หากนับรัฐประหาร 2549 เป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งการเมืองไทยยุคใหม่ ชื่อของทักษิณ ชินวัตร ย่อมเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ และท่ามกลางกระแสความเกลียดชังทักษิณของคนฟากฝั่งหนึ่ง ในปี 2552 ก็เกิดสื่อที่ตระกูลชินวัตรเป็นเจ้าของปรากฏขึ้นในกระแสเชี่ยวกรากของการเมืองไทยที่ชื่อ ‘วอยซ์ทีวี’
นับตั้งแต่มิถุนายนปี 2552 ที่วอยซ์ทีวีเริ่มออกอากาศสู่สายตาสาธารณะ จากจุดเริ่มต้นสื่อที่อยากให้สติปัญญาและสร้างแรงบันดาลใจ กลายเป็นสื่อที่เข้มข้นเรื่องการเมืองในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 และหลังจากนั้นวอยซ์ก็ถูกมองว่าเป็นสื่อที่ถือธงนำในฝ่ายประชาธิปไตยเสมอมา กล้าพูดเนื้อหาที่สื่อกระแสหลักก่อนหน้านี้ไม่กล้าพูด ในวันที่เพดานทางการเมืองยังไม่เปิดเท่าตอนนี้
ในการเมืองไทยร่วมสมัย มีบรรณาธิการหรือผู้อำนวยการช่องข่าวไม่กี่คนที่เผชิญประสบการณ์โดนทหารเข้ามาคุมสถานีและช่องโดนสั่งจอดำมากกว่าหนึ่งครั้ง หนึ่งในนั้นคือ เอี่ยว-ประทีป คงสิบ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ผู้ที่ร่วมสร้างวอยซ์ทีวีมาตั้งแต่นับหนึ่ง
เขาอยู่กับวอยซ์ทีวีตั้งแต่วันที่ยังไม่มีพนักงาน ชักชวนคน ปลุกปั้นสร้างช่องตั้งแต่ยุค ‘ผีทักษิณ’ ที่ไม่มีใครอยากร่วมงานกับช่อง มาถึงยุคเผด็จการ คสช. เรืองอำนาจ จนถึงวันที่กระแสการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563 พุ่งสูงและเพดานการเมืองไทยเปิดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
วันนี้ในวัย 50 กว่า เขากลับไปปลูกผักทำสวนที่บ้านเกิดในเพชรบูรณ์ แต่เมื่อการเมืองไทยยังร้อนระอุ ในนามของคนสื่อที่ยังไม่หมดไฟ ทำให้เขายังคิด-เขียนเรื่องการเมืองอยู่
บทสนทนาบรรทัดถัดจากนี้ ว่าด้วยเรื่องราวของประทีป คงสิบ ตั้งแต่วันแรกของการเป็นสื่อมวลชนไปจนถึงการปลุกปั้นวอยซ์ทีวีมากว่าสิบปี เขาคิด-เขาทำงานสื่ออย่างไร จากผู้ร่วมสร้างจนถึงวันเป็นผู้ชม เขามองวอยซ์ทีวีตอนนี้แบบไหน และเขามองหน้าตาการเมืองไทยอย่างไรในอนาคต
คุณทำงานแรกในฐานะสื่อมวลชนที่ไหน
ผมจบสื่อสารมวลชนที่ ม.เชียงใหม่ เรียนเอกหนังสือพิมพ์ เริ่มต้นงานแรกเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จากนั้นย้ายไปทำหนังสือพิมพ์คู่แข่งธุรกิจ จนถึงปี 2540 ฟองสบู่แตกสมัยนายกฯ คุณชวลิต ยงใจยุทธ
คู่แข่งธุรกิจโดนผลกระทบไปด้วย ล้มละลาย ต้องปิดกิจการ ผมตกงานอยู่ระยะหนึ่ง พอดีคุณทักษิณ ชินวัตรตั้งพรรคไทยรักไทย พี่ที่รู้จักเลยชวนผมไปทำงานกองโฆษกพรรค เริ่มงานวันแรก 14 กรกฎาคม 2541 เป็นวันจดทะเบียนตั้งพรรคอย่างเป็นทางการพอดี
ผมเป็นหัวหน้ากองโฆษก มีทีม 5-6 คน ทำหน้าที่มอนิเตอร์ข่าวสาร ประเมินสถานการณ์ เสนอความเห็นต่อผู้บริหารพรรค สร้างสายสัมพันธ์กับสื่อทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
กองโฆษกพรรคการเมืองถือเป็นสิ่งใหม่ในการเมืองไทยตอนนั้น?
จะว่าใหม่ก็ไม่เชิง เรียกว่าบริหารจัดการเป็นระบบมากขึ้นดีกว่า คล้ายฝ่ายประชาสัมพันธ์ในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่จริงๆ กองงานสำคัญสุดของพรรคคือกองนโยบาย ทำหน้าที่คิดค้นนโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียงและเข้าไปบริหารประเทศ
หลังพรรคได้เป็นรัฐบาล ผมแยกไปเป็นทีมงานส่วนตัวหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แม่งานหลักนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค งานที่ผมรับผิดชอบก็คล้ายตอนทำกองโฆษกพรรค โดยทำงานร่วมกับสำนักสารนิเทศของกระทรวง ซึ่งมีพร้อมทั้งคนและอุปกรณ์ โชคดีที่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนที่ดีมาก งานเลยราบรื่น
ผมอยู่กับคุณหมอสุรพงษ์จนเขาย้ายขึ้นชั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ระหว่างนั้นแบ่งเวลาช่วงสั้นๆ ไปช่วย ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล ที่ขณะนั้นเป็นผู้แทนการค้าไทย และต่อมาก็ขยับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่เวลาส่วนใหญ่คือช่วยงานคุณหมอสุรพงษ์
ก่อนหน้านั้นคุณเคยสวมหมวกสื่อมวลชน แต่พอต้องไปสวมหมวกทำเรื่องสื่อสารให้พรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลด้วย เนื้องานมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในแง่วิธีคิดและจรรยาบรรณในการทำงาน
ตอนเป็นสื่อ เรามีหน้าที่ไปหาข้อมูลทุกแง่มุมไม่ว่าบวกหรือลบ มีหน้าที่ตรวจสอบและบาลานซ์ข้อมูลพวกนี้ แต่ตอนทำงานการเมืองกับพรรคและรัฐมนตรี เราต้องพยายามนำเสนอข้อมูลด้านบวกให้สื่อ ถ้ามีด้านลบเข้ามา เราก็พยายามชี้แจงให้นุ่มนวลที่สุด
อีกเรื่องที่ต่างคือตอนเป็นสื่อ แหล่งข่าวจะเป็นคนมาบริการเรา แต่พอเรามาทำตรงนี้ เราก็เหมือนพีอาร์ ต้องไปเซอร์วิสผู้สื่อข่าว ก็ต้องเข้าใจตรงนี้ คุณจะเคยเป็น บ.ก. มา แล้วจะไปชี้นิ้วสั่งน้องๆ นักข่าวอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ใช่ ต้องรู้ว่าตอนนี้บทบาทของตัวเองคืออะไร แต่พอทำไประยะหนึ่ง ก็รู้แล้วว่าเราไม่เหมาะหรอก คือทำงานแบบนี้ได้ แต่ถ้าคิดจะอยู่ในวงจรนี้ต้องคิดเล่นการเมืองด้วย หมายถึงต้องไปลง ส.ส. เติบโตไปในทางการเมือง
ตอนนั้นคุณไม่ได้อยากเล่นการเมือง?
ผมไม่ได้อยากเป็น ส.ส. คือเราสัมผัสงานแบบนั้นมาห้าปี คิดว่าพอแล้ว อยากกลับไปเป็นสื่อเหมือนเดิมมากกว่า เลยลาออกจากทีมของหมอสุรพงษ์มาทำที่ไอทีวี ซึ่งก็เปลี่ยนสนามเหมือนกัน จากทำหนังสือพิมพ์มาเป็นทีวี
ตำแหน่งที่ไอทีวีคือบรรณาธิการข่าวสังคม เป็นเรื่องคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม การศึกษา ทำจนถึงช่วงโดนปิดตอนรัฐประหาร 2549 หลังจากนั้นก็ไปทำที่ NBT หรือช่อง 11 เดิม ช่วงที่ผมเข้าไปเป็นช่วงเปลี่ยนชื่อกับโลโก้ใหม่ ให้ดูทันสมัยขึ้น ปรับรูปแบบการนำเสนอข่าวและรายการต่างๆ คนที่จัดทัพนำทีมเข้าไปทำก็เป็นอดีตผู้บริหารไอทีวี
ผมอยู่ NBT แค่สี่เดือน ทำหน้าที่บรรณาธิการข่าวภาคค่ำ ก็พอดีคุณทักษิณคิดจะทำสื่อ พี่ชิน-ทรงศักดิ์ เปรมสุข อดีต MD ไอทีวีและมือทำแคมเปญไทยรักไทยยุคแรก ก็มาชวนผมไปสร้างวอยซ์ด้วยกัน
ช่วงนั้นสถานการณ์การเมืองและสถานการณ์ของคุณทักษิณเป็นอย่างไร
ตอนนั้นประมาณปี 2551 คุณทักษิณกลับมาไทย รอบที่กราบพื้นนั่นแหละ พี่ชินเล่าแนวคิดคุณทักษิณให้ฟังว่าอยากทำอะไร ตกลงจะเริ่มงานกันแล้ว ปรากฏว่าเกิดกรณีศาลตัดสินลงโทษจำคุกคุณทักษิณคดีที่ดินรัชดาฯ หลังจากนั้นคุณทักษิณบอกว่าจะไปดูกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง แล้วก็ไม่กลับมาเลย พอมีเหตุการณ์นี้ ตอนแรกจะพับแผนไว้ก่อน แต่ไปๆ มาๆ คุณทักษิณก็เคาะให้เดินหน้าต่อ
แนวคิดตั้งต้นของวอยซ์ที่คุณทักษิณอยากจะทำตอนแรกคืออะไร
ผมไม่ได้ฟังจากปากคุณทักษิณโดยตรง แต่ที่พี่ชินเล่าให้ฟังคือคุณทักษิณอยากทำสื่อที่ ‘ให้สติปัญญา’ และ ‘สร้างแรงบันดาลใจ’ สองคำนี้เป็นคีย์เวิร์ด และโฟกัสที่คนรุ่นใหม่ เพราะเขาก็คงคาดหวังว่าการทำแบบนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ใช้ซอฟต์พาวเวอร์สร้างเยาวชน แล้วในที่สุดก็จะย้อนกลับมาส่งผลดีในทางการเมืองเอง คือทำให้การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยปกตินั้นก้าวหน้ามั่นคง
ผมเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวควบผู้อำนวยการช่อง หน้าที่หลักช่วงแรกคือการหาคนมาเติมในตำแหน่งต่างๆ ที่จำเป็น คนที่ชวนมาทำงานด้วย ส่วนใหญ่เคยอยู่ไอทีวีด้วยกัน บวกกับรับเด็กจบใหม่ อย่างนักข่าวนี่ กว่า 90% เพิ่งจบใหม่ เพราะเราอยากได้ความสดใหม่ทั้งในแง่ไอเดีย ความกระฉับกระเฉง และเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ ด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดเหมือนกันนะ เพราะตอนนั้นอารมณ์ของสังคมที่ไม่ชอบคุณทักษิณสูงมาก การหาคนมาทำงานในสื่อที่เราบอกชัดเจนว่าเป็นของคุณทักษิณ เราก็ต้องดูด้วยว่าคนที่จะมาทำมีแนวคิดกับคุณทักษิณอย่างไร บางคนไม่ชอบคุณทักษิณก็ไม่มา เขาก็ชัดเจน
ตัวคุณเองตอนนั้น รู้สึกต่อคุณทักษิณอย่างไรบ้าง
ตอนที่ผมไปทำงานกับคุณทักษิณที่ไทยรักไทยหรือแม้แต่ก่อนหน้านั้นก็ตาม สำหรับผม คุณทักษิณเป็นนักการเมืองและนักธุรกิจที่เก่งมาก มีวิสัยทัศน์ เขามองอนาคตขาด ทุกวันนี้ก็ยังเก่งอยู่ ต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นเราไปทำงานก็เพราะมีศรัทธาต่อคุณทักษิณเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ไม่ได้ติดขัดอะไร ดังนั้นใครจะมองว่าเขาเป็นปีศาจร้ายในช่วงนั้นก็ตาม แต่เรามีข้อมูลและชุดความเชื่อของเราแบบนี้ เราไม่มีปัญหาที่จะทำงานด้วย แล้วก็ค่อยๆ สร้างความเข้าใจกับคนที่มีความคิดแตกต่างจากเราไป
นอกจากอุปสรรคเรื่องหาคนทำงานแล้ว ยังมีอุปสรรคเรื่องแหล่งข่าวด้วยนะ ช่วงแรกๆ นอกจากวอยซ์จะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแล้ว พอคนถามว่าวอยซ์ทีวีคืออะไร ไม่เคยได้ยิน เราก็อธิบายไป พอเขารับรู้ว่าเป็นของคุณทักษิณ บางคนไม่อยากให้สัมภาษณ์ นักวิชาการหลายคนที่เราเชิญมาสัมภาษณ์ที่วอยซ์ทีวี เขาไม่มานะ
มีแหล่งข่าวคนหนึ่ง เราชวนมาออกวอยซ์ทีวี ตกปากรับคำกันเรียบร้อย ขับรถมาถึงกลางทางแล้วโทรมาบอกว่า เขาทำใจไม่ได้ ต้องขอโทษด้วยที่มาร่วมงานไม่ได้ บางคนเป็นขนาดนั้น
ตอนนั้นช่วงกระแสเสื้อเหลือง-เกลียดทักษิณครองเมือง?
ใช่ ช่วงนั้นเลย วอยซ์เริ่มออกอากาศต่อสาธารณะตอนมิถุนายนปี 2552 ช่วงนั้นกระแสไม่ชอบคุณทักษิณกำลังแรง เสื้อเหลืองกำลังมีพาวเวอร์เยอะ เพราะฉะนั้นคนเขาก็กลัวผลกระทบทั้งในแง่ธุรกิจ หรือกระทั่งญาติพี่น้องที่เขารู้จักมาให้สัมภาษณ์หรือมาทำงานที่วอยซ์ ก็ถูกกดดันจากคนที่ไม่ชอบคุณทักษิณ
มีพิธีกรอย่างน้อยสองคน ที่มาขอลาออกจากวอยซ์กับผม ด้วยเหตุผลเรื่องคุณทักษิณ เพราะพอทำไประยะหนึ่ง ญาติพี่น้องต่อว่าเขา เขาก็มาบอกกับผมตรงๆ ว่าต้องขอถอนตัว
แล้วคุณรับมืออย่างไร
เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเดินมาขนาดนี้แล้ว คือช่องเป็นของคุณทักษิณก็จริง แต่คุณก็ต้องดูเนื้อหาดูงานที่เราทำออกไปด้วยว่าเจตนารมณ์คืออะไร เราต้องการสร้างสื่อที่ให้ความรู้และแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ แล้วตอนนั้นช่องเรายังไม่ได้เล่นเรื่องการเมืองมากเลยนะ เป็นเรื่องเทคโนโลยี คุณภาพชีวิต ธุรกิจสมัยใหม่ พูดคุยกับคนที่สร้างแรงบันดาลใจ
แล้วจุดเริ่มต้นที่วอยซ์เริ่มแตะเรื่องการเมืองมากๆ คือตอนไหน
การประท้วงของคนเสื้อแดงคือจุดเปลี่ยน เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 เราเริ่มรายงานข่าวแนวการเมืองมากขึ้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนี่คือสถานการณ์ที่ร้อนแรงที่สุดของประเทศตอนนั้น ถ้าคุณเป็นสื่อ นี่คือหน้าที่ต้องทำ ยิ่งเหตุการณ์จบแบบที่เราเห็น คนตายตั้ง 99 คนโดยเอาผิดใครไม่ได้ ยิงส่องหัวกันกลางกรุง เห็นๆ กันอยู่ นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้วอยซ์กลายเป็นสื่อที่เน้นข่าวการเมืองและการวิเคราะห์ทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มถูกยอมรับว่าเป็นสื่อเพื่อประชาธิปไตย
รายการแนวการเมืองของเราได้รับความนิยม เพราะเป็นช่องที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนสื่อหลักช่องใหญ่ๆ จะไปว่าเขาไม่กล้า ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะช่องใหญ่ๆ เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐเยอะ จะไปแหลมคมมากก็กระทบช่อง แล้วยังมีเรื่องกระแสความไม่ชอบคุณทักษิณในกลุ่มเอเจนซีโฆษณาที่เป็นอุปสรรคอีก
อย่างที่วอยซ์ ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งปวดหัวมาก แค่ขอนัดเพื่อไปพรีเซนต์แผนของช่อง ยังไม่ต้องบอกว่าให้ซื้อนะ เอเจนซีหลายที่ยังไม่ให้ไปเสนอเลย บางที่ให้ไปเสนอแผน แต่พนักงานคล้องนกหวีดลงมายืนต้อนรับ ช่วงนั้น กปปส. กำลังปลุกกระแสไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขาก็แสดงออกให้เห็นเลย เพราะฉะนั้นยอดขายจากเอเจนซี เราแทบจะไม่ได้เลย
ถึงจะเจอความยากลำบากจากประเด็นทางการเมือง แต่วอยซ์ก็สร้างรายการดีๆ สร้างพิธีกรดังๆ หลายคน เช่นที่คนจำได้อย่าง Divas Café คุณเล่าวิธีการทำงานให้ฟังได้ไหม ตอนนั้นแนวคิดริเริ่ม Divas Café เป็นอย่างไร
ในความเห็นผม จะบอกว่า Divas Café เป็นรายการที่สะท้อนตัวตนวอยซ์มากที่สุดก็ได้ คือวอยซ์ต้องการเสนอประเด็นที่ก้าวหน้าและฉีกขนบธรรมเนียม เป็นเหมือนขบถเล็กๆ เพื่อกระตุ้นให้สังคมเคลื่อนไปข้างหน้า คุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่รู้ แต่เราอยากนำเสนอแบบนี้ แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์กัน นี่คือแนวคิด
ตอนนั้นผมคุยกับแขก-ลักขณา ปันวิชัย ว่ามีแนวคิดอยากทำรายการผู้หญิง คุยเรื่องสาระหนักๆ และบันเทิงด้วยก็ได้ แต่บันเทิงก็จะมีแจมสาระอยู่ด้วย เพราะตอนนั้นรายการผู้หญิงในทีวีทั่วไปก็เกิดขึ้นหลายช่อง เป็นที่นิยม แต่จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เช่นรายการ ผู้หญิงถึงผู้หญิง ช่อง 3 ตอนนั้นขายได้ รายการเขาดัง เราก็ทำรายการผู้หญิงเหมือนกัน แต่อยากฉีก เลยออกมาเป็นรายการ Divas Café
นอกจากเนื้อหาแล้ว เราฉีกเรื่องเครื่องแต่งกายด้วย ปกติรายการคุยข่าวสารสาระในทีวีไทยจะไม่ให้ผู้หญิงใส่เสื้อเปิดไหล่ เป็นธรรมเนียม ยิ่งมานั่งอ่านข่าวเป็นเรื่องเป็นราวต้องใส่สูทคลุมทับอีกชั้นเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ และต้องนั่งสุภาพ แต่ Divas Café มาเลย พิธีกรใส่เสื้อเปิดไหล่ แถมผู้หญิงนั่งไขว่ห้างสามคนเลย แรกๆ มีคนว่าเยอะนะเรื่องไขว่ห้าง บอกว่าไม่สุภาพ เอาเท้าชี้หน้าคนดู แต่เราคิดว่าสิ่งที่เขาวิจารณ์เป็นกระพี้ เรารู้ว่าเราต้องการอะไร
รายการถูกพูดถึงเยอะนะ เพราะเรื่องที่คุยต่างจากรายการผู้หญิงช่องอื่น ไม่ใช่คุยกันแค่เรื่องปกิณกะบันเทิง แต่เราคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องเพศสภาพ เรื่องสิทธิในเนื้อตัว ฯลฯ เรามีคุณเบียร์-มนทกานติ รังสิพราหมณกุล บรรณาธิการของนิตยสารมาดามฟิกาโร่ (Madame Figaro Thailand) มาคุยเรื่องแฟชัน แต่แฝงด้วยเรื่องที่เกี่ยวพันกับการเมืองและแนวคิดสิทธิเสรีภาพ ประเด็นที่คุยจึงแตกต่างจากทั่วๆ ไป
อีกรายการหนึ่งที่อยากพูดถึงนอกจาก Divas Café คือคิดเล่นเห็นต่าง ทั้งสองรายการเป็นรายการที่บอกตัวตนของวอยซ์ชัดมาก เพราะเป็นรายการที่นำเสนอประเด็นที่ก้าวหน้าเช่นกัน เรื่องที่กระตุ้นสติปัญญาและให้แรงบันดาลใจ เหมือนที่คุณทักษิณอยากได้ แล้วสองรายการมีพิธีกรหลักคือคำ ผกา เขามีส่วนผสมในการนำเสนอที่ลงตัวมากที่สุด หมายถึงคิดเล่นเห็นต่างกับ Divas Café เวอร์ชันแรกนะ ผมยัง respect คำ ผกาในเวอร์ชันนั้น เขาเก่ง ตรรกะดี เหมาะสำหรับเป็นผู้นำเสนอสารของวอยซ์ทีวี
รายการ Diva Café คนพูดถึงเยอะ แล้วเรตติ้งดีไหม
เราคิดว่าเรตติ้งน่าจะดี แต่เอาจริงๆ ปรากฏว่าเรตติ้งไม่ดีเลย ในแวดวงคนรู้จักกันพูดถึงเยอะมาก มีคนชม ในคอมเมนต์บนโลกออนไลน์ พันทิป กระทั่งสื่อก็ติดต่อมาสัมภาษณ์ผม เขาเห็นว่ารายการนี้ฉีกแนว แต่พอวัดเรตติ้งจริงๆ แล้วไม่ดี กลายเป็นรายการไม่ได้แมสอะไรนะ เหมือนพูดอยู่ในวงจำกัด
เราทำรายการเยอะ ต้นทุนก็จะเยอะ จึงต้องมีการรีวิวเป็นพักๆ เพื่อให้ธุรกิจพอไปได้ ก็ต้องพิจารณาว่ารายการไหนควรไปต่อ รายการไหนต้องหยุดพัก Divas Café ก็เลยถูกบีบให้ต้องเลิกไปโดยปริยาย ผมก็พยายามสู้นะ เพราะเราเชื่อว่ารายการนี้ดี แตกต่าง สักวันหนึ่งต้องขายได้ บอร์ดบริหารก็ยอมอยู่ระยะหนึ่ง เราลองย้ายเวลาเผื่อเรตติ้งจะดีขึ้น ก็ยังไม่ดี แล้วไปขายโฆษณาไม่ได้อีก เพราะนอกจากคนไม่ชอบช่องแล้ว เอเจนซีบางทีมีข้ออ้างย้อนกลับมาได้อีกว่า ก็ดูเรตติ้งคุณสิ แค่นี้เอง เขาก็ไม่ซื้อโฆษณา สุดท้ายรายการอยู่ได้แค่สองสามปี ต้องยุติไปในที่สุด
แล้วช่วงที่คุณทำ รายการไหนเรตติ้งดีที่สุดในวอยซ์ทีวี
ช่วงนั้นรายการ Wake Up Thailand เรตติ้งดีที่สุด หรืออย่าง The Daily Dose และ Tonight Thailand ก็พอได้ ส่วน Overview เพิ่งจะมาเรตติ้งดีสุดในช่องช่วง 2-3 ปีหลังล่าสุด
สนามรายการข่าวเช้าในโทรทัศน์แข่งกันดุเดือดมาก คุณทำอย่างไรให้ Wake Up Thailand สู้ในสนามข่าวเช้าได้
เราขายความแตกต่าง คือเป็นแพ็กเกจกันตั้งแต่คิดช่อง เวลาจะผลิตรายการอะไรใหม่ ก็จะตามวิธีคิดนี้แหละ
เราไปดูว่าข่าวเช้าทั่วไปเป็นอย่างไร ก็เป็นรายการเล่าข่าว เรื่องอาชญากรรม สัพเพเหระ ส่วนข่าวฮาร์ดนิวส์ช่วงนั้นไม่เน้นกันมากเหมือนช่วงนี้ ดูช่องไหนก็คล้ายๆ กัน ดูช่องเดียวก็รู้ข่าวแล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่ง Wake Up Thailand จะต่างไปจากช่องอื่น เราเน้นข่าวหนัก แล้วพอดีส่วนผสมของคนที่มาจัดรายการก็เป็นนักวิชาการที่ถนัดวิเคราะห์การเมือง
เบื้องต้นเลยก็คือคุณปลื้ม (หม่อมหลวง ณัฏฐกรณ์ เทวกุล) คุณชูวัส ฤกษ์ศิริสุข และอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เป็นตัวหลักสามคน แล้วก็มาเติมด้วยอาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พี่ถึก-อธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) และอาจารย์วิโรจน์ อาลี ทั้งหมดนี้เป็นคอการเมืองทั้งนั้น Wake Up Thailand เลยกลายเป็น 80% คุยเรื่องการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีก 20% อาจจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ
เราเน้นแบบนี้เพื่อให้แตกต่าง มีประเด็นขึ้นมาก็ถกเถียงกันตามทัศนคติของนักวิเคราะห์ เรามี fact แต่นอกเหนือจาก fact แล้วเราเติมความคิดเห็นลงไปด้วย แต่คุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องของคนดู ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ แต่ชัดเจนว่านี่คือรายการเล่าข่าวบวกความคิดเห็นของผู้ดำเนินรายการ แต่คุณก็ต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่คุณแสดงความเห็น และมีเหตุมีผลเพียงพอให้คนดูเชื่อ
พอวอยซ์ทีวีทำข่าวการเมืองเข้มข้นและเปิดพื้นที่ให้พิธีกรวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเต็มที่ โดยที่มีคุณทักษิณเป็นเจ้าของช่อง สิ่งที่ตามมาก็คือการถูกคุกคามจากทหารและภาครัฐบ่อยครั้ง จากสถิติตั้งแต่เปิดมา วอยซ์ทีวีถูกสั่งระงับการออกอากาศหลายครั้ง คุณพอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่าคุณเจออะไรมาบ้าง
ใช่ เยอะมาก จนผมลืมเลยว่ากี่ครั้ง ก่อนรัฐประหารอาจจะยังไม่เท่าไหร่ มีบ้างที่กระแสสังคมไม่ชอบ หรือมีช่วงที่พุทธอิสระพาคนมาบุก ช่วงที่เขาพยายามสร้างกระแสให้เกิดรัฐประหาร อันนั้นพอรับได้ ไม่เท่าไหร่ แต่มาหนักสุดตอนหลังรัฐประหาร 2557 ยิ่งวันรัฐประหาร ยิ่งหนัก
วันที่เขาประกาศกฎอัยการศึกก่อนจะยึดอำนาจ กองกำลังทหารยกมาที่วอยซ์มากกว่าไปทุกช่องนะ อาวุธหนักจัดเต็มกว่าทุกช่อง มาเป็นกองร้อย ยืนกันตลอดแนวรั้วของวอยซ์ วันที่ผมเข้าไปที่ออฟฟิศยังตกใจเลย ขนาดนี้เลยหรือ
เหตุการณ์วันนั้นคุณทำอะไรอยู่
ทหารเข้ามาที่วอยซ์ตอนตีสี่ ผมนอนอยู่ที่บ้าน น้องที่อยู่เวรออฟฟิศโทรไปบอก เราก็ปล่อยให้เขาคุมไปก่อน เพราะขัดขืนไม่ได้อยู่แล้ว พอเข้าไปก็เจอภาพบังเกอร์ขนาดเล็กหน้าห้องควบคุมการออกอากาศ (master control room-MCR) มีปืนกลอัตโนมัติหันไปทางห้อง MCR คือรู้ว่าเขาไม่ยิงหรอก แต่นี่คือการแสดงสัญลักษณ์ข่มขู่เพื่อให้เกรงกลัว แล้วทั้งสถานีมีทหารเดินวนเวียนตรวจเป็นระยะ เวลาออกอากาศก็จะมีทหารอยู่ในสตูดิโอ
สิ่งนี้เป็นธรรมเนียมของพวกทหาร เวลารัฐประหารทีก็ต้องไปสถานีโทรทัศน์ แต่ของช่องเรามาเยอะกว่าปกติ และอยู่นานกว่าทุกช่อง คือตอนหลัง ช่องอื่นทหารทยอยถอนตัวกันแล้ว แต่ช่องผมทหารยังไม่ยอมถอน เพราะเขาต้องการปรามไปถึงเจ้าของช่อง แม้แต่คุณทรงศักดิ์ เปรมสุข ผู้บริหารสูงสุดของช่อง ยังถูกทหารคุมตัวไปเข้าค่ายที่ลพบุรี ร่วมกับนักการเมืองเพื่อไทยอีกหลายคน
อีกหนึ่งในเหตุการณ์ที่ผมจดจำมาก คือหลังจากรัฐประหาร เขาเรียกผู้บริหารช่องไปพบที่ค่ายทหาร พลเอกคนหนึ่งเขาพูดกับพวกผมว่าเราทำหน้าที่สื่อไม่ดี ปลุกระดม สร้างความแตกแยก แล้วก็ปรามว่าคุณต้องหยุด เขาพูดว่า “ถ้าไม่เชื่อ คุณรู้ไหมว่าผมจะเผาตึก เผาอุปกรณ์ของคุณทั้งหมดก็ยังได้ โดยที่คุณทำอะไรผมไม่ได้ด้วย”
อีกประโยคพูดว่า “พวกนักวิชาการนักวิเคราะห์ช่องคุณ มันน่าจับไปฆ่าทิ้งให้หมด” เขาพูดอย่างนี้เลย นี่คือทหารยศพลเอกที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่ของกองทัพบก เขามั่นใจในอำนาจของเขามาก ผมรู้ว่าเขาขู่ แต่มันสมควรไหม คุณไม่จำเป็นต้องขู่ขนาดนี้เลย
ทั้งที่ตอนนั้นประเด็นที่วอยซ์พูดก็ยังไม่ได้เปิดเพดานเท่าตอนนี้ด้วยซ้ำ
ใช่ เราวิพากษ์วิจารณ์อำมาตย์และกองทัพ ไม่เคยทะลุไปกว่านั้น แค่พูดถึงเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ยังไม่กล้าพูดกันเลย พูดกันแค่เรื่องประชาธิปไตยที่ปกติควรเป็นอย่างไร ก็วนเวียนวิพากษ์วิจารณ์แค่นี้แหละ
โดนพูดขนาดนั้น แล้วคุณรับมืออย่างไร
วอยซ์เป็นดิจิทัลทีวีแล้วตอนนั้น เราเป็นดิจิทัลทีวีช่องเดียวที่ถูกสั่งปิดเกือบเดือน เขาให้เราไปทำแผนมาเสนอ ถ้าอยากจะเปิด ต้องแก้ผังออกอากาศใหม่ ไม่มีรายการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและ คสช. เราก็ยอมกันนะ เพราะการทำทีวีแล้วถูกปิด มันคือการเผาเงินทิ้งไปฟรีๆ ทุกวัน
เรายอมปรับผังเพื่อให้ได้ออกอากาศ ยกเลิกรายการ Wake Up Thailand ยกเลิกรายการวิเคราะห์การเมืองทั้งหมด เหลือแต่รายงานข่าวที่ไม่มีความเห็น แล้วก็ชูรายการสร้างแรงบันดาลใจกลับมา ทำรายการเทคโนโลยี ท่องเที่ยว อาหาร แต่พอกลับมาออกอากาศไปสักพัก พอเขาเริ่มผ่อนคลาย ผมก็เอา Wake Up Thailand กลับมา ตอนนั้นก็บอกนักวิชาการว่าอย่าเพิ่งไปวิเคราะห์วิจารณ์หนัก เอาแค่ทำให้คนดูที่เป็นแฟนรายการกลับมาหน่อย เพราะตอนนั้นพอไม่มีรายการพวกนี้ คนดูหายไปเยอะ ต่อให้คนดูเข้าใจว่าทำไมถึงเปลี่ยนไป แต่รสชาติไม่เหมือนเดิม เขาก็ไม่เสียเวลาดู คนดูหาย เรตติ้งก็ลด
แล้วความรู้สึกของคุณในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเป็นอย่างไร คุณโดนทหารเรียกเข้าค่าย ช่องที่สร้างมาโดนสั่งจอดำ แล้วยังต้องรับผิดชอบความรู้สึกของคนในทีมด้วย
ก็ต้องปรับใจตัวเองนะว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องชั่วคราว มันไม่สามารถอยู่แบบนี้ได้ตลอดหรอก วันใดวันหนึ่งก็จะไป เพราะฉะนั้นทำอย่างไรเราถึงจะประคองตัวเองให้ผ่านจุดนี้ไปได้ โดยไม่เสียจุดยืนในการทำงานมาก เมื่อเขาเริ่มผ่อนคลาย เราก็จะไต่เส้น แต่ถ้าหมิ่นเหม่แล้วถูกเรียกถูกปิด เราก็มีหน้าที่ไปชี้แจง อันไหนที่หยวนๆ ปรับแก้ได้ก็ปรับ ใช้วิธีไต่เส้นและต่อรองไปเรื่อยๆ แล้วพยายามบอกในทีมว่าข้อจำกัดคืออะไร ต้องขอให้ทุกคนเข้าใจ อย่างไรทางสถานีก็สู้ต่อแน่ๆ เพื่อให้ทุกคนมีกำลังใจ ไม่ต้องกลัวว่าจะถอดใจ เลิกกิจการ ทำให้เขาตกงาน ก็พยายามเชียร์อัปเรื่องพวกนี้
ถ้าจดสถิตินี่โดนหลายรอบมาก เดี๋ยวเรียกไปนั่นนี่ ผมเคยถูกเรียกไปส่วนตัว ข่มขู่นั่นแหละ ประมาณว่ารู้นะว่าเจ้าของอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเยาวชน ตอนนั้นมีหลายกลุ่มมากที่ออกมาประท้วง คสช. เขาก็เรียกผมไปเตือน เพื่อส่งสัญญาณถึงเจ้าของช่อง แต่จริงๆ ช่องและเจ้าของเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของม็อบตามที่เขาคิดหรอก
หลังรัฐประหาร 2557 มาแล้ว วอยซ์ก็ยังโดนสั่งจอดำอีกทีตอนปี 2562 ทั้งที่เหมือนการเมืองจะเริ่มคลี่คลายกว่าตอน คสช. ยุคแรกๆ แล้ว ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น
ตอนนั้นนับถอยหลังเป็นประชาธิปไตยแล้วนะ มีการกำหนดวันเลือกตั้ง เราก็คิดว่าบรรยากาศคลี่คลายแล้ว เลยใส่เต็มที่เหมือนปกติเลย วิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรง คู่กรณีโดยตรงก็คือรัฐบาลประยุทธ์และ คสช. ในที่สุดก็จบด้วยการที่เขาก็ใช้กลไก กสทช. เล่นงาน สั่งจอดำอีกครั้ง
แต่ละครั้งที่เล่นงานก็ข้อหาเดิมๆ คือเรื่องปลุกปั่น สร้างความแตกแยก เราก็สู้ด้วยเรื่องเสรีภาพสื่อตามรัฐธรรมนูญ 2560 สิ่งที่เราทำไม่ใช่การปลุกปั่น แต่เราให้ข้อมูล ให้เหตุผล ข้อเท็จจริง ส่วนการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากอำนาจรัฐ เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เราก็พยายามอธิบายอย่างนี้ โชคดีที่ศาลปกครองเชื่อข้อต่อสู้ของเรา และสั่งยกเลิกจอดำ
คุณร่วมสร้างวอยซ์มา ผ่านอะไรมาเยอะ จนถึงขั้นสู้ในศาลปกครองแล้วชนะเรื่องจอดำ แล้วเพราะอะไรคุณถึงออกจากวอยซ์
ผมออกจากวอยซ์กลางปี 2563 ช่วงที่ม็อบเยาวชนใกล้พีกเลย ต้องออกเพราะมีการเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจ เขาคืนใบอนุญาตทีวี แล้วจะโฟกัสแค่แพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ต้องใช้กำลังคนเยอะแยะ บริษัทก็ต้องพยายามลดต้นทุน เพราะการทำสถานีโทรทัศน์ต้องใช้ต้นทุนสูง ปีหนึ่งๆ จ้างคนเยอะ เครื่องไม้เครื่องมืออีก แล้วผมอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายข่าว เงินเดือนก็เยอะ เขาก็ต้องเอาออก ระดับบริหารออกกันเกือบหมด แต่พูดตรงไปตรงมาคือเราหมดประโยชน์ในการรันธุรกิจของเขาแล้ว
ผมก็เข้าใจนะ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เขาจ่ายชดเชยตามกฎหมาย อันนี้เขาดูแลดี ระหว่างทำงาน ก็ดูแลดี วอยซ์ขาดทุนทุกปีนะ บางปีนี่เกือบ 300 ล้าน ตั้งแต่ทำมาไม่มีต่ำกว่าร้อยล้าน ขาดทุนสะสมรวมกันตอนก่อนผมจะออกเป็นพันล้าน แต่ระหว่างที่ทำแล้วขาดทุน เขาปรับเงินเดือนให้พนักงานทุกปี มากกว่าอัตราเงินเฟ้อด้วย จ่ายโบนัสทุกปีอย่างต่ำหนึ่งเดือน ใครได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับผลงาน อันนั้นพูดในแง่บทบาทการเป็นนายจ้าง เขาดูแลดี การเอาคนออกของวอยซ์เลยไม่ค่อยมีประเด็น พนักงานรับรู้ เข้าใจ
วอยซ์ทีวีเดินทางมายาวนาน ตั้งแต่ถูกมองว่าเป็นช่องของคนเสื้อแดง ยืนยืนทำข่าวบนข้อเท็จจริงจนถูกเรียกว่าเป็นสื่อเพื่อฝ่ายประชาธิปไตย แต่พอมาถึงช่วงเลือกตั้ง 2566 กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นว่าวอยซ์เป็นสื่อของพรรคเพื่อไทย ต่อประเด็นนี้คุณมองอย่างไร
อันนี้ก็เป็นคำถามใหญ่เลยนะว่าตอนนี้ตกลงวอยซ์ทีวียังยืนอยู่ที่จุดเดิมไหม คุณยังทำหน้าที่สื่อเพื่อฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ไหม ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนสำคัญคือการเติบโตของพรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคเพื่อไทยที่เจ้าของพรรคตัวจริงก็คือคนเดียวกันกับเจ้าของวอยซ์ มองว่านี่คือคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญ
จริงๆ เขาคงเห็นแนวโน้มตั้งแต่เลือกตั้งครั้งที่แล้วในนามพรรคอนาคตใหม่แล้ว คนในพรรคเพื่อไทยหลายคนยังพูดเลยว่าอนาคตใหม่ตกปลาในบ่อเพื่อน ตอนทำงานในฐานะฝ่ายค้านร่วมกันก็เริ่มระหองระแหงหวาดระแวงกันบ้างแล้ว พอเข้าโหมดนับถอยหลังเลือกตั้งครั้งล่าสุด เลยยิ่งออกอาการชัดว่าไม่ใช่พันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยกันอีกต่อไป แต่คือคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญสุด ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่คนจะตั้งคำถามเรื่องจุดยืนช่อง เพราะดูทิศทางข่าวและการแสดงความเห็นของนักวิเคราะห์ต่อพรรคก้าวไกล ใครๆ ก็มองออก
ก่อนหน้านี้ผมสังเกตสัญญาณหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง เริ่มจากที่คุณทักษิณพูดเชิงด้อยค่าม็อบเยาวชนช่วงปี 2563-2564 ที่บอกว่า เด็กไม่มีความรู้ความเข้าใจพอที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน และยังพูดเรื่อง 112 ด้วยว่าตัวบทกฎหมายไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่การบังคับใช้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไข
พอคุณทักษิณออกมาแสดงท่าทีแบบนี้ ทิศทางของวอยซ์ก็ปรับเปลี่ยนตาม ยิ่งใกล้เลือกตั้งก็ยิ่งชัดแบบที่บอก ช่วงหนึ่งวอยซ์เองถึงกับสร้างทฤษฎีสลิ่มเฟสสองเลือกก้าวไกลขึ้นมา หวังดิสเครดิตกัน จากเดิมเคยวิพากษ์วิจารณ์หรือมองฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นคู่แข่งตัวหลัก แต่ตอนนี้ก้าวไกลกลายเป็นโจทย์หลัก
แต่ถ้ามองในแง่ของมาตรฐานของความเป็นสื่อ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับวอยซ์ เขายังเปิดพื้นที่ให้ความเห็นต่างอยู่บ้าง ผู้ดำเนินรายการทุกคนไม่ได้พูดไปในทางเดียวกันหมด วอยซ์ยังพยายามบาลานซ์ตรงนี้อยู่ แต่มีเรื่องหนึ่งที่หลุดมาตรฐานขั้นต่ำของการเป็นสื่อ เพิ่งมาเกิดช่วงก่อนเลือกตั้งไม่นาน คือเรื่องความหยาบคายในการแสดงออก ทั้งเรื่องคำพูดและกิริยาที่แสดงต่อคนดูของผู้ดำเนินรายการบางคน สื่อไม่ควรหลุดคำหยาบคายหรือระเบิดอารมณ์เกรี้ยวกราด ตวาดคนดูสื่อ คำว่าเหี้- นี่ไม่ได้เลยนะ ไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือออนไลน์ ถ้าคุณคิดว่าคุณเป็นสื่อมืออาชีพ คุณต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำ
คุณจะให้เหตุผลอะไรว่าทำไมต้องทำกิริยาแบบนั้น ผมไม่เชื่อว่าความหยาบคายทางคำพูดและกิริยาจะไปโน้มน้าวจูงใจคนเพื่อให้เชื่อแบบเราได้ เพราะการเริ่มต้นที่ความหยาบคาย คนก็จะตั้งป้อมอยู่แล้ว จะให้คนมาฟังคำชี้แจงหรือเชื่อในสิ่งที่คุณแสดงผ่านความหยาบคาย โดยมนุษย์ปกติส่วนใหญ่ไม่มีใครรับได้
ถ้ามองไปที่หลักการใหญ่ คุณมองอย่างไรเรื่องที่พรรคการเมืองมีสื่อของตัวเอง เพราะก็เป็นประเด็นถกเถียงเรื่องมาตรฐานและจรรยาบรรณสื่ออยู่เหมือนกัน
ถ้ากลับไปที่หลักการว่าควรให้นักการเมืองหรือคนที่ทำการเมืองมีหุ้นสื่อไหม โดยส่วนตัวผม ผมเห็นด้วยนะ ตอนนี้เรามีกฎหมายว่านักการเมืองห้ามถือหุ้นสื่อ เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ใช้ประโยชน์จากความเป็นสื่อในทางการเมือง แต่ผมว่ามีได้ กฎหมายไม่ควรห้ามหรอก เปิดเผยชัดเจนให้รู้เลย เพราะในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคนดู เช่น เขารู้อยู่แล้วว่าช่องนี้ครอบครัวทักษิณถือหุ้น คนก็เข้าใจอยู่แล้วว่าแนวความคิดเป็นอย่างไร แต่คนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ศรัทธาแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ แต่อย่างน้อยก็เปิดเผยตรงไปตรงมาว่าสื่อนี้เป็นของใคร มีจุดยืนแบบไหน แต่ถ้าไปห้ามถือหุ้น มันมีวิธีทางอ้อมเยอะแยะไปที่คุณไม่ต้องถือหุ้นสื่อเอง แต่สามารถกำหนดให้สื่อนั้นมีทิศทางที่เอื้อต่อแนวคิดของเขาได้
กลับมาที่เรื่องมาตรฐานสื่อ มันก็ต้องมาพิสูจน์กันว่า ถึงคุณจะเป็นช่องที่มีนักการเมืองถือหุ้น แต่คุณก็ต้องมีมาตรฐานความเป็นสื่อ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง เพราะสื่อมีจุดยืนได้ แต่คุณต้องนำเสนอเรื่องที่เป็น fact และเป็นธรรมพอสำหรับคนที่เห็นต่าง ต้องเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างแสดงความเห็นหรือถกเถียงกับคุณ ไม่ใช่ทั้งช่องระดมความเห็นแบบเดียวกันหมด หรือถ้าเมื่อไหร่ที่ความคิดเห็นของคุณหลุดหลักการที่ควรเป็น จนมีคนดูวิจารณ์ว่าตกลงคุณเป็นโฆษกพรรคการเมืองหรือเป็นสื่อ ก็ต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์ด้วยนะ ไม่ใช่ไปโกรธ ตวาดคนดูที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ ในเมื่อคุณวิพากษ์วิจารณ์เขาได้ เขาก็วิพากษ์วิจารณ์คุณกลับได้
มีสื่อที่เชียร์พรรคการเมืองชัดเจนจนหลายครั้งถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการ ประเด็นนี้คุณมองอย่างไร การที่คนเป็นสื่อ แต่ก็เถียงแทนทุกอย่างเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง
พูดตรงๆ คือการทำแบบนี้ล้ำเส้นความเป็นสื่อ สื่อมีจุดยืน มีความเห็นได้ แต่อย่างไรคุณก็ต้องเคารพหลักการที่คุณเชื่อและเคยแสดงออกมา หลักการที่เป็นปกติสากล ถ้าคุณเชื่อเรื่องประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็มีหลักการของมันง่ายๆ อยู่แล้ว แต่แล้ววันใดวันหนึ่งคุณเคยแสดงความเห็นไว้แบบนี้ ผ่านไปอีกไม่นาน ความเห็นคุณเป็นอีกแบบ แล้วยุคนี้มีดิจิทัลฟุตปรินต์ พอคุณไม่ยืนอยู่บนหลักการเดิมที่เคยแสดงความเห็น คุณก็จะถูกตามหลอกหลอนด้วยสิ่งที่คุณพูดตอนนั้น แล้วเขาก็จะยกมาเทียบกับตอนนี้ ในที่สุดมันก็จะค่อยๆ ทำลายความน่าเชื่อถือในฐานะสื่อของคุณ จะบอกว่าบริบทเปลี่ยนไป ฉันเลยเปลี่ยนความคิด แต่บางทีหลักการที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทไหน หลักการนั้นก็ควรจะเหมือนเดิม
ตอนนี้คุณกลับบ้านไปทำไร่ทำสวน แต่ในสนามข่าวตอนนี้ก็สนุกมากเลย บางคนก็บอกว่าเป็นช่วงเวลาที่นักข่าวได้ทำเรื่องน่าตื่นเต้น คุณคันไม้คันมืออยากกลับมาในสนามข่าวบ้างไหม
ก็มีอารมณ์แบบนั้นอยู่บ้างนะ ผมก็ไม่ได้อายุเยอะจนหมดไฟ ยังมีไฟเรื่องพวกนี้อยู่ ก็เป็นเหตุผลที่ผมกลับมาเขียนลงเฟซบุ๊ก ตอนที่ผมออกจากอาชีพสื่อ ผมไม่ได้แตะเรื่องการเมืองเลย เฟซบุ๊กพูดแค่เรื่องปลูกผักเลี้ยงแมว เพิ่งมาแอ็กทีฟตอนเลือกตั้งนี่เอง เพราะดูแล้วมันไม่ใช่
อะไรไม่ใช่?
ผมเป็นโหวตเตอร์ที่เปลี่ยน ก่อนหน้านี้ผมคือโหวตเตอร์ไทยรักไทย เพราะเราก็ทำงานที่ไทยรักไทย ศรัทธาคุณทักษิณเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ผมเป็นโหวตเตอร์ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย เพิ่งมาเปลี่ยนตอนก่อนเลือกตั้ง 2566 ไม่นานนี่เอง เลือกตั้งคราวที่แล้ว (2562) ผมก็ยังเลือกเพื่อไทยนะ แต่รอบนี้เราเห็นแล้วว่าก้าวไกลเขามีจุดยืนที่ชัดเจน มีนโยบายที่ก้าวหน้าตรงกับที่เราคิด แล้วผลงานของเขาสี่ปีที่เป็นฝ่ายค้าน ดูเขาอภิปรายแต่ละเรื่องสิ สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้ ทั้งที่เขายังไม่มีอำนาจรัฐในมือเลย เราเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจตรงนี้ พอเริ่มมีกระแสโจมตีเขามากๆ ทนไม่ไหว ต้องกลับมาเขียนผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ใช้สองช่องทางนี้ อย่างน้อยก็ได้ทำในสิ่งที่เราคิด ทำเท่าที่จะทำได้ เพราะเราไม่ได้เป็นสื่อหรือมีช่องทางสื่อที่เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ๆ อีกแล้ว
เลือกตั้งรอบนี้ หลายคนมองว่าเพื่อไทยจุดยืนไม่ชัดเจน แล้วก็ดูเหมือนไม่แตะประเด็นแหลมคมทางการเมือง จะมุ่งแตะเรื่องปากท้อง ถ้ามองในมุมของคุณที่เห็นการเมืองมานาน คุณมองว่ายุทธวิธีนี้เป็นจุดที่ผิดพลาดไหม
ใช่ ความคิดคุณทักษิณคือกรอบที่จะไปกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ถึงเขาไม่ใช่หัวหน้าพรรค แต่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าความคิดคุณทักษิณมีอิทธิพลมากที่สุดในการกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรค คุณทักษิณเชื่อว่าปากท้องดีต้องมาก่อน เพราะเขาประสบผลสำเร็จมาจากการทำพรรคไทยรักไทย อันนั้นก็จริงของเขา คุณทักษิณเป็นคนที่ทำให้คำว่าประชาธิปไตยกินได้เห็นเป็นรูปธรรมชัดที่สุด แต่ตอนที่ไทยรักไทยประสบผลสำเร็จ คือช่วงที่ประชาธิปไตยไม่ได้บิดเบี้ยวเหมือนตอนนี้ ไทยรักไทยเกิดมาหลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสูงมาก ช่วยให้ไทยรักไทยสามารถขับเคลื่อนเรื่องปากท้องสำเร็จได้ตามเป้าหมาย
กรอบความคิดเดิมของคุณทักษิณก็เลยมาสู่การทำแคมเปญเลือกตั้งในรอบนี้ โดยที่ยังเชื่อเหมือนเดิมว่าต้องปากท้องดีก่อน เพราะเชื่อว่าคนลำบากมาก ก็ลำบากจริงนะ เก้าปีของประยุทธ์ทำคนยากจน ก็ถูกของเขา แต่เขาลืมไปว่าคนเราเมื่อยากจนหรือลำบากถึงขีดสุด มันต้องการอะไรมากกว่านั้น คนถูกกดมาตลอดเก้าปี ซึ่งก้าวไกลตีโจทย์ตรงนี้ออก แต่คุณทักษิณยังเชื่อว่าเดี๋ยวเข้าไปแก้ปัญหาปากท้องได้ เคยแสดงผลงานมาแล้ว ชูเรื่องนี้เลย คนเลือกแน่ๆ แลนด์สไลด์แน่ แต่พอเชื่อเรื่องปากท้องดี คุณก็ไม่ชัดเจนเรื่องจุดยืนทางการเมืองและอุดมการณ์ คิดว่าเป็นเรื่องรอง แล้วเขาก็คิดในสไตล์นักการเมืองเก่า ต้องไหลเป็นน้ำ คือปรับตัวได้ตามสภาพ
ตอนที่แคมเปญรณรงค์หรือการดีเบตทั้งหลายเรียกร้องจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคการเมืองว่าเอาลุงหรือไม่เอาลุง เขาเลยไม่แสดงความชัดเจนตรงนี้ เพราะเชื่อว่าไม่ต้องไปผูกมัด ถึงเวลาก็เปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกตอนนี้ เอาปากท้องก่อน ตอบแต่ละครั้งก็เลยไม่เคยชัดเจน ไม่ว่าใครตอบ ไปย้อนดูเทปที่ถูกสัมภาษณ์ไว้ได้เลย พูดแต่ละครั้ง จุดยืนไม่ชัดเจน ก็ส่งผลต่อคนที่จะเลือก กว่าจะชัดเจนก็สายเกินไป
จุดชี้ขาดในการย้ายจากโหวตเตอร์เพื่อไทยมาเป็นก้าวไกลของคุณคืออะไร
อย่างที่บอกว่าคุณทักษิณมาพูดด้อยค่าม็อบเยาวชน บวกกับผลงานอนาคตใหม่ที่เขาแสดงไว้ แล้วก้าวไกลก็ชัดเจนเรื่องจุดยืนทางการเมืองมาตลอด ผมก็คิดว่าพรรคนี้ตอบโจทย์สิ่งที่เราคิดและใฝ่ฝัน เราอยากเห็นการเมืองแบบใหม่ เราเคยคิดกันไหมว่าจะมีพรรคการเมืองที่ไม่ซื้อเสียงแล้วชนะเลือกตั้งได้ พรรคก้าวไกลทำให้เห็น ไม่มีข้อครหาเรื่องซื้อเสียง อย่างน้อยแค่เรื่องพื้นฐานก็พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าก้าวไกลทำได้
ถ้ามองในแง่สายธารประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้านับแต่ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จนถึงหลังจากนี้ คุณคิดว่าเราจะวนเป็นวงกลม หรือเราจะหลุดทะลุเพดานไปสู่การเมืองใหม่
ปีนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่าการเมืองไทยในอนาคตจะต้องแข่งกันเรื่องจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ก่อนหน้านี้การเมืองเดิมๆ ไม่ค่อยชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะเป็นประชาธิปไตยแบบเบลอๆ ตอนปี 2544 ไทยรักไทยสร้างความเปลี่ยนแปลงอันหนึ่ง คือทำให้เกิดการเมืองที่แข่งขันทางนโยบาย ไทยรักไทยเป็นพรรคแรกๆ ที่นำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ให้คนเลือก
ถ้าเราย้อนไปดู พรรคการเมืองแต่ละพรรคในอดีต ยังนึกไม่ออกเลยว่าแต่ละพรรคขายนโยบายอะไรกัน ส่วนใหญ่ก็จะไปเอาแผนของสภาพัฒน์ฯ มา แล้วก็เอามาเขียนหาเสียงตามนั้นแหละ แต่ไทยรักไทยเขาทำนโยบายที่แตกต่างขึ้นมา สร้างจุดเปลี่ยนการเมืองไทย จนทำให้ทุกพรรคเริ่มคิดนโยบายที่แตกต่างจากสภาพัฒน์ฯ มาแข่งกัน
พอมาถึงปีนี้ ชัดว่าการเมืองก้าวมาถึงอีกสเต็ปหนึ่ง คือแข่งกันด้วยเรื่องจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองว่าคุณคืออนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม ซึ่งอันนี้เป็นโมเดลเหมือนประเทศที่เจริญแล้ว แต่ทั้งสองอันเป็นประชาธิปไตยนะ ไม่ใช่ว่าอนุรักษนิยมแล้วเป็นเผด็จการ ถ้าย้อนไปดู ไทยรักไทยเดิมก็เหมือนเสรีนิยมนะ เพราะพรรคเก่าๆ นั้นเป็นอนุรักษนิยม แต่พอเกิดอนาคตใหม่-ก้าวไกล ภาพของเพื่อไทยก็กลายเป็นเหมือนพวกอนุรักษนิยม ไปอยู่ในเฉดตรงนั้นแล้ว ในขณะที่เฉดของก้าวไกลมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่า
ในเชิงนโยบายเศรษฐกิจข้ามเส้นไปมาได้ แต่เส้นแบ่งความเป็นอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมของบ้านเรา ดูได้จากแนวคิดเรื่องปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ทลายทุนผูกขาด คือเรื่องนายทุน ขุนศึก ศักดินา พวกนี้จะเป็นเส้นแบ่งที่ชัด เพราะบทบาทสถาบันฯ กับกองทัพเป็นช้างตัวใหญ่ในห้อง เราก็มาดูว่าแต่ละพรรคมีแนวคิดต่อเรื่องนี้อย่างไร
พอเป็นการเมืองแบบนี้ เพื่อไทยอยู่ที่เดิมหรือถอยหลัง
การอยู่ที่เดิมในขณะที่คนอื่นเดินหน้าก็เหมือนการถอยหลัง เพราะโลกเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อคุณยังยืนอยู่ที่เดิม ช่องว่างระหว่างที่เดิมกับที่เคลื่อนไปข้างหน้าก็ห่างไกลไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นการเมืองรอบหน้า ผมว่าชัดมาก ถ้าเขายอมให้มีเลือกตั้งนะ ปัญหาคือกลัวว่าจะไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ หรือแก้รัฐธรรมนูญแล้ว กติกาจะยังเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบที่เราคาดหรือเปล่า เกิดเขาถ่วงเวลาไปจะยิ่งเหนื่อย การเมืองก็จะแบ่งเป็นสองขั้ว ขั้วอนุรักษนิยมก็มีเพื่อไทยเป็นแกน เสรีนิยมก็มีก้าวไกลเป็นแกน อีกพรรคหนึ่งที่ชัดว่าเสรีนิยมคือพรรคเป็นธรรม
ในแง่ของวอยซ์ สมมติว่าเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล แล้ววอยซ์ยังดำรงการเป็นสื่ออยู่ ตำแหน่งแห่งที่ของวอยซ์จะเป็นอย่างไร เพราะโดยหน้าที่แล้ว สื่อต้องตรวจสอบวิพากษ์รัฐบาล คุณที่เคยทำวอยซ์ทีวีในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์มาแล้ว มีหลักในการทำงานอย่างไร
ก็กลับไปที่หลักการเดิม ถ้าคุณต้องการให้เราเป็นสื่อที่มีมาตรฐานแบบมืออาชีพ ซึ่งตอนนั้นเจ้าของเขาปล่อยแบบนี้จริงๆ นะ คุณต้องยอมให้เราเสนอข้อเท็จจริง เชียร์ได้แต่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่มีการบิดเบือน แล้วถ้าเห็นต่าง เราก็ต้องนำเสนอความเห็นเพื่อทักท้วงได้ ไม่ใช่ว่าเชียร์สะบั้นหั่นแหลกทุกเรื่องโดยไม่เห็นต่างเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หลายเรื่องมีความเห็นแตกต่างกันมาก
ตอนสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ก็มีเรื่องจำนำข้าวที่โดนโจมตีเยอะ เพราะฉะนั้นเราก็จะบาลานซ์ความเห็นในช่อง ฝั่งเชียร์ก็มี ที่เชียร์เพราะเขาเชื่อแบบนั้นด้วยนะ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็ไปพูดในรายการของเขา หรือในรายการก็มีโต้เถียงกัน ตอนนั้นผมรวมทั้งผู้ใหญ่ในช่องก็ถูกตำหนิมานะ ว่าทำไมถึงไม่ช่วยกัน ทำไมมาโจมตีกัน เราก็บอกว่าเราเป็นสื่อ คุณบอกว่าอยากได้สื่อที่เป็นมืออาชีพไม่ใช่เหรอ แล้วเรื่องอื่นที่คุณทำถูก เราก็เชียร์ เยอะแยะไป แล้วเรื่องนี้ก็ไม่ได้ด่าอยู่คนเดียวนะ คนอื่นเขาก็เชียร์ หรือถ้ามีข้อมูลอยากมาดีเฟนด์ก็มาสิ ไม่ได้มีปัญหาเลย เราก็วางบทบาทแบบนี้
อีกเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยคือตอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง จุดยืนของผมชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นทิศทางข่าวและการวิเคราะห์หลายครั้งก็จะออกมาในแบบไม่เห็นด้วย แต่อันนั้นก็มีแรงกดดันเข้ามา แทบจะมากกว่าจำนำข้าวด้วยนะ แต่ไม่ได้ถึงขนาดว่าห้ามเลย เขาปล่อยให้ทำงานกันแบบมืออาชีพพอสมควร ให้อิสระในแบบที่ยอมรับได้
ในฐานะที่ทำงานสื่อมวลชน ตั้งแต่ลงสนามเองไปจนถึงระดับผู้อำนวยการ คุณมีอะไรติดค้างกับการทำอาชีพนี้ไหม มีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ หรือคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ไหม
ไม่มีแล้ว ผมก็ครอบครัวชนชั้นกลางปกตินะ เป็นเด็กบ้านนอก ไม่มีคอนเน็กชั่นพิเศษ จบมาในสายวิชาชีพ แล้วคนที่เรียนจบในสายวิชาชีพอย่างผมมา เป้าหมายสูงสุดของการทำอาชีพนี้คือบรรณาธิการหรือผู้อำนวยการ แล้วแต่องค์กรไหนจะเรียก ผมเป็นผู้อำนวยการสถานี ผมก้าวจากนักข่าว ไต่เต้ามาเรื่อยๆ เป็นบรรณาธิการ บรรณาธิการบริหาร ผู้อำนวยการข่าว ผู้อำนวยการสถานี ผ่านมาทุกจุดที่เป็นความฝันในการเดินตามสายวิชาชีพของเรามาแล้ว
แล้วถามว่าทำอะไรที่เป็นผลงานที่ภาคภูมิใจไว้บ้าง คนอื่นคิดอย่างไรไม่รู้ แต่ในส่วนตัวผมคิดว่างานที่วอยซ์ทีวีคือการบรรลุสิ่งที่ผมคิดและใฝ่ฝันสำหรับการเรียนและทำงานในอาชีพนี้มาแล้ว การสร้างสถานีจากจุดเริ่มต้นซึ่งไม่มีอะไรเลย แล้วเราก่อร่างสร้างตัว สร้างคน ปลุกปั้นผลักดันนักข่าวขึ้นมา ทำรายการที่คิดว่าตอบโจทย์ที่ใฝ่ฝันไว้แล้วว่าอยากจะทำแบบนี้ ได้ทำมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ามีอะไรติดค้างไหมในอาชีพนี้ คำตอบคือไม่มีแล้ว
แต่ผมจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้เลย ถ้าขาดน้องๆ และเพื่อนร่วมงานที่มากความสามารถ และลมใต้ปีกที่สำคัญสุดอีกสองคนคือคุณทรงศักดิ์ เปรมสุข นายเก่าทั้งที่ไอทีวีและวอยซ์ทีวี และคุณฉัตรชัย เชื้อสมบูรณ์ สื่อรุ่นพี่ที่ผมเคารพรัก ต้องขอบพระคุณพวกเขาจริงๆ