fbpx

อยู่เองได้ โตเองเป็น ตอนที่ 1

ข้อเขียนชุดนี้เป็นสรุปความและวิพากษ์หนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น ซึ่งแปลจากหนังสือ The Self-Driven Child ของ William Stixrud และ Ned Johnson แปลโดย ศิริกมล ตาน้อย สำนักพิมพ์ bookscape พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2565

เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มจากต่างประเทศที่มีเนื้อหาซึ่งผมเขียนไปเกือบหมดแล้ว มีข้อแตกต่างอย่างเดียวที่สำคัญและสำคัญมากคือตัวเองไม่ได้ใส่เอกสารอ้างอิง

เรื่องไม่ได้ใส่เอกสารอ้างอิงนี้มีคำอธิบาย (คือข้ออ้างหรือคำแก้ตัว) ว่าเป็นเพราะไม่มีให้หาโดยสะดวกเนื่องจากมิได้สังกัดมหาวิทยาลัย ไม่มีเวลา ไม่มีที่เป็นภาษาไทย ไม่อยากจะหาเพราะเชื่อว่าผู้มีประสบการณ์ตรงรักษาผู้ป่วยมายาวนานก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไปจนถึงอ่านแล้วไม่เชื่อก็ตามใจ – เถอะ

แต่จะว่าไปเป็นเพราะวัฒนธรรมวิชาการบ้านเราอ่อนแอจริง แล้วก็ไม่มีใครว่าอะไรถ้าจะเขียนบทความวิชาการโดยไม่ใส่เอกสารอ้างอิง – เหมือนไม่นั่งคาร์ซีต

แต่ (อีกที) ในความเป็นจริงแล้ว ผมใช้เอกสารอ้างอิงทุกครั้งแล้วจึงเติมเนื้อหาด้วยชั่วโมงบินส่วนตัว เพียงแต่ว่าเอกสารอ้างอิงเกือบทั้งหมดเป็นตำราแพทย์ (textbooks) หรือหนังสือ (books) ที่ซื้อไว้ ส่วนน้อยที่เป็นงานวิจัย และน่าจะไม่มีเลยที่เป็นงานวิจัยในบ้านเรา สองอย่างหลังนี้เป็นเพราะ (แก้ตัวอีกที) ลำพังเนื้อหาในตำราแพทย์อย่างเดียวก็เหลือกิน ทำให้ได้เถอะน่า!

และเขาเล่าว่าคนอ่านเฟซบุ๊กไม่ชอบอ่านเอกสารอ้างอิง

หนังสือเล่มนี้ อยู่เองได้ โตเองเป็น ก็เช่นกัน ลำพังคำนำ 4-5 หน้าไม่มีอะไรแปลกใหม่สำหรับตัวผมเลย ทุกอย่างที่เขียนในหน้าคำนำมีในตำราแพทย์หมดแล้ว และผมเขียนมานานแล้วด้วย – ฮั่นแน่

ใจความสำคัญในหน้าคำนำมี 2 ข้อ

ข้อแรก คือออโตโนมี (autonomy) เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ

ขอชี้แจงที่ขั้นตอนนี้ก่อนอ่านต่อไปว่าผมมิได้คัดลอกคำพูดจากหนังสือมาป้าย ข้อเขียนนี้เกิดจากอ่านจับใจความแล้วลงมือเขียนด้วยความรู้สึกนึกคิดและความรู้ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านการใช้ภาษาไทยที่พยายามจะสื่อสารให้แฟนคลับของตัวเองรู้เรื่องมากกว่าอย่างอื่น ใครอ่านแล้วสงสัยไปซื้ออ่านเองครับ ขายที่ Bookscape และถ้ายังสงสัยไม่เลิกให้เปิดเอกสารอ้างอิงนับร้อยรายการท้ายเล่มแล้วไปเซิร์ชอ่านเอง

เห็นวัฒนธรรมใช้อำนาจแฝงไหมครับ  

อ่านต่อ ออโตโนมี เป็นคำจากทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพของอีริกสัน เป็นบันไดขั้นที่ 2 ใน 8 ขั้นของพัฒนาการมนุษย์ ความว่าเมื่อเด็ก 2-3 ขวบมีกล้ามเนื้อแขนขาที่แข็งแรง เขาจะลงมือปฏิบัติการโดย อัต-ตะ-โน-มัติ เพราะนี่คือชั้นพัฒนาการ ออ-โต-โน-มี  ผมเขียนเสมอว่า ‘เมื่อหนูทำได้ หนูจะทำ’ และแปลชั้นนี้ว่าคือชั้น ‘หนูทำได้’ (patented- จดลิขสิทธิ์)

ในทางตรงข้ามถ้าเด็กทำไม่ได้ ไม่ได้ทำ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ โดยเฉพาะประการหลังคือห้ามปา ห้ามปีน ห้ามวิ่ง ห้ามกระโดด ไปจนถึงห้ามเด็ดดอกไม้ เด็กจะสงสัยในพลังความสามารถของตนเอง เรียกว่า doubt – ความแคลงใจ  ผลคือเด็กพัฒนาผ่านขั้นตอนหนูทำได้นี้ช้า หรือหยุดพัฒนา

แล้วจะกลายเป็นรูปแบบหรือแม่พิมพ์ที่เขาจะใช้ไปตลอดชีวิตที่เหลือ นั่นคือ ‘สงสัยในความสามารถของตนเอง’ แปลอีกทีว่าอยู่เองไม่ได้ โตเองไม่เป็น

ทำไมจึงว่าโตเองเป็น เพราะพลังของกล้ามเนื้อใหญ่ที่ใช้ในการวิ่ง กระโดด ปีน ปา แล้วก็เตะต่อยถีบ เหล่านี้ ‘ทำเองได้ เก่งเองเป็น’ ทั้งนั้น

ไม่มีใครต้องสอนเลย

ความสำคัญในหน้าคำนำนี้ยังมีอีกข้อหนึ่ง

ข้อสอง คือเรื่องความรู้สึกที่ว่าชีวิตควรเป็นของเราและเราควรคุมมันได้ จะว่าไปคือผลพลอยได้จากข้อ 1 นำไปสู่เรื่องที่ผมเขียนเสมอเกี่ยวกับวิธีคลายเครียดนั่นคือ ‘ดึงบางส่วนของชีวิตกลับมาเป็นของเรา’

ปล่อยชีวิตของเราให้เป็นของผู้ว่า กทม. หรือรัฐบาลรับประกันว่าไม่ดีแน่ๆ อย่าเชื่อนักหนาว่าได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วอะไรๆ จะเรียบร้อย มันจะไม่มีวันเรียบร้อยเพราะจนแล้วจนรอดชีวิตของเรายังคงมิใช่ของเรา

เนื้อหาสำคัญในหน้าคำนำมีเท่านี้เองครับ อาจจะมีที่น่าสนใจเพิ่มอีกนิดหนึ่งคือความเชื่อผิดๆ 4 ข้อ ซึ่งผมเองเชื่ออยู่ 1 ข้อแล้วก็ทำกับลูกๆ จริงๆ ด้วย  ถึงวันนี้ก็ยังเชื่ออยู่ ทายได้มั้งครับว่าข้อไหน เตือนอีกครั้งหนึ่งสี่ข้อนี้ผมเขียนเอาด้วยสำนวนของผมเอง เรื่องแพทย์กับความยากจนในหนังสือจะเขียนอีกตัวอย่างหนึ่ง 

1. หนทางสู่ความสำเร็จคับแคบและเสี่ยงเกินไปที่จะให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเอง

2. ต้องเรียนเก่งจึงประสบความสำเร็จ ไม่ได้เรียนแพทย์ก็ต้องยากจนแน่ๆ

3. ยิ่งผลักดันเท่าไร เด็กจะยิ่งเก่งเท่านั้น

4. โลกวันนี้อันตรายมากกว่าแต่ก่อนมาก

น่าสังเกตว่าไม่มีห้อยเลขเอกสารอ้างอิงไว้ที่ความเชื่อ 4 ข้อนี้ เข้าใจว่าให้อ่านต่อไปในเล่ม

สรุปได้ว่านี่เป็นหนังสือที่ผมควรเขียนเองเป็นเล่มขายเสียตั้งแต่แรก แค่เพิ่มความขยันค้นเอกสารอ้างอิงมากเหมือนตอนเรียนจบใหม่ๆ ก็ทำได้แล้ว

แต่ความสามารถดีๆ เหล่านั้นไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตราชการ มันจึงไม่วิวัฒน์สืบมา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save