกว่าการทำงานตามโครงสร้างของระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในตลาดแรงงาน แต่ยังคงแยกส่วนกันทำงานในตลาดบริการสุขภาพ เราอาจเรียกนโยบายหรือมาตรการที่เน้นการแก้ไขปัญหาตามโครงสร้างการทำงานในรูปแบบใหม่นี้ว่า ‘การทำงานที่ฉลาดมากขึ้น’ (work smarter) ดังแสดงในภาพที่ 3

ภาพที่ 3 วงจรสาเหตุของการพัฒนาขีดความสามารถของภาครัฐในการจัดการกับปัญหาสุขภาพของประชาชนผ่านการกำกับดูแลผู้ให้บริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน

5

บทสรุป : โอกาสสำคัญของการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ

บทเรียนสำคัญที่สุดของการพัฒนานโยบายหรือมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการลาออกของแพทย์รุ่นใหม่หรือการแก้ไขภาวะขาดแคลนบุคลากรสุขภาพในภาครัฐที่เรื้อรังมานาน คือความเข้าใจว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาซับซ้อนและเรื้อรังนี้ได้ด้วยการใช้นโยบายหรือมาตรการที่ทำงานแบบแยกส่วน (หรือทำงานแบบ​ ‘เบี้ยหัวแตก’) แต่เราสามารถพัฒนานโยบายหรือมาตรการแก้ปัญหาที่เน้นการจัดการเชิงโครงสร้างเพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจุดที่เป็นคานดีดคานงัดของระบบซึ่งสร้างให้เกิด ‘ผลกระทบเป็นระลอกคลื่น’ (the ripple effect) อาจจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้นไม่ใช่เพียงการแก้ไขปัญหาแพทย์ใช้ทุนจำนวนมากลาออกเท่านั้น

ตัวอย่างการวิเคราะห์ระบบเพื่อสังเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงระบบในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเท่านั้น คงไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายเพียงคำตอบเดียวในการแก้ไขปัญหาซับซ้อนนี้ แต่เป็นโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ได้อภิปรายต่อยอดเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงและสร้างทางเลือกในการแก้ไขปัญหาให้ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบดังกล่าวสามารถสรุปเป็นขั้นตอนการดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ดังนี้


มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น

1) เร่งรัดการดำเนินมาตรการเพื่อหยุดการลาออกของแพทย์รุ่นใหม่ในระยะสั้น โดยถอดบทเรียนจากสถานพยาบาลภาครัฐที่มีแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practice) เช่น โรงพยาบาลใหญ่ที่ภาระงานมากแต่ยังมีอัตราการลาออกน้อย หรือโรงพยาบาลที่มีแนวทางการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพในยุคปัจจุบันโดยใช้ความเข้าใจความแตกต่างของแนวคิดระหว่างวัย เพื่อให้ผู้บริหารหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐทั้งหมดได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปขยายผลทั่วประเทศ

2) พัฒนาระบบที่ปรึกษาและการแบ่งปันภาระงานระหว่างแพทย์ในโรงพยาบาลเล็กและโรงพยาบาลใหญ่ภายในเครือข่ายบริการสุขภาพเดียวกัน (เช่น เครือข่ายระดับจังหวัด หรือเครือข่ายระดับเขตสุขภาพ) โดยถอดบทเรียนการทำงานเป็นทีมจากเครือข่ายบริการสุขภาพที่มีแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (เช่น เครือข่าย จ.น่าน) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปขยายผลทั่วประเทศ

3) พัฒนาธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรบุคคลในหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐ เช่น ติดตามและลงโทษแพทย์ในระบบราชการที่ขาดงานโดยปราศจากเหตุผลที่ดี (absenteeism) เพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งภาระงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยไว้กับแพทย์ใช้ทุน (เช่น แพทย์ที่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัวในเวลาราชการ)

4) ปรับระบบการศึกษาและการฝึกอบรมของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีภาระงานที่เหมาะสม (เช่น การจำกัดเวลาทำงานต่อเนื่องที่อาจสร้างความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย) เพื่อสร้างเป็นมาตรฐานและแสดงต้นแบบของรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ในระบบบริการสุขภาพภาครัฐ

5) เพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐเท่าที่ทำได้ภายใต้ข้อจำกัดของระบบราชการปัจจุบัน


มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว

1) ลดข้อจำกัดของการบริหารงานแบบระบบราชการของหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐ และสร้างความคล่องตัวในการจัดการทรัพยากรบุคคลด้านสุขภาพ ปรับหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐออกจากการจัดการโดยระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่น ปรับเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพของแต่ละเขตสุขภาพ โดยใช้รูปแบบการจัดการองค์กรลักษณะเดียวกับโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ (เช่น รพ.บ้านแพ้ว) กำกับดูแลการบริหารหน่วยงานโดยกรรมการ (บอร์ด) ซึ่งมีผู้แทนชุมชนที่สามารถสะท้อนความต้องการของผู้ใช้บริการสุขภาพและผู้แทนวิชาชีพที่ทำงานในหน่วยงานอยู่ในกรรมการด้วย หรือปรับเป็นระบบบริการสุขภาพแห่งชาติที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ (แต่ไม่ใช่การทำให้เอกชนเป็นเจ้าของ) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการทรัพยากรบุคคล แข่งขันได้ในตลาดแรงงาน รวมทั้งเพิ่มอำนาจการต่อรองงบประมาณหรือค่าตอบแทนจากผู้กำหนดนโยบายภาครัฐให้เหมาะสมกับภาระงานมากขึ้น

2) ปรับบทบาทกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นผู้กำหนดนโยบาย (policymaker) ที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ซื้อบริการสุขภาพแทนประชาชน (payer) ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง เพื่อร่วมกันทำหน้าที่ผู้กำกับดูแล (regulator) และผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในการปรับปรุงนโยบายการคลังสุขภาพภาครัฐให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพภาครัฐในการรับการรักษาพยาบาลแพทย์และผู้ให้บริการสุขภาพทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ลดการพึ่งพาเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐเท่านั้น

3) พัฒนาหน่วยงานกลางที่สามารถทำหน้าที่รับผิดชอบระบบสารสนเทศสุขภาพและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการวางแผนนโยบายด้านกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำกัดการเก็บข้อมูลหรือการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะบุคลากรในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ครอบคลุมข้อมูลกำลังคนด้านสุขภาพทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และมีทุกสภาวิชาชีพร่วมใช้ข้อมูลดังกล่าวทำหน้าที่กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนเพื่อจัดการกำลังคนด้านสุขภาพในระดับประเทศ (เช่น มีส่วนร่วมพิจารณาทางเลือกเชิงนโยบายในการปรับปรุงให้แพทย์เรียนจบเฉพาะทางก่อนไปทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลสังกัด สธ.)


ในระหว่างการรับมือจัดการกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่ามีความมั่นคงด้านสุขภาพในระดับต้นๆ ของโลก[12] โดยที่เราใช้ระบบบริการสุขภาพภาครัฐเป็นกำลังหลักในการทำงานควบคุมโรคดังกล่าว แต่ถ้าหากเรายังคงมีการลาออกของแพทย์ใช้ทุนจำนวนมากหรือเรายังคงมีปัญหาในการรักษาให้บุคลากรด้านสุขภาพคงอยู่ในระบบบริการสุขภาพภาครัฐอย่างที่กลายเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจมากในระยะที่ผ่านมา การรักษาระดับความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาวก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ดังนั้น การระดมสมองเพื่อช่วยกันพัฒนานโยบายหรือมาตรการแก้ไขปัญหาการลาออกของแพทย์รุ่นใหม่หรือการลดความขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพในระบบบริการสุขภาพภาครัฐในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะช่วยกันคิดและลงมือทำงานในระดับที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง และมีความมั่นคงด้านสุขภาพที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


ภาคผนวก


ตารางที่ 1 ข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาแพทย์ใช้ทุนลาออก

การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาตัวอย่างมาตรการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหา
1. การคัดเลือกนักเรียนแพทย์ไม่เหมาะสม แพทย์ที่ลาออกส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองที่อาจไม่ต้องการทำงานในภาครัฐ  – ปลูกฝังทัศนคติขณะเรียนแพทย์ เน้นความเสียสละของวิชาชีพ– การมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่ระดับปัจเจกบุคคลทำให้ผู้กำหนดนโยบายขาดแรงจูงใจในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการทำงานหรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานในภาครัฐในระยะยาว
2. การคัดเลือกนักเรียนแพทย์ไม่เหมาะสม แพทย์ที่ลาออกส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองที่อาจไม่ต้องการทำงานในชนบท  – เพิ่มการผลิตแพทย์เพื่อชนบทโดยเน้นรับนักเรียนในชนบท– ความต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดเฉพาะในชนบท แต่ยังขาดแคลนในเขตเมืองด้วย
– การเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นแบบเมืองของประชาชน (urbanization) ทำให้การเน้นเพียงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทไม่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของคนไทยในประเทศไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันซึ่งอาศัยและทำงานในเขตเมือง
3. ภาระงานหนักเกินไปจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแพทย์และความปลอดภัยของผู้ป่วย (“วงการที่ขอให้มองคนไข้เป็นมนุษย์ แต่ไม่เห็นคนทำงานเป็นมนุษย์”)– จำกัดเวลาทำงานและภาระงานของแพทย์ใช้ทุน หรือจำกัดเวลาทำงานและภาระงานของแพทย์ทั้งหมด– การลดภาระงานแพทย์ใช้ทุนอาจจะทำให้ภาระงานที่มากล้นอยู่ตกอยู่กับแพทย์รุ่นพี่ (ยังคงมีภาระงานรวมเท่าเดิม และไม่แก้ไขปัญหาคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยจากภาระงานที่ยังคงล้นอยู่)
– หากลดภาระงานแพทย์ทั้งหมดอาจจะทำให้ภาระงานที่ล้นอยู่ก็จะตกอยู่กับบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่น (เป็นการเพียงการย้ายที่ของปัญหา แต่ยังไม่แก้ไขปัญหา)
4. ภาระงานหนักแต่ขาดระบบการให้คำปรึกษาและการแบ่งปันภาระงานระหว่างแพทย์– สร้างระบบที่ปรึกษาและการแบ่งปันภาระงานระหว่างแพทย์ใน รพ. เล็กและ รพ. ใหญ่ภายในเครือข่ายบริการสุขภาพเดียวกัน– มีตัวอย่างที่ดีของหน่วยงานใน สธ. ที่สร้างระบบที่ปรึกษาและการแบ่งปันภาระงานระหว่าง รพ. เล็กและ รพ. ใหญ่ภายในเครือข่ายบริการสุขภาพมาอย่างยาวนานจนบางแห่งกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร (เช่น เครือข่าย จ.น่าน) แต่การพัฒ​นาระบบดังกล่าวให้ยั่งยืนขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถขยายผลระบบดังกล่าวไปได้ทั่วประเทศ
5. งานหนักแต่ค่าตอบแทนน้อย เงินเดือนน้อยกว่าภาคเอกชน– ปรับค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขให้ใกล้เคียงกับภาคเอกชน (เช่น แยกบัญชีเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ออกจากบัญชีเงินเดือนข้าราชการทั่วไปในลักษณะเดียวกันกับบัญชีเงินเดือนของอัยการหรือผู้พิพากษา)– หน่วยงานที่ดูแลกำลังคนในระบบราชการและงบประมาณแผ่นดิน (เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ) อาจไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์ใน สธ.เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระของการคลังภาครัฐ
– เงินเดือนข้าราชการ สธ. ส่วนหนึ่งอยู่ในการคำนวณงบค่าตอบแทนรายหัวของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (capitation) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ทำให้การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ สธ. อาจทำให้มีงบประมาณที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยน้อยลง
6. งานหนักแต่ค่าตอบแทนน้อย อยู่เวรหนักแต่ค่าเวรน้อย– ปรับเพิ่มค่าตอบแทน โดยเฉพาะค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์จากการทำงานนอกเวลา– การเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาของ สธ. ต้องคำนึงถึงทุกวิชาชีพ ทำให้สามารถขึ้นค่าตอบแทนแพทย์ได้จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภาคเอกชน
– หน่วยงาน สธ. ใช้เงินนอกงบประมาณ (เงินบำรุงของแต่ละ รพ.) ในการจ่าย ค่าตอบแทนจากการทำงานล่วงเวลาของทุกบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้การปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนจากการทำงานนอกเวลาสร้างปัญหาให้ รพ. ที่มีเงินบำรุงน้อยบางแห่งอาจจะไม่สามารถปรับเพิ่มค่าตอบแทนจากการทำงานนอกเวลาได้เลยซึ่งทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่มีมาตรฐาน
7. งานหนักแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทน (การตกเบิกเงินเดือนในระบบงบประมาณแผ่นดินทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่งบรรจุใหม่ต้องทำงานไปก่อน 6-8 เดือนก่อนที่จะได้รับเงินเดือนย้อนหลัง)– แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ผู้บริหารหน่วยงาน สธ. จัดหาเงินให้ยืมแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่งบรรจุใหม่ก่อนนำเงินมาคืนเมื่อได้รับเงินเดือนตกเบิกภายหลัง  – ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอาจทำให้ผู้กำหนดนโยบายขาดแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเงินเดือนข้าราชการใหม่มาหลายสิบปี (ทั้งที่เป็นการจัดการระดับพื้นฐานที่ต้องทำเป็นประจำทุกปีในระบบราชการ)
8. สวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอและด้อยกว่าสวัสดิการของข้าราชการบางประเภท (เช่น สภาพบ้านพักข้าราชการมีความแตกต่างกันระหว่างข้าราชการสาธารณสุข ครู ตำรวจ ทหาร ตุลาการ ฯลฯ)    – เพิ่มสวัสดิการ เช่น ปรับปรุงบ้านพักของบุคลากรทางการแพทย์– ทรัพยากรสนับสนุนจากส่วนกลางจากกระทรวงสาธารณสุขมีจำกัด และการปรับปรุงบ้านพักเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ลำดับความสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดทรัพยากรในการดูแลผู้ป่วย
– การปรับปรุงสวัสดิการบ้านพักโดยไม่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน (เช่น ใช้เงินบริจาค หรือเงินบำรุงของแต่ละ รพ.) อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือไม่มีมาตรฐาน
9. ขาดระบบการสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้แพทย์คงอยู่ในระบบ แต่เน้นเพียงการใช้มาตรการบังคับ (หากแพทย์ใช้ทุนไม่ครบ 3 ปีต้องเสียค่าปรับ, หากแพทย์เพิ่มพูนทักษะทำงานไม่ครบ 1 ปีจะไม่มีสิทธิเรียนต่อเฉพาะทางในประเทศไทย)  – เพิ่มจำนวนค่าปรับหากใช้ทุนไม่ครบ 3 ปี (จากเดิม 400,000 บาทต่อคน) เพื่อลดโอกาสการลาออกและทำให้ค่าปรับสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตแพทย์ในปัจจุบัน– แพทย์ใช้ทุนส่วนหนึ่งอาจพิจารณาว่าการจ่ายค่าปรับจำนวนมากทำให้ตัดสินใจลาออกได้ง่ายขึ้น เพราะได้รับผิดชอบจ่ายเงินชดใช้ค่าเรียนแพทย์จำนวนมากแล้ว จึงไม่จำเป็นต้อง ‘แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม’ ด้วยการทำงานใช้ทุนให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนที่ยังต้องพึ่งพิงระบบสุขภาพภาครัฐอีกต่อไป (เพราะมาตรการแก้ไขปัญหาเน้นการจัดการ extrinsic motivation มากกว่า intrinsic motivation)
10. ขาดการจัดวางกำลังคนด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับงาน โดยเฉพาะการจัดให้โรงพยาบาลจังหวัดมีบทบาทในการผลิตแพทย์ ทำให้แพทย์ของ สธ. ที่มีภาระงานดูแลผู้ป่วยหนักอยู่แล้วต้องมีภาระงานด้านการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นอีก (เพิ่มภาระงานสอนนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือที่เรียกกันว่า ‘แพทย์อินเทิร์น’)  – เพิ่มเวลาเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตจาก 6 ปีเป็น 7 ปี โดยไม่ต้องมีการเพิ่มพูนทักษะอีก 1 ปีใน รพ. สังกัดกระทรวงสาธารณสุขภายหลังเรียนจบแล้ว เพื่อลดภาระงานการเรียนการสอนของแพทย์ใน รพ. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

– หากปรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเป็น 7 ปี (เช่น รวมปีที่ 7 หรือการเพิ่มพูนทักษะในหลักสูตรฯ) อาจจะช่วยลดการลาออกในปีที่ 7 แต่ยังไม่แก้ไขปัญหาเรื่องภาระงานหนักของแพทย์
– ไม่ช่วยลดภาระของแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4-6 ของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งนักศึกษาแพทย์ของสถาบันพระบรมราชนกที่ผลิตแพทย์ให้กระทรวงสาธารณสุขด้วย)
11. ขาดธรรมาภิบาลในการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพภายใต้ระบบราชการ (แพทย์ในระบบราชการส่วนหนึ่งขาดงานโดยปราศจากเหตุผลที่ดี และทิ้งภาระงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยไว้กับแพทย์ใช้ทุน เช่น แพทย์ที่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัวในเวลาราชการ)– เคร่งครัดในการติดตามลงโทษแพทย์ในระบบราชการที่ขาดงานโดยปราศจากเหตุผลที่ดี (absenteeism)– อาจได้ผลระยะสั้น แต่ไม่ช่วยสร้างแรงดึงดูดการทำงานในภาครัฐ เพราะไม่นำไปสู่การสร้างระบบค่าตอบแทนให้แพทย์ที่ตั้งใจทำงานในภาครัฐโดยไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัวได้รับค่าตอบแทนใกล้เคียงกับภาคเอกชน (ในหลายประเทศแพทย์ที่ทำงานในภาครัฐมีรายได้ไม่ต่างจากภาคเอกชนจึง ไม่จำเป็นต้องทำเวชปฏิบัติส่วนตัวเพิ่มเติม)
12. ความต้องการรับบริการสุขภาพที่ รพ. เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ภาระงานเพิ่มมากขึ้น

– ปรับลดความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน หรือควบคุมอุปสงค์ของการใช้บริการสุขภาพ โดยเฉพาะที่ไม่จำเป็นหรือไม่เร่งด่วน เช่น จำกัดจำนวนผู้ป่วยนอกต่อวัน โดยริเริ่มใช้ระบบนัดหมายเหมือนในหลายประเทศ หรือจำกัดการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในของ รพ. ในกรณีสามารถดูแลรักษาได้ในสถานพยาบาลขนาดเล็ก
– สร้างความเข้มแข้งให้ประชาชนเชื่อใจและใช้บริการของระบบสุขภาพปฐมภูมิ (primary care) แทนการใช้ รพ.
– เพิ่มการร่วมจ่าย (co-payment) โดยเฉพาะกรณีการใช้บริการสุขภาพที่ไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการละเมิดศีลธรรม (moral hazard) ของผู้ประกันตนในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (เช่น การใช้ห้องฉุกเฉินในกรณีไม่มีความฉุกเฉินทางการแพทย์
– ปฏิเสธการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคที่เกิดจากปัญหาพฤติกรรมสุขภาพซ้ำซาก หรือเพิ่มการร่วมจ่าย (co-payment) ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
– การควบคุมอุปสงค์ของบริการสุขภาพ (เช่น การจำกัดจำนวนผู้ป่วยต่อวัน หรือการเพิ่มการร่วมจ่าย) อาจส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยบางส่วนตัดสินใจไม่เข้ารับบริการสุขภาพเมื่อไม่แน่ใจว่าจำเป็น หรือชะลอการเข้ารับบริการจนกว่าจะกลายเป็นโรคร้ายแรงหรือกลายเป็นภาวะฉุกเฉินทำให้เสี่ยงต่อการทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพ (health inequity)
– การจัดการผู้ป่วยจากโรคที่เกิดจากปัญหาพฤติกรรมสุขภาพ (เช่น การใช้ยาเสพติด) โดยผลักให้เป็นภาระเพิ่มของผู้ป่วยเหล่านั้น อาจส่งผลกระทบให้เกิดการกล่าวโทษผู้ป่วยแต่ละราย (victim blaming) ทำให้ละเลยการทำงานพัฒนาปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านสังคมที่เอื้อให้สังคมมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้แต่ละบุคคลลดพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพเหล่านั้น
– การทำงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต้องใช้ระยะเวลายาวนานจึงจะเห็นผลเป็นจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง
– การส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการระบบสุขภาพปฐมภูมิต้องใช้ระยะเวลายาวนานจึงจะเห็นผลเป็นจำนวนผู้ป่วยซึ่งมารับการรักษาที่ รพ. ลดลง
13. แพทย์รุ่นใหม่ขาดแรงจูงใจในการทำงานในภาครัฐ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการทำงานของคนรุ่นใหม่ (เช่น การจัดภาระงานตามระบบอาวุโส และการเน้นความเสียสละของวิชาชีพ ระบบอำนาจนิยมในวงการแพทย์ เส้นสายในการเรียนต่อ การที่แพทย์ไม่สามารถเลือกสาขาในการเรียนและการทำงานได้โดยอิสระ ฯลฯ)– ผู้บริหารหน่วยงานเน้นการทำความเข้าใจความแตกต่างของแนวคิดระหว่างวัย (generation gap) เช่น work-life balance, สิทธิ, หน้าที่, การทำงานเป็นทีม, ธรรมาภิบาลในการจัดการกำลังคน)
– ประยุกต์ใช้ระบบบริหารจัดการคนเก่ง (talent management system) ในสถานพยาบาลภาครัฐ
– ผู้บริหารของสถานพยาบาลภาครัฐสามารถจัดการกำลังคนด้านสุขภาพภายในหน่วยงานในระดับหนึ่ง แต่การจัดการในระดับนโยบาย (เช่น talent management) ยังคงติดกรอบของระบบข้าราชการ (เช่น กฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ ก.พ.) ทำให้ไม่สามารถปรับระบบการจัดการบุคลากรได้อย่างทันท่วงที

References
1 Leerapan B, Teekasap P, Urwannachotima N, Jaichuen W, Chiangchaisakulthai K, Udomaksorn K, et al. System Dynamics Modelling of Health Workforce Planning to Address Future Challenges of Thailand’s Universal Health Coverage. Hum Resour Health. 2021;19(31):1–16.
2 Senge PM, Sterman JD. Systems thinking and organizational learning: Acting locally and thinking globally in the organization of the future. Model Learn. 1992 Jan 1;59(1):137–50.
3 Peters DH. The application of systems thinking in health: why use systems thinking? Heal Res policy Syst. 2014 Aug 25;12(1):1–6.
4 Stroh DP. Systems thinking for social change: a practical guide to solving complex problems, avoiding unintended consequences, and achieving lasting results. White River Junction, VT: Chelsea Green Publishing; 2015.
5 ibid
6 Evans T, Chowdhury MR, Evans DB, Fidler AH, Lindelow M, Mills A. Thailand’s Universal Coverage Scheme: Achievements and Challenges. An Independent Assessment of the First 10 Years (2001-2010). Nonthaburi: Health Insurance System Research Office; 2012.
7 พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์, วรพล จรูญวณิชกุล, บรรณาธิการ. การประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ; 2558.
8 supra note 6
9 Ikegami N, Yoo B-K, Hashimoto H, Matsumoto M, Ogata H, Babazono A, et al. Japanese universal health coverage: evolution, achievements, and challenges. Lancet. 2011;378(9796):1106–15.
10 UK Government. Departments, agencies and public bodies: NHS England. [cited 2023 Jun 12]. Available from: https://www.gov.uk/government/organisations/nhs-england
11 Espeland WN, Sauder M. Rankings and Reactivity: How Public Measures Recreate Social Worlds. Am J Sociol. 2007;113(1):1–40.
12 Bell JB, Nuzzo JB. Global Health Security Index 2021: Advancing Collective Action and Accountability Amid Global Crisis. 2021.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save