fbpx
เรียนไม่เก่งแล้วไง ตอนที่ 2

เรียนไม่เก่งแล้วไง ตอนที่ 2

อ่านบทความ ‘เรียนไม่เก่งแล้วไง ตอนที่ 1’ ได้ที่นี่

1. นิยามของคำว่า ‘เรียนเก่ง’ วันนี้น่าจะไม่ดีพอและอาจจะผิดทิศผิดทาง คุณพ่อคุณแม่บ้านเราจำนวนหนึ่งแปลเรียนเก่งว่าได้เกรดดี แล้วได้เข้าคณะดีๆ ของมหาวิทยาลัยดีๆ จะเห็นว่าเรามีปัญหาเรื่องควรแปลคำว่า ‘ดี’ อย่างไร ยกตัวอย่างคณะ xxx ของมหาวิทยาลัย yyy ดีกว่าคณะ aaa ของมหาวิทยาลัย bbb เป็นต้น นิยามเรียนเก่งจึงมีปัญหาตั้งแต่ต้น

รวมทั้งชุดข้อเขียน เลี้ยงลูกให้ได้ดี 1-100 ด้วย ดีแปลว่าอะไร

2. คณะที่ดีของมหาวิทยาลัยที่ดีช่วยให้มีคอนเน็กชันที่ดี (connection – เครือข่าย) เป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายบ้านวันนี้ยังต้องการ ซึ่งเป็นความจริง อย่างไรก็ตามเนื่องจากเด็กเรียนไม่เก่งมีจำนวนมากกว่าเด็กเรียนเก่งหลายเท่า ดังนั้นผมจึงมีหน้าที่บอกกล่าวว่าการไม่มีคอนเน็กชันมิได้แปลว่าชีวิตจะล้มเหลว อย่างมากก็แค่ทำให้เราต้องทำงานหนักมากกว่าคนที่มีคอนเน็กชัน ซึ่งควรเป็นเรื่องน่าภูมิใจมากกว่าที่จะนั่งเสียใจ

มากไปกว่านี้คือคอนเน็กชันของกลุ่มเด็กเรียนไม่เก่งก็มีพลังที่ไม่น่าเชื่อมากมายซ่อนตัวอยู่ ลองไปถามเถ้าแก่ที่เคยเกเรมาก่อนเถอะ

3. ถึงวันนี้ เราเข้าสู่มิลเลนเนียมใหม่มา 21 ปีแล้ว เป็นที่เห็นชัดเจนมากกว่าสมัยก่อนว่าการเรียนเก่งมิได้ประกันความสำเร็จในชีวิตอะไรมากมาย (คือมันก็เป็นอยู่แล้ว เพียงแต่วันนี้เราเห็นตัวอย่างชัดเจนขึ้นมาก) มากกว่านั้นคือการเรียนเก่งแลกมากับค่าใช้จ่ายทั้งเงินทองและการใช้ชีวิตช่วงชั้นประถมและมัธยมไปเยอะมาก เป็นการค้าที่เราไม่แน่ใจว่าได้กำไรจริงหรือเปล่า  การเรียนเก่งเป็นหนทางแคบๆ ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นทุกทีๆ

ในขณะที่การมีสมองส่วน EF หรือ Executive Function ที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่ามีข้อได้เปรียบกว่าในโลกสมัยใหม่ที่มีทางเลือกและตัวเลือกของชีวิตมากกว่ามาก ทางเลือกและตัวเลือกจำนวนมหาศาลปรากฏตัวขึ้นมาบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก การเรียนเก่งจากระบบการศึกษาของเรามิได้ประกันว่าเราจะกรองข้อมูลทั้งหมดนั้นได้

4. การเรียนเก่งมิได้ช่วยอะไรสังคมไทยเท่าไรนัก ดังที่เราเห็นทุกวันนี้ว่าเรามีนักวิชาการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการจำนวนมากและว่ากันว่ามากที่สุด นี่ยกตัวอย่างหน่วยราชการเดียว ความเป็นจริงคือเรามีเทคโนแครตเต็มประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถทำประโยชน์แก่สังคมได้เลย คำอธิบายอย่างสั้นมีว่า (สั้นอีกแล้ว) ปัจจัยที่จะช่วยเหลือสังคมไทยได้มากกว่าคือการทำงานเป็นทีมโดยมีเป้าหมายร่วม (collaboration) ซึ่งเป็นทักษะที่พัฒนาได้มากที่สุดช่วงอายุ 7-12 ปี คือชั้นประถม (coordination) พ้นจากประถมก็จะพัฒนาได้น้อยลง เพราะพัฒนาการทุกเรื่องมีเวลาวิกฤต (critical period) ในตัวเอง

แต่การศึกษาแบบของเราอยู่บนหลักการใครชนะ-ได้ เด็กประถมของเราจึงไม่มีเวลาฝึกทักษะการช่วยเหลือและร่วมมือกัน   เพราะเอาเวลาไปกวดวิชาแล้วทำเกรดสูงสุดเพื่อแย่งที่นั่งที่ดีที่สุดของโรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุด (มีคำว่าดีอีกแล้ว)

5. เด็กๆ เก่งหลายทิศทาง แต่สังคมเรานิยามเด็กเก่งไว้ที่ไม่กี่วิชา เราควรพัฒนาสังคมของเราไปถึงจุดที่ว่าเด็กๆ ทุกคนเก่งได้ในทางของตัวเอง สายวิทย์และสายศิลป์รวมทั้งอาชีวะมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ได้รับเกียรติและความเคารพเท่าๆ กัน ย้ำอีกครั้งว่าเรียนเก่งมิได้ผิดอะไร เพียงแต่ไม่นิยามว่าต้องเก่งในสนามที่เรากำหนดเท่านั้นเอง การศึกษาควรมีเสรีภาพให้เด็กเก่งได้ในสนามที่ตนเองหลงใหลและถนัด (passion & competent)

6. พูดถึงการเล่น การเล่นเป็นสิ่งที่เด็กคนไหนก็ทำได้ การเล่นจึงสร้างเซลฟ์เอสตีม (self-esteem) ให้เด็กไทยทุกคนง่าย ไม่ใช่ทุกคนจะเรียนเก่งได้ แต่ทุกคนเล่นได้ เซลฟ์เอสตีมเป็นพลังงานในการพัฒนาตนเองพุ่งสู่อนาคต ตามทฤษฎีบันได 7 ขั้นสู่ศตวรรษที่ 21 เด็กที่รู้สึกว่าตนเองเอาไหนจะไปข้างหน้า เด็กที่รู้สึกว่าตนเองไม่เอาไหนจะเฉไฉ หยุดพัฒนา หรือถดถอย

ไม่มีอะไรแย่เท่ากับความรู้สึกที่ว่าเรามันแย่

7. ถ้าเรากดดันเด็กไทยให้เรียนเก่งในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ถ้าทำได้เขาต้องจ่ายเวลาที่ไม่ได้เล่นมากพอออกไป ส่งผลให้ทักษะบางประการและ EF บางส่วนหายไป ถ้าเขาทำไม่ได้เขาสูญเสียเซลฟ์เอสตีม ส่งผลให้พัฒนาการล่าช้าในลำดับถัดไป

8. เด็กที่ถูกกดดันแล้วทำไม่ได้ มิใช่ความผิดของเด็ก (และมิใช่ความผิดของครูด้วย ครูจำนวนหนึ่งก้มหน้าทำตามคำสั่งและระบบด้วยจำเป็น) แต่เกิดจากการศึกษาที่คาดหวังสูงเกินจริงภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กแต่ละคนพัฒนาเร็วช้าต่างๆ กัน เมื่อเด็กถูกดดันแล้วทำไม่ได้จะเกิดพัฒนาการติดขัด (fixation) เมื่อเด็กถูกดุด่าว่าตีและตีตราซ้ำเด็กจะเกิดการถดถอย (regression) พัฒนาการที่เคยทำได้จะเลือนหายไป แล้วถอยจำนวนอายุส่วนที่เรียกว่า mental age ลงไปไกล 

หลายคนต้องรอให้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเสียก่อนจึงจะมีเสรีภาพที่จะซ่อมแซมไปจนถึงบำบัดรักษาตนเอง

9. การเล่นมิได้แปลว่าไม่ได้เรียนอะไรเลย ที่แท้แล้วทุกวิชาอยู่บนกองทราย ระบายสี ดินน้ำมัน งานกระดาษ หรือบล็อกไม้ มีการเรียนรู้ควบคู่กันเสมอ การเล่นสมมติ ปีนป่าย วิ่งเล่นเสรี ดนตรี และกีฬา มีทั้งการเรียนรู้และพัฒนาการของ EF ในระดับสูงและซับซ้อน ลำพังสิบวิชา ‘เล่นศึกษา’ นี้ เด็กๆ จะได้คณิตศาสตร์ การอ่าน การเขียน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ความเป็นพลเมือง (ที่หมายถึงประชาสังคมและประชาธิปไตย) ศีลธรรม (ที่มิได้แปลว่าศาสนา) ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ความน่าจะเป็น แคลคูลัส และควอนตัม   

สิบวิชาเล่นศึกษานี้ก็ทำตารางสอนได้หมดสัปดาห์อยู่แล้ว ยังไม่นับการทำงาน และงานอาสามัครเพื่อสังคม (ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล)

จะเอาเวลาที่ไหนไปเรียนหนังสือได้อีก

10. การเล่นมีคอนเน็กชันใหญ่กว่าการเรียนเก่ง ไม่ว่าจะเป็นคอนเน็กชันของเซลล์สมองภายในกะโหลกศีรษะ หรือคอนเนกชันกับพวกเด็กเรียนไม่เก่งและเด็กเกเรที่มีอนาคตที่ดีได้เช่นเดียวกัน (มีคำว่าดีอีกแล้ว)

เด็กที่เรียนเก่งมิได้ทำอะไรผิด (เช่นผมเป็นต้น) เราสมควรชมเชย คุณพ่อคุณแม่ที่มีเด็กเรียนเก่งมิได้ทำอะไรผิด (เช่นคุณพ่อคุณแม่ของผมเป็นต้น) เราภูมิใจได้ เด็กที่เรียนไม่เก่งมิได้ทำอะไรผิดเช่นเดียวกัน  

ลองคำนึงถึง 10 ประเด็นที่เขียนมาสั้นๆ นี้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ลูกของเรามากยิ่งขึ้น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save