fbpx

“การเดินหน้าสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตยเหมือนมีก้อนกรวด อาจทำให้รำคาญ แต่ไม่ทำให้ยุติ” – ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งปี 2566 กลายเป็นสนามประลองเกมการเมืองครั้งใหญ่ที่คนไทยจับตามอง เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดมีความไม่แน่นอน และยังมีประเด็นต่อรองอำนาจร่วมกับ 7 พรรคร่วม โดยเฉพาะประเด็นการเลือก ‘ประธานสภา’ ที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ในช่วงก่อนเปิดสภาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้เกมกระดานการเมืองเต็มไปด้วยวาทกรรมและวิวาทะอันเข้มข้น ในขณะเดียวกันก็สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนที่ตั้งตารอดูอนาคตประชาธิปไตยไทย เพราะกลัวว่าดีลของพรรคร่วมจะสั่นคลอนก่อนการตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ในวาระที่สภาฯ ไทยเริ่มนับหนึ่งใหม่ท่ามกลางการต่อรองอำนาจอันดุเดือด 101 ชวน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและนักวิเคราะห์ มาจับกระแสความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่ รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นอย่างไรหากพรรคการเมืองใหม่อย่างก้าวไกลเป็นผู้นำรัฐบาล

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.302 นับหนึ่งสภาฯ ใหม่ กับ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ออกอากาศวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

YouTube video

ผลการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ถือว่าเป็นการปิดประตูความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลหรือไม่

ผมว่าระหว่างพรรคน่าจะปิดได้พอสมควร แต่ความไม่พอใจระหว่างบุคคลคงจะมีอารมณ์ที่ค้างบ้างเป็นธรรมดา เพราะในช่วงที่เพื่อไทยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับก้าวไกลได้นั้น เพื่อไทยต้องการเป็นประธานสภาฯ ฉะนั้นมันมีร่องรอยของความไม่พอใจเกิดขึ้นจริงๆ แต่ยังเป็นเรื่องระดับบุคคล และถูกควบคุมไม่ให้ลุกลามด้วยข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายคือ การเลือกอาจารย์วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) เข้ามา

อาจารย์คิดว่าทำไมข้อตกลงเรื่องประธานสภาฯ จึงยืดเยื้อนาน

มันเป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายถือว่าตนเองมีอำนาจต่อรอง การมีจำนวน ส.ส.ที่ใกล้เคียงกันเป็นปัญหาจริง แน่นอนว่าตามหลักการแล้ว จำนวนส.ส.ไม่ควรจะเป็นปัญหา เพราะจำนวนที่ต่างกัน 10 กว่าคนมันสะท้อนถึงจำนวนคนเลือกที่ต่างกันหลายล้านคน แต่มันเป็นปัญหาขึ้นมาด้วยเงื่อนไขทางการเมือง ทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะต่อรองได้ 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความรู้สึกที่ทุกคนคิดว่าตนเองมีสิทธิ์ต่อรอง หรือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการกระพือความขัดแย้งเรื่องประธานสภาอาจลืมมองไปข้อหนึ่งว่า ฝ่ายรัฐบาลเก่าที่มีเสียงแค่ 188 เสียง ทำให้โอกาสที่จะเปลี่ยนขั้วทางการเมืองนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะมันจะเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีทางออก เพื่อไทยเองก็ประกาศเรื่องไม่มีทางจับมือกับสองป. คุณเศรษฐา (ทวีสิน) และคุณแพทองธาร (ชินวัตร) ก็ประกาศ ฉะนั้น ถ้าประกาศไม่จับมือกับสองป. คุณก็ไม่มีทางจับมือกับพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติได้ ท้ายที่สุดแล้ว ก้าวไกลกับเพื่อไทยก็ต้องอยู่ด้วยกัน ไม่มีทางทำอะไรได้มากกว่านี้

อาจารย์คิดว่าเพราะเหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงอยากได้ตำแหน่งประธานสภาฯ

ผมคิดว่าเพื่อไทยมีทั้งปีกที่อยากได้และปีกที่คิดว่ามันไม่ใช่ประเด็น แต่โดยธรรมชาติของการเมืองแล้ว คนที่เขาคิดว่ามันไม่ใช่ประเด็น เขาก็จะไม่ออกมาพูดกัน คนที่มองว่าแย่งแล้วพรรคมีแต่เสียก็มี แต่ถ้าพูดไปอาจจะโดนโจมตี บทสรุปที่ไปจบตรงอาจารย์วันนอร์ สะท้อนให้เห็นว่าคนในเพื่อไทยบางคนก็รู้สึกว่าพรรคเสียหาย แต่เขาแค่ไม่ออกมาพูด คนที่ออกมาพูดทำให้พรรคเสียหายและเป็นการพูดที่เหนื่อยฟรี เพราะท้ายที่สุด ประธานสภาฯ เป็นของอาจารย์วันนอร์

ทำไมก้าวไกลต้องยอมถอยในเรื่องประธานสภาฯ

ผมว่าก้าวไกลเองก็มองออกเหมือนบางคนในเพื่อไทยที่เสนออาจารย์วันนอร์ว่า ถ้าดันต่อไปมันก็สุดทางแล้ว ไม่มีทางได้มากกว่านี้ ถ้าก้าวไกลดันต่ออาจจะเกิดเหตุการณ์ที่เพื่อไทยสู้กลับ เพราะการโหวตประธานสภาฯ เป็นโหวตลับ เราไม่มีทางรู้ว่าใครจะโหวตให้ใคร ผมคิดว่าก้าวไกลเองเขาก็ประเมินแล้วว่า ถ้าเขาไม่สามารถคุยให้มันจบได้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลนั้นก็จะจบตรงที่ หนึ่ง-แพ้ทั้งคู่ หรือสอง-ก้าวไกลแพ้เพื่อไทยชนะ สาม-ภาพลักษณ์เสียหายทั้งคู่และกระทบกระเทือนกับการจัดตั้งรัฐบาล พอก้าวไกลถอยในเชิงยุทธวิธี ทำให้เอกภาพของพรรคร่วมกลับมาอีกครั้ง และกลายเป็นแรงกดดันในการเลือกนายกฯ ว่าไม่สามารถเสียงแตกได้แล้ว เพราะข้ออ้างของความขัดแย้งในการเลือกนายกฯ ได้ถูกสลัดออกไปแล้วจากการเลือกประธานสภาฯ

ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ฉากทัศน์ว่า ถ้าหากก้าวไกล-เพื่อไทยทะเลาะกัน มีโอกาสที่ส้มจะหล่นไปฝั่งรัฐบาลเดิม อาจารย์คิดว่าโอกาสแบบนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่

ไม่น่าจะเกิดขึ้น จำนวน ส.ส.188 กับ 313 เป็นตัวเลขที่ห่างกันมาก อีกทั้งผลโหวตรองประธานยังสะท้อนว่าฝั่งรัฐบาลเดิมไม่ได้โหวตไปในทิศทางเดียวกัน ฝ่ายก้าวไกล-เพื่อไทยโหวตไปในทิศทางเดียวกันท่ามกลางข่าวลือว่าจะแตกหัก ส่วนฝ่ายรัฐบาลเดิมโหวตไปคนละทิศคนละทางท่ามกลางข่าวลือว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ ทางฝั่งรัฐบาลเดิมไม่มีคนที่สามารถเป็นผู้นำในการนำพรรคการเมืองทั้งหมดได้แล้ว ในขณะฝั่ง 313 เสียง ก้าวไกลยังอยู่ พิธาเป็นผู้นำ แต่ถ้าก้าวไกลมีอันเป็นไป เศรษฐาและแพทองธารนำ แต่ฝ่ายของพลเอกประยุทธ์ไม่มี พลเอกประยุทธ์ไม่สามารถนำได้ เพราะรวมไทยสร้างชาติไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่ง พลเอกประวิตรก็ไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่ง คุณอนุทินเป็นผู้ได้เสียงสูงสุดในฝ่ายนั้น แต่จะให้คุณอนุทินนำพลเอกประยุทธ์-ประวิตรก็ไม่น่าจะใช่ ไม่ต้องพูดถึงประชาธิปัตย์ที่แม้แต่หัวหน้าพรรคเป็นใครยังไม่รู้เลย ฉะนั้นแล้ว ฝั่งรัฐบาลเก่าคงถึงทางตัน

หากมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นก่อนวันโหวตนายกฯ อาจารย์คิดว่าจะเป็นอย่างไร

การเสียงแตกจากฝั่งพรรคร่วมครั้งนี้ไม่น่าจะมี ส่วนฝ่ายพลเอกประยุทธ์เองน่าจะเกิดปัญหาคล้ายๆ กับกรณีประธานสภาเหมือนกัน พลเอกประยุทธ์ก็ถอดใจแล้ว ส่วนพลเอกประวิตรไม่น่าจะอยู่ในความพร้อมที่จะชิงตำแหน่งนายกฯ และตราบใดที่ยังมีพลเอกประยุทธ์-ประวิตร คุณอนุทินคงไม่ชิงตำแหน่งอยู่แล้ว ฉะนั้น ฝั่งรัฐบาลเดิมไม่มีตัวเลือก สถานการณ์ของพรรคการเมืองต่างๆ น่าจะนิ่งมาก และคงรอดูว่า ส.ว.จะเดินเกมอย่างไรมากกว่า

หากการโหวตนายกฯ รอบที่หนึ่ง ส.ว. ไม่โหวตให้พิธา จะยังมีความเป็นไปได้หรือไม่ในการจะเสนอชื่อพิธาในรอบถัดๆ ไป

แน่นอนว่า ส.ว.ไม่ต้องการหนุนพิธาเป็นนายกฯ อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ เขาไม่รู้จะเสนอใคร เขาไม่มีไพ่อะไรอยู่ในมือ ถ้าให้รัฐบาลรักษาการต่อไปเรื่อยๆ มันจะเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่มากมายมหาศาล อย่างไรก็ตาม ส.ว.ที่เป็นทหารและข้าราชการก็มีทั้งสั่งได้และสั่งไม่ได้ ตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญว่าพลเอกประยุทธ์-ประวิตรจะสั่งคนพวกนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ตัวเลข ส.ส.ที่น้อยทำลายจินตนาการทางการเมืองของฝ่ายที่ต้องการให้รัฐบาลชุดเดิมเป็นรัฐบาลต่อ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนขั้วหรือเปลี่ยนค่าย ซึ่งผมคิดว่าเพื่อไทยไม่น่าจะทำ

ที่เป็นไปได้อาจจะมีแค่การป่วนพิธาไปเรื่อยๆ ของ ส.ว. สำหรับผมไม่ใช่การที่ 8 พรรคร่วมจะมีกำลังเสนอพิธาเป็นนายกฯ อีกกี่รอบ แต่คือ ส.ว.จะมีกำลังในการสกัดพิธาได้กี่รอบมากกว่า ณ เวลานี้เราพูดถึงเหตุการณ์ที่มันไกลตัวเรา เราก็จะเห็นภาพส.ว.ออกมาพูดว่าจะไม่สนับสนุนพิธา ซึ่งเป็นการพูดอย่างไรก็ได้ แต่ถึงวันเลือกนายกฯ มันเป็นการโหวตแบบขานชื่อ เป้าของการสกัดนายกฯ ที่มาจากเสียงข้างมากจะเห็นได้อย่างชัดเจน ส.ว.ที่ออกมาพูดอาจจะไม่สนใจอยู่แล้ว แต่คงมี ส.ว.จำนวนมากที่สนใจและมองว่าสังคมจะวิจารณ์พวกเขาอย่างไร ฉะนั้น การสกัดพิธาของ ส.ว.ครั้งที่หนึ่งอาจจะทำได้ แต่ครั้งต่อไปจะยากขึ้นเรื่อยๆ

รวมไปถึงหากโดนสกัดกั้นจาก กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งระยะเวลาดำเนินการช้ามาก การเมืองก็จะเปลี่ยน จะเป็นอีกฉากทัศน์หนึ่งคือ เพื่อไทยขึ้นมานำ ซึ่งผมคิดว่าความกังวลของหลายคนเรื่องการจับมือกันระหว่างเพื่อไทยและขั้วรัฐบาลเดิมนั้น ผมก็ไม่แน่ใจเช่นกันว่าพลเอกประยุทธ์-ประวิตรจะมาจับมือกับเพื่อไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับคุณทักษิณหรือไม่ เป็นสมการทางการเมืองที่ทำให้เกิดคำถามว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ฉะนั้น การมีจำนวน ส.ส.ที่ห่างกันทำให้ฉากทัศน์การเมืองนี้เกิดขึ้นได้ยาก ถ้ามีก็คงเหนื่อยมากสำหรับทุกคน และคงไม่มีใครกล้าทำ

เพราะเหตุใดการสื่อสารของเพื่อไทยทำให้มีหลายคนไม่ไว้วางใจว่าจะไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับก้าวไกล

เพราะส่วนใหญ่คนคิดว่าเพื่อไทยมีคุณทักษิณหนุนหลัง และถ้าคุณทักษิณเคาะอะไรมันคงเป็นอย่างนั้น แต่ผมคิดว่าด้วยท่าทีของคุณทักษิณเอง หรือที่คนกังวลว่าคุณทักษิณจะดีลกับคุณประวิตร-ประยุทธ์ ถ้ามีดีลจริงๆ คุณทักษิณคงไม่ต้องอยู่นอกประเทศนานขนาดนี้ หรือเรื่องระหว่างคุณประวิตรกับคุณทักษิณ หากดีลนั้นคือการพาคุณทักษิณกลับไทย คุณประวิตรจะช่วยอะไรคุณทักษิณได้ คุณประวิตรได้ ส.ส.ในสภาไม่ถึง 40 เสียง และห่างจากการคุมกองทัพไปนาน หรือบางคนบอกว่ามีอำนาจพิเศษที่ถ้าคุยรู้เรื่องคุณทักษิณจะได้กลับไทยแน่ คำถามคือ แล้วอำนาจพิเศษนั้นกับคุณประวิตรคุยกันหรือไม่ ก็ไม่ใช่อีก 

ฉะนั้น การที่บอกว่าจะมีดีลเพื่อพาทักษิณกลับบ้านและเพื่อไทยเปลี่ยนขั้ว ในความเป็นจริงไม่น่าจะมีดีลที่ไปถึงขั้นนั้นได้ อาจจะมีแค่สื่อสารหรือพูดคุยกัน แต่ไม่สามารถเกิดเหตุการณ์ที่เพื่อไทยจะเปลี่ยนขั้วเพื่อให้ทักษิณกลับไทยแลกกับอนาคตทางการเมืองของพรรคแน่นอน จริงอยู่ที่นักการเมืองมีหลายแบบ บางคนไม่ได้มาทำงานเพื่ออุดมการณ์แต่เพื่อตำแหน่ง บางคนมาเล่นการเมือง เพราะธุรกิจสัมปทาน แต่ท้ายสุดแล้ว ในภาพใหญ่นั้นเกิดฉากทัศน์นี้ไม่ได้ เพราะจะฮาราคีรีหลายคน ทั้งหมอชลน่าน (ศรีแก้ว), คุณเศรษฐา คุณจาตุรนต์ (ฉายแสง) คนเหล่านี้จะอยู่ในวงการการเมืองยาก และเขาไม่น่าจะทำด้วย

การที่ก้าวไกลยอมในครั้งนี้ถือเป็นการลดทอนอุดมการณ์อย่างที่หลายคนไม่พอใจหรือไม่

ผมเป็นอีกคนที่ไม่สบายใจกับเรื่องนี้ หลักการที่พรรคอันดับหนึ่งจะต้องได้เป็นประธานสภานั้นถูกต้อง แต่ในเมื่อคนที่ต้องรับภาระในการบริหารหลักการนี้เขาประเมินแล้วว่า มันไม่เสียหายหากมีอาจารย์วันนอร์ ผมคิดว่าก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา ถึงแม้ว่าผมจะคิดเหมือนคนจำนวนไม่น้อย ที่โลกในอุดมคติเราต้องการเห็นพรรคชนะอันดับหนึ่งเป็นประธานสภา แต่ในแง่การเมือง เราก็โชคดีที่รอบนี้มีคนอย่างอาจารย์วันนอร์เป็นกรณียกเว้น เพราะเป็นนักการเมืองอาวุโสที่เคยคุมคมนาคมและไม่มีข้อหาทุจริต เคยคุมกระทรวงมหาดไทยไม่เคยมีข้อหาไปเบ่งใส่คนอื่น เคยคุมสภาก็ไม่เคยมีข้อหาอื้อฉาวในการก่อสร้างสภา อาจารย์วันนอร์จึงเป็นกรณียกเว้นที่พอจะทำให้การถอยของหลักการได้รับการถ่วงน้ำหนักให้เบาลง อาจารย์วันนอร์และพรรคประชาชาติเป็นที่ยอมรับของสองพรรคใหญ่อยู่พอสมควร

หมายความว่าบทบาทของพรรคเล็กน่าจะมีส่วนสำคัญต่อรัฐบาลใหม่หรือไม่

เป็นไปได้ เพราะตัวเลขของก้าวไกลกับเพื่อไทยคือ 151 กับ 140 ฉะนั้น พรรคเล็กจะเปลี่ยนไปข้างไหน ดุลมันก็เปลี่ยน ถ้าพรรคเล็กเอนไปในทางเพื่อไทย เพื่อไทยก็จะกลายเป็นพรรคที่มี ส.ส.เท่ากับก้าวไกลทันที ในแง่ของพันธมิตรก็จะเท่ากันและเกิดความประดักประเดิดทางการเมือง

แต่ผมคิดว่า ณ เวลานี้เงื่อนไขแบบนั้นไม่น่าจะเกิด พรรคประชาชาติเป็นพรรคเล็กที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนพรรคเล็ก และพรรคประชาชาติเป็นพรรคที่มีลักษณะเฉพาะตัว พื้นที่สามจังหวัดเป็นพื้นที่ที่คะแนนนิยมของคุณทักษิณไม่เคยดีอยู่แล้ว ฉะนั้น เขาต้องบริหารเรื่องทั้งหมดโดยคำนึงถึงฐานเสียงของเขาด้วย ถ้าพรรคประชาชาติถูกมองว่าใกล้ชิดเพื่อไทยมากเกินไป เขาจะประสบความยากลำบากในการหาเสียงและแข่งขันในเลือกตั้งครั้งหน้า 

ฉะนั้น ประชาชาติต้องระมัดระวังว่าจะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างไร โดยที่ไม่ถูกว่าเป็นพวกเดียวกับเพื่อไทย และไม่ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับก้าวไกลที่มีนโยบายต่างจากแนวคิดของฐานเสียงในพื้นที่ มันจึงทำให้เงื่อนไขที่ประชาชาติจะเอนไปทางใดทางหนึ่งนั้นไม่เกิดขึ้น

การที่พรรคการเมืองที่ได้อันดับหนึ่งไม่ได้เป็นประธานสภาถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติในสังคมประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง อาจารย์มองว่าความเจริญเติบโตของประชาธิปไตยไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่

ผมว่าเราเข้าสู่ะยะของการเมืองหลังรัฐประหาร เราผ่านมาแล้วสองระยะ ระยะที่หนึ่งคือ การปกครองแบบเผด็จการทหารอย่างเต็มรูปแบบในระหว่างปี 2557-2562 พอเข้าสู่ระยะที่สองหรือ 2562 ที่พลเอกประยุทธ์พยายามจะประนีประนอมโดยดึงพรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆ ในประชาสังคมไปเป็นแนวร่วม ผ่านการแต่งตั้งตำแหน่งให้ ส่วนตอนนี้เป็นระยะที่สามคือ การหาทางอยู่ร่วมกับระบบซึ่งมีการเลือกตั้งให้ได้ เราเข้าสู่ปีสุดท้ายของระยะนี้ ดังนั้น คนที่อยู่ในการเมืองแบบนี้เขาต้องดิ้นรนทุกอย่าง เพราะเป็นระลอกสุดท้ายที่เขาจะมีอำนาจได้แล้ว

เรากำลังเดินหน้าสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตย เพียงแต่ว่ามันเหมือนกับการเดินแล้วมีก้อนกรวดในรองเท้า ก้อนกรวดทำให้เกิดความรำคาญ แต่ท้ายสุด ก้อนกรวดไม่สามารถทำให้การเดินหน้ามันยุติลงได้

นอกจากการเข้ามาฟื้นฟูประชาธิปไตยแล้ว ยังมีโจทย์สำคัญอะไรสำหรับรัฐบาลใหม่อีกหรือไม่

สิ่งที่ประชาชนคาดหวังที่สุดคือการฟื้นฟูประชาธิปไตย แม้ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาสำคัญมากก็จริง แต่ปกติแล้วเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าจะตลาดหุ้นหรือภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ก็ตาม หลังการเลือกตั้งเศรษฐกิจต้องโต นี่เป็นเรื่องพื้นฐาน อเมริกาเป็นแบบนี้ ประเทศอื่นก็เป็นแบบนี้ ปีนี้เป็นครั้งแรกที่หลังการเลือกตั้งหุ้นไม่โต ภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจหนักๆ มีคนถามเหมือนกันว่า ทำไมพิธาตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทำไมหลังเลือกตั้งไม่มีรัฐบาล ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจได้ถูกคนตระหนักจนเห็นว่า การเมืองคือสิ่งที่เป็นอุปสรรคของปัญหาต่างๆ 

ในช่วงเลือกตั้งมีหลายพรรคการเมืองที่หาเสียงเชิงแก้เศรษฐกิจ ไม่แก้การเมือง แต่ก้าวไกลไม่ใช่ ซึ่งผลการเลือกตั้งก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ประชาชนตระหนักรู้จากวาทะแก้เศรษฐกิจไม่แก้การเมือง ยิ่งหลังเลือกตั้งแล้วการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าผิดปกติ คนยิ่งรู้สึกว่าปัญหาการเมืองต้องแก้โดยเร็ว

ฉะนั้น ผมคิดว่าตอนนี้คนอยากเห็นการแก้ปัญหาการเมืองมากที่สุด ถ้าการเมืองไปได้ เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา

สี่ปีจากนี้ไป การฟื้นฟูประชาธิปไตยจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่

อย่างแรกคือ ต้องเอาทหารออกจากการเมือง สิ่งนี้น่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ทุกคนรับได้ ไม่ใช่แค่การห้ามให้ทหารเป็นนายกฯ แต่การเคลื่อนไหวทางความคิดของคนไปถึงเรื่องไม่เอาการเกณฑ์ทหาร เรื่องการให้พลเอกประยุทธ์ออกจากบ้านหรู ทั้งหมดนี้คือสัญลักษณ์ที่สื่อว่า การไม่สนับสนุนทหารรุนแรงขึ้น ดังนั้น การไม่เอาทหาร ฟื้นฟูประชาธิปไตย ปรับโครงสร้างต่างๆ ที่เป็นรากฐานของทหารน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ และสร้างแรงสะเทือนได้มากกว่าที่คิด

เรื่องที่สองคือ รัฐธรรมนูญ ในประเทศไทยเององค์ความรู้เรื่อง ส.ว.เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยเคยมีฐานที่แข็งแกร่งมา เพียงแต่เราเจอการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 มันเลยทำให้สำนึกของคนที่ว่า ส.ว.เป็นสิ่งแปลกปลอมหายไป ผมเป็นคนรุ่นที่เข้ามหาวิทยาลัยในปีที่ประเทศไทยมีนายกฯ จากการเลือกตั้ง และ ส.ว.ไม่ได้มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ฉะนั้น คนอายุขนาดผมเคยผ่านสังคมที่เห็นแล้วว่า ส.ว.ไม่ควรมีอำนาจในการโหวต ประเด็นอำนาจของ ส.ว.จึงเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.ไม่มีอำนาจโหวตนายกฯ อาจจะกระเพื่อมถึงจุดที่คุยกันเลยว่าควรลดจำนวน ส.ว.ลง ไปจนถึงดีเบตว่าไม่ต้องมี ส.ว.เลยด้วยซ้ำ สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าถ้าใครมาเป็นรัฐบาลแล้วไม่ทำ น่าจะอยู่ยาก

หรือแม้แต่เรื่อง 112 ผมคิดว่าอาจจะเป็นประเด็น เพราะแรงกระเพื่อมในสังคมมีเยอะ อย่าลืมว่าในปี 2563 เรามีการชุมนุมตลอดปี แล้วพอปี 2564 เราก็เห็นการชุมนุมของนักเรียน เห็นการรวมตัวของประชาชน จนกระทั่งมันเกิดเรื่องโควิดขึ้นมาถึงหยุดเรื่องแบบนั้นไป แล้วอย่าลืมว่าในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่ชนะการเลือกตั้งคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกฝ่ายพลเอกประยุทธ์โจมตีว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหากับสถาบันฯ อนาคตใหม่เองก็ถูก ผบ.ทบ.โจมตีเป็นรายเดือน

ในปี 2566 นี้ สถานการณ์จะเข้มข้นขึ้น เพราะพรรคที่ชนะการเลือกตั้งคือพรรคที่ปราศรัยบนเวทีว่าจะแก้ 112 สถานการณ์ไปเร็วมาก ฉะนั้น การเมืองที่ไม่พูดถึงเรื่องนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องอยู่ท่ามกลางความกระอักกระอ่วนจากสายตาของสังคมว่าทำไมคุณไม่พูด

เกมในสภาฯ จะยังมีนักการเมืองที่คงคัดค้านการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 สุดท้ายแล้วเราจะสามารถหาฉันทามติร่วมกันในสภาได้อย่างไร

การมีนักการเมืองค้านเป็นเรื่องธรรมดา เพราะการพูดเรื่อง 112 นั้นไม่ง่าย ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่มักจะถูกชวนให้ไปร่วมในพรรคการเมือง และจะถูกบอกว่า “อาจารย์อย่าไปอยู่พรรคก้าวไกลนะ ก้าวไกลจะแก้ 112 ถ้าอาจารย์ไปอยู่ อาจารย์เป็นศัตรูกับผมตลอดชาติ” นักการเมืองที่ไม่อยากพูดเรื่อง 112 มี แต่ผมคิดว่าบรรยากาศแบบนี้ถ้าคุณจะไม่ให้มีการพูดมันไม่ได้ ถ้าสภาฯ ไม่ยอมให้พูด หรือนักการเมืองคนไหนห้ามพูดเมื่อเรื่องนี้ได้เข้าสู่สภาฯ พวกเขาจะเหนื่อยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผมไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดการแก้ 112 ทันที แต่ท้ายที่สุดจะมีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้ต้องการแก้กฎหมาย 112 หรือแม้กระทั่งความต้องการแก้ปัญหาทางการเมืองซึ่งเกิดจากเรื่อง 112 เพราะตอนนี้มันมีอยู่สองประเด็นที่ทับกันอยู่ บางส่วนบอกว่า 112 มีปัญหาที่ตัวบท แต่บางส่วนบอกว่า 112 มีปัญหา เพราะการนำมาใช้ อย่างน้อยในขั้นต่ำที่สุดมีฉันทามติใหม่ที่แต่ก่อนไม่มี ซึ่งก็คือ 112 เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคน

อย่างน้อยในปี 2566 ก็มีพรรคการเมืองหลายพรรคพูดว่า 112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้จริงๆ ฉะนั้น มันมีการยกเพดานเกิดขึ้น ยิ่งพรรคที่บอกว่าจะแก้ 112 ชนะการเลือกตั้ง มันจะยิ่งเป็นการยกเพดานอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าอาจจะไม่จบเร็ว แต่อย่างน้อยมันจะไปไกลกว่าจากปี 2557 ที่มีภาคประชาชนพยายามเสนอเรื่องนี้เข้าสภาฯ แล้วประธานสภาฯ จากเพื่อไทยไม่ให้เอาเข้าสภาฯ เลย

คราวนี้จะไม่เกิดบรรยากาศแบบนั้น อย่างน้อย 112 จะได้เข้า แต่เข้าแล้วผ่านหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับผมเท่านี้ถือว่าก้าวกระโดดแล้ว เพราะสังคมเคลื่อนแล้ว

สี่ปีนับจากนี้ของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ประชาชนจะคาดหวังอะไรกับรัฐบาลใหม่บ้าง หากได้มองย้อนกลับมาจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่เราคาดคิดบ้างหรือไม่

ผมเชื่อว่าสี่ปีข้างหน้า ถ้ารัฐบาลนี้เขาได้อยู่ครบและพิธาได้เป็นนายกฯ เราจะจดจำเลยว่าปี 2566 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่ในแง่การเมือง แต่เป็นแง่ที่เราเห็นประเทศถูกขับเคลื่อนโดยคนใหม่ๆ ที่เขาไม่ได้มีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเก่า ไม่ว่าจะในกองทัพ ระบบราชการ หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง เขาตรวจสอบกลุ่มทุนใหญ่ทั้งประเทศ

สถานการณ์แบบนี้จะมีอยู่สองอย่าง อย่างที่หนึ่งคือผู้มีอำนาจแบบเดิม คืออีลีต ชนชั้นนำ ไม่ว่าจะทางธุรกิจ ชนชั้นนำทหาร ไล่ผู้มีอำนาจแบบใหม่ ทำรัฐประหาร คล้ายๆ กับที่คุณทักษิณเคยเจอ แต่ผมคิดว่ารอบนี้มันจะไม่เป็นแบบนั้น ความที่พรรคก้าวไกลเขาพร้อมจะถอย จะทำให้เขาสามารถประคองสถานการณ์ไปได้ ในสี่ปีเรารู้ว่ามีคนไม่ชอบก้าวไกลเยอะเลย แต่คนที่ไม่ชอบก้าวไกลกับก้าวไกลต้องอยู่ร่วมกัน ถ้าเราถือว่าจากปี 57 ถึงปี 66 เป็นปีที่คนรักประชาธิปไตยต้องจำใจอยู่กับคนที่เกลียดประชาธิปไตย ผมว่าสถานการณ์หลังปี 66 จะเป็นสถานการณ์ที่คนไม่เอาประชาธิปไตยจำใจอยู่กับคนที่รักประชาธิปไตย แล้วก็ต้องอยู่ท่ามกลางความกระอักกระอ่วนไปเรื่อยๆ เพราะความเคลื่อนไหวในสังคมมันเป็นอย่างนี้ไปแล้ว เพดานถูกยกไปแล้ว

จะเรียกว่ามันเป็นฉันทานุมัติชุดใหม่ก็ได้ ที่ว่าการอยู่ยาวของพลเอกประยุทธ์มันทำให้คนเห็นปัญหาหลายเรื่อง ปัญหาทุนผูกขาด ปัญหากองทัพ ปัญหานักการเมืองเก่า ในที่สุดสิ่งนี้จะเกิดขึ้น คนไทยจะจำปี 66 ว่าเป็นปีแรกของการเคลื่อนจากการเมืองเก่า และเป็นปีแรกของการเคลื่อนไปสู่การทำให้ประเทศเปิดกว้างและโปร่งใสมากขึ้น แน่นอนว่ามันไม่เร็ว แต่มันจะเป็นปีที่มีอะไรให้จดจำได้อีกเยอะ

ความมั่นใจของผมไม่ใช่เรื่องก้าวไกล แต่ผมมั่นใจว่าประเทศเปลี่ยนแล้วคุณยื้อความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ บังเอิญก้าวไกลเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง สำหรับผมโจทย์อยู่ตรงนั้น ก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม แต่ว่าก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่มาถูกที่และถูกเวลา ในเวลาที่คลื่นของสังคมเป็นแบบนี้ ถ้าเขามาแบบนี้ในปี 44 เขาอาจจะไม่ชนะก็ได้ หรือถ้าเขามาแบบนี้ในปี 26 ก็อาจจะไม่ชนะ แต่บังเอิญว่าเขามาถูกจังหวะตรงนี้ และเรามั่นใจว่าเขาจะทำสำเร็จ 

แต่จริงๆ แล้วความเชื่อนี้มันมาจากการที่สังคมเปลี่ยน มันกำลังเกิดฉันทานุมัติแบบใหม่ขึ้นมา และก้าวไกลเป็น Social Agency ที่จะแบกรับความเปลี่ยนแปลงนี้มากกว่า อีกสี่ปีข้างหน้ามันอาจจะไม่ใช่ก้าวไกลก็ได้ แต่สังคมมันจะเปลี่ยนไปในทิศทางนี้อย่างแน่นอน

อาจารย์มองว่ามีโอกาสที่ก้าวไกลจะไม่ได้เป็นรัฐบาลหรือไม่

มี เพราะความคาดหวังของคนต่อการเมืองใหม่เยอะ แต่คาดหวังไม่ได้แปลว่าคนต้องการการเมืองใหม่ที่ห่วย หรือการเมืองใหม่ที่ไม่เก่ง คนต้องการการเมืองใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ผมคิดว่าความคาดหวังก็เป็นแรงกดดันและเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับพรรคก้าวไกล

ก้าวไกลอาจจะล้มเหลวหลังจากนี้ก็ได้ เมื่อผลงานที่ทำต่อจากนี้ไม่ได้เป็นที่พอใจของประชาชน ความคาดหวังของคนก็จะเปลี่ยนไป ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ก้าวไกลจะต้องบริหารเอง แต่ความคาดหวังของสังคมต่อการเมืองใหม่จะไม่เปลี่ยน เพียงแต่ตอนนี้คนมองว่าเป็นก้าวไกลที่ต้องมารับภารกิจนี้

หากก้าวไกลและเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร

มันเป็นสิ่งที่ผมกังวล เพราะปัจจัยภายในของรัฐบาล การทะเลาะกันอย่างหนักก่อนเลือกประธานสภาฯ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น มันจะเป็นสถานการณ์ที่พรรคฝ่ายรัฐบาลแข่งกันเองหนัก แย่งคะแนนกันเองหนัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ในอดีตพรรคฝ่ายรัฐบาลอาจจะมีการแข่งกันเองก็จริง แต่ด้วยความที่จำนวน ส.ส.ห่างกันค่อนข้างเยอะ มันก็เป็นการด่าที่สร้างความรำคาญ แต่ไม่กระทบกับเสถียรภาพทางการเมือง

แต่ในกรณีนี้น่าจะมีการด่ากันจนกระทบกับเสถียรภาพทางการเมืองได้ 151 กับ 140 เป็นเงื่อนไขง่ายมากที่จะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอารมณ์ขึ้น ขาดสติจนทำให้รัฐบาลประชาธิปไตยล่ม ผมคิดว่าเป็นไปได้ 

ฉะนั้นตัวละครหลักของทั้งสองพรรคจะต้องเข้าใจว่าเรากำลังจะเข้าสู่สถานการณ์ใหม่แล้ว พรรคการเมืองจะมีการแข่งขันในแบบที่ไม่ได้เป็นศัตรูกัน เพราะเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกัน เพื่อไทยอาจจะลำบากใจกว่า เพราะเขาไม่เคยเจอสถานการณ์ที่ต้องแข่งกับพวกเดียวกันมาก่อน ส่วนก้าวไกลนั้นไม่เคยเจอสถานการณ์อะไรเลย ฉะนั้น เพื่อไทยอาจจะต้องปรับวิธีคิดและปรับตัวมากกว่าในสถานการณ์แบบนี้

กองเชียร์ก้าวไกลบางคนกล่าวว่า ก้าวไกลควรยึดหลักการและแตกหักเพื่อที่คราวหน้าจะได้แลนด์สไลด์ อาจารย์คิดว่าจะง่ายแบบนั้นหรือไม่

การยึดหลักการกับการแตกหักเป็นคนละเรื่องกัน หัวใจสำคัญของการทำงานการเมืองไม่ใช่การบอกว่าเราคิดอะไร แต่คือการทำให้คนหมู่มากเห็นด้วยกับเราให้มากที่สุด เพื่อเอาคนหมู่มากไปเปลี่ยนประเทศในแบบที่เราต้องการ มันคือการบริหารสิ่งที่เราคิด เราจะสื่อสารอย่างไรให้คนในสังคมอยู่ข้างเราเพื่อเปลี่ยนประเทศ

ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ก้าวไกลคิดไม่ใช่การแตกหัก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่โหวตเตอร์ก้าวไกลบางส่วนอาจจะต้องทำความเข้าใจว่า ก้าวไกลคือพรรคการเมืองที่ต้องการสื่อสารกับสังคม และทำให้สังคมเปลี่ยนความคิด นั่นคือภารกิจของความเป็นพรรคการเมือง

หากมองในมุมสื่อแล้ว อาจารย์คิดว่าการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะทำให้การตรวจสอบรัฐบาลในฐานะสื่อเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ สื่อจะต้องปรับวิธีในการทำงานอย่างไร

ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร สื่อยังต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเช่นเดิม ไม่อย่างนั้นสื่อก็จะไม่ใช่สื่อ สื่อจะกลายเป็นเพียงกองโฆษณาชวนเชื่อ อย่างไรแล้ว สื่อก็ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล หรือแม้กระทั่งตรวจสอบฝ่ายตรวจสอบรัฐบาลด้วยเช่นกัน เพราะเราเป็นประเทศที่ผ่านเหตุการณ์ตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยใช้ความเป็นสื่อ จนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกล้ม

ในแง่ของการทำหน้าที่สื่อ เราเคยผ่านภาวะที่คนบางกลุ่มอ้างว่าตัวเองเป็นสื่อ แล้วทำการตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจนกลายเป็นหาเรื่อง เช่น ล้มคุณทักษิณไปด้วยแต่เรื่องที่เอามาล้มนั้น ถ้ามาพูดในยุคนี้อาจจะถามว่าเขาใช้กัญชาขณะพูดหรือเปล่า คุณสมัคร (สุนทรเวช) ถูกตรวจสอบและกล่าวหาว่าจะยกเขาพระวิหารให้เขมร คุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) โดนเรื่องที่มันไร้สาระไปหมด

ณ วันนี้ สื่อต้องตรวจสอบรัฐบาล รวมไปถึงเฝ้าระวังการตรวจสอบรัฐบาลจากฝ่ายที่อยากล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งด้วย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save